ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) มีจุดเริ่มต้นจากคนหนุ่มสาวกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ไม่สามารถทำใจนิ่งเฉยกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชนในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ได้ เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นการปราบปรามการชุมนุมที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้จึงได้แปรเปลี่ยนความเจ็บปวดต่อความอยุติธรรมให้เป็นความพยายามที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ให้ได้มากที่สุด ความพยายามนี้เกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามเบี่ยงเบนความรับผิด (accountability) ของตนเอง ด้วยการประกาศว่ารัฐบาลของเขายึดหลักนิติรัฐ “พร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนพร้อม ๆ ไปกับการค้นหาความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายบนความเสมอภาคที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน” ด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นมา โดยมีนายคณิต ณ นคร ดำรงตำแหน่งประธาน คอป.
แต่ตลอดช่วงเวลาที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล กระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดกลับไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ เลย ไม่มีการตั้งข้อหาใด ๆ กับผู้สั่งการ ไม่มีแม้กระทั่งการดำเนินการให้ศาลสืบสวนการตายในกรณีที่เชื่อว่าเป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายผู้ชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง ถูกดำเนินคดีและพิพากษาคดีด้วยข้อหาร้ายแรง จำนวนมากถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการประกันตน
ในขณะที่ คอป. ก็ตกอยู่ในภาวะคลุมเครือ อิหลักอิเหลื่อ ขัดแย้งในตัวเองระหว่างหน้าที่ของการแสวงหาความจริงกับจุดมุ่งหมายที่ไม่ต้องการชี้ว่า ใครคือผู้กระทำความผิด
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อันเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของรัฐ ก็ล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยสิ้นเชิง ในระหว่างการล้มตายบาดเจ็บของประชาชนในเมื่อวันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม 2553 กสม.ไม่เคยมีความกล้าหาญที่จะออกมาประณามการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของรัฐบาลแม้แต่ครั้งเดียว ซ้ำร้าย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ร่างรายงานของ กสม. ที่ว่าด้วยการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ “หลุด” ออกมาหนึ่งวันก่อน กสม.จะแถลงรายงานดังกล่าวชี้ชัดว่า กสม. เลือกที่จะปกป้องอำนาจรัฐ มากกว่าปกป้องประชาชนธรรมดา เพราะสาระของรายงานดังกล่าวมุ่งพิจารณาว่า “การกระทำของผู้ชุมนุมได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่” แทนที่จะตั้งคำถามว่า “การกระทำของรัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนหรือไม่” ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงปรากฏให้เห็นว่าระดับของการใช้กำลังอาวุธและทหารเข้าจัดการกับประชาชนนั้นเทียบกันไม่ได้เลยกับอาวุธที่ผู้ชุมนุมบางส่วนมี และจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตของฝ่ายประชาชนสูงกว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่อย่างเทียบกันไม่ได้ (http://prachatai.com/journal/2011/07/35945 )
ความไม่เชื่อมั่นในความเป็นกลางของ กสม.และ คอป.ว่าจะทำหน้าที่คืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อได้อย่างแท้จริง ทำให้คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้นำความตั้งใจดังกล่าวมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อขอความร่วมมือกับนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม ผลของการพูดคุยนี้ได้นำไปสู่การจัดตั้ง ศปช. เพื่อทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานในเหตุการณ์ความรุนแรงให้ได้มากที่สุด ด้วยความหวังว่าในอนาคต เมื่อสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ และนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษในที่สุด ฉะนั้น ภารกิจของ ศปช. จึงเสมือนการทำงานคู่ขนานไปกับ คอป. ในการเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค. 2553 โดยได้มีการเปิดตัว ศปช. ต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553
ตลอดระยะเวลากว่ามากกว่า 2 ปี (19 กรกฎาคม 2553 – 19 สิงหาคม 2555) ศปช. ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น การจัดสัมมนาวิชาการ การแถลงข่าวความคืบหน้ากิจกรรม ศปช. เวทีไต่สวนสาธารณะ คอนเสิร์ตระดมทุนช่วยเหลือญาติผู้บาดเจ็บและสัยชีวิต ฯลฯ รวมทั้งการจัดทำรายงาน ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งคำประกาศของ ศปช. ต่อสังคมไทยว่า วัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล และการเหยียบย่ำสิทธิในชีวิตและความเป็นคนจะต้องยุติลงในสังคมไทยเสียที ถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่จะต้องช่วยกันรื้อถอนวัฒนธรรมการเมืองอันน่ารังเกียจที่ครอบงำสังคมไทยนี้
เราเห็นว่า ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญมากกว่าความปรองดองอันหลอกลวงฉาบฉวย ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมใหม่ ที่คุณค่าและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกชนชั้นต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน