ลำดับเหตุการณ์

เหตุการณ์ก่อนเริ่มมีการชุมนุม

กุมภาพันธ์ 2553

13 กุมภาพันธ์ 2553

นปช.

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม / ไม่ทราบฝ่าย – ช่วงเวลา 22.30 น. เกิดเหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าไปในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชย์พระนคร ฝั่งถนนพระราม 5 ริมคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งอยู่ห่างจากทำเนียบรัฐบาลเพียง 50 เมตร แรงระเบิดส่งผลให้รถยนต์ที่จอดอยู่เสียหาย 3 คัน (ดู “บันทึกประเทศไทย ปี 2553,” (กรุงเทพฯ: มติชน, 2554), หน้า 74-75.)

หมายเหตุ – 1 เดือนก่อนหน้านี้ ช่วงเวลา 3.oo น. ของวันที่ 14 มกราคม ได้เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 เข้าไปยังอาคารของกองบัญชาการทหารบก หลังจากนั้นวันที่ 21 มกราคม พล.ต.ท. สัณฐาน ชยนนท์ นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักของ พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล ภายใน ม.พัน 4 รอ. พบระเบิดสังหาร อาวุธปืนพกสั้นพร้อมกระสุนปืน และระเบิดเอ็ม 26 ขณะเดียวกันกำลังทหารอีกชุดหนึ่งได้เข้าตรวจค้นบ้านพักแฟลตชุมชนทหารภายใน ม.พัน 3 รอ. พบลูกกระสุนระเบิดเอ็ม 79 กระสุนปืนเอ็ม 16 ระเบิดซีโฟร์ ระเบิดเคโม ระเบิดทีเอ็นที กระสุนปืนสงคราม ฯลฯ

กระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พล.ต. ขัตติยะได้เข้ามอบตัวกับตำรวจกองปราบปรามหลังถูกแจ้งข้อกล่าวหามีและครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน แต่ได้รับการปล่อยตัวกลับโดยไม่ต้องประกันตัว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 มกราคม ได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหมให้ พล.ต.ขัตติยะพักราชการตามการเสนอของกองทัพบกที่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยใน 2 ข้อกล่าวหา คือ (1) การหนีราชการไปต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และ (2) การให้สัมภาษณ์ดูหมิ่นผู้บังคับบัญชา ต่อมาในช่วงปลายเดือนมกราคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนมกราคมทหารหลายกองพลได้จัดกิจกรรมแสดงพลังปกป้องสถาบันกษัตริย์ ประกาศตนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีระเบียบวินัย ให้กำลังใจ ผบ.ทบ. และประท้วง พล.ต. ขัตติยะที่ให้สัมภาษณ์พาดพิงผู้บังคับบัญชาอย่างรุนแรง
(ดู บันทึกประเทศไทย ปี 2553,(กรุงเทพฯ: มติชน, 2554), หน้า 46-48.)

 

14 กุมภาพันธ์ 2553

นปช.

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลฎีกาได้พบระเบิดซีโฟร์หนัก 3 ปอนด์ ใส่กล่องน้ำผลไม้วางไว้ริมรั้วของศาลฝั่งข้างคลองหลอด (ดู “บันทึกประเทศไทย ปี 2553,” (กรุงเทพฯ: มติชน, 2554), หน้า 75.)

หมายเหตุ

 

16 กุมภาพันธ์ 2553

นปช. – เวลา 10.20 น. ที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว แกนนำนปช.แดงทั้งแผ่นดิน นำโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายวีระ กล่าวว่า วันที่ 26 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทของพ.ต.ท.ทักษิณ นปช. จะไม่นัดชุมนุมใหญ่ตามที่รัฐบาลคาดหมาย นายวีระยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ระบุว่ายังจะร่วมกับคนเสื้อแดงนั้น ว่า พล.ต. ขัตติยะเป็นนักสู้ เคลื่อนไหวอิสระ แต่แนวทางแตกต่างกับ นปช. โดยเฉพาะเรื่องการใช้ความรุนแรง ซึ่ง นปช. ยืนยันใช้หลักสันติอหิงสา ดังนั้น การกระทำใดของ เสธ. แดงจะไม่เกี่ยวกับ นปช.

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ได้แถลงโดยอ้างว่าตนได้รับเอกสารลับที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการรับมือคนเสื้อแดงจำนวน 37 หน้า ของหน่วยงานความมั่นคงที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 12 ก.พ. มาเปิดเผยว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารล้อมปราบประชาชนเหมือนกับเหตุการณ์สงกรานต์เลือด และโมเดล 6 ต.ค. โดยหัวใจของเอกสารชุดนี้มีการระบุแนวความคิดในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัด ที่เป็นพื้นที่เพ่งเล็ง 38 จังหวัด และมีโครงการที่จะปล่อยซีดีและหนังสือแดงล้มเจ้าไปตามต่างจังหวัด ก่อนจะตระเวนจับกุมแกนนำในข้อหาไม่จงรักภักดี

นายจตุพรกล่าวอีกว่า ในแผนดังกล่าวได้มีการเตรียมกำลัง 51 กองร้อย และมีกำลังที่ถือปืนเอ็ม 16 ด้วย ดังนั้นขอประกาศว่า ครั้งนี้คนเสื้อแดงจะไม่เดินตามเกมของรัฐ แต่เราจะกำหนดแผนขึ้นใหม่ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเสื้อแดงไม่ประกาศชุมนุมใหญ่ เพื่อไม่ให้รัฐบาลรู้ถึงแผนของเรา (ดู “จตุพรเปิดเอกสารลับกวาดล้างแดง พลิกเกมไม่ชุมนุมใหญ่ บิ๊กจิ๋วย้ำสันติวิธี ไม่มีทางอื่น,” ประชาไท, 16 ก.พ. 53

รัฐบาล – ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.ทหารสูงสุด เป็นประธานในการประชุม ผบ.เหล่าทัพ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. พร้อมคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง หลังจากนั้น พล.ต.อ.ปทีปให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลสถานการณ์ บ้านเมืองว่า ได้เตรียมความพร้อมทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดในภาพรวมทั้งหมด โดยตำรวจนครบาลมีการตั้งจุดตรวจและเพิ่มตำรวจสายตรวจมากขึ้น รวมถึงให้ตำรวจสายสืบลงพื้นที่ไปหาข่าว

พล.ต.อ. ปทีปกล่าวอีกว่า เป็นห่วงบุคคลที่สามจะเข้ามาก่อเหตุใน 10 วันอันตราย แม้ด้านการข่าวไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ก็ไม่ประมาท ติดตามการข่าวตลอดเวลา ส่วนความคืบหน้าการลอบยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตพณิชยการพระนคร และที่บริเวณศาลฎีกานั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลการตรวจสอบ ต้องรอการพิสูจน์

พล.ต.อ. ปทีปกล่าวด้วยว่า มีคำสั่งให้ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. จัดชุดสืบสวนเพื่อหาตัวผู้ที่กระทำผิด และกำชับให้เพิ่มความเข้มในการจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัดในพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่อาจจะเป็นเป้าหมายในการก่อความวุ่นวาย ทั้งในสถานที่ราชการสำคัญ บ้านพักบุคคลสำคัญ สาธารณูปโภค โดยสถานที่ราชการสำคัญที่เป็นเป้าหมาย

ด้านที่ทำเนียบรัฐบาล การประชุม ครม. บรรยากาศค่อนข้างเคร่งเครียด โดยใช้เวลาในการพิจารณาตามระเบียบวาระเพียง 2 ชั่วโมง โดยนายอภิสิทธิ์ได้ลุกออกจากห้องไปก่อนการประชุม ครม.จะเลิก เพื่อไปร่วมหารือนอกรอบที่ห้องรับรองของนายกรัฐมนตรี อาคารสำนักเลขาธิการ ครม. กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ทั้งนี้ การหารือใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง คาดว่าจะเป็นการหารือถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคง และทางการเมืองที่มีแนวโน้มความรุนแรงขึ้น

ต่อมา นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ความมั่นคง (คตม.) จำนวน 24 คน มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและประเมินแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ คณะกรรมการชุดนี้ ถ้าไม่มีคำสั่งยกเลิกจะอยู่จนครบวาระการทำงานของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ยังใช้กฎหมายตามปกติได้อยู่ แต่ คตม.จะประเมินสถานการณ์และปรับแผนแบบวันต่อวัน หากมีความจำเป็นต้องประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ นายกฯ ก็พร้อมเรียกประชุม ครม. เพื่อขอมติได้ตลอดเวลา

การแต่งตั้ง คตม. ใช้อำนาจตามมาตรา 11 วรรค 6 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ปี 2534 คตม. มีจำนวน 24 ตำแหน่ง โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน รมว.กลาโหม เป็นรองประธานกรรมการ มีรมว.ศึกษาธิการ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ผบ.เหล่าทัพ และปลัดกระทรวงด้านความมั่นคง เป็นกรรมการ มีเลขาธิการสภาความมั่นคง เป็นกรรมการและเลขานุการ เป็นต้น นายปณิธานกล่าวว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ มีประมาณ 7 ประการได้แก่

  1. ติดตามตรวจสอบและประเมินแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและประชาชน
  2. เสนอแนะและประสานการทำงานกับหน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง วางแผนเตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหา
  3.  เสนอมาตรการและแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ่น
  4. ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานของรัฐ ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของกรรมการ
  5. เชิญบุคคลหรือคณะบุคคลมาให้คำปรึกษา หรือแนะนำการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
  6. แต่งตั้งอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลเพื่อพิจารณา หรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และ
  7. ให้ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนด้านบุคลากรและงบประมาณ ในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการและให้สนับสนุนแก่หน่วยงานรัฐที่ได้รับการ ประสาน ให้ปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยจากคณะกรรมการ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ว่า ความเห็นในที่ประชุม ครม. เห็นว่าสถานการณ์ในขณะนี้อาจจะมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวาย ความเสียหายเกิดขึ้นกว้างขวาง จึงสั่งการให้ส่วนราชการต่างๆ ที่มีหน้าที่เตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีคณะกรรมการชุดพิเศษที่ติดตามประเมินสถานการณ์ร่วมกัน โดยมีเลขาธิการ สมช. เป็นเลขานุการของ คตม.

นาย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า คตม. เป็นการดำเนินการเพื่อรักษาระเบียบสังคม รักษากฎหมายความสงบเรียบร้อย โดยจะใช้กฎหมายปกติ และใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเป็นหลัก ส่วนกฎหมายพิเศษ หรือกฎหมายความมั่นคง แม้จะให้อำนาจรัฐหลายประการในการดูแลความสงบเรียบร้อยได้ดีขึ้น แต่รัฐบาลตระหนักดีว่า เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นกฎหมายพิเศษต้องใช้เฉพาะที่จำเป็น และใช้เท่าที่จำกัด ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนน้อยที่สุด ขณะนี้มีการประเมินสถานการณ์ว่า อาจมีความไม่สงบเรียบร้อย มีการยั่วยุหรือมีการชุมนุมเรียกร้องของคนบางกลุ่มอาจมีมือที่สามเข้ามาผสมโรง เป็นสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ต้องเตรียมการ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะใช้กฎหมายความมั่นคง เมื่อประเมินสถานการณ์ทุกอย่างแล้ว ฝ่ายความมั่นคงจึงมีมติตั้ง คตม. มาติดตามสถานการณ์เพื่อรายงานสถานการณ์ต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ความมั่นคง (คตม.) กล่าวว่า เป้าหมายคือ การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ไม่ได้เป็นการไปต่อสู้กลุ่มผู้ชุมนุม แต่เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การดูแลรักษาความปลอดภัยของนายกฯ และบุคคลสำคัญ ต้องทำอย่างเต็มที่จะกลัวคนเหล่านี้ไม่ได้ ส่วนความปลอดภัยของครอบครัว ครม.นั้น ฝ่ายตำรวจได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลด้วย รวมไปถึงองคมนตรีและองค์คณะผู้พิพากษา (ดู “ตั้งแล้ว คตม. กุมอำนาจพิเศษ,” ไทยรัฐ, 17 ก.พ. 53 ; “จตุพรเปิดเอกสารลับกวาดล้างแดง พลิกเกมไม่ชุมนุมใหญ่ บิ๊กจิ๋วย้ำสันติวิธี ไม่มีทางอื่น,” ประชาไท , 16 ก.พ. 53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย

หมายเหตุ

 

24 กุมภาพันธ์ 2553

นปช. – แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)-แดงทั้งแผ่นดิน ประชุมกันที่ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว และนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. ได้แถลงมติดังนี้

  1. สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ รัฐบาลพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่เสียหายต่อขบวนการเสื้อแดง โดยไปผูกโยงการเคลื่อนไหวกับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ โดยสร้างกระแสผ่านสื่อสารมวลชนจนดูว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่กลียุคและจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง จึงมีมติว่าการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นั้น คนเสื้อแดงจะเดินทางไปฟังหรือไม่ฟังก็ได้ โดยแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแต่ไม่นัดหมายชุมนุม เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการจะใช้วันนั้นก่อเหตุเพื่อนำกำลังออกมาปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดง
  2. เสื้อแดงจะเริ่มต้นเคลื่อนไหวใหญ่ “12 มีนาฯ เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน” โดยจะเริ่มเคลื่อนพลจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพฯ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า จะเริ่มชุมนุมที่ท้องสนามหลวงมาตาม ถ.ราชดำเนิน และไม่มีการกำหนดวันยุติการชุมนุม ตั้งเป้ากันว่าประชาชนจะมาร่วมชุนนุมกันนับล้าน แกนนำคนเสื้อแดงจะกำหนดยุทธวิธีเพื่อเอาชนะไปตามสถานการณ์ในขณะนั้น เป้าหมายคือขับไล่รัฐบาลและระบอบอำมาตยาธิปไตย

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส. สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะเคลื่อนพลเข้าสู่กรุงเทพฯ ถึงเช้าตรู่วันที่ 14 มี.ค. ซึ่งจะใช้วันนั้นเป็นวันประกาศชุมนุมใหญ่ และนับถอยหลังอำมาตยาธิปไตยและรัฐบาล การที่เคลื่อนพลวันที่ 12 มี.ค. นั้นเพราะต้องการแยกออกจากคดียึดทรัพย์ เพราะรู้มาว่าหลังคำพิพากษา 26 ก.พ. ในวันที่ 28 ก.พ. จะมีการก่อวินาศกรรม 8 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการสร้างความรุนแรงเพื่อป้ายสีคนเสื้อแดง (ดู มติชน, 25 ก.พ. 53, น.2 ; มติชน, 25 ก.พ. 53, น. 1 ; ASTV ผู้จัดการรายวัน, 25 ก.พ. 53 ; โพสต์ทูเดย์, 25 ก.พ. 53 ; บ้านเมือง, 25 ก.พ. 53 ; กรุงเทพธุรกิจ, 25 ก.พ. 53 ; พิมพ์ไทย, 25 ก.พ. 53.)

รัฐบาล – มีการประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (กอ.รมน.จว.) ณ สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน ประชุมร่วมกับ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในฐานะ ผอ.รมน. พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. ผล.อ. พิรุณ แผ้วพลสง เสธ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน. นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หลังการประชุมเสร็จสิ้นนายสุเทพแถลงผลการประชุมว่า เป็นการประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ในการดูแลแก้ไขปัญหาที่คุกคามความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งมอบหมายภารกิจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะที่เป็น ผอ.รมน.จว. ได้นำไปปฏิบัติ

นายสุเทพกล่าวถึงกรณีที่ นปช. จะเคลื่อนพลเข้ากรุงเทพฯ ว่า หากการชุมนุมไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนก็สามารถทำได้ แต่ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมปิดทางเข้าออกกรุงเทพฯ รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการนัดชุมนุมใหญ่ของ นปช. ว่า รัฐบาลจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยนายสุเทพ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ความมั่นคง (คตม.) ติดตามอย่างต่อเนื่อง และจะให้นายสุเทพทบทวนว่าจะคง คตม.ไว้จนวันที่ 14 มีนาคมหรือไม่  (ดู “แดงดีเดย์ชุมนุมใหญ่ 12 มีนา,” มติชน, 25 ก.พ. 53, น.2 ; มติชน, 25 ก.พ. 53, น. 1 ; ASTV ผู้จัดการรายวัน, 25 ก.พ. 53 ; โพสต์ทูเดย์, 25 ก.พ. 53 ; บ้านเมือง, 25 ก.พ. 53 ; กรุงเทพธุรกิจ, 25 ก.พ. 53 ; พิมพ์ไทย, 25 ก.พ. 53)
หมายเหตุ – ดูบทวิเคราะห์การนัดชุมนุมใหญ่ของ นปช. เพิ่มเติมใน “แดงแรง (ไม่) ตก ดีเดย์ 14 มี.ค.บ่มสุกงอม เผด็จศึกอำมาตย์,” มติชน, 25 ก.พ. 53, น. 11

ในนสพ. บ้านเมืองและกรุงเทพธุรกิจยังอ้างแหล่งข่าวจากเสื้อแดงและเพื่อไทยด้วยว่า “จะมีกลุ่มการ์ด นักรบชุดดำ และทหารพราน แทรกซึมเข้ามาดูแลมวลชนทุกกลุ่ม”  (ดู “แดงเป่านกหวีด 14 มีนา ม็อบใหญ่เข้ากรุง,” บ้านเมือง , 25 ก.พ. 53 ; “แดงนัดชุมนุมใหญ่ 14 มีนา,” กรุงเพทธุรกิจ, 25 ก.พ. 53.)

ต่อมาในคอลัมน์รายงานพิเศษ “สี่เกลอ เครียดเปลี่ยนขั้ว-ล้มรัฐ ‘เทพ’-3ป.สู้กองทัพแดงกัยภารกิจ ‘เสธ.แดง’ ที่ดูไบ” ของ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ให้ข้อมูลว่า เสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธ มีนักรบชุดดำที่ พล.ต.ขัตติยะ จัดตั้งไว้ พร้อมรับมือเจ้าหน้าที่รัฐ  (ดู “สี่เกลอ เครียดเปลี่ยนขั้ว-ล้มรัฐ ‘เทพ’-3ป.สู้กองทัพแดงกัยภารกิจ ‘เสธ.แดง’ ที่ดูไบ,” คอลัมน์รายงานพิเศษ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, 26 ก.พ. – 4 มี.ค.53.)

ต่อมาในวันที่ 26 ก.พ. 53 บางกอกทูเดย์ รายงานว่ามีการทำบัญชีดำเครือข่ายทักษิณ-คนเสื้อแดง 212 รายชื่อ (ดู “Blacklist 212 คนสีแดง โดนระนาว สั่งจับตา-ไม่จับตาย,” บางกอกทูเดย์, 26 ก.พ. 53)

 

26 กุมภาพันธ์ 2553

นปช.

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 46,373 ล้านบาท (ดู “ศาลตัดสินยึดทรัพย์ทักษิณ4.6หมื่นล้าน,” คม ชัด ลึก, 26 ก.พ. 53)

หมายเหตุ

 

27 กุมภาพันธ์ 2553

นปช. – นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างบันทึกเทปรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 14 มี.ค. ว่ามี 3 เงื่อนไขที่จะยุบสภาคือ เรื่องเศรษฐกิจไม่เป็นปัญหาแล้ว แต่เหลืออีก 2 เรื่อง รัฐธรรมนูญกับเรื่องหยุดใช้ความรุนแรง และถ้าเป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องเดินหน้าบริหารบ้านเมืองไปเพราะไม่รู้ว่าจะเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นทำไม (ดู มติชน, 28 ก.พ. 53)

และรัฐบาลได้เตรียมแผนรักษาความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเพื่อต้องการให้เกิดรัฐประหาร และความรุนแรง (ดู สยามรัฐ, 28 ก.พ. 53)

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย –  กลางคืน เกิดเหตุขว้างระเบิดลูกเกลี้ยง เอ็ม 67 ใส่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม สาขาถนนพระราม 2 ซอย 65 สาขาพระประแดง และสาขาสำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ นอกจากนี้ คนร้ายยังโทรฯ ข่มขู่วางระเบิดที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาพุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม อีก 1 แห่ง

เวลา 21.45 น. มีคนร้ายขว้างระเบิดเข้าไปบริเวณธนาคารกรุงเทพ สาขาย่อยสีลม ปากซอยสีลม 28 ถนนสีลม เขตบางรัก กทม. ระเบิดเสียงดังสนั่น แรงระเบิดทำให้ผิวถนนด้านหน้าธนาคารเกิดหลุมลึก ตู้โทรศัพท์ด้านหน้าธนาคารเสียหาย รวมทั้งกระจกด้านหน้าของธนาคารแตกหลายจุด จากการสอบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทราบว่าคนร้ายขี่จักรยานยนต์เข้ามาบริเวณดังกล่าวแล้วขว้างระเบิด ซึ่งคาดว่าเป็นระเบิดลูกเกลี้ยง เข้าไปบริเวณข้างธนาคาร

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า มีผู้พบระเบิดที่บริเวณที่จอดรถของธนาคารกรุงเทพ สาขาพระราม 2 แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเก็บกู้ได้ทัน (ดู “บึ้มแบงก์กรุงเทพ 2 จุดป่วน กทม.,” มติชน, 28 ก.พ. 53)

หมายเหตุ

 

28 กุมภาพันธ์ 2553

นปช.

รัฐบาล – นายสุเทพ เทือกสุบรรณให้สัมภาษณ์ต่อกรณีระเบิด ธนาคารกรุงเทพว่า “ผมเชื่อว่าเหตุการณ์จะรุนแรงมากกว่าเดือน เม.ย. 2552 เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการที่จะเอาข้ออ้างไปฟ้องศาลโลก แต่ผมจะระมัดระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงใดๆ ขึ้น” นอกจากนี้ยังระบุถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาว่า ในมุมมองของตนไม่เห็นว่าการยุบสภาจะช่วยทำอะไรให้ดีขึ้นได้ อาจมีความขัดแย้งมากขึ้นอีกเพราะต้องไปแข่งกันในสนามเลือกตั้ง นายสุเทพกล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎหมายพิเศษ แต่หากสถานการณ์บานปลายเหมือนสงกรานต์ปีที่แล้วก็ต้องใช้กฎหมายพิเศษเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงจนกระทบกับประชาชนทั่วไป

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย

 

มีนาคม 2553

3 มีนาคม 2553
นปช.

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ช่วงกลางดึกของวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้มีคนร้ายเข้าไปขโมยอาวุธสงครามในคลังแสงของกองพันทหารช่างสนาม 401 ค่ายอภัยบริรักษ์ จ.พัทลุง โดยอาวุธสงครามที่หายไปมีจำนวน 3 รายการ คือลูกระเบิดแบบสังหารบุคคล แบบเอ็ม 67 จำนวน 69 ลูก เครื่องกระสุนปืนแบบเอชเค และแบบเอ็ม 16 จำนวนอย่างละ 3,100 นัด

ทั้งนี้ มีรายงานว่า อาวุธสงครามที่หายไปน่าจะเป็นคนกำลังพลภายในหน่วย เนื่องจากสภาพอาวุธสงครามภายในคลังแสงที่เหลืออยู่ไม่มีสภาพของการรื้อค้น แบบกระจัดกระจายเหมือนกับลักษณะการขโมยเหมือนกับการปล้นปืนที่กองพันพัฒนา ที่ 4 จ.ปัตตานี เมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา  (ดู “งัดคลังแสงทหารฉกระเบิดกระสุนปืน 6 พันนัด ‘มาร์ค’ รับมีข่าววินาศกรรม รวบผู้ต้องสงสัยบึ้มแบงก์ มหาเถรปรามพระ-ห้ามยุ่ง,” ไทยรัฐ, 7 มี.ค.53)

หมายเหตุ

 

5 มีนาคม 2553

นปช.

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 5,000 คน ชุมนุมที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมีแกนนำ นปช. ไปปราศรัยเพื่อระดมคนเดินทางไปร่วมชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ โดย พ.ต.ท. ทักษิณได้วีดีโอลิงค์เข้ามาคุยกับผู้ชุมนุมด้วย

หมายเหตุ

 

6 มีนาคม 2553

นปช. – ที่วัดนวลจันทร์ ย่านบึงกุ่ม นปช.จัดอบรมโรงเรียนผู้นำ นปช. โดยมีแกนนำคนเสื้อแดงมน กทม. นับร้อยคนเข้าร่วม นพ. เหวง โตจิราการ ได้กล่าวว่า การจัดชุมนุมครั้งนี้แกนนำ นปช. ได้มีการวางระบบไว้อย่างรัดกุมที่สุดแทบไม่มีช่องโหว่ใดๆ ที่จะให้ฝ่ายที่ไม่หวังดีเข้ามาแทรกแซงได้เหมือนครั้งสงกรานต์เลือด นอกจากนี้ยังถือเป็นการชุมนุมที่เน้นในเรื่องสันติวิธีเป็นหลัก ไม่มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมและการ์ดจะต้องปลดอาวุธทุกชนิดก่อนเข้ามาร่วม เมื่อคนเสื้อแดงมารวมตัวกันเป็นล้านหรือเกือบล้านแล้ว หากรัฐบาลไม่คิดจะรับฟังเสียงประชาชนเลยก็คงเป็นไปไม่ได้

สำหรับระยะเวลาในการชุมนุมนั้น นพ.เหวง กล่าวว่า เบื้องต้นกำหนดไว้ 7 วัน และเพื่อรักษาความปลอดภัยจะมีการใช้หน่วยการ์ด ที่คัดมาจากตัวแทนคนเสื้อแดงแต่ละจังหวัด ราวหมื่นคน รับหน้าที่ป้องกันมวลชนในพื้นที่ทั้งหมด แต่บริเวณพื้นที่ชุมนุมชั้นใน นปช. จัดชุดหน่วยสันติวิธีสวมเสื้อสีขาว เข้าไปแทรกตามจุดต่างๆไว้ เพื่อเข้าไปเจรจายุติความรุนแรงทุกกรณี

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เรียก พล.ต.ท. สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น เป็นเรื่องที่อธิบายได้ชัดว่า การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องระหว่างคนเสื้อแดงกับ รัฐบาล แต่เป็นเรื่องของประชาชนกับระบอบอำมาตย์ วันนี้พล.อ.เปรม ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วเพราะการเรียก ผบช.น. มาถามเรื่องความเคลื่อนไหว และสั่งการให้ดำเนินการคนเสื้อแดงนั้น ไม่ใช่หน้าที่ขององคมนตรี ความจริงเป้าหมายที่แท้จริงของคนเสื้อแดงก็คือ พล.อ.เปรม  (ดู “งัดคลังแสงทหารฉกระเบิดกระสุนปืน 6 พันนัด ‘มาร์ค’ รับมีข่าววินาศกรรม รวบผู้ต้องสงสัยบึ้มแบงก์ มหาเถรปรามพระ-ห้ามยุ่ง,” ไทยรัฐ, 7 มี.ค.53)

รัฐบาล – นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ใกล้จะเริ่มต้นขึ้น ว่าการปิดการจราจรไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตาม รธน. ถ้าเหตุการณ์จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษก็จะใช้ และยอมรับว่าจากการข่าวของฝ่ายความมั่นคงมีการประเมินว่าอาจจะมีการก่อวินาศกรรมด้วยในช่วงที่เสื้อแดงชุมนุม ขณะที่ นพ. บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคประชาธิปัตย์ประเมินความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า จะเคลื่อนไหวใน 3 รูปแบบสร้างความขัดแย้งนำสู่ความรุนแรง ได้แก่ 1) สร้างข้อมูลเท็จ 2) ยกระดับความรุนแรง และ 3) พาดพิงสถาบันสูงสุดของชาติ  (ดู “งัดคลังแสงทหารฉกระเบิดกระสุนปืน 6 พันนัด ‘มาร์ค’ รับมีข่าววินาศกรรม รวบผู้ต้องสงสัยบึ้มแบงก์ มหาเถรปรามพระ-ห้ามยุ่ง,” ไทยรัฐ, 7 มี.ค.53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย

หมายเหตุ

 

8 มีนาคม 2553

นปช.

รัฐบาล – เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประชุมหารือร่วมกับ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการรับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

หลังเสร็จสิ้นการประชุมนายกรัฐมนตรีได้แถลงเนื้อหาในการประชุม นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเหตุผลที่ระงับการเดินทางไปเยือนประเทสออสเตรเลียนในระหว่างวันที่ 13-17 มี.ค. ว่า เมื่อขณะนี้คณะกรรมการที่ติดตามสถานการณ์ความมั่นคงเห็นว่าสถานการณ์มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศกฎหมายความมั่นคง ก็คิดว่าภารกิจของตนคงจะต้องดูแลให้การบริหารสถานการณ์ช่วงนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  (ดู “รัฐบาลหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือสถานการณ์การชุมนุมในพื้นที่กทม.และปริมณฑล,” กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษกทำเนียบ, 8 มี.ค.53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย

หมายเหตุ

 

9 มีนาคม 2553

นปช. – นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำ นปช.กล่าวถึงกรณีที่ ครม. เห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงว่า คนเสื้อแดงไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ เพราะ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีความศักดิ์สิทธิ์น้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ดังนั้นหากมีการสกัดกั้นไม่ให้เข้ามาชุมนุม คนเสื้อแดงย่อมมีสิทธิฝ่าด่านเข้าชุมนุมได้ อีกทั้งการชุมนุมของคนเสื้อแดงขับไล่รัฐบาลเป็นการชุมนุมต่อสู้ด้วยสันติ สงบ อหิงสา จะมีกลุ่มการ์ด นปช. ประมาณ 5,000 คน มาคอยรักษาความปลอดภัย และประสานงานไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง ดังนั้นถ้าฝ่ายรัฐบาลไม่สกัดกั้น หรือไม่พยายามสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายป้ายสี การชุมนุมก็จะเป็นไปอย่างสงบ ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.กล่าวว่าการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงถือเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประชาชนมีสิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. เป็นกฎหมายที่ต้องออกโดยมีีองค์ประกอบตามที่กำหนดคือ ต้องมีสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง แต่การที่ประชาชนจะเดินทางมาร่วมชุมนุมโดยใช้รถอีแต๋นนับหมื่นคัน ขอถามว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างไร ในเมื่อทุกคนที่มาไม่ได้พกพาอาวุธ การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวยังเป็นการปฏิบัติที่เกินกว่าเหตุ รัฐบาลมีความผิดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา มาตรา 157 ยิ่งรัฐบาลประกาศใช้กฎหมายที่รุนแรงก็เท่ากับเป็นการราดน้ำมันใส่กองเพลิง

ด้านพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคง และมีการกล่าวว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นจากมือที่สาม ซึ่งบัญชาการมาจากลอนดอน (หมายถึงนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งในขณะนั้นบินไปอังกฤษ)

ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยประชาชน (ศชปป.) ขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดินทางชุมนุม ซึ่งอาจประสบภัยอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงรับเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีเกิดพลัดหลงและสูญหาย อีกทั้งให้คำปรึกษาข้อกฎหมายกับประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกกลั่นแกล้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. จนกว่าการชุมนุมจะยุติในช่วงค่ำ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้วีดิโอลิงค์ไปยังที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดหลายแห่ง

ในเช้าวันเดียวกัน นายคำพอง ซามาตร์ คนเสื้อแดงจากนครพนม ได้ขว้างขี้วัวใส่บ้านพักนายกอภิสิทธิ์ จึงถูกตำรวจจับส่งฟ้องศาลทันควัน ศาลพิพากษาลงโทษกักขัง 10 วัน ไม่รอลงอาญา  (ดู “บ้านนายกฯอีกปาขี้วัวถล่ม,” ไทยรัฐ, 10 มี.ค.53 ; “บุกเดี่ยวปาขี้วัวบ้านมาร์ค,” มติชน, 10 มี.ค.53 ; “แดงนครพนมบุกบ้านมาร์คปาขี้วัวถล่ม,” แนวหน้า, 10 มี.ค.53 ; “เร่งฟ้องเสธ.แดง เทพลั่นก่อเหตุจับ,” ASTV ผู้จัดการรายวัน, 10 มี.ค.53 ; “จับอีกรายที่ 2 ปาอึบ้านนายกฯ,” ข่าวสด, 10 มี.ค.53)

รัฐบาล – คณะรัฐมนตรีมีมติ

  1. เห็นชอบร่างประกาศและร่างข้อกำหนดพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รวม 3 ฉบับ ในระหว่างวันที่ 11-23 มีนาคม 2553 (เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและบางอำเภอในเขตปริมณฑล) ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เสนอ ได้แก่1.1 ร่างประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร [ให้เขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 7 จังหวัด (นนทบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร บางจังหวัดประกาศเฉพาะบางอำเภอ) เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจัดทำแผนการดำเนินการในการบูรณาการ กำกับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงาน ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออื่น เพื่อปฏิบัติภารกิจนี้เป็นการเฉพาะ]1.2 ร่างประกาศ เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานหน้าที่ตามกฎหมาย[ให้ กอ.รมน. มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย 18 ฉบับ]1.3 ร่างข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 [ออกข้อกำหนดที่ให้อำนาจ กอ.รมน. สามารถดำเนินการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล]
  2. เมื่อเหตุการณ์สิ้นสุดลงแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายงานผลส่งให้ กอ.รมน. เพื่อรวบรวมเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบโดยเร็ว ตามมาตรา 15 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ต่อไป

มีรายงานข่าวด้วยว่าในที่ประชุม ครม. นายสุเทพได้สรุปการประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง โดยได้กล่าวว่า หากผู้ชุมนุมมีจำนวนมากจะไม่เกิดความรุนแรง แต่หากมีจำนวนน้อยหรือมีจำนวนมากแต่ชุมนุมไปแล้ว 7 วันไม่บรรลุเป้าหมาย ก็มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงสูง ที่หนักใจคือมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการใช้ ความรุนแรง ใช้ระเบิดในการสร้างสถานการณ์หรือก่อวินาศกรรม สิ่งเหล่านี้ประชาคมข่าวกรองนานาชาติรู้ดีว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่นักประชาธิปไตย แต่เป็นพวกผู้ก่อการร้ายที่ต้องการสร้างภาพทางการเมืองที่เกิดการกระทำรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อนำความเสียหาย การบาดเจ็บเสียชีวิตของคนไปเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อในเวทีนานาชาติ
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดรัฐมนตรีคณะเล็กจำนวน 9 คน เพื่อประชุมประเมินสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินในการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกอบด้วย

  1. นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
  2. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
  3. พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์
  4. นายวีระชัย วีระเมธีกุล รองนายกฯ
  5. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม
  6. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย
  7. นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน
  8. นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม
  9. นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรฯ

เวลา 14.15 น. นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่ คตม.เสนอมา เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ช่วงตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. มีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มประกาศเจตนารมณ์ในการปลุกระดมมวลชน ระดมยานพาหนะจำนวนมาก โดยกำหนดให้มีการชุมนุมและปิดล้อมสถานที่สำคัญใน กทม. และพื้นที่บางส่วนของปริมณฑล ซึ่งมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงต้องมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชนและให้การบริหารจัดการรักษาความสงบมีความเป็นเอกภาพ และได้มอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้บัญชาการสถานการณ์

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าอยากให้ผู้มาชุมนุมช่วยพิจารณาดูว่าจะลุกมาสู้เพื่อใคร และเพื่ออะไร รัฐบาลพยายามให้สถานการณ์สงบ ไม่ใช้กำลังเพราะหากมีการใช้กำลัง คนที่จะได้รับประโยชน์คนสุดท้ายคือรัฐบาล รวมทั้งยังมีความเสี่ยงมากขึ้น

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ เวลา 14.00 น. มีการประชุม ส.ส. พรรค นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าได้รับทราบแนวทางของผู้เตรียมเคลื่อนไหวในการชุมนุมว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงด้วย 3 เหตุผล คือ

  1. มีการเตรียมการคล้ายกับเหตุการณ์เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา
  2. แนวทางการชี้นำของ พ.ต.ท.ทักษิณและ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในการที่ไม่ยอมรับคำตัดสินยึดทรัพย์
  3. แกนนำปลุกระดมให้คนก่อความรุนแรงอย่างเปิดเผย

และทั้งนี้พรรคห่วงใยใน 5 สถานการณ์คือ

  1. การก่อวินาศกรรม
  2. การโจมตีสถาบันต่างๆ
  3. การสร้างความเข้าใจที่เป็นเท็จว่ารัฐบาลเตรียมปราบปรามผู้ชุมนุม
  4. มีการปล่อยข่าวเรื่องศาสนา
  5. ความเชื่อมั่นต่างประเทศ

ส่วน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยประเมินว่าความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงจะแยกปฏิบัติการเป็นหลายสาย สรุปเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1) ประกาศดำเนินการเปิดเผยโดยมี นปช. เป็นแกนนำ และ 2) กลุ่มที่ไม่เปิดเผย ดำเนินการแบบคู่ขนาน ซึ่งจะมีการวางระเบิด 2 จุดใหญ่ และขว้างระเบิดในพื้นที่หลายจุดเป็นดาวกระจาย นอกจากนี้จะปิดล้อมสถานที่ราชการ จับตัวบุคคลสำคัญของประเทศ

มีรายงานข่าวด้วยว่า ในที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า การข่าวในทางลับที่มีสายในเสื้อแดงแจ้ง ว่าในระดับแกนนำมีการพูดถึงการระเบิด และจะมีการวางระเบิดตึกอาคารขนาดใหญ่หลายจุด รวมถึงจะมีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ขว้างระเบิดมือมากถึง 30-40 จุด อย่างที่เคยเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับเมื่อคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เพื่อข่มขวัญและดิสเครดิตรัฐบาล และกดดันให้เกิดการเจรจาต่อรองเพื่อให้นายกฯ ยุบสภาหรือลาออก

บ่ายวันเดียวกัน นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เชิญคณะทูตานุทูต องค์กรระหว่างประเทศ และผู้แทนหอการค้าประเทศต่างๆ ประมาณ 100 คน มาชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทย และมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัย ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ออกหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 9 มี.ค. ถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการดำเนินการรักษาความปลอดภัยในบริเวณรัฐสภา โดยแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐสภาให้หาสถานที่ปลอดภัยจัดเก็บเอกสารสำคัญ ของสภาเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกำชับให้กวดขันดูแลรักษาความปลอดภัยโดยรอบรัฐสภาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รักษาการ ผบก.ป. กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงาน 3 ชุด เพื่อติดตามการชุมนุมของคนเสื้อแดง ได้แก่ กลุ่มที่พกอาวุธ กลุ่มวิทยุชุมชน และกลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยได้เตรียมเอาผิด พ.ร.บ. การจราจร กรณีหากมีการปิดถนน ไปจนถึงข้อหากบฏหากมีการบุกทำลายสถานที่ราชการ

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทยกล่าวว่า รมว. มหาดไทยได้สั่งการไปยัง ผวจ. เพื่อให้ดูแลพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ รวมถึงตั้งจุดตรวจดูแลการเดินทางเข้ามาใน กทม. ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบว่ารถที่ขนคนเข้านั้นถูกกฎหมายหรือไม่

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่ารัฐบาลจะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน 3 เรื่องก่อนถึงวันชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดง ได้แก่

  1. จุดยืนของรัฐบาลว่า ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับกลุ่มเสื้อแดง แต่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
  2. รัฐบาลเคารพการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ
  3. หากการชุมนุมผ่านไปได้ด้วยดี บ้านเมืองจะเดินหน้าไปได้

โดยวันที่10 มี.ค.จะมีการจัดรายการพิเศษทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ให้ผู้แทนหน่วยงานต่างๆมาชี้แจงแผนรับมือกับการชุมนุม นายสาทิตย์ กล่าวด้วยว่า สื่อตกเป็นเป้าหมายหลายแห่ง ดังนั้น สื่อของรัฐทั้งช่อง 5, 9, 11 ต้องระวังตัวและเตรียมแผนดูแลหากเกิดสถานการณ์วิกฤต จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไปอารักขาและตั้งจุดตรวจด้วย
ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย

หมายเหตุ

 

10 มีนาคม 2553

นปช. – พ.ต.ท. ทักษิณส่งข้อความสั้น SMS มายังโทรศัพท์มือถือของสมาชิกที่สมัครรับข้อมูลข่าวสารทาง TSLive ว่า “14 นี้ร่วมทวงคืนประชาธิปไตยและความเป็นธรรมที่หายไป เพื่ออนาคตลูกหลานไทย”

แกนนำ นปช.แถลงที่ชั้น 6 ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา คนในซีกรัฐบาลได้ออกมากุข่าวสร้างสถานการณ์ด้วยการระบุว่าจะมีการวางระเบิด 3-4 จุดใหญ่ และ 40 จุดย่อย รวมทั้งการก่อวินาศกรรม ขอเตือนทั้งนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และนายเนวิน ที่ได้ร่วมคิดสร้างสถานการณ์เมษาเลือด (2552) ว่า คนเสื้อแดงจะไม่ยินยอมให้สถานการณ์กลับมาซ้ำรอย และพร้อมที่จะ แหวกด่านมาร่วมชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ

บ่ายวันเดียวกัน แกนนำกลุ่ม นปช. ได้ประชุมกันที่ห้องประชุมชั้น 4 ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เพื่อสรุปแผนและยุทธศาสตร์การเคลื่อนทัพ

ในช่วงเย็น นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์การศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าพบนายวีระ ประธาน นปช. เพื่อนำเสนอเอกสารและแนวทางเรื่องการชุมนุมโดยสันติวิธี นายโคทม กล่าวว่า เสนอให้ทาง นปช. และรัฐบาลร่วมกันป้องกัน ระงับ และบรรเทาความรุนแรง ถ้าต่างฝ่ายยอมรับที่จะร่วมมือกันก็ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ด้วยการตั้งเป็นคณะบุคคลมารับผิดชอบ ในส่วนของรัฐบาลทราบว่ามีการตั้งนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ เป็นตัวแทนแล้ว ในส่วน นปช.มีการเสนอชื่อ นพ.เหวง โตจิราการ ที่รับผิดชอบด้านสันติวิธีมาตลอด เป็นตัวแทนในการประสานงานครั้งนี้

ที่สถานีวิทยุพีเพิลแชนแนลเรดิโอ ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว มีการเปิดตัวศูนย์ข่าวสื่อประชาธิปไตย หรือ DNN โดยมีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสาร Voice of Taksin เป็นประธานศูนย์ เพื่อเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งประสานงานในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช. รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมนำภาพและคลิปวิดีโอมาส่งต่อเพื่อเผยแพร่และเก็บเป็นหลักฐาน โดยมีสถานีวิทยุพีเพิล แชนแนลเป็นแม่ข่าย ส่วนทางเว็บไซต์จะมี www.thailandmirror.com เป็นเว็บหลักในการเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังเปิดคอลเซ็นเตอร์ 10 คู่สาย ไว้รับข้อมูล

ช่วงบ่ายกลุ่มคนเสื้อแดงจัดงานทอดผ้าป่าประชาธิปไตย โดยมีนางเยาวเรศ ชินวัตร เป็นประธาน ที่อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เพื่อระดมทุนสนับสนุนค่าน้ำมันให้คนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพ

รัฐบาล – ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ได้เรียกประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เพื่อเตรียมรับมือการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้แถลงว่า ที่ประชุมได้มีการอนุมัติแผน หลังจากที่ ครม.ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล หลักสำคัญที่ได้เน้นย้ำคือการรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ให้การชุมนุมมีผลกระทบให้สถานการณ์ลุกลามและกระทบการใช้ชีวิตของประชาชน ส่วนแนวปฏิบัตินั้นจะยึดถือตามแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 ซึ่งกติกาที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายยึดถือ เพราะศาลชี้ไว้ชัดว่า การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครอง แต่ต้องไม่สร้างความหวาดกลัว ข่มขู่ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งการใช้ชีวิตปกติของประชาชน ซึ่งหากการชุมนุมไม่เป็นไปตามเงื่อนไข เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายได้ ซึ่งศาลชี้ไว้ชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติตามหลักสากลและต้องดำเนินการสมควรแก่เหตุ และที่ประชุมยังเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานประสานงานกับแกนนำผู้ชุมนุม โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ เป็นประธาน

นอกจากนั้น ในที่ประชุมดังกล่าว ยังมีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ให้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย” (ศอ.รส.) เป็นหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. มีภารกิจในการป้องกัน ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง และให้รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ ศอ.รส.  (ดู คำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 103/2553 เรื่อง “การจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย” ลงวันที่ 11 มี.ค. 2553)

ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ได้เป็นประธานในการประชุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผบ.ทบ. พล.อ.พิรุณ แผ้วผลสง เสนาธิการทหารบก พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 และนายทหารระดับผู้บังคับกองพล เข้าร่วมประชุมโดยใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 19.00 น. นายสุเทพพร้อมด้วยคณะกรรมการ ศอ.รส. ได้แถลงข่าวว่า เมื่อนายกฯ ในฐานะ ผอ.รมน. ตั้งตนเป็น ผอ.ศอ.รส. จึงเชิญผู้มีหน้าที่รับผิดชอบมาหารือขั้นตอนรายละเอียดการปฏิบัติ โดยมีข้อกำหนด ได้แก่ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐร่วมปฏิบัติดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย กำลังที่ใช้ทั้งหมดมี 50,000 คน เป็นทหาร 30,000 คน ตำรวจ 10,000 คน และพลเรือน 10,000 คน หากจำเป็นก็จะเพิ่มเติมในช่วงการชุมนม โดย มีเป้าหมายใหญ่คือดูแลรักษาความสงบของบ้านเมืองให้ได้ ให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติสุข เจ้าหน้าที่จะไม่พกพาอาวุธ ไม่มีเจตนาปราบปรามใคร เจ้าหน้าที่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองและที่จำเป็นในการระงับเหตุตามหลักสากล คือ โล่ กระบอง แก๊สน้ำตา รถดับเพลิง เว้นแต่ว่าการชุมนุมเกิดมีคนร้ายแฝงมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ จะมีตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษหรือหน่วยสวาทเข้าปราบปรามคนร้าย ซึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจชัดเจน นอกจากชุดนี้ไม่มีใครติดอาวุธ ยกเว้นสารวัตรทหารและตำรวจที่ลาดตระเวน

มีข้อกำหนดไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกรุกสถานที่ราชการหรือบ้านเรือนทั้งคนธรรมดาและคนสำคัญ เพราะการกระทำแบบนี้ไม่คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และ ศอ.รส. จะจัดเจ้าหน้าที่เข้าไประงับจับกุมดำเนินคดีทันที

ข้อห้ามอื่นคือต้องไม่พกพาอาวุธมาโดยเด็ดขาด วันที่ 11 มี.ค. เจ้าหน้าที่จะตั้งด่านตรวจค้นอาวุธ ตรวจบัตรประชาชน ตรวจทะเบียนรถ เพื่อไม่ให้นำอาวุธหรือคนต่างด้าวมาร่วมชุมนุม รถที่ห้ามเข้ามาเด็ดขาดคือรถอีแต๋นและรถที่ใช้ทำไร่ทำนา ส่วนรถกระบะที่ขนคนเข้ามาห้ามไม่ให้เข้ามา ยกเว้นรถที่ขนสินค้าเกษตร หากรถปิกอัพที่เข้ามา กทม.ไม่เกี่ยวการชุมนุม การชุมนุมสามารถเข้ามาได้ แต่ต้องแจ้งให้อำเภอที่ตั้งทราบว่ามาทำอะไร ทั้งนี้ หากผู้ชุมนุมนำรถปิกอัพขนคนมา เรากำหนดจุดจอดรถไว้ชานเมือง และจัดรถบัสรับส่งให้เดินทางมาถึงจุดที่ชุมนุม

ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.เป็นต้นไป ห้ามไม่ให้ใช้วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องขยายเสียงปลุกระดมให้ประชาชนกระทำการใด ที่กระทบต่อความมั่นคงของบ้านเมืองโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ ยังมีสายตรวจพิเศษพลเรือน ตำรวจ ทหาร ตระเวนไปดูแลความสงบเรียบร้อยเต็มพื้นที่ เพื่อป้องกันการวินาศกรรมใน กทม.

และตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันที่ 11 มี.ค. เป็นต้นไป ศอ.รส.จะตั้งกองบัญชาการที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ทุกเส้นทางที่ไป รพ.ศิริราช เป็นเส้นทางต้องห้าม สำหรับผู้ชุมนุมชุมนุมทั้งทางบกและทางน้ำ การชุมนุมต้องไม่ให้กระทบและระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

ในการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจและทหาร พล.ท. คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ได้รับมอบหมายให้กำกับควบคุมการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการใช้กำลังรักษาความสงบเรียบร้อย โดยจะสนธิกำลังของพลเรือนตำรวจทหารไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยกันในทุกภารกิจ ตั้งแต่คืนนี้ตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่สำคัญทั่ว กทม.

ที่กรมประชาสัมพันธ์ เวลา 13.00 น. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เชิญตัวแทนสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้ารับมอบนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ และฟังบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อมในการรับมือในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง นายสาทิตย์กล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ เหตุผลใหญ่สุดคือเพื่อรักษาความสงบและไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งด้านการข่าวมีความชัดเจนว่าการชุมนุมครั้งนี้มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง ดูได้จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการขว้างระเบิดธนาคารกรุงเทพและพบว่ามีความพยายามปลุกระดม รวมถึงพบว่ามีบางฝ่ายจะฉกฉวยสถานการณ์ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะไม่ใช้ความรุนแรง หากเกิดความรุนแรงขึ้น ไม่ใช่การกระทำของรัฐอย่างเด็ดขาด

ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เวลา 15.30 น. นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงสื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับการประกาศใช้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดูแลการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง

ที่กระทรวงต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้เชิญเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เข้าพบ เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศพบว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ใช้ยูเออีเป็นฐานเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย จึงขอความร่วมมือเอกอัครราชทูตยูเออีให้รายงานและประสานกับรัฐบาลยูเออีทราบว่า การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในระหว่างวันที่ 12 – 14 มีนาคมนี้ มีเป้าหมายที่จะล้มล้างรัฐบาล ขอให้ยูเออีอย่าอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พำนักอยู่ที่ยูเออีโดยเด็ดขาดอย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตยูเออีรับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปรายงานรัฐบาลให้เร็วที่สุด

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่าย “หยุดทำร้ายประเทศไทย หยุดใช้ความรุนแรง” และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ นำโดย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวฯ ร่วมกันแถลงข่าว “ไม่เอาความรุนแรง” เสนอแนวทางป้องกันความรุนแรงโดยการร่วมกันรณรงค์ “ไม่เอาความรุนแรง” ด้วยการใช้สัญลักษณ์ เช่น ติดธงชาติที่หน้าบ้านหรือที่ทำงาน สวมเสื้อสีขาว ผูกริบบิ้นขาว ใช้ดอกไม้ หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่สื่อถึงสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง รวมทั้งขอเชิญประชาชนร่วมกันส่งข้อความ “ไม่เอาความรุนแรง” ไปยังประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อยับยั้งความรุนแรง และออกแถลงการณ์ ขอให้ทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการชุมนุมต้องไม่ติดอาวุธ ผู้ชุมนุมต้องอยู่ในขอบเขตของการไม่ใช้ความรุนแรงและไม่มีอาวุธ ต้องไม่ใช้วิธีการที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น นอกจากนี้ในวันที่ 11 มี.ค. ทางเครือข่ายจะการเดินรณรงค์ “หยุดทำร้ายประเทศ หยุดใช้ความรุนแรง” ที่บริเวณห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง และจะรณรงค์ในที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่กลุ่ม “ประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง” ซึ่งมี น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เป็นผู้ประสานงาน ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่อง “ทำกรุงเทพให้เป็นบางรัก 14 มีนาคม วันแห่งความรักสันติ” โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ชุมนุมยึดมั่นในสันติวิธี ขอให้ชุมนุมในที่ตั้งไม่กระจายจนปิดกรุงเทพฯ เพราะจะเป็นการยั่วยุทำให้เกิดปัญหาฉุกเฉิน รวมทั้งขอให้ผู้ชุมนุมหยุดให้ข่าวในเชิงสั่งการให้ใช้ความรุนแรง และเรียกร้องให้ประชาชนเป็นหูเป็นตาช่วยระงับเหตุ พร้อมกันนี้ได้นัดหมายประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงรวมตัวกันรณรงค์ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม แยกปทุมวัน กทม.ในวันที่ 11 มีนาคม เวลา 14.30 น.

ขณะที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยาม กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ได้ออกแถลงการณ์ในนาม “กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี” จัดกิจกรรมการรณรงค์สันติวิธี พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ยึดมั่นการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมในทุกสถานการณ์ภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งต้องหนักแน่นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในกรณีที่จำเป็น เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองส่วนรวม นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมจะต้องมีความรับผิดชอบในการจัดการชุมนุมอย่างเคร่งครัดโดยยึดมั่นในหลักการสันติวิธี ใช้สิทธิตามหลักการสากล และขอให้ประชาชนทำหน้าที่นักข่าวพลเมือง ร่วมกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลความสงบสุขเรียบร้อยในบ้านเมือง และแสดงเจตจำนงความปรารถนาสันติสุขในบ้านเมืองด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยความเห็นในเชิงสันติวิธี

ที่โรงแรมเรดิสัน ชมรมสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 ได้จัดเสวนาเรื่อง “ทางออกประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็นอดีต ส.ว. 43-49 อาทิ นายสุชน ชาลีเครือ ประธานชมรมและอดีตประธานวุฒิสภา นางประทีป อึ้งทรงธรรม อดีต ส.ว.กทม. นายบุญเลิศ ไพรินทร์ อดีต ส.ว.ฉะเชิงเทรา โดยส่วนใหญ่เรียกร้องให้มีการยุบสภา

ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกนัดประเดิมสนามในวันที่ 13-14 มี.ค. ประกาศเลื่อนโปรแกรมการแข่งออกไปทุกคู่

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ประกาศหยุดการเรียนการสอนภาคฤดูร้อน ตั้งแต่วันที่ 12-14 มี.ค. และจะเปิดเรียนตามปกติอีกครั้งในวันที่ 15 มี.ค.

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ประกาศงดการเรียนการสอนในวันที่ 13-14 มี.ค. และสำหรับคณะที่จะมีการสอบในช่วงเวลาดังกล่าวก็ให้เลื่อนการสอบออกไป

สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยเฉพาะวิทยาลัยนาฏศิลปกรุงเทพฯ ประกาศเลื่อนการสอบปลายภาคเรียนที่ 2 เป็นวันที่ 21-23 เม.ย. แทน

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้ออกหนังสือเวียนแจ้งไปยังสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ให้เตรียมการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย

หมายเหตุ – สำหรับคำสั่งของศาลปกครองกลางที่นายกฯ อภิสิทธิ์กล่างถึงนั้น เป็นคำสั่งกรณีที่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการ ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ว่ากระทำการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและมิได้เป็นการบริหารราชการบ้านเมืองโดย หลักนิติธรรมตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งศาลพิเคราะห์ว่าการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 อีกทั้งการปิดกั้นมิให้การเข้าออกรัฐสภาในวันดังกล่าว เป็นไปเพื่อมิให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อันจะทำให้คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าสลายการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาการ กระทำของผู้ชุมนุมได้ อย่างไรก็ตาม การกระทำของตำรวจเพื่อสลายการชุมนุมจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึง ความเหมาะสม มีลำดับขั้นตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุมของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจดำเนินการตามอำเภอใจได้ คำสั่งศาลปกครองกลางระบุด้วยว่า โดยปรากฎข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของตำรวจในวันที่ 7 ตุลาคม มีประชาชนเสียชีวิต 1 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากไม่ได้รับทราบการแจ้งเตือนและ มาตรการสลายการชุมนุมของตำรวจ

เวลา 00.15 น. นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปประเทศอังกฤษ โดยมีผู้ร่วมเดินทางอีก 2 คน คือนายวิชัย รักศรีอักษร เจ้าของ บริษัท คิงเพาเวอร์ และ นายธีรพลนพรัมภา อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยนายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี

ศาลฎีกามีหนังสือลงวันที่ 10 มี.ค. 2553 ถึง พล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผบช.สตม. เรื่องขอให้ถอนรายชื่อบุคคลต้องห้ามออกนอกประเทศ ระบุว่าคดีที่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ตกเป็นจำเลยคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บัดนี้ศาลมีคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ถอนรายชื่อคุณหญิงพจมานออกจากรายชื่อบุคคลต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

มีรายงานข่าวว่า น.ส.พินทองทาและน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เดินทางออกจากประเทศไทยไปเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เวลา 23.10 น. ส่วนคุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ และนายพานทองแท้ ชินวัตร เดินทางออกจากประเทศไทยในคืนเดียวกัน โดยมีปลายทางอยู่ที่ฮ่องกง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ ใน เวลา 21.20 น.

(ดู “จี้รัฐ-เสื้อแดงยุติรุนแรง,” กรุงเทพธุรกิจ, 11 มี.ค.53 ; “นายกฯ ยันต้องดูแลศิริราช ปลอดภัยระดับสูงสุด,” ไทยรัฐ, 11 มี.ค.53 ; “เรียกสื่อไทย-เทศแจงใช้พรบ.มั่นคง,” ASTV ผู้จัดการรายวัน, 11 มี.ค.53 ; “ยึดสันติวิธี วอนแดงเลิกคิดปิดเมือง โคทมบุกกล่อม นปช.,” คม ชัด ลึก, 10 มี.ค.53 ; “อ้อ-โอ๊คเผ่นฮ่องกง มาร์คเย้ยแม้วทิ้งแดงรับเคราะห์,” ASTV ผู้จัดการรายวัน, 11 มี.ค.53 ; “33 จุดเสี่ยงรัฐจับตาห้าง-สี่แยก พัลลภไม่ยุ่ง-จิ๋วผ่าตา,” คม ชัด ลึก, 11 มี.ค.53 ; “ตร. 5 หมื่นรับมือแดง จ้าง 2 พันปาขวดน้ำมัน,” ASTV ผู้จัดการรายวัน, 11 มี.ค.53 ; “ห้ามแดงทั้งทางบก-ทางน้ำ ผ่านรพ.ศิริราช,” แนวหน้า, 11 มี.ค.53 ; “แดงฮึ่มแหกทุกด่าน ระทึกรถตู้ไล่บี้ขบวนนายกฯ ทหารกระจายกำลังทั่วกรุง,” สยามรัฐ, 11 มี.ค.53 ; “ภาคปชช.ปลุกพลังเงียบ ต้านรุนแรง ติดธงชาติ-ริบบิ้นสีขาว,” แนวหน้า, 11 มี.ค.53 ; “รบ.สั่งปิดวิทยุ-ทีวีปลุกระดม อ้อ-โอ๊คเผ่น,” มติชน, 11 มี.ค.53 ; “ทักษิณโหมไฟสั่งแดงฝ่าด่านเข้ากรุง,” บ้านเมือง, 11 มี.ค.53 ; “สีขาวโผล่แล้วปลุกพลังเงียบ หยุดทำร้ายไทย,” ไทยโพสต์, 11 มี.ค.53 ; “14 มีนา วันแห่งความรักสันติ ภาคสังคมปลุก เรียกร้องไม่เอาความรุนแรง,” มติชน, 11 มี.ค. 53 ; “แดงบุกค่ายทหาร-สน.ยิงทันที,” ไทยโพสต์, 11 มีงค. 53 ; “ริบบิ้นขาวโผล่ตีกิน สร้างภาพเป็นกลางต้านความรุนแรง,” ASTV ผู้จัดการรายวัน, 11 มี.ค.53 ; “ศอ.รส.งัดกฎเหล็กคุมเข้มม็อบแดงยึดกทม.,” ข่าวสด, 11 มี.ค.53 ; “อ้อ-โอ๊คบินนอก’จิ๋ว’หลบ!ผ่าตา-เหลิมก็ไม่อยู่,” ข่าวสด, 11 มี.ค.53 ; “เสื้อแดงใช้ช่องพีเพิลแชนแนลเปิดศึกโต้สื่อรัฐ,” กรุงเทพธุรกิจ, 11 มี.ค.53)

 

11 มีนาคม 2553

นปช. – ที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว มีการประชุมแกนนำ นปช. กำหนดแผนการเคลื่อนไหววันที่ 12 มี.ค. จากนั้นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. แถลงว่า กองทัพเสื้อแดงทุกภูมิภาคจะมาถึงกรุงเทพฯ ไม่เกิน 12.00 น. วันที่ 14 มี.ค. คนเสื้อแดงขอสงวนสิทธิ์นำรถเข้ากรุงเทพฯ โดยไม่ต้องขออนุญาตใดๆ แล้ว เที่ยงวันที่ 14 มี.ค. จะเปิดเวทีปราศรัยเป็นทางการ นายวีระ มุสิกพงษ์ประธาน นปช. จะนำอ่านแถลงการณ์ “โค่นรัฐบาลอำมาตย์ ยุบสภา” ประกาศข้อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา ถ้าผ่านวันที่ 14 มี.ค.ไปแล้วรัฐบาลยืนยันจะอยู่ต่อ นปช.จะยกระดับการชุมนุมการต่อสู้จนกว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชน

“รัฐบาลชุดนี้เป็นสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจระบอบอำมาตยาธิปไตยเหนือประชาธิปไตย ผมยืนยันว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ได้มาเป็นรัฐบาลวันนี้เพราะขบวนการของอำมาตย์ที่เคลื่อนไหวมาก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 การผลักดันให้อภิสิทธิ์ขึ้นเก้าอี้นายกฯ คือการแสดงว่าพลังของอำมาตยาธิปไตยในประเทศนี้ยิ่งใหญ่เหลือเกิน

 

สิ่งที่เราต้องการคือให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงและอำมาตย์ต้องถอยไป เราไม่มีการประกาศสงครามครั้งสุดท้ายและไม่มีการประกาศชัยชนะในระหว่างการ ต่อสู้ เราพร้อมที่จะแพ้ทุกวัน แต่ขอชนะแค่วันเดียว ครั้งเดียว คือโค่นล้มอำมาตย์ แต่ขั้นแรกรัฐบาลต้องไปก่อน

 

การล้มรัฐบาล ชุดนี้เป็นการเข้าประชิดตัวกระบวนการต่างๆ เป็นหลักกิโลเมตรแรก ยุบสภาแล้วก็ให้มีการเลือกตั้ง แล้วเราก็จะใช้พลังของเราเคลื่อนไหวในสนามเลือกตั้งเพื่อช่วงชิงเอาอำนาจรัฐ มาไว้กับนักการเมืองที่เราไว้ใจ แล้วพรรคการเมืองที่ได้อำนาจรัฐมาก็ต้องใช้อำนาจนั้นในการสร้างประชาธิปไตย นี่คือหลักกิโลเมตรต่อไป” ณัฐวุฒิกล่าว

ด้านนายจตุพรยืนยันว่า กลุ่มเสื้อแดงจะไม่ใช้ความรุนแรง จะยึดสันติวิธี หากมีความรุนแรงก็เป็นเพราะรัฐบาลสร้างสถานการณ์เอง และเมื่อเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเตรียมหาประเทศใหม่อยู่และรัฐบาลเตรียมนับถอยหลังได้เลย นอกจากนี้นายจตุพรยังอ้างว่า เมื่อคืนที่ผ่านคนในบ้านสี่เสาเทเวศร์เรียก ผบช.น.เข้าพบและสั่งให้ดำเนินการกับแกนนำเสื้อแดง ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากนายตำรวจระดับนายพลคนหนึ่ง ซึ่งหากเป็นความจริงเท่ากับว่าพล.อ.เปรม ออกโรงบัญชาการเองอย่างเต็มตัว

เวลา 14.30 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.ให้เอาผิดทางอาญากับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ กรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐตั้งด่านสกัดผู้ที่จะมาชุมนุม ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เข้าข่ายเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

รัฐบาล – เวลา 10.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบกนายสุเทพ ในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.รส. เป็นประธานประชุมเตรียมพร้อมการรักษาความสงบการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง จากนั้นมีการแถลงข่าว โดยได้นำเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบต่างๆ ทั้งหน่วยอรินทราช ตำรวจจราจร สายตรวจ และหน่วยปะฉะดะ มาให้สื่อมวลชนบันทึกภาพเพื่อให้ประชาชนทราบว่าเจ้าหน้าที่แต่ละชุดแต่งกายอย่างไร พร้อมทั้งยืนยันด้วยว่า การตั้งด่านไม่ได้ต้องการสกัดผู้ชุมนุม แต่ทำเพื่อตรวจค้นอาวุธเท่านั้น แต่หากผู้ชุมนุมไปบุกรุกเคหสถานหรือสถานที่ราชการจะเข้าสลายการชุมนุมทันที ซึ่งการสลายการชุมนุมจะทำตามหลักสากล นายสุเทพกล่าวว่า ตั้งแต่มีการประกาศพื้นที่ กทม. และปริมณฑลเป็นพื้นที่ความมั่นคง รถอีแต๋นจะเข้ามาไม่ได้เด็ดขาด รถกระบะที่บรรทุกขนคนก็เข้ามาไม่ได้ ยกเว้นผู้ที่เดินทางทำกิจธุระตามปรกติ แต่ต้องมีหนังสือรับรองจากอำเภอในภูมิลำเนาติดตัวมาด้วย ส่วนเรื่องสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่มีการปลุกระดมนั้น ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาติดตาม

พล.ร.ต. นริศ ประทุมสุวรรณ เลขานุการกองทัพเรือ แถลงถึงการจัดกำลังกองทัพเรือรักษาความปลอดภัยบริเวณ ร.พ. ศิริราช และแจ้งว่า ศอ.รส. กำหนดพื้นที่ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ โดยรอบ ร.พ.ศิริราช เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และประกาศให้ท่าเรือร.พ.ศิริราช ท่าวังหลัง ท่าช้าง ท่าพระจันทร์ ท่าราชนาวีสโมสร ท่าราชนาวิกสภา ท่านิเวศวรดิษฐ์ และท่าราชวรดิฐ เป็นท่าเรือที่ห้ามไม่ให้เรืออื่นใดที่ไม่ใช่เรือโดยสารประจำท่าจอดรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสิ่งใดๆ ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และกำหนดพื้นที่เขตวัดอรุณราชวรารามถึงบางกอกน้อยเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ จึงขอให้เรือที่สัญจรที่จะผ่านในพื้นที่ดังกล่าวใช้เส้นทางชิดฝั่งพระนคร ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบกและโฆษก ศอ.รส. กล่าวชี้แจงเรื่องการห้ามใช้ถนนบริเวณรอบทำเนียบและบริเวณแยกสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งจะเริ่มจัดวางอุปกรณ์ปิดเส้นทางจราจรในคืนวันที่ 11 มี.ค.

นายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ตั้งจุดตรวจค้นอาวุธสงครามหรือสิ่งผิดกฎหมาย โดย และให้เข้มงวดกวดขันรถที่ใช้ในการเกษตร (อีแต๋น) ไม่ให้วิ่งบนพื้นผิวทางหลวงทุกประเภทโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนรถยนต์บรรทุกสินค้าและพืชผลทางการเกษตร หรือการพาณิชย์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตรวจสอบตามความเหมาะสม

ในการประชุมสภาพิจารณากระทู้ถามสด นายอภิสิทธิ์ชี้แจงเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไม่เหมือนกับการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นั้น มุ่งป้องปรามเหตุ ไม่ใช่การปราบปราม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการประกาศใช้ใน กทม. ชะอำ ภูเก็ต หัวหิน ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และรัฐบาลจะเปิดเผยข้อมูลให้สื่อได้ติดตามอย่างโปร่งใส ถ้าทุกคนอยู่ในกรอบกฎหมายก็สามารถจะผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลจะดำเนินการทุกวิถีทางไม่ให้สถานการณ์บานปลาย และตนไม่เคยปิดทางยุบสภาหรือลาออก แต่การตัดสินใจของตนจะอยู่บนประโยชน์ของส่วนรวมที่เป็นทางออกทำให้บ้านเมืองสงบสุข เดินหน้าได้ ไม่มีความขัดแย้ง หรือกระทบต่อระบบ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตย

นายกฯ ชี้แจงด้วยว่า การออก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่ได้จำกัดสิทธิการชุมนุม แต่เพื่อให้การชุมนุมเรียบร้อย ส่วนที่ว่ารัฐบาลหวังสร้างสถานการณ์รุนแรงเพื่อไปสู่การรัฐประหารนั้นไม่จริง

“ผมเห็นด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้ามาไม่ได้มีเจตนาเกินเลยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่แกนนำบางคนรับรองได้หรือไม่ว่าการชุมนุมจะปราศจากอาวุธ เพราะมีการพูดถึงตัวเลขผู้ชุมนุม 1 ล้านคน กับขวดน้ำมัน 1 ล้านลิตร [หมายถึงคำปราศรัยของนายอริสมันต์บนเวทีชุมนุมใหญ่ “รวมพลคนเสื้อแดงอีสาน เช็คกำลังพล เตรียมความพร้อมร่วมสู้ศึกครั้งสุดท้าย เพื่อเอาคนดีกลับกลับเมืองไทย และทวงคืนประชาธิปไตยกลับคืนมา”” ที่ จ.ขอนแก่น วันที่ 31 ม.ค. 53] ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นทะเลเพลิง นี่คือความสงบหรือไม่ ผมไม่ได้ห่วงรัฐบาล แต่ห่วงประชาชน ห่วงระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้นหากเกิดจลาจล คนที่อยากให้เกิดคือคนที่ต้องการล้มล้างรัฐบาล หรือล้มล้างมากกว่ารัฐบาล”

บริเวณบ้านพักนายกรัฐมนตรีมีการวางกำลังรักษาความปลอดภัยแน่นหนาขึ้น ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาลมีกำลังทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี จำนวน 2กองร้อย เข้าประจำการรักษาความปลอดภัย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้ทยอยเก็บเอกสารสำคัญ เตรียมย้ายไปสถานที่สำรองหากทำเนียบถูกปิดล้อม

กระทรวงศึกษาธิการประกาศเลื่อนการรับสมัครนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ระหว่างวันที่ 13-17 มี.ค. ในจังหวัดที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทั้งนี้ รวมถึงยกเลิกการรับสมัครทางเว็บไซต์และทางไปรษณีย์ของโรงเรียน 12 แห่งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในตามที่ได้มีการประกาศเพิ่มช่องทางไปก่อนหน้านี้ด้วย

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ควรกระทำผ่านสถาบันประชาธิปไตยของไทย ไม่ใช่ด้วยการใช้ความรุนแรง การประท้วงอย่างสันติถือเป็นเครื่องหมายของสังคมประชาธิปไตย เราเรียกร้องให้ผู้ประท้วงและแกนนำปฏิเสธการใช้ความรุนแรง และใช้สิทธิในการชุมนุมและการประท้วงโดยสันติตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย นอกจากนี้ เราขอให้รัฐบาลไทยใช้ความอดทนอดกลั้นต่อผู้ประท้วงด้วย

เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทยหยุดใช้ความรุนแรง พร้อมกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษา สวมเสื้อสีขาวออกเดินรณรงค์ที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน โดยมีการมอบพวงมาลัยดอกไม้และธงชาติติดป้ายข้อความ “ไม่ใช้ความรุนแรง” แก่ผู้ที่สัญจรไปมา

นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง กรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้นำหนังสือจากสมาคมนักข่าวและปลอกแขนสีเขียวที่มีสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวฯ ไปมอบให้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. เพื่อแจ้งต่อไปยังแกนนำ นปช. การ์ด และผู้ชุมนุมรับทราบตรงกันว่า ในการทำข่าวการชุมนุมครั้งนี้สื่อมวลชนทุกแขนงจะสวมปลอกแขนดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของสื่อมวลชน ขอให้อำนวยความสะดวกในการทำข่าวด้วย

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้กล่าวผ่านรายการสภาท่าพระอาทิตย์ของสถานีเอเอสทีวี เตือนรัฐบาลว่าไม่ควรประมาท เพราะเชื่อว่าจะรุนแรงกว่าเหตุการณ์เดือน เม.ย. 2552 สิ่งที่ต้องระวังคือการยิง ปาระเบิด เป้าหมายการชุมนุมครั้งนี้มี 3 อย่าง คือ ล้มอำนาจรัฐ จัดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารปกครองอำนาจเบ็ดเสร็จ และสถาปนารัฐไทยใหม่ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่มีกำลังพล อาวุธ และกฎหมายอยู่ในมือ

เวลา 15.00 น. ที่ห้องรับรองอาคารรัฐสภา นายโคทม อารียา เข้าพบนายอภิสิทธิ์ พร้อมยื่นหนังสือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะไม่สลายการชุมนุม และไม่มีนโยบายปราบปรามหรือสร้างสถานการณ์ใดๆ ถ้าจำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้กำลังก็จะไม่ใช่การเข้าไปสลายการชุมนุม แต่เข้าไปดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาความสงบและทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย

เวลา 10.45 น. ทนายคารม พลพรกลาง พร้อมคณะ ในนามเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (คปต.) ยื่นหนังสือผ่านนายประชา ประสพดี ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนฯ เพื่อให้ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เพราะการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงเกรงจะเกิดเหตุใช้กำลังทหารเข่นฆ่าประชาชนเหมือนเดือน เม.ย.2552

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ออกแถลงการณ์ว่า กสม. มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อการนัดชุมนุมในวันที่ 12 มี.ค. นี้ ซึ่งกำลังเป็นที่วิตกและหวั่นเกรงในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางว่าอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมประชาธิปไตย การแสดงความเห็น การรวมตัว และการชุมนุม เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลซึ่งรัฐธรรมนูญได้ประกันเสรีภาพไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ กสม. จึงขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง เคารพสิทธิและเสรีภาพซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ กสม. กำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พฤติกรรมการชุมนุมที่จะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ

“เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ” ออกแถลงการณ์ชวนสังคมไทยตั้งสติ เพื่อก้าวข้ามวิกฤตประเทศ ยึดแนวทางหัวใจความเป็นมนุษย์

พรรคการเมืองใหม่แจกคู่มือต่อต้านการจลาจล
หมายเหตุ – เวลา 11.20 น. ที่สำนักงานฝ่ายคดีอาญา 9 ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้ควบคุมตัว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก พร้อมสำนวนการสอบสวน ไปมอบให้พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง พล.ต.ขัตติยะ ในความผิดฐานครอบครองอาวุธปืนโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 53 เจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังกับทหาร เข้าตรวจค้นบ้านพัก พล.ต.ขัตติยะ ในกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (พัน ม.4 รอ.) และจากการตรวจค้นในรถตู้ยี่ห้อเบนซ์ หมายเลขทะเบียน ศข 121 กทม.พบระเบิดลูกเกลี้ยงเอ็ม 26, เอ็ม 79, อาวุธปืนขนาด.32 และกระสุนปืนจำนวนมาก ต่อมา วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พล.ต.ขัตติยะได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม พร้อมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งนี้พนักงานอัยการนัดสั่งคดีว่าจะฟ้องหรือไม่ในวันที่ 22 เม.ย.

ต่อมา เวลา 16.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม พร้อมหน่วยคอมมานโด อาวุธครบมือ นำสำนวนคดีบุกยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ใส่รถกระบะมาเตรียมยื่นขอศาลอนุมัติออกหมายจับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย (พธม.) ผู้ต้องหา กระทั่ง 16.30 น. พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทน ผบ.ตร. แจ้งว่าไม่มีคำสั่งออกหมายจับ ขณะที่คดีอยู่ระหว่างสอบสวนสำนวนเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามจึงต้องเดินทางกลับ

มีรายงานข่าวด้วยว่าภริยาและบุตรของนายกรัฐมนตรีได้เดินทางออกไปพักที่หัวหินแล้ว ส่วนตระกูลชินวัตรที่มีบทบาทในพรรคเพื่อไทย อาทิ นางเยาวภา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้วเช่นกัน

(ดู “ทูตสหรัฐฯแถลงดักคอนปช.ยุติแผนรุนแรง,” แนวหน้า, 12 มี.ค.53 ; “ชงอัยการฟัน เสธ.แดงซ่องสุมอาวุธสงคราม,” แนวหน้า, 12 มี.ค.53 ; “สุเทพสั่งสกัดรถปิกอัพเข้ากรุงต้องขอใบอนุญาต,” โลกวันนี้, 12 มี.ค.53 ; “ทูตมะกันเตือนแดงอย่ารุนแรง,” โพสต์ทูเดย์, 12 มี.ค.53 ; “หมายจับ พธม. ยึดสนามบิน-โดนเบรก,” ข่าวสด, 12 มี.ค.53 ; “โชว์เครื่องแบบคุมม็อบ สกัดมือที่สามป่วน,” โพสต์ทูเดย์, 12 มี.ค.53 ; “พรึบวันนี้ 7 จุดกรุงดีเดย์แดงขีดเส้นยุบสภา,” ข่าวสด, 12 มี.ค.53 ; “นายกฯ-ขุนทหารปักหลักร.11รับมือม็อบแดง,” ไทยรัฐ, 12 มี.ค.53 ; “สงค์ปูดแดงเผาเมืองฮาร์ดคอร์ปาบึ้มป่วน,” พิมพ์ไทย, 12 มี.ค.53 ; “ผ่าแผนยึดเมืองกรุง วันม็อบเสื้อแดงชุมนุมใหญ่,” มติชน, 12 มี.ค.53 ; “เตือนสติแดง-รัฐบาล ใช้สันติวิธี,” ข่าวสด, 12 มี.ค.53 ; “กระจาย 6 จุด แดงบุกกรุง รัฐบาลสั่งอารักขาเข้มศิริราช,” เดลินิวส์, 12 มี.ค.53 ; “มาร์คยันไม่รุนแรง สหรัฐจี้ นปช. ยึดสันติวิธี สื่อคาดแขนเขียวทำข่าว,” คม ชัด ลึก, 12 มี.ค.53 ; “ขีดเส้น15 ม.ค. ปิดกรุง แดงขู่มาร์คต้องยุบสภา,” ไทยโพสต์, 12 มี.ค.53 ; “อารักขาเข้มศิริราช ต้านสงครามกลางเมือง,” ASTV ผู้จัดการรายวัน, 12 มี.ค.53 ; “ทูตมะกันเต้นต่อต้านรุนแรง ชาวเน็ตขอสันติ,” ไทยโพสต์, 12 มี.ค.53 ; “อารักขาศิริราช 3 หมู่เรือ 4 กองร้อย ทร.แดงขู่หลัง14 มี.ค. แตกหัก,” คม ชัด ลึก, 12 มี.ค.53 ; “แม้วจาบจ้วงในหลวง เปิดใจแค้นอำมาตย์,” ASTV ผู้จัดการรายวัน, 12 มี.ค.53)

Next>>>