บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายบุญมี เริ่มสุข

คดีหมายเลขดำที่ : ช.7/2555  วันที่ฟ้อง : 14/03/2555

คดีหมายเลขแดงที่ : ช.1/2556  วันที่ออกแดง : 16/01/2556

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4

ผู้เสียชีวิต : นายบุญมี  เริ่มสุข

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

นัดสืบพยานวันที่ 11 มิถุนายน 2555[1]

                พยาน

  1. พนักงานสอบสวน
  2. นางนันทพร เริ่มสุข ภรรยา
  3. นายธนพร  วงษ์ณรัตน์

นางนันทพร เริ่มสุข ได้ให้ข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายบุญมีก่อนขึ้นให้การในศาลว่า นายบุญมีถูกยิงในวันที่ 14 พ.ค. 53 เวลาราว 15.00 น. ที่ตู้โทรศัพท์หน้าปั๊ม ปตท. บ่อนไก่  โดยก่อนที่นายบุญมีจะเสียชีวิตเล่าให้เธอฟังว่า ก่อนเกิดเหตุรับประทานอาหารอยู๋ร้านระเบียงทอง ใต้สะพานข้ามถนนเพียงคนเดียวไม่ได้เข้าไปร่วมชุมนุม  หลังรับประทานอาหารเสร็จหลานสาวโทรศัพท์บอกว่ากำลังจะกลับจากการรายงานตัวที่โรงเรียนสายปัญญา แต่ไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากไม่มีรถเมล์โดยสารและกลัวว่าจะเกิดอันตราย เพราะมีเจ้าหน้าที่ถืออาวุญปืนอยู่ 2 ข้างทางเป็นจำนวนมาก  จากนั้นนายบุญมีจึงไปรอรับหลานตรงจุดเกิดเหตุ   ขณะนั้นมีทหารถืออาวุธปืนเดินลาดตระเวณริมถนนพระราม 4 เป็นระยะ  และมีทหารขี่มอเตอร์ไซค์โดยมาคันละ 2 คน จำนวน 5 คัน ลงมาจากสะพานไทย-เบลเยี่ยม มาทางบ่อนไก่   มี 1 คัน ที่เสียหลักล้มลง เมื่อลุกขึ้นมาทหารก็ได้กราดยิงมาทางที่ประชาชนอยู่ และกระสุนได้ถูกนายบุญมีเข้าที่หน้าท้อง  จากนั้นได้มีคนช่วยนำขึ้นจักรยานยนต์พาไปส่งที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์  จากนั้นจึงได้ย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจต่อเป็นเวลา 76 วัน จึงเสียชีวิต

นายธนพร วงษ์ณรัตน์  ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่ที่สะพานมัฆวานฯ จนกระทั่งถึงแยกราชประสงค์ก่อนเกิดเหตุนายบุญมีถูกยิงเสียชีวิต เขากำลังจะเข้าไปร่วมชุมนุมที่ย่านบ่อนไก่โดยเขากำลังยืนอยู่ที่ปากซอยงามดูพลี ขณะนั้นมีทหารถืออาวุธเดินลาดตระเวณเป็นแนวทั้งสองข้างถนนพระราม 4 พร้อมกับเสียงปืนดังเป็นระยะจนทหารลาดตระเวณมาถึงบ่อนไก่มีเสียงปืนดังต่อเนื่องและเดินใกล้เข้ามา  เขาจึงตะโกนบอกผู้ชุมนุมฝั่งตรงข้ามให้หลบเจ้าไปในซอยเพราะเกรงจะถูกยิง พร้อมกันนั้นเขาได้พาประชาชนอีกส่วนหนึ่งหลบวิถีกระสุนเข้าไปในซอยงามดูพลี  และเมื่อเขามองไปฝั่งตรงข้ามเห็นทหารเดินมาถึงปั๊ม ปตท. มีชายสูงวัยรูปร่างใหญ่ ศีรษะล้านยืนอยู่ จึงได้ตะโกนบอกให้เขาหลบเข้าไปในซอย แล้วก็มีเสียงปืนดังขึ้น ชายคนนั้นถูกยิงล้มลงข้างตู้โทรศัพท์ เขาจึงวิ่งข้ามถนนพระราม 4 ไปช่วย เห็นมีเลือดไหลออกจากหน้าท้อง เขาจึงถามว่า “ลุงเป็นอะไรมากไหม?”  มีชาววิ่งมาช่วยแล้วบอกว่า “ลุงบุญมีรึเปล่า ลุงบุญมีอยู่แฟลการเคหะ ในซอยปลูกจิตหน้า” จากนั้นจึงช่วยกันอุ้มลุงบุญมีขึ้นรถจักรยานยนต์นำส่งที่โรงพยาบาล แล้วเขาจึงวิ่งข้ามกลับไปที่ซอยงามดูพลีอีกครั้ง จนมาทราบภายหลังว่าลุงบุญมีเสียชีวิตแล้ว   เขาบอกอีกว่าเคยให้การกับพนักงานสอบสวน ที่สน. บางรักไว้แล้ว ก่อนที่จะเตรียมเข้าเบิกความ

 

นัดสืบพยานวันที่ 15 สิงหาคม 2555[2]

              พยาน ช่างภาพจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 7

พยานช่างภาพเบิกความว่า  ในวันที่ 14 พ.ค. 53 เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณที่เกิดเหตุบริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ถนนพระราม 4  ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น. ได้มีการตอบโต้กันระหว่างผู้ชุมนุมกับทหารซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั๊ม ปตท.  เขาได้ถ่ายภาพผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ แต่เขาไม่ทราบว่าเป็นใครจนกระทั่งพนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายที่พยานได้ถ่ายไว้ให้ดู  และไม่ทราบว่าถูกนำส่งไปรักษาที่ใดและเสียชีวิตเมื่อไหร่

เหตุการณ์วันถัดมา(?) ทหารได้เข้าจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณดังกล่าว  นอกจากนี้นักข่าวที่ทำงานร่วมกันเตือนเขาให้ระวังเรื่องจากทหารมีการใช้กระสุนจริง ขณะที่ถ่ายภาพยังมีเสียงระเบิดดังขึ้นจากฝั่งผู้ชุมนุมด้วยส่วนพลุที่กลุ่มผู้ชุมนุมยิงใสฝั่งทหารนั้นไม่เป็นเหตุให้ทหารได้รับบาดเจ็บ  ขณะกำลังบันทึกภาพมีกลุ่มผู้ชุมนุมถืออาวุธไม้กระบอกงและขว้างหิน

 

นัดสืบพยานวันที่ 22 สิงหาคม 2555[3]

             พยาน

  1. นายพิชา วิจิตรศิลป์  ทนาย
  2. น.ส.กาญจน์ชนิษฐา เอกแสงศรี อาสาพยาบาล
  3. นายวสันต์ สายรัศมี  อาสาพยาบาล

พยาน 2 และ 3 ไม่ได้มีการสืบเนื่องจากมีการสืบพยานที่ 3 ไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่มีการสืบพยานทั้ง 2 คน ซึ่งเป็นการตกลงกันทั้งผู้พิพากษา อัยการและทนายของญาติผู้เสียชีวิต

นายพิชา วิจิตรศิลป์  เบิกความว่าหลัง 19 พ.ค. 53 หนึ่งเดือนมีผู้นำวีดิโอสัมภาษณ์นายบุญมีมาวางไว้ที่สำนักงานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทไทย แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร เมื่อเขาเปิดดูพบว่าเป็นวีดิโอสัมภาษณ์นายบุญมี และเสียชีวิต เขาได้ทราบว่าทางดีเอสไอต้องการพยานหลักฐาน จึงได้นำวีดิโอมาให้

 

นัดสืบพยานวันที่ 29 สิงหาคม 2555[4](ไม่มีข่าวรายละเอียดในห้องพิจารณาคดี)

            พยาน

  1. พ.อ.เพชรพนม โพธิชัย ผู้บังคับกองพันที่ 5 รักษาพระองค์
  2. ร.อ.ผดุงศักดิ์  ปิ่นเกตุ
  3. ร.ท.พีระพงศ์  พินิจรัตน์พันธ์
  4. พ.ต.ท.นพ.ณัฏฐพงศ์ กุลสิทธิจินดา นายแพทย์ สัญญาบัตร 3 โรงพยาบาลตำรวจ

จากข่าวพยานที่เป็นทหารจากกองพันทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์  ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุได้นำกำลังจำนวน 2 กองร้อย ทหารทั้งหมด 300 นาย เข้าประจำในพื้นที่ มีอาวุธปืน M356 ปืนลูกซอง และปืนสั้นประจำกาย ยืนยันว่าเป็นกระสุนยาง และกระสุนแบลงค์ ไม่มีกระสุนจริง  ในการปฏิบัตินั้นได้ใช้ยุทธวิธีจากเบาไปหาหนัก แต่วันเกิดเหตุมีระเบิดถูกปาใส่แถวทหารพร้อมกับมีเสียงปืนอยู่รอบบริเวณ ทำให้กำลังทหารที่ตั้งแถวอยู่แตกกระจายหาที่กำบัง จนไม่ได้ปฏิบัติตามยุทธวิธี

พ.ต.ท.นพ.ณัฏฐพงศ์ กุลสิทธิจินดา ให้ข้อมูลเรื่องผลชันสูตรว่านายบุญมีเสียชีวิตจากบาดแผลซึ่งส่งผลมาจากการถูกยิง และยืนยันว่าวัตถุที่พบในร่างกายผู้ตายคือตะกั่วคล้ายกระสุนปืน

 

นัดบริหารคดีวันที่ 19 กันยายน 2555[5]

ไม่มีการสืบแต่เป้นการนัดพยานอีก 8 ปาก ซึ่งทนายของยาติผู้เสียชีวิตมีการยื่นคำร้องขอให้มีการไต่สวนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และพ.ต.ท.สมชาย เพชรประเสริฐ

 

นัดสืบพยานวันที่ 24 ตุลาคม 2555[6]

           พยาน

  1. พ.ต.ท.นพสิทธิ์ อัครนพหงส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน
  2. พ.ต.ท.วัชรัตน์ เฉลิมสุขสันต์ ผอ.สำนักตรวจสอบที่เกิด เหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
  3. นายธนพร วงษ์ณรัตน์

พ.ต.ท.นพสิทธิ์ อัครนพหงส์ เบิกความว่า วันที่ 18 เม.ย. 54 บก.น. 5 มีหนังสือนำส่งของกลางถึงกองพิสูจน์หลักฐานกลางพร้อมลูกกระสุนขนาด .223(5.56 มม.) จากตัวนายบุญมี   ซึ่งกระสุนขนาดดังกล่าวใช้ในราชการเท่านั้น ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้บุคคลทั่วไปได้ ส่วนปืน M16 ขนาด .223 จำนวน 40 กระบอกที่ส่งมานั้นพยานได้รับมอบหมายให้ตรวจ 5 กระบอก ไม่มีกระบอกใดตรงกับกระสุนที่ยิงนายบุญมี แต่ปืน M16 นั้นสามารถถอดเปลี่ยนลำกล้องได้[7]

พ.ต.ท.วัชรัตน์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่าจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบร่องรอยกระสุนปืนขนาด .223 และกระสุนปืนลูกปรายหน้าบ้านประชาชน ราวบันไดสะพานลอย และตู้โทรศัพท์ใกล้กับจุดที่นายบุญมีถูกยิง  การตรวจแนววิถีกระสุนคาดว่ายิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ส่วนการตรวจในฝั่งเจ้าหน้าที่นั้นไม่พบร่องรอยกระสุนจากทางผู้ชุมนุมแต่อย่างใด เขาได้ถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุไว้  และจะมอบให้ศาล

พยานคนสุดท้ายนายธนพร วงษ์ณรัตน์  เป็นคนเดียวกันกับที่เบิกความในการสืบพยานนัดแรก แต่มีที่เพิ่มมาคือตอนที่กำลังช่วยนายบุญมีขึ้นรถจักรยานยนต์อยู่นั้นได้มีเจ้าหน้าที่(ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพหรือทหาร แต่คาดว่าจะเป็นทหารที่ได้เดินมาถึงปั๊ม ปตท.แล้ว) บอกกับเขาว่า “เลือดออกมากขนาดนี้ คงไม่รอดหรอก เดี๋ยวจะนำไปส่งโรงพยาบาลให้”  แต่เขาไม่ยอมและรีบนำขึ้นรถไปส่งที่โรงพยาบาลแล้วกลับมาที่ซอยงามดูพลีอีกครั้ง

 

นัดสืบพยานวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555[8]

            พยาน

  1. พ.ต.ท. ณปภัช ณัฏฐสุมน แพทย์ชันสูตร สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ
  2. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

พ.ต.ท. ณปภัช ณัฏฐสุมน เบิกความว่า  ได้ตรวจศพนายบุญมี เริ่มสุขเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 53  คาดว่าสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากการถูกยิงและเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด   ทนายความญาติผู้ตายถามพ.ต.ท. ณปภัช ว่าพบหัวกระสุนปืนในตัวนายบุญมีหรือไม่ เขาตอบว่าไม่พบ แต่ทนายบอกว่าทราบจากพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ว่าพบหัวกระสุนปืนในตัวผู้ตาย

จากนั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความ ว่าตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 มีการชุมนุมของ นปช. รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ เพื่อแก้ไขสถานการณ์จากนั้นประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการตั้ง ศอฉ. โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และตั้งเขาเป็นผอ.ศอฉ. มีหน้าที่เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานและหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการปฏิบัติงานของศอฉ. จะทำในรูปแบบของคณะกรรมการ มีการประชุมออกความเห็นและลงมติร่วมกัน โดยเขาเป็นประธานในที่ประชุมทุกครั้ง ซึ่งจัดประชุมวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น

นายสุเทพยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก สมควรแก่เหตุและให้แจ้งเตือนก่อนทุกครั้ง และระบุการปฏิบัติตามขั้นตอน 7 ขั้น ว่าแต่ละขั้นตอนต้องมีผู้ตัดสินใจ เช่น ผู้บัญชาการที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ส่วนการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ต้องได้รับความเห็นชอบจากศอฉ.เท่านั้น อาวุธที่ศอฉ. อนุญาตให้ใช้คือปืนลูกซอง ส่วน M16 อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะผู้บังคับหน่วยเท่านั้น และไม่ให้ใช้อาวุธสงคราม เช่น M79 และ RPG โดยกำหนดกฎการใช้อาวุธว่าต้องไม่ประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่เพื่อคุ้มครองตนเองและผู้ที่อยู่ในความคุ้มครองต้องไม่ใช้อาวุธกับเด็ก สตรีและคนชรา ให้เล็งส่วนล่างของร่างกายตั้งแต่เข่าลงไป

ในส่วนการตายของนายบุญมีนายสุเทพกล่าวว่าเขาทราบหลังจากที่นายบุญมีเสียชีวิตไปแล้วหลายเดือน เนื่องจากต้องนำข้อมูลชี้แจงในสภาจึงทราบว่าในวันที่ 14 พ.ค. ผู้ตายยืนอยู๋หน้าร้านอาหารระเบียงทอง และถูกคนร้ายยิงด้วยอาวุธปืนไม่ทราบชนิดเข้าที่หน้าท้อง ก่อนไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา  พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน นำร่างไปชันสูตรและสรุปความเห็นว่าไม่สามารถหาพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้ผู้ตายเสียชีวิต และไม่ทราบว่าวิถีกระสุน ที่ยิงถูกนายบุญมีมาจากทิศทางใด  โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่ามีรอยวิถีกระสุนมาจาก 2 ทิศทาง ทั้งจากฝ่ายทหารและฝ่ายตรงข้าม และไม่ทราบว่าผู้ตายหันหน้าไปทิศทางใด ประกอบกับอาวุธปืนที่ส่งมาตรวจนั้น ก็ไม่พบว่าตรงกับกระสุนปืนจากตัวผู้ตาย

ทนายได้ซักถามนายสุเทพถึงภาพถ่ายป้าย “เขตพื้นที่ใช้กระสุนจริง” ว่าได้ออกคำสั่งให้ติดตั้งป้ายหรือไม่ เขาเบิกความว่าไม่ได้สั่งให้เขียนป้ายว่าเขตพื้นที่ใช้กระสุนจริงแค่สั่งให้ติดป้ายเขตห้ามเข้าเท่านั้น ทนายได้ให้ดูภาพถ่ายพลซุ่มยิง 2 นาย อยู๋บนตึกสูงและมีอาวุธติดกล้องช่วยเล็ง[9] และถามว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักสากลหรือไม่ เขาตอบว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของทหารในพื้นที่สูงโปร่งเพื่อป้องกันการโจมตีจากผู้ก่อการร้าย ที่ใช้อาวุธวิถีโค้งและยิงจากระยะไกล  ซึ่งอัยการสูงสุดได้ให้คำแนะนำในที่ประชุมศอฉ. ว่าหากมีผู้ก่อการร้ายโจมตีให้ใช้อาวุธดังกล่าวได้เป็นไปตามหลักสากลของสหประชาชาติ ปรากฏในเอกสารที่อัยการสูงสุดทำเสนอในที่ประชุมด้วย

 

นัดสืบพยานวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555[10]

            พยาน

  1. พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
  2. พ.ต.ท.สาธิต ภักดี พนักงานสอบสวน ผู้ชำนาญการพิเศษ สน.บางรัก
  3. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
  4. นายดิศักดิ์ ดีสม (พยานจากทางฝ่ายทนายญาติผู้เสียชีวิต)

พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ เบิกความว่าเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนการเสียชีวิตนายุญมี เริ่มสุข  เขาได้แจงพยานหลักฐานในการสืบสวนว่ามีวีดิโอสัมภาษณืนายบุญมีก่อนเสียชีวิตซึ่งได้จากชมรมกฎหมายวิวัฒน์แห่งประเทศไทย  การสอบสวนทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ 3 นาย วัตถุพยานที่ผ่าออกจากศพ(กระสุน) ที่รับจากโรงพยาบาลตำรวจนำส่งให้กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ระบุว่า เป็นกระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) ใช้กับปืน M16 โดยสอบสวนทราบว่าเป็นอาวุธปืนที่เบิกมาใช้ในการปฏิบัติการและผลการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่พยานไปร่วมตรวจสอบด้วย

ผลการตรวจวิถีกระสุนและทิศทางการยิง พบว่ามาจากจุดที่เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ทั้ง 2 ฝั่งถนนทั้งฝั่งสนามมวยลุมพินีและภัตตาคารจันทร์เพ็ญ โดยทหารเคลื่อนจากหน้าปั๊ม ปตท. และถอยกลับจุดเดิมก่อนตั้งด่านถาวรจนถึงวันที่ 19 พ.ค. 53 โดยมีวีดิโอบันทึกเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ยิงปืนไปทางซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 ขาออก ฝั่งเดียวกับปั๊ม ปตท. ในเว็บไซต์ยูทูบ  และการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยกระสุนปืนบริเวณตู้โทรศัพท์ หน้าปั๊ม ปตท. ที่นายบุญมีถูกยิง ราวสะพาน และเสาป้ายบอกทางประมาณ 50 รอย มีตั้งแต่ความสูงระดับหัวเข่าไปจนถึงเหนือศีรษะ  และยังพบรอยกระสุนบนขอบสะพานลอยหน้าปั๊ม ไปจนถึงสะพานลอยใกล้กับธนาคารกรุงเทพ สาขาพระราม 4[11]  และจากเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตประมาณ 15 คน[12] และผู้บาดเจ็บประมาณกว่า 100 คน ตั้งแต่สนามมวยลุมพินีจนถึงใต้ทางด่วนพระราม 4(ถนนเชื้อเพลิง)

พยานคนที่ 2 พ.ต.ท.สาธิต ภักดี   เบิกความว่า บช.น. ได้รับสำนวนต่อจากดีเอสไอ มีสำเนาคำให้การ วิดีโอสัมภาษณ์นายบุญมีก่อนเสียชีวิต โดยในการสัมภาษณ์นายบุญมีได้บอกว่าโดนยิงจากฝั่งทหาร และจากการสอบสวนทราบว่านายบุญมีถูกยิงที่หน้าท้องด้านขวา ที่หน้าปั๊ม ปตท.  วันที่ 14 พ.ค. 53  และเสียชีวิตโดยการติดเชื้อในกระแสเลือดจากบาดแผลถูกยิง  และเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพราะจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ประกอบด้วยหัวกระสุน ปืนขนาด .223(5.56 มม.)  พยานการ์ด นปช. ซึ่งเป็นพยานที่เห็นผู้ตายขณะถูกยิง  และแผ่นวีซีดีบันทึกภาพจากผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ที่มีภาพเจ้าหน้าที่ยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม

พ.ต.ท.สาธิตเบิกความอีกว่า จากการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ รับว่าได้นำกำลังเข้าไปผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามถนนพระราม 4 มุ่งหน้าทางด่วนคลองเตย(ทางด่วนพระราม4) หน้าปั๊มน้ำมัน ปตท.  โดยยิงปืนM16 แต่ใช้กระสุนซ้อมหรือกระสุนยาง  จึงได้ให้พนักงานชำนาญการด้านอาวุธปืน จากสตช. ดูวีซีดีบันทึกภาพจากผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ และถามว่าใช้กระสุนซ้อมหรือไม่ พนักงานชำนาญการได้บอกว่าหากเป็นการยิงกระสุนซ้อม จะต้องมีการดึงคันรั้งลูกเลื่อนเพื่อคัดปลอกกระสุนออก แต่ไม่ปรากฏว่ามีการดึงคันรั้ง และอธิบายว่าจะต้องมีอแดปเตอร์สวมปากกระบอกปืนไว้เพื่อให้มีแรงดันพอที่ปืนจะคัดปลอกกระสุนออกเองได้ แต่ก็ไม่พบการติดอุปกรณ์ติดอยู่  จึงเชื่อได้ว่าเป็นการยิงกระสุนจริง

พ.ต.ท.สาธิตได้เบิกความถึงเรื่องชายชุดดำเอาไว้ว่า จากการสอบสวนทั้งทหารและชาวบ้านในบริเวณนั้น ไม่พบว่าชายชุดดำ และจากการตั้งด่านแข็งของทหารซึ่งห้ามคนเข้าออกแยกราชประสงค์ได้ จึงไม่สามารถที่จะมีใครเข้าไปหรือยิงมาจากหลังแนวทหารได้

พยานคนที่ 3 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เบิกความถึงเป้าหมายการชุมนุมและลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุม  โดยให้การว่าการชุมนุมของนปช. มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าการได้เป็นรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์นั้นไม่ได้มาด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกปฏเสธข้อเรียกร้อง โดยมีการชุมนุมตั้งแ 12 มี.ค. 53 ที่ราชดำเนิน   แล้วในวันที่ 7 เม.ย. รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีการตั้ง ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ

ตั้งแต่เริ่มชุมนุมถึงวันที่ 7 เม.ย. 53 ผู้ชุมนุมไปที่ต่างๆ โดยไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รัฐบาลได้ตัดสัญญาณช่องพีเพิลชาแนลที่ถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของ นปช.ให้กับประชาชนได้รับทราบ หลังจากนั้น 9 เม.ย. ตนและนปช. จึงไปชุมนุมที่สถานีดาวเทียมไทยคม เพื่อเรียกร้องให้ต่อสัญญาณกลับ โดยที่สถานีดาวเทียมไทยคมมีทหารที่มีอาวุธสงครามแต่ก็ไม่มีเหตุร้ายแรง ต่อมารัฐบาลได้ต่อสัญญาณดาวเทียม พวกตนได้กลับไปที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ แต่กลับถูกตัดสัญญาณอีก และนายกฯแสดงความไม่พอใจทางโทรทัศน์และประกาศจะไม่ยอมให้เกิดเหตุขึ้นอีก

วันที่ 10 เม.ย.53 ช่วงสายได้รับรายงานว่าจะมีการเคลื่อนกำลังไปที่สะพานผ่านฟ้า ผู้ชุมนุมได้เผชิญหน้ากับทหารเพื่อไม่ให้เข้ามา ในเหตุการณ์นั้นทหารมีอาวุธสงคราม มีปฏิบัติการต่อเนื่องจนถึงค่ำ จนกระทั่งมีประชาชนและทหารถูกยิงเสียชีวิต 25 ราย โดยประชาชนส่วนใหญ่ถูกยิงที่อวัยวะสำคัญและศีรษะ ก่อนที่ทหารจะหยุดปฏิบัติการ

นายณัฐวุฒิเบิกความต่อ ถึงเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมว่า ในวันที่ 13 พ.ค. เกิดเหตุลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศาลาแดง หลังจากนั้นเขาได้รับรายงานว่าทหารได้ปิดกั้นรอบราชประสงค์ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าร่วมได้ จึงเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับประชาชนตามจุดต่างๆ เช่น ถนนพระราม 4 ราชปรารภ ดินแดง ซอยรางน้ำ ทำให้คนเข้าออกจากพื้นที่ไม่ได้ เพราะทหารยิงสกัดตลอดเวลา อีกทั้งรัฐบาลประกาศตัดน้ำ ไฟ สัญญาณโทรศัพท์ บริเวณที่ชุมนุม และเขาได้ยืนยันอีกว่าการชุมนุมของ นปช.นั้นไม่ใช่การก่อการร้ายตามที่ ศอฉ. อ้าง เนื่องจากชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีนายบุญมีนายณัฐวุฒิเบิกความว่า เขาทราบจากข่าวว่านายบุญมีเสียชีวิตถูกยิงที่ลำตัว ในวันที่ 14 พ.ค. 53 ที่ปน้าปั๊ม ปตท. ทราบว่าแนวการยิงมาจากทางทิศที่ทหารตั้งอยู่ โดยผู้ตายไม่มีอาวุธ ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่  แต่ทราบว่ามีการยิงพลุ ตะไลที่มีระยะยิงเพียง 10 ม. ซึ่งไปไม่ถึงและไม่เป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่ และบางส่วนใช้หนังสติ๊ก

 

ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 16 มกราคม 2556[13]

เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอาวุธประจำกายได้แก่ ปืนเล็กกล M 16, M 653 และปืนลูกซอง เข้าทำการผลักดันผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. เพื่อขอคืนพื้นที่ตามแนว ถ.พระราม 4 ต่อมาเวลา 14.00 – 15.00 น. ของวันดังกล่าว ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่เพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยม ถ.พระราม 4 จากกลุ่ม นปช. ได้ใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าผลักดันผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. จึงเกิดการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งพยายามยึดพื้นที่บริเวณใต้สะพานไทย-เบลเยี่ยม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธปืน ประทัดยักษ์ หนังสติ๊ก และตะไล ยิงมายังฝ่ายเจ้าพนักงาน ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมสิ้นสุดลง มีการตรวจสอบไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ถึงผู้ได้รับบาดเจ็บ และถึงแก่ความตายเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. พบว่าในวันที่ 14 พ.ค.53 ผู้ตายซึ่งไม่ใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกยิงบริเวณหน้าท้องได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จากนั้นได้ย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ แล้วถึงแก่ความตายในวันที่ 28 ก.ค.53 โดยแพทย์มีความเห็นว่า เหตุตายเกิดจากติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับประวัติถูกยิงช่องท้อง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่าผู้ร้องมีพยานซึ่งเป็นช่างภาพสถานีโทรทัศน์ปฏิบัติหน้าที่ถ่ายภาพการปะทะกันระหว่างฝ่ายเจ้าพนักงานกับกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันว่า เห็นการยิงตอบโต้กันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และเห็นฝ่ายผู้ชุมนุมมีการใช้พลุและอาวุธปืนยิงตอบโต้ทางฝ่ายเจ้าพนักงาน พยานเป็นคนกลางซึ่งไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความเป็นจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุและทำรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุว่า มีรอยกระสุนปืนมีทิศทางการยิงมาจาก ถ.พระราม 4 ฝั่งแยกวิทยุมุ่งหน้าใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ด่านบ่อนไก่) มุ่งหน้าแยกวิทยุ ซึ่งเป็นฝั่งของกลุ่ม นปช. จึงรับฟังได้ว่ามีคนในกลุ่ม นปช. และฝ่ายเจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้กัน

ส่วนที่พยานปากผู้ร่วมชุมนุมกลุ่ม นปช. และพนักงานสอบสวนเบิกความว่า ผู้ตายถูกยิงขณะยืนอยู่ที่หน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถ.พระราม 4 แต่กลับปรากฏจากรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุว่า หน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เป็นจุดที่บุคคลอื่นถูกยิง ไม่ใช่จุดที่ผู้ตายถูกยิง และเมื่อตรวจสอบภาพความเคลื่อนไหวจากแผ่นบันทึกภาพ ซึ่งได้บันทึกการสัมภาษณ์ผู้ตาย ผู้ตายก็ไม่ได้ระบุว่าตนเองถูกยิงที่หน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และยังได้ความจากพยานผู้ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนว่า หากจะระบุวิถีกระสุนที่ยิงจากผู้ตายตามหลักวิชาการจะต้องดูตำแหน่งที่ผู้ตายยืน ลักษณะท่าทาง และการเคลื่อนไหวของผู้ตายในขณะถูกยิง ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่มีผู้ใดเห็นว่าผู้ตายยืนอยู่ในลักษณะใด แม้ในเอกสารการถอดคำสัมภาษณ์ผู้ตายจะระบุอ้างว่า ผู้ตายพูดว่า “ถูกยิงจากฝั่งทหาร”  แต่เมื่อพิจารณาจากภาพเคลื่อนไหวจากแผ่นบันทึกภาพในช่วงเวลาที่อ้างว่ามีคำพูดเช่นนั้นของผู้ตาย ก็ไม่ปรากฏว่ามีเสียงพูดของผู้ตายด้วยถ้อยคำดังกล่าว โดยมีเพียงลักษณะของการขยับปากพูดเท่านั้น ซึ่งไม่แน่ชัดว่าลักษณะการขยับปากดังกล่าว เป็นไปตามเอกสารการถอดคำสัมภาษณ์หรือไม่

แม้พนักงานสอบสวนเบิกความว่า หัวกระสุนที่ได้จากตัวผู้ตายเป็นขนาด .223 (5.56 มม.) ที่ใช้กับปืนเล็กกล M 16 ซึ่งใช้ในราชการทหาร แต่ก็ได้ความจากเจ้าพนักงานว่า มีเจ้าพนักงานถูกยิงด้วยหัวกระสุน ซึ่งใช้กับอาวุธปืนอาก้าหรืออาวุธปืนเล็กกล M 16 เช่นเดียวกัน ซึ่งพยานผู้ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนก็เบิกความว่า ลูกกระสุนปืนของกลางในตัวผู้ตาย มีลักษณะคล้ายลูกกระสุนปืนที่ยิงถูกเจ้าพนักงาน จึงเชื่อว่านอกจากฝ่ายเจ้าพนักงานจะใช้กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) แล้ว ยังมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่ม นปช. และใช้กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ยิงตอบโต้กับฝ่ายเจ้าพนักงานด้วย สำหรับผลการตรวจพิสูจน์ของพยานผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ของกลาง ไม่ได้ยิงออกมาจากอาวุธปืนเล็กกล M 16 จำนวน 40 กระบอก ของเจ้าพนักงาน แม้พยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่า อาวุธปืนของกลางสามารถถอดเปลี่ยนลำกล้องได้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้ว่า ก่อนเจ้าพนักงานจะส่งอาวุธปืนของกลางมาตรวจพิสูจน์ ได้มีการเปลี่ยนลำกล้องปืนใหม่แต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังได้วินิจฉัยมาดังกล่าว จึงฟังได้ว่า ผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56  มม.) โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ตายถูกยิงจากฝ่ายใด และใครเป็นผู้กระทำ

ศาลมีคำสั่งว่า “ผู้ตายคือนายบุญมี เริ่มสุข ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 ก.ค.53 เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับประวัติถูกยิงที่บริเวณช่องท้อง ด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ขณะอยู่บริเวณ ถ.พระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”

อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของบุยมี เริ่มสุขฉบับย่อ

 


[1] “พยานยันเห็นชัด จนท.กราดยิงใส่ เบิกความ-98ศพ.” ข่าวสด, 12 มิ.ย. 55

[4] “ทหารม้าที่ประจำบ่อนไก่ให้การไต่สวนการตายลุงบุญมี,” วอยซ์ทีวี, 29 ส.ค. 55

[5] “เปิดรูป-ซุ่มยอดตึก จวกคอป. ไม่ค้นหาสไนเปอร์,” ข่าวสด, 20 ก.ย. 55

[6] “ศาลนัดชี้อีกศพแดง26พ.ย.ฟังคำสั่งคดีชาญณรงค์,” ข่าวสด, 25 ต.ค. 55

[7] ในการเบิกความส่วนของการพิสูจน์รอยกระสุนปืนนี้คาดว่าเบิกความเหมือนในคดีของพัน คำกอง แต่ในข่าวมีรายละเอียดเพียงเท่านี้ ซึ่งการตรวจพิสูจน์นั้นจะทำโดยการดูรอยเกลียวบนหัวกระสุนที่เป็นหลักฐาน เทียบกับรอยเกลียวกับหัวกระสุนของปืนที่นำมายิงทดสอบว่าตรงกันหรือไม่ ซึ่งรอยเกลียวจะเกิดจากร่องเกลียวในลำกล้องปืนซึ่งจะทำให้เกิดรอยบนหัวกระสุนเมื่อถูกยิงออกไป

[8] “นัดชี้อีกคดี ผลไต่สวน”ศพแดง”,” ข่าวสด, 15 พ.ย. 55

[9] ภาพทหาร 2 นาย บนตึกหน้าสนามมวยลุมพินีกำลังเล็งยิง ซึ่งเป็นภาพในวันที่ 15 พ.ค. 53

[11] ทั้ง 2 สะพานห่างกันราว 100 เมตร

[12] ยอดผู้เสียชีวิตเฉพาะบ่อนไก่