คดีหมายเลขดำที่ : อช. 2/2555 วันที่ฟ้อง : 21/02/2555
คดีหมายเลขแดงที่ : อช. 7/2555 วันที่ออกแดง : 17/09/2555
โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง
ผู้เสียชีวิต : นายพัน คำกอง
คดี : ชันสูตรพลิกศพ
นัดสืบพยานวันที่ 11 พฤษภาคม 2555[1]
พยาน
- นางหนูชิต คำกอง ภรรยานายพัน คำกอง
- น.ส.ศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนาย
- นายอเนก ชาติโกฎิ พนักงานรักษาความปลอดภัยโครงการคอนโดมิเนียม ไอดีโอ
พยานปากแรกคือ นางหนูชิต คำกอง ได้เบิกความว่า นายพัน คำกองได้ไปที่อู่แท็กซี่ ย่านวัดสระเกศ เพื่อนำรถแท็กซี่มาประกอบอาชีพ แต่เนื่องจากช่วงนั้นรัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีคำสั่งขอคืนพื้นที่แถบราชปรารภ โดยเวลา 20.00 น. สามีโทรศัพท์หาลูกสาวว่ายังเดินทางกลับมาไม่ได้เพราะมีการกระชับพื้นที่ของทหาร และได้มาหลบภัยบริเวณงานก่อสร้างคอนโดแห่งหนึ่งแถวราชปรารภ ซึ่งเป็นการติดต่อครั้งสุดท้าย จากนั้นเวลาเที่ยงคืน นายอเนก ไม่ทราบนามสกุล(คือนายอเนก ชาติโกฎิ) รปภ.ดูแลงานก่อสร้างคอนโดดังกล่าว ได้โทรศัพท์มาแจ้งบุตรชายตนว่าสามีถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต ต่อมาศพของสามีจึงถูกนำไปชันสูตรที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างรอแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพ ได้สังเกตเห็นศพของสามี มีรอยกระสุนใต้ราวนมซ้ายทะลุออกซี่โครง และรอยกระสุนที่แขนด้านขวา ซึ่งการชันสูตรศพนั้นแพทย์ให้พยานเข้าไปร่วมสังเกตด้วย แต่พยานปฏิเสธเพราะไม่กล้าเข้าไปดู หลังจากนั้น 3 วัน พยานได้เข้าไปดูพื้นที่เกิดเหตุก็พบรอยเลือดอยู่ และทราบว่าขณะเกิดเหตุบริเวณดังกล่าวไม่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีแต่กองกำลังทหารเท่านั้น
พยานปากที่สองน.ส. ศิริพร เมืองศรีนุ่น ซึ่งเป็นทนายที่รับมอบอำนาจจากนางหนูชิตให้ร่วมแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสน.พญาไท ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สั่งตั้งศอฉ. และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในขณะนั้นและเบิดความว่าเชื่อได้ว่านายพัน คำกองเสียชีวิตเนื่องจากนาย สมร ไหมทอง ขับรถตู้เข้าไปในพื้นที่ควบคุมแนวของทหารทำให้มีการระดมยิงรถตู้จนเป็นรูพรุนซึ่งนายสมรก็ได้รับบาดเจ็บ และกระสุนอาจไปโดนนายพัน โดยบริเวณใกล้เคียงก็ยังพบศพ ด.ช. คุณากร ศรีสุวรรณ ที่ถูกยิงเสียชีวิตด้วย
พยานปากที่สามนายอเนก ชาติโกฎิ รปภ.ประจำโครงการก่อสร้างคอนโด ไอดีโอ เบิกความว่า เวลา 20.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 53 ระหว่างที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่นายพันได้เข้ามาขอหลบที่โครงการเพราะทหารประกาศห้ามเดินผ่านและมีการติดป้ายใช้กระสุนจริง และได้ประกาศห้ามออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 19.00 น. เขาได้สอบถามกับนายพันว่ามาจากไหน นายพันได้ตอบว่าจะไปเอาแท็กซี่แต่เนื่องจากยังซ่อมไม่เสร็จ จากนั้นนายพันได้นั่งเล่นหมากฮอสกับนายอเนก จนเที่ยงคืนได้ยินเสียงประกาศเตือนจากรถทหาร สั่งให้รถตู้หยุดวิ่ง ไม่หยุดจะทำการยิงจากเบาไปหนักพยานได้วิ่งหลบ ส่วนนายพันวิ่งออกไปดู และได้ยินเสียงปืนดังทีละนัดดังต่อเนื่องกันราว 20 นัด แต่รถตู้ยังไม่หยุด และยังมีเสียงปืนดังต่อเนื่องอีกราว 1 นาที นายพันได้วิ่งกลับเขามาบอกกับนายอเนกว่าให้ช่วยโทรบอกที่บ้านว่าเขาถูกยิง พยานเห็นนายพันมีเลือดไหลเอามืออุดแผลใต้ราวนมแล้วล้มไป พยานจึงนำโทรศัพท์มือถือนายพันโทรไปมีเสียงเด็กผู้ชายรับสาย พยานจึงบอกว่าพ่อถูกยิงที่ย่านราชปรารภ และเขาได้แจ้งศูนย์นเรนทรมารับศพนายพัน หลังจากนั้นมีทหาร นักข่าว และหน่วยกู้ภัยมารับศพนายพันออกไปที่โรงพยาบาล โดยตั้งแต่เกิดเหตุจนหน่วยกู้ภัยมารับศพไปใช้เวลานาน 20 นาที และที่เกิดเหตุไม่พบบุคคลอื่นนอกจากทหาร
นัดสืบพยานวันที่ 3 กรกฎาคม 2555[2]
พยาน
- พ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล ผู้บังคับกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.)
- ร.อ. เสริมศักดิ์ คำละมูล ผู้บังคับกองร้อยอยู่ในสังกัดของพ.ท. วรการ (ป.พัน.31 รอ.)
- ทหารพยาบาล 2 นาย
พยานที่ให้การคนแรกคือ พ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล เบิกความว่า ช่วงหัวค่ำมีเสียงระเบิดคาดว่าเป็น M 79 ทยอยระเบิดห่างไม่เกิน 500 ม. กระทั่งมีตกลงบนถนนราชปรารภและหลังคาสะพานลอยที่มีทหารประจำการอยู่จึงถอนกำลังออก เมื่อสงบจึงได้กลับไปประจำที่อีกครั้ง จนเมื่อ 24.00 น. ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีรถตู้ออกมาจากซอยวัฒนวงศ์(ราชปรารภ 8) มุ่งหน้าไปที่แอร์พอร์ตลิงค์ไม่มีรายงานว่ามีการระดมยิง หลังเหตุการณ์สงบได้มีการตรวจค้นรถตู้ในรถมีผ้าพันคอและเสื้อสีแดง เขียนข้อความ “แดงทั้งแผ่นดิน” และมีมีดดาบยาวประมาณ 2 ฟุต ไม่มีอาวุธอย่างอื่น จากนั้นได้รับรายงานเพิ่มอีกว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นคนขับรถตู้ และเด็กอีก 1 คน จึงให้ติดต่อประสานรถพยาบาลในพื้นที่ จากนั้นก็มีการแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บอีกรายที่บริเวณคอนโด ไอดีโอ ซึ่งกำลังก่อสร้าง โดยเหตุการณ์ทั้งหมดพยานไม่ได้เห็นด้วยตัวเองแต่เป็นการรับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชานั้น และปฏิเสธว่าไม่มีทหารในหน่วยของตัวเองยิงรถตู้ และไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิงรถตู้ ไม่มีการจับคนร้ายและในคืนนั้นไม่มีการประชุมกองแต่อย่างใด
พ.ท.วรการให้การในส่วนเรื่องอาวุธที่ใช้ในการปฏิบัติการเอาไว้ว่า “หน่วยของตน” มีโล่กระบองครบ ทั้ง 150 คน ปืนลูกซอง 30 กระบอก และปืน M 16 20 กระบอก โดยมีการแจกกระสุนแบลงค์สำหรับ M 16 กระสุนยางสำหรับปืนลูกซอง โดยไม่มีการบรรจุกระสุนไว้ในปืน โดยกระสุนทั้ง 2 ชนิดไม่มีอันตรายถึงชีวิต และเขายืนยันว่าไม่มีการแจกกระสุนจริงให้ใช้ แต่มีการเบิกกระสุนจริงสำหรับปืน M 16 มาเป็นจำนวน 400 นัด ส่วนกระสุนซ้อม(แบลงค์)นั้นจำไม่ได้ กระสุนจริงสำหรับปืนลูกซองจำไม่ได้ กระสุนปืนพกไม่มีกระสุน ในการเบิกทำผ่านศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก(ศปก.) มีบัญชีชัดเจน การติดป้าย “พื้นที่กระสุนจริง” เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าเป็นของหน่วยไหนเขียนไปติด
พ.ท.วรการได้ให้การเพิ่มว่าในวันที่ 14 พ.ค. ตนได้รับแจ้งจาก ศปก.พล.1รอ. ว่าแอร์พอร์ตลิงค์ถูกผู้ชุมนุมยึดและอาจจะมีการเผา จึงถูกเรียกให้ไปยึดคืนจึงออกจากทำเนียบรัฐบาลไปที่ราชปรารภ ซึ่งที่แอร์พอร์ตลิงค์มีเพียง 1 หน่วยที่ประจำการอยู่ จึงมีการเรียกเข้าไปเพิ่มทั้งหมด 3 หน่วย แต่เมื่อไปถึงปรากกฎว่ามีทหารประจำการอยู่ก่อนแล้วจึงเข้าใจว่ามีหน่วยอื่นมายึดคืนได้ก่อนแล้ว สภาพแวดล้อมบริเวณรอบๆ ขณะนั้นมีกองยางและรถน้ำทหารถูกเผาอยู่ และระหว่างเข้าไปในพื้นที่ยังได้รับแจ้งเตือนระมัดระวังชายชุดดำซุ่มยิงจากที่สูง ซึ่งก็มีการยิงลงมาจากตึกด้วยแต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บและได้รับแจ้งเตือนให้ระวังรถตู้ที่อาจจะเข้ามาก่อเหตุคาร์บอมบ์
ทหารทั้ง 4 กองพันที่ปฏิบัติการในพื้นที่นั้นมีการประสานกันโดยจะเป็นการประสานกันเองระหว่างผู้บังคับกองร้อย ในส่วนของผู้บังคับกองพันนั้นจะมีหน้าที่รับนโยบายและควบคุมดูแล โดยหน่วยของตนจะวางกำลัง 80 คน อยู่ที่ฝั่งซ้ายของถนนและฝั่งขวาเป็นของ พ.ท. พงศกร อาจสัญจร จาก ร.1พัน3
หลังจากสืบพยานได้มีการเปิดวิดีโอของนักข่าวเนชั่นโดยได้บันทึกขณะช่างภาพอยู่หลังทหารที่หลบอยู่หลังเสาไฟฟ้า ห่างจากรถตู้ 50-100 ม. และมีเสียงปืนดังขึ้นเพื่อหยุดรถตู้ ราว 20 นัด จนกระทั่งรถหยุด และมีทหารเข้าไปดู มีการนำคนเจ็บลงจากรถเพื่อปฐมพยาบาล และมีภาพการลำเลียงคนเจ็บอื่นๆ จากรถพยาบาลทหารขึ้นรถหน่วยกู้ชีพ และในศาลมีการซักถามกับ พ.ท.วรการว่า ในวิดีโอมีลูกน้องของตนอยู่ด้วยหรือไม่ เขายอมรับว่ามีอยู่ 2 คน แต่ทหารคนอื่นๆ เขาไม่แน่ใจว่าเป็นทหารจาก ร.1พัน3 หรือไม่
พยานปากที่สอง ร.อ. เสริมศักดิ์ คำละมูล ให้การว่าตนเป็นทหารในสังกัดของพ.ท.วรการ ซึ่งเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ย้ายมาจากทำเนียบเพื่อเข้าปฏิบัติการที่ราชปรารภในเย็นวันที่ 14 พ.ค. โดยกองร้อยของตนอยู่ทางฝั่งซ้ายของถนนราชปรารภโดยหันหน้าไปทางด้านแยกประตูน้ำ โดยมีทั้งบนสะพานลอยหน้าราชปรารภ 6 และ หน้าร้านอินเดียฟู้ดส์ และอีกส่วนอยู่บนถนนมักกะสันเรียบทางรถไฟ โดยเขาได้รับแจ้งเตือนให้ระวังรถตู้สีขาวที่อาจจะเข้าก่อเหตุ
ในเวลา 17.00-18.00 น. มีคนเข้าไปด่าทอทหาร ร.อ.เสริมศักดิ์ยังบอกด้วยว่ามีชายชุดดำรวมอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย แล้วกลุ่มคนก็เดินจากไป แต่ไม่ถึงนาทีก็มีระเบิดปิงปอง 3 ลูก ตกใกล้กับทหารแต่ไม่มีใครบาดเจ็บ จากนั้นมีระเบิด M79 ตามมาเป็นระยะประมาณ 10 นาที ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เขาไม่ทราบว่ามาจากทางไหน แต่ระยะไม่เกิน 750 ม. ต่อมาในเวลา 22.00 น. ก็มีระเบิด M79 อีกครั้ง มีเสียงปืนสั้นประปรายและมี การยิงน๊อตลูกแก้วด้วย ไม่มีทหารได้รับบาดเจ็บอีกเช่นกัน
ต่อมาเวลา 23.00 น. ได้มีการส่งกำลังไปรักษาการณ์ที่ราชปรารภ 8 เวลาประมาณเที่ยงคืนมีรถตู้สีขาวคล้ายกับที่ได้รับแจ้งเตือนออกมาจากทางราชปรารภ 8 จึงได้มีการแจ้งเตือนให้วนกลับไปทางเดิมหรือเลี้ยวไปทางประตูน้ำจากนั้นอีก 10 นาทีก็ได้ให้รถทหารประกาศอีกทีปรากกฏว่ารถตู้เลี้ยวขวามุ่งหน้าแอร์พอร์ตลิงค์ พยานยังได้ยินเสียงประกาศอยู่ตลอดพร้อมกับมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ เขาและทหารที่อยู่ที่หน้าร้านอินเดียฟู้ดส์ด้วยกัน 5-6 นาย จึงหมอบลงอยู่กับพื้นประมาณ 1 นาที จนเสียงปืนสงบลงจึงได้สั่งกำลังพลให้ไปตรวจการที่ประตูน้ำ แต่ไม่ได้ไปดูที่รถตู้ อัยการถามย้ำว่า มีการใช้ปืนยิงสกัดรถตู้ไหม ร.อ.เสริมศักดิ์ตอบว่า ไม่มี และทนายได้ถามว่าในขณะที่มีเสียงปืนนั้นเป็นเสียงที่ดังขึ้นทั้งสองฝั่งถนนใช่หรือไม่ พยานกล่าวว่าไม่รู้เนื่องจากเสียงก้องมาก คำถามต่อมา เมื่อรถตู้ถูกยิงแล้วมีอาการอย่างไร(น่าจะหมายถึงว่าเมื่อรถตู้ถูกยิงแล้วลักษณะการวิ่งของรถตู้เป็นอย่างไร) พยานตอบว่าไม่ทราบเนื่องจากหมอบอยู่จึงไม่เห็นเหตุการณ์ และทนายยังได้ถามอีกว่าทราบหรือไม่ว่าเป็นเสียงปืนอะไร พยานตอบว่าแยกไม่ออก แม้ว่าศาลจะได้เปิดวิดีโออีกครั้ง ทนายได้ถามเขาว่า หลังเหตุการณ์มีการประสานเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มีการประสาน
พยานอีก 2 คน คือ ทหารพยาบาลที่ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บคือนายสมร ไหมทอง และ ด.ช.คุณากร โดยหลังเหตุการณ์สงบได้เข้าไปช่วยเหลือโดยการห้ามเลือดให้ แต่ไม่ได้ดูบาดแผลเนื่องจากขณะปฐมพยาบาลแสงไฟไม่สว่าง แต่ในตอนเช้าก็ได้เห็นรถตู้มีกระสุนปืนรอบคัน จากนั้นทนายได้นำผลการรักษามาอ่าน พบหัวกระสุนปลายแหลมหุ้มทองเหลืองในบาดแผลของนายสมร และได้ถามว่าใช่ลักษณะของหัวกระสุนปืน M16 หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ
ทหารพยาบาลอีกคนเป็นคนที่เข้าไปช่วย ด.ช. คุณากร ขณะช่วยพบบาดแผลที่ช่องท้องและลำไส้ไหล แต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด ไม่ทราบว่าพบเด็กคนนี้ได้อย่าง ทราบในภายหลังว่าคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ
นัดสืบพยานวันที่ 4 กรกฎาคม 2555[3]
พยาน
- พ.ท.พงศกร อาจสัญจร (ขณะนี้ยศพันเอก) ผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 (ผบ.ร. 1 พัน 3 รอ.)
- พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ รองผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 พัน 3 รอ.)
- ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ผบ.มว.อาวุธหนัก ร. 1 พัน 3 รอ.
- ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี
- ส.อ.วรากรณ์ ผาสุก กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ (ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี
พยานปากแรก พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ได้เบิกความว่า ในวันที่ 14 พ.ค. 53 ได้รับแจ้งว่ามีการรื้อกระสอบทรายที่แยกจตุรทิศ ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ให้ไปที่เกิดเหตุโดยมีรองผู้บังคับกองพันเป็นคนคุมกำลังไป 1 กองร้อย เป็นจำนวน 150 นาย แต่เนื่องจากจำนวนผู้ชุมนุมที่มีมากตนจึงได้รายงานไปที่ผู้บังคับการกรมฯ เพื่อนำกำลังไปที่เกิดเหตุอีก 1 กองร้อย จำนวน 150 นาย โดยหน่วยที่นำไปนั้นรักษาความปลอดภัยสถานที่และควบคุมฝูงชน โดยมีการใช้กฎเกณฑ์จากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน ในระหว่างนั้นไม่สามารถปฏิบิตหน้าที่ได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมล้อมอยู่ ในการจัดกำลังพลนั้น ใน 1 กองร้อยจะมีโล่ กระบอง ปืนลูกซองกระสุนยาง 30 กระบอก กระบอกละ 10 นัด รวมทั้งหมด 300 นัด และเขาได้อธิบายเพิ่มว่ากระสุนยางไม่เหมือนลูกแบลงค์ โดยลูกแบลงค์จะเป็นกระสุนซ้อมรบ จะมีแต่เสียงเพื่อให้เกิดความสมจริง โดยกระสุนจะเป็นหัวจีบ ไม่มีหัวกระสุน แต่ถ้าอยู่ในระยะ 1 ม. ความแรงของดินปืนจะทำให้ไหม้ได้ ส่วนกระสุนยางจะใช้กับปืนลูกซอง ซึ่งยิงได้ในระยะ 10 ม. เมื่อถูกยิงจะจุกแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต และไม่สามารถยิงทะลุผ่านเหล็กหรือไม้ได้
เวลาประมาณ 13.00 น. เขาได้นำกำลังไปที่ปากซอยรางน้ำ ถนนราชปรารภและเดินเข้าไปที่แยกจตุรทิศ ในขณะนั้นมีรถบรรทุกของทหารจอดอยู่บริเวรดังกล่าวแล้วมีผู้ชุมนุมเข้าไปแย่งยึดและกระชากทหารที่อยู่บนรถลงมา แต่หน่วยของเขาได้เข้าไปช่วยทหารทั้ง 2 นาย แต่ไม่สามารถนำรถออกมาได้ เนื่องจากถูกผู้ชมุนุมล้อมเอาไว้ โดยในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมอยู่ราวประมาณ 700 คน ทั้งบนสะพานจตุรทิศ และด้านล่างก็ยังมีผู้ชุมนุมและผู้สัญจรไปมาเนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการปิดเส้นทาง จากนั้นเขาจึงให้ผู้บังคับบัญชาปิดการจราจรให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ออกจากพื้นที่ไปเพื่อความปลอดภัย แต่เจ้าตัวก็ไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่ปิดหรือไม่ แต่อีก 20 นาทีต่อมา จึงไม่มีรถเข้าแล้วใช้เวลาประมาณ 1 ชม.
เขาได้ประเมินว่ามีคนอยู่จำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ของตนมีน้อยจึงได้ขอกำลังเสริมอีกกับผู้บังคับบัญชา จากนั้นจึงได้มีทหารจากกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ (ป.พัน.31.รอ.) เข้ามาราวสองกองร้อย โดยอยู่คนละฝั่งกับหน่วยของตนซึ่งอยู่ทางด้านขวา โดย ป.พัน.31.รอ. อยู่ทางซ้าย จนถึงเวลา 16.00 น. สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ประจำอยู่ใต้สะพานลอยหน้าโรงพยาบาลพญาไท 1 โดยอีก 1 กองร้อย ของพ.ท. ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์นำมาจะอยู่ที่แอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งตนประจำอยู่บริเวณดังกล่าวจนเสร็จในวันที่ 22 พ.ค. 53
ในช่วงค่ำ มีข่าวการแจ้งเตือนว่าให้ระวังการยิงมาในพื้นที่ และได้ยิน M203 ไม่ทราบจุดตก แต่ได้ยินมาจากด้านประตูน้ำ ในช่วงประมาณ 19.00 -21.00 น. ประมาณ 6-8 นัด และทราบว่าตกตรงสะพานลอยถนนราชปรารภ หน้าโรงแรมอินทราจากการรายงานทางวิทยุของ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ หลังจากนั้นราวเที่ยงคืนครึ่ง มีเสียงปืนดังติดต่อกันประปราย ทราบว่ามีรถวิ่งผ่านมา ตนอยู่ในมุมที่ไม่ได้ยินมากเพราะเสียงก้อง จากนั้นเสียงปืนสงบลง อัยการได้ถามว่าสามารถแยกเสียงปืนได้ไหมว่าเป็นปืนชนิดใด ในเมื่อทราบว่าเป็นเสียงระเบิดชนิดใด พยานได้ตอบว่าไม่แน่ใจเนื่องจากเสียงก้อง ในช่วงที่เกิดเหตุ พ.ท.พงศกร ได้มอบหน่วยของ พ.ท.ไชยยงค์ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตรซึ่งมียศสูงกว่าตนควบคุมหน่วยแทน ทนายได้ซักถามว่าทราบหรือไม่ว่ามีหน่วยใดบ้างนอกจากหน่วยของพยาน พ.ท.พงศกรตอบว่าไม่ทราบ ทราบเพียงว่ามี ป.พัน. 31 รอ. สุดท้ายทนายซักว่าสั่งการกันอย่างไรในสถานการณ์ พยานตอบว่าใช้วิทยุสั่งการ
พยานปากที่สอง พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ รองผู้บังคับการ ร.1พัน.3รอ. เบิกความถึงอาวุธที่นำมาใช้ ว่าหน่วยของตนมีปืนลูกซอง 30 กระบอก มี M16 20 กระบอก โดยมีการกำหนดตัวกำลังพลที่จะใช้ แต่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาก่อนคือ พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร พยานเบิกความความต่อว่า ปืนลูกซองจะอยู่ติดตัวกำลังพล แต่ M16 จะเก็บแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการแย่งชิง และการจะนำมาใช้ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาทราบและตัดสินใจก่อน กระสุนที่ใช้กับ M16 จะเป็นกระสุนซ้อมรบ คือลูกแบลงค์ ซึ่งจะแยกกันระหว่างปืนกับกระสุน โดยนำมา 400 นัด การบรรจุเหมือนการบรรจุกระสุนจริง ซองกระสนุจะบรรจุได้ 20 นัดต่อกระบอกลักษณะการใช้จะเป็นการยิงเตือน แต่สามารถยิงต่อเนื่องอัตโนมัติได้[4] และเขาได้เบิกความเกี่ยวกับการใช้กระสนุยางว่า การใช้กระสุนจริงและกระสุนยางแตกต่างกัน เช่น ลักษณะการบรรจุกระสุน ทิศทางการเล็ง เทคนิกก็จะต่างกัน จะยิงเพื่อให้หนีหรือหยุดกระทำ อัยการได้ถามว่าปืนกระสุนจริงกับกระสุนยางใช้ร่วมกันได้หรือไม่ พยานตอบว่าบางกระบอกใช้ได้ บางกระบอกใช้ไม่ได้ ใช้เฉพาะกระสุนยาง
พ.ท.ทรงสิทธิ์เบิกความถึงสถานการณ์ในคืนนั้นเอาไว้ว่า ไม่มีเหตุการณ์ปล้นปืนหรือกระสุนไป ในคืนนั้นตนและพ.อ.นัฐวัฒน์ อัครนิบุตร อยู่บนชั้น 2 ของแอร์พอร์ตลิงค์ ส่วนกำลังพลอยู่บนชั้น 3 โดยในช่วงกลางคืนมีเสียงปืนดังมาจากทุกทิศทาง มีกระสุน M79 มาตกที่แอร์พอร์ตลิงค์ หลายลูก นอกจากนี้เห็นระเบิดไม่ทราบชนิด แต่เห็นตอนเช้า โดยดูจากร่องรอยวิเคราะห์เอาว่าเป็น RPG ที่บริเวณตึกแถวฝั่งตรงข้ามโรงแรมอินทรา
พ.ท.ทรงสิทธิ์เบิกความต่อว่า เขาได้รับรายงานทางวิทยุจากส่วนกลางหรือส่วนควบคุมว่ามีรถตู้วิ่งมาจากทางด้านประตูน้ำ ในเวลาเที่ยงคืนหลังจากรถตู้วิ่งเข้ามาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลังเหตุการณ์ได้ลงไปดูกับผู้บังคับบัญชา มีรถมูลนิธิมารับผู้บาดเจ็บ แต่ตนไม่เห็นผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิต แต่ทราบภายหลังว่ามีนายพัน คำกอง ได้รับบาดเจ็บและ คนขับรถตู้(นายสมร ไหมทอง) และเด็ก(ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ)
จากนั้นอัยการได้เปิดวิดีโอของนักข่าวเนชั่น ซึ่งถ่ายเหตุการณ์ไว้ได้และได้ถามว่าเสียงปืน 20 นัดดังกล่าว เป็นเสียงจากปืนชนิดใด พยานตอบว่ามีทั้งปืน M16 และลูกซอง แต่เสียงของ 2 นัดสุดท้าย เป็นเป็นปืนยาวแต่เสียงอยู่ไกลมากไม่ใช่พื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นเสียงลูกซ้อมหรือลูกจริง และลูกซ้อมจะมีประกายไฟได้ และอัยการได้ถามอีกว่าพบชายชุดดำในช่วงที่มีการปฏิบัติการหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มีการรายงานถึงเรื่องชายชุดดำ
พยานปากที่สาม ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ผบ.มว. อาวุธหนัก จาก ร.1พัน 3 รอ. คุมกำลังอยู่ใต้แอร์พอร์ตลิงค์บริเวณแยกจตุรทิศ เบิกความว่า กระสุนยางบรรจุเหมือนกับกระสุนจริง และปืนสามารถใช้ได้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ท่าการยิงเหมือนกันไม่มีท่าเฉพาะ ส่วนเสียงปืนนั้น พยานกล่าวว่าเสียงลูกแบลงค์กับลูกกระสุนจริงจะแตกต่างกัน โดยกระสุนจริงเสียงจะดังแน่นกว่า
ร.อ.เกริกเกียรติ เบิกความต่อว่าในวันที่ 14 พ.ค. นั้น ได้นำกำลังไปวางที่หน้าโรงหนังโอเอ อยู่ในซอยหลังกำแพง และช่วงเหตุการณ์รถตู้เข้ามานั้นตนกำลังพักจึงไม่ทราบเหตุการณ์ภายนอก ทราบในช่วงเช้าจากที่มีรายงานทางวิทยุ และทราบแต่เพียงว่ามีคนเจ็บ ไม่ทราบว่ามีคนเสียชีวิต แต่ทราบในภายหลังจากหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว และอัยการได้เปิดวิดีโออีกครั้งเพื่อถามว่าเสียงปืนที่ดังเป็นปืนชนิดใด พยานตอบว่าไม่สามารถแยกได้
ทนายได้ซักถามถึงเรื่องอาวุธปืนของหน่วยที่นำมาใช้ว่ามีอะไรบ้าง ร.อ.เกริกเกียรติระบุว่ามี M16A1 และทาโวร์ ส่วนปืนลูกซองที่นำมาใช้ไม่ใช่ของหน่วยพึ่งได้รับมาในช่วงเหตุการณ์ ส่วนกระสุนหน่วยของตนใช้เป็นกระสุนหัวตะกั่วหุ้มทองแดง
และเขาไม่ทราบว่ามีหน่วยใดอยู่ที่บริเวณแอร์พอร์ตลิงค์บ้าง ตนไม่ได้ประสานกับหน่วยข้างเคียงเพราะเป็นเรื่องของผู้บัญชาการ
พยานปากที่สี่ ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่าหน่วยของตนอยู่ฝั่งซ้ายของแอร์พอร์ตลิงค์ หากหันหน้าไปทางประตูน้ำหรือฝั่งคอนโด ไอดีโอ พยานเบิกความเรื่องอาวุธไว้ว่าอาวุธประจำกายของตนคือ M16 และกระสุนซ้อมรบ(กระสุน แบลงค์) 20 นัด ซึ่งติดมาจากลพบุรี และมีหลักเกณฑ์การใช้อาวุธก็ต่อเมื่อตนเองหรือคนอื่นจะได้รับอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และห้ามใช้อาวุธกับเด็ก สตรี และผู้ไม่มีอาวุธ
ส.อ.ชิตณรงค์เบิกความต่อว่า เวลาประมาณเที่ยงคืนได้ยินเสียงรถประชาสัมพันธ์บอกให้รถตู้กลับออกไป ให้ใช้เส้นทางอื่น เป็นเวลา 10 นาที ต่อมาได้ยินเสียงคล้ายเสียงปืนไม่ทราบทิศทาง เพราะเสียงก้อง ไม่ทราบจำนวนนัด รถตู้ได้มาหยุดที่ใต้แอร์พอร์ตลิงค์ ใกล้กับรถประชาสัมพันธ์ ในขณะนั้นไม่พบชายชุดดำ หรือคนอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร แต่เขาไม่ได้เข้าไปที่เกิดเหตุเนื่องจากไม่ได้รับคำสั่ง และเห็นรถพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ทราบภายหลังว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 1 คน และไม่ทราบว่าคนเสียชีวิตอยู่บนรถตู้หรือไม่ ส่วนกำลังพลของเขาไม่ได้รับบาดเจ็บและอาวุธไม่ได้ถูกแย่งชิงไป ทนายได้ซักถามเรื่องชายชุดดำว่าตามความเข้าใจของพยานชายชุดดำมีลักษณะอย่างไร คือชายชุดดำถืออาวุธ หากใส่ชุดดำแต่ไม่ถืออาวุธไม่ใช่ชายชุดดำ
พยานปากที่ห้า ส.อ. วรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าหน่วยของตนอยู่ที่ฟุตปาธหน้าคอนโด ไอดีโอ แอร์พอร์ตลิงค์ ใกล้ตู้โทรศัพท์ ตรงร้านอินเดียฟู้ดส์ ซึ่งอยู่ที่เดียวกับ ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล เขาได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่า รถตู้ที่เกิดเหตุมาเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่า ออกมาจากซอยวัฒนวงศ์ หรือราชปรารภ 8 มีเสียงประกาศให้รถถอยกลับออกไปราว 10 นาที แต่ไม่มีใครลงจากรถหรือถอยกลับไป โดยขณะนั้นหน่วยของเขาอยู่ใกล้สุดคือห่างประมาร 80 ม. โดยปากซอยมีรั้วลวดหนามวางเอาไว้ด้วย อัยการได้ถามว่าได้มีการเข้าไปเตือนโดยตรงหรือไม่ พยานปฏิเสธว่าไม่ได้มีการเข้าไปเตือนโดยตรงเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นรถอะไร จากนั้นรถได้ออกจากซอยวัฒนวงศ์เลี้ยวไปทางแอร์พอร์ตลิงค์ รถประชาสัมพันธ์ยังคงประกาศเตือนต่อ แต่รถตู้ยังวิ่งเข้าหา หลังจากนั้นได้ยินเสียงคล้ายเสียงปืนดังขึ้นแต่ไม่ทราบทิศทาง ขณะเกิดเหตุเขาหมอบหลบนอนราบกับพื้นอยู่ไม่ได้มองว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีใครได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ส่วนกำลังพลไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
อัยการได้ซักถามเรื่องชายชุดดำกับ ส.อ.วรากรณ์ เขาได้ยืนยันว่าตลอดเวลาที่อยู่ไม่ชายชุดดำ ไม่พบหน่วยอื่นนอกจากทหาร ส่วนฝั่งตรงข้ามบริเวณโรงแรมอินทรา ไม่ทราบว่ากลุ่มคนที่มายืนอยู่เป็นใคร อัยการสอบถามว่าหากไม่ทราบว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นใครแล้วได้มีการรายงานกับผู้บังคับบัญชาหรือไม่ เขาตอบว่าไม่มีการแจ้ง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้บังคับกองร้อย
นัดสืบเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555[5]
พยาน
- ทหารจากปราจีนบุรี 2 นาย
- พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด
การสืบพยานครั้งนี้พยานที่มาให้การทั้งหมดไม่ได้ให้การที่เกี่ยวข้องกับคดีพัน คำกอง เนื่องจากทหารจากปราจีนบุรี 2 คนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และให้การแต่ในส่วนของวันที่ 10 เมษายน และ 1 ใน 2 คนนั้นเบิกความว่าถูกยิงที่เข่าจากเหตุการณ์ในช่วงบ่ายที่ถนนตะนาว โดยเขาได้เห็นชายคนหนึ่งชักปืนออกมายินตนเองด้วย
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เบิกความว่าตนไม่ทราบรายละเอียดเหตุการณ์ยิงรถตู้วันที่ 15 พ.ค. เพราะรับผิดชอบแต่ส่วนนโยบาย แต่มีการเบิกความไล่เหตุการณ์ตั้งแต่ เริ่มการชุมนุม 12 มี.ค. และสาเหตุที่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าผู้ชุมนุมได้มีการบุกรัฐสภาและมีการยื้อแย่งอาวุธ แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ยึดตามหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ซึ่งท้ายสุดจะมีการยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้าหรือหากไม่ได้ผลก็จะมีการยิงไปในทิศทางที่ปลอดภัย ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่และจะยิงต่อเป้าหมายก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นจะทำร้าย ประทุษร้ายต่อประชาชนหรือเจ้าหน้าที่เท่านั้นและมุ่งให้หยุดการกระทำไม่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต
และให้การอีกว่า ในวันที่ 10 มีการขอคืนพื้นที่ จากผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า ในวันดังกล่าวมีการปะทะกันแต่ไม่มีใครเสียชีวิต กระทั่งก่อนเวลา 17.00 น. เนิ่มมีการปะทะกันมากขึ้น ขณะที่แสงสว่างกำลังจะหมด ศอฉ. จึงมีการสั่งให้หยุดปฏิบัติการและถอนกำลังออก แต่ที่สี่แยกคอกวัวไม่สามารถถอนกำลังออกได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมเอาไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขณะที่ชายชุดดำแฝงตัวมาในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธยิงเข้ามาจนทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว รวมถึงพ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมด้วย
พ.อ.สรรเสริญยังยืนยันถึงเรื่องมีคำสั่งถอนกำลังว่าเป็นจริงเมื่อถูกทนายซักถามถึง โดยเขาได้ตอบว่า มีมติให้สั่งถอนกำลัง โดยในที่ประชุมมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่วนตนเองเดินเข้าๆออกๆ สำหรับการสั่งการ ศอฉ. ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะใช้การสั่งการทางวิทยุ โดยแต่ละหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่วิทยุเข้าไปในที่ประชุมอยู่แล้วและสามารถสั่งการได้เลย นอกจากนี้ยังระบุว่าคำสั่งกระชับวงล้อมนั้นอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ตามเอกสารที่นำส่งศาล ส่วนจะใช้กำลังเท่าไหร่ อาวุธอะไรบ้างนั้นตนไม่ทราบรายละเอียด
ในวันนั้นในช่วงบ่ายที่บริเวณสะพานปิ่นเกล้าและถนนดินสอ มีผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าแย่งอาวุธของทหาร มีการนำไปแสดงบนเวทีแต่ไม่ได้ส่งคืน ทหารสามารถยึดคืนได้จำนวนมากแต่มีบางส่วนที่สูญหาย โดยแจ้งความไว้ที่สน.บางยี่ขัน ปืนที่หายได้แก่ ทาโวร์ 12 กระบอก ปืนลูกซอง 35 กระบอก
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวถึงการปรับกำลังในช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 10 เอาไว้ว่า ได้มีการปรับกำลังพลหลังจากที่พยายามผลักดันผู้ชุมนุมมานานแต่ไม่สำเร็จว่า ได้มีการปิดเส้นทางต่างๆ มากขึ้น และปรับกำลังในการรับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ โดยมี พล. 1 รอ. จำนวน 22 กองร้อย รักษาความสงบ และ 19 กองร้อย ปราบจลาจล เข้าปิดถนนเส้นทาง ราชปรารภ เพชรบุรี พญาไท ราชวิถี ศรีอยุธยาแต่ก็ยังไม่สำเร็จนักเนื่องจากมีตรอกซอกซอยเป็นจำนวนมากจนกระทั่ง วันที่ 19 พ.ค. 53 ศอฉ. มีคำสั่งกระชับวงล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาทหารถูกชายชุดดำโจมตีด้วย M79 แต่ทหารไม่ได้ไปจนถึงเวที
นัดสืบพยานวันที่ 11 กรกฎาคม 2555[6]
พยาน
- พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต ผกก.สภ.บ้านไร่ อ.ศรีสำโรง จว.สุโขทัย ผู้ควบคุมกองร้อยควบคุมฝูงชนตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัย
- พ.ต.ท.วีรเมศว์ วีรสุธีกุล สวป.สภ.ขาณุวรลักษบุรี จว.กำแพงเพชร ผู้ควบคุมกองร้อยควบคุมฝูงชนตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร
- ด.ต.ธีรพงษ์ เย็นใจราษฎร์ มาจากหน่วยเดียวกันกับพ.ต.ท .วีรเมศว์ ผู้ขับรถหกล้อในการขนส่งกองร้อยและในวันเกิดเหตุผู้ขับรถขนสัมภาระ
พยานคนแรก พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต เบิกความว่าในวันที่ 14 พ.ค. 53 ตนได้นำหน่วยเข้าไปกั้นถนนบนแยกจตุรทิศซึ่งมีกำลังพล 150 นาย ตามคำสั่งของทหาร เนื่องจากเกรงว่าจะมีการปิดถนนจึงให้พยานได้เข้าไปเจรจาก่อนแต่เนื่องจากไม่สามารถคุมได้ทหารจึงจะนำรถน้ำมาใช้ฉีดประชาชน แต่กลับถูกปล่อยลมยางเสียก่อน ทหารจึงสั่งให้ถอยเพราะจะทำการ “ขอคืนพื้นที่” และจะมีการใช้แก๊ซน้ำตา ตำรวจจึงไปหลบตามซอยต่างๆ จนกระทั่งถึง 16.00 น. ตนจึงได้รับคำสั่งให้ตามกำลังกลับมา ซึ่งในเวลานั้นไม่มีประชาชนอยู่แล้วเหลือแต่ทหารที่ยึดพื้นที่ไว้ได้หมดแล้วโดยมีการกั้นลวดหนามทั้งสี่ทิศของแยกจตุรทิศ รถสัญจรไปมาไม่ได้แล้ว โดยเขาได้เบิกความต่ออีกว่า ได้มีการจัดกำลังตำรวจ 40 นาย อยู่เป็นแนวหลังของทหารใต้สะพานฝั่งไปซอยหมอเหล็ง ซึ่งเป็นถนนขนานกับสะพาน ส่วนกำลังพลที่เหลือได้พักที่บริษัทโตโยต้า
อัยการได้ถามพ.ต.อ.สุขเกษม ว่ากำลังพล 40 นายนั้นมีการติดอาวุธหรือไม่ เขาได้ตอบว่ามีเพียงตัวเปล่า ไม่มีอาวุธประจำกายแม้แต่โล่และกระบอง ซึ่งทหารได้สั่งให้หน่วยของตนระวังหลังให้ อัยการถามต่อว่าทหารในเวลานั้นมีอาวุธปืนหรือไม่ เขาตอบต่อว่ามีปืนลูกซองและปืนเล็กยาว ไม่แน่ใจว่าเป็น M16 หรือ HK (HK 33) ซึ่งพลทหารจะใช้ปืนลูกซอง ส่วนนายสิบขึ้นไปจะใช้ปืนเล็กยาว โดยมีทหารประจำอยู่กับหน่วยของพยานด้วย 1 ชุด และจะมีอยู่ตรงถนนราชปรารภทางไปประตูน้ำ แอร์พอร์ทลิงค์และทางไปโรงพยาบาลพญาไท 1
พ.ต.อ.สุขเกษมเบิกความต่อว่า หลัง 2 ทุ่ม จะมีประชาชนเข้าออกพื้นที่จึงได้มีการสอบถามและมีการตรวจค้น ซึ่งช่วงหัวค่ำจะมีเสียงปืนดังตลอดจากทางประตูน้ำ แต่ไม่ได้ออกไปดู และเบิกความถึงช่วงเกิดเหตุว่า หลังเที่ยงคืนได้ยินเสียงรถประกาศของทหารบอกรถตู้อย่าเข้ามาสักพักไม่กี่นาที ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดหลังจากเสียงสงบลงตนก็ได้มองดูเห็นรถตู้จอดอยู่ใกล้รถประกาศของทหาร ตอนประชุม 10 โมงเช้า ตนได้เห็นรอยกระสุนปืนบนรถตู้หลายสิบรอย อัยการถามว่าทราบเหตุการณ์ยิงรถตู้หรือไม่ เขาตอบว่า ตนเข้าใจว่าเป็นการยิงเพื่อหยุดรถไม่เข้ามา และอธิบายเพิ่มว่า เพราะรถกำลังจะเข้ามาที่กองบัญชาการ ทหารจึงยิงเพื่อหยุด และพ.ต.อ.สุขเกษมได้ปฏิเสธว่าไม่พบเห็นชายชุดดำและไม่มีการพูดในที่ประชุมเมื่ออัยการถามเขาว่าได้พบเห็นชายชุดดำบ้างหรือไม่ เขาได้ให้เล่าถึงการใช้รถประกาศของทหารว่า เสียงจากรถทหารนั้นจะได้ยินเสียงประกาศเตือนตั้งแต่ช่วงหัวค่ำซึ่งจะถี่ เช่นมีคนข้าม หรือรถแท็กซี่เข้ามาก็จะมีการประกาศเตือน แต่พอดึกแล้วจะไม่ถี่
พยานคนที่สองพ.ต.ท .วีรเมศว์ วีรสุธีกุล และสามคือ ด.ต.ธีรพงษ์ เย็นใจราษฎร์ เบิกความว่าเห็นทหารในพื้นที่ถือปืนยาว M16 และลูกซอง ไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารถือโล่และกระบองหรือไม่ ส่วนตัวเขาเองมีปืนพก แต่ไม่ได้นำมาออกมาใช้
นัดสืบพยาน 18 กรกฎาคม 2555[7]
พยาน
- พ.ต.ท. ธีรนันต์ นคินทร์พงษ์ กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
- พยานจากกองพิสูจน์หลักฐานอีก 3 นาย
พยานที่มาในการสืบพยานครั้งนี้เป็นเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐาน เบิกความเกี่ยวกับการพิสูจน์หัวกระสุนที่พบในตัวนายพัน คำกอง โดยมีการเบิกความว่าหัวกระสุนที่พบในร่างนายพันนั้นเป็นกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มม.) ซึ่งใช้กับปืนเล็กกลและไรเฟิลได้ เช่น M16, HK และทาโวร์ และเป็นกระสุนชนิดเดียวกับที่ใช้ในปืนของทหารที่นำส่งตรวจ แต่ลักษณะรอยตำหนิพิเศษของหัวกระสุนที่ยิงจากปืนที่ได้มีการส่งตรวจนั้น ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นปืนกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงนายพันหรือไม่ โดยรอยตำหนินั้นในการยิงจากปืนแต่ละกระบอกนั้นจะไม่เหมือนกันตามลำกล้องของปืนแต่ละกระบอก แต่ลำกล้องปืนนั้นสามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้และหากมีการเปลี่ยนลำกล้องปืนก็จะไม่สามารถยืนยันได้
พ.ต.ท. ธีรนันต์ นคินทร์พงษ์ ได้เบิกความว่า การพิสูจน์เปรียบเทียบหัวกระสุนที่อยู่ในร่างผู้เสียชีวิตกับอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้ในการปฏบัติการในพื้นที่ดังกล่าว โดยหน่วยงานตรวจสอบได้รับมอบปืนกลเล็ก 5 กระบอก ของ ป.พัน.31 รอ. ในวันที่ 1 มิ.ย. 54 จากพนักงานสอบสวนพญาไทอีกที โดยเขาได้บอกว่า “ปรากฎว่ากระสุนของกลาง ไม่ได้ใช้ยิงมาจากปืนทั้ง 5 กระบอกนี้”
อัยการได้มีการสอบถามถึงเหตุที่ไม่เหมือนกัน เขาได้ตอบว่า พิจารณาจากตำหนิรอยร่องเกลียว ซึ่งเกิดจากการที่กระสุนวิ่งผ่านลำกล้องปืน โดยแต่ละกระบอกนั้นตำหนิจะไม่ซ้ำกัน[8] และลำกล้องปืนนั้นสามารถถอดเปลี่ยนได้ และได้ตอบอีกว่า กระสุนที่พบในร่างนายพันเป็นกระสุนปืนเล็กกล .223 ซึ่งสามารถใช้กับปืนเล็กกลและปืนไรเฟิลได้ เช่น M16, HK และทาโวร์ เป็นต้น และกระสุนปืนที่พบนั้นสามารถใช้ยิงจากปืนของทหารที่นำมาส่งตรวจได้
ทนายได้มีการซักถามว่าปืนที่ใช้ก่อเหตุนั้นได้มีการเปลี่ยนลำกล้องก่อนส่งตรวจจะสามารถยืนยันว่ากระสุนนั้นมาจากปืนที่ส่งตรวจได้หรือไม่ เขาได้ตอบว่าไม่ได้เนื่องจากจะทำให้รอยตำหนิเปลี่ยนไป และศาลได้ถามว่าขณะยิงจะมีไฟออกที่ปากกระบอกปืนหรือไม่ เขาตอบว่ามีแต่ไม่มากเนื่องจากมีปล่องควบคุม
นัดสืบพยาน 24 กรกฎาคม 2555[9]
พยาน
- พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ผู้เชี่ยวชายด้านอาวุธปืน ทำหน้าที่ตรวจสอบอาวุธปืน
- พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
- พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุนปืน สตช. ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน
- พยานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานอีก 3 นาย (รอเช็ค)
พยานที่มาในวันนี้ได้มีการเบิกความว่าหัวกระสุนที่อยู่ในร่างนายพัน คำกองเป็นกระสุนปืนเล็กกล ทองแดงหุ้มเหล็กและตะกั่ว ขนาด .223(5.56 มม.) แบบ M 855 ซึ่งสามารถใช้กับปืนเล็กกล เช่น M16 และทาโวร์ เป็นกระสุนชนิดเดียวกันกับที่อยู่ในร่างนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู่ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์เดียวกัน รวมทั้งยังเป็นกระสุนชนิดเดียวกันที่ใช้กับปืนของเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.1 พัน 3 รอ และ ป.พัน 31 รอ. ที่พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ส่งมาให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจ
โดยลักษณะรอยตำหนิพิเศษของหัวกระสุนที่ถูกยิงจากลำกล้องของปืนที่ส่งตรวจนั้น ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นปืนกระบอกเดียวกันกับที่ใช้ยิงผู้ตาย เนื่องจากตำหนิจะเกิดจากลำกล้องปืนแต่ละกระบอกที่ไม่เหมือนกันแต่หากมีการเปลี่ยนลำกล้องเจ้าที่พิสูขน์หลักฐานยืนยันว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้
พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ได้เบิกความว่าลำกล้องของเจ้าหน้าที่ว่าตัวลำกล้องไม่มีหมายเลขประทับ ไม่มีการตอกหมายเลข และการเปลี่ยนลำกล้องนั้นสามารถทำได้หากเจ้าหน้าที่ในภาคสนามมีความสามารถที่จะเปลี่ยนโดยการเปลี่ยนลำกล้องปืนนั้นใช้เวลาเพียง 15 นาที
ทนายได้ซัก พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก ถึงการยิงสกัดรถตู้ที่ไม่ได้หมายชีวิตกับการยิงเพื่อหมายชีวิตแตกต่างกันหรือไม่ เขาได้ตอบว่าแตกต่างกัน โดยการยิงที่ไม่ได้ต้องการเอาชีวิตจะยิงในส่วนที่ไม่สำคัญหรือยิงที่บริเวณล้อรถ จากนั้นทนายได้นำรูปรถตู้ของนายสมรให้เขาดู พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ได้ตอบว่ารอยกระสุนบนรนั้นเชื่อได้ว่าเป็นการยิงซึ่งอาจจะมีผลต่อชีวิตได้
พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัยได้เบิกความว่าตามรูปถ่ายรถตู้จุดที่กระสุนเข้ามากที่สุดเป็นประตูด้านขวาฝั่งคนขับ ทนายได้ถามว่าหากยิงเพื่อสกัดหยุดรถควรจะทำอย่างไร เขาได้ตอบว่าควรจะยิงที่ยางหรือห้องเครื่อง และศาลได้ถามอีกว่าการยิงมาที่ตำแหน่งคนขับตามภาพแสดงว่าอะไร เขาได้ตอบอีกว่า “คิดว่ามีลักษณะที่คาดว่ายิงให้คนขับถึงแก่ชีวิต”
อัยการได้เปิดวิดีโอของนายคมสันติ ทองมาก อดีตช่างภาพเนชั่นแชนเนล ที่ถ่ายไว้เมื่อคืนวันที่ 14 พ.ค. 53 ให้พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ดู และเขาได้เบิกความว่ามีความเป็นไปได้สูงว่ารถตู้คันดังกล่าวถูกยิงด้วยอาวุธสงคราม และศาลได้ถามว่าอะไรคืออาวุธสงคราม เขาอธิบายว่าคือปืนเล็กกล หรือเรียกว่า M16 และบอกในวิดีโอดังกล่าวมีทหารถือ M16 และปืนลูกซองด้วย
นัดสืบพยาน วันที่ 25 กรกฎาคม 2555[10]
พยาน
- พ.ต.ท.สมิต นันท์นฤมิตร พนักงานสอบสวน สน.พญาไท
- น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมต.ไอซีที ในช่วงเหตุการณ์เป็นเลขาธิการศูนย์ติดตามช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยของประชาชน(ศชปป.)
พ.ต.ท. สมิต นันท์นฤมิตร ได้เบิกความว่า วันเกิดเหตุหลังจากที่ผู้ตายนำรถแท็กซี่ไปส่งที่อู่ แล้วเดินกลับที่พัก แต่ไม่สามารถกลับได้จึงไปพักกับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คอนโดไอดีโอ ขณะเกิดเหตุมีเสียงทหารประกาศเตือนห้ามรถตู้ของนายสมร ไหมทองที่ขับเข้ามาบริเวณนั้น จากนั้นมีการยิงสกัดรถตู้ ทำให้นายพันที่อยู่บริเวณนั้นถูกยิงด้วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ผลการตรวจหัวกระสุนในร่างนายพัน คำกองและนายสมร ไหมทอง เป็นกระสุนปืนความเร็วสูง และทหารมีกระสุนชนิดนี้ใช้ พร้อมทั้งในพื้นที่เกิดเหตุอยู่ในการควบคุมของทหาร และจากการตรวจที่เกิดเหตุพบว่าแนวบังเกอร์ทหาร รถตู้นายสมรที่ถูกยิง และบริเวณสำนักงานขายคอนโดไอดีโอ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ตายอยู่เป็นจุดที่แนววิถีตรงกัน พนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้เบิกความต่อศาลถึงการสรุปสำนวนคดีนี้ว่า นายพัน คำกองเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ยิงรถตู้นายสมร ไหมทอง แล้วพลาดไปโดน
พยานคนถัดมา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เบิกความว่า ในการสลายการชุมนุมมีการใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าจำนวนมาก ซึ่งกระสุนจะตกกลับลงมาซึ่งกระสุนที่ตกลงมานั้นสามารถทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ และในระดับสากลนั้นการสลายการชุมนุมนั้นจะต้องมีการประกาศล่วงหน้าแต่ไม่มีการประกาศล่วงหน้า ในวันที่ 10 เม.ย. 53 นั้น มีการใช้แก๊สน้ำตามาจากอากาศยาน(เฮลิคอปเตอร์) ลงมาในที่ชุมนุมที่มีคนจำนวนมากและไม่มีการประกาศเตือน ทั้งที่น้ำหนักของกระป๋องแก๊สน้ำตา ที่ตกลงมาก็มีความอันตราย
อัยการได้ถามถึงลำดับการบังคับบัญชาในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร น.อ.อนุดิษฐ์ได้อธิบายว่าจะต้องสั่งลงมาตามลำดับขั้นแม้สุดท้ายผู้บังคับกองพันจะเป็นคนสั่งให้พลทหารภายใต้สังกัดตัวเองบรรจุกระสุน แต่ผู้พันเองก็ไม่มีอำนาจไปสั่งให้ใครยิงได้จนกว่าผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าจะสั่งการลงมาเพราะฉะนั้นในการปฏิบัติการทางทหารผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวคือผู้บังคับบัญชาที่สูงที่สุดในการกำกับดูแล อัยการได้ถามว่าผู้บังคับบัญชาสูงสุดในขณะนั้นคือใครเขาได้ตอบว่าถ้าดูคำสั่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถือเป็นผู้กำกับการปฏิบัติการ ซึ่งได้ถูกแต่งตั้งโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อัยการถามต่ออีกว่ากรณีแบบนี้นายกรัฐมนตรีจะพ้นความรับผิดชอบที่ได้จัดตั้ง ศอฉ. แต่งตั้งผู้อำนวยการ ศอฉ. ได้หรือไม่ น.อ.อนุดิษฐ์ เบิกความว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ให้ภาระความรับผิดชอบในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แล้วการดำเนินการดังกล่าวแล้วไม่สามารถทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ตั้งแต่ 10 เม.ย. ถึง 19 พ.ค.53 ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทนายได้สอบถามในประเด็นนี้ต่อว่าถึงรัฐบาลขณะนั้นได้มีการพยายามหยุดยั้งการตายและเจ็บหรือไม่ เขาได้ตอบว่า ยังคงมีอย่างต่อเนื่องภายหลังจาก 110 เม.ย. 53 เพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารและอาวุธ
น.อ.อนุดิษฐ์ ยังได้เบิกความถึงการสลายการชุมนุมในปี 2552 ที่นำมาสู่การบาดเจ็บ ในภายหลังเหตุการณ์ทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของแต่ละคณะกรรมาธิการ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการใช้กำลังในช่วงตี 2 – 3 ของวันที่ 12 เม.ย.52 ที่เข้าสลายการชุมนุมผู้ชุมนุมที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และผลักดันที่ทำเนียบรัฐบาลภายหลังนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมาธิการทุกชุดที่ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้สรุปการสลายการชุมนุมในเวลากลางคืนโดยกำลังทหารและอาวุธสงคราม กระสุนจริง ไม่สามารถทำได้ จะสลายได้เฉพาะเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจนตก ส่วนการใช้กระสุนจริงจะกระทำไม่ได้
น.อ.อนุดิษฐ์ได้เบิกความว่าในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน พ.ค.53 เขาและส.ส.หลายคนได้มีการใช้ช่องทางสื่อสารของรัฐบาลทั้งทีวีและวิทยุ เช่น ช่อง 3 และช่อง 11 ให้ฝ่ายค้านได้ทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้การสถานการณ์คลี่คลายแต่ถูกปฏิเสธ ทนายได้ถามความเห็นเขาว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณมักอ้างถึงชายชุดดำยิงผู้ชุมนุมหรือผู้ชุมนุมยิงกันเอง เขาได้ตอบว่า “จะเกิดจากชายชุดดำอย่างไรเป็นเรื่องที่รัฐบาลขณะนั้นต้องพิสูจน์ แต่หน้าที่ของรัฐบาลต้องปกป้องประชาชน ไม่ใช่นำเอาอาวุธมาดำเนินการกับประชาชน”
ศาลได้ถามน.อ.อนุดิษฐ์เกี่ยวกับวิดีโอที่ถ่ายโดยนายคมสันต์ ทองมาก ว่ามีชายชุดดำหรือไม่ เขาได้ตอบว่าเป็นไปไม่ได้ ในทางการทหารพื้นที่นั้นได้ถูก “สถาปนาพื้นที่” ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีแต่กำลังทหาร การวางกำลังนั้นจะไมได้มีการวางเพียงแนวเดียวแต่จะมีการวางกำลังแนวหน้า รวมไปถึงแนวหลัง แนวสนับสนุน เป็นต้น เพราะฉะนั้นแนวปะทะแบบในวิดีโอ ตรงนั้นจะเป็นส่วนแนวหน้า เพราะฉะนั้นในแนวอื่นจะไม่อนุญาตให้ชายชุดดำมาอยู่ร่วมกับแนวหน้าได้เลย ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้
นัดสืบพยานวันที่ 21 สิงหาคม 2555(เลื่อน)[11]
พยาน
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
- นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ เป็นผอ.ศอฉ. ในช่วงสลายการชุมนุม
ไม่มีการสืบพยานเนื่องจากมีการขอเลื่อนนัด 15 วัน โดยนายสุเทพอ้างว่าหมายศาลที่ส่งมาให้นั้นส่งมาให้กระชั้นชิดเกินไปโดยเขาได้รับหมายเรียกเมื่อวันที่ 15-16 ส.ค. 55 จึงทำให้เตรียมข้อมูลไม่ทัน
นัดสืบพยานวันที่ 28 สิงหาคม 2555(เลื่อน)[12]
พยาน
- พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.
- พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 1
ไม่มีการสืบพยาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขอเลื่อนเนื่องจากติดภารกิจ ส่วนพล.อ.คณิต สาพิทักษ์ขอเลื่อนเพราะต้องไปดูงานต่างประเทศ ทนายได้กล่าวด้วยว่ายังคงติดใจอยู่จากการขอเลื่อนดังกล่าว เนื่องจากพยานซึ่งขอหมายเรียกไปนั้นก็เพื่อต้องการได้ข้อเท็จจริงจากพยานแต่ละปาก ซึ่งถ้าพยานแต่ละปากมา ก็จะได้ทราบว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างไร แต่ศาลก็เห็นว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงที่ผ่านมามีข้อมูลเพียงพอที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคดี (การเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐ) ได้แล้ว
นัดสืบพยานวันที่ 30 สิงหาคม 2555[13]
พยาน
- นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและเป็นผอ.ศอฉ. ในช่ววงสลายการชุมนุม
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมันตรี
- พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ มีตำแหน่ง รักษาการ ผบ.ตร. ในขณะนั้น
พยานปากแรก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความว่า เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ได้ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า และยึดถนนราชดำเนิน นายกรัฐมนตรีจึงใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ตั้ง ศอรส. โดยได้รับการอนุมัติจาก ครม. เพื่อคลี่คลายสถานการณ์แต่ต่อมาผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ คุกคามการใช้ชีวิตโดยสงบของประชาชนทั่วไป มีการก่อเหตุร้าย ยิงปืน M 79 ระเบิดชนิดขว้าง ใส่สถานที่ราชการและเอกชน จนเกิดความหวาดหวั่น ปลุกระดมด้วยข้อความที่ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลและสถาบันอันเป็นที่เคารพ และหลังจากผู้ชุมนุมบุก ก.ก.ต.และรัฐสภา พร้อมด้วยอาวุธ และเข้ายึดอาวุธจากเจ้าหน้าที่ ครม.จึงเห็นชอบประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เมื่อ 7 เมษายน 2553 พร้อมมอบหมายให้เขาเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. เพื่อป้องกันเหตุร้าย คลี่คลายสถานการณ์ให้ปกติสุข และดำรงไว้ซึ่งอำนาจรัฐและความมั่นคงปลอดภัยของบ้านเมือง
นายสุเทพ เบิกความต่อว่า ศอฉ.มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการระดมกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อป้องกันยับยั้งเหตุร้าย โดยสายบังคับบัญชายังมีอยู่ตามปกติ ทั้งนี้เขายืนยันว่า ศอฉ.ไม่เคยมีคำสั่งสลายการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว โดยตลอดเวลา 2 เดือนครึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นการแก้ไขตามสถานการณ์ในแต่ละเวลา เช่น เมื่อ นปช.ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า และยึดราชดำเนินทั้งสาย ทั้งยังยึดสี่แยกราชประสงค์ ก่อให้เกิดปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ อย่างรุนแรง ศอฉ.จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุม เพื่อขอคืนพื้นที่บางส่วน เพื่อแก้ปัญหาจราจรตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และการผลักดันผู้ชุมนุม ไม่ใช่การสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังบังคับให้เลิกโดยเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการดันให้ผู้ชุมนุมถอยร่น เพื่อคืนพื้นที่บางส่วนสำหรับใช้ในการจราจร
นายสุเทพได้เบิกความอธิบายการปฏิบัติการในวันที่ 10 เมษายน เอาไว้ว่า ศอฉ. มีคำสั่ง 1/53 ระบุวิธีปฏิบัติในการควบคุมฝูงชน โดยสาระสำคัญในการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอยู่ในภาคผนวก 9 ว่าด้วยการใช้กำลัง ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามหลักสากล ตั้งแต่ โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองกระสุนยาง ซึ่งมีการแจ้งให้ประชาชนและผู้ชุมนุมทราบโดยตลอด ทั้งนี้ รับว่าหนังสือดังกล่าวประทับตรา “ลับมาก” ไม่เผยแพร่สู่ประชาชนตามระเบียบของราชการ แต่ ศอฉ.และรัฐบาลก็ได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยตลอด ในส่วนของการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ในแถวหน้าจะให้ถือโล่ กระบอง แถวถัดมาเป็นรถฉีดน้ำ และปืนลูกซอง มีการอนุญาตให้มีอาวุธปืนเล็กยาวได้ไม่เกิน 10 คนต่อหน่วย โดยคนถือจะต้องเป็นผู้บังคับหมู่ขึ้นไป เพื่อใช้ป้องกันหน่วย หรือประชาชนกรณีมีเหตุร้าย ซึ่งเป็นปกติที่กำหนดไว้ในกฎการใช้กำลัง แต่มีคำสั่งกำชับชัดเจนให้ใช้เมื่อพบผู้กระทำผิดซึ่งหน้า และจะเกิดอันตรายถึงชีวิตแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน
ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ปฏิบัติการเริ่มในเวลา 13.00 น. และหยุดเมื่อ 18.15 น. เนื่องจากเห็นว่าใกล้ค่ำจึงให้ทุกหน่วยหยุด ณ จุดที่ไปได้ถึง แต่ปรากฎว่ามีผู้ชุมนุมล้อมรถพาหนะของเจ้าหน้าที่และแย่ง M16 ทาโวร์ ไปจำนวนมาก แกนนำมีการปลุกระดม เกิดการปะทะด้วยความรุนแรงขึ้น และเนื่องจากมีลม ทำให้แก๊สน้ำตาจากพื้นดินไม่ได้ผล ศอฉ. จึงสั่งให้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวและแก๊สน้ำตาทางอากาศ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงเจ้าหน้าที่ เมื่อถึงเวลาทุ่มเศษ มีกองกำลังชุดดำใช้อาวุธสงครามยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชน มีผู้บาดเจ็บล้มตาย เมื่อศอฉ. สั่งถอนกำลัง ปรากฎว่ามีการปิดล้อมเจ้าหน้าที่ ใช้ M79 และปืนเล็กยาว ยิงใส่เจ้าหน้าที่ รวมถึงใช้ระเบิดขว้าง ศอฉ.จึงอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนยิงขู่เพื่อป้องกันตนเองได้ แต่ก็ไม่สามารถจับชายชุดดำได้แม้แต่คนเดียวเนื่องจากเข้าไม่ถึงตัวและปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม
แต่มีตำรวจสายตรวจของนครบาลสามารถแย่งชิงอาวุธจากชายชุดดำได้ 1 ราย เป็น M79 มา หลังเหตุการณ์ 10 เมษายน ได้มีการกำหนดมาตราการป้องกันการสูญเสียและบาดเจ็บ เช่น ให้เจ้าหน้าที่ตั้งหน่วยอยู่กับที่ รักษาระยะห่างอย่างน้อย 150 ม. ด่านตรวจมีที่กำบัง และเขาปฏิเสธว่า ไม่มีการอนุญาตให้มีการซุ่มยิง เพราะไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน การอนุมัติใช้อาวุธมีลำดับขั้นตอนตามความรุนแรงของสถานการณ์โดยหลังเกิดเหตุ 10 เม.ย. ได้อนุญาตให้ใช้ปืนลูกซองกระสุนลูกปราย เพื่อระงับเหตุและไม่ประสงค์ชีวิตประชาชน โดยต้องเล็งยิงในระดับต่ำกว่าเข่าลงไป ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตามถนน ได้ถูกผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามโจมตี จึงอนุญาตให้มีปืนเล็กยาวป้องกันตัวจากนั้นเมื่อผู้ก่อการร้ายซุ่มยิงจากตึกสูง จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่สูงข่มรอบบริเวณเพื่อไม่ให้มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้
นายสุเทพได้เบิกความถึงกรณีการเสียชีวิตของนายพัน คำกองว่าจากการสอบถามคณะตัวแทนของ พล.ร.1 เพื่อชี้แจงต่อสภาหลังเหตุการณ์ ได้ข้อมูลว่า เช้ามืดวันที่ 15 พ.ค. มีรถตู้ฝ่ามาบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มีการโจมตีชุลมุน ไม่รู้ใครเป็นใคร เมื่อเหตุสงบพบผู้เสียชีวิต 2 ราย รายหนึ่งคือนายพัน คำกอง เสียชีวิตใกล้บังเกอร์เจ้าหน้าที่แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ อีกรายคือเด็กชายคุณากร (ศรีสุวรรณ) ซึ่งถูกยิงในซอยข้างโรงหนัง นอกวิถีกระสุนของเจ้าหน้าที่ และเมื่อทนายได้เปิดภาพรถตู้ที่มีรอยกระสุนบริเวณกระจกข้าง เขาได้ตอบว่า ไม่ทราบว่าใครเป้นคนยิง แต่เจ้าหน้าที่จะยิงแบบนี้ไม่ได้
อัยการซักถามถึงเรื่องชายชุดดำ นายสุเทพได้เบิกความว่า ชายชุดดำปรากฎชัดเจนในช่วงค่ำของวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งมีการขอคืนพื้นที่โดยจากเหตุทั้งหมดมีที่จับกุมได้บางส่วน และส่งให้ดีเอสไอดำเนินคดีก่อการร้าย
และมีการเปิดวิดีโอของช่างภาพเนชั่น ศาลได้ถามว่าในคำสั่งของ ศอฉ. เกี่ยวกับการใช้อาวุธระบุว่าห้ามใช้ปืนยิงอัตโนมัติ แต่ในคลิปดังกล่าวมีเสียงปืนอัตโนมัติ ผิดหรือไม่ นายสุเทพตอบว่า ในภาพไม่เห็นว่าใครยิง และมีปืนกี่กระบอก ได้ยินแต่เสียง อาจจะเป็นการยิงพร้อมๆ กันก็ได้
พยานปากที่สอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เบิกความยืนยันว่าไม่มีการสั่งให้สลายการชุมนุม ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและขอคืนพื้นที่ รัฐบาลได้ขอให้ศาลแพ่งวินิจฉัยว่ากระทำได้เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้มีหลักการปฏิบัติตามความเหมาะสมและจำเป็น แต่เขากล่าวต่อมาว่าไม่ทราบรายละเอียดการปฏิบัติและไม่ทราบว่าในการปฏิบัติจริง มีการทำคำสั่งหรือไม่ แต่มีรายงานว่าได้ดำเนินตามนโยบายที่ให้ไว้
เขาได้กล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. เอาไว้ว่า ขณะที่มีการปฏิบัติการอยู่ยังไม่มีรายงานการเสียชึวิต จนเมื่อมีการหยุดปฏิบัติการในช่วงใกล้ค่ำ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ถูกโอบล้อม และมีการใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่ จึงมีการรายงานการสูญเสียครั้งแรก และตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. มีรายงานว่ามีผู้ติดอาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่ที่ด่านรอบที่ชุมนุม โดยมีการลำเลียงอาวุธจากในที่ชุมนุม
แต่เขาได้กล่วถึงการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นว่ายังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากยังไม่มีรายงานว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยยกตัวอย่าง เช่น การเสียชีวิตจาก M79 ว่าไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไมได้มีการใช้ M79 ส่วนการเสียชีวิตที่เกิดจากการยิง ต้องรอสอบสวนเนื่องจากมีการปล้นอาวุธของเจ้าหน้าที่และนำไปใช้ และทราบว่ามีกลุ่มติดอาวุธในผู้ชุมนุมจากวิดีโอ ได้มีการดำเนินคดีไปแล้วบางส่วนแต่เขาจำรายละเอียดไม่ได้
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าได้พยายามเจรจากับแกนนำ นปช. หลายครั้ง มีการประกาศแผนปรองดอง กำหนดวันยุบสภา แต่แกนนำไม่ยอมยุติการชุมนุมและเปลี่ยนเงื่อนไขการเจรจา รัฐบาลจึงมีนโยบายกระชับวงล้อมเพื่อกดดันให้ยุติการชุมนุมโดยไม่สลายการชุมนุม เช่นเดียวกับการชุมนุมในปี 2552 และเขาได้ปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าใครสั่งให้เคลื่อนพลใช้กำลังพร้อมอธิบายว่าการใช้คำว่าขอคืนพื้นที่ เป็นการอธิบายตามความจริง ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงคำว่าสลายการชุมนุม โดยวันนั้นขอคืนพื้นที่สวนลุมพินี การชุมนุมที่ราชประสงค์ก็ยังทำได้ แต่ถ้าเป็นการสลายการชุมนุมจะไม่เป็นเช่นนั้น
เขาได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวัดปทุมฯ เอาไว้ว่ามีการโทรขอความช่วยเหลือจากนักข่าว นสพ. อินดิเพนเดนท์ กับทางรัฐบาล แต่หน่วยพยาบาลที่เข้าไปถูกซู่มยิง และมีการรายงานอย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าชายชุดดำในวัดปทุมฯ มีการต่อสู้ ข่มขู่ทวงหนี้กันด้วย
พยานคนสุดท้าย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เบิกความว่าหลังการประกาศ พรก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ. ซึ่งในการประชุม ศอฉ. มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณนั่งอยู่ในการประชุมด้วยทุกครั้งตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม มีการให้ตำรวจหาข่าวตลอด ทั้งตำรวจในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ ในช่วงแรก มีการใช้ตำรวจ 70 กองร้อย กองร้อยละ 155 คน โดยจะขึ้นตรงต่อกองทัพภาคที่ 1 ต่อมาหลัง 14 พ.ค. ได้เปลี่ยนมาขึ้นตรงกับ ศอฉ. เนื่องจากมีการชุมนุมในต่างจังหวัดด้วย แต่ความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 1 อยู่แค่ในกรุงเทพฯจึงต้องเปลี่ยนไปขึ้นกับ ศอฉ. แทน
เขาได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย.53 ว่า ตนเองไม่ทราบว่าใครควบคุมการสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ แต่ทราบว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายยุทธการของทหาร โดยจะจัดกำลังเป็น 3 ชั้น ชั้น 2 และ 3 เป็นกำลังตำรวจ ส่วนชั้นแรกจะเป็นของหน่วยงานอื่น และไม่ทราบถึงรายละเอียดการใช้กำลังและวิธีปฏิบัติ เนื่องจากตนเองดูแลนโยบายเท่านั้น ในส่วนของราชประสงค์กำลังเป็นของฝ่ายทหารไม่ทราบว่าฝ่ายใดปิดล้อม โดยกำลังตำรวจนั้นยังอยู่ชั้นที่ 2-3 เหมือนเดิม
ส่วนอาวุธที่ตำรวจใช้ในวันที่ 10 เม.ย. นั้นมีเพียงโล่ กระบองเท่านั้นไม่มีอาวุธอื่น จนในช่วงหลังมีการอนุญาตให้พกปืนพกได้ เนื่องจากมีตำรวจเสียชีวิต 2 นาย จากการโดนยิงที่ท้อง 1 นาย และ M79 1 นาย นอกจากนี้ ศอฉ. ให้เจ้าพนักงานใช้ปนลูกซอง และปืนเล็กยาวเพื่องป้องกันตนเองได้ โดยสมควรแก่เหตุ โดยมีการทำหนังสือย้ำหลักปฏิบัติตลอด
ส่วนการเสียชีวิตนั้นเขาไม่ทราบถึงรายงานการเสียชีวิต รวมถึงนายพัน คำกอง ที่จัดทำโดยตำรวจนครบาล พญาไท และเขายังกล่าวอีกว่าโดยปกติเมื่อเกิดการเสียชีวิตจะต้องเข้าไปตรวจสอบโดยเร็วแต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากติดรั้วลวดหนาม และมีการปะทะกัน ต่อมาจึงได้ไปที่โรงพยาบาลพญาไทที่ศพตั้งอยู่
เขายังกล่าวอีกว่า หากมีการสลายการชุมนุมโดยตำรวจจะต้องได้รับรายงาน แต่ที่ผ่านมาไม่พบกรณีเจ้าหน้าที่ถูกลงโทษทางวินัยจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หากมีการทำเกินกว่าเหตุ เขาในฐานะผบ.ตร. เจ้าพนักงานตำรวจผู้ที่กระทำจะต้องรับผิดชอบ
ศาลออกคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ วันที่ 17 กันยายน 2555[14]
ศาลได้มีคำสั่งว่าผู้ตาย นายพัน คำกอง ตายที่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียม ชื่อไอดีโอ ตอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 เวลาก่อนเที่ยงคืน เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223(5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของ ศอฉ.
อ่านคำสั่งศาลการไต่สวนการตายของพัน คำกอง
[2] “ไต่สวนการตาย ‘ยิงรถตู้’ 53 ทหารจากลพบุรียันไม่ได้ยิง-ไม่มีแจกกระสุนจริง-ไม่รู้ใครยิง,” 4 ก.ค. 55
[3] “ไต่สวนการตาย ‘พัน คำกอง’ พันโทยันเสียงกระสุนM16 -‘สรรเสริญ’ย้ำ 10 เมษา สั่งถอนทหาร 5 โมง,” ประชาไท, 6 ก.ค. 55
[4] การยิงต่อเนื่องของกระสุนแบลงค์จะสามารถทำได้โดยการติดอแดปเตรอ์ที่ปลายปากกระบอกปืนเท่านั้น แต่จากภาพและคลิป ที่เห็นไม่มีการติดอแดปเตอร์ดังกล่าวทั้งตอนตั้งแถวในช่วงกลางวันและขณธเกิดการยิงในช่วงกลางคืน แต่การยิงนั้นเป็นการยิงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำได้จะต้องเป็นกระสุนจริงเท่านั้น
[5] “ไต่สวนการตาย ‘พัน คำกอง’ พันโทยันเสียงกระสุนM16 -‘สรรเสริญ’ย้ำ 10 เมษา สั่งถอนทหาร 5 โมง,” ประชาไท, 6 ก.ค. 55
[7] “คดี ‘พัน คำกอง’ จนท.ยันกระสุนชนิดเดียวปืนทหาร แต่ไม่ตรงกับกระบอกที่ส่งตรวจ,” ประชาไท, 18 ก.ค. 55
[8] การพิสูจน์จะทำโดยการนำปืนที่ส่งพิสูจน์ไปทดลองยิง แล้วนำหัวกระสุนมาเปรียบเทียบรอยตำหนิ ซึ่งลำกล้องของปืนแต่ละกระบอกจะมีการเซาะร่องเกลียวเอาไว้เพื่อทำให้กระสุนหมุน ซึ่งเกลียวที่ว่านี้จะทำให้เกิดรอยบนหัวกระสุนที่ยิงออกไป ซึ่งลำกล้องแต่ละอันจะมีร่องเกลียวที่แตกต่างกันไป และลำกล้องนี้เป็นอะไหล่ 1 ชิ้นในปืน ซึ่งสามารถทำการถอดเปลี่ยนได้ เมื่อเปลี่ยนแล้วกระสุนที่ยิงออกจากปืนกระบอกเดียวกันแต่มีการเปลี่ยนลำกล้อง ก็จะมีตำหนิต่างไปอีก