ลำดับเหตุการณ์

27 เมษายน 2553

นปช. – นปช. สกลนคร ชุมนุมที่ ต.สว่างอินแดง อ. สว่างดินแดง เพื่อสกัดกั้นและตรวจค้นรถที่สงสัยว่าจะนำทหารและตำรวจเข้ากรุงเทพ

เวทีราชประสงค์ตึงเครียดเมื่อมีข่าวสะพัดว่าทหารจะบุกมาทางรถไฟฟ้าเพื่อสลายการชุมนุม การ์ด นปช. นำกำลังปิดสถานีรถไฟฟ้าชิดลมทำให้รถไฟฟ้าต้องหยุดเดินรถ ตำรวจต้องเข้ามาเจรจาทำความเข้าใจก่อนจะเปิดเดินรถในเวลา 10.00 น.

รัฐบาล – เวลา 14.05 น. นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า รัฐบาลมีแนวทางชัดเจนให้สลายการปิดถนน และจับกุมดำเนินคดีกลุ่มคนที่กีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่

“วันนี้ด่านถาวรจะเร่งดำเนินการจับกุม ดำเนินคดี และจะทำต่อเนื่องในหลายกรณี ทั้งหมายเรียก หมายจับ โดยบุคคลใดได้รับหมายเรียก 2 ครั้ง ไม่มารายงานตัวก็จับกุมดำเนินคดี” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวว่า รองนายกฯ รายงานว่า มีมวลชนหลายจังหวัดออกมาชุมนุมต่อต้านคนเสื้อแดง จึงขอให้แต่ละจังหวัดเข้มงวดดูแลให้การชุมนุมเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ให้เผชิญหน้าหรือปะทะกัน การชุมนุมทำได้อยู่แล้วทุกกลุ่มแต่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกา

“ท่านนายกฯ ได้เน้นย้ำนี่คือวิกฤติของชาติ ทุกกระทรวงต้องระดมกำลังแก้ปัญหา ในส่วนศอฉ.จะเดินหน้าคลี่คลายสกัดกั้นการตั้งด่านของนปช.การข่มขู่ประชาชน ตามด่านต่างๆ ศอฉ.จะจัดเจ้าหน้าที่คลี่คลายตามจุดนั้น โดยด่านกทม. 200 กว่าด่าน จะปรับมาตรการเข้มข้นขึ้น ไม่ให้ข่มขู่คุกคาม หากประชาชนพบเห็นการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามาขัดขวางกีดขวางขอให้แจ้ง” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวว่า นายกฯ ให้แนวทางไว้ในที่ประชุม ครม.จำเป็นแยกแยะผู้ชุมนุมชัดเจนระหว่างผู้เดือดร้อน และก่อกวนเข้าข่ายก่อการร้าย ซึ่งในต่างประเทศอาจไม่เข้าใจมากนัก เมื่อเช้านายกฯ ได้บันทึกรายการซีเอ็นเอ็นออกเครือข่ายทั่วโลก เวลา 02.00 น. วันพรุ่งนี้ และช่วงเย็นจะบันทึกรายการบีบีซี เพื่อให้นานาชาติรับทราบการเดินหน้าแก้ปัญหาของรัฐบาลไม่ให้เกิดก่อการร้าย และระดมเจ้าหน้าที่ปลัดกระทรวง เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาให้กับประชาชน หากเจ้าหน้าที่คนใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ ละเมิดกฎหมาย ก็จะดำเนินการต่อไป (ดู “มาร์คลั่นกลางที่ประชุม ครม.สลายเสื้อแดงทุกด่าน,” prachatai, 27 เม.ย.53

เวลา 19.40 น. ณ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน แถลงภายหลังการประชุม ศอฉ. ทั้งสองช่วงของวันนี้ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศอฉ. เป็นประธานการประชุม ว่า ในเวลาตั้งแต่ 04.00 น. – 06.00 น. วันนี้ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ได้ประสานการปฏิบัติเข้าวางกำลังในบริเวณพื้นที่ เพื่อจะครอบคลุมย่านราชประสงค์ โดยจัดตั้งเป็นด่านตรวจ ด่านสกัดแข็งแรง ประกอบกำลังทั้งทหาร ตำรวจ ที่มีจำนวนเพียงพอในแต่ละด่านรวม 6 ด่าน คือ ด่านแยกพญาไท แยกศาลาแดง แยกพงษ์พระราม แยกนราธิวาส-สีลม แยกอังรีดูนังต์ และแยกอโศกมนตรี ซึ่งภารกิจหลักของด่านทั้ง 6 แห่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบบุคคลต้องสงสัย ควบคุมและลิดรอนการนำอาวุธสงครามเข้าและออกจากพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ รวมทั้งดำเนินการจับกุมผู้ที่กระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย

นอกจากนั้น ในเวลา 16.00 น. มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และในส่วนของทหารระดับผู้บัญชาการทหารบกลงมาจนถึงระดับเจ้ากรม มีรองนายกฯ สุเทพ เป็นประธาน โดยได้มีการเน้นย้ำซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เพื่อที่จะคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้อง ประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจถึงการเตรียมการขอพื้นที่การชุมนุมคืน หรือจะเรียกว่าการสลายการชุมนุมก็สุดแล้วแต่ ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมเรื่องกำลัง รอวันเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น แต่คงไม่สามารถแจ้งให้ทราบได้ว่าเมื่อไร

โฆษก ศอฉ. เน้นย้ำอีกครั้งว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ในการเข้าปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ด้วยการยึดตามกรอบ กฎ กติกา 7 ประการ โดยไม่มีการใช้อาวุธกระสุนกับพี่น้องประชาชน คงมีเฉพาะการยิงขึ้นฟ้า หรือการยิงเพื่อป้องกันชีวิตของตนเองเท่านั้น ในวันนี้คงต้องเปลี่ยนไป หลักการโดยรวมเหมือนเดิม คือยึดตามหลักสากล เบาไปหาหนัก แต่คงต้องมีระยะห่างระยะต่อ เพราะเราคงไม่สามารถปล่อยให้เข้ามาถึงตัวได้ จะต้องมีระยะปลอดภัยตั้งแต่ 100 เมตรเป็นต้นมาก็คงจะต้องเริ่มเตือนด้วยแก๊สน้ำตา น้ำ เครื่องขยายเสียง กำลังส่งสูง จะไม่ยอมให้เข้าใกล้ในระยะเกินกว่า 30 – 40 หลา เจ้าหน้าที่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ปืนลูกซอง แต่ต้องเรียนอีกครั้งว่าวิธีการใช้อาวุธจริงนั้นเรามีการซักซ้อมการปฏิบัติ เพื่อสามารถชี้ชัดต่อสังคมได้ว่าไม่ได้มุ่งที่จะเอาชีวิตกับผู้ชุมนุม มีความสมเหตุสมผลพอเหมาะกับเหตุการณ์ และเพียงพอที่จะระงับยับยั้งไม่ให้ผู้ชุมนุมกระทำความผิดตามกฎหมายต่อไปได้

โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ศาลได้ชี้ชัดแล้วว่าการสลายการชุมนุมนั้นทำได้ แต่ต้องทำตามขั้นตอนหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ซึ่งวันนี้เรามีการชี้แจงทำความเข้าใจในขั้นตอนทั้งหลายชัดเจนแล้ว แต่ความจำเป็นเรื่องการใช้อาวุธกระสุนจริงนั้นมีความจำเป็น เพราะทหาร ตำรวจก็มีเลือดเนื้อมีชีวิตเหมือนกัน มีสิทธิ์ที่จะปกป้องชีวิตของเขาได้ เหตุการณ์ที่ผ่านมาก็ได้บ่งบอกแล้วว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรง มีอาวุธหลายอย่างที่ทำขึ้นและสามารถเอาชีวิตได้ทั้งสิ้น

“อย่างที่เคยเรียนให้ทราบว่า มีการนำเอาอาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่ที่นำมายิงขึ้นฟ้า และยิงเพื่อปกป้องชีวิตของตนเองในการปฏิบัติภารกิจเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาไปวางกองบนเวที กลุ่มแกนนำก็บอกเองว่าการ์ดของตนเอง ที่เห็นว่าเป็นไอ้โม่งนั้นเอาปืนมาส่งให้ จนป่านนี้ปืนทั้งหลายเหล่านั้นจำนวน 68 รายการ ยังไม่ได้รับคืนเลย ก็แสดงว่ากลุ่มแกนนำได้เอาไปแจกจ่ายหมดแล้ว คงมีหลงไปที่นายเมธี อมรวุฒิกุล 1 กระบอก แล้วก็โดนจับได้ รับสารภาพ และให้การที่เป็นประโยชน์ในเรื่องอาวุธปืนเหล่านี้ ซึ่งก็คงจะต้องไปว่ากันในกระบวนการทางศาล เมื่อเรื่องยุติ” โฆษกศอฉ. กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้ ศอฉ. ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการออกหมายเรียกโครงข่ายที่เป็นขบวนการล้มสถาบัน หรือไม่ โฆษกศอฉ. กล่าวว่า เรื่องนี้รองนายกฯ สุเทพ จะเป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียดด้วยตนเอง ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการที่สามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการยุติธรรม และคืนวันนี้ได้เรียกประชุมฝ่ายกฎหมายและอัยการมาหารือเพื่อออกหมายเรียกผู้ร่วมขบวนการล้มล้างสถาบัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ออกหมายเรียกไปแล้ว 135 คน แต่เข้ามาชี้แจงตามหมายเรียก 85 คน (ดู “ศอฉ.ยันทหาร ตำรวจ พร้อมผนึกกำลังปฏิบัติการขอคืนพื้นที่แยกราชประสงค์ โดยรอเวลาที่เหมาะสม,” ศูนย์ข่าวทำเนียบรัฐบาล, 27 เม.ย.53  ; ดู “ศอฉ.ลั่นจำเป็นต้องใช้ปืนลูกซองหากผู้ชุมนุมเข้ามาใกล้,” ประชาไท, 28 เม.ย.53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมที่วงเวียนโอเดียน เยาวราช

กลุ่มคนรักสีลม ชุมนุมที่หน้าอาคารสีลมคอมเพล็ก ถนนสีลม ต่อต้านการชุมนุมของ นปช.

หมายเหตุ

28 เมษายน 2553

นปช. –  นปช. เคลื่อนขบวนรถมอเตอร์ไซต์และรถยนต์รณรงค์ไปยังตลาดไท เพื่อให้กำลังใจ นปช. ปทุมธานี ที่ถูกสลายการชุมนุม และชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน

นปช. เชียงใหม่ ปะทะกับเจ้าหน้าที่ ก่อนบุกเข้าไปในศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ หลังเกิดเหตุม็อบปะทะกับทหารที่ตลาดไท

นปช. อ่างทองชุมนุมที่ริมถนนสายเอเชีย เพื่อสกัดตำรวจจากอ่างทองที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพ

นปช. นครพนม ปิดถนนสายธาตุพนม,มุกดาหาร บริเวณสามแยกบ้านต้อง อ.ธาตุพนม ตั้งจุดสกัดตำรวจ-ทหารที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพ

รัฐบาล – ตำรวจ-ทหารสกัดขบวน นปช. บริเวณหน้าอนุสรณ์สถานดอนเมืองกลางสายฝน มีผู้บาดเจ็บนับสิบ พลทหารเสียชีวิต 1 รายจากการถูกยิง มีรายงานข่าวว่าทหารยิงกันเอง

ช่วงบ่าย สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม Springnews ได้เผยแพร่ภาพหน่วยเคลื่อนที่เร็วของทหารถูกยิงด้วยกระสุนปืน หลังจากเคลื่อนมอเตอร์ไซค์เข้าใกล้ด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ทหารที่กั้นอยู่ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทหารเสียชีวิต 1 นาย คือ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาระ (ดูคลิปได้ที่ 2010.04.28 Spring News report ‘Friendly fire’ shot by soldier.) ทั้งนี้สำนักข่าวบีบีซี และหนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานตรงกันว่าทหารมีการยิงปืนใส่พวกเดียวกัน หลังจากนั้นในช่วงเย็นเว็บไซต์ www.springnewstv.com ของสถานีโทรทัศน์ช่องดังกล่าวก็ได้ถูก ศอฉ. ปิดกั้น (ดู “คลิปสปริงนิวส์ ทหารหน่วยเคลื่อนที่เร็วถูกยิงหลังเข้าใกล้แนวป้องกันของทหาร,” ประชาไท, 28 เม.ย.53  ; ดู “บล็อคเว็บข่าวสปริงนิวส์หลังเหตุปะทะ,” ประชาไท, 28 เม.ย. 53

ต่อมา เวลาประมาณ 21.15 น. ศอฉ. แถลงข่าว พล.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ. กล่าวว่า เวลา 12.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้สนธิกำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์การก่อความ วุ่นวายของกลุ่ม นปช. ที่ประสงค์จะเดินทางไปตลาดไท โดยเจ้าหน้าที่ได้ตั้งด่านสกัดไว้ที่ดอนเมือง และขอให้ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บังคับการทหารอากาศ ได้ชี้แจงรายละเอียด

พ.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า สืบเนื่องจากมีการชุมนุมของ นปช. 2 จุด คือ ตลาดไทย และอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ เพราะทั้ง 2 จุด มีการประกาศ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วซึ่งไม่สามารถชุมนุมได้ โดยกำลังตำรวจ ทหารบก ทหารอากาศ ได้ปฏิบัติงานร่วมกัน ขั้นตอนการเข้าคุมสถานการณ์นั้นได้เน้นย้ำหน้าที่ให้ทำตามขั้นตอน จากเบาไปหาหนัก แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าบางครั้งมีอาวุธร้ายแรงมาจากผู้ชุนุม ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเตรียมความพร้อมด้วย โดยในวันนี้ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้วยความยากลำบาก เพราะพื้นที่ตรงกลางระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุนนุมยังมีผุ้ใช้รถใช้ถนนอยู่ อีกทั้งผู้ชุมนุมใส่เสื้อหลากสี ทำให้การแยกแยะระหว่างประชาชนผู้บริสุทธิ์กับผู้ชุมนุมเป็นไปด้วยการยาก ลำบาก ต้องระมัดระวัง ส่วนการเจรจาเพื่อขอให้เลิกก็ทำไประยะหนึ่ง ปรากฏว่ามีหนัง

ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ผลการปฏิบัติการครั้งนี้ น่าเสียใจที่เกิดการสูญเสียอีก โดยทหารเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 2 นาย ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 17 ราย เราพยายามจะแยกแยะผู้กระทำควาผิดด้วยการจับกุมแกนนำ ซึ่งจับได้ 14 คน ที่ตลาดไท 7 คน อนุสรณ์สถานฯ 7 คน ยึดรถจักรยานยนต์ที่ก่อเหตุได้อีก 1 คัน และเราสามารถยึดอาวุธสงคราม M 79 ส่วนประกอบเครื่องยิงด้วยจากการตั้งด่านของทหารอากาศร่วมกับตำรวจจราจร

พลอากาศตรีอานนท์ จารยะพันธุ์ ผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์จับยึดกระสุน M79 ได้นั้น เมื่อประมาณ 16.30 น. ได้รับแจ้งว่าพบผู้ต้องสงสัยขี่จักรยานยนต์ มีลักษณะท่าทีจะเข้ามาร่วมกับผู้ชุมนุมบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ จุดที่เกิดเหตุอยู่หน้าฐานทัพอากาศ ฝั่งถนนวิภาวดีขาเข้า เส้นทางคู่ขนาน ซึ่งกองทัพอากาศจัดกำลัง 2 กองร้อยเพื่อรักษาความสงบ และปฏิบัติหน้าที่บนทางด่วนโทลล์เวย์เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ก่อความไม่สงบยิง อาวุธร้ายแรงลงมาด้านล่าง และยังมีจุดสกัดที่พบจักรยานยนต์คันดังกล่าว โดยคนขับพยายามจะขับขี่ผ่านด่านทหาร แต่เมื่อผู้ต้องสงสัยเห็นด่านก็หลบหนี เจ้าหน้าที่ก็วิ่งตาม ผู้ต้องสงสัยออกไปทางถนนย่อยด้านข้าง หลบหนีทางหมู่บ้านบันฑิตโฮมซึ่งเป็นซอยตัน ขณะติดตาม ผู้ต้องสงสัยทิ้งถุงสีดำไว้ และได้ทิ้งจักรยานยนต์หลบหนีไปในป่าหญ้า หลังจากนั้น สารวัตรทหารได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจวัตถุระเบิด และเจ้าหน้าที่ได้ใช้ปืนแรงดันน้ำความดันสูงเปิดถุงดังกล่าว พบกระสุน M79 จำนวน 62 นัด ในจำนวนนี้เป็นรุ่นเจาะเกราะ 42 นัด ถุงดังกล่าวเป็นถุงพลาสติก มีเอกสารอย่างที่ทางตำรวจชี้แจงตกอยู่ในที่เกิดเหตุทั้งนี้ กระสุนทั้งหมดบรรจุใส่กล่องไปรษณีย์ ภายในกระสอบปุ๋ยและมีถุงดำห่อหุ้มอีกชั้นหนึ่ง

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า จุดที่อันตรายอย่างยิ่งคือ การตรวจสอบวัตถุระเบิดร้ายแรงจำนวนมากดังกล่าว ในการพบอาวุธร้ายแรงแบบนี้เป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งขณะนี้ได้มีมติให้คดีก่อการร้ายเป็นคดีพิเสษ การสะสมอาวุธร้ายแรงที่มีการเตรียมการไปใช้ที่เกิดเหตุเป็นความผิดฐานก่อการร้าย ดีเอสไอจะได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสอบสวนเรื่องนี้ต่อไป เพื่อคลี่คลายความจริงให้ปรากฏและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษต่อไป

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความยากลำบาก เพราะผู้ชุมนุมใส่เสื้อหลากสี และปะปนกับผู้ใช้ถนน ประกอบกับวันนี้มีฝนตกหนัก และพบอาวุธสงครามร้ายแรง ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มั่นใจ และในเวลา 17.30 น.จึงยุติการปฏิบัติ เพราะเกรงว่าจะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในการปราบปรามครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธจริงและกระสุนจริงหรือไม่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจก็มีเลือดมีเนื้อเหมือนกัน และตลอดเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธสงคราม จึงเป็นความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะไม่ยอมให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าใกล้แนวของเจ้าหน้าที่

เมื่อถามว่าได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าพลทหารที่เสียชีวิต เสียชีวิตจากสาเหตุอะไร พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า คงต้องตรวจสอบกันก่อน เพราะในพื้นที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน

ดู “ศอฉ.แถลงผลงานสกัดเสื้อแดงที่ดอนเมือง พบกระสุน M79 อื้อ แต่ผู้ต้องสงสัยหนีไปได้,” ประชาไท, 28 เม.ย.53  และดูคลิป 20100428_CRES_001

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เกิดเหตุระเบิดหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาตลิ่งชัน ถ.บรมราชชนนี

กลุ่มเสื้อหลากสี นครราชสีมา ชุมนุมเพื่อให้กำลังใจทหารที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี เรียกร้องให้ใช้กฎอัยการศึก ปราบปราบคนเสื้อแดง

กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

เวลา 12.30น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวกรณีที่ถูกระบุรายชื่ออยู่ในผังล้มเจ้าของ ศอฉ.

  1. ข้าพเจ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า เครือข่ายที่มีพฤติกรรมล้มสถาบันใดๆ และไม่เห็นด้วยว่า จะมีเครือข่ายอะไรในลักษณะเช่นนี้ นอกจากการใส่ร้ายป้ายสีที่ ศอฉ.สร้างขึ้นมาเอง เพื่อทำลายล้างทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม ที่กำลังต่อต้านและเรียกร้องรัฐบาลให้ยุบสภา
  2. ข้าพเจ้าจะขออำนาจศาลเพื่อคุ้มครองในกรณีที่อาจจะเกิดภัยจากการถูกใส่ร้ายในข้อหาร้ายแรง
  3. เพื่อที่จะปกป้องสิทธิของข้าพเจ้า ก็จะดำเนินการฟ้องร้องแก่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ ศอฉ. โดยจะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งภายในสัปดาห์นี้

(ดู “สุธาชัยเตรียมฟ้อง ศอฉ. โต้ไม่เชื่อมีเครือข่ายล้มเจ้า แค่ป้ายสีทางการเมือง,” prachatai, 28 เม.ย.53

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 29 เม.ย.53 และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน

 

29 เมษายน 2553

นปช. – ที่สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำ ประเทศไทย ตัวแทน นปช. ยื่นหนังสือถึง EU ขอให้ทางอียูส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมตรวจสอบและสังเกตการณ์การดำเนินการของรัฐบาลในการสลายการชุมนุม

นายพายัพ ปั้นเกตุ นำการ์ด นปช. 200 คน บุกค้น โรงพยาบาลจุฬาฯ อ้างเห็นทหารแอบซุ่มอยู่ในโรงพยาบาล

รัฐบาล – นายสุเทพโต้ข่าวทหารยิงกันเอง อ้างต้องรอผลการชันสูตรก่อน

กลางคืน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม ตำรวจนอกราชการ สังกัด สภ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ผู้ต้องหาก่อเหตุยิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหมเมื่อคืนวันที่ 20 มีนาคม ได้พร้อมนายศุภณัฐ อุยเวช (ดู “ศอฉ. เผยเป้า RPG วัดพระแก้ว จับมือยิงสนิทแดง,” ไทยรัฐออนไลน์, 30 เม.ย.53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ช่วงเช้าที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) ที่ตั้งของ ศอฉ. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายร้อยคน เดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองโดยเร็วที่สุด

เวลาประมาณ 10.35 น. พล.ต.จำลอง และนายพิภพ ได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล และ พล.ต.จิรเดช สิทธิประณีต เลขานุการกองทัพบก ในฐานะตัวแทนผู้บัญชาการทหารบก ณ บริเวณ ด้านหน้า ร.11 รอ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้แก่

  1. ขอให้รัฐบาลประกาศจุดยืนนโยบายและกรอบปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็น รูปธรรมต่อการเอาผิดการชุมนุมที่ผิดกฎหมายและจัดการกับกลุ่มก่อการร้าย โดยนายกฯ จะต้องชี้แจงต่อสาธารณะให้เห็นถึงมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนต่อการ กอบกู้วิกฤติการณ์ของบ้านเมือง
  2. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในจังหวัดที่มีพื้นที่สุ่มเสี่ยง และมีการสถาปนาอำนาจรัฐเถื่อนซ้อนกับอำนาจรัฐไทย เพื่อมาตรการในการกอบกู้สถานการณ์บ้านเมือง โดยรัฐบาลและกองทัพจะต้องใช้มาตรการทางทหารโดยประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ ที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อยุติการชุมนุมที่ผิดกฎหมายจัดการกับกลุ่มก่อการร้าย ขบวนการล้มเจ้า และพยายามสถาปนาอำนาจรัฐเถื่อนโดยเร็ว
  3. ขอเรียกร้องให้บรรดาทหารหาญทุกเหล่าทัพตื่นตัวและตระหนักในขบวนการ ล้มเจ้า ขบวนการก่อการร้ายและสถาปนาอำนาจรัฐเถื่อนที่ขยายตัวไปตามจังหวัดต่างๆ ทั้งนี้กลุ่มพันธมิตรฯ พร้อมเป็นพลเมืองอาสาปกป้องชาติและราชบังลังก์ร่วมกับ บรรดาทหาร เพื่อให้สังคมไทยปลอดจากอำนาจรัฐเถื่อนและนำความสงบสันติสุขกลับคืนสังคมไทย โดยเร็ว

(ดู “พันธมิตรฯ ชุมนุมหน้าราบ 11 เรียกหากฎอัยการศึก,” ประชาไท, 29 เม.ย.53)

Facebook ของประชาไทถูก ศอฉ. บล็อก (ดู “ศอฉ.บล็อคเฟซบุ๊คประชาไท,” ประชาไท, 29 เม.ย. 53)

ศาลสั่งจำคุก 7 นปช. ที่ถูกจับหน้าอนุสรณ์สถานคนละ 2 เดือนโดยไม่รอลงอาญา

พธม. และกลุ่มคนเสื้อหลากสีหลายจังหวัดยื่นหนังสือที่ค่ายทหารในพื้นที่ เร่งให้จัดการคนเสื้อแดง

หมายเหตุ

 

30 เมษายน 2553

นปช. – พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ บุกราบ 11 หลังมีชื่อในแผนผังล้มเจ้า ยื่นหนังสือชี้แจง ศอฉ.

นปช. ขอนแก่น รวมตัวกันที่สนามบินขอนแก่นและทำการปิดถนน เพื่อดักไล่ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายคนหลากสี ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมกลุ่มคนเสื้อหลากสีขอนแก่น

รัฐบาล – นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงว่า ส.ต.ต. บัณฑิตสารภาพว่า วันเกิดเหตุเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมนางจุรีพร สินธุไพร แกนนำเสื้อแดงพัทยา น้องสาวนายนิสิต สินธุไพร เพื่อร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง และ พ.ต.ท. ศุภชัย ผุยแก้วคำ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา และเป็นน้องเขยนายนิสิต ให้ค่าตอบแทน 5 แสนบาท โดยนำเครื่องยิงอาร์พีจีไปยิงวัดพระแก้ว แต่โดนสายไฟจึงไม่ถูกเป้าหมาย จึงได้ทิ้งอาวุธไว้ในรถแล้วหนีไป

ส่วนเอ็ม 67 ที่ยึดได้ในรถทีมยิงอาร์พีจีเป็นล็อตเดียวกับ 8 คดีระเบิดกรุงเทพก่อนหน้านี้

พล.ต.อ. ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ที่ปรึกษา (สบ. 10) แถลงความคืบหน้าคดีระเบิดในช่วงที่มีการชุมนุมของ นปช. ตั้งต้นเดือนมีนาคมถึงสิ้นเดือนเมษายนว่า ทั่วประเทศมีคดีระเบิดทั้งสิ้น 60 คดี โดย 46 คดี เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ที่เหลือเกิดขึ้นในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 4 และภาค 5

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – โรงพยาบาลจุฬาฯ ปิดชั่วคราว และเคลื่อนย้ายผู้ป่าวยไปยัง โรงพยาบาลอื่นๆ

องค์กรต่างๆ ออกมาประณาม นปช. ที่บุก รพ. จุฬาฯ

กลุ่มเสื้อหลากสี มอบดอกไม้ให้ทหารที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เรียกร้องให้รัฐบาลและทหารกับ นปช. แม้จะมีการสูญเสียบ้างก็ต้องทำ

หมายเหตุ

 

พฤษภาคม 2553

1 พฤษภาคม 2553

นปช. – ด้านเวทีที่ราชประสงค์ เวลาประมาณ 18.20 น. นพ. เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. แถลงข่าวว่า นายวีระ มุสิกพงษ์ ประธาน นปช. ได้เจรจากับ ผอ. ร.พ. จุฬาลงกรณ์ แล้วโดยได้ข้อสรุปว่า นปช.ยินดีอำนวยความสะดวกให้คนป่วยไปใช้บริการได้ โดยร.พ. จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 2 พ.ค.และในวันที่ 3 พ.ค. นปช.จะยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายคริสเตียน บรูนเนอร์ หัวหน้าฝ่ายภูมิภาคองค์กรกาชาดสากล โดยอธิบายความจำเป็นที่ นปช. ต้องเข้าไปตรวจสอบภายในว่า ร.พ. ว่า เป็นการป้องกันชีวิตของผู้ประท้วง เพราะได้ข่าวว่ามีการซ่องสุมกำลังทหารเอาไว้ภายใน โดยยืนยันว่าไม่มีเจตนาทำอันตรายหรือข่มขู่ใคร (ดู “สังฆราชเสด็จศิริราช ศอฉ.มีมติรุกคืนพื้นที่ถึงสารสิน,” ประชาไท, 2 พ.ค. 53)

แกนนำ นปช. เริ่มขัดแย้งกับเสธ. แดง กรณีสั่งให้ตั้งบังเกอร์ที่แยกศาลาแดง ทั้งที่ นปช. มีมติให้รื้อถอนเพื่อเปิดทางให้ โรงพยาบาลจุฬาฯ

รัฐบาล – ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.)นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. แถลงถึงกรณีที่คนเสื้อแดงบุกเข้าไปในโรงพยาบาล ว่า ตนรู้สึกสลดใจที่เห็นภาพการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่น และที่น่าสลดใจยิ่งกว่าคือ สมเด็จพระสังฆราชทรงประชวรอยู่ที่นั่น ก็ถูกย้ายห้องพักเช่นกัน ทำให้คนไทยเศร้าใจและโกรธเคืองมาก ช่วงเช้าวันนี้จึงได้สั่งให้ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ไปเปิดทางเข้า-ออกโรงพยาบาลให้ได้

ต่อมาเวลา 20.30 น. พ.อ. เสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แถลงผลการประชุมที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองประธาน เป็น ผอ.ศอฉ. และมีนายกฯ เข้าร่วมรับฟังว่า จากกรณีเสื้อแดงบุกเข้าไปค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นเรื่องที่สังคมไม่สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย เพราะโดยปกติไม่ว่ากลุ่มไหนฝ่ายไหน โรงพยาบาลพร้อมบริการทุกคน แต่การดำเนินการของคนเสื้อแดงทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจ ทุกฝ่ายจึงร่วมกันประณามการกระทำของคนเสื้อแดง ซึ่งแกนนำไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า ในการประชุม ศอฉ.เช้าวันที่ 1 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีสั่งให้ตำรวจท้องที่เข้าไปวางกำลังและเปิดพื้นที่หน้าโรงพยาบาลให้หมด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับหมอและพยาบาล รวมทั้งให้มั่นใจกับประชาชน ดังนั้น วันที่ 2 พฤษภาคม ผบ.ตร.จะต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยเคลียร์พื้นที่ทั้งหมดด้วยวิธีต่างๆ เริ่มต้นจากการเจรจา หากไม่ได้ผลต้องใช้กำลังดำเนินการ ซึ่ง ศอฉ.มั่นใจว่าตำรวจสามารถปฏิบัติภารกิจได้ เปิดหมดจนแยกสารสิน (ดู “สังฆราชเสด็จศิริราช ศอฉ.มีมติรุกคืนพื้นที่ถึงสารสิน,” ประชาไท, 2 พ.ค.53

เจ้าหน้าที่ดีเอสไอค้นห้องพักนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ แกนนำคนเสื้อแดง ย่านลาดพร้าว พบกระสุนปืนจำนวนมาก

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ศูนย์สิทธิมนุษยนเอเชีย (ACHR) ออกแถลงการณ์ระบุว่า ทหารไทยใช้กำลังโดยไม่เหมาะสมกรณีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน มีหลักฐานชัดว่าทหารไทยใช้อาวุธปราบปรามประชาชน แนะให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณา

ภายหลังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ย้ายผู้ป่วย 171 ราย ไปตามโรงพยาบาลต่างๆ รวม 27 แห่ง สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ขอเข้าตรวจค้นหาทหารที่เข้าใจว่าแฝงตัวอยู่ในโรงพยาบาลเมื่อค่ำวัน ที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ในเวลา 14.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทรงเยี่ยมสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ยังคงรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเพียงพระองค์เดียว ทั้งนี้ได้ทรงรับสั่งให้ย้ายสมเด็จพระสังฆราชไปยังโรงพยาบาลศิริราชเพื่อความปลอดภัย ต่อมาเวลา 17.30 น. แพทย์ได้ทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปยังโรงพยาบาลศิริราช ด้าน นพ. อดิศร ภัทราดูลย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ กล่าวว่าหากกลุ่ม นปช. ยอมเจรจาและถอยร่นออกไปถึงบริเวณแยกสารสิน โรงพยาบาลก็จะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ตามปกติ (ดู “สังฆราชเสด็จศิริราช ศอฉ.มีมติรุกคืนพื้นที่ถึงสารสิน,” ประชาไท, 2 พ.ค. 53)

หมายเหตุ

 

2 พฤษภาคม 2553

นปช. – นปช. ยอมย้ายเครื่องกีดขวางหน้า โรงพยาบาลจุฬาฯ ไปที่สวนลุมพินี หลังเจรจากับ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น.

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาฯ ยัน โรงพยาบาลยังไม่เปิดบริการจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย ยืนยันไม่ยอมให้ ตำรวจ-ทหาร ใช้มาเป็นฐานปราบผู้ชุมนุม

นายอนุธีร์ เดชเทวพร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และเพื่อนนักศึกษา ได้รับหมายเรียกจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ให้ไปรายงานตัวที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ราบ 11) ในวันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. (ดู “ศอฉ. เรียก เลขาฯ สนนท. รายงานตัว 10 โมงเช้า วันนี้ (2 พ.ค.),” ประชาไท, 2 พ.ค. 53)

เลขา สนนท. และนักศึกษา 2 คน ไปราบ 11 รายงานตัวตามหมายเรียอกของ ศอฉ.

พร้อมขอทนายเข้าร่วมแต่ถูกปฎิเสธ เจ้าหน้าที่อ้างเป็นการเรียกมาคุยไม่จำเป็นต้องมีทนาย ขณะที่สมาชิก สนนท. ร่วมออกแถลงการณ์ประณามการคุกคามจากรัฐทหารของรัฐบาล

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 53 นายสลักธรรม โตจิราการ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุตรชายของ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.ได้เข้ารายงานตัวที่ ศอฉ. ทำให้ขณะนี้มีนักศึกษาอย่างน้อย 4 รายที่ถูก ศอฉ.เรียกไปรายงานตัว (ดู “ศอฉ.ไม่ให้ทนายร่วมสอบ เลขาฯ สนนท.-นศ. อ้างเพียงเรียกมาคุย ด้าน สนนท.จี้รัฐหยุดคุกคาม,” ประชาไท, 2 พ.ค.53 ; และดูบทวิเคราะห์เพิ่มเติมที่ “รายงาน: สำรวจหมายเรียกรายงานตัว ศอฉ. ปฏิบัติการจิตวิทยาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ปี2553,” ประชาไท, 3 พ.ค. 2553)

หมายเหตุ

 

3 พฤษภาคม 2553

นปช.

รัฐบาล – เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการปฏิบัติการด้านกำลังในการแก้ปัญหาการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงว่าต้องมีการปฏิบัติการด้านกำลัง เพราะประจักษ์ชัดว่าผู้มาชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ สันติอหิงสาอย่างที่พูดกัน แต่เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย คุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนคนอื่น สร้างความเดือดร้อน เช่น การปิดกั้นเส้นทางจราจร การยึดพื้นที่ย่านธุรกิจการค้า และการปิดบุกรุกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งรัฐบาลต้องแก้ไข แต่ต้องใช้เวลาคือ การอธิบายให้คนบริสุทธิ์ที่เข้าไปร่วมอยู่ในกระบวนการนี้ได้รู้ว่าการชุมนุม ลักษณะนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การที่ผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่ในพื้นที่เท่ากับไปเป็นโล่มนุษย์ให้กับผู้ก่อการร้าย และผู้ที่กระทำความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร จึงขอให้ประชาชนออกจากพื้นที่แยกราชประสงค์ให้เหลือแต่พวกก่อการร้าย แกนนำหรือพวกฮาร์ดคอร์ทั้งหลาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่ามีกองกำลังที่ใส่ชุด ทหารแต่สวมรองเท้าแตะมาลอบยิงกลุ่มคนเสื้อแดง รองนายกฯ กล่าวว่ามีทหารใส่รองเท้าแตะ เพราะทหารนอนอยู่แล้วมีคนไปยิง เขาก็ต้องลุกขึ้นเอาปืนมาต่อสู้ เป็นเรื่องจริงที่ทหารนั้นอยู่ที่ตึกชาญอิสระ วันนั้นเขายิงเข้าไปในตึกชาญอิสระ ทหารก็ต้องลุกขึ้นคว้าปืนมาต่อสู้ จะให้ทหารแต่งเครื่องแบบนอนทั้งคืนหรืออย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางแกนนำผู้ชุมนุมระบุว่ามีทหารอยู่ใน ร.พ.จุฬา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “โกหก พรรคนั้นโกหกกันทั้งพรรค” ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาระบุว่าบุตรชายถูกทหารบุกตรวจค้นใช้ปืนจ่อหัว รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยืนยันว่าเราไม่มีความรุนแรง

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการสลายการชุมนุมจะมีการจับตายแกนนำ เหมือนกับที่แกนนำนปช.ได้ประกาศไว้หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ถ้าเขามีอาวุธต่อสู้ก็ว่ากันไปตามเรื่องตามราว”

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าท่านไม่การันตีว่าจะไม่จับตาย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ผมจะไปการันตีชีวิตแกนนำได้อย่างไร ถ้าเขาพกปืนเอ็ม 16 หรือเอาปืนทราโวมายิงทหาร เดี๋ยวนี้แกนนำของคุณไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว”

เวลา 11.25 น. ณ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิดโฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม ศอฉ. เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า การประชุมเมื่อวานกับช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น มีเรื่องของการให้จัดเตรียมรถเกราะสำหรับที่จะดำเนินการในการสลายการชุมนุม เพราะว่ารถเกราะก็ถือว่าเป็นยุทโธปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจที่จะเข้าปฏิบัติภารกิจในการสลายการชุมนุมมีความปลอดภัย และจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธยิงใส่เราหรือไม่ เพราะขณะที่เคลื่อนด้วยรถเกราะเข้าไปก็จะคงได้มองเห็นว่ามีอาวุธอะไรบ้างที่ยิงมาหาเรา ในขณะเดียวกัน เมื่อมีรถเกราะแล้วก็จะทำให้เราเคลื่อนที่เข้าหากลุ่มผู้ชุมนุมได้โดยไม่ต้องมีการตอบโต้กันด้วยอาวุธเกินความจำเป็นซึ่งก็ถือว่าเป็นความปลอดภัยด้วยกันทั้งสองฝ่าย (ดู “ศอฉ.ประกาศใช้รถหุ้มเกราะสลายการชุมนุม สุเทพไม่การันตีชีวิตแกนนำ,” ประชาไท, 3 พ.ค.53 ; ดู “รองนายกฯ สุเทพยันสนธิกำลังทหาร ตำรวจ พลเรือนเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข,” ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 3 พ.ค.53 ; ดู “ศอฉ.จัดเตรียมรถเกราะ สำหรับดำเนินการในการสลายการชุมนุม เพื่อลดการตอบโต้กันด้วยอาวุธเกินความจำเป็น,” ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 3 พ.ค.53)

นายธาริต อธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวการจับกุมนายสุรชัย นิลโสภา และนายชาตรี ศรีจินดา ระบุเป็นการ์ด นปช. ที่ใช้อาวุธปืนยิงเฮลิคอปเตอร์ขณะโปรยใบปลิวในวันที่ 10 เมษายน

นายกฯ แถลงในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยถึงแผนการปรองดอง โดยระบุหากสถานการณ์สงบลงอาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พ.ย. หากสถานการณ์ไม่สงบก็ทำตามแผนปรองดองต่อไป และจะตั้งกรรมการอิสระสอบสวนเหตุการณ์วันที่ 10 22 และ 28 เมษายน

ช่วงค่ำ นายกรัฐมนตรีแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เสนอ 5 กรอบในการดำเนินการเพื่อนำไปสู่ความปรองดองและแก้ไขสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้ง และประกาศว่ารัฐบาลพร้อมจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย. 53 แต่หากผู้ชุมนุมไม่ยอมรับรัฐบาลยังจะเดินหน้าแผนปรองดองต่อไป แต่คงไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนได้

แผนปรองดองประกอบด้วย

  1. การป้องกันสถาบันกษัตริย์ไม่ให้ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง
  2. การปฏิรูปอย่างมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความทุกข์ยากของประชาชน เช่น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความยากจนและความไม่เป็นธรรมทางสังคมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
  3. รับรองอิสระในการทำงานของสื่อและสร้างสรรค์ โดยไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างความเกลียดชังและความรุนแรง
  4. จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
  5. สร้างระบบทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ร.พ. จุฬา รวมตัวกันที่หน้าตึกอำนวยการเรียกร้อง นปช. อย่าขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมออกแถลงการณ์ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายไปถึงแยกสารสินเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการทำงานของโรงพยาบาลและผู้ป่วยที่มารับบริการ

เวลา 10.55 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ เสด็จไปยังตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาฯ ทรงเยี่ยมประชาชนและผู้ป่วย พร้อมกับให้กำลังใจเจ้าหน้าที่

กลุ่มเสื้อหลากสีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คัดค้านการยุบสภา และขอให้ทหาร-ตำรวจออกมาดำเนินการกับ นปช.

หมายเหตุ

 

4 พฤษภาคม 2553

นปช. – 16.00 น. แกนนำ นปช. แถลงยอมรับโรดแม็ปปรองดอง แต่ยังไม่ประกาศยุติการชุมนุมทันที รอให้นายกฯ ระบุให้ชัดก่อนว่าจะยุบสภาวันไหน เพราะการประกาศวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต. ไม่ใช่อำนาจของนายกฯ พร้อมทั้งให้เลิกคุกคามการชุมนุมด้วย

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย –

หมายเหตุ

 

5 พฤษภาคม 2553

นปช.

รัฐบาล – เว็บไซต์ข่าวประชาไท www.prachatai.net ถูก ศอฉ. ปิดกั้นอีกครั้ง ซึ่ง www.prachatai.net เป็นโดเมนใหม่ของเว็บไซต์ประชาไท ที่เปิดใช้เมื่อวันที่ 9 เม.ย. หลังจากwww.prachatai.com ซึ่งเป็นโดเมนเดิมถูกปิดกั้นไปก่อนหน้านี้ตามคำสั่งที่ลงนามโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ. ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) (ดู “ศอฉ.บล็อคประชาไทอีกครั้ง แต่ยังเข้าได้ที่ www.prachatai1.com,” 5 พ.ค. 53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย

หมายเหตุ

 

6 พฤษภาคม 2553

นปช. – นปช. เรียกร้องให้รัฐบาลและกองทัพลงสัตยาบันการทำแผนโรดแม็ป 5 ข้อ และกำหนดวันยุบสภาที่ชัดเจน

รัฐบาล – เวลา 10.30 น. ณ กรมทหารกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์(ร.11รอ.)พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน แถลงภายหลังการประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเช้าว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจของ ศอฉ. ได้ดำเนินการกระจายกำลังออกเป็นด่านย่อยในด่านใหญ่ที่มีอยู่ 6 ด่านแข็งแรงรอบบริเวณพื้นที่ราชประสงค์นั้น มีการกระจายกำลังเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้มีการนำเอาอาวุธสงครามออกนอก พื้นที่ เพราะที่ผ่านมาได้มีการยืนยันว่า บริเวณพื้นที่การชุมนุมนั้น ได้มีการเก็บอาวุธสงครามไว้จำนวนหนึ่งและมีกลุ่มผู้ก่อการร้ายพร้อมที่จะสร้างสถานการณ์ไว้ตลอด

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มผู้ชุมนุมในบริเวณพื้นที่การชุมนุมก็มีโอกาสรับข้อมูลข่าวสารจากภายนอกน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลที่เกิดจากกลุ่มแกนนำบนเวทีให้ข้อมูล ฉะนั้น ได้มีความพยายามที่จะส่ง SMS ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพื่อให้รู้ว่าบริเวณพื้นที่นั้นไม่ปลอดภัย จึงขอเชิญชวนประชาชนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องราวต่างๆ ออกนอกพื้นที่ เพราะนายกรัฐมนตรีได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางศอฉ. ได้มีการประเมินสถานการณ์อย่างไรบ้างที่ผู้ชุมนุมได้มีการชุมนุมจนถึงวันนี้ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแผนปรองดอง 5 ข้อ เป็นการประกาศกับคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะ นปช. ฉะนั้น ตนคิดว่าทางนปช. ไม่มีทางเลือกมากนัก อีกทั้งไม่มีสิทธิที่จะมาต่อรองเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น ในแผน 5 ข้อที่ประกาศไป ไม่ได้หมายความว่าจะไม่การสลายการชุมนุม ในส่วนของรัฐบาลจะมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป และศอฉ. จะรับผิดชอบในการแก้ไขการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีการก่อการร้ายเข้าไปปะปนอยู่ เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน

ทั้งนี้ ศอฉ. ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมเมื่อเช้านี้ว่า การที่มีข้อต่อรองว่าให้ถอนทหารออกจากพื้นที่และยกเลิกประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) นั้น ซึ่งจริงแล้ว เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล แต่ทางศอฉ. ได้เสนอไปแล้วว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการ (ดู “ศอฉ. ตั้งด่านย่อยรอบพื้นที่ราชประสงค์ป้องกันการนำเอาอาวุธสงครามออกนอกพื้นที่,” ข่าวทำเนียบ, 6 พ.ค.53 ; ดู “ศอฉ.ลั่นเสื้อแดงไม่มีสิทธิต่อรอง มีโรดแมปไม่ได้แปลว่าจะไม่สลายการชุมนุม,” ประชาไท, 6 พ.ค.53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – พธม. ประณามแผนปรองดองของรัฐบาลและไล่นายอภิสิทธิ์พ้นเก้าอี้นายก

ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเปิดตัวหนังสือ “หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และรายงานสถานการณ์ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปัจจุบัน รวมทั้งการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง “บทวิพากษ์ขบวนการล้มเจ้า ฉบับ ศอฉ.” (ดู “เสวนาวิพากษ์ขบวนการล้มเจ้า ฉบับ ศอฉ.- เปิดตัวหนังสือยุคล่าแม่มด,” ประชาไท, 7 พ.ค.53)

หมายเหตุ

 

7 พฤษภาคม 2553

นปช.

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ฟ้องนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด หมิ่นประมาท กล่าวหาว่าอยู่ในขบวนการล้มเจ้า

กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

กลางดึกวันที่ 7 พ.ค. ต่อเนื่องถึงรุ่งเช้าวันที่ 8 พ.ค. เกิดเหตุคนร้ายยิงปืนใส่ด่านเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งอยู่หน้า ธ.กรุงไทย สาขาย่อยอาคารซิลลิค ถ.สีลม และยิงระเบิดชนิดเอ็ม 79 เข้าใส่ด่านตรวจร่วมตำรวจ-ทหาร ใกล้สะพานลอยระหว่างสวนลุมพินีกับอาคารอื้อจื่อเหลียง ถ.พระราม 4 ส่งผลให้ ส.ต.ท.กานต์นุพัฒน์ เลิศจันทร์เพ็ญ และ จ.ส.ต. วิทยา พรมสำลี เสียชีวิต มีผู้บาดเจ็บ 6 ราย เป็นตำรวจ 5 นาย พลเรือน 1 ราย  (ดู “ชี้ปมบึ้มสวนลุมแค้นถูกตร.จับ จุฬาฯแฉโทรลึกลับป่วน,”คมชัดลึก, 9 พ.ค. 53 ; “เซ่น2ศพ!ยิงเอ็ม79ศาลาแดง,”ข่าวสด, 9 พ.ค. 53 ; “2 ตำรวจพลีชีพ เอ็ม 79 บึ้ม! สวนลุม 3 ลูกซ้อน กราดเอ็ม 16 ถล่มสีลม,” แนวหน้า, 9 พ.ค. 53 ; “ประณามแก๊งทมิฬฆ่า2ตร.ล้มปรองดอง,” ไทยรัฐ, 9 พ.ค. 53 ; “ศอฉ.ชี้ บึ้ม-ยิง สัญญาณเสี่ยงเหตุแทรกซ้อน,” มติชน, 9 พ.ค. 53)

หมายเหตุ

 

8 พฤษภาคม 2553

นปช.

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย –  กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 9 พ.ค.53

 

9 พฤษภาคม 2553

นปช.

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เกิดเหตุปาระเบิดชนิดทำเองใส่บ้านคนสนิทผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 บ้านติดริมน้ำปิง บ้านน้ำโทก ต.แม่สบข่า อ.หางดง จ.เชียง ใหม่

คนร้ายปาระเบิดหน้าบ้านนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ในซอยกรุงเทพฯ-นนทบุรี 43 แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กทม.

กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 10 พ.ค.53

 

10 พฤษภาคม 2553

นปช. – นปช. จัดพิธีไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 10 เม.ย. ครบรอบ 1 เดือน ที่แยกราชประสงค์

ตอนเย็น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ขึ้นอ่านมติที่ประชุมแกนนำบนเวทีปราศรัย ที่แยกราชประสงค์ เกี่ยวกับ “เรดแมป” ซึ่งเป็นเงื่อนไขยื่นให้นายกฯ พิจารณาก่อนยุติการชุมนุมว่า ที่ประชุมแกนนำมีมติอย่างเป็นทางการ 3 ข้อ ดังนี้

  1. นปช.แดงทั้งแผ่นดินตอบรับวันเลือกตั้งใหม่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 และช่วงวันที่ 15-30 กันยายน 2553 จะเป็นวันประกาศยุบสภาโดยไม่มีเงื่อนไข ประการต่อมาขอให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมอบตัวในคดีสั่งสลายการชุมนุมในวัน ที่ 10 เมษายน 2553 จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายเช่นเดียวกับแกนนำ นปช.ที่ต้องคดี นายอภิสิทธิ์ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง ตรงนี้ นปช.ไม่ติดใจ แต่นายสุเทพลาออกจาก ส.ส.ไปแล้ว ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ต้องเข้ามอบตัวกับตำรวจ ถ้าเข้ามอบตัววันไหน วันนั้นแกนนำ นปช.จะประกาศยุติการชุมนุมทันที และคนเสื้อแดงพร้อมกลับบ้านทันที
  2. ขอให้รัฐบาลคืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีเพิลแชนแนล (พีทีวี) ให้กลับมาออกอากาศได้ตามปกติเหมือนเดิม และพีทีวีพร้อมให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการกำกับดูแลสื่อเช่นเดียวกับกรณี ของเอเอสทีวี
  3. ขอให้รัฐบาลตัดสินใจยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน หากยังไม่ประกาศยกเลิก รัฐบาลจะยิ่งถูกกระแสสังคมกดดันมากขึ้น

“เรื่องนี้เป็น การแสดงความจริงใจของ นปช.ที่ต้องการนำพาบ้านเมืองไปสู่สันติ ไม่มีคนบาดเจ็บล้มตาย และพร้อมที่จะเสนอแผนปรองดองในส่วนของ นปช.ให้คณะกรรมการที่จะเสนอให้จัดตั้งในเร็วๆ นี้” นายณัฐวุฒิกล่าว

(ดู “นปช.กลับลำ เหวงจี้สุเทพลาออกอีก ไม่สนมอบตัวดีเอสไอยันต้องไปกองปราบฯ,” มติชนออนไลน์, 11 พ.ค. 53)

เวลาประมาณ 18.40 น. ที่เวทีแยกราชประสงค์ แกนนำ นปช. แถลงข่าวบนเวทีถึงท่าที่และการดำเนินการต่อไปของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อโรดแมพสร้างความปรองดองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

นายณัฐวุฒิ ในฐานะเลขาธิการ นปช.กล่าวว่า มติอย่างเป็นเอกฉันท์ นปช. ขอประกาศยอมรับการกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ย.2553 ตามที่นายอภิสิทธิ์เสนอ และยินดีตอบรับการยุบสภาระหว่างวันที่ 15-30 ก.ย. โดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีการบาดเจ็บล้มตายเกิดขึ้นอีก แต่ประเด็นการต่อสู้เรื่องระบบความยุติธรรมที่มี 2 มาตรฐานของ นปช.ทำให้ไม่อาจยอมรับความยุติธรรม 2 มาตรฐานของรัฐในทุกกรณี นั่นหมายความว่า การดำเนินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ ยืนยันว่าไม่ประสงค์การนิรโทษกรรมใดๆ และยินดีต่อสู้ตามสิทธิของประชาชนตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยรัฐบาลต้องปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมในมาตรฐานเดียวกัน

เมื่อแกนนำตอบรับการปรองดองแล้ว นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็ต้องเดินหน้าสู่กระบวนการยุติกรรมจากเหตุการณ์ 10 เม.ย. และทางแกนนำยินดีจะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในข้อหาก่อการร้าย แม้โทษสูงสุดจะถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งในส่วนนี้ทั้งนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ก็ต้องยินดีจะรับโทษสูงสุดโดยการประหารชีวิตเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ในฐาน ส.ส. เนื่องจากอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภา จึงมีเอกสิทธิคุ้มครองเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในส่วนนายสุเทพนั้นได้ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.แล้ว จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการออกหมายเรียกในฐานะผู้ต้องหาสั่งฆ่าประชาชน และเรียกร้องให้นายสุเทพเดินทางไปม็อบตัวตามหมายเรียกของเจ้าหน้าที่

เลขาธิการ นปช.กล่าวต่อมาว่า จากเหตุการณ์ในอดีต ทั้งเหตุการณ์เดือนตุลาฯ หรือพฤษภาฯทมิฬ ผู้มีอำนาจที่กระทำผิดนั้นไม่ได้รับโทษ มีการนิรโทษกรรม งดเว้นโทษให้ แต่กรณีวันที่ 10, 22, 28 เม.ย.จะต้องมีผู้มีอำนาจได้รับโทษตามกฎหมาย นี่ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีการดำเนินคดีกับผู้ที่สั่งการให้ฆ่าประชาชน เพื่อเป็นเครื่องเยียวยาให้กับวีรชนที่จากไปทุกชีวิต

 “หากนายสุเทพ เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อมอบตัวเมื่อไหร่ คนเสื้อแดงก็จะเดินทางกลับบ้านเมื่อนั้น หรือหากนายสุเทพ ทำตัวยิ่งใหญ่ปฏิเสธการมอบตัว เราก็จะไม่ยุติการชุมนุม แต่ถ้านายสุเทพมอบตัวในข้อหาสั่งฆ่าประชาชนเมื่อไรเราก็จะกลับบ้านวันนั้น และทางแกนนำที่โดนข้อหาต่างๆ ก็พร้อมจะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเช่นกัน” แกนนำ นปช.กล่าว

ต่อมานายณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังนายปณิธานระบุ นายสุเทพจะไปรับทราบข้อกล่าวหาต่อดีเอสไอ วันที่ 11 พ.ค.ว่า การอ้างว่าจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของนายสุเทพ ต่อดีเอสไอไม่มีความสง่างาม เพราะนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เป็น 1 ในกรรมการ ศอฉ.ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อน หากคดีนี้ดำเนินต่อไป นายธาริต ในฐานะ 1 ในกรรมการ ศอฉ.ก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย จึงขอเรียกร้องว่าขอให้ดำเนินการอย่างสง่างามมีมาตรฐานเท่ากัน เพราะคดีสั่งฆ่าประชาชนนี้มีการไปร้องเรียนที่ดีเอสไอและตำรวจหลายคดี แต่ก็ดองเรื่องเอาไว้ จนเมื่อ นปช. แถลงมติในเรื่องนี้ นายสุเทพกลับเอามาใช้เป็นเกมการเมืองเพื่อผลประโยชน์

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่าขอเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีคนไปแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ให้ลงมาทำคดีนี้ด้วยการออกหมายเรียกให้นายสุเทพมารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหา

เวลา 22.00 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ปราศรัยว่า กรณีนายสุเทพจะไปพบอธิบดีดีเอสไอวันที่ 11 พฤษภาคม ถือเป็นการหลอกต้มคนเสื้อแดงทั่วประเทศ เนื่องจากคดีสั่งฆ่าประชาชนนั้นยังไม่มีการรับเป็นคดีพิเศษ การไปของนายสุเทพจึงเป็นการไปนั่งกินกาแฟกับนายธาริตมากกว่า นายสุเทพต้องไปมอบตัวต่อตำรวจกองปราบปรามสถานเดียว (ดู “จวกสุเทพเล่นเกมการเมืองเข้าพบ DSI รับทราบข้อกล่าวหา หลังแกนนำแดงจี้มอบตัว ถึงเลิกชุมนุม,” ประชาไท, 11 พ.ค. 53, ; ดู “เสื้อแดงลั่นยุติชุมนุม วันสุเทพมอบตัวกับตร. ที่ไม่ใช่ดีเอสไอ,” ข่าวสดออนไลน์, 10 พ.ค. 53

รัฐบาล – ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงข่าวหลังการประชุมคณะพนักงานสอบสวน 13 หน่วยงาน เพื่อเร่งรัดคดีเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง

พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการเตรียมความพร้อมหากกลุ่ม นปช. ยุติการชุมนุม ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม และถ้าแกนนำนปช.เข้ามอบตัวจะต้องดำเนินการเช่นใดบ้าง เนื่องจากแต่ละคนมีคดีความแตกต่างกัน ทั้งคดีตามผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และความผิดตามคดีอาญาหลายข้อกล่าวหา ซึ่งบางคนต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 2 กรณี

นายธาริตกล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยนำญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุม 10 เม.ย. เข้าร้องเรียน พร้อมกล่าวโทษนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. รวมทั้งกรรมการ ศอฉ. ทุกคน เกี่ยวกับความไม่ชอบในการสั่งสลายการชุมนุมนั้น ยืนยันว่าจะมีดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา และเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน จะไม่มีการเก็บหรือดองเรื่อง แม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นผู้บริหารระดับสูง สำหรับคดีกล่าวโทษนายกฯ กับสถานีตำรวจต่างๆ นั้น สำนวนที่สอบปากคำผู้เสียหายเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจได้ส่งสำนวนคดีให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากเป็นความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 157 ส่วนคดีที่ยังค้างอยูที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามจะโอนมารวมที่ดีเอสไอทั้งหมด

เวลา 18.30 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุม ศอฉ. ว่ารองนายกรัฐมนตรีตัดสินใจที่จะไปพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดี(ดีเอสไอ) ในช่วงบ่ายของวันที่ 11 พ.ค. นี้ตามคำร้องทุกข์กล่าวโทษ ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องผ่านขั้นตอนทางรัฐสภาก่อน ทั้งนี้การตัดสินใจเป็นไปตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ นปช.จะแถลงเรียกร้องให้นายสุเทพเข้ามอบตัว

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า นายสุเทพได้โทรศัพท์แจ้งมายังตนว่า ในวันที่ 11 พ.ค. นี้ ในเวลา 8.30 น. จะเดินทางมาพบกับตน เพื่อรับทราบการร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีที่นายสุเทพ ในฐานะ ผอ.ศอฉ.มีการสั่งทหารให้มีการขอคืนพื้นที่บริเวณแยกคอกวัวจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้สืบเนื่องจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยและญาติผู้เสียชีวิตได้มาร้องทุกข์ กล่าวโทษที่ดีเอสไอเมื่อช่วงเข้าที่ผ่านมา เมื่อนายสุเทพรับทราบจึงต้องการเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมเรียกร้อง เพราะเชิ่อว่าการเข้ารับทราบการร้องทุกข์กล่าวโทษจะสามารถลดเงื่อนไขหนึ่งของนปช. และจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น (ดู “สุเทพรับฟังข้อกล่าวหาแลกม็อบลงพรุ่งนี้-ศอฉ.เตรียม6แห่งรับ,” กรุงเทพธุรกิจ, 10 พ.ค.53 ; ดู “จวกสุเทพเล่นเกมการเมืองเข้าพบ DSI รับทราบข้อกล่าวหา หลังแกนนำแดงจี้มอบตัว ถึงเลิกชุมนุม,” ประชาไท, 11 พ.ค.53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ตามที่ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 53 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. จำเลยที่ 2 และพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 157, 328 กรณีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เผยแพร่แผนผังเครือข่ายล้มเจ้า ซึ่งมีชื่อของนายสุธาชัยปรากฏอยู่

นอกจากนี้นายสุธาชัย ยังได้ยื่นฟ้องศาลแพ่งในข้อหาละเมิด ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,554.80 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอให้ศาลเปิดการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ศาลไต่สวนฉุกเฉินโดยไต่สวนโจทก์เพียงปากเดียวพร้อมพยานเอกสารอีก 5 ชิ้น และนัดฟังคำสั่งในวันจันทร์ที่ 10 พ.ค.

ล่าสุดบ่ายวันนี้ ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลแพ่งพิเคราะห์คำฟ้องว่า แม้หากจำเลยทั้งสามจะกระทำตามมูลเหตุที่โจทก์นำมาฟ้อง ก็เป็นการกระทำภายในขอบอำนาจที่ พ.ร.ก.ดังกล่าวบัญญัติให้อำนาจไว้ จึงไม่มีเหตุผลที่พวกจำเลยจะดำเนินการไปในฐานะส่วนตัวเพื่อกลั่นแกล้ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดเป็นการส่วนตัวได้ตาม พ.ร.บ. รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง พิพากษายกฟ้อง
(ย่อหน้าใหม่) ส่วนคดีที่นายสุทธาชัยยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พ.อ. สรรเสริญ เป็นจำเลยในคดีอาญา กรณีเดียวกันฐานหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 7 พ.ค. นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลว่าจะรับฟ้องคดีไว้หรือไม่ (ดู “ศาลยกฟ้องกรณีสุธาชัยฟ้องหมิ่นประมาทมาร์ค-สุเทพ-สรรเสริญทำผังโยงเครือข่ายล้มเจ้า,” ประชาไท, 10 พ.ค.53

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (กมม.) กล่าวว่า ทันทีที่แกนนำคนเสื้อแดงยื่น เงื่อนไขให้นายสุเทพไปมอบตัวข้อหาสั่งสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน หลัง นปช.แถลงเสร็จไม่ถึง 10 นาที โฆษกรัฐบาลก็ออกมาแถลงว่าพรุ่งนี้นายสุเทพจะไปดีเอสไอเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาทันที เป็นเรื่องตลกมากเพราะประชาชนยังไม่รู้เลยว่าดีเอสไอตั้งข้อหานายกฯ กับรองฯ สุเทพเรื่องสั่งสลายม็อบ 10 เมษา ตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่เคยมีข่าว แต่แกนนำ นปช.รู้อยู่ฝ่ายเดียว

“ผมว่านี่เป็นการจัดฉากร่วมกันระหว่าง แกนนำ นปช.กับรัฐบาล เป็นฉากสุดท้ายของละครน้ำเน่าเรื่องโรดแม็ป ซึ่งก็เป็นการยืนยันชัดเจนว่ามีการตกลงกันมาก่อนล่วงหน้าระหว่างแกนนำม็อบ กับรัฐบาล และเหตุที่ม็อบต้องยื้อมาหลายวันเพราะกลัวว่าจะไม่ได้ประกันตัว งานนี้รัฐบาลอาจจะยอมใช้นายสุเทพ เป็นเหยื่อเพื่อแลกกับการยุติการชุมนุมไปก่อนหลังจากนั้นค่อยว่ากันอีกที ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นเรื่องอันตรายเพราะปัญหาไม่จบและกลุ่มก่อการร้ายก็จะ ลอยนวลและให้ประชาชนไปตายเอาดาบหน้า” นายสุริยะใส กล่าว

(ดู “นปช.รับไม่ได้สุเทพจะมอบตัวดีเอสไอ,” คมชัดลึก, 10 พ.ค. 53)

 หมายเหตุ

11 พฤษภาคม 2553

นปช. – นพ. เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะที่ถ.ราชดำเนิน 10 เม.ย. ร้องทุกข์กล่าวโทษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ว่าทางแกนนำ นปช. จะไม่รับพิจารณา เนื่องจากดีเอสไอเป็นหน่วยงานหนึ่งในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)แต่ทางแกนนำจะรับพิจารณาก็ต่อเมื่อนายสุเทพเดินทางไปมอบตัวกับกองบังคับการ กองปราบปราม (ดู “นปช.กลับลำ เหวงจี้สุเทพลาออกอีก ไม่สนมอบตัวดีเอสไอยันต้องไปกองปราบฯ,” มติชนออนไลน์, 11 พ.ค.53)

รัฐบาล – เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ ร.11 รอ. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุม ศอฉ. ซึ่งที่ประชุม ศอฉ. ได้ประเมินท่าทีของกลุ่มคนเสื้อแดง หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศเสนอแนวทางออกของประเทศด้วยการประกาศการปรองดองแห่งชาติไปตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทาง ศอฉ.จะรอดูท่าทีของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) อีก 1 วันเท่านั้น หากยังไม่มีการยุติการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ทาง ศอฉ. ก็คงจะใช้มาตรการกดดันให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกนอกพื้นที่ให้เร็วที่สุด เนื่องจากสัปดาห์หน้าโรงเรียนในพื้นที่เขต กทม. จะเปิดภาคเรียนหมดแล้วจะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ นายสุเทพ ยังได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ศอฉ. ถึงกรณีที่ตนเดินทางไปพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า ไม่ได้เดินทางไปตามเงื่อนไขของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีการเรียกร้อง แต่เป็นไปตามนโยบายของ นายอภิสิทธิ์ ที่ต้องการให้ปัญหาความขัดแย้งจบลง และให้เกิดความสมานฉันท์ของบุคคลทั้งสองฝ่าย

มีรายงานด้วยว่า นายสุเทพ สั่งการให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จัดกำลังตำรวจดูแลแกนนำ นปช. 24 คน ที่จะเข้าไปมอบตัวที่กองปราบปรามในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) เนื่องจากเกรงว่า จะมีกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางไปให้กำลังใจกับแกนนำที่กองปราบปรามเป็นจำนวนมาก จะสร้างความวุ่นวาย

ที่ประชุมยังได้วิเคราะห์ถึงกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ขณะนี้แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงเสียงแตกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มฮาร์คอร์ นำโดยนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของนายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ทำให้เวลานี้แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงไม่สามารถตกลงกันได้ จึงพยายามเยื้อเวลาออกไปเพื่อต้องการชุมนุมต่อ (ดู “มาร์คลั่นจะปรองดองหรือไม่ ให้รีบตอบ-ห้ามต่อรอง จี้เสื้อแดงกลับบ้านพรุ่งนี้,” prachatai, 12 พ.ค.53

เวลา 20.10 น. ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ เเกนนำกลุ่ม นปช. ระบุไม่ยอมสลายการชุมนุมจนกว่านายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะมอบตัวในฐานะผู้ต้องหาว่า ขอเรียนย้ำว่าตั้งแต่ที่ตนประกาศแผนปรองดอง 5 ข้อมานั้น ได้พูดตั้งแต่ต้นว่าไม่มีเรื่องเจรจาต่อรองใดๆ หลายเรื่องที่ผู้ชุมนุมพูดมานั้นมันเป็นเรื่องที่มีคำตอบอยู่ในแผนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องที่แกนนำ นปช.พูดเรื่องเงื่อนไขที่ตนและนายสุเทพต้องไปมอบตัวนั้น มันไม่ใช่เรื่อง เพราะตนบอกแล้วว่าในเหตุการณ์ต่างๆ นั้นจะมีคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนเหตุการณ์ เช้าวันนี้กรณีที่นายสุเทพเดินทางไปกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น นายสุเทพไม่ได้ไปมอบตัว แต่นายสุเทพต้องการไปแสดงเจตนาว่ารัฐบาลพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม วันนี้แกนนำนปช.จะมาเรียกร้องให้นายสุเทพไปมอบตัวนั้นมันมอบตัวไม่ได้ เพราะไม่มีหมายเรียกและหมายจับใดๆ เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ตนคิดว่ามันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือหากผู้ชุมนุมอยากจะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง แต่จะบอกว่าตอบรับและเข้าสู่กระบวนการเงื่อนไขวันเลือกตั้ง14 พฤศจิกายนเท่านั้นไม่ได้ เพราะต้องยกเลิกการชุมนุม หากนำประเด็นเล็กประเด็นน้อยขึ้นมามันก็ไม่เลิกชุมนุม เพราะรัฐบาลไม่มีการต่อรอง รับก็รับ ไม่รับก็ไม่รับ และขอให้ตอบด้วยว่ารับหรือไม่รับ เวลานี้ประชาชนเดือดร้อนมากพอแล้ว ความอดทนของประชาชนกลุ่มอื่นๆ ก็ลดลงมาก ความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกพื้นที่ชุมนุมนั้นก็มีมากทุกวัน ไม่มีประโยชน์อะไรกับใครเลยที่จะมายื้อเวลาในลักษณะแบบนี้ ซึ่งตนคิดว่าหากไม่ตอบรับก็บอกมาเลยว่าไม่ตอบรับ

ตนถือว่าการไม่ยุติการชุมนุมถือว่าไม่ตอบรับ และวันนี้คณะรัฐมนตรีก็รับทราบสถานการณ์และทราบความจำเป็นของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องดำเนินมาตรการต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะผู้ชุมนุม แต่รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่และที่ทำงาน จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากประชาชนว่าอาจต้องได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และจำเป็นที่ต้องเตือนทุกฝ่ายว่า สิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำเพื่อคืนความเป็นปกติให้สังคมนั้นต้องทำอย่างเร่งด่วน

 “เพราะฉะนั้นอยากให้ผู้ชุมนุมแสดงออกเลยพรุ่งนี้ แล้วก็กลับบ้านเลย เรื่องอื่นๆ พูดกันทีหลังหากมีความจริงใจกับการปรองดอง เพราะแผนการปรองดองนั้น ผมเดินหน้าทุกเรื่อง วันนี้ ครม.อนุมัติ เรื่องการจัดทำสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่มีการอนุมัติงบประมาณโดยให้สำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในนามมูลนิธิเข้าไปอำนวยการ ส่วนแผนเรื่องสื่อนั้น ผมจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนแผนการเมืองนั้นผมจะขอให้สถาบันพระปกเกล้าเข้ามามีบทบาท ทุกเรื่องเดินไปข้างหน้าทั้งสิ้น ฉะนั้นยุติการชุมนุมเสีย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

(ดู “นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐมีความชอบธรรมที่จะขอคืนพื้นที่ให้เข้าสู่ภาวะปกติ,” ข่าวทำเนียบ, 11 พ.ค. 53

ศอฉ. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระงับการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งในวันเดียวกันศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระงับการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด ในบางห้วงเวลา คราวละไม่เกิน 6 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 13-19 พ.ค.53 อ้างจาก คำสั่งศาลอาญา คำร้องที่ 2/2553 เรื่องสั่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระงับการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ คราวละไม่เกิน 6 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553, ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2553

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 ใส่ธนาคารกรุงเทพ สาขารัชดา-ลาดพร้าว และวางระเบิดที่บ้านนายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. แต่ระเบิดไม่ทำงาน

หมายเหตุ

 

12 พฤษภาคม 2553

นปช. – เมื่อเวลา 10.00 น. นายคารม พลพรกลาง ทนายความกลุ่ม นปช. พร้อมคณะ เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ รอง ผบก.น.1 (ฝ่ายสอบสวน) และพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เพื่อสอบถามกรณีหมายจับแกนนำ นปช. ที่ถูกออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคดีอาญา

ต่อมานายคารมเปิดเผยว่า วันนี้ได้รับการประสานจาก พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. เรื่องเข้ามอบตัว โดยอยากให้แกนนำทุกคนเข้ามอบตัว ซึ่งหากจะมีการเข้ามอบตัวจริงๆ น่าจะเป็นที่กองปราบ เพราะการเข้ามอบตัวเป็นไปตามหมาย ฉ.หรือตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งนอกจากนี้ ก็มีหมายเรื่องข้อหาก่อการร้าย ของดีเอสไอ ข้อหาล้มเจ้า ก็อยู่ในอำนาจสอบสวนของดีเอสไอ ซึ่งมีการแจ้งไปแล้ว แต่การสอบสวนพยานหลักฐานคดีล้มเจ้ายังไม่ชัดเจน

ประเด็นของพวกตนคือ แกนนำอยากมอบตัว หากชัดเจนในเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะสามารถควบคุมตัวได้ 7 วันตามมาตรา 12 จะทำอย่างไร ซึ่งที่จริงดีเอสไอ ซึ่งเป็น 1 ในกรรมการของ ศอฉ. ต้องชัดเจน ว่าหากมอบตัวแล้ว จะมีการขอเพิกถอนหมายตรงนี้ได้หรือไม่ เพราะจะเป็นการปรองดอง เพราะหากมอบตัวก็ประกันตัวไม่ได้ เพราะไม่ใช่อำนาจศาล แต่เป็นอำนาจของศอฉ.

ทนายคารมกล่าวอีกว่า เมื่อสักครู่ที่ผ่านมาได้หารือกับทางนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าหากแกนนำทุกคนไปมอบตัวในทุกข้อหาที่ไม่ใช่ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งกองปราบเป็นคนขอก็ต้องไปฝากขังที่ศาล ซึ่งพวกเราไม่ได้ห่วงอำนาจศาล แต่หากรัฐบาลต้องการปรองดองจริงๆ ก็ให้เพิกถอนและไปจบที่กองปราบเลยจะดีที่สุด ซึ่งหลังจากนี้จะไปเรียกแกนนำทุกคน ซึ่งประเด็นวันนี้คือมีหลายข้อหา โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มี 37 คน รวมแกนนำด้วย หากมอบตัวการควบคุมตัวไม่ใช่เรือนจำ ไม่ใช่ศาล เพราะเหตุหมดแล้ว ขณะนี้เราไม่กังวลเพราะคดีล้มเจ้าการสอบสวนยังไม่ไปถึงไหน แต่ข้อหาก่อการร้าย เป็นหนึ่งในคดีพิเศษ หากเรื่องนี้จบ ไม่ต้องไปที่ศาลก็รับได้ ส่วนจะมอบตัววันไหน เบื้องต้นก็ยังเป็นกำหนดเดิมคือ วันที่ 15 พฤษภาคม แต่ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน เพราะหากมีการมอบตัว แต่ไม่ได้รับการปล่อยตัวก็คิดว่าแกนนำคงไม่เข้ามอบ เพราะกังวลเรื่องนั้น และมีผลกระทบว่าคนที่ชุมนุมที่ราชประสงค์จะทำอย่างไร วันนี้หากไม่มีเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เข้ามอบตัวเลย ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีบางคนชิงเข้ามอบตัวก่อนนั้นก็ยังไม่มี หากมีการมอบตัวก็น่าจะพร้อมกัน โดยน่าจะไปที่กองปราบ โดยดีเอสไอก็มาที่กองปราบได้ ทั้งในส่วนคดีก่อการร้าย และล้มเจ้า ส่วนประเด็นนายสุเทพก็เป็นอีกเรื่อง

เมื่อ เวลา 12.39 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แถลงถึงกรณีที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ประกาศมาตรการกดดัน ด้วยการตัดระบบสาธารณูปโภคว่า เราขอประกาศท่าทีสุดท้ายอย่างชัดเจนว่า เราตอบรับวันเลือกตั้ง 14 พ.ย.และวันยุบสภาไปแล้ว มาตรการที่ได้มีการนำเสนอมานั้นเราก็ได้ตอบรับไปแล้ว แต่ติดค้างเรื่องเดียวคือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่งคง ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอน ถ้ามีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องเมื่อไหร่เราก็ประกาศยุติการชุมนุมทันที แต่ถ้านายสุเทพยังเล่นแง่ศรีธนญชัยเช่นนี้ ใช้อำนาจเล่นละครตบตาประชาชนแบบนี้เรารับไม่ได้ ยืนยันว่าถ้ารัฐบาลเลือกปกป้องนายสุเทพคนเดียวด้วยการจัดกำลังทหาร และตำรวจก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าเลือกอะไรระหว่างนายสุเทพกับ ความปลอดภัยของประชาชนจำนวนมาก เราตัดสินใจแล้วว่าเราจะปักหลักสู้อยู่ที่นี่จนกว่าจะได้รับความยุติธรรม ถ้าหากเราจะลงจากเวทีการต่อสู้โดยไม่อาจอธิบายกับคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตไป กว่า 21 ชีวิตได้ว่าจะทวงถามความยุติธรรมอย่างไรเราก็จะอยู่ที่นี่ เป็นไงเป็นกัน เรายินดีที่จะเอาอิสรภาพของเราเป็นเดิมพันเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป เราจะรอพวกท่านอยู่ที่นี่ด้วยมือเปล่าๆ สันติวิธี นี่เป็นท่าทีสุดท้าย เราจะไม่แสดงท่าทีนี้อีก

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุว่า การเรียกร้องให้นายสุเทพไปมอบตัวต่อกองปราบนั้นไม่มีความหมายอะไร เพราะนายสุเทพเป็นประธานก.ตร. คิดว่าการไปรายงานตัวที่ดีเอสไอของนายสุเทพน่าจะพอแล้ว แต่เราขอบอกว่าแตกต่างกันเพราะคดีนี้เป็นคดีอาญา มีอายุความ เมื่อนายสุเทพมอบตัวอายุความก็จะเดินหน้าทันที ถ้านายสุเทพจะดำเนินการอะไรก็ทำได้ในระยะเวลา 4 เดือนนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีประกาศระยะเวลาการยุบสภาไปแล้วในเดือน ก.ย. ดังนั้นการไปดีเอสไอที่ผ่านมาของนายสุเทพจึงไปในฐานะผู้บังคับบัญชา ไม่ใช่ผู้ต้องหา (ดู “ศอฉ. แถลงตัดน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์ราชประสงค์เที่ยงคืนนี้ นปช.ลั่นให้รัฐเลือกสุเทพหรือประชาชน,” ประชาไท, 12 พ.ค. 53)

ทางด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทยหารือกันและมีมติว่า นปช.ควรสลายการชุมนุมเพื่อกลับมาตั้งหลักรอดูเหตุการณ์ก่อน ขณะที่ภายในกลุ่มแกนนำ นปช. ก็มีความความขัดแย้งทางความคิดออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่อยากให้ยุติการชุมนุมกับฝ่ายที่อยากให้ชุมนุมต่อ โดยนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. ได้หายตัวไปจากเวทีชุมนุม

รัฐบาล – เมื่อเวลา 10.30 น. ณ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ. แถลงภายหลังการประชุม ศอฉ. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นประธานการประชุมว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาที่กลุ่มผู้ชุมนุมนปช. ได้เริ่มชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ศอฉ. ได้ปฏิบัติงานควบคู่กับรัฐบาลมาโดยตลอด พยายามทุกวิถีทางที่จะนำความสงบกลับมาสู่บ้านเมืองด้วยวิธีการในลักษณะของ การไม่ใช้กำลังเกินความจำเป็น มีการขอคืนพื้นที่บางส่วน มีการบังคับใช้กฎหมายโดยใช้มาตรการจากขั้นเบาไปหาหนัก และได้มีการชี้แจงกับกลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนทราบอยู่ตลอดเวลาว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย รัฐธรรมนูญไม่คุ้มครอง เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนโดยทั่วไป ทำให้เจ้าหน้าที่ส่วนราชการต่างๆ ปฏิบัติภารกิจด้วยความยากลำบาก มีการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อยู่ตลอด และที่สำคัญคือมีกลุ่มก่อการร้าย มีกองกำลังติดอาวุธแฝงตัวปะปนอยู่ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งพื้นที่การชุมนุมที่ราชประสงค์ขณะนี้เป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย โดยศอฉ.ได้พยายามชี้แจงประชาชนมาโดยตลอด

จวบจนกระทั่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศแผนปรองดองมีข้อความสำคัญ 5 ประการ ที่ในชั้นต้นเข้าใจว่าน่าจะได้รับการตอบรับจากแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งถือว่ามีสัญญาณที่ดีในระยะแรก ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกสบายใจขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ในที่สุดวันนี้สังคมได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้พยายามตั้งเงื่อนไขรายวัน บิดพลิ้วเรื่องต่างๆ เพียงเพื่อที่จะประวิงเวลาออกไป แม้ว่าส่วนต่างๆ ของศอฉ. หรือแม้กระทั่งรองนายกฯ สุเทพได้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแล้วก็ตาม และในวันนี้ก็มีความชัดเจนมากขึ้นว่าแกนนำของกลุ่มนปช. ได้ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับการดำเนินการใด ๆ

ดังนั้น ในขั้นตอนต่อไป ช่วงเช้าที่ผ่านมาศอฉ. ได้มีการประชุมสรุปว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการกดดันพื้นที่การชุมนุมอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มต้นตั้งแต่วิธีการที่ไม่ใช้กำลังก่อน ด้วยการกำหนดตัดน้ำไฟ สาธารณูปโภค โทรศัพท์ การเดินทางในลักษณะของการใช้การบริการสาธารณะ รถเมล์ รถไฟฟ้า เส้นทางน้ำในคลองแสนแสบ ในบริเวณพื้นที่ชุมนุมทั้งหมด จะมีการปิดเส้นทางเข้า – ออก เส้นทางการส่งกำลังบำรุงให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งอาศัยอยู่ภายในบริเวณพื้นที่การชุมนุม หรือบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงอาจจะต้องได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่ตั้งด่านอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่การชุมนุม จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับท่านในการที่จะผ่านเข้า – ออก อาจจะต้องมีการทำเอกสารเป็นรายบุคคล โดยมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวจะเริ่มเร็วที่สุดตั้งแต่เที่ยงคืนวันนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะได้มีการเชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการที่กำหนดมาหารือในรายละเอียดข้อปฏิบัติในวันนี้ (ดู “ศอฉ. แถลงตัดน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์ราชประสงค์เที่ยงคืนนี้ นปช.ลั่นให้รัฐเลือกสุเทพหรือประชาชน,” ประชาไท, 12 พ.ค. 53)

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ให้สัมภาษณ์ว่านายอภิสิทธิ์ได้ขอยกเลิกแนวทางปรองดองที่กำหนดวันยุบสภาในช่วง 15-30 กันยายน และวันเลือกตั้งใหม่ 14 พฤศจิกายน 53 แล้วเนื่องจาก นปช. ไม่ยอมสลายการชุมนุม

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (www.khaosod.co.th 13 พ.ค.53)

หมายเหตุ

 

13 พฤษภาคม 2553
นปช. – หลังเลยกำหนดเส้นตายของ ศอฉ. เสธ.แดง และชาติชาย ชาเหลา ถูกยิงเสียชีวิตในคืนนั้น

รัฐบาล – นายกรัฐมนตรีล้มข้อเสนอเลือกตั้งเดือน พฤศจิกายนเพราะแกนนำ นปช. ไม่มีความจริงใจในกระบวนการปรองดอง และใช้ข้อเรียกร้องใหม่ที่ไม่เป็นเหตุผลเพื่อการชุมนุมต่อไป อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะยังคงดำเนินการตามแผนปรองดองแห่งชาติต่อไป

ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ 11 จังหวัด เพื่อป้องกันผู้มาร่วมชุมนุมในกรุงเทพมหานคร (ตามด้วยการประกาศครั้งที่สอง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครอบคลุม 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม อยุธยา ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง นครสวรรค์ น่าน ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา และศรีสะเกษ)

ในเวลา 18.00 น. ศอฉ. เพิ่มมาตรการความปลอดภัยโดยปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ ตั้งด่านตรวจโดยรอบจากแยกราชเทวีตามถนนเพชรบุรีไปถึงทางเชื่อมกับทางด่วน เพชรบุรี ตามถนนวิทยุถึงสี่แยกระหว่างถนนวิทยุและพระรามสี่ ตามถนนพระรามสี่ถึงแยกสามย่าน และตามถนนพญาไทถึงแยกราชเทวี การบริการสาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน และเรือข้ามฟากภายในบริเวณดังกล่าวถูกระงับ และตามด้วยการระงับด้านสาธารณูปโภค

เวลา 11.30 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษก ศอฉ. แถลงภายหลังการประชุม ศอฉ. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นประธานการประชุมว่า ในช่วงระยะเวลา 2-3 วันที่ผ่านมา ทางศอฉ. ได้ดำเนินการตั้งด่านตรวจตราอาวุธควบคุมการผ่านเข้าออกในพื้นที่ของบุคคลต้องสงสัย โดยขณะนี้ได้มีแนวทางการปฏิบัติเปลี่ยนไปโดยเป็นการกำหนดมาตรการในการปิดล้อมสกัดกั้นพื้นที่แยกราชประสงค์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันนี้ ส่วนพื้นที่ที่จะเกิดผลกระทบนั้น จะเริ่มทางด้านเหนือ โดยเริ่มตั้งแต่แยกราชเทวีไปตามถนนเพชรบุรี จนกระทั่งถึงแยกขึ้นทางด่วนเพชรบุรี ลงมาทางทิศใต้ตั้งแต่แยกขึ้นทางด่วนเพชรบุรีตามถนนวิทยุลงมา จนกระทั่งสี่แยกถนนวิทยุ เรื่อยมาตามถนนพระราม 4 จนไปถึงสี่แยกสามย่าน แล้วขึ้นไปทางเหนือบรรจบกับจุดเริ่มต้นตามถนนพญาไท จนกระทั่งถึงแยกราชเทวี ซึ่งจะเป็นลักษณะของกรอบสี่เหลี่ยม

ดังนั้น กรอบสี่เหลี่ยมนี้จะเริ่มตั้งแต่ถนนพญาไท ถนนเพชรบุรี และถนนวิทยุก็จะมีการปิดการจราจรด้วย ยกเว้นถนนทางด้านทิศใต้ที่เป็นขอบทางด้านใต้คือ ถนนพระราม 4 จะไม่ปิดการจราจร ซึ่งจะเป็นลักษณะสี่เหลี่ยม อีกทั้ง การปิดการจราจรริมขอบของพื้นที่ทั้งสามด้าน และพื้นที่ที่อยู่ในขอบสี่เหลี่ยมทั้งหมดจะปิดการจราจรทุกชนิด 100% อาทิ รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า BTS เรือตามคลองแสนแสบ รถไฟฟ้าใต้ดิน สำหรับพี่น้องประชาชนและกลุ่มผู้ชุมนุมสามารถออกนอกพื้นที่ได้ แต่ไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ยกเว้นผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่มีสถานที่ทำงานอยู่ในบริเวณนั้นจะได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้าออกได้ โดยบุคคลที่มีที่พักอาศัยและทำงานในย่านดังกล่าวต้องเตรียมเอกสารหลักฐานที่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า ท่านอาศัยอยู่ในบริเวณเหล่านั้น ประกอบด้วย สำเนาทำเบียนบ้าน หรือบัตรประจำตัวพนักงาน ว่าทำงานอยู่ที่บริษัทไหน ตึก อาคารไหน ไปแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ประจำด่านตามจุดต่างๆ ที่มีอยู่ทุกเส้นทางที่จะผ่านเข้าไปในพื้นที่สี่เหลี่ยม ไม่ว่าจะเป็นด่านใหญ่ ตรอกซอกซอยทั้งหลาย โดยเจ้าหน้าที่ประจำด่านจะมีเอกสารที่เป็นสติกเกอร์มอบให้โดยเป็นบัตรแสดงตน ในการผ่านเข้าออกให้กับผู้ที่อยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่เหล่านั้นได้อย่าง เดียว ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถผ่านออกได้อย่างเดียว ไม่สามารถผ่านเข้าได้

โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ในพื้นที่ที่มีการสกัดกั้นสมบูรณ์ 100% ที่ว่านี้ การบริการสาธารณะทุกชนิดทั้งไฟฟ้า ประปา การจราจร รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน รถประจำทาง และเรือโดยสารจะมีการระงับตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป โดยไม่ได้หมายความว่าทุกกรณีระงับตั้งแต่ 18.00 น. แต่ว่าส่วนใดที่สามารถดำเนินการได้ก็จะดำเนินการภายใน 18.00 น. ส่วนใดที่ยังไม่พร้อมก็จะต้องเตรียมการให้พร้อมแล้วก็จะดำเนินการทันทีที่ สามารถดำเนินการได้ ซึ่ง ศอฉ. ต้องการให้มาตรการการบริการสาธารณะทุกชนิดนั้น จะส่งผลกระทบและกดดันต่อกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้ยุติการชุมนุมแล้วออกจากพื้นที่โดยเร็ว และไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่พักอยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่เหล่านั้น

และในวันนี้พรุ่งนี้ทาง ศอฉ. ได้ข้อความร่วมมือผู้ประกอบการ อาทิ บริษัท ห้างร้าน เอกชน ทั้งหลายที่ประกอบการอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยม ให้ปิดกิจการชั่วคราวและอนุญาตให้พนักงาน ลูกจ้างทั้งหลายหยุดงานในช่วงตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 53 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

สำหรับการปฏิบัติเรื่องการกระชับวงล้อมของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจมีความจำเป็นที่จะต้องกระชับวงล้อมเข้ามา โดยอาศัยรถเกราะหรือรถสายพานลำเลียงคน ซึ่งมีความจำเป็นในการใช้รถดังกล่าว โดยขอให้มองถึงวัตถุประสงค์ของเจ้าหน้าที่ในการใช้งาน อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ไม่ได้ต้องการนำอาวุธที่ร้ายแรงมาใช้ต่อพี่น้องประชาชน แต่ว่ารถเกราะ รถสายพานลำเลียงคนที่ว่านั้น มีเกราะในการที่จะป้องกันอันตรายจากอาวุธยิงต่าง ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติภารกิจ ในขณะเดียวกัน เป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย ซึ่ง ศอฉ. มั่นใจว่า ภายในพื้นที่การชุมนุมนั้นได้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายและมีอาวุธสงครามอยู่ เมื่อเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจใช้รถเกราะ แล้วมีการยิงอาวุธกระสุนสงครามเข้ามา ก็ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตอบโต้ด้วยอาวุธกลับไปเกินความจำเป็น โดยเป็นวัตถุประสงค์ของการใช้รถเกราะ

โฆษก ศอฉ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระชับวงล้อมในวันนี้อาจจะมีความเป็นไปได้ ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายภายในพื้นที่ชุมนุมจะเคลื่อนที่เข้าปะทะเจ้าหน้าที่ ฉะนั้นสิ่งที่ได้เคยชี้แจงให้ทราบว่า เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลักสากล ตามมาตรการจากเบาไปหาหนักทั้ง 7 ขั้นตอน และมีการใช้อาวุธกระสุนจริงด้วย เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมได้พยายามเคลื่อนที่เข้ามายังเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการ ตามขั้นตอนและขอให้หยุด หากไม่หยุดทางเจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กระสุนยาง ซึ่งยิงจากปืนลูกซอง

ดังนั้น ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมยังเข้ามาอีกทางเจ้าหน้าที่คงไม่สามารถที่จะปล่อยให้เกิด เหตุการณ์อย่างที่ผ่านมาได้ ที่มีการเข้ามาบุกยึดอาวุธของเจ้าหน้าที่และยึดยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ จึงทำให้เกิดเหตุร้ายได้ แต่การยิงนั้นประชาชนสามารถที่จะพิสูจน์จากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ต้องการที่จะมุ่งทำร้ายเอาชีวิตของพี่น้องประชาชน เพราะลักษณะท่าทางการยิง การควบคุมกรวยกระสุนสามารถแสดงออกได้อย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ต้องการที่จะทำร้ายประชาชนถึงชีวิต เพียงแต่ต้องการที่จะหยุดยั้งการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายและการพยายามเข้าถึงตัว เจ้าหน้าที่ของท่านให้ได้ อาวุธปืนที่มีอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นปืนทาโวร์ ปืน M 16 จะมีใช้ใน 3 กรณีเท่านั้น คือ กรณีที่ 1 การยิงข่มขวัญขึ้นฟ้า กรณีที่ 2 มีการยิงเพื่อป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่จะถุกทำร้ายหมายปองเอาชีวิตและ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้ กรณีที่ 3 การยิงไปยังบุคคลที่มีอาวุธอยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นปืนอาวุธสงคราม ปืนเล็กยาว ปืนสั้น ลูกระเบิด ซึ่งเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนและแน่นอน ก็จะมีการใช้อาวุธเหล่านี้ยิงไปยังบุคคลเหล่านั้นได้ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ติดอาวุธ พร้อมที่จะสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนและสามารถที่จะทำร้ายเจ้า หน้าที่ได้

และอีกส่วนหนึ่งที่เราเรียกว่า คนแม่นปืนระวังป้องกัน ซึ่งเป็นอาวุธในลักษณะปืนเล็กยาวในแบบเดียวกันที่จะยิงผู้ที่เป็นผู้ก่อการ ร้าย โดยมีอาวุธปืน ลูกระเบิด และอาวุธสงครามอยู่ในมือที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ และจะไม่มีอาวุธหนักอย่างอื่นนอกเหนือไปจากนี้ จะไม่มีการใช้ลูกระเบิดขว้าง จะไม่มีการใช้เครื่องยิง M 79 เพื่อที่แสดงความบริสุทธิ์ใจของเจ้าหน้าที่อย่างแท้จริง ในส่วนกรณีทั้งหมดที่ได้แจ้งให้ทราบนั้น เป็นกรณีที่กระชับวงล้อมเข้าไปแล้วมีความพยายามของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหลาย ที่จะเข้าปะทะกับแนวด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้หมายถึงการที่จะเข้าไปขอพื้นที่คืน ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตที่ตนขอไม่พูดถึง โดยในวันนี้เป็นแค่การกดดันพื้นที่สี่เหลี่ยมตามแนวเส้นขอบที่แจ้งให้ทราบ ไว้เท่านั้น (ดู “ศอฉ.เพิ่มมาตรการสกัดพื้นที่สี่เหลี่ยมเพื่อป้องกันกลุ่มผู้ก่อการร้ายก่อเหตุ,” ข่าวทำเนียบ, 13 พ.ค.53 ; “สรรเสริญลั่น 6 โมงเย็นตัดน้ำตัดไฟเสื้อแดง ตั้งด่านสกัด 100% ใช้อาวุธจริง รถหุ้มเกราะ,” ประชาไท, 13พ.ค. 53 ; ดูคลิป 20100513_ศอฉ.สั่งปิดล้อม_รปส.18 น.)

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ตกลงการเลือกตั้งยังเป็นวันที่ 14 พฤศจิกายนเหมือน เดิมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ ขณะนี้ถือว่า เขาไม่มีคำตอบ ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปคือวันที่ 14 พฤศจิกายนจะยกเลิกไม่มีการเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ใช่ ครับ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วจะเลื่อนไปวันไหน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ต้องดูสถานการณ์จากวันนี้ไป ซึ่งเรียนแล้วว่าการตอบรับแผนปรองดองนั้น ต้องตอบรับเป็นรูปธรรม คือการยุติการชุมนุม เมื่อเขาไม่ยุติการชุมนุม ผมก็เดินหน้าแผนปรองดอง 5 ข้อ แต่เรื่องการเลือกตั้งก็เป็นดุลพินิจของผมแล้ว ไม่ใช่เรื่องต้องไปกำหนดว่าเป็นวันที่ 14 พฤศจิกายน เพราะเขาไม่ตอบรับ ทำให้บ้านเมืองขณะนี้เหตุการณ์ไม่สงบ และมีความยืดเยื้อต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนการทำงานของรัฐบาลในขณะนี้ โจทก์ที่ให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และฝ่ายความมั่นคง ก็ชัดเจนว่าต้องการคืนความเป็นปกติกลับมาให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็มีการดำเนินการอยู่  (ดู “นายกรัฐมนตรีย้ำแกนนำ นปช.ไม่ตอบรับแผนปรองดอง,” ข่าวทำเนียบ, 13 พ.คง 53 ; ดู “อภิสิทธิ์ลั่นไม่มีเลือกตั้ง 14 พ.ย. จะมีเมื่อไหร่ อยู่ที่ผมจะพิจารณา,” ประชาไท, 13 พ.ค. 53)

ในวันเดียวกันนั้น คณะรัฐมนตรีได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 2 ให้พื้นที่เขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดน่าน จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ในเขตประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 2  (ดู “ศอฉ.ประกาศให้ 17 จังหวัดเป็นพื้นที่ในเขตสถานการณ์ฉุกเฉิน,” ประชาไท, 14 พ.ค. 53)

นอกจากนี้ ศอฉ.ได้ยื่นคำร้องถึงศาลอาญา และศาลมีคำสั่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตัดสัญญาโทรศัพท์ บริเวณพื้นที่ชุมนุมแยกราชประสงค์และบริเวณโดยรอบ เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น.เศษ โดยให้ตัดสัญญาณคราวละไม่เกิน 6 ชั่วโมง จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ศอฉ.ยังประกาศคำสั่งให้การประปานครหลวง ระงับการให้บริการในพื้นที่ แยกศาลาแดง ตั้งแต่แยกราชประสงค์, ถ.พระราม 1 ตั้งแต่แยกเฉลิมเผ่า แยกอังรีดูนัง ถ.ราชดำริ ถ.เพลินจิต และ ถ.วิทยุ เริ่มเวลา 21.00 น.

นอกจากนี้ ให้ตัดกระแสไฟฟ้าโดยรอบพื้นที่แยกราชประสงค์ ได้แก่ ชั้นล่างอาคารจอดรถห้างเซ็นทรัลเวิลด์, โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ, อัมรินทร์พลาซ่า, ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6, ไฟส่องสว่างที่แยกเพลินจิตถึงแยกราชประสงค์, ไฟส่องสว่างตั้งแต่แยกศาลาแดงถึงแยกประตูน้ำ, ไฟส่องสว่างตั้งแต่แยกพระราม 1 ถึงแยกประตูน้ำ และโดยรอบพื้นที่ราชประสงค์

อีกทั้ง ห้ามใช้เส้นทางการจราจรโดยรอบแยกราชประสงค์ ยกเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเท่านั้น ประกอบด้วย ก. ถนนเพชรบุรี ตั้งแต่แยกทางด่วนเพชรบุรี ถึงแยกราชเทวี, ข. ถนนพญาไท ตั้งแต่แยกราชเทวี ถึงสามย่าน ค.ถนนวิทยุ ตั้งแต่แยกวิทยุถึงทางด่วนเพชรบุรี ง.ถนนในพื้นที่ ก.-ค. จนถึงแนวถนนพระราม 4 จ.ถนนราชปรารภ ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำจนถึงแยกมักกะสัน ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  (ดู “ศอฉ.อ้างศาลตัดมือถือ-น้ำ-ไฟ ห้ามใช้ทาง ฝ่าฝืนจำคุก,” prachatai, 14 พ.ค. 53)

ต่อมา พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงว่า ที่ประชุม ศอฉ.ในเย็นนี้ มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ได้มีการประชุมหารือถึงมาตรการในการดำเนินกลับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ราช ประสงค์ ซึ่งจะมีการชี้แจงเพิ่มเติมใน 4 ประเด็นได้แก่ คือ

  1. การดำเนินการกดดัน โดยเจ้าหน้าที่ทหารจะดำเนินการโอบล้อมในพื้นที่เพิ่มเติม จากเดิมตั้งแต่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี ถนนมิตรสัมพันธ์ ถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 แยกสามย่าน พญาไท โดยถนนเส้นพระราม 4 จะไม่มีการปิดการจราจร แต่จะมีการปิดถนนเพิ่มเติมคือ ถนนพระราม 1 จนถึงปทุมวัน และถนนราชปรารภถึงมักกะสัน
  2. ศอฉ. ขอชี้แจง ข่าวที่คลาดเคลื่อนที่แกนนำนปช. ได้ขึ้นเวทีระบุว่า ในคืนวันที่ 12 พ.ค. เชื่อมต่อไปยังคืนวันที่ 13 พ.ค. มีเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายสมาชิกนปช.ที่ศาลาแดง ตรงข้ามห้างโรบินสัน ซึ่ง นปช.คนดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่า นปช.คนดังกล่าว ชื่อนายวีระศักดิ์ สังข์ทอง มีอาการมึนเมาสุรา เดินข้ามมาซื้อของที่ฝั่งสีลม และกระทบกระทั่งกับชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ก็ได้เข้าไปช่วยห้ามปราม และส่งนายวีระศักดิ์ ส่งตัวไปยังสถานีตำรวจ เพื่อดำเนินคดี โดยสาเหตุที่ ศอฉ.ต้องออกมาชี้แจง เนื่องจาก หลัง 18.00 น.ของวันนี้ ศอฉ.จะส่งกำลังเข้าพื้นที่ ทำให้ แกนนำนปช.บิดเบือนข้อเท็จจริงว่า ทหารที่ดูแลความปลอดภัยที่บริเวณราชประสงค์ และสีลม ใช้อำนาจเกินกว่าที่จำเป็น
  3. ศอฉ.เตรียมเสนอรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพิ่มเติม 15 จังหวัด ในจังหวัดภาคกลางได้แก่ ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี อยุธยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ ภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง นครสรรค์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ป้องกันการเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาสมทบกับผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์
  4. แต่งตั้งให้แม่ทัพภาคที่ 3 ทำงานควบคู่กับ ผู้ว่าราชการจังหวัดใน 15 จังหวัดดังกล่าว เพื่อควบคุมรักษาความสงบในพื้นที่ นอกจากนี้ยังกำหนดพื้นที่เขตห้ามบิน เครื่องบิน เครื่องร่อนทุกชนิด มีศูนย์กลางที่แยกราชประสงค์ มีความสูง 6,000 ฟุต รัศมี 3.6 กิโลเมตร โดยทิศเหนือจรด ททบ.5 , ทิศใต้จรดสีลม , ทิศตะวันออก จรดแยกอโศก ทิศตะวันตก จรดแม่น้ำเจ้าพระยา

(ดู “ศอฉ.เล็งเสนอพื้นที่ฉุกเฉินเพิ่ม 15 จังหวัด,” prachatai, 13 พ.ค. 53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย  –

หมายเหตุ

 

14 พฤษภาคม 2553

นปช. – มีการเผชิญหน้าและปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับทหารหลายระลอกในพื้นที่รอบราชประสงค์เมื่อกำลังทหารรุกคืบกระชับวงล้อมกดดัน

รัฐบาล – นายสุเทพ ในฐานะ ผอ. ศอฉ. ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ขอให้ระงับระงับสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. เวลา 22.00 น. ถึงวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลา 4.00 น.

ศอฉ. ออกประกาศ เรื่อง ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ฉบับที่ 2 ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะใดๆ เข้าหรือออกในเส้นทาง ถนนพระราม 4 ตั้งแต่สี่แยกสามย่าน ถึง แยกปากซอยงามดูพลี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2553 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

(ดู ประกาศ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่อง ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ฉบับที่ 2)

เวลา 20.30 น. ศอฉ.แถลงข่าวโดยมี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ดร.ปณิธาน วัฒนายากร และ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นผู้แถลง โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงระบุว่า การชุมนุมของผู้ชุมนุมนั้นดำเนินมากว่า 2 เดือนและเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือคำสั่งของศาลแพ่ง และเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสลายการชุมนุมได้ทันที แต่รัฐบาลได้พยายามเจรจา 2 ครั้ง แต่ท้ายที่สุดผู้ชุมนุมปฏิเสธ และต่อมานายกฯ ได้แเสนอแผนปรองดอง 5 ข้อ และผู้ชุมนุมโดยแกนนำได้ยอมรับในเบื้องต้น แต่ที่สุดมีการปฏิเสธแผนปรองดองซึ่งเป็นผลจากการแทรกแซงและสั่งการของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี การปฏิบัติของ ศอฉ.ที่ผ่านมานั้นพยายามคลี่คลายสถานการณ์โดยปฏิบัติตามหลักสากล และคำนึงถึงชีวิตของผู้ชุมนุม ซึ่งหากผู้ชุมนุมไม่มีการใช้อาวุธก็จะไม่มีการสูญเสีย แต่เมื่อผู้ชุมนุมมีอาวุธ โดยการสั่งการของแกนนำที่ใช้ความรุนแง จึงเกิดความสูญเสียและผลกระทบอย่างที่เห็น

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการกระชับวงล้อม และสกัดกั้นไม่ให้มีการส่งกำลังสนับสนุนไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายและเสี่ยงต่อความรุนแรง การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเข้าไปในพื้นที่ของผู้ ชุมนุม แต่เหตุการณ์ปรากฏว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธและใช้ความรุนแรงโจมตีเจ้าหน้าที่ที่ ปฏิบัติการกระชับวงล้อม ทั้งโจมตีที่ด่านและที่กำลังเคลื่อนที่ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้อาวุธเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ ทางรัฐบาลยืนยันว่าจะดำเนินการกระชับพื้นที่ต่อไป แต่การปฏิบัติการนี้จะลดความสูญเสียได้ เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรง และรัฐบาลก็เช่นกัน วิธีการที่ดีที่สุดคือยุติการชุมนุม และแผนปรองดองทั้ง 5 ข้อก็จะดำเนินการต่อไปอย่างที่ได้ประกาศไว้แล้ว ทั้งการปฏิรูปสื่อ หรือการสร้างความเป็นธรรมทางการเมือง

รัฐบาลขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปราบปราม หรือฆ่าประชาชนอย่างที่มีการบิดเบือนข่าวสารแต่อย่างใด แต่เป็นการดำเนินการให้เหตุการณ์สงบลงโดยเร็วให้ประชาชนได้สามารถใช้ชีวิต ได้อย่างสงบสุข

ด้าน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. กล่าวสรุปการปฏิบัติในช่วง 2 วันที่ผ่านมา (13-14 พ.ค.) ว่า เนื่องจากมีความพยายามของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างภาพให้ประชาชนเห็นว่าทหารตำรวจปิดล้อมและใช้อาวุธสงครามยิงใส่ผู้ ชุมนุม จำเป็นต้องทำความเข้าใน ดังนี้

  1. ในวันที่ 13 พ.ค. ศอฉ.สั่งการให้ทหารตำรวจกระชับวงล้อมบริเวณที่ชุมนุมแยกราชประสงค์ทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปสี่เหลี่ยม เพื่อกดดันกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เพิ่มเติมกำลังคน ตัดการส่งกำลังบำรุง จำกัดบริการสาธารณะ ทั้งประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์บ้าน รวมทั้งปิดการจราจรทุกช่องทาง ซึ่งเห็นว่าเป็นวิธีการที่น่าจะสามารถยุติการชุมนุมได้ หรืออย่างน้อยทำให้จำนวนผู้ชุมนุมลดน้อยลง แต่ 2 วันที่ผ่านมา กลุ่มก่อการร้าย ผู้ชุมนุมบางส่วน กระทั่งกลุ่มรถจักรยานยนต์กวนเมืองได้กดดันด่านเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา มีการใช้อาวุธปืนหลายชนิด รวมถึง M79 โดยใช้ผู้ชุมนุมเป็นโล่กำบัง เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องป้องกันตนเองและผู้ไม่เกี่ยวข้อง โดยการใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก เริ่มแต่ประชาสัมพันธ์ไปถึงการใช้กระสุนยางที่ยิงจากปืนลูกซองทั้งนี้ การขอพื้นที่ที่แยกคอกวัว สถานีไทยคม อนุสรณ์สถาน เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมเลย แต่ปรากฏว่าเมื่อผู้ชุมนุมเข้าถึงเจ้าหน้าที่ก็ทำร้ายและยึดอาวุธดังนั้น เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องรักษาระยะห่างกับผู้ชุมนุม ถ้าผู้ชุมนุมจะเคลื่อนเข้าหาเจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องใช้ปืนลูกซองกระสุนจริงในการสกัดกั้น โดยจะพยายามยิงลงพื้นในแนวไม่เกินหัวเข่า เพื่อยับยั้งไม่ให้เข้ามาและแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ประสงค์จะทำร้ายถึงชีวิต สำหรับปืน M16 ปืนทาโวร์ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติภารกิจเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ก่อการร้ายมีอาวุธสงคราม ศอฉ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ใช้งานไว้ 1. ใช้ยิงข่มขวัญขึ้นฟ้า 2. ยิงเป้าหมายที่ตรวจสอบได้ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย หรือผู้ชุมนุมที่ถืออาวุธสงครามร้ายแรง ลูกระเบิด 3. ยิงป้องกันชีวิตเจ้าหน้าที่และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่การใช้ปืนทั้งสองชนิดนั้นได้กำหนดให้ยิงทีละนัด ไม่มีการยิงเป็นชุด และจะไม่ใช้ M79 ระเบิดแบบขว้างหรืออาร์พีจีแน่นอน อย่างไรก็ตาม ภาพข่าวบางภาพอาจเป็นเพียงบางส่วนของเหตุการณ์จริง อาจได้เห็นเฉพาะช่วงที่ทหารจำเป็นต้องเคลื่อนเข้าผู้ชุมนุมเพื่อผลักดันให้ ผู้ชุมนุมกลับพื้นที่ที่กำหนด หรือยิงสกัดกั้น อาจไม่ได้เห็นภาพทั้งหมด ในช่วงที่ผู้ชุมนุมผู้ก่อการร้ายยิงใส่เจ้าหน้าที่
  2. แยกราชประสงค์เป็นพื้นที่อันตราย ไม่ว่าการสร้างสถานการณ์ของผู้ก่อการร้าย หรือในช่วง 10-20 นาทีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 80 กว่าคน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังยึดอาวุธได้จากการ์ด นปช. ทั้งระเบิดขว้าง เอ็ม 16 ชัดเจนว่ามีการลักลอบเอาอาวุธมาใช้ โดยเฉพาะที่แกนนำเคยยึดได้ที่ลาดหลุมแก้ว คอกวัว รวมแล้วกว่า 68 รายการ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าพื้นที่นี้อันตราย การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นการกระชับวงล้อม มิใช่การล้อมปราบ ขอเรียนวิงวอน นปช.จังหวัดต่างๆ ไม่ต้องเดินทางเข้ามา กทม. เพราะข้อมูลข่าวสารจากแกนนำบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ขณะนี้ ศอฉ.ควบคุมสถานการณ์โดยรวมไว้ได้ และจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

(ดู “สาทิตย์-สรรเสริญ แถลงจะกระชับพื้นที่ต่อไป อ้างผู้ชุมนุมโจมตีก่อนจึงรุนแรง,” ประชาไท, 14 พ.ค. 53 ; ดูคลิป 20100514_CRES_002)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ศาลแพ่งยกคำร้องของ นปช. ที่ขอคำสั่งศาลให้ห้ามเจ้าหน้าที่ดำเนินการปิดล้อมการชุมนุม และห้ามสลายการชุมนุม โดยศาลแพ่งพิเคราะห์คำร้องว่าไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลเพียงพอ รวมทั้งการดำเนินการปิดล้อมของเจ้าหน้าที่อยู่ภายในอำนาจของฝ่ายบริหาร ขณะที่การสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบสุข เจ้าหน้าที่ ในกรณีจำเป็น สามารถใช้อาวุธเพื่อการป้องกันตัวและป้องกันมิให้สถานการณ์ขยายตัว แต่ต้องเป็นการดำเนินการตามหลักสากล

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์เรื่อง “ขอประณามการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์การชุมนุม” ดังนี้

จากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.บริเวณแยกราชประสงค์ และพื้นที่ใกล้เคียง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยความ ห่วงใย และพบว่ามีการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงสูงสุด คือ ถึงขั้นเสียชีวิต มาเป็นระยะๆ จนกระทั่งล่าสุดในคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2553

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอประณามการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงอีกครั้ง หนึ่ง ซึ่งหากเหตุการณ์เหล่านี้ยังดำเนินต่อไป คาดว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง และความแตกร้าวยิ่งขึ้นในสังคมไทยจนยากที่จะเยียวยา อันเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยทุกฝ่ายไม่ปรารถนา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายได้ใช้สติโดยคำนึง ถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก หยุดการเผชิญหน้าและหยุดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทางออกที่ดีที่สุดคือกลับมาสู่การเจรจาโดยเร็วเพื่อนำความสงบและสันติสุขคืน สู่ประเทศไทย ฝ่ายใดปฏิเสธการเจรจา ถือว่าฝ่ายนั้นมีเจตนาทำร้ายประเทศชาติ

(ดู “กก.สิทธิประณามความรุนแรง วอนทุกฝ่ายใช้สติ กลับสู่การเจรจา,” prachatai, 14 พ.ค. 53

หมายเหตุ –

 

15 พฤษภาคม 2553

นปช.

รัฐบาล – นายกฯ อภิสิทธิ์แถลงรัฐบาลถอยไม่ได้แล้ว ไม่ยอมให้จับ กทม. เป็นตัวประกัน ส่วนทหารแถลงโต้ไม่ได้ตั้งใจฆ่าประชาชน แต่เป็นการต่อสู้กับอาวุธสงคราม

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลง โดยนายสาทิตย์รายงานสถานการณ์ว่า ตั้งแต่เมื่อวานถึงเช้าวันนี้เป็นสถานการณ์ที่มีความรุนแรงต่อเนื่อง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ได้มาถึงจุดที่สอดคล้องกับสิ่งที่แกนนำ นปช. เคยประกาศว่าจะทำสงครามประชาชนหรือสงครามกลางเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับแนวทางที่ทางแกนนำ นปช. ได้มีการปลุกระดม โดยการใช้ข้อมูลข่าวสารบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆ แล้วปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ฝ่ายของรัฐจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป

ฝ่ายเจ้าหน้าที่เพียงแต่กระชับวงล้อมเข้าไป เป็นการสกัดกั้นการเติมกำลังสนับสนุนผู้ชุมนุมซึ่งนิยมความรุนแรง แต่กลับถูกกองกำลังของฝ่าย นปช. ออกมาโจมตีโดยใช้อาวุธหนักตลอดเวลา อาจจะกล่าวได้ว่า นี่เป็นกองกำลังที่มีอาวุธหนักมากที่สุดนับแต่หลังสงครามคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา ที่เป็นการใช้กำลังต่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินการของ นปช. นั้น มีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจน โดยแกนนำที่ต้องการความรุนแรง เพื่อต้องการโค่นล้มอำนาจรัฐด้วยวิธีการที่รุนแรงและผิดกฎหมาย ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความเห็นแก่ตัวของอดีตนายกฯ ทักษิณ และแกนนำที่นิยมความรุนแรงที่ปลุกระดมและใช้มวลชนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อชัยชนะส่วนตน เห็นได้ชัดว่าข้อต่อรองของแกนนำในช่วงหลังไม่ใช่เป็นข้อเรียกร้องเพื่อมวลชน แต่เป็นข้อเรียกร้องส่วนตน เช่น ต่อรองเรื่องของการดำเนินคดี หรือการต่อรองเพื่อการขอการประกันตัว เป็นต้น

ปณิธานรายงานสถานการณ์การชุมนุม ในคืนวันที่ 14 มีกลุ่มติดอาวุธที่พยายามตีกรอบเจ้าหน้าที่เพื่อกดดันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตั้งด่านและกระชับกำลังไม่ได้ซึ่งมีลักษณะเหมือนมีการวางแผนไว้แล้ว ซึ่งมีการใช้อาวุธในจุดปะทะหลายจุด และมีการโอบล้อมเจ้าหน้าที่ด้วย และในรอบพื้นที่นอก กทม. มีการระดมคนเข้ามาเพื่อกดดันเจ้าหน้าที่โดยมีการให้ข่าวสารบิดเบือน และในคืนนี้ยังมีการยิงเอ็ม 79 รวม 16 นัดในจุดสกัดรอบๆ แยกราชปรารภ แอร์พอร์ทลิงค์ ประตูน้ำ บ่อนไก่ สวนลุมไนท์บาซ่าร์ และแยกศาลาแดง และมีการพยายามกั้นการจราจรด้วยรถแท็กซี่

ในเวลา 18.30 น. มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 ที่แยกศาลาแดง 8 นัด สีลมเซนเตอร์(สีลมคอมเพล็กซ์?) 1 นัด มีผู้บาดเจ็บ 1 คน 18.30 น. ที่แยกราชปรารภมีการเผาทำลายรถบรรทุก เอ็ม 35 ทำให้มีทหารบาดเจ็บ 2 นาย ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 คน 19.50 น. มีการยิงเอ็ม 79 จากบ่อนไก่ใส่แนวทหาร 3 นัด มีทหารบาดเจ็บ 1 นาย

เวลาประมาณ 20.00 น. เมื่อไม่สามารถฝ่าวงล้อมเข้าไปได้ จึงมีการระดมคนที่ตึกสูงแห่งหนึ่ง ที่ถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นตึกของที่ทำการพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง(พรรรค ซึ่งรวมตัวกันหลายร้อยคน

เวลา 20.20 น. มีการระเบิดที่ถนนราชปรารภ สี่แยกประตูน้ำ 4 ครั้ง อีก10 นาทีให้หลัง ที่แอร์พอร์ทลิงค์ อีก 3 ครั้ง ห่างจากแนวของเจ้าหน้าที่ 10 เมตร 21.10 น. มีแท็กซี่รวมตัวกันที่ถนนนราธิวาศ 21.25 น. มีการตั้งด่านตรวจที่แยกปทุมวันขาเข้าโดยกลุ่มผู้ชุมนุม และมีการเผายางที่สะพานข้ามแยกดินแดง 22.00 น. หน้าสถานทูตออสเตรเลียมีการเผายางรถยนต์ 22.05 น. มีการยิงเอ็ม 79 อีก 1 นัดที่แอร์พอร์ทลิงค์ และที่แยกดินแดงมีการรวมตัวกันราว 1,000 คน 22.50 น. มีการยิงเอ็ม 79 อีก 1 นัด ที่บ่อนไก่บริเวณแนวทหาร ประมาณ 12.30 น. มีรถตู้ทะเบียน ฮค 5861 พยายามฝ่าด่านที่แอร์พอร์ทลิงค์มีผู้บาดเจ็บ 3 คน(สมร ไหมทอง, พัน คำกอง, คุณากร) ในตอนเช้า 5.15 น. มีการยิระเบิดเอ็ม 79 อีก 1 นัด หน้าแนวทหารบริเวณสนามมวยลุมพินี สรุปยอดผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บ 140 ราย

ดูคลิป 20100515_CRES_001

ต่อมา พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก แถลงว่า หลังจากที่ปรากฏชัดเจนว่ามีกองกำลังติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้รับการสูญเสียอย่างเห็นได้ชัดด้วยอาวุธสงคราม เราจึงจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนในการป้องกันชีวิตตัวเอง แต่พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ปืนที่เป็นอาวุธสงคราม โดยใช้ปืนลูกซอง ซึ่งได้กำหนดไว้ว่ากระสุนจริงนั้นใช้ได้ใน 3 กรณีเท่านั้น คือ

  1. ใช้ปืนลูกซองเพื่อหยุดยั้งผู้ชุมนุมไม่ให้เข้าใกล้เจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียมาก ถ้าจำเป็นต้องมีการยิงจะยิงลงพื้น เพื่อไม่ให้ถึงชีวิตและจะไม่มีการยิงผู้หญิงและเด็กเด็ดขาด
  2. เพื่อป้องกันชีวิตัวเองหากมีการคุกคามถึงแก่ชีวิต
  3. เพื่อตอบโต้กองกำลังติดอาวุธที่ปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งได้มีการย้ำแล้วว่าให้ยิงเมื่อพบเป้าหมายเท่านั้น

พล.ท.ดาว์พงษ์ได้เน้นด้วยว่าฝ่ายทหารนั้นไม่มีการใช้เอ็ม 79 ระเบิดขว้างหรืออาร์พีจีแน่นอนเนื่องจากควบคุมความเสียหายไม่ได้ มีเพียงการใช้ปืนพก ปืนลูกซองที่มีทั้งกระสุนจริงและกระสุนยาง และปืนเล็กยาว แล้วแต่ว่าหน่วยนั้นใช้ปืนรุ่นไหน

พล.ท.คณิต ชี้แจงถึงเขตพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 1 ว่า พื้นที่ราชประสงค์มีการใช้หน่วย 3 หน่วย คือ กองพลที่ 1 รอ. กองพลทหารม้าที่ 2 รอ. และกองพลทหารราบที่ 9

พล.ต.กัมปนาท (กองพลที่ 1 รอ.) อธิบายเหตุการณ์วันที่ 14 ในพื้นที่ราชปรารภว่า ได้มีผู้ชุมนุมรื้อถอนกระสอบทรายและใช้อาวุธปืนยิงขู่เจ้าหน้าที่ และนำคนราว 200-300 คน มาล้อมเจ้าหน้าที่ที่แยกหมอเหล็งและยึดรถน้ำทหาร จึงจำเป็นต้องเพิ่มเติมกำลังพล แต่เมื่อมีการเพิ่มกำลังทหารผู้ชุมนุมจึงมีการเพิ่มจำนวนแล้วเข้ากดดัน จึงต้องผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด ขณะปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่บ่ายเจ้าหน้าที่ได้ถูกยิงด้วยระเบิดเอ็ม 79 และอาวุธสงครามเป็นระยะตั้งแต่ช่วงบ่าย โดยเจ้าหน้าที่ได้ถูกยิงโดยเอ็ม 79 จำนวน 18 ครั้ง (โชว์ตำแหน่งกระสุนตกบนแผนที่) และยังพบกองกำลังติดอาวุธอยู่แนวหลังมวลชนแล้วยิงใสเจ้าหน้าที่

อีกเหตุการณ์ในช่วงกลางคืนผู้ชุมนุมได้ยึดรถเจ้าหน้าที่ตำรวจขับไปทางบึงมักกะสัน และใช้รถบรรทุกและแท็กซี่วิ่งเข้าหาแนวทหารทหารเมื่อใช้ปืนลูกซองยิงจึงหยุดไว้ได้ ส่วนแท็กซี่ได้วนกลับไป แต่ได้มีผู้เสียชีวิตอยู่หลังรถแท็กซี่ที่ถูกเผา ซึ่งอยู่ห่างออกไป 300 เมตร แต่ระยะยิงของปืนลูกซองไม่ถึง 300 เมตร จากนั้นทหารจึงได้เข้าไปเอาศพและผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

ในช่วงตี 2 มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายราว 10-15 คน ใส่ชุดดำ พร้อมอาวุธสงครามเคลื่อนเข้าจากทางสามเหลี่ยมดินแดงพร้อมมวลชนเข้าหาแนวทหารแต่ผ่านแนวทหารเข้าไปไม่ได้

พล.ต.สุรศักดิ์ จากกองพลทหารม้าที่ 2 รอ. ชี้แจงการวางกำลังในแนวถนนวิทยุและพระราม 4 ว่าตั้งแต่คืนที่ 13 พ.ค. เวลา 18.00 น. ไปแล้วได้ถูกกองกำลังติดอาวุธปิดล้อมที่ถนนวิทยุตรงข้ามกับสวนลุมไนท์ แต่เนื่องจากเป็นเวลากลางคืน จึงถอนตัวไปอยู่ในสวนลุมไนท์ แต่ได้ถูกดดันโดยการปิดล้อม มีการยิงทั้งพลุและอาวุธสงครามใส่เจ้าหน้าที่ ตลอดทั้งคืน เช้า 14 พ.ค. จึงจัดกำลังเคลียร์สวนลุมไนท์(แต่พอเปิดแผนที่มาเป็นสวนลุมพินี) มีกองกำลัง 20 คน ยิงใส่เจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธสงครามจึงต้องยิงตอบโต้กลับเข้าไปในสวนลุม 14.00 น. กองกำลังติดอาวุธได้ ขว้างระเบิดออกมาทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7 คน และถอนตัวออกไปทางสะพานไทย-เบลเยี่ยม ในเวลา 15.00 น. ในเวลา 16.00 น. มีกองกำลังติดอาวุธทะเลาะกันและยิงกันภายในสวนลุมพินี

ในด้านสะพานไทย-เบลเยี่ยม เวลา 13.30 น. ได้กดดันกองกำลังติดอาวุธไปทางด่านพระราม 4 (เปิดรูปแนวเจ้าหน้าที่ทหารนั่งหลบอยู่หลังโล่ปราบจลาจล กับชาวบ้านที่ยืนมุงดูทางด้านบ่อนไก่) เวลา 14.45 น. กองกำลังติดอาวุธได้ใช้อาวุธสงครามและปืนพกใส่เจ้าหน้าที่ จึงได้มีการตอบโต้ตามขั้นตอน และมีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางด้วย 15.30 น. กองกำลังติดอาวุธเผายางและรถน้ำบริเวณหน้าปั๊มน้ำมันปตท. ที่บ่อนไก่ 16.00 น. มีประชาชนเอาอาวุธไล่ยิงกองกำลังติดอาวุธเนื่องจากไม่พอใจการกระทำของกองกำลังติดอาวุธ 16.30 น. เนื่องจากฟ้าใกล้มืดเจ้าหน้าที่ได้ติดตามเข้าไปแต่ถูกยิงตอบโต้จากกองกำลังติดอาวุธ (เปิดภาพคนถูกจับที่สนามมวยลุมพินี) ได้ 30 คน ยึดเสื้อเกราะได้ 2 ตัว และอาวุธอีกจำนวนหนึ่ง(ไม่แจกแจง)

นอกจากนี้ได้ชี้แจงเรื่องที่เจ้าหน้าที่บนถนนพระราม 4 ถูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงจำนวน 29 นัด(เปิดแผนที่ตำแหน่งกระสุนตก)

พ.อ.สรรเสริญชี้แจงว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้เนื่องจากต้องปราบกองกำลังติดอาวุธจึงทำให้มีผู้เสียชีวิต 16 คนและบาดเจ็บกว่า 140 คน และปัจจัยของการสูญเสียนั้นแยกได้เป็น

กรณีที่หนึ่ง เกิดจากการทำร้ายกันเองระหว่าง การ์ดของนปช. ซึ่งมีความขัดแย้ง และมีข้อมูลข่าวสารเป็นที่ประจักษ์แก่พี่น้องสื่อมวลชนทั้งมวล

กรณีที่สอง เป็นการสูญเสีย เนื่องจากการยิงอาวุธสงคราม ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ ปืนเล็กยาว เอ็ม79 ลูกระเบิดขว้าง ประทัดยักษ์ ซึ่งเกิดจากการกระทำของกลุ่มก่อการร้าย ที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่การชุมนุม

กรณีที่สาม เกิดจากการที่พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบและไม่พอใจการชุมนุมของกลุ่มนปช.ในพื้นที่ต่างๆ ได้ออกมาทำร้าย กลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าควบคุม แล้วก็ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว

และในกรณีที่สี่ เราไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ ว่าในกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุม พยายามที่จะเคลื่อนที่เข้ากดดันเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจในด่านต่างๆ เจ้าหน้าที่ก็มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้อาวุธ ปืนลูกซอง ในการที่จะยิงลงไปที่พื้น และควบคุมกรวยกระสุนมิให้สูงเกิน หัวเข่า เพียงพอที่จะหยุดยั้ง กลุ่มผู้ชุมนุม ที่พยายามจะเข้ากดดันเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ โดยไม่ได้หวังเอาชีวิต

ในทั้งสี่กรณีนี้ อาจจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเราก็พยายามอย่างที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอย่างนั้น

ดูคลิป 20100515_CRES_003

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย

หมายเหตุ

 

16 พฤษภาคม 2553

นปช. – แกนนำ นปช. ประกาศยินดีเจรจาหาทางออกอย่างสันติวิธี โดยเรียกร้องให้สหประชาชาติมาเป็นคนกลาง โดย พ.ต.ท. ทักษิณออกแถลงการณ์สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว

ด้านคุณหญิงพจมาน และลูกๆ เดินทางออกนอกประเทศ

กลุ่มคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดเริ่มมีการเคลื่อนไหวรวมตัวกัน มีการเผารถทหารที่จังหวัดเชียงใหม่

รัฐบาล – 9.30 น. รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ นายกฯ ขอให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่โดยอ้างว่าการชุมนุมผิดกฎหมาย และอาจจะได้รับอันตรายจากอาวุธสงครามเมื่อผู้ก่อการร้ายปะทะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากเกิดการเสียชีวิตเกิดขึ้นก็จะถูกนำมาใช้ในการกดดันเจ้าหน้าที่และสังคม นายกฯ ยังย้ำว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากความสูญเสียที่สุดคือกลุ่มผู้ก่อการร้าย และยังอธิบายว่าการชุมนุมนั้นได้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มก่อการร้าย

ดูคลิป 20100516_CRES_001_PM

เวลาประมาณ 13.30 น. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า เตรียมส่งชุดเจ้าหน้าตำรวจ ประสานกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เอ็นจีโอ ให้เข้าไปในพื้นที่ชุมนุมเพื่อนำ เด็ก สตรี คนชรา ออกจากพื้นที่ชุมนุม รวมถึงชายฉกรรจ์ที่ประสงค์จะออกนอกพื้นที่ชุมนุม ส่วนโทษที่ฝ่าฝืนกฎหมายเข้าร่วมชุมนุมนั้น พร้อมจะผ่อนผันให้ จะดำเนินการตั้งแต่บัดนี้จนถึง 15.00 น. ของวันพรุ่งนี้

ศอฉ.ได้ข่าวมาว่า กลุ่มก่อการร้ายพยายามสร้างสถานการณ์โดยพยายามใช้กระสุนยิงใส่เจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ เพื่อให้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายหนึ่งต่ออีกฝ่าย อาจมีการปลอมแปลงใส่ชุดเจ้าหน้าที่ และพยายามทำร้ายผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะสื่อมวลชน ขอเรียนให้สื่อทราบว่าการปฏิบัติภารกิจของท่านของให้ระมัดระวัง การเข้าพื้นที่ต้องประสานกับทหาร ตำรวจเพื่ออำนวยความสะดวก

การกำหนดพื้นที่ใช้ กระสุนจริง ขอทำความเข้าใจอีกครั้งว่า มิได้หมายความว่าจนท.จะใช้กระสุนจริงยิงทุกกรณี เพียงแต่กำหนดแนวว่าเป็นพื้นที่ใช้กระสุนจริง กลุ่มผู้ชุมนุมหรือกลุ่มก่อการร้ายจะกดดันเลยแนวนี้ไม่ได้ แต่จะดูเป็นกรณีไป ยืนยันว่าจะไม่ใช้อาวุธสงครามกับพี่น้องประชาชนที่ไม่มีอาวุธร้ายแรงในมือ เอ็มสิบหกและทราโวจะยิงเฉพาะข่มขวัญ ยิงผู้มีอาวุธร้ายแรง ป้องกันชีวิตเจ้าหน้าที่กรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นอกเหนือจากนั้นหากมีการเคลื่อนเข้ากดดันจะใช้ลูกซองยิงกดต่ำ (ดู “ศอฉ.ส่งตำรวจรับคนแก่-เด็ก-ผู้หญิงออกจากราชประสงค์ เตรียมประกาศเคอร์ฟิวบางส่วนกทม.,” ประชาไท, 16 พ.ค.53)

17.27 น. พล.ท.อักษรา เกิดผล ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ในฐานะหัวหน้าส่วนยุทธการ ศอฉ. แถลงถึงผลการหารือการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ว่า ศอฉ. จะยังไม่ประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวในห้วงเวลานี้ เนื่องจากยังสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ยกเว้นเมื่อมีสถานการณ์หรือมีความฉุกเฉินจำเป็น ศอฉ.จะประเมินสถานการณ์และเรียนให้ทราบต่อไป  (ดู “ศอฉ.ยังไม่ประกาศเคอร์ฟิว แจงความสัมพันธ์หน่วยต่างๆ ยังแน่นแฟ้น,” prachatai, 16 พ.ค. 53)

ช่วงเย็นนายกรัฐมนตรีเรียกประชุม ครม. วาระพิเศษ

เวลา 18.30 น. นายปณิธาน วัฒนายากร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพิ่มเติมใน 5 จังหวัด คือ อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู สกลนคร

เรื่องที่สอง ครม.มีมติอนุมัติให้วันที่ 17-18 พ.ค.เป็นวันหยุดราชการในท้องที่กรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นายปณิธาน กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันปฏิบัติการด้านความมั่นคงในพื้นที่ราชประสงค์ เนื่องจากมีสถานการณ์การชุมนุมที่ขัดกับกฎหมาย ไม่ได้เป็นการคุกคามหรือใช้อาวุธต่อประชาชน ไม่มีเหตุผลใดในการเรียกร้องให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลเรียกร้องให้กลุ่มชุมนุมยุติการกระทำดังกล่าว เรียกร้องให้กลุ่มแกนนำมอบตัวและสู่กระบวนการยุติธรรม ให้ยุติการกระทำทั้งหมดและหยุดยิง ที่อาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัย

ส่วนนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เลขานุการ ศอฉ. แถลงว่า วันนี้ทาง ศอฉ. เห็นชอบให้ประกาศ เรื่อง ให้บุคคลและกลุ่มบุคคลออกจากพื้นที่ชุมนุมเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาและยังกล่าวว่า ศอฉ.ได้มีคำสั่งที่ 49/2553 เรื่อง ห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลหรือนิติบุคคลเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ รวม 106 บัญชี

(ดู “เพิ่มฉุกเฉิน 5 จว. ให้ กทม.หยุด 17-18 คุมธุรกรรม 100 บัญชี,” ประชาไท, 16 พ.ค. 53  ; คลิป 20100516_CRES_002)

เวลา 20.30 น. มีประกาศ ศอฉ. แจ้งเรื่อง

  1. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 3 ให้พื้นที่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และ จังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ในเขตประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 2 เพิ่มเติม
  2. ประกาศ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่อง ให้บุคคล และกลุ่มบุคคล ออกจากพื้นที่การชุมนุม เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา ขอให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม ออกจากพื้นที่การชุมนุมโดยเร็ว โดยให้แจ้งความประสงค์ ขอกลับภูมิลำเนา กับเจ้าหน้าที่ได้ทุกคน ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินจะให้ความคุ้มครอง และอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 15 น.

จากนั้น พ.อ. สรรเสริญได้แถลงต่อว่าเนื่องจากขณะนี้ กลุ่มก่อการร้าย ซึ่งชุมนุมอยู่ในพื้นที่ราชประสงค์ มีความพยายามที่จะสร้างสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นในรูปแบบต่างๆ แล้วก็มีความพยายามในการที่จะปล่อยข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ ศอฉ. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนข้อมูลเหล่านั้น เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน

ประเด็นแรก มีข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายนั้นได้พยายามที่จะสร้างสถานการณ์ในลักษณะของการจัดพลซุ่มยิง ซึ่งเป้าหมายสำคัญก็มีหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ประชาชนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม สื่อมวลชน และแม้กระทั่งกลุ่มผู้ชุมนุมที่หลงเชื่อคำชักชวนเข้ามาอยู่ในพื้นที่การชุมนุมที่ราชประสงค์ เพราะฉะนั้นถ้าหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องเข้าไปบริเวณราชประสงค์ ก็ขอให้หลีกเลี่ยงให้มากที่สุด

ประเด็นที่สองเรื่องข่าวลือ ในช่วงนี้มีความพยายามในการปล่อยข่าวลือ เป็นต้นว่ามีการขัดแย้งกันใน ศอฉ. ทั้งหลายทั้งปวงเป็นข้อมูลที่พยายามบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความสับสนด้านข้อมูลข่าวสาร และ พ.อ. สรรเสริญยังได้เปิดคลิปจำนวนหนึ่งเพื่อชี้แจง เช่น เปิดคลิปนายสมาพันธ์ ศรีเทพ ซึ่งถูกยิงที่ถนนราชปรารภเพื่อชี้แจงว่ามีคนตายแค่คนเดียว ไม่ใช่หลายคน, เปิดคลิปที่อ้างว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่อยู่ในคนเสื้อแดงยิงเอ็ม 79 เพื่อยืนยันว่า กลุ่มก่อการร้ายพยายามที่จะสร้างสถานการณ์

ประเด็นที่สาม เปิดคลิปอธิบายว่ามีคนพยายามจะจุดไฟใส่ถังน้ำมันของรถ กทม. แต่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงที่ขา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าใช้กระสุนลูกซองยิงระดับไม่เกินหัวเข่าเพื่อยับยั้งการก่อการร้าย ไม่ได้ต้องการที่จะเอาชีวิต

ประเด็นที่สี่ เปิดคลิปอธิบายว่าเป็นภาพที่เจ้าหน้าที่ชุดระวังป้องกัน ใช้เอ็มสิบหกติดกล้องเล็ง เขาตรวจพบเป้าหมายเป็นคนถือระเบิดกำลังจะเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ แล้วก็มีการยิงออกไป เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าไม่ได้ยิงตามอำเภอใจ แต่ยิงเมื่อเห็นเป้าหมายแล้วเท่านั้น แล้วก็มีผู้ควบคุมกำกับ มีการแต่งกายที่บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร

ประเด็นสุดท้าย อธิบายรูปทหารกำลังเล็งยิงปืนที่มีลักษณะคล้ายปืนเอ็ม 79 ซึ่งพ.อ.สรรเสริญได้อธิบายว่าปืนนั้นไม่ใช่เอ็ม 79 แต่เป็นปืนยิงแก๊ซน้ำตา และเหตุที่นำออกมาใช้เนื่องจากแก๊ซน้ำตาแบบขว้างจะถูกผู้ชุมนุมหยิบแล้วขว้างกลับมา จึงต้องเปลี่ยนเป็นแบบยิงจากปืนแทน

ดูคลิป 20100516_CRES_003

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศประณามและเรียกร้องให้เลิกการประกาศเขตใช้กระสุนจริง

หมายเหตุ

 

<<< Back                                                                                                                                                         Next >>>