ลำดับเหตุการณ์

เมษายน 2553

1 เมษายน 2553

นปช. – นายณัฐวุฒิยืนยันว่าหากรัฐบาลยังยืนกราน 9 เดือน ก็จะไม่มีการเจรจารอบ 3

รัฐบาล – พรรคร่วมรัฐบาลมีมติให้รัฐบาลอยู่ครบวาระหากแกนนำ นปช. ไม่รับข้อเสนอยุบสภาภายใน 9 เดือน

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่ม 40 ส.ว. รณรงค์คัดค้านการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่นำไปสู่ความรุนแรงและร่วมปกป้องกรุงเทพฯ ปกป้องประเทศไทย โดยการติดธงไตรรงค์ที่รถ ระบุการชุมนุมของ นปช. เป็นภัยคุกคามของชาติ และมีการเตรียมก่อจราจล

กลุ่ม 40 ส.ว. แถลงต่อต้านคนเสื้อแดงและย้ำว่า พ.ต.ท. ทักษิณเป็นภัยคุกคามชาติ โดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ แถลงว่าวันที่ 3 เม.ย. มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรง ด้วยการยิงระเบิดใส่ผู้ชุมนุมเพื่อนำไปสู่การจราจล ดังนั้นประชาชนกรุงเทพฯ ต้องลุกขึ้นมาจัดตั้งตัวเองและเฝ้าระวังความปลอดภัย ร่วมกันต่อต้านการจราจล น.ส. รสนา โตสิตระกูลกล่าวว่า คนไทยทุกคน โดยเฉพาะคน กทม. ต้องลุกขึ้นมาป้องกันตัวเอง เพราะแกนนำคนเสื้อแดงอาศัยมวลชนปลุกระดมสร้างความรุนแรง เป็นภัยคุกคามของชาติ ขอเชิญชาว กทม. ติดธงไตรรงค์ที่รถยนต์เพื่อให้คนเสื้อแดงยุติการชุมนุม

จุฬาฯ ประกาศปิดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เวลา 21.00 น. ถึงวันที่ 4 เม.ย. หลังจาก น.พ. ตุล สิทธิสมวงศ์ นัดชุมนุมคนเสื้อชมพูที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 2 เม.ย. และฝ่ายแกนนำคนเสื้อแดงประกาศว่าจะนำมวลชนบุกไปยังจุฬาฯ (ดู “รวบ นปช. หมิ่นสถาบัน,” สยามรัฐ, 2 เม.ย. 53; “บุกจุฬาฯ ขู่หายนะ ปิดมหา’ ลัย-เสื้อชมพูนัดรวมพล,”ไทยโพสต์, 2 เม.ย. 53 ; “แดงบุกจุฬา ชมพูหลบ ปักหลักสวนลุม อธิการสั่งปิด 3 วัน 3 เมษาส่อเดือด,” คมชัดลึก, 2 เม.ย. 53 ; “แดงปัดเผา กทม. -ลุยชมพู จุฬาฯ ผวาปิด,” มติชน, 2 เม.ย. 53)

หมายเหตุ – ตำรวจจับหนุ่ม นปช. USA  (ดู “ฝากขังผู้ดูแลเว็บ นปช.USA หมิ่นเบื้องสูงผลัดแรก ศาลค้านประกัน,” ประชาไท, 2 เม.ย.53 ; “รวบ นปช. หมิ่นสถาบัน,” สยามรัฐ, 2 เม.ย. 53 ; ดูรายละเอียดคดีได้ที่ ศูนย์ข้อมูลฯ iLaw)

 

2 เมษายน 2553

นปช. –  เสื้อแดงระดมพลเดินหน้ายุทธการดาวฤกษ์ทั่วกรุง และแบ่งไปยื่นหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐอเมริกา

นปช. เคลื่อนจากสะพานผ่านฟ้าฯ ไปสถานทูตสหรัฐอเมริกาเพื่อยื่นหนังสือ นพ.เหวงเปิดเผยว่า ทาง นปช. ได้ยื่นจดหมายขอบคุณนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมกับยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของ นปช. ไม่มีความรุนแรง

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – นพ. ตุลย์เข้าพบนายกรัฐมนตรีและยื่นหนังสือให้กำลังใจ โดยระบุว่าออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1) ปกป้องสถาบัน 2) ความเป็นอยู่ของคน กทม. ได้รับความเดือดร้อน และ 3) ไม่ให้ยุบสภา

กลุ่มจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิป ไตย กลุ่มปัญญาสยาม กลุ่มเยาวชนกล้าธรรม์-คนเสื้อสีชมพู-หลากสี นำโดยนายจรัล สุวรรณมาลา คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นางตรีดาว อภัยวงศ์ สุขุม อาจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬ่าฯ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร นพ. เกรียง ตั้งสง่า นายต่อตระกูล ยมนาค นายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล ฯลฯ ชุมนุมคัดค้านการยุบสภา ที่ลานพระบรมรูป ร. 6 สวนลุมพินี โดย พล.ต.อ. วสิษฐ เป็นตัวแทนกล่าวคำปฏิญาณจะพลีกายเพื่อปกป้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ่านแถลงการณ์ และร่วมกันร้องเพลงสดุดีมหาราชา แล้วพากันเดินเชิญชวนให้ติดธงชาติและริบบิ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ (ดู “ซัดสงครามกลางเมืองทุกเสื้อสี,” ไทยโพสต์, 3 เม.ย. 53 ; “ชมพูปะทะแดง จ่อใช้ฉุกเฉิน ตร. 42 กองร้อยรับมือ หึ่งถกลับ 5 เดิอนยุบ,” คมชัดลึก, 3 เม.ย. 53)

เกิดเหตุปาระเบิดเพลิงใส่รถพนักงานรับส่งเอกสารบริษัท มติชน จำกัด ที่จอดข้างรั้วด้านนอกบริษัท จนไฟลุกไหม้พังเสียหาย

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 3 เม.ย.53

 

3 เมษายน 2553

นปช. – นปช. เคลื่อนขบวนใหญ่ โดยแยกกันเป็น 2 ขบวน ขบวนแรกนำโดยนายวีระ นายจตุพร และ นพ. เหวง มุ่งหน้าไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์ อีกขบวนนำโดยนายขวัญชัย ไพรพนา มุ่งสู่ ถ.วิภาวดีรังสิต และชุมนุมหน้าสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT เรียกร้องให้เสนอข่าวที่เป็นกลาง

เวลาประมาณ 13.00 น. ห้างสรรพสินค้าต่างๆ รอบแยกราชประสงค์ต่างปิดทำการ ต่อมาช่วงเย็นแกนนำ นปช. ประกาศ 4 ข้อ 1) ให้รัฐบาลยุบสภาทันที 2) จะปักหลักชุมนุมไม่มีกำหนด 3) การชุมนุมจะเป็นไปอย่างสันติ และ 4) พร้อมฟังจุดยืนของรัฐบาล และพร้อมรับเหตุการณ์ทุกรูปแบบ

รัฐบาล – ค่ำวันเดียวกัน ศอ.รส. แถลงออกประกาศฉบับที่ 5 ห้ามบุคคลเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่บริเวณราชประสงค์ แต่ไม่เป็นผล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลาประมาณ 2.00 น. เกิดระเบิดไม่ทราบสาเหตุบริเวณลานจอดรถ ร.พ. เซ็นทรัลเมโมเรียล จ. เชียงใหม่ เวลาประมาณ 4.00 น. เกิดเหตุยิง m79 ใส่ห้างโลตัสสาขาพะเยา เวลา 20.20 น. ที่กรุงเทพฯ หน้าประตูทางเข้าองค์การโทรศัพท์สาขาสะพานขาว พบระเบิดแสวงเครื่องในถุงดำ โดยระหว่างการตรวจสอบได้เกิดเสียงระเบิดขึ้นหน้าอาคารพาณิชย์ห่างจากจุดที่พบระเบิดแสวงเครื่องประมาณ 300 เมตร แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่คาดว่าเป็นระเบิดประเภทไปป์บอมบ์

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 4 เม.ย.53

 

4 เมษายน 2553

นปช. – การชุมนุมของ นปช. ในกรุงเทพฯ แบ่งออกเป็น 2 เวที คือบริเวณแยกราชประสงค์และผ่านฟ้า ด้านแกนนำเสื้อแดงประชุมกันที่ โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ ต่อมาเวลา 17.25 น. ที่ประชุมแกนนำ นปช. มีมติให้ปักหลักชุมนุมที่แยกราชประสงค์อย่างไม่มีกำหนด

รัฐบาล – ศอ.รส. ยื่นศาลขอหมายจับแกนนำ นปช. 5 คน ประกอบด้วยนายวีระ นายจตุพร นพ. เหวงและนายอริสมันต์

เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงแจกใบปลิวคำสั่ง ศอ.รส. แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่าการปิดแยกราชประสงค์ผิดกฎหมาย ด้านทหารได้เสริมกำลังบริเวณบ้านพักของบุคคลสำคัญ

นายอภิสิทธิ์แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า การปิดสี่แยกราชประสงค์และถนนโดยรอบเป็นการใช้สิทธิ์เกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญรับรอง เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ศอ.รส. จึงประกาศขอให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นผู้เจรจา ผลการเจรจาปรากฏว่าผู้ชุมนุมยอมเปิดเส้นทางจราจรบางส่วน นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่ารัฐบาลพร้อมลดวาระตัวเองลงถ้าสามารถทำให้สงบสุข สามารถพูดคุยกันได้ มั่นใจว่าถ้าทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันจะใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี 9 เดือน ขอยืนยันในประกาศของ ศอ.รส. ให้กลับไปใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านฟ้าฯ รัฐบาลกำลังผ่อนคลายสถานการณ์ จะบังคับใช้กฎหมายและจะปฏิบัติตามแนวทางสากล เริ่มต้นจากมาตรการเบาไปหาหนัก ขอให้ประชาชน กทม. อดทนอดกลั้น

ทางด้าน ศอ.รส. ออกประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่แยกราชประสงค์ รวมทั้งห้ามชุมนุมบนนถนนอีก 11 สายที่ล้อมรอบบริเวณดังกล่าว (ดู “ประกาศห้ามชุมนุมถนน11สายแดงเคลื่อนเย้ย,” มติชน, 4 เม.ย. 53)

เวลา 16.00 น. ศอ.รส. ออกประกาศฉบับที่ 6 ห้ามบุคคลเข้าหรือให้ออกขจากบริเวณพื้นที่ อาคาร สถานที่ที่กำหนด 11 เส้นทาง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้คนเสื้อแดงไปชุมนุมที่ ถนนสีลม

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลางคืนคนร้ายปาระเบิดเอ็ม 67 เข้าใส่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) และเกิดเหตุคาร์บอมระเบิดแสวงเครื่องในรถเก๋ง ที่ลานจอดรถ อาบอบนวดโพไซดอน ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวนางพรทิวา นาคาศัย รมต.พาณิชย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 5 เม.ย.53

 

5 เมษายน 2553

นปช. – นปช. ดาวกระจายเคลื่อนขบวนจากสะพานผ่านฟ้าลีลาสไปที่สำนักงาน กกต. ที่ศูนย์ราชการฯ ถ. แจ้งวัฒนะ เพื่อทวงถามเรื่องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ในที่สุด กกต. ได้นัดหมายให้ผู้ชุมนุมกลับมาฟังข้อสรุปในวันที่ 20 เม.ย.

นปช. โคราช ตั้งเวทีคู่ขนาน ที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ริมถ.ราชดำเนิน เขตเทศบาลนครนครราชสีมา

นปช. ขอนแก่น รวมตัวกันขับไล่ นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานพิธีเปิดทางลอดสี่แยกสามเหลี่ยม ใกล้ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาขอนแก่น

รัฐบาล –  ศอ.รส. ส่งทหารตรึงกำลังตั้งแต่แยกศาลาแดงหลังคนเสื้อแดงประกาศจะบุกสีลม

นายอภิสิทธิ์ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) มอบอำนาจ ผบ.ทบ. ยื่นร้องศาลแพ่งให้มีคำสั่งให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกจากบริเวณราชประสงค์ (ดู “แดงป่วน 11 จุด เย้ย ศอ.รส.,” ไทยรัฐ, 6 เม.ย. 53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์และสมาคมศูนย์การค้าไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช. ให้ได้ข้อยุติ และขอให้ นปช. ทบทวนเรื่องพื้นที่การชุมนุม ประธานวุฒิสภาแนะนำรัฐบาลให้ร่นระยะเวลาโรดแมป 9 เดือน

เกิดเหตุยิงเอ็ม79ใส่ห้างแม็คโคร ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง หมู่ที่ 6 ต.หนองป่าครั่ง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แต่ไม่ระเบิด

เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 ใส่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ “ตนานุวัฒน์” บ้านม่อนปิน ต.แม่เหียะ เชียงใหม่ของกรรมการหอการค้าเชียงใหม่

หมายเหตุ – “แดงป่วน 11 จุด เย้ย ศอ.รส.,” ไทยรัฐ, 6 เม.ย. 53

 

6 เมษายน 2553

นปช. – ผู้ชุมนุม นปช.ที่ราชประสงค์ได้พยายามล้อมกรอบกองกำลังทหารและตำรวจ เพื่อขับไล่เจ้าหน้าที่ที่ยกกำลังมาปิดล้อมเส้นทางเข้า-ออกบริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อกดดัน

ขณะเดียวกันคนเสื้อแดงในหลายจังหวัดก็จัดชุมนุมคู่ขนานไป เช่นที่อุดรธานี ร้อยเอ็ด ขอนแก่น เชียงราย ส่วนที่ศรีษะเกษ คนเสื้อแดงได้ผ่าจุดสกัดของตำรวจและทหารเข้าไปชับไล่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ที่มาตรวจยี่ยมพื้นที่ภัยแล้ง พร้อมแจกถุงยังชีพให้ประชาชน ที่ อ.กันทรลักษ์

รัฐบาล – ศอ.รส. วางกำลังตำรวจทหารปิดล้อมผู้ชุมนุมรอบแยกราชประสงค์ การตอบโต้กันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมเกิดขึ้นโดยรอบ สุดท้ายผู้ชุมนุมสามารถเคลื่อนไหวกดดันเจ้าหน้าที่ให้ถอยออกจากพื้นที่รอบราชประสงค์ได้สำเร็จ (ดู “ปะทะครั้งแรก รบ.หยั่งเชิงสลายก่อนถอย,” มติชน, 7 เม.ย. 53 ; “คำแถลงนายกฯแจกแจงเหตุระงับแผนสลายม็อบ,” มติชน, 7 เม.ย. 53 ; “นาทีต่อนาทีเครียด แดงปะทะตร.-ทหารครั้งแรก,” มติชน, 7 เม.ย. 53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยกคำร้องของรัฐบาลที่ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ชุมนุมออกจาก พื้นที่ราชประสงค์ โดยศาลแพ่งมีความเห็นว่า การชุมนุมของ นปช. โดยเฉพาะการปิดกั้นและขัดขวางเส้นทางสาธารณะในกรุงเทพมหานครนั้นเป็นการ กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตามหลักกฎหมายนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีอำนาจในการดำเนินการอยู่แล้ว

ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวตำหนิคนเสื้อแดงที่บุกเข้าไปในสำนักงาน กกต.

ในวันเดียวกันนั้น เกิดเหตุวางระเบิด (แต่ไม่ระเบิด) บริเวณใกล้ทางเข้าประตูใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลา 13.30 น. เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 ใส่ด้านหลังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ในวันครบรอบการก่อตั้งพรรค

 

7 เมษายน 2553

นปช. – เช้าวันที่ 7 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ที่เวทีผ่านฟ้าได้เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมรัฐสภา ซึ่งมีการประชุมคณะรัฐมนตรี วอร์รูมรัฐบาล และรัฐสภาอยู่ ต่อมาเวลาประมาณ 12.00 น. แกนนำ นปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุมที่รัฐสภาแล้วให้ผู้ชุมนุมรีบเดินทางไปยังสถานีดาวเทียมไทยคมเนื่องจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะตัดสัญญานของสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารหลักของคนเสื้อแดงขณะนั้น

เวลาประมาณ 12.20 น. นายอริสมันต์อ้างว่าตำรวจโยนแก๊ซน้ำตาเข้ามายังกลุ่มผู้ชุมนุม แล้วสั่งให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐสภา ทำให้ ส.ส. และเจ้าหน้าที่ด้านในแตกตื่นวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น เมื่อ ส.ส. พรรคเพื่อไทยเข้ามาเจรจากับนายอริสมันต์กลุ่มคนเสื้อแดงจึงยอมถอยออกไปอยู่ในบริเวณประตูทางเข้ารัฐสภา ต่อมานายสุพร อัตถาวงศ์ได้ประกาศยุติการปิดล้อมรัฐสภาและให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปที่สถานีดาวเทียมไทยคม ระหว่างที่คนเสื้อแดงกำลังทยอยออกไป ได้มีผู้เก็บระเบิดควัน 2 ลูก นำมาให้นายอริสมันต์ อ้างว่าเจ้าหน้าที่ขว้างมา นายอริสมันต์จึงนำคนเสื้อแดงที่เหลือกลับมาเรียกร้องหานายสุเทพ แล้วสั่งให้การ์ดเข้าไปตามหานายสุเทพในรัฐสภา จากนั้นนายสุเทพ พร้อมด้วยนายสาทิตย์และนายปณิธาน ต่างพากันปีนออกทางพระที่นั่งวิมานเมฆ ขณะที่เหตุการณ์กำลังจะบานปลายแกนนำจากเวทีราชประสงค์ได้โทรศัพเข้ามาขอให้นายอริสมันต์ลงจากเวที ต่อมาเวลาประมาณ 13.20 น. นายก่อแก้วและนายวิสาได้มาบัญชาการแทนนายอริสมันต์โดยสั่งให้ผู้ชุมนุมออกมาจากรัฐสภา ฝ่ายตำรวจชี้แจงว่าแก๊ซน้ำตาที่นายอริสมันต์อ้างว่าเจ้าหน้าที่โยนใส่ผู้ชุมนุมนั้น เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจราจล ซึ่งในช่วงที่คนเสื้อแดงปะทะกับเจ้าหน้าที่กระป๋องแก๊ซที่ติดตัวได้หล่นลงมาแล้วมีผู้ชุมนุมนำไปมอบให้นายอริสมันต์

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แกนนำ นปช. ไม่พอใจบทบาทของนายอริสมันต์ ซึ่งไม่ทำตามมติของแกนนำหลายครั้งแล้ว ทั้งตอนไปสาดเลือดหน้าบ้านนายอภิสิทธิ์และการนำมวลชนเข้าไปไล่ทหารในทำเนียบรัฐบาล

นปช. เคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่หน้าสถานีสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม ถ.รัตนา ธิเบศร์ จ.นนทบุรี เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลทำการปิดการถ่ายทอดสด People Channel

เวลา 17.30 น. แกนนำ นปช. ทั้งหมดขึ้นเวทีราชประสงค์ ประกาศย้ำจุดยืนให้นายกฯ ยุบสภาภายใน 15 วัน พร้อมประกาศว่าหากมีการตัดสัญญานพีเพิลชาแนลจะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม

เวลา 18.00 น. โทรทัศน์ทุกช่องถ่ายทอดสดนายกฯ แถลงข่าวประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้บรรยากาศการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ผู้ชุมนุมก็ตื่นตัวพร้อมรับสถานการณ์การสลายการชุมนุม ส่วนที่สถานีไทยคม นนทบุรี คนเสื้อแดงจำนวนมากยังปักหลักชุมนุมอยู่ และ พ.ต.อ. ชัยโรจน์ ชัยยะ อดีตนายตำรวจ ได้นำคนเสื้อแดงราวพันคนไปยึดสถานีส่งสัญญานไทยคม ลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีกำลังทหารมายึดไว้ตั้งแต่ช่วงเย็น

ส่วนที่ จังหวัดนครราชสีมา นปช.นครราชสีมา ตั้งเวทีปราศรัยที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อเตรียมพร้อมบุกยึดศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาทันทีหากมีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ

รัฐบาล – เวลาประมาณ 10.30 น. นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติตามที่ กอ.รมน. เสนอ ให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงออกไปตั้งแค่วันที่ 8-20 เม.ย. และให้ขยายพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันเป็นผลกระทบ ขณะเดียวกันที่รัฐสภา นายสุเทพ รองนายกฯ เป็นประธานการประชุมวอร์รูมรัฐบาลติดตามสถานการณ์การชุมนุม มีแกนนำรัฐบาลมาร่วมอย่างพร้อมเพรียง ใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ชม. และนายสุเทพได้คุยโทรศัพท์กับนายกฯ ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ก่อนเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงไอซีทีในฐานะคู่สัญญากับบริษัทไทยคมฯ สั่งให้ไทยคมยุติการให้บริการสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล โดยได้สั่งการไปตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.

เวลา 16.30 น. นายกรัฐมนตรีเรียกประชุม ครม. นัดพิเศษ ที่ ศอ.รส. ที่ ร.11 รอ. จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมือง อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และให้ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีนายสุเทพ เมือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ

วันเดียวกันนั้น นายสุเทพ ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. ทำหนังสือถึง รมว.ไอซีที ระบุว่าคณะกรรมการ กอฉ.(กองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) มีมติให้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลต่อความมั่นคง 36 URL ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่องทางการสื่อสารของคนเสื้อแดง รวมทั้งเว็บไซต์ประชาไท ฟ้าเดียวกัน และคนเหมือนกัน โดยอ้างข้อกำหนดตามที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ดู หนังสือศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ กห 0407.45/1 เรื่อง “การปิดกั้นเว็บไซต์ตาม พรก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” วันที่ 7 เม.ย. 53 ; และดูเพิ่มเติม รายงานการสัมมนา “วันเสรีภาพสื่อโลก: สื่อไทยภายใต้ภาวะ ‘ฉุกเฉิน’ ทางการเมือง,” ประชาไท, 6 พ.ค.53 ; “รบ.ประกาศภาวะฉุกเฉิน 6 จว.แดงสู้แตกหัก,” มติชน, 8 เม.ย.53 ; “รายงานพิเศษ อภิสิทธิ์ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน,” ข่าวสด, 8 เม.ย.53 ; “ภาวะฉุกเฉินแดงระดมสู้,” ข่าวสด, 8 เม.ย.53 ; “ประกาศฉุกเฉิน ม็อบไม่ถอย,” ไทยรัฐ, 8 เม.ย.53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลา 3.00 น. เกิดเหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 ตกข้างห้องสำนักงานผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ภายในกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน

วันเดียวกัน เกิดเหตุปาระเบิดหน้าที่ทำการตำรวจชุมชน (ศูนย์อยู่เย็น) ด้านหน้าทางเข้าห้าง เทสโก้โลตัส สาขานวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม และเกิดเหตุวางระเบิดแสวงเครื่อง (กู้ได้ทัน) บริเวณใต้เชิงสะพานวงแหวนขาออกลงสู่ ถนนรามอินทรา ใกล้กับห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ แขวงเขตคันนายาว

กลางดึก เกิดเหตุยิงระเบิด m79 เข้าใส่ห้องออกกำลังกายข้างห้องสำนักงานผู้บัญชาการทหารบก มีนายทหารบาดเจ็บ 1 นาย

 

8 เมษายน 2553

นปช. – กลุ่มแท็กซี่และเสื้อแดงจำนวนหนึ่งกำลังมาคุมสถานการณ์หน้าปากซอยวิภาวดี 16 ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุชุมชนคนรักแท็กซี่ เครือข่ายของนปช. เพราะหวั่นโดนทหารบุกยึดระงับออกอากาศ
ส่วนที่สถานีไทยคม คนเสื้อแดงได้ทยอยเดินทางมาชุมนุมปิดล้อมสถานีบริการภาคพื้นดินไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี กว่า 2 พันคน ผู้ชุมนุมพยายามบุกเข้าไปในสถานีแต่ไม่สำเร็จ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงสลายตัวไปในช่วงเย็น อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 19.30 น. พีเพิลชาแนลสามารถออกอากาศได้อีกครั้งโดยใช้สถานีลับ

ส่วนที่ต่างจังหวัด มีการชุมนุมที่ศาลกลางจังหวัดในจังหวัดต่อไปนี้ ภาคเหนือ ประกอบด้วย 1.พะเยา 2.ลำปาง 3.น่าน 4.เชียงราย 5.แพร่ 6.เชียงใหม่ 7.ตาก 8.พิษณุโลก 9.อุตรดิตถ์ 10.พิจิตร 11.ลำพูน 300 คน 12.เพชรบูรณ์ 13.นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 14.นครราชสีมา 15.ชัยภูมิ 16.ร้อยเอ็ด 17.กาฬสินธุ์ 18.เลย 19.หนองคาย 20.สกลนคร 21.อุบลราชธานี 22.อำนาจเจริญ 23.สุรินทร์ 24.นครพนม 25.ขอนแก่น 26.มหาสารคาม 27.อุดรธานี 28.ศรีสะเกษ 29.ยโสธร 30.มุกดาหาร 31.หนองบัวลำภู ภาคกลางและภาคตะวันออก 32.ลพบุรี 33.อยุธยา 34.จันทบุรี 35.ปราจีนบุรี 36.ฉะเชิงเทรา 37.ชลบุรี 38.สระแก้ว

รัฐบาล – นายกรัฐมนตรียกเลิกการเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน ที่ประเทศเวียดนามและการประชุมสุดยอดผู้นำความมั่นคงอาวุธนิวเคลียร์ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน

ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตัดสัญญานพีเพิลชาแนลได้สำเร็จ กระทรวงไอซีทีตั้งทีมไล่ปิดเว็บไซต์จำนวนมาก รมว. มหาดไทยสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดคุ้มกันศาลากลางอย่างเข้มงวด โดยหลังพีเพิลชาแนลถูกปิดได้มีกำลังทหารกับตำรวจปราบจราจลกว่า 3,000 นาย เข้าควบคุมสถานีไทยคม

ขณะที่ศาลอาญาได้ออกหมายจับแกนนำ นปช. 7 คน ที่นำผู้ชุมนุมบุกรัฐสภา ประกอบด้วยนายอริสมันต์ นายสุพร นายพายัพ เจ๋ง ดอกจิก นายเสงี่ยม สำราญรัก นายวันชนะ เกิดดี นางศิริวรรณ นิมิตศิลป์

ที่ ร.11รอ. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษก ศอฉ. กล่าวว่าทาง ศอฉ.ได้มีการแจ้งเตือนในกรณีที่ผู้ชุมนุมนำรถจักรยานยนต์มาใช้ในการก่อกวนเพื่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า การกระทำดังกล่าวมีเหตุอันควรสงสัยว่า ได้ใช้หรือจะใช้รถจักรยานยนต์ เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดรถจักรยานยนต์ได้ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 3 ของประกาศที่ออกตาม มาตรา 11 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งกรณีผู้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเข้าในพื้นที่โดยขับขี่รถพาผู้ชุมนุมผ่านจุด ตรวจ ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามที่ออกตามข้อ 6 ของประกาศที่ออกตามมาตรา 11 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดยานพาหะนะและจับกุมผู้ขับขี่ ผู้ครอบครอง และผู้นำพาหรือแกนนำในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งที่ออกตาม มาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

พ.อ. สรรเสริญกล่าวว่า สำหรับวิทยุชุมนุมที่อยู่ในข่ายปลุกระดมยั่วยุ ขณะนี้ทาง ศอฉ.ได้จัดทำบัญชีไว้แล้ว แต่ยอมรับว่าการดำเนินการไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถปิดคลื่นวิทยุได้ทันทีเพราะอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือการดำเนินการทาง ด้านเทคนิค โดยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมการออกอากาศ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการปิดดีทีวีทุกระบบน่าจะสามารถสกัดกั้นมวลชนคนเสื้อแดงได้จำนวนไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาแกนนำปลุกระดมผ่านดีทีวี ส่วนการวีดีโอลิงค์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นเชื่อว่าหลังจากปิดดีทีวี จะทำให้การวีดีโอลิงค์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้มาก ทำได้เฉพาะจุดที่ชุมนุมเท่านั้น (ดู “ศอฉ.สั่งห้ามมอเตอร์ไซค์-รถยนต์ขนคนร่วมเสื้อแดง ฝ่าฝืนจำคุก 2 ปี,” ประชาไท, 8 เม.ย.53 ; “ม็อบแดงรวมพลโต้ศอฉ.บุกราบ11-ไทยคม,” ไทยรัฐ, 9 เม.ย. 53 ; “แดงดีเดย์9โมงลุย10จุดดิ้นเปิดพีทีวีใหม่,” ข่าวสด, 9 เม.ย. 53 ; “พีทีวีจอมืด-ทหารยิงคลื่นกวนสัญญาณ,” คมชัดลึก, 9 เม.ย. 53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย –  ประธานวุฒิสภาแสดงความเห็นว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบแล้วเพราะมีการบุกรุกสถานที่ราชการ จึงเป็นเรื่องถูกต้องที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท และเว็บไซต์อื่นๆ

ฝ่ายแกนนำพันธมิตรฯ ออกมากล่าวว่ารัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ กลุ่มพันธมิตรฯ ขอสนับสนุนให้กำลังใจประชาชนทุกกลุ่มที่ออกมาปกป้องชุมชนของตัวเอง โดย พล.ต. จำลอง ศรีเมืองกล่าวว่าถ้ารัฐบาลจัดการไม่ได้ พันธมิตรฯ จะออกมาจัดการเอง

เวลา 0.45 น. เกิดเหตุคนร้ายขับรถยนต์และจักรยานยนต์ยิงเอ็ม-16 และเอ็ม-79 (แต่ไม่ระเบิด) ใส่ที่ทำการพรรคการเมืองใหม่ ถ.พระสุเมรุ แขวงบวร นิเวศน์ เขตพระนคร นอกจากนี้ยังเกิดเหตุยิงปืนและระเบิดเอ็ม 79 (แต่ไม่ระเบิด)เข้าใส่อาคารทีพีไอทาวเวอร์ แยกถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตัดถนนจันทร์ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร และเวลา 20.00 น. เกิดเหตุปาระเบิดเอ็ม 67 ใส่ลานจอดรถของกรมการขนส่งทางบก เขตจตุจักร กทม.

303 นักวิชาการแสดงจุดยืนต่อต้านการยุบสภา (ดู “303นักวิชาการต้านรัฐอย่าซี้ซั้วยุบสภา,” ไทยโพสต์, 9 เม.ย. 53)

หมายเหตุ

 

9 เมษายน 2553

นปช. – ด้านเวทีที่ราชประสงค์ นปช. ผลักดันกับกำลัง ตำรวจปราบจลาจล หน้า ร.พ.ตำรวจ เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม โดยท้ายที่สุด ตำรวจยอมกลับเข้าที่ตั้ง

วันเดียวกัน นปช. เดินทางไปชุมนุมและปิดล้อมสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ถ.รัตนาธิเบศร์ ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี

อีกส่วนหนึ่งเดินทางไปที่สถานีบริการภาคพื้นดินไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และบุกยึดสถานที่เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณ People Channel จากการครอบครองของทหารได้สำเร็จ หลังปะทะกับทหาร มีการยิงปืนกระสุนยางและขว้างแก๊สน้ำตา คนเสื้อแดงสามารถเชื่อมสัญญานได้สำเร็จ ทำให้พีเพิลชาแนลกลับมาถ่ายทอดได้อีกครั้ง เวลา 20.30 น. นายวีระขึ้นเวทีปราศรัยแถลงถึงความสำเร็จในการคืนสัญญานพีเพิลชาแนล (อย่างไรก็ตาม ในคืนนั้นเวลา 20.30 น. กำลังทหารจำนวนมากเข้ายึดพื้นที่สถานีไทยคมอีกครั้งหลังจากผู้ชุมนุมเสื้อแดงออกไปจากพื้นที่แล้ว และตัดสัญญานการออกอากาศพีเพิลแชนแนลทีวีอีกครั้ง ทว่าต่อมาพีเพิลแชนแนลกลับมาถ่ายทอดได้ในช่วงประมาณ 15.15 น. ของวันที่ 10 เม.ย.)

รัฐบาล – นายสุเทพ ในฐานะ ผอ. ศอฉ. ขีดเส้นตายให้ พล.ต.ท. ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. จับแกนนำเสื้อแดงให้ได้ภายในเวลา 48 ชั่วโมง ตอนเย็น 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจราจล 10 กองร้อย เดินแถวเข้าผลักดันผู้ชุมนุมด้านหน้าโรงพยาบาลตำรวจหลังได้รับคำสั่งให้จับกุมแกนนำ นปช.

ศอฉ. แถลงกฎการใช้กำลัง 7 ขั้นตอน และแถลงรายชื่อแกนนำ นปช. ที่ถูกออกหมายจับตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ประกอบด้วย 1. นพ. เหวง 2. นางดารุณี กฤติบุญญาลัย 3. นายจรัล ดิษฐาอภิชัย 4. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 5. นายนิสิต สินธุไพร 6. นายวีระ 7. นายก่อแก้ว พิกุลทอง 8. นายขวัญชัย สาราคำ (ไพรพนา) 9. นายชินวัฒน์ หาบุญพาด 10. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท 11. นายอดิศร เพียงเกษ 12. นายวรพล พรหมิกบุตร 13. พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรรัตน์ 14. นายสำเริง ประจำเรือ 15. นายวิสา คัญทัพ 16. นางไพจิตร อักษรณรงค์ และ 17. พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล

เวลา 22.10 น. นายกแถลงผ่านทางโทรทัศน์ต่อว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงว่าเหิมเกริม แต่รัฐบาลไม่ท้อ จะขอรักษากฎหมายต่อไป (ดู “แดงบุกยึดไทยคมปะทะเดือดหมายจับอีก 17,” ไทยรัฐ, 1 เม.ย.53 ; “ยึดไทยคม ฝ่าแก๊สน้ำตา-ทหาร,” ข่าวสด, 10 เม.ย.53 ; “นายกฯ ลั่น ยึด ก.ม.-ต้องชนะ,” กรุงเทพธุรกิจ, 10 เม.ย.53 ; “พรก.ฉุกเฉินหมดท่า รัฐบาลพ่ายแพ้ทุกแนวรบมิคสัญญีไทยคมลาดหลุมแก้ว,” ASTV ผู้จัดการรายวัน, 10 เม.ย.53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – คนร้ายนำระเบิดไปวางไว้บริเวณสะพานจ่ายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้านิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ตรงข้ามโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แต่เจ้าหน้าที่เก็บกู้ไว้ได้ทัน

หลังมีการตัดสัญญานพีเพิลชาแนล และกระทรวงไอซีทีไล่ปิดเว็บไซต์จำนวนมาก หลายฝ่ายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พร้อมวิตกกังวลการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ประณามสื่อที่บิดเบือนยั่วยุและคัดค้านการคุกคามสื่อทุกรูปแบบ

ศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่เปิดให้บริการ 10.00-18.00 น.

การประชุมวุฒิสภาล่มเนื่องจากกลุ่ม 40 ส.ว. ส่ง sms ชักชวนให้ ส.ว. หนีประชุม

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 10 เม.ย.53 และ 11 เม.ย.53

 

10 เมษายน 2553

นปช. – ที่ต่างจังหวัด นปช. เชียงใหม่ ผ่านแนวกั้นบุกยึด เข้าไปชุมนุมในศาลากลาง และสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 จังหวัดเชียงใหม่

นปช. ขอนแก่น ชุมนุมที่สวนรัชดานุสรณ์ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น

นปช. อุดรฯ (สถานีวิทยุชมรมคนรักอุดรประกาศให้คนเสื้อแดงมาชุมนุมกันที่ถนนหน้าศาลากลาง) กลุ่มคนเสื้อแดงราว 500 คน เปิดเวทีปราศรัยและบุกพังประตูรั้วเข้าไปยึดพื้นที่ในศาลากลางจังหวัด แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดไว้

นปช. นครราชสีมา ตั้งเวทีเวทีคู่ขนานบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

นปช. พิษณุโลก ชุมนุมที่หน้าประตูศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก

นปช. ร้อยเอ็ด ชุมนุมด้านหน้าศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลและมีการนำยางรถยนต์มากองไว้ที่หน้าศาลากลางด้วย

นปช. มหาสารคาม ตั้งเวทีชุมนุมที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง มหาสารคาม และด้านหน้าศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม

นปช. พะเยา ชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา

ที่อุบลราชธานี คนเสื้อแดงกลุ่มชักธงรบรวมตัวกันรวมตัวกันที่สนามบินจังหวัดเพื่อขับไล่นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ รมว. ศึกษาธิการ ส่วนที่หน้าศาลากลางจังหวัดกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกันร่วมชมการถ่ายทอดสดการชุมนุมในกรุงเทพฯ

ที่ลำพูน กลุ่มคนเสื้อแดงรวมตัวกันหน้าศาลากลางชมถ่ายทอดสด

รัฐบาล – เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการขอพื้นที่คืน ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ และเกิดการปะทะกับผู้ชุมนุมใหลายจุดรอบๆ บริเวณการชุมนุม หลังเกิดเหตุ ศอฉ. ยืนยันว่าไม่ได้ยิงผู้ชุมนุม และกล่าวว่าคนเสื้อแดงเป็นฝ่ายใช้อาวุธ ฝ่าย นปช. ปฏิเสธว่าไม่ได้ยิง m79 ใส่ทหาร และไม่ทราบว่าฝ่ายที่ยิงเป็นใคร พล.ต.ขัตติยะกล่าวว่า ฝ่ายที่ยิง m79 ใส่ทหารคือ “นักรบโรนิน” เป็นกองกำลังอิสระ และกล่าวว่าทหารขึ้นไปซุ่มยิงอยู่บนตึกโรงเรียนสตรีวิทยาและคนเสื้อแดงจำนวนมากตายเพราะพลซุ่มยิงของทหาร ด้านพรรคเพื่อไทยแสดงภาพถ่ายชี้ว่าฝ่ายทหารทำผิดกฎการใช้กำลัง

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลา 4.00 น. เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 เข้าไปตกบริเวณลานจอดรถหลังตึกกองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถ.พหลโยธิน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ห้างสรรพสินค้าบริเวณแยกราชประสงค์ปิดให้บริการโดยไม่มีกำหนด

20.00 น. มีเหตุยิงระเบิดใส่หลังคาตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล แต่ระเบิดไม่ทำงาน คาดว่าจะเป็นระเบิด m79 ต่อมาเวลา 20.15 น. มีเสียงระเบิดดังขึ้นอีกครั้งบริเวณเหนือห้องสีงาช้าง ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า

กลางคืน ที่ ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.อยุธยา เกิดเหตุวางระเบิดซีโฟร์บริเวณโคนเสาไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. 2 ต้น ที่รับกระแสไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าวังน้อยส่ง ไปสถานีรังสิตเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าในเขตกทม.และปริมณฑล เป็นระเบิดซีโฟร์ 6 ลูก แต่ทำงานเพียงแค่ 3 ลูก

หลังเหตุการณ์ 10 เมษา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุดเพื่อสอบสวนเหตุการณ์ ฝ่าย นปช. ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการกลางชันสูตรศพผู้เสียชีวิต

ที่ตรังและสุราษฎร์ธานี มีกลุ่มมวลชนชุมนุมคัดค้านการยุบสภา

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 11 เม.ย.53

 

11 เมษายน 2553

นปช. – นปช.นำโลงศพสีแดง 14 โลงมาวางเรียงกัน พร้อมตั้งเต็นท์และโต๊ะหมู่บูชา ทำพิธีบำเพ็ญกุศลและไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

พ.ต.ท.ทักษิณจี้นายอภิสิทธิ์รับผิดชอบ แกนนำ นปช. ประกาศนายกฯ ต้องยุบสภาแล้วออกนอกประเทศทันที

นปช.ปทุมธานี มาปักหลักหน้าสถานีบริการภาคพื้นดินไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้เชื่อมสัญญาณ People Channel กลับคืนสู่ปกติอีกครั้ง พีเพิลชาแนลสามารถกลับมาถ่ายทอดได้อีกครั้ง แต่ไม่นานก็ถูกสัญญานรบกวนอีก

รัฐบาล – นายสุเทพและ ศอฉ.แถลงโต้ว่า ทหารไม่ได้ทำร้ายประชาชน แต่มีกลุ่มติดอาวุธสงครามแฝงอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมยิงประชาชน

ในช่วงค่ำ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหารือร่วมกันที่โรงแรมมิเลเนียมฮิลตัน มีมติให้ยื่นเงื่อนไขการเจรจาโดยให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 6 เดือน หรือภายในเดือนตุลาคม แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่ทางด้านแกนนำพรรค ปชป. มีท่าทีไม่เห็นด้วย

หลังเกิดเหตุวันที่ 10 เมษายน ที่ประชุมศอฉ. เห็นว่า เนื่องจากปรากฎว่าได้มีการกระทำผิดทางอาญาที่สำคัญเกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความมั่นคงของประเทศจึงพิจารณาเห็นว่า ควรที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิเศษพิจารณาว่ามีเหตุสมควรเป็นคดีพิเศษดำเนินการตาม พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ จึงมอบหมายให้นายสุเทพ ในฐานะประธานกรรมการคดีพิเศษ นำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษเป็นการเร่งด่วน (ดู “รายงานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 3/2553,” วันที่ 16 เม.ย.53, หน้า 2-3)

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 12 เม.ย.53

 

12 เมษายน 2553

นปช. –  พรรคเพื่อไทยยื่นหนังสือต่อ ปปช. ฟ้องเอาผิดนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นผู้ออกคำสั่งจนทำให้เกิดความสูญเสียในเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53

นปช. นำโลงศพบรรจุศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ แห่ไปรอบกรุงเทพมหานครเพื่อประจานการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล

รัฐบาล – พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แสดงความเห็นว่ารัฐบาลควรยุบสภา ส่วนเรื่องเวลาควรหาทางออกด้วยการเจรจา ส่วนข้อสงสัยที่ว่าความสูญเสียของกองทัพเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53เกิดขึ้นเพราะความแตกแยกในกองทัพนั้น พล.อ. อนุพงษ์กล่าวว่า เท่าที่ทราบข่าว อาจมีทหารที่รีไทร์ไปแล้ว คนพวกนี้ไม่ใช่ความแตกแยกของกองทัพ แต่เป็นผู้ปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการ เรามีข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ แต่จะไม่สั่งให้กองกำลังไปกวาดล้าง

พรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้ยุบสภาภายใน 6 เดือน โดยไม่ต้องทำประชามติ ด้านนายชุมพล ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา เร่งพรรค ปชป. ให้สรุปจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เวลาประมาณ 15.00 น. ศอฉ. เปิดเทปรายการ “ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า” ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เป็นผู้ดำเนินรายการสัมภาษณ์นายทหารจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ จังหวัดปราจีนบุรี (พล ร.2 รอ.) พร้อมมีการเปิดคลิปวีดิโอเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ที่ระบุว่าเป็นของช่างภาพอิสระต่างประเทศซึ่งอยู่หลังแนวทหารหลายเหตุการณ์ ทั้งระหว่างการปะทะ การบาดเจ็บจากระเบิดM79 รวมไปถึงภาพของมือปืนโพกผ้าดำและมีผ้าแดงผูก ซึ่งทหารระบุว่าอาจเป็นกลุ่มมือที่สาม หรืออดีตทหารพรานต้องตรวจสอบกันอีกครั้ง พร้อมยืนยันทหารไม่แตกแยก ต่อสู้กันเอง

พ.ท.กิตติพงษ์ จรัญยานนท์ หัวหน้าฝ่ายยุทธการ จาก พล ร.2 รอ. กล่าวว่า ทหารได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติภารกิจในกรอบรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ. ความมั่นคง พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีการวางแผนร่วมกันอย่างเป็นระบบ และยึดถือความปลอดภัยผู้ร่วมชุมนุมเป็นหลัก มีการปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวว่า ผู้ชุมนมอาจมีอารมณ์ร่วมบ้างเพราะจิตวิทยารวมหมู่ แต่ไม่ได้รู้สึกกระด้างกระเดื่อง มีแต่แกนนำกับฮาร์ดคอร์เท่านั้น และอาจมีการยุยงให้บางกลุ่มฮึกเหิม แต่ละพื้นที่การปะทะเหตุการณ์ดำเนินเร็วมาก ดังนั้นขั้นตอนทั้ง 7 ขั้นตอนไม่สามารถกำหนดได้ว่าทำกี่นาที อย่างไรก็ตาม ทหารได้รับการต่อต้านทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นไม้เหลาแหลม อิฐตัวหนอน การกระโดดถีบ อย่างไรก็ตาม ทหารตระหนักดีว่าข้างหน้าคือคนไทยจึงพยายามใช้โล่ดันเป็นหลัก ส่วนการสูญเสียที่เกิดขึ้นตนไม่รู้จะตอบคำถามอย่างไร นอกจากเรียนข้อมูลว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมามีหลายภาพที่ฝั่งของกลุ่มคนเสื้อแดงยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ทหารไม่มีระเบิด ปืนที่มีอยู่ไม่ได้เล็งตรงใส่ผู้ชุมนุม แต่คงไม่สามารถหาภาพได้ว่าใครยิงใส่ผู้ชุมนุม และกระบวนการยุติธรรมเท่านั้นที่จะตรวจสอบในวันข้างหน้าว่าใครเป็นผู้กระทำ

ทั้งนี้ ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวนำก่อนเปิดคลิปการปะทะกันโดยระบุว่าไม่ต้องการสร้างความเกลียดชังเพิ่มเติม แต่ต้องการคืนความจริงและความบริสุทธ์ให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้บรรยายประกอบคลิปวีดิโอดังกล่าวว่า มีระเบิดตกเข้ามา โดนตั้งแต่ระดับพลทหารถึงระดับบัญชาการ ขณะที่มีทหารบางคนที่โดนสะเก็ดระเบิดพยายามโบกมืออย่ายิงซ้ำ แต่ก็มีการยิงซ้ำ และมีการขัดขวางการนำทหารเจ็บส่งออกนอกพื้นที่รวมถึงมีบางกลุ่มที่ทุบตีทหาร ที่ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีภาพชายโพกผ้าดำใช้ปืนอาก้าเล็งยิงตรงมุมตึกด้านหนึ่ง และวิ่งเข้าไปปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มผู้ไม่หวังดี

พ.อ.สรรเสริญกล่าวด้วยว่า การ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมมีลักษณะของการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี บางคนบอกว่าเป็นอดีตทหารพรานที่ไม่ได้รับราชการแล้ว ซึ่งก็ต้องหาหลักฐานพยานกันมาพิสูจน์ ส่วนอาวุธปืนที่ผู้ชุมนุมบางส่วนยึดไปได้นั้นมีความกังวลว่าจะมีการนำอาวุธ ไปสร้างสถานการณ์ แล้วโยนความผิดให้ทหาร อย่างไรก็ตามจะเร่งตรวจสอบว่าอาวุธที่หายไป

ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า ในขณะนี้ต้องระมัดระวังข้อมูลข่าวสาร เมื่อเกิดสงครามขึ้น สิ่งที่ถูกทำลายก่อนคือความจริง ต่างฝ่ายต่างใช้ข้อมูลที่คิดเอาเอง เราพยายามทำหน้าที่เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย ทั้งผู้ชุมนุมและททหารผู้เสียสละ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีคนบางกลุ่มแอบแฝงเข้าไปก่อความวุ่นวายและพยายามใส่ร้าย ป้ายสีทหารและกองทัพด้วย

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมกดดันทหารให้จัดการอย่างเด็ดขาด และทหารพยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด ผู้ดำเนินรายการกล่าวเสริมว่า และเมื่อต้องปฏิบัติตามหน้าที่แล้วก็เข้าทางผู้ที่ต้องการให้สถานการณ์บานปลาย แล้วมักมีการอ้างผู้เสียชีวิตเป็นความชอบธรรมของตัวเอง เพื่อตอบโต้มุ่งร้ายฝ่ายทหารและรัฐบาล

ผู้ดำเนินรายการกล่าว สรุปว่า ถึงเวลาที่เราต้องสามัคคีกันและจับกุมคนผิด ผู้ชุมนุมคงทราบว่าการชุมนุนนั้นได้สร้างความเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศ ท่านอาจจะบอกว่าต้องการประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยอยู่แล้ว อย่าทำให้กลายเป็นความคลั่งประชาธิปไตยมากไปกว่านี้ รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอยออกมาจากพวกที่นิยมความรุนแรง เพื่อลูกหลานจะได้รู้ว่าพ่อแม่ของพวกเขาได้เสียสละอย่างมีปัญญา (ดู “ศอฉ.เปิดคลิปทหารออกทีวีพูล วอนประชาชนอย่าบริโภคสื่อด้านเดียว,” ประชาไท, 12 เม.ย. 53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กกต. ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรค ปชป. และส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อร้องต่อศาล รธน.

ตัวแทนผู้ค้าย่านราชประสงค์เข้าร้องเรียนต่อประธานวุฒิสภา

โรงพยาบาลตำรวจแถลงผลการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53 จำนวน 11 ราย โดยระบุว่า 8 รายเสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูง 1 รายถูกยิงเข้าที่หน้าอกโดนหัวใจ ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกระสุนความเร็วสูงหรือความเร็วต่ำ 1 รายเสียชีวิตด้วยระบบการหายใจล้มเหลว โดยไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเพราะแก๊สน้ำตาหรือไม่ อีก 1 รายคือผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นไม่แถลงผลชันสูตรเนื่องจากเป็นความประสงค์ของญาติ ในจำนวนผู้เสียชีวิตที่ถูกกระสุนทั้ง 9 รายนั้น 8 รายเป็นการยิงจากระยะไกล 1 รายเป็นการยิงจากระยะใกล้ไม่เกิน 1 เมตรหรือระยะประชิด

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พ.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการ พล.ร.2 รอ. ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจี้รัฐบาลไทยสอบกรณีช่างภาพรอยเตอร์ถูกยิงเสียชีวิต

นพ.ตุลย์เป็นตัวแทนกลุ่มพลังเงียบเรียกร้องให้นายกฯ ไม่ยุบสภาและเรียกร้องให้ ผบ. เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 ตกไปยังข้างบ้านของรองผอ.โทรทัศน์ช่อง 5 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท

เกิดเหตุยิงปืนใส่อาคารไซเบอร์เวิลด์ ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กทม.

หมายเหตุ

 

13 เมษายน 2553

นปช.

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – สำนักราชเลขาธิการแถลงการณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บและค่าใช้จ่ายในการฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553

หมายเหตุ

 

14 เมษายน 2553

นปช. – นปช. ประกาศยุบเวทีสะพานผ่านฟ้าและการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน นปช. ที่ชุมนุมอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าย้ายไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์ทั้งหมด ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลมากขึ้น

นปช. นครพนม เดินทางไปขับไล่รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยที่เดินทางไปเป็นประธานพิธีรดน้ำดำในงานสงกรานต์ ที่วัดสร้างแก้ว หมู่ 5 ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม มีการชกณัฐมนตรี และเกิดการตะลุมบอนกัน

รัฐบาล – นายสุเทพ เทือกสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และรองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการคดีพิเศษ มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กห 0407.45/60 ถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ตามที่ได้มีกลุ่มบุคคลก่อความไม่สงบในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ใช้อาวุธสงครามร้ายแรงกระทำประทุษร้าย ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของบุคคลเพื่อล้มล้างอำนาจบริหาร ขู่เข็ญบังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ และสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดมานับตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 จนถึงวันที่ 13 เมษายน 53 ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย ทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนยึดอาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการไปไว้ในครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งขณะนั้นเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ประธานกรรมการคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำผิดที่เข้าข่ายเป็นความผิดที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ และระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ จำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนตาง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงให้กรมสอบสวนคดีพิเศษนำคดีความผิดทางอาญานี้เสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อพิจารณา (ดู “รายงานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 3/2553” วันที่ 16 เม.ย. 53 หน้า 3-7)

เวลา 10.30 น. ที่กองบัญชาการ ศอฉ. กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งสำรวจและตรวจสอบอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะของรัฐที่สูญหายหรือถูกทำลายในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ก่อนแจ้งความดำเนินคดีภายในวันนี้ สิ่งที่กังวลคืออาจมีผู้ไม่หวังดีนำอาวุธเหล่านี้ไปสร้างสถานการณ์แล้วโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนี้ พ.อ. สรรเสริญยังได้นำคลิปวิดีโอเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับ กลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายน จำนวน 5 คลิปมาเปิดให้สื่อมวลชนดู โดยในจำนวนนี้มีคลิปทหารยิงกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกนำมาเผยแพร่ลงหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ พ.อ. สรรเสริญกล่าวชี้แจงว่าการใช้อาวุธปืนของทหารจะมี 2 ลักษณะคือ ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญ และยิงเพื่อปกป้องชีวิตของตน ซึ่งกรณีนี้เป็นการยิงเพื่อคุ้มครองการถอนตัวหลังถูกตีแตก ไม่ใช่การสุ่มยิงเพื่อหมายเอาชีวิตฝ่ายตรงข้าม เพราะเป็นการยิงทีละนัด ไม่ใช่การกราดยิงเป็นชุด อีกทั้งเมื่อมีการยิงปืนแล้วทหารก็ได้ถอนออกมา ไม่ได้เดินหน้าต่อ

ส่วนคลิปชายเสื้อแดงซึ่งถือธงในมือถูกลอบยิงจนสมองกระจาย ซึ่งมีการกล่าวกันว่าเป็นฝีมือทหารนั้น พ.อ. สรรเสริญกล่าวชี้แจงว่า มือมืดได้ยิงปืนที่มีอานุภาพร้ายแรงมาจากฝั่งที่ผู้ชุมนุมยืนอยู่ จึงอยากเตือนประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมให้ระวัง เพราะอาจตกเป็นเหยื่อผู้ไม่หวังดีที่เอาชีวิตของประชาชนมาสร้างสถานการณ์

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มก่อการร้ายที่แฝงเข้ามามีจำนวนเท่าไร พ.อ. สรรเสริญกล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่มีข้อมูลด้านการข่าว และมีเบาะแสอยู่ว่าใครเป็นใคร โดย พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า เป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายคือ เพื่อยกระดับสถานการณ์ให้รุนแรงขึ้น และต้องการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร มีกลุ่มก่อการร้ายแฝงเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมจริง หลายภาพที่ปรากฏจะเห็นว่ามีชายสวมเสื้อแจ็คเก็ตสีดำ ซึ่งมีตราสัญลักษณ์ของ นปช. อยู่ด้านหน้า คอยยืนอยู่แถวหน้าผู้ชุมนุม แต่ไม่เคยได้ยินใครส่งเสียงไล่ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เกิดในสถานที่ชุมนุมทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมจะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น ชาติหน้าก็อย่าได้เกิดเป็นแกนนำอีกเลย (ดู “สรรเสริญชี้ทหารยิงเพื่อถอนกำลัง ระบุรู้ตัวกลุ่มผู้ก่อการร้ายแล้ว,” ประชาไท, 14 เม.ย. 53 ; ดูคลิป ศอฉ. 20100414_เหตุการณ์วันที่ 10 อธิบายคลิปภาพ_underdogThai_01 และ 20100414_เหตุการณ์วันที่ 10 อธิบายคลิปภาพ_underdogThai_02)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 15 เม.ย.53

 

15 เมษายน 2553

นปช. – นปช. เชียงใหม่ แห่ป้ายติดภาพถ่ายคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ แห่ขบวนไปยังจวนผู้ว่าฯ พร้อมกับนำรูปนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. มาวางบนพื้นให้ผู้ร่วมขบวนแห่เหยียบย่ำจน

นปช. น่าน ปิดทางเข้าออกวัดหัวเมือง บ้านหัวเมือง ต.แงง อ.ปัว จ.น่าน เพื่อขับไล่รัฐมนตรี ที่เดินทางมาเป็นประธานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

รัฐบาล – นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) ว่า ศอฉ.จะออกคำสั่งให้บุคคลเข้ารายงานตัวตามการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจะเริ่มเรียกตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน โดยนายสุเทพได้ลงนามในคำสั่งแล้ว

นายปณิธาน ยังให้รายละเอียดด้วยว่า เวลานี้มีผู้ถูกเรียกมารายงานตัวประมาณ 50 คน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยเหตุผลของการเรียกมารายงานตัวนั้น เพราะรัฐบาลต้องการจะดูว่าบุคคลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์อย่างไรหรือไม่ ทั้งนี้ไม่เกี่ยว ข้องกับการออกหมายจับบุคคลต่างๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งหากไม่มารายงานตัวจะมีความผิดตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ดู “ศอฉ. ขึ้นบัญชี เรียก 50 คนหนุนแดงรายงานตัว,” prachatai, 16 เม.ย.53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่ม “แนวร่วมคนรักชาติ” และกลุ่มเฟซบุ๊ก “มั่นใจคนไทยเกินล้านต่อต้านการยุบสภา” รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เชิญชวนกลุ่มพลังเงียบออกมาต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดง และสนับสนุนไม่ให้รัฐบาลยุบสภา

หมายเหตุ

 

16 เมษายน 2553

นปช. – นปช. ทำการปิดล้อมและปลดอาวุธเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยคอมมานโดที่เข้ามาปิดล้อมเพื่อทำการจับกุมแกนนำ 6 คนที่พักอยู่ในโรงแรมโรงแรมเอสซีปาร์ค ถ.เลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ เขตวังทองหลาง และสามารถช่วยเหลือแกนนำได้ทั้งหมด

นปช. ศรีสะเกษ ขับไล่iรัฐมนตรี ที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธียกช่อฟ้าอุโบสถวัดบ้านกระโพธิ์ช่างหม้อ ต.ดองกำเม็ด อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ

ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีที่ ศอฉ. ออกคำสั่งเรียกบุคคลที่เป็นนักการเมืองและนักธุรกิจจำนวนประมาณ 60 คน ให้ไปรายงานตัวต่อ ศอฉ. ว่า ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยได้ประชุมหารือกัน เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องทางการเมือง เป็นการใช้อำนาจโดยไม่สุจริตและบิดเบือน ผู้ที่ได้รับหนังสือของ ศอฉ. จึงต้องมาพิจารณาดูว่าสมควรหรือไม่ที่จะต้องไปยอมรับอำนาจดังกล่าว เพราะลักษณะการใช้อำนาจเหมือนกับประเทศอยู่ ในภาวะของการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอย่างอำเภอใจ ใช้อย่างไรกับใครก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม ในส่วนของสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ได้รับหนังสือ ก็จะให้ทนายความดำเนินการเพื่อทราบประเด็นว่า ศอฉ. ต้องการให้ชี้แจงเรื่องอะไร หลังจากนั้นก็จะส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือให้ทราบ โดยจะไม่ไปชี้แจงด้วยตนเอง เพราะเห็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงเกมการเมืองของรัฐบาล เพื่อต้องการสร้างข่าว และทำลายคู่แข่งทางการเมือง โดยหวังผลในการทำลายขวัญกำลังใจของผู้ชุมนุม

“พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และ กรรมการ ศอฉ.ทุกคน ยุติการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และควรยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้แล้ว เพื่อให้สังคมกลับคืนสู่ความสงบสุขต่อไป เพราะถึงประกาศใช้ก็ไม่สามารถบังคับได้ เนื่องจากการใช้กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับบางฝ่าย และนับวันจะเพิ่มความขัดแย้งรุนแรงบานปลายออกไป” นายพร้อมพงศ์กล่าว

(ดู “วินมอไซค์-วิทยุชุมชนทยอยรายงานตัว ศอฉ.แล้ว ยังไร้เงานักการเมือง-นักธุรกิจ เผยมีอดีตขรก.ติดโผด้วย,” มติชนออนไลน์, 16 เม.ย.53,  ; “เพื่อไทยบอกปัด ศอฉ.ไม่ส่งคนเข้าไปชี้แจง แต่ให้ทนายทำหนังสือแทน,” มติชนออนไลน์, 16 เม.ย.53)

รัฐบาล – มีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 3/2553 ณ ห้องประชุมกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน (แทนนายกฯ)

ที่ประชุมมีมติตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบมาตรา 10 (3) ของ พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้คดีความผิดทางอาญากรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไปในราชอาณาจักร รวมถึงความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน เป็นคดีพิเศษที่ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และให้มีพนักงานอัยการและ/หรืออัยการทหารมาสอบสวนร่วมกันตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ด้วย (ดู “รายงานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 3/2553,” วันที่ 16เม.ย. 53 หน้า 3-7)

ตำรวจคอมมานโดนับร้อยบุกจับแกนนำ นปช.ที่ โรงแรมเอสซีปาร์ค

ที่ ศอฉ. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. กล่าวถึงความคืบหน้าในการให้บุคคลเข้ารายการงานตัวกับ ศอฉ. ตามมาตรา 11(2) ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า มีบุคคลมารายงานตัวบ้างแล้ว ทั้งนี้ รายชื่อทั้งหมดที่เรียกมารายงานตัวมีประมาณ 54 คน ซึ่งประกอบด้วยนักการเมือง อดีตข้าราชการ หรือนักธุรกิจ แต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเลยเวลาการเข้ารายงายตัวแล้ว อาจเปิดเผยชื่อได้บางส่วน

พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ศอฉ. ไม่ได้กำหนดวันเส้นตายไว้อย่างชัดเจน แต่จะดูไปตามความเหมาะสม คาดว่าน่าจะประมาณ 2 – 3 วัน

มีรายงานข่าวว่า พบกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและเจ้าของวิทยุชุมชนจำนวน 21 คนเข้ามารายงานตัว โดยทั้งหมดเข้าให้การกับเจ้าหน้าที่ทหารของ ศอฉ. ก่อนให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดถูกปิดเป็นความลับ ส่วนบุคคลที่เหลืออีก 30 คนที่ยังไม่เข้ารายงานตัว รวมถึงนักการเมืองทั้ง 3 คน หากไม่เดินทางมาตามเวลากำหนด ศอฉ. จะดำเนินการออกหมายจับภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ดู “วินมอไซค์-วิทยุชุมชนทยอยรายงานตัว ศอฉ.แล้ว ยังไร้เงานักการเมือง-นักธุรกิจ เผยมีอดีตขรก.ติดโผด้วย,” มติชนออนไลน์, 16 เม.ย.53

ทางด้านพรรค ปชป. นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ศอฉ. ออกคำสั่งเรียกนักการเมืองและนักธุรกิจเข้ารายงานตัวว่า ถ้าคนกลุ่มนี้มีความบริสุทธิ์ใจควรให้ความร่วมมือ โดยรัฐบาลพร้อมเปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ สาเหตุที่ ศอฉ.ต้องเรียกคนกลุ่มนี้ประมาณ 60 คน มารายงานตัว เพื่อจะได้ทราบข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ดีกว่าปล่อยให้วิเคราะห์ ประเมิน และรับข้อมูลจากรายงานข่าวอย่างเดียว ทั้งนี้ ใครไม่ให้ความร่วมมือ จะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สำคัญสังคมอาจสงสัยว่าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มแดงก่อการร้ายจริง จึงไม่กล้ามาพบ ศอฉ. (ดู “ปชป.ชี้คนเบี้ยวรายงานตัวศอฉ.น่าสงสัย,” มติชนออนไลน์, 17 เม.ย.53)

เมื่อเวลา 21.16 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ย้ำว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายอย่างเด็ดขาด เพราะมันหมายถึงการรักษาความเป็นบ้านเมืองที่มีกฎหมาย ความมั่นคงของชาติ และการปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติ

 “การบังคับใช้กฎหมายนั้น เมื่อเช้านี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจครับ ได้ใช้ความพยายามในการเข้าจับกุมแกนนำบางส่วนซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม การดำเนินการนั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ สิ่งที่รัฐบาลและ ศอฉ. ดำเนินการขณะนี้ ก็คือการดำเนินการเพื่อที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายและการแก้ไขปัญหานั้น เป็นไปได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้นในอนาคต ประการแรกคือได้มีการขยายผลไปสู่กลุ่มคนในการสนับสนุนการชุมนุมก็ดี ซึ่งเชื่อมโยงการก่อการร้าย เพราะฉะนั้นในขณะนี้ได้มีการเรียกบรรดาบุคคลซึ่งอาจจะอยู่ในข่ายของการสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทางธุรกิจ การให้ที่พักพิง การอำนวยความสะดวก หรือการมีส่วนร่วมในการยุยงปลุกระดมให้เกิดปัญหาความปั่นป่วนในบ้านเมือง ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ครับ ก็จะสามารถนำไปสู่การดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างกว้างขว้างมากขึ้น”

“ได้มีการมอบหมายให้ทางคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้และวันนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการที่จะรับเรื่อง ก่อการร้ายทั้งหมดเข้าไปเป็นคดีพิเศษ ซึ่งเราก็คาดว่าจะทำให้การดำเนินการตามกฎหมายและการดำเนินคดีนั้นกระทำได้ รวดเร็วมากยิ่งขึ้น”

“สำหรับการดำเนินการในการบังคับใช้กฎหมาย และความไม่สำเร็จที่ผ่านมานั้น ก็ทำให้ในส่วนของผมนั้นได้มาทบทวนดูโครงสร้างต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาครับ และได้ตัดสินใจแล้วที่จะปรับโครงสร้างในส่วนของ ศอฉ. เพื่อให้มีการสามารถระดมกำลังในลักษณะที่มีความเป็นเอกภาพและบูรณาการได้มาก ยิ่งขึ้น เพื่อจะเข้ามาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการก่อการร้ายเป็นการ เฉพาะและก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ซึ่งจากเดิมนั้นท่านรองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณนั้น เป็นผู้บริหารในเรื่องของสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด ในขณะนี้ได้มีการตัดสินใจว่าจะทำให้กระบวนการของการบังคับบัญชาต่างๆ นั้น สามารถทำได้เข้มข้นและมีความกระชับมากยิ่งขึ้น สอดรับกับการปรับโครงสร้างภายใน ศอฉ.เอง”

“ดังนั้น ผมจึงได้มีคำสั่งที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าผู้รับผิดชอบเป็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเพิ่มอำนาจให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการรับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วไปแล้ว จะเข้ามาดูแลในเรื่องของปัญหาการก่อการร้ายโดยตรงรวมไปด้วย เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ใหม่ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนในคืนนี้ต่อไป”

(ดู “มาร์คหวังว่าชาวไทยจะได้ฉลองปีใหม่ตามสมควร พร้อมตั้งอนุพงษ์เป็น ผอ.ศอฉ.,” ประชาไท, 17 เม.ย.53 ; ดูคลิป 20100416_CRES_001)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เพื่อให้กำลังใจทหาร รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ไม่ให้ยุบสภา และเรียกร้องให้ช่วยกันคืนความสงบสุขแก่ประเทศไทย

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 17 เม.ย.53

 

17 เมษายน 2553

นปช.

รัฐบาล – เวลา 11.30 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงชี้แจงสื่อมวลชน ภายหลังการประชุม ศอฉ. ว่า ผู้ที่รับผิดชอบ ศอฉ.ในภาพรวมทั้งหมดยังคงเป็น ผอ.ศอฉ. คือรองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ เหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถัดจาก ผอ.ศอฉ. จะมีผู้กำกับการปฏิบัติ ซึ่งยังเป็น รองนายกรัฐมนตรีสุเทพเหมือนเดิม และในลำดับถัดไปคือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ มีการเปลี่ยนแปลงจาก รองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เป็นพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ทำหน้าที่แทน

โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ใน ศอฉ. มีทั้งฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมือง ผู้ที่เป็น ผอ.ศอฉ. จะเป็นผู้กำหนดแนวทางและนโยบายในภาพรวม ซึ่งจะต้องมีการประสานกับภาครัฐบาลเพื่อให้ทราบแนวทางและนโยบายของรัฐบาล แล้วมาแปลงรายละเอียดเป็นนโยบายที่จะสั่งการลงไปยัง ศอฉ. ให้ปฏิบัติในแนวทาง โดยรองนายกรัฐมนตรีสุเทพจะเป็นผู้กำกับรายละเอียดการปฏิบัติของหน่วยต่างๆ ภายใน ศอฉ. ซึ่งมีทั้งหน่วยกำลัง หน่วยส่งกำลัง หน่วยทีมกฎหมาย ที่ปรึกษา การรักษาพยาบาล และอีกหลายเรื่อง ฉะนั้นผู้กำกับการปฏิบัติจะกำกับในทุกๆ เรื่อง ส่วนลำดับสุดท้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงคือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ จะเป็นผู้ที่สั่งการในเรื่องการใช้กำลัง ที่เปลี่ยนจากรองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ เป็นผู้บัญชาการทหารบก เพื่อให้การควบคุมสั่งการ มีสายการบังคับบัญชาที่สั้นขึ้น ไม่ต้องขออนุมัติขึ้นไปถึงรองนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ โฆษก ศอฉ. ยังแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถูกคนเสื้อแดงยึดไปแต่ยังไม่ได้รับคืน ซึ่งได้มีการแจ้งความไปแล้ว โดยเกรงว่าจะมีผู้ไม่หวังดีนำอาวุธเหล่านั้นไปใช้เพื่อสร้างสถานการณ์แล้วโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่ง และโยนความผิดให้คนเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่ง

สำหรับความชุลมุนที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 10 เม.ย. นั้นต้องเข้าใจในภาพรวมว่าเจ้าหน้าที่พยายามบังคับใช้กฎหมาย โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของการใช้กำลัง ไม่ได้มีความมั่วเกิดขึ้นในฝ่ายของเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งที่เกิดคือกลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่กับผู้ชุมนุมนำอาวุธมาใช้ ยังความสูญเสียทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเอง จึงเกิดความชุลมุนวุ่นวายขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมเอง และเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติงานในครั้งต่อไป เจ้าหน้าที่จะต้องมีความระมัดระวังตัวมากกว่านี้ ต้องมีความชัดเจนในขั้นตอนการปฏิบัติที่สามารถจะปกป้องชีวิตเจ้าหน้าที่เอง ด้วย ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความปลอดภัยของกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยเช่นกัน

ส่วนการจัดการปัญหาผู้ก่อการร้ายนั้น โฆษกศอฉ.กล่าวว่าขณะนี้กำลังพยายามทำ โดยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้สังคมโดยรวม และพยายามสื่อความหมายนี้ลงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมอยู่ในพื้นที่ราชประสงค์ว่า อาจจะถูกหยิบเป็นเหยื่อของความรุนแรง ขอวิงวอนพี่น้องที่เป็นญาติ หรือคนรู้จักกับผู้ชุมนุมได้สื่อสารเรื่องนี้ให้ผู้ชุมนุมทราบ และออกจากพื้นที่ชุมนุม ถ้าผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ได้เร็วเท่าไร เราก็สามารถจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายได้เร็วเท่านั้น แต่ถ้าท่านยังอยู่ ก็เท่ากับท่านปกป้องกลุ่มก่อการร้าย และสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้เจ้าหน้าที่ สร้างความเดือดร้อน สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองและเศรษฐกิจอยู่ในปัจจุบัน ตัวแปรอยู่ที่ท่าน ผู้ชุมนุมผู้ไม่ได้รู้เรื่องกับการก่อการร้าย ถ้าท่านออกเร็ว บ้านเมืองจบเร็ว

สำหรับการขอคืนพื้นที่ราชประสงค์ ศอฉ.จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายในภาพรวม คนที่เคยทำผิดต้องได้รับผิด การขอคืนพื้นที่ การปฏิบัติในหลากหลายลักษณะ ได้รวมอยู่ในการบังคับใช้กฎหมาย ทุกอย่างต้องทำ เพียงแต่เมื่อไรเท่านั้นที่จะมีความพร้อม ขณะนี้เรากำลังเตรียมการในทุกๆ เรื่องให้พร้อม ทั้งการฟื้นฟูกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ให้มีความพร้อมควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจกับสังคมและกลุ่มผู้ชุมนุม

โฆษก ศอฉ. ยังชี้แจงกรณีที่พลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ได้ให้ความเห็นเมื่อตอนเช้าว่าการสลายการชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เมษายน เจ้าหน้าที่ได้ทำผิดหลักการตามหลักสากล เพราะการปฏิบัติการวันนั้นได้ทำในเวลา 18.00 น.ว่า ศอฉ. ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเวลากลางวันและโฆษกฯ ก็ได้เรียนให้ทราบแล้วว่าในยามค่ำนั้น เป็นอุปสรรคต่อทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและเป็นปัญหาต่อผู้ชุมนุมด้วย เพราะฉะนั้นเวลา 18.15 น. จึงไม่มีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เพราะมีการตั้งแนวขอบโดยรอบแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเวลา 18.15 น. นั้นเป็นการที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับเข้ามาผลักดันเจ้าหน้าที่ออกไป (ดู “สรรเสริญยัน ศอฉ.ไม่สลายชุมนุมกลางคืน แต่ผู้ชุมนุมเข้ามาดันเจ้าหน้าที่เอง,” ประชาไท, 18 เม.ย.53 ; “ศอฉ. ชี้แจงสื่อ รองนายกฯ สุเทพยังเป็นผอ.ศอฉ. แต่เปลี่ยนให้ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉิน,” ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 17 เม.ย.53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่มคนเสื้อหลากสี ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อต้านการยุบสภา

หมายเหตุ

 

18 เมษายน 2553
นปช. – แกนนำ นปช. มีมติระดมพลครั้งใหญ่ขับไล่รัฐบาลอีกครั้ง ภายใต้ยุทธศาสตร์ “รวมพลแดงทั่วไทย ไล่ทรราชมือเปื้อนเลือด” ในวันที่ 20 เมษายน ที่แยกราชประสงค์

รัฐบาล – เวลา 11.20 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงภายหลังการประชุม ศอฉ. ว่า จากกรณีการปฏิบัติภารกิจเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน รวมทั้งประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองต่างได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุของการปฏิบัติภารกิจที่มีลักษณะการเข้าปะทะกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกลอบทำร้ายโดยกลุ่มก่อการร้ายที่มีอาวุธสงครามหลายชนิด ทั้งวัตถุระเบิด กระสุนปืนจริง ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ในพื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย กลุ่มก่อการร้ายพร้อมที่จะใช้อาวุธทำร้ายทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมได้ในทุกโอกาส ดังนั้น เมื่อเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ศอฉ.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมาตรการจุดตรวจ ด่านตรวจ จุดสกัด มีการตั้งด่านที่มีความแข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ภูมิภาค ต่างๆ เดินทางเข้ามายังพื้นที่การชุมนุมที่ไม่ปลอดภัย โดยหากมีความพยายามที่จะฝ่าฝืนเข้ามา มาตรการในเบื้องต้นคือ เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งห้าม แต่หากยังมีความพยายามที่จะจับกลุ่มกันแล้วฝ่าฝืนเข้าไป เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันด้วยการใช้กำลังตามกฎของการใช้กำลังทั้ง 7 ประการ เริ่มจากมาตรการขั้นเบาไปขั้นหนัก แต่เราจะไม่ยอมให้กลุ่มผู้ที่จะพยายามเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมได้กระทำการในลักษณะที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ยึดยานพาหนะ อาวุธยุทโธปกรณ์ได้อีก หากมีความพยายามที่จะดำเนินการในลักษณะอย่างนั้น ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธ

“ถ้าเจ้าหน้าที่จะถูกทำร้าย เขามีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องชีวิตของเขา และมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไม่ให้ยานพาหนะและอาวุธยุทโธปกรณ์ถูกยึดไป เพราะที่ผ่านมาอาวุธและพาหนะถูกยึดไปส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะได้ยานพาหนะคืนมา แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ยังไม่ได้คืน ซึ่งจะเป็นภัยร้ายแรงในอนาคต หากมีผู้ไม่หวังดีหยิบฉวยอาวุธเหล่านี้ไปสร้างสถานการณ์”

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปควบคุมในลักษณะของการส่งชุดระวัง ป้องกัน เข้าไปควบคุมในพื้นที่สูง อาคารสูงโดยรอบ เพื่อระวังป้องกันไม่ให้มีผู้ไม่หวังดีไปใช้พื้นที่เหล่านั้นแล้วสร้างสถานการณ์ โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่จะไปปฏิบัติภารกิจเป็นชุดระวังป้องกัน เพื่อควบคุมพื้นที่สูงเหล่านั้นจะแต่งกายในชุดเครื่องแบบที่สามารถตรวจสอบ ได้อย่างชัดเจน เพื่อความสบายใจและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งโฆษก ศอฉ. อธิบายเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า การส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมพื้นที่สูงนั้นเป็นการทำให้พื้นที่ปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าในพื้นที่ที่มีการชุมนุมมีกลุ่มก่อการร้ายแฝงตัวอยู่ เราไม่สามารถที่จะใช้อาวุธตรงหน้าได้ เพราะพี่น้องประชาชนปะปนอยู่ เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะแยกกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งและบังคับไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายสามารถใช้อาวุธได้อย่างมีเสรีต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนก็ต้องใช้วิธีนี้

และ ศอฉ.ยังได้รับการแจ้งจากประชาชนส่วนหนึ่งที่หลงเชื่อคำยุยงแล้วเข้ามาร่วมการชุมนุม ซึ่งปรากฏว่ามีบรรดากลุ่มผู้ชักชวนหรือแนวร่วมที่ชักชวนเข้ามา ได้ไปยึดบัตรประจำตัวประชาชนของประชาชนเหล่านั้น ทำให้เขาไม่กล้าที่จะเดินทางกลับบ้าน จึงขอให้สื่อมวลชนช่วยกระจายข่าวว่า ประชาชนสามารถที่จะออกจากพื้นที่ได้ โดยไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ว่ามีความประสงค์จะเดินทางกลับบ้าน แม้ว่าจะไม่มีบัตรประจำตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับบ้านให้ แล้วจึงกลับไปแจ้งความว่าบัตรประจำตัวหรือเอกสารถูกยึด ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดที่เจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการกับการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ได้ให้เสร็จเรียบร้อยเพื่อนำความสงบกลับมา ก็อยู่ที่ตัวพี่น้องประชาชนโดยทั่วไปที่หลงเชื่อ และถูกยุยุงให้กลับมาร่วมชุมนุม ฉะนั้นถ้าหากประชาชนออกจากพื้นที่การชุมนุมได้เร็วเท่าไร เจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติงานได้ง่ายเท่านั้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าต้องมีผู้ชุมนุมเหลือจำนวนเท่าไร ศอฉ. ถึงจะตัดสินใจสลายการชุมนุมโฆษก ศอฉ. กล่าวว่าบอกไม่ได้บอกแล้วก็ทำงานไม่สำเร็จ พร้อมเมื่อไรทำทันที

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มวลชนจำนวนมากอย่างนั้นเจ้าหน้าที่จะสกัดอย่างไร โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า มีจำนวนมาก เราก็จะเอาไปมากเหมือนกัน และหากต้องเกิดการปะทะก็ต้องเกิด โดยเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและเด็ดขาด เพราะถ้าเราไม่มีความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายทุกอย่างจะไม่มีอะไรสำเร็จเลย แต่ถ้าคิดในมุมเดียวว่าไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย บ้านเมืองเราไปไม่รอด เพียงแต่ว่าความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นนั้น เจ้าหน้าที่ได้พยายามอย่างที่ถึงสุดแล้วที่จะไม่ให้เกิดด้วยมาตรการต่างๆ พยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะใช้วิธีการปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก เจ้าหน้าที่ก็เป็นคนมีเลือดเนื้อ ถ้าจะเข้ามาทำร้ายเขาถึงแก่ชีวิตจะมายึดอาวุธเขาเหมือนเดิมแบบไร้ศักดิ์ศรี แล้วนำอาวุธไปซึ่งไม่รู้จะนำไปสร้างสถานการณ์ที่ไหนหรือเปล่า จะมีคนที่สูญเสียจากการนำอาวุธไปใช้อีกหรือเปล่าเรายอมไม่ได้อีกแล้ว (ดู “โฆษก ศอฉ. ลั่นกำลังพร้อมเมื่อไหร่จะสลายทันที,” ประชาไท, 19 เม.ย.53 ; “ศอฉ. เพิ่มมาตรการคุมเข้มการชุมนุม ตั้งด่านตรวจสกัดไม่ให้ประชาชนเดินทางเข้าพื้นที่ชุมนุมที่ไม่ปลอดภัย,” ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 18 เม.ย. 53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – PAD จัดประชุมใหญ่เครือข่ายทั่วประเทศ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต จ.ปทุมธานี

กลุ่มคนเสื้อหลากสี ชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อต้านการยุบสภา

หมายเหตุ

 

19 เมษายน 2553

นปช. – ช่วงบ่ายที่พรรคเพื่อไทย พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แถลงขอเข้าเฝ้า ขอพึ่งพระบารมีในการพระราชทานแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง

ที่สำนักงานสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน นปช. ยื่นหนังสือถึงสหประชาชาติ ให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์การชุมนุม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อาวุธปราบปรามประชาชน

นปช.สมุทรปราการ แห่ศพสมาชิกที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 รอบเมืองปากน้ำ

รัฐบาล – กำลังทหาร-ตำรวจรพร้อมอาวุธครบมือเข้าตรึงพื้นที่ย่านถนนสีลม หลังจากมีข่าวว่าเสื้อแดงจะไปขยายพื้นที่การชุมนุมไปพื้นที่ดังกล่าว

เวลาประมาณ 21.00 น. สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) มีรายการสัมภาษณ์พิเศษนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมีนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายอภิสิทธิ์ได้ชี้แจง ถึงการปรับเปลี่ยนหน้าที่ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ใน ศอฉ.ว่าเป็นไปเพื่อความเหมาะสมที่จะให้สายการบังคับบัญชากระชับและเข้มข้นมากขึ้น โดยฝ่ายนโยบายก็ยังมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ กำกับอยู่ ส่วนเรื่องการเมืองตนก็ยังดูอยู่ แต่ไม่ว่าคำตอบทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การใช้กฎหมายก็ยังต้องดำรงอยู่ วันนี้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาก็ออกมา เพราะเขามองว่าถ้าปล่อยให้ใช้กำลังข่มขู่ให้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไม่สนใจกฎหมายก็จะไม่เป็นสังคมประชาธิปไตย เป็นปัญหาในระยะยาว สำหรับพื้นที่ราชประสงค์ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องคืนสิ่งนี้ให้เป็นปกติแต่เป็นไปด้วยความยากลำบากขณะนี้เหมือนคน 2 กลุ่มถูกจับเป็นตัวประกัน กลุ่มแรกคือคนกทม.และภาคธุรกิจ กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ไปชุมนุมเพราะมีความเดือดร้อนและกลายเป็นโล่กำบังให้กับแกนนำ เรากำลังจะมีมาตรการช่วยเหลือผลกระทบจากราชประสงค์ก่อน กลุ่มแรกคือ บรรดาลูกจ้างที่ขาดรายได้จากการปิดกิจการ แต่เรื่องที่ใหญ่กว่าคือเอาพื้นที่คืนต้องบังคับใช้กฎหมาย

เราทราบว่าคนส่วนใหญ่ อยากให้มันจบเร็ว ใครก็อยากให้จบเร็วที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริง ประสิทธิภาพ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากวิธีการ คงบอกตารางเวลาไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่คงดูวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและเสียหายน้อย แต่การขีดเส้นกันคงไม่เป็นผลดีและเป็นการกดดันเจ้าหน้าที่ ตอนนี้ฝ่ายความมั่นคงก็ชี้แจงเป็นลำดับว่าการเผชิญกับกองกำลังใช้อาวุธต้อง ใช้อะไรบ้าง สังคมต้องช่วยกันให้เขาทำงานได้ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อความสำเร็จของ งาน

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่าจะสื่อถึงญาติผู้เสียชีวิตอย่างไรเพราะหลายคนเข้าใจผิด นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้ความจริงได้รับการพิสูจน์ และยืนยันว่ากองทัพ เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องได้รับการยกย่องว่าทำแบบมืออาชีพ ตามกฎกติกาสากล ไม่เช่นนั้นคงไม่มีความสูญเสียของทหารมากเช่นนี้ ต้องเปิดใจให้เป็นธรรม ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องยุบสภา ตนก็ย้ำมาตั้งแต่ต้นว่าถ้ายุบแล้วบ้านเมืองแตกแยกมากขึ้นและไม่แน่ใจว่าจะได้สิ่งที่ฝ่ายต่างๆ ต้องการ ระบอบประชาธิปไตยจะมีปัญหา นี่ไม่ใช่เรื่องยื้อเวลา แต่กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าไม่ยุบสภาเขาคำนึงถึงบ้านเมืองในอนาคตไม่ใช่ เรื่องของรัฐบาล ส่วนข้อเรียกร้องที่มีต่อตนเองนั้นความจริงต้องพิสูจน์ออกมา

ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า อยากให้เชิญชวนผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังไม่รู้ว่าถูกชักจูงให้กระทำการที่อาจ ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนก็ไม่สบายใจที่มีเรื่องนี้คาบเกี่ยวกับการชุมนุมมาตลอด มีสื่อที่ก้าวล่วงสถาบันของชาติ แม้แต่ผู้นำทางการเมืองบางคนก็เริ่มพูดก้าวล่วงไปเรื่องอื่นแล้ว เราไม่ควรยอมรับสนับสุนนสิ่งเหล่านี้

ผู้ดำเนินรายการแสดงความเห็นว่าดูเหมือน พล.อ. อนุพงษ์ก็ล้วงลูกฝ่ายการเมืองอยู่บ้าง เช่นบอกให้แก้การเมืองด้วยการเมือง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ความจริงก็พูดตรงกัน ส่วนของการเมืองก็ต้องไปว่ากัน แต่เรื่องความมั่นคงท่านก็ต้องรับผิดชอบ (ดู “มาร์คแจงปรับหัวศอฉ.ให้เข้มขึ้น ย้ำเคลียร์เร็วสุดแต่ยังไม่ขีดเส้น เร่งเยียวยาลูกจ้างราชประสงค์,” prachatai, 19 เม.ย.53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลา 14.00 น. กลุ่มองค์กรภาคประชาชน 16 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล, สถาบันพระปกเกล้า, ศูนย์สันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง, เครือข่ายสันติวิธี, กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง, กลุ่มนักวิชาการประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง, เครือข่ายจิตอาสา, คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, เครือข่ายพุทธิกา, กลุ่มนักศึกษาใส่ใจไทย, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.), กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี, ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิชุมชนไท ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ และ ผอ.ศอฉ. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธีและการเจรจา ช่วยกันพาประเทศไทยออกจากวิกฤต จากนั้นตัวแทนกลุ่มองค์กรภาคประชาชน 16 องค์กร ได้เดินทางไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อยื่นหนังสือดังกล่าวให้แก่แกนนำ นปช.ด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มดังกล่าวมีข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่

  1. ขอให้การสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตในเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาเป็นบทเรียนแก่ทุกฝ่ายว่า ความรุนแรงไม่ใช่หนทางที่จะพาประเทศไทยออกจากวิกฤตได้ เพราะทำให้ความขัดแย้งแตกแยกยิ่งรุนแรง และทำให้ความสมานฉันท์ของคนในประเทศยิ่งเกิดได้ยากยิ่งขึ้น การใช้กำลังบังคับให้ยุติการชุมนุม หรือผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่นั้น ถ้ามีผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นหมื่นคนขึ้นไปแล้ว ประสบการณ์ของทุกประเทศทั่วโลกและของประเทศไทยคือ ถึงแม้จะพยายามลงมือโดยไม่ให้มีการสูญเสีย แต่ไม่เคยมีประเทศใดสามารถทำสำเร็จได้โดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อเลย แต่กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ลุกลามไปมากขึ้นทั้งสิ้น โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ที่มีกลุ่มบุคคลที่ไม่ทราบสังกัดที่แน่ชัด เข้ามาใช้ความรุนแรงด้วยจะยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียมากยิ่งขึ้น การชุมนุมของ นปช. ที่สี่แยกราชประสงค์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องหาทางคลี่คลายแก้ไข แต่ขอให้ไม่ใช้วิธีการรุนแรงและการสลายการชุมนุม เพราะจะเกิดความสูญเสียยิ่งไปกว่าที่ผ่านมา และจะยิ่งทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนถึงขนาดอาจจะเกิดสงครามกลางเมืองได้ และในด้านของผู้ชุมนุมก็ต้องไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ให้มีอาวุธในที่ชุมนุม

 

  1. ขอให้ทั้งสองฝ่ายถอยคนละก้าว เพื่อเปลี่ยนเส้นทางที่กำลังพาประเทศไทยมุ่งหน้าไปสู่การแตกหักและความพัง พินาศของทุกฝ่าย มาใช้ “สันติวิธี” ในการแก้ปัญหา โดยขอให้รัฐบาลถอยก้าวหนึ่งด้วยการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และ ขอให้คนเสื้อแดงถอยก้าวหนึ่งด้วยการเปลี่ยนที่ชุมนุมจากสี่แยกราชประสงค์ เป็นพื้นที่อื่น หรืออย่างน้อยต้องเปิดพื้นที่ให้ห้างร้านต่างๆ ในบริเวณนั้นสามารถทำการได้ตามปกติเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการค้า ซึ่งไม่ได้มีแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่มีผู้ประกอบการรายย่อยๆ พนักงาน และคนหาเช้ากินค่ำจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากในขณะนี้ และควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การปะทะหรือการสูญเสีย ทุกฝ่ายควรตระหนักว่า “การเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยคือ “การเอาชนะใจประชาชน” ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลัง หรือการบังคับให้คนอื่นต้องปฏิบัติตาม การถอยก้าวหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียเลือดเนื้อไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่จะชนะใจประชาชน และจะเป็นการรุกในทางการเมือง ฝ่ายใดยอมถอยก้าวหนึ่งก่อนจะได้ความชอบธรรมในทางการเมือง และทำให้อีกฝ่ายต้องถอยด้วย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสอีกครั้งในการหาทางออกโดยที่ไม่ต้องแลกด้วย เลือดเนื้อชีวิต
  2. ขอให้ทุกฝ่ายใช้วิธีการเจรจาและการประนีประนอมกันในการแก้ปัญหา ในการเจรจาที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งของคนในประเทศควรจบที่การเลือกตั้ง ครั้งหน้า สิ่งที่แตกต่างกันมีแต่เพียงว่าเราควรมีการเลือกตั้งเมื่อไร สภาผู้แทนราษฎรเหลือเวลาเพียง 1 ปี 8 เดือน ถ้าเราเลือกตั้งเร็วขึ้นและยุติปัญหาได้ ก็ควรจะเป็นหนทางที่ประเทศไทยควรเลือกมากกว่าวิถีทางที่มุ่งหน้าไปสู่การแตก หักและความสูญเสีย รัฐบาลยอมที่จะให้มีเลือกตั้งเร็วขึ้นแล้ว คนเสื้อแดงควรที่จะยอมประนีประนอมในเรื่องระยะเวลาด้วย เพราะมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา และยังมีความเห็นที่หลากหลายที่ทั้งสองฝ่ายควรต้องรับฟัง ดังนั้นทั้งสองฝ่ายควรผ่อนเงื่อนไขเข้าหากัน และหากรอบเวลาที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย เพราะประชาธิปไตยนั้นไม่มีใครได้ 100 เปอร์เซ็นต์ตามที่ต้องการ พรรคการเมืองต่างๆ ในสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลก็ควรใช้กลไกรัฐสภาและมีการ เจรจากันเพื่อช่วยหาทางออกให้กับประเทศด้วย
  3. ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการนำเสนอข้อมูลที่เป็นด้านเดียว เพราะในสถานการณ์ความขัดแย้งแบ่งข้างของคนในประเทศเช่นนี้ การที่แต่ละฝ่ายต่างให้ข้อมูลด้านเดียวในการสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายของ ตนเอง จะยิ่งนำไปสู่ความเกลียดชังและความแตกแยกของคนในประเทศยิ่งขึ้น
  4. ขอให้ทหารอย่าทำรัฐประหารอีก เพราะจะยิ่งทำให้ประเทศไทยยิ่งถลำลึกลงไปในวิกฤตการณ์ยิ่งขึ้น และจะทำให้ประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายช่วยกันประคับประคองและพาเดินหน้ามาจนถึง ขณะนี้จะถอยหลังไปหลายสิบปี กองทัพจากที่เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้กับรัฐบาลจะกลายเป็นคู่ขัด แย้งโดยตรง และจะถูกต่อต้านจนจะนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อชีวิต ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายจนแก้ไขไม่ได้ยิ่งขึ้น นับจากนี้ไปคนไทยต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาโดยใช้วิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น

น.ส.สาลี อ่องสมหวัง ประธานกลุ่มผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง หนึ่งใน 16 องค์กรภาคประชาชนที่เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐบาล ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางเข้ามาพบแกนนำ นปช. เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อว่า ตัวแทน 16 องค์กรภาคประชาชนจะเข้าพบผู้บริหารสถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง ในวันที่ 20 เมษายนนี้ เริ่มจาก 10.00 น. เข้าพบผู้บริหารช่อง 9 ต่อด้วยช่อง 5 เวลา 14.00 น. และช่อง 3 เวลา 16.30 น. เพื่อขอให้มีรายการที่จะเปิดโอกาสหาทางออกจากความรุนแรงในภาวะวิกฤต และช่วยป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง นอกจากนี้ กลุ่มจะมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น การสวดมนต์ภาวนาของทุกศาสนา และในวันที่ 20 เมษายน จะจัดเวทีเครือข่ายของภาคสังคม นักธุรกิจและนักวิชาการที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ (ดู ”16 องค์กรภาคประชาชนยื่นหนังสือรัฐบาลอย่าสลายรุนแรง-แนะสองฝ่ายถอยเจรจา,” ประชาไท, 20 เม.ย.53)

กลุ่มคนเสื้อหลากสีชุ,นุมที่สวนจตุจักร สนับสนุนนายกฯ และคัดค้านการยุบสภา

เครือข่ายประชาชนคนรักชาติฯ ภูเก็ต (multi ภูเก็ต)ชุมนุมศาลากลาง ให้กำลังใจรัฐบาล คัดค้านการยุบสภา ที่ศาลากลาง ภูเก็ต

หมายเหตุ

 

20 เมษายน 2553

นปช. – แกนนํา นปช. สั่งทําปลอกแขนใหม่ให้กับสื่อมวลชนทุกแขนงที่เข้ามาทําข่าวในพื้นที่การชุมนุม เพื่อป้องกันผู้ไม่ประสงค์ดีและฝ่ายรัฐบาลแฝงตัวปะปนเข้ามาเป็นผู้สื่อข่าว โดยปลอกแขนใหม่เป็นสีเขียวสกรีนคําว่า “ยุบ“ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน” นปช.จะมอบให้กับผู้สื่อข่าวที่ลงทะเบียนยืนยันตัวตนและต้นสังกัดชัดเจน หากผู้สื่อข่าวคนใดไม่มีปลอกแขนใหม่ จะไม่อนุญาตให้เข้ามาบริเวณด้านหลังเวทีที่มีแกนนำหลายคนประจำอยู่อย่างเด็ดขาด

เวลา 10.30 น. ที่หลังเวทีใหญ่ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร เข้าหารือกลุ่มแกนนำ อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นานประมาณ 30 นาที จากนั้นทั้งหมดร่วมกันแถลงข่าว โดยผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า มาเยี่ยมผู้ชุมนุมด้วยความห่วงใย หารือกันหลายเรื่องๆแรกเกี่ยวกับพื้นที่ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แกนนำนปช.ยืนยันไม่กลับไปอีก จะชุมนุมที่ราชประสงค์เป็นหลัก

หลังเที่ยง นายณัฐวุฒิพร้อมด้วยแกนนำขึ้นเวทีแถลงการเคลื่อนไหวยกระดับเพื่อเรียก ร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยุบสภาว่า ขณะนี้มีการจัดกำลังทหารเข้ามาถนนสีลม ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเตรียมสลายการชุมนุมในไม่ช้า เมื่อเป็นเช่นนี้ทางแกนนำขอให้พี่น้องเสื้อแดงมารวมพลังที่เวทีราชประสงค์ ทั้งนี้นายกฯอยู่ในค่ายทหาร ประชุมครม. ในค่ายทหาร ประกอบกับสั่งกำลังทหารเข้ามาซุ่มในจุดต่างๆ อย่างผิดสังเกต บางคนอยู่ในลักษณะพร้อมยิง ทั้งที่คนเสื้อแดงไม่ได้เข้าไปในพื้นที่สีลม ดังนั้นเราขอประกาศว่าจะไม่เข้าไปในพื้นที่สีลม

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า เมื่อรัฐบาลจะใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมอย่างสงบ เราจึงขอประกาศมติอย่างเป็นทางการของกลุ่มนปช. ว่าจะปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้เป็นลักษณะ สู้รบ ผู้ชุมนุมทุกคนจะแปรสภาพจากนักท่องเที่ยวเป็นนักรบ เราจะตั้งค่ายหอประตูศึกเพื่อเตรียมรับมือกำลังทหาร โดยตั้งด่านสำคัญทั้ง 6 จุด มีแม่ทัพประจำด่าน ดังนี้ ด่านที่ 1 บนถนนสีลม ตั้งประจันหน้ากับกลุ่มทหาร มีนายขวัญชัย ไพรพนา นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นายพายัพ ปั้นเกตุ และนายชินวัฒน์ หาบุญพาด ดูแลพื้นที่ด่านที่ 2 บริเวณแยกมาบุญครอง พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์ นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ดูแลด่านที่ 3 ถนนอังรีดูนังต์ นายสมชาย ไพบูลย์ และนายประแสง มงคลศิริ ดูแลด่านที่ 4 แยก ประตูน้ำ นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ และพ.ต.ต. เสงี่ยม สำราญรัตน์ ดูแลด่านที่ 5 ถนนเพลินจิต นายนิสิต สินธุไพร นายสำเริง ประจำเรือ นายวันชนะ เกิดดี ดูแล และด่านที่ 6 ถนนสารสิน หลังสวนลุมพินี นายเพชรวรรต วัฒนพงษ์ศิริกุล และนางกัลยาภัทร มณีจักร หรือ ดีเจอ้อม ซึ่งเป็นด่านของกลุ่มนัรบล้านนากลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ดูแล

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า ด่านทั้งหมดขอให้ผู้ชุมนุมให้ความร่วมมือตั้งด่านให้หนาแน่น ป้องกันไม่ให้ทหารเข้ามาสลาย และแบ่งหน้าที่จัดเวรยาม ป้องกัน จัดสิ่งกีดขวาง และช่วงเย็นจะให้แกนนำรักษาด่านทุกด่านมารายงานความคืบหน้าบนเวที ทั้งนี้มีข่าวว่าภายในไม่กี่วันนี้จะมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอย่าง แน่นอน จึงขอให้ป้องกันตัวเองให้ดี หลังจากค่ายหอประตูศึกพร้อมแล้ว เราจะออกไปลุยกับนายอภิสิทธิ์ทันที

นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีกลุ่มคนใช้วิชามารขึ้นป้ายบริเวณกทม. ระบุข้อความว่า “รัฐไทยใหม่ ชัยชนะแดงทั้งแผ่นดิน ทักษิณจงเจริญ” และลงชื่อว่ารปช.รวมทั้งมีข้อความระบุว่า ประธานาธิบดีทักษิณ ชินวัตร ประมุชแห่งรัฐไทยใหม่ ลงชื่อนปช.” ขอประกาศว่าการกระทำดังกล่าวไม่เกี่ยวกับนปช.และเป็นความพยายามใช้โมเดล 6 ตุลาฯ 19 ใส่ร้ายประชาชนเพื่อเข่นฆ่าทำร้ายประชาชน ดังนั้นหากใครเห็นการกระทำดังกล่าวขอให้แจ้งมายังแกนนำ เพื่อแจ้งตำรวจดำเนินคดี คนพวกนี้ต้องโดนจัดการอย่างเด็ดขาด

ในช่วงบ่าย บริเวณ แยกศาลาแดง ถนนราชดำริตัดถนนสีลม กลุ่มเสื้อแดงตั้งด่านป้องกันขนาดใหญ่ที่สุด โดยนำไม้ไผ่ปลายแหลมมาขัดกันทำเป็นบังเกอร์กั้นปิดทางเข้าออกถนนราชดำริ มีตาข่ายสีเขียวคลุมไว้

ต่อมาบนเวทีราชประสงค์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อแถลงว่า ฝากถึงนายอภิสิทธิ์ว่าถ้าไม่อยากเป็นผู้พ่ายแพ้ ขอให้ยุบสภาแสดงความรับผิดชอบการสลายการชุมนุม และนำการเมืองเข้าสู่การเลือกตั้ง ก่อนจะกลายเป็นทรราชตลอดกาล หากยุบสภาแล้วนปช.จะประชุมแกนนำเสื้อแดงทั่วประเทศ เพื่อลงสัตยาบันว่าจะเปิดให้หาเสียงโดยไม่สกัดขัดขวาง และอาสาเป็นหูเป็นตาดูแลไม่ให้เกิดเหตุ ระหว่างรอคำตอบวันที่ 21 เม.ย. จะเคลื่อนออกจากที่ตั้งเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์

แกนนำนปช.กล่าวอีกว่า กรณีชายชุดดำในคืนวันที่ 10 เม.ย. ตนไม่รู้จักกองกำลังนี้ ไม่สามารถติดต่อหรือสั่งการได้ ดังนั้นจะบอกให้เลิกปฏิบัติการไม่ได้ เท่าที่รู้คือเป็นทหารที่รับไม่ได้กับการฆ่าประชาชนของนายทหารยุคปัจจุบัน ส่วนจะเป็นผู้ก่อการร้ายหรือเป็นใคร ให้ถามนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ที่บอกให้ตนสั่งชายชุดดำหยุดยิงทหาร เพราะเขาระเบิดทหารของรัฐบาลตาย แต่ตนตอบว่าสั่งไม่ได้ นายกอร์ปศักดิ์จึงบอกว่าถ้าเช่นนั้นจะจัดการกับชายชุดดำ ตนก็บอกว่าจัดการได้เต็มที่เลย แต่พออีกวันรัฐบาลกลับบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย ตนไม่เชื่อว่าคนชุดดำ 2-3 คนจะทำให้คนตายและบาดเจ็บมากถึงเพียงนี้

“วันที่ 21 เม.ย.กลุ่มคนเสื้อแดงจะเคลื่อนขบวนคาราวานแจกซีดี “ความจริง10 เม.ย. ใครฆ่าประชาชน” ความยาว 30 นาที จำนวน 1 ล้านแผ่น ให้ประชาชนทั่วประเทศ ทั้งในกรุง เทพฯและต่างจังหวัด” แกนนำ นปช. กล่าว

 

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกแถลงการณ์ผ่านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษา ใจความสรุปว่า ตามที่มีบุคคลผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองขึ้นป้ายบริเวณถนนสีลม ทำนองว่าผมเป็นประมุขของรัฐไทยใหม่ เป็นประธานาธิบดีนั้น ผมขอประณามการกระทำนี้ ใช้ความเท็จจงใจใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุด เป็นการกระทำของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง สร้างความแตกแยกในแผ่นดินให้ขยายวงกว้างออกไปอีก บุคคลดังกล่าวกำลังเพลิดเพลินกับการทุจริตเงินภาษีของประชาชน ซ้ำร้ายยังตอกลิ่มสร้างความแตกแยกในชาติ

แถลงการณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ระบุอีกว่า ขอเรียกร้องให้บุคคลเหล่านี้ยุติการกระทำ เพราะกำลังทำบาปและสร้างความแตกแยกในชาติ คนไทยทุกคนรวมทั้งผมและครอบครัว เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไม่มีใครคิดดำเนินการตามที่ระบุในข้อความใส่ร้าย ขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาตัวกลุ่มบุคคลเบื้องหลังการกระทำดัง กล่าว นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเฉียบขาดต่อไป (ดู ”วิถีปืนจากฝั่งทหาร พฐ.ชี้แล้ว ยิงนักข่าวยุ่นตาย,” ข่าวสดออนไลน์, 21 เม.ย. 53)

รัฐบาล – ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการ ศอฉ. ให้แต่งตั้ง คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการ ศอฉ.และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน

ครม. ยังอนุมัติรับโอนนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม จากตำแหน่ง ผอ.สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัด ก.วิทยาศาสตร์ฯ ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี (ดู “ครม. ตั้งหมอพรทิพย์เป็นกรรมการ ศอฉ. ตั้งภรรยา พ.อ.ร่มเกล้า เป็นที่ปรึกษานายก,” ประชาไท, 20 เม.ย.53)

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่อง มติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ

ให้การกระทำความผิดทางอาญากรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไปในราชอาณาจักร รวมถึงความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน เป็นคดีพิเศษ (ดู ประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่อง มติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ วันที่ 20 เม.ย. 53)

09.00 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เป็นประธานประชุมศอฉ. จากนั้นเวลา 10.30 น. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ. แถลงว่า ที่ประชุมทบทวนการปฏิบัติงานหลังจากที่เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ได้มีการเรียกผู้บังคับหน่วยถึงระดับผู้บังคับกองพันมาชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติเมื่อถูกกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ากดดันกำลังเจ้าหน้าที่ วันนี้ศอฉ.ได้มีการทบทวนเรื่องเดิม และมีการรายงานข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม ทั้งในส่วนข่าวส่วนกลาง และหน่วยหทารที่ลงพื้นที่แล้ว ตรงกันว่า กลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ได้มีการเตรียมระเบิดขว้าง ระเบิดขวด ไม้เหลาแหลมทั้งที่ใช้ลักษณะของการถือแทง หรือยิงจากหน้าไม้ ไม้ที่ตอกตะปู น้ำกรด ฉะนั้นศอฉ. จึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงให้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจจำเป็นต้องปรับแนวทางการปฏิบัติ จากเดิมที่เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎการใช้กำลัง ตั้งแต่การใช้โล่ดันจนถึงขั้นสุดท้ายคือการใช้กระสุนยาง ไม่ใช้กระสุนจริงในการป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่ ซึ่งวันนี้จะต้องปรับใหม่โดยจำเป็นจะต้องรักษาระยะห่างระหว่างเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ผู้ปฏิบัติงาน กับกลุ่มผู้ชุมนุมให้ได้ระยะประมาณ 30 – 40 หลาเพื่อความปลอดภัย คงจะไม่สามารถใช้โล่ไปดันกันอยู่ได้ เนื่องจากผู้ชุมนุมมีระเบิดขว้าง น้ำกรด ไม้เหลาแหลม ซึ่งล้วนแต่ทำให้เสียชีวิตได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นขั้นตอนการปฏิบัติจะเป็นลักษณะของการรักษาระยะให้ห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมในระยะดังกล่าว ทั้งนี้ เริ่มต้นอาจจะต้องทำการยิงด้วยแก๊สน้ำตาจากเครื่องยิง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกผ่านแนวสกัดเข้ามา ถ้าเลยจากนั้นจะเป็นไปตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก คือการใช้น้ำ เครื่องขยายเสียงกำลังสูง แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และใช้กระสุนยางที่ยิงจากปืนลูกซอง แต่ถ้าไม่สามารถ สกัดกลุ่มผู้ชุมนุมได้ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติการในลักษณะความเฉียบขาดเพื่อปกป้อง ชีวิต เพราะถือว่าได้พยายามที่จะดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียอย่างที่สุดแล้ว ถ้าผู้ชุมนุมยังบุกเข้ามาอีก เจ้าหน้าที่ก็มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธ

“แต่อย่างที่เรียนให้ทราบเมื่อวานนี้ว่า การใช้อาวุธก็ต้องมองให้ได้ใน 3 ลักษณะ คือเราไม่ได้หมายที่จะเอาชีวิตท่าน เราทำเพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายของท่านให้ได้ แล้วก็สมเหตุสมผล ซึ่งจากภาพการปฏิบัติที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากมี เชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชน สื่อมวลชนจะเข้าใจ จากวิธีการในการปฏิบัติ อาวุธปืน กระสุนจริงก็คงจะยิงไปในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เป็นไปตามหลักการทั้ง 3 ข้อ นอกเสียจากว่าเราจะตรวจพบกลุ่มผู้ที่มีอาวุธสงครามอยู่ในมือ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของกลุ่มผู้ชุมนุม และพยายามที่จะยิงทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุม หรือยิงทำร้ายเจ้าหน้าที่ อย่างนี้ก็มีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ทหารที่มองเห็นเป้าหมายจะสามารถใช้ อาวุธของเขา ในการที่จะยับยั้งสิ่งนี้ได้” โฆษกศอฉ. กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม โฆษกศอฉ. กล่าวว่า หากวันข้างหน้ามีการขอพื้นที่การชุมนุมคืน เราก็ยังปฏิบัติตามกฎของการใช้กำลัง 7 ข้ออยู่เหมือนเดิม คือการใช้โล่ดัน การแสดงกำลัง การใช้กระบอง ฉะนั้นจึงต้องแยกแยะให้ถูกว่า การปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่เคลื่อนที่เข้าหากลุ่มผู้ชุมนุมนั้นก็เป็นไปตาม หลักสากลจากเบาไปหาหนัก แต่ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมพยายามที่จะเคลื่อนที่ไปในที่ต่างๆ ที่ไม่สามารถให้ไปได้ เนื่องจากจะทำความสูญเสียให้กับสังคมโดยรวม ก็จะดำเนินการในลักษณะของการรักษาระยะต่อห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมในระยะ 30 – 40 หลา

ที่ประชุมยังพูดถึงกลุ่มคนเสื้อแดงระบุมีคนนำเอาข้อมูลการประชุมระดับผู้บังคับกองพันไปแจ้งกับแกนนำ มีกระดาษเขียนชัดเจนว่าภายใน 7 วันจะดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ ยอมให้มีผู้สูญเสียได้จำนวนเท่านั้นเท่านี้ ผมยืนยันว่าเป็นข้อมูลเท็จ ในฐานะโฆษกศอฉ.รับผิดชอบเป็นเลขานุการการประชุม ไม่เคยทำเอกสารอย่างนั้น ขอให้รู้ด้วยว่าเป็นเท็จ ปกติการประชุมทุกครั้งประธานไม่ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรรณ รองนายกฯ หรือพล.อ.อนุพงษ์ จะย้ำเสมอว่าต้องปฏิบัติอย่างละเอียดรอบคอบ ให้นึกเสมอว่าคนที่เคลื่อนไหว หรือเราเคลื่อนไหวก็คือคนไทยด้วยกัน ส่วนการสลายการชุมนุมพร้อมเมื่อไหร่ทำทันที”โฆษกศอฉ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ขอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพึ่งพระบารมีแก้ไขปัญหาของประเทศ พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า มีคนพูดเยอะแล้ว และท่านโตกว่าตน ท่านน่าจะคิดได้ดีมากกว่าตน ให้สังคมเป็นผู้พิจารณา และเจ้าหน้าที่จะไม่ยอมให้ผู้ชุมนุมบุกไปที่ร.พ.ศิริราชเด็ดขาด เพราะเรื่องนี้สำคัญ และพระองค์ท่านอยู่เหนือความขัดแย้งด้านการเมือง

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศอฉ. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ถามถึงข่าวที่จะมีการขอคืนพื้นที่การชุมนุมภายใน 1-2 วันนี้ว่า รัฐบาลตั้งใจบังคับใช้กฎหมาย ส่วนจะเป็นวันไหน ตอบไม่ได้ แต่ศอฉ.ดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังให้มีความเสียหายน้อยที่สุด จึงขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ส่วนการให้เจ้าหน้าที่พกอาวุธจริงนั้น ไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน แต่เหตุการณ์เวันที่ 10 เม.ย. เราเห็นว่ามีคนตั้งใจทำร้ายเจ้าหน้าที่ ศอฉ.จึงมีมติชัดเจนว่าให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธจริงได้

ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรฯ ขีดเส้นรัฐบาลจัดการม็อบเสื้อแดงภายใน 7 วันนั้น นายสุเทพกล่าวว่า นายกฯ เรียนกับประชาชนผ่านทีวีไปแล้วเมื่อคืนวันที่ 19 เม.ย.ว่าไม่ควรมาบังคับขีดเส้นกัน การแก้ปัญหาต้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างอิสระ ดูความเหมาะสมของเหตุการณ์ การกดดันว่าต้องทำภายในกี่วัน จะทำให้เจ้าหน้าที่กดดันและทำงานยาก

นายสุเทพกล่าวอีกว่า รัฐบาลยอมไม่ได้หากกลุ่มเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวสร้างปัญหากับบ้านเมืองต่อไป รัฐบาลจะเดินหน้าจับกุมแกนนำ และผู้ก่อการร้ายที่รวมอยู่ในกระบวนการนี้ ส่วนที่แกนนำเสื้อแดงประกาศบนเวทีว่าศอฉ.สั่งการจับตายแกนนำนั้น ไม่เป็นความจริง เราตั้งใจดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย แต่ถ้าต่อสู้ ใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทางเจ้าหน้าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธจริงเพื่อปกป้องตัวเองได้

เวลา 13.50 น.ที่ศูนย์แถลงข่าวศอฉ. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ แถลงผลประชุมครม.ว่า ในที่ประชุมครม. นายสุเทพ ในฐานะผอ.ศอฉ.รายงานสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้ง แนวทางแก้ปัญหา และครม.เห็นชอบหลักการตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เสนอเรื่องชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551 และสงกรานต์ปี 2552

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการปูทางเพื่อดึงสถาบันลงมาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่สามารถตอบเช่นนั้นได้ แต่ยืนยันว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่เหตุบังเอิญ มีการเชื่อมโยงกับการกระทำหลายอย่างก่อนหน้านี้ เช่น การตัดต่อคลิปเสียง และมีความพยายามหลายอย่าง ซึ่งเป้าหมายความเคลื่อนไหวมีหลายสิ่งบ่งบอกว่าไปไกลกว่าเรื่องยุบสภาหรือ การเมืองเฉพาะหน้า หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนและรัฐบาล

นายกฯ กล่าวด้วยว่า แม้สถานการณ์จะมีข้อเรียกร้องเรื่องการเมืองและความเดือดร้อน แต่ยืนยันว่ามีขบวนการที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและมีเป้าหมายการ เปลี่ยนแปลงซึ่งไปไกลกว่านั้น จึงขอความร่วมมือประชาชน แก้ไข ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและดีที่สุด คือช่วยกันแยกกลุ่มคนที่ไม่เกี่ยวกับขบวนการก่อการร้ายออกมาให้ได้ ซึ่งรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะไม่ยอมให้มีภัยคุกคามเกิดขึ้น จากกระบวนการนี้ เราต้องจัดการ

ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุผลที่นายกฯไม่เลือกยุบสภาหรือลาออกคืออะไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า

“สรุปง่ายๆ ว่าในการตัดสินใจทำทั้งสองอย่างไม่ได้แก้ปัญหา ผมคิดว่าประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการจำนนต่อข้อเรียกร้อง เพราะจะทำให้สูญเสียความเป็นนิติรัฐ และมีผลกระทบรุนแรงต่อการใช้กฎหมายของบ้านเมืองในอนาคต ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขณะที่สถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ คงไม่ทำให้ปัญหาความแตกแยกหรือความรุนแรงหมดสิ้นไปได้ โดยเฉพาะถ้าเรามองเห็นถึงกระบวนการที่ไปไกลกว่าเรื่องที่จะพูดถึงผมหรือ รัฐบาล”

เมื่อถามว่าครม.พิจารณาทางออกอย่างไรบ้าง นายกฯกล่าวว่า นายสุเทพสรุปสถานการณ์และยืนยันถึงหลักที่พูดกันตลอดเวลาว่า ข้อเรียกร้องของประชาชนที่เป็นความเดือดร้อนและเป็นธรรม รัฐบาลพร้อมเดินหน้าแก้ไข ส่วนปัญหาการเมือง รัฐบาลไม่เคยปิดกั้น เริ่มตั้งแต่การเจรจา ฉะนั้นในฝ่ายการเมืองจะต้องพิจารณาร่วมกันต่อไป แต่การก่อการร้ายหรือวาระที่ไปไกลถึงขั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ส่วนนี้มีความจำเป็นต้องแก้ไขและดำเนินการโดยร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายความมั่นคง

จากนั้นนายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติครม.ที่เกี่ยวข้องกับ กรอบอัตรากำลังข้าราชการพลเรือนสามัญในภาพรวม เพื่อรับโอนนางณิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ผอ. สำนักบริหารกลางอำนวยการระดับสูง สำนัก งานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภรรยาพ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย. มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำด้านสังคม อำนวยการระดับสูง กลุ่มงานยุทธศาสตร์และการวางแผน สำนักเลขาธิการนายกฯ

จากนั้นนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า นายกฯ และรองนายกฯ รายงานครม.ทราบถึงการทำงานของศอฉ. และการเพิ่มเติมกรรมการศอฉ. โดยให้พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยา ศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการศอฉ. เพื่อให้การทำงานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีความละเอียดและรวดเร็ว ทั้งนี้ รองนายกฯ ลำดับเหตุการณ์และชี้แจงแนวทางดำเนินการของศอฉ. การปฏิบัติการวันที่ 10 เม.ย. อย่างละเอียด เน้นศอฉ.ปฏิบัติการกลางวัน ทหารเตรียมถอนกำลังออกแต่ผู้ที่มีพฤติกรรมก่อการร้าย ใช้อาวุธเข้าปะทะเจ้าหน้าที่จึงเกิดเหตุการณ์ขึ้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ถอนกำลังเพื่อฟื้นฟูและเพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติงาน รวมถึงปรับหัวหน้ารับผิดชอบเป็นพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.

นายปณิธาน กล่าวว่านายกฯ ชี้แจงต่อ ครม.ว่า งานของรัฐบาลแก้ปัญหาคู่กับศอฉ. คืองานด้านการเมืองกับงานด้านรักษาความสงบ ของศอฉ. โดยงานการเมืองมีความพยายามเจรจาอย่างต่อเนื่อง แต่เกิดเหตุวุ่นวาย กระทบต่อการเจรจาจึงเดินหน้าต่อไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเจรจาระหว่างกลุ่มเสื้อแดงและรัฐบาลดำเนินไปถึงจุดไหน นายปณิธานกล่าวว่า นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ ประสานงานอยู่ รัฐบาลยินดีเจรจาตั้งแต่แรก โดยช่วงเย็นวันนี้ หรือวันที่ 21 เม.ย. พรรคร่วมรัฐบาลจะประชุมกัน นายสุเทพคงเข้าประชุมด้วย เรื่องเจรจาน่าจะชัดเจนขึ้น

เมื่อถามว่าขณะนี้อำนาจสลายการชุมนุมอยู่ที่ใคร นายปณิธาน กล่าวว่า ชัดเจนว่าพล.อ.อนุพงษ์ได้รับหน้าที่ดูแลศอฉ. มีอำนาจเต็มที่ในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ เกิดการปะทะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมศอฉ. โดยนายกฯ และรองนายกฯ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องร่วมกันตัดสินใจ ส่วนตัวเลขของผู้ชุมนุมขณะนี้ ยอมรับว่าเพิ่มมากขึ้นจากช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ใช่จำนวนที่มากมาย กลางวันผู้ชุมนุมมีจำนวนลดลงและเพิ่มในช่วงค่ำ

เมื่อถามว่าทำไมรัฐบาลไม่สลายการชุมนุมในช่วงกลางวันที่มีผู้ชุมนุมน้อย นายปณิธาน กล่าวว่า การสลายหรือไม่สลาย ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขผู้ชุมนุม แต่รัฐบาลมีเป้าหมายว่าต้องแยกกลุ่มติดอาวุธที่แอบแฝงในกลุ่มผู้ชุมนุมออกมา อย่างไร รัฐบาลต้องจับแกนนำที่ถูกออกหมายจับ ให้ออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม รัฐบาลต้องป้องกันประชาชนให้ปลอดภัย และต้องรักษาพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ให้ปลอดภัย เนื่องจากมีศูนย์การค้าและห้างร้านที่มีความสำคัญ

วันเดียวกันเวลา 09.45 น. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เข้าพบ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. เพื่อ ประสานความร่วมมือกรณีอธิบดีดีเอสไอได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน คดีที่เกิดขึ้นในการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เม.ย. จากนั้นนายธาริต พล.ต.ท. สัณฐาน พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น. ฝ่ายสอบสวน พ.ต.อ.วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ รอง ผบก.น.1 พ.ต.อ.พัลลภ สุวรรณบัตร รองผบก. น.2 ร่วมหารือกันที่ห้องประชุมปารุสกวัน 1 ใช้เวลาประมาณ 1 ช.ม.

นายธาริตกล่าวว่า ผบช.น.และรองผบช.น. ได้ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของบช.น.ร่วมสอบสวนคดีพิเศษที่จะเสนอต่อรมว. ยุติธรรม และนายกฯ โดยพล.ต.ต.อำนวยเป็นที่ปรึกษาการดำเนินคดีในคดีพิเศษ และหน่วยอื่นๆ เข้ามาร่วมทำงานอีกประมาณ 10 หน่วย คดีจะทำอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ไม่โอนเอียง

เวลา 19.00 น.ที่ ร.11 รอ. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานประชุม ศอฉ. จากนั้นเวลา 20.30 น. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แถลงว่า ที่ประชุมมีการพูดถึงเรื่องความพยายามของกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนที่ พยายามจะสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม โดยมีการรื้อถอนอิฐบล็อกซีเมนต์ไว้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้เเจ้งความดำเนินคดีข้อหาทำลายทรัพย์สินของ กทม. และวันนี้ได้รับรายงานจากหน่วยรอบพื้นที่ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการจุดพลุตะไลขึ้นไปหวังสร้างอันตรายให้กับเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งการจุดบริเวณราชประสงค์หวังสร้างความลำบากให้กับเจ้าหน้าที่ที่ใช้อากาศยาน แต่เราไม่วิตกว่าอากาศยานจะถูกบั้งไฟ แต่กลัวว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า พื้นที่การชุมนุมไม่ปลอดภัยจริงๆ อยากวิงวอนให้ออกจากพื้นที่โดยเร็ว หากผู้ชุมนุมคนใดประสงค์จะเดินทางกลับบ้าน ขอให้แจ้งให้ทราบ แม้จะถูกยึดบัตรประจำตัว และใส่เสื้อแดงก็สามารถกลับบ้านได้ โดยออกมาพบตำรวจเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้อำนวยความสะดวก ซึ่งจะไม่มีตำรวจคนใดจับท่านขณะนี้

ศอฉ. ให้ความสำคัญกับกรณีที่เสื้อแดงจะเคลื่อนไปสีลม ซึ่งเรามีทหารที่มีการตั้งจุดตรวจสกัดอยู่ ผบ.หน่วยจะต้องมาดูแลเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธหลากหลายชนิด ซึ่งขอเน้นย้ำว่า วันนี้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติภารกิจที่บังคับใช้ตามกฎหมาย อยู่ที่สถานการณ์ความเหมาะสม

พ.อ.สรรเสริญกล่าวอีกว่า กรณีกลุ่มเสื้อแดงนำผลการประชุม ศอฉ. มาปล่อยว่าจะมีการปฏิบัติภารกิจให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน และมีคนสูญเสีย 500 คนก็ยอม ศอฉ. ยืนยันว่าไม่จริง ไม่เคยมีผลประชุมอย่างนี้ ที่ผ่านมาหลีกเลี่ยงความรุนแรงมาโดยตลอด (ดู “ศอฉ. ปรับแนวปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎการใช้กำลัง เข้มมาตรการจากเบาไปหาหนักตามหลักสากล,” ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 20 เม.ย.53  ; ดู “ศอฉ.พบกลุ่มเสื้อแดงรื้อถอนอิฐบล็อกซีเมนต์มาทำเป็นก้อนอิฐซึ่งอาจใช้ทำร้ายเจ้าหน้าที่,” ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 20 เม.ย.53  ; ดู “สรรเสริญชี้เสื้อแดงสร้างความวุ่นวายให้สังคม เพราะรื้ออิฐไว้ทำร้าย จนท.เตรียมบั้งไฟถล่ม ฮ.,” ประชาไท, 21 เม.ย.53 ; ดู “วิถีปืนจากฝั่งทหาร พฐ.ชี้แล้ว ยิงนักข่าวยุ่นตาย,”ข่าวสดออนไลน์, 21เม.ย.53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลา 16.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กลุ่มประชาชนพิทักษ์ชาติ หรือกลุ่มเสื้อหลากสี และกลุ่มเฟซบุ๊กต้านการยุบสภา รวมตัวคัดค้านการยุบสภา โดยใช้รถติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวทีปราศรัย น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำนำร้องเพลงสดุดีมหาราชา ทำพิธีบวงสรวงและวางพวงมาลา โดยมีผู้ชุมนุมทยอยเข้าวางดอกกุหลาบสีชมพู เสร็จแล้วเชิญชวนทุกคนหันไปทางโรงพยาบาลศิริราช แล้วร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

นพ.ตุลย์ให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.ชวลิตและนายสมชายมีหนังสือผ่านราชเลขาธิการเพื่อขอเข้าเฝ้าฯ โดยมีเป้าหมายให้พระองค์ท่านลงมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการกระทำไม่บังควร ล่วงละเมิด ล่วงเกิน ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ขอให้หยุดการกระทำนี้ทันที ทั้งสองไม่ได้สำนึกตัวเองเลย ตอนนี้เหมือนเป็นขี้ข้าของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเสื้อแดงคนหนึ่ง บังอาจดึงพระองค์ท่านลงมา ต้องไม่ลืมว่าทั้งสองเคยสั่งตำรวจฆ่าประชาชนเมื่อ 7 ต.ค. 51 สมควรได้รับโทษประหารชีวิต

นพ.ตุลย์กล่าวอีกว่า ดีใจที่จำนวนผู้ออกมาแสดงพลังล้นหลาม จากแค่ 20 คนเมื่อเที่ยงวันที่ 13 เม.ย. หนึ่งสัปดาห์เพิ่มขึ้นหลายพันคน และยังมีคนเสื้อหลากสีกระจายไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ วันที่ 21 เม.ย. เวลา 16.00 น. จะไปแสดงพลังที่วงเวียนใหญ่ ทำพิธีสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ดู “วิถีปืนจากฝั่งทหาร พฐ.ชี้แล้ว ยิงนักข่าวยุ่นตาย,”ข่าวสดออนไลน์, 21 เม.ย.53

กลุ่มเสื้อหลากสีชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ที่เชียงใหม่ เกิดเหตุปาระเบิดเอ็ม 26 หน้าร้านยิ่งเจริญโมบาย ตรงข้าม ธนาคารกรุงเทพ สาขาสันกำแพง และปาระเบิดแสวงเครื่องใส่ข้างธนาคารกรุงเทพ สาขาจอมทอง

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 21 เม.ย.53

 

21 เมษายน 2553

นปช. – นปช. ขอนแก่น ขวางรถไฟพิเศษที่บรรทุกรถและสรรพาวุธของทหารที่สถานีรถไฟขอนแก่น

ส.ส.เพื่อไทยวอล์กเอาต์ออกจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังสภามีมติไม่รับญัตติให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553

รัฐบาล – พล.ต.ต.สุรพล พินิจชอบ ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาปฏิเสธข่าวกรณีมีการรายงานว่ากองพิสูจน์หลักฐานสรุปผลการตรวจสอบเหตุปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มคนเสื้อแดง วันที่ 10 เมษายน โดยระบุว่า ภาพเหตุการณ์กองกำลังไม่ทราบฝ่ายใช้อาวุธปืนซุ่มยิงทหารและประชาชน บนอาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น เป็นเพียงแค่กิ่งไม้ไหว และผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น สังกัดสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกยิงมาจากฝ่ายทหาร

พล.ต.ต.สุรพล ยืนยันว่า กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อกองพิสูจน์หลักฐานได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บพยานหลักฐานทั้งหมด จำนวน 3 ครั้ง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ให้รอบด้าน โดยยังไม่มีการสรุปผลแต่อย่างใด การวิเคราะห์หลักฐานจะต้องนำหลักฐานทุกอย่างมาประมวลสรุปอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อออกไป ไม่ใช่ข้อมูลของกองพิสูจน์หลักฐานแน่นอน แต่ยืนยันว่าจะเร่งตรวจสอบโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้

ทั้งนี้จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุบริเวณถนนดินสอและหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เป็นจุดปะทะใหญ่ พบหลุมระเบิด 2 จุด แสดงว่ามีการใช้ระเบิดจริง แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นระเบิดชนิดใด อาวุธที่ใช้ในวันดังกล่าว คาดว่าเบื้องต้น มี 2 ชนิด คือ M16 และอาก้า แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน เนื่องจากต้องมีการตรวจคราบเขม่าหรือวิเคราะห์สารเคมีอีกครั้ง (ดู “ผบก.กองพิสูจน์หลักฐานปัดข้อมูลวิถีกระสุน สังหารนักข่าวยุ่นไม่ใช่ของพฐ.ยันยังไม่ได้สรุปรอ2สัปดาห์,” มติชนออนไลน์, 21 เม.ย.53  ; ดู “ผบก.พฐ.ปัดข่าวได้ผลสรุปเหตุการณ์ 10 เม.ย.,” ผู้จัดการออนไลน์, 21 เม.ย.53

ทั้งนี้ก่อนหน้าได้มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยว่า กองพิสูจน์หลักฐานกลาง (พฐ.) ได้รายงานผลตรวจพื้นที่เกิดเหตุบริเวณแยกคอกวัว และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ต่อ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ที่ปรึกษา สบ.10 ว่า จากการตรวจสอบจุดอาคารสูง ริมถนนราชดำเนิน ซึ่งมีการระบุว่าเป็นจุดที่กองกำลังไม่ทราบฝ่ายใช้ปืนซุ่มยิงทหารและประชาชน นั้น ผลการตรวจสอบไม่พบร่องรอยเขม่าดินปืน หรือพบปลอกกระสุนตกในที่เกิดเหตุแต่อย่างใดทั้งสิ้น ส่วนที่มีคลิปพบความเคลื่อนไหวนั้นเป็นกิ่งไม้ไหวช่วงกลางคืน และควันที่พบในคลิปสันนิษฐานว่าเกิดจากกระสุนปืนที่ยิงมาโดนบริเวณตัวอาคาร แล้วลอยขึ้นไป จนทำให้เกิดภาพเหมือนมีคนซุ่มยิงและมีควันคล้ายการยิงปืน นอกจากนี้จากการตรวจสอบคลิปภาพถ่ายต่างๆ ที่รวบรวมได้กรณีนักข่าวชาวญี่ปุ่นสังกัดสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า ช่วงแรกนักข่าวญี่ปุ่นอยู่หลังแนวทหาร แต่เมื่อแนวทหารถอยร่นจากการตอบโต้ของคนเสื้อแดง ปรากฏว่า นักข่าวคนดังกล่าวได้มายืนอยู่ในจุดด้านหน้าของการปะทะระหว่างทหารกับกลุ่ม เสื้อแดง และแนววิถีกระสุนมาจากฝั่งทหาร นอกจากนั้นในส่วนของคลิปที่สำนักข่าวฝรั่งเศสระบุว่าทหารยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม แต่ทางศอฉ.ระบุว่าเป็นเพียงการยิงคุ้มกันช่วงถอนตัวนั้น จากการตรวจสอบคลิปอย่างต่อเนื่องของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง พบว่ามีการยิงกระสุนใส่ประชาชนจริง และบางช่วงยังมีเสียงทหารด้วยกันบอกให้หยุดยิง และบอกว่าพอแล้ว ซึ่งรายงานทั้งหมด คณะพนักงานสอบสวนเก็บรวบรวมหลักฐานไว้แล้ว (ดู “วิถีปืนจากฝั่งทหาร พฐ.ชี้แล้ว ยิงนักข่าวยุ่นตาย,” ข่าวสดออนไลน์, 21 เม.ย.53 ; ดู “กองพิสูจน์หลักฐานเผยคลิปซุ่มยิงที่แท้กิ่งไม้ไหว ส่วนทหารยิงปืนใส่ประชาชนจริง,” ประชาไท, 20 เม.ย.53

พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานสอบสวน ในฐานะที่ปรึกษาคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงถึงคดีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ว่ามีจำนวน 82 คดี เป็นคดีที่มีการชันสูตรผลิกศพ 20 คดี

ทางด้านดีเอสไอตั้งคณะทำงาน 7 ชุด สอบสวนคดีประกอบด้วย (1) เหตุระเบิด 44 แห่ง (2) เหตุบุกรุกคารรัฐสภา (3) เหตุบุกรุกสถานีไทยคม (4) เหตุปะทะหน้ากองทัพภาคที่ 1 (5) ยึดรถทหารและยุทธภัณฑ์บนสะพานปิ่นเกล้า และ (6) เหตุปะทะที่สี่แยกคอกวัว

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลา 2.30 น. คนร้ายยิงจรวดอาร์พีจีใส่ถังน้ำมันของคลังน้ำมันของบริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด บริเวณถนนลำลูกกา คลอง 16 ไฟลุกไหม้ด้านล่างของถังน้ำมันแต่เจ้าหน้าที่สกัดเพลิงไว้ได้ทัน

กลุ่มคนเสื้อหลากสี ชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

กลุ่มคนรักสีลมและเสื้อหลากสี ตั้งเวทีปราศรัยเผชิญหน้ากับ นปช. ที่แยกศาลาแดง ฝั่งสีลม

หมายเหตุ

 

22 เมษายน 2553

นปช. – ที่สำนักงานสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน นปช. ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้เข้ามาแทรกแซง โดยการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาป้องกันไม่ให้รัฐบาลใช้กำลังเข้าปรามปรามประชาชน

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้จำเลยทั้งสองสั่งการเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์

ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการตามหลักสากลและดูแลความสงบ ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก

รัฐบาล – เวลา 23.30 น. นายสุเทพแถลง กรณีที่มีข่าวว่าเสื้อแดงจะบุกเข้าไปพื้นที่สีลมนั้น ทางรัฐบาลได้พยายามวางมาตรการที่จะดูแลป้องกันให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพในสีลมโดยส่งทหารตำรวจเข้าไปในพื้นที่ 2 วันที่ผ่านมา เหตุการณ์เรียบร้อยดี จนกระทั่งเมื่อค่ำที่ผ่านมาได้เกิดเหตุคนร้ายยิงเอ็ม 79 ใส่พี่น้องประชาชนชาวสีลมทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิต รัฐบาลขอแสดงความเสียใจและสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ควบคุมโดยทันที ป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายสร้างสถานการณ์ซ้ำเติมอีก และรัฐบาลขอให้ประชาชนที่อยู่สีลมด้านหน้าให้ถอยร่นออกจากฝั่งผู้ชุมนุมให้พ้นจากระยะการยิงของ M79 ซึ่งจากการตรวจของเจ้าหน้าที่ชัดเจนแล้วว่า ทิศทางการยิง M79 มาจากทางด้านหลังพระบรมรูป ร.6 ซึ่งเสื้อแดงชุมนุมอยู่

ดู 20100422_CRES_001

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ขณะที่มีผู้ชุมนุมต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดงอยู่ที่บริเวณแยกศาลาแดง ถนนสีลม เกิดเหตุยิง เอ็ม79 ใส่ศาลาแดง-สีลม 5 ลูกซ้อน 3 ลูกแรกยิงใส่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดง อีก 2 ลูกยิงใส่บริเวณถนนสีลม มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บกว่า 70 คน

หมายเหตุ

 

23 เมษายน 2553

นปช. – แกนนำ นปช. ลดระดับข้อเรียกร้อง ยื่นเงื่อนไขให้นายกฯ ยุบสภาใน 30 วัน รวมกับเวลารักษาการของรัฐบาลเป็น 90 วัน แล้วจะยุติการชุมนุม

คณะฑูตจากหลายประเทศเข้าพบแกนนำคนเสื้อแดงที่เวทีราชประสงค์ เสนอให้ถอยคนละก้าว

แกนนำคนเสื้อแดงให้ผู้ชุมนุมเปลี่ยนสีเสื้อหลังจาก ศอฉ. ตั้งด่านสกัดผู้เข้าร่วมชุมนุม

รัฐบาล – นายกฯ อภิสิทธิ์ปฏิเสธข้อเรียกร้องของ นปช.

นายธาริตในฐานะเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษแถลงว่า คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติ ให้การกระทำความผิด 4 กรณีเป็นคดีพิเศษ ได้แก่ 1.การกระทำเกี่ยวกับการก่อการร้าย 2.การขู่บังคับรัฐบาล 3. การกระทำที่เป็นการประทุษร้ายต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 4. การกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ นายธาริตกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีการวางระเบิดตามที่ต่างๆ 45 ครั้ง เหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงการยิงระเบิดที่สีลมเมื่อคืนที่ผ่านมาเข้าลักษณะการกระทำความผิดที่เป็นการก่อการร้าย

นอกจากนี้ นายธาริตยังเรียนเพิ่มเติมเรื่องการจับกุม 1 ใน 24 คนที่ศาลได้ออกหมายจับไว้ คือ นายเมธี เมื่อวานนี้ ซึ่งมีความผิดหลายเรื่อง รวมถึงความผิดเกี่ยวกับการใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ นายเมธีได้ให้การเป็นสาระสำคัญหลายประการ ยอมรับว่าได้เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ปะทะเมื่อวันที่ 10 เม.ย. โดยกลุ่มของนายเมธีได้ยึดเอาอาวุธยุทธภัณฑ์ของเจ้าหน้าที่ไปจำนวนหนึ่งแล้วนำไปแจกจ่ายให้บุคคลอื่นหลายคน ซึ่งจากการตรวจค้นรถของนายเมธีก็ได้พบปืนกลมือด้วย

“เป็นส่วนสำคัญที่ได้ยอมรับว่าอาวุธร้ายแรงของทางราชการนั้นได้มีการยึดไปจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารแล้วก็นำไปไว้เพื่อใช้ต่อสู้ในโอกาสต่อไป อีกส่วนหนึ่ง [นายเมธี] ได้ยอมรับในข้อเท็จจริงว่าในการปะทะกันในที่เกิดเหตุนั้น ได้มีการใช้อาวุธร้ายแรงจากฝ่ายของนายเมธีในการยิงเข้าใส่กลุ่มทหารที่เข้าขอคืนพื้นที่อีกด้วย นอกจากนั้นก็ยังได้ยอมรับในข้อเท็จจริงว่าเมื่อย้ายการชุมนุมมาที่สี่แยกราชประสงค์แล้วก็มีการประชุมปรึกษาหารือเพื่อวางแนวทางกันทุกวัน ณ สถานที่ซึ่งยังไม่ขอเปิดเผย” นายธาริตกล่าวถึงการให้ปากคำของนายเมธี ซึ่งนายธาริตได้เข้าสอบปากคำเองด้วย

 

ดู 20100423_CRES_001

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ม็อบหลากสีชุมนุมใหญ่ จี้นายกฯ สลายการชุมนุม

ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เวลาประมาณ 10.00 น. น.ส.จีรนุช เปรมชัยพรผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com) ผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 1) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. (จำเลยที่ 2) ร.ต. ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 3) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 4) และกระทรวงการคลัง (จำเลยที่ 5) เรื่อง ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1455/2553 โดยเรียกร้องค่าเสียหาย 350,000 บาท กรณีมีคำสั่งปิดกั้น www.prachatai.com และขอให้ศาลเปิดการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราว ในการยกเลิกการปิดกั้น www.prachatai.com จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.30 น. ศาลได้นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษายกฟ้อง โดยไม่มีการไต่สวน ระบุจำเลยทั้งหมดมีอำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ดู “ศาลแพ่งยกฟ้อง กรณีประชาไทฟ้องถูกปิดกั้นเว็บไซต์ ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน,” ประชาไท, 24 เม.ย.53

เกิดเหตุระเบิดเอ็ม 67 ภายในสวนลุมไนท์บาซาร์

กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและถนนสีลม

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 24 เม.ย.53

 

24 เมษายน 2553

นปช. – นปช. ปรับยุทธวิธี สั่งมวลชนเลิกใส่เสื้อแดง

นปช. อุดรธานี ตั้งด่านที่หน้าที่ว่าการอำเภอโนนสะอาดไปถึงสถานีตำรวจภูธรอำเภอโนนสะอาด เพื่อสกัดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเดินทางไปกทม. และทำได้การยึดและอุปกรณ์ของตำรวจได้หลายรายการ

รัฐบาล – นายกฯ อภิสิทธิ์ประกาศไม่ยุบสภาภายใน 30 วัน อ้างว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ยุบสภา และสั่งให้นายกอร์ปศักดิ์หยุดเจรจากับแกนนำเสื้อแดง

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่มเสื้อหลากสีชุมนุมที่สวนหลวง ร.9 ในตอนเข้า และชุมนุมที่สวนจตุจักร ในตอนเย็น

กลุ่มเสื้อหลากสี นครศรีธรรมราช รวมตัวกันที่ลานหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทำพิธีสาปแช่งแกนนำ นปช. และขอบารมีองค์พระธาตุเจดีย์ปกป้องคุ้มครองประเทศไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์

กลุ่มประชาชนเขต อ.เมือง อ.บ้านนา จ.นครนายก ชุมนุมกันในเขตเทศบาลเมือง อ.เมือง และเคลื่อนขบวนไปไปที่บริเวณสวน ร.9 เฉลิมพระเกียรติ ริมแม่น้ำนครนายก เพื่อคัดค้านการชุมนุมของ นปช.

กลุ่มคนเสื้อหลากสีอุดรธานี ชุมนุมที่สนามทุ่งศรีเมือง หน้าศาลากลางจังหวัด

กลุ่ม “เมืองคนงามพิทักษ์กษัตริย์” ซึ่งเป็นชาว อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี รวมตัวกันที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง เพื่อแสดงความจงรักภักดี รวมพลังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

หมายเหตุ

 

25 เมษายน 2553

นปช. – กลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างเสื้อแดง กทม. และ นปช. สมุทรปราการ เคลื่อนพลจากเวทีใหญ่แยกราชประสงค์ ไปบ้านนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุบสภา

นปช. ปทุมธานี ปิดถนนพหลโยธินทั้งคู่ขนานและทางด่วนขาเข้า กทม. บริเวณปากซอยคลองหลวง 26 หลักกิโลเมตรที่ 36 ม.3 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อเข้าไปสลายการชุมนุมคนของ นปช. โดยทำการยึดรถตู้ รถกระบะ และหกล้อลูกกรงเหล็กของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้จำนวนทั้งหมด 50 คัน

นปช. อ.ท่าแร่ จ. สกลนคร ปิดถนนบริเวณกลางสามแยกสามแยกตลาดสดบ้านท่าแร่ เพื่อสกัดกำลังทหารจากนครพนมที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับตัวแทนจากผู้นำ 3 ศาสนา และเครือข่าย และ กทม. จัดพิธีทำบุญประเทศไทยขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตปัญหาบ้านเมืองด้วยความสงบ สันติ ปราศจากความรุนแรง รวมทั้งนำพาความร่มเย็นกลับคืนมาสู่ประเทศไทย

กลุ่มเสื้อหลากสี และคณะสงฆ์จาก จ.ลำพูน แต่งชุดขาว ทำพิธีสวดมนต์ภาวนาขอให้ประเทศชาติสงบสุข ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

กลุ่มเสื้อหลากสี ปัตตานี ชุมนุมที่บริเวณลานพระรูป ร.5 ด้านหน้าศาลากลาง เรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลบริหารประเทศต่อ ไม่ยุบสภา

กลุ่มเสื้อหลากสี เชียงใหม่ ชุมนุมที่สวนสุขภาพ ข้างหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแสดงพลังและร้องเพลงชาติ

22.30 น. เกิดเหตุปาระเบิดเอ็ม 67 ใส่หน้าบ้านพักนายบรรหาร ศิลปะอาชา บริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด เป็นครั้งที่ 2 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 10 ราย

23.45 น. คนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่สำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 อ.เมือง จ.เชียงใหม่

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 26 เม.ย.53

 

26 เมษายน 2553

นปช. – ที่ถ.มิตรภาพ บริเวณสี่แยกทางเข้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น นปช. ขอนแก่น เดินขบวนไปที่ในอำเภอเมืองขอนแก่น และใช้รถบรรทุก 18 ล้อ มาปิดกั้น ถ.มิตรภาพ บริเวณสี่แยกทางเข้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เพื่อสกัดขัดขวางตำรวจทหารที่จะเข้ากรุงเทพฯ

นปช. ปทุมธานี ปิดถ.พหลโยธิน ก่อนถึงตลาดไท ทางเข้าวัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อสกัดเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพ

นปช. อยุธยา ใช้รถยนต์ปิด ถ.พหลโยธิน วงแหวนรอบนอก หลักกม.ที่ 56 ต.ลำไทร อ.วัง น้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจค้นรถโดยสาร รถบัส รถตู้ รถบรรทุก ซึ่งคาดว่าจะนำตำรวจหรือทหารเข้ากรุงเทพ

นปช. อยุธยา ตั้งด่านสกัดขบวนรถตู้ตำรวจของตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี ที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ริมถนนสาย 347 ปทุมธานี-บางปะหัน ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.อยุธยา

นปช. ฉะเชิงเทรา นำรถสองแถวปิดประตูทางเข้าออกกองกำกับการตำรวจภูธร จ.ฉะเชิงเทรา และตั้งเวทีปราศรัย เพื่อขัดขวางไม่ให้ส่งตำรวจเข้าร่วมปฏิบัติการในกรุงเทพฯ

นปช. แดงสระบุรี ตั้งด่านขวาง ถ.พหลโยธิน ก.ม.90-91 ต.ห้วยขมิ้น อ.หนองแค จ.สระบุรี เพื่อขัดขวางการเดินทางเข้ากรุงเทพของตำรวจ-ทหาร

นปช. สมุทรปราการ นำรถยนต์มาปิดถนนสุขุมวิทขาเข้า กทม. ปากซอยสันติคาม ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เพื่อสกัดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เดินทางเข้ากทม.

นปช. พิษณุโลก ปิดทางเข้าออกกองกำกับตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายเจ้าพระยาจักรี สกัดกั้นไม่ให้กองร้อยควบคุมฝูงชน เดินทางเข้ากรุงเทพ

ที่สี่แยกแม่ต๋ำ อ.เมือง จ.พะเยา นปช. พะเยาและเชียงราย ตั้งด้านเพื่อสกัดไม่ให้ตำรวจจาก จ.พะเยา เดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถสกัดได้

นปช. พะเยา ชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดพะเยา

นปช. เพชรบูรณ์ ปิดถนนบริเวณ หมู่ 4 บ้านราหุล สี่แยก อ.บึงสามพัน เพื่อสกัดตำรวจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

นปช. แม่ฮ่องสอน พยายามจะยึดด่านตรวจร่วมบ้านผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ของตำรวจสภ.น้ำเพียงดินและทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 เพื่อสกัดไม่ให้ส่งกำลังทหาร-ตำรวจเข้ากรุงเทพฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากถูกทหารเข้าขัดขวาง

นปช. อุดรธานี ปิดถนนหน้า สภอ.โนนสะอาด ถนนมิตรภาพ และแยกทางเข้า อ.หนองวัวซอ ถ.อุดรธานี-หนองบัวลำพู และปิดสถานีรถไฟอุดรธานี เพื่อขัดขวางทหารที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพ

นปช. ม็อบคนเสื้อแดงฮือล้อมกรอบรถลำเลียงทหารไม่ให้แล่นผ่านถนนวิภาวดีรังสิต ปากซอยวิภาวดี 16 (ซอยโชคชัยร่วมมิตร) กทม. เพราะกลัวจะเข้าไปช่วยสลายม็อบเสื้อแดงราชประสงค์

รัฐบาล – เวลา 18.30 น. ณ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิดกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษก ศอฉ. แถลงกรณีการปฏิบัติภารกิจในการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่สร้างความเดือดร้อนบริเวณอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรณีที่กลุ่มนปช. ยกระดับการชุมนุมไปสู่การก่อการร้ายแบบเต็มรูปแบบ มีการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงด้วยการพยายามโยงใยบุคคลที่ใกล้ชิด ทั้งนี้ ศอฉ.ได้แจกผังล้มเจ้าให้แก่สื่อมวลชนด้วย

โดย พ.อ. สรรเสริญได้แถลงว่า การปฏิบัติภารกิจในบริเวณพื้นที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันนี้มีสาเหตุเนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงไปปิดการจราจรบริเวณตลาดไท โดยมีการพยายามที่จะตรวจค้นรถโดยสารของประชาชนทั่วไป ทั้งรถส่วนบุคคลหรือรถโดยสาร เพื่อที่จะสร้างความวุ่นวายเดือดร้อนให้กับประชาชน และพยายามจะควานหาเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ โดยอ้างว่าป้องกันไม่ให้เดินทางเข้ามาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ ศอฉ. จึงได้จัดกำลัง ประกอบกำลังจากตำรวจภูธรภาค 1 ตำรวจภูธรภาค 7 และกองพลทหารม้าที่ 1 ไปสลายการชุมนุมในพื้นที่ ซึ่งเมื่อประมาณ 10 นาทีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เดินทางถึงในพื้นที่เกิดเหตุ ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงวิ่งหนีเข้าไปในบริเวณพื้นที่ตลาดไท ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจกำลังตามจับกุมตัวอยู่

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นความพยายามที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อส่งผลกดดันต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มแกนนำคนเสื้อแดงเองก็บอกว่าพยายามจะยกระดับการชุมนุม ซึ่งโดยปกติผิดกฎหมายอยู่แล้ว ไปสู่การก่อการร้าย อย่างที่เห็นเป็นการซ่องสุมอาวุธกันเป็นจำนวนมาก แล้วก็พยายามที่จะผูกโยงเรื่องราวต่างๆ โดยใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จมุ่งโจมตีสถาบันเบื้องสูง อันเป็นที่รักเคารพของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะมีการดำเนินการกันแบบเป็นระบบ ผ่านทางกลุ่มบุคคลทั้งที่เป็นแกนนำหลัก แกนนำรอง บางคนก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะมีคดีหรือไม่ ก็หนีไปก่อน เช่น ดา ตอร์ปิโด สุชาติ นาคบางไทร จักรภพ เพ็ญแข ชูพงษ์ ถี่ถ้วน ที่เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่ามีพฤติกรรมอย่างไร ไม่ว่าจะผ่านทางสื่ออินเตอร์เน็ต เว็บไซต์นปช.ยูเอสเอ องค์กรเสื้อแดงระหว่างประเทศ หรือ Red Shirt International Organization สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ความจริงวันนี้ Thai Red News , Voice of Thaksin รวมถึงวิทยุชุมชนต่างๆ คนรักแท็กซี่ของนายชินวัฒน์ หาบุญพาด เหล่านี้คือสื่อสีแดงที่ให้ข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่หมิ่นเหม่ และจาบจ้วงต่อสถาบันเบื้องสูงอันเป็นที่รักเคารพของคนไทยอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีโรงเรียน ผู้ปฏิบัติงานนปช.แดงทั้งแผ่นดิน ซึ่งแกนนำนปช. ล้วนเป็นบุคลากรหลักของโรงเรียนทั้งสิ้น ที่มีความพยายามที่จะสร้างวาทกรรม มีชุดความคิดอำมาตย์ ไพร่ เนื้อหาในเชิงของการบิดเบือน ปลุกปั่น กระทบต่อความมั่นคงของรัฐอยู่ตลอดเวลา

โฆษก ศอฉ. ล่าสุดกล่าวถึงข้อมูลอันเป็นเท็จคือเรื่องของท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีฆะระ รองราชเลขาธิการ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่าการใส่ร้ายโจมตีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จทั้งสิ้น และเป็นสิ่งที่ไม่บังควร ซึ่งทางแกนนำนปช. ก็พยายามที่จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาสร้างความสับสนให้กับสังคม บิดเบือนข้อเท็จจริง มุ่งที่จะโจมตีไปยังท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ หรือหลายคนอาจจะมีความคิดว่า มีวัตถุประสงค์อื่นใดที่สูงไปกว่านี้ สังคมก็จะต้องพิจารณากัน

ต่อมาเวลา 20.10 น. พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด ได้นำแผนผังเครือข่ายขบวนการล้มเจ้ามาแจกจ่ายสื่อมวลชนด้วย ทั้งนี้ พ.อ.สรรเสริญเปิดเผยว่า เอกสารที่แจกจ่ายให้สื่อมวลชน เป็นเอกสารบทวิเคราะห์ของ ศอฉ.เกี่ยวกับการจาบจ้วงสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของคนไทย หลายคนมีคดีความชัดเจนแล้ว บางส่วนเป็นผู้ต้องสงสัย ไม่ได้หมายความว่า ศอฉ.จะกล่าวให้ร้ายท่านหนึ่งท่านใด เป็นเพียงบทวิเคราะห์ได้พิจารณากัน

หลังจากนั้นเวลา 20.20 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เปิดเผยว่ามีโครงข่ายขบวนการล้มสถาบันว่า สิ่งที่จะต้องทำขณะนี้มีสองอย่างคือ การสร้างให้เกิดความเข้าใจในหมู่ประชาชนว่ากำลังมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น และการทำงานในการที่จะดำเนินการตามกฎหมายก็จะต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งเมื่อมีโครงข่ายเชื่อมโยงก็จะต้องสามารถหาให้ครบถ้วน

“ความจริงแล้วการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มีมาโดยตลอดตามสื่อต่างๆ แต่ความเชื่อมโยงต่างๆ ในขณะนี้ทาง ศอฉ.ได้เห็นภาพที่เป็นเครือข่ายชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็ต้องดำเนินการต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว

 

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ที่ตั้งด่านตามเส้นทางการจราจรตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสกัดการเดินทางของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ว่า ภาพรวมของสถานการณ์ทั้งหมดในหนึ่งถึงสองวันที่ผ่านมา ได้เห็นการเคลื่อนไหวของทางกลุ่มนปช.ในหลายพื้นที่ เป็นผลโดยตรงมาจากการที่แกนนำและเวทีเน้นย้ำว่า จะมีการสลายการชุมนุม ซึ่งตนคิดว่าตรงนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหว และเป็นสิ่งที่ตนและคณะทำงานในขณะนี้ได้ย้ำมาโดยตลอดว่า เราต้องสามารถที่จะรองรับการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ได้ (ดู “ศอฉ. สลายการชุมนุมกลุ่มนปช. ที่สร้างความเดือดร้อน ขัดขวางการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่,”ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 26 เม.ย.53 ; ดู “มาร์ครับเครือข่ายล้มสถาบันเคลื่อนไหวตลอด ช่วงนี้เห็นภาพมากขึ้น ศอฉ.แจกแผนผังขบวนการล้มเจ้า,” มติชนออนไลน์, 26 เม.ย.53 ; ดู “ศอฉ.ตีแผ่ขบวนการล้มเจ้า เผยบุคคลใกล้ชิด-บริวารแม้วคิดร้ายสถาบัน,” ผู้จัดการออนไลน์, 26 เม.ย.53 ; ดู “สรรเสริญอัดเสื้อแดงทำตามกันเป็นลัทธิ ยกระดับสู่การก่อการร้าย-มุ่งโจมตีสถาบัน,” ประชาไท, 27 เม.ย.53

ครม. เศรษฐกิจเห็นชอบแนวทางการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมที่พื้นที่ราช ประสงค์และสะพานผ่านฟ้า โดยเฉพาะ 1) การช่วยเหลือสภาพคล่อง 2) ช่วยเหลือพนักงานลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพราะการ ชุมนุม 3) ช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย

ตำรวจและทหารสลายการชุมนุมม็อบ นปช. ปทุมธานี และ ศอฉ. ประกาศสลายการชุมนุมทุกที่ที่ปิดถนน

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เกิดเหตุปาระเบิดชนิด เค 75 (แต่ไม่ได้ปลดเซฟ) ที่หน้าโชว์รูมรถเบนซ์คาร์แม๊ค ถนนพระราม 9 ซอย 22

กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เรียกร้องความสงบกลับคืนสู่สังคม และคัดค้านการยุบสภา

กลุ่มเสื้อหลากสี จ.ชลบุรี รวมตัวกันร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี และตั้งเวทีปราศรัยทางด้านซ้ายของประตูเมืองพัทยา

กลุ่มสภาประชาชน 4 ภาค ชุมนุมที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เรียกร้องให้จัดการกับเสื้อแดง และคัดค้านการยุบสภา

กลุ่มเสื้อหลากสีอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ร่วมรณรงค์เดินถือธงชาติไทย ร้องเพลงชาติไทย รอบตลาดเมืองอรัญประเทศ คัดค้านการยุบสภา

กลุ่มศิษย์เก่าและปัจจุบันของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช รวมตัวกันที่หน้าประตูโรงเรียน ขับไล่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ออกจากสายสัมพันธ์ เลือดขาว-แดง (ขาว-แดงเป็นสีของโรงเรียน)

เครือข่ายคนพังงาปกป้องชาติและราชบัลลังค์ เดินขบวนในเขตเทศบาล เพื่อแสดงพลังสนับสนุนรัฐบาล และต่อต้านคนเสื้อแดง

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 27 เม.ย.53

 

<<< Back                                                                                                                                                                                 Next>>>