บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายชาติชาย ชาเหลา

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : ช.6/2555  วันที่ฟ้อง : 14/03/2555

คดีหมายเลขแดงที่ : ช.4/2555 วันที่ออกแดง : 17/12/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4

ผู้เสียชีวิต : นายชาติชาย ชาเหลา

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

นัดไต่สวนพยานวันที่ 25 มิถุนายน 2555[1]

พยาน

  1. พ.ต.อ. สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผบก.น.6
  2. นางพลอย ขบวนฮาม มารดาของนายชาติชาย(ไม่พบรายงานข่าวที่มีการเบิกความของเธอ)

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เข้าเบิกความปากแรกสรุปว่า ตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ชุดที่ 3 โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 54 DSI ได้ส่งสำนวนมาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลสอบสวนต่อ เนื่องจากเชื่อว่าการเสียชีวิตของนายชาติชายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  จึงทำหนังสือยื่นต่อสำนักงานอัยการสูงสุดขอให้ส่งพนักงานอัยการร่วมสืบสวนคดีนี้ด้วย

โดยผลการสืบสวนสรุปว่า คดีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. -19 พ.ค. 53 โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เริ่มชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เพื่อขอให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยุบสภา แต่รัฐบาลไม่ยอมทำตาม กลุ่มผู้ชุมนุมจึงขยายการชุมนุมไปหลายพื้นที่ รวมถึงแยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก นายอภิสิทธิ์จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง แล้วออกคำสั่งตั้ง ศอฉ. โดยมีคำสั่งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ และให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อระงับสถานการณ์รุนแรง รวมทั้งได้ประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ห้ามเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม ห้ามเดินรถโดยสารบางพื้นที่ ห้ามให้บริการรถไฟฟ้าบางสถานี และตัดสาธารณูปโภค

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุวันที่ 13 พ.ค.53 ศูนย์ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมสถานการณ์ โดยกองกำลังทหารชุดดังกล่าวประมาณ 165 นายได้ตั้งด่านแข็งแรงที่บริเวณสะพานลอยหน้าอาคารอื้อจื่อเหลียง มีอาวุธปืนM16 M653 HK ปืนลูกซองกระสุนยาง กระสุนซ้อมรบ และกระสุนจริงประจำกาย ซึ่งนอกจากทหารแล้วผู้อื่นไม่สามารถเข้าไปในบริเวณนั้นได้ ขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากจากแยกถนนวิทยุมุ่งหน้าตรงเข้าหาด่านของทหาร มีการใช้พลุและตะไลยิงเข้าใส่ด่าน เจ้าหน้าที่ทหารจึงใช้ปืนยิงตอบโต้   เวลาประมาณ 22.50 น. ขณะที่นายชาติชายซึ่งมาร่วมชุมนุมและถือกล้องวีดีโอยืนถ่ายภาพเหตุการณ์อยู่หน้าบริษัทกฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด[2] ใกล้อาคารอื้อจื่อเหลียง ได้ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่หน้าผากด้านขวาทะลุศีรษะ 1 นัด แล้วเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาฯ

ภายหลังการเสียชีวิตพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน พร้อมด้วยแพทย์นิติเวช พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันชันสูตรพลิกศพปรากฏว่า นายชาติชายถูกกระสุนความเร็วสูงยิงเข้าที่ศีรษะทำลายอวัยวะสำคัญเป็นเหตุให้เสียชีวิต และจากการตรวจสอบพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุพบเศษชิ้นเนื้อ เส้นผม คราบเลือดของผู้ตาย และเศษหัวกระสุนตกอยู่ที่พื้นใกล้กับจุดที่นายชาติชายล้มลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนตรวจพิสูจน์พบเพียงแค่รอยแนววิถีกระสุนที่นายชาติชายถูกยิง และยืนยันว่าเป็นกระสุนความเร็วสูง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระสุนชนิดใด เนื่องจากเศษกระสุนเสียสภาพมาก อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมพยานเอกสารหลักฐาน ประจักษ์พยานแล้วไม่พบชายชุดดำปะปนกับผู้ร่วมชุมนุม จึงเชื่อว่านายชาติชายเสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ  ภายหลังศาลไต่สวนพยานปาก
นัดพร้อมวันที่ 23 กรกฎาคม 2555[3]

นัดพร้อมคู่ความคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา  ศาลได้กำหนดนัดวันไต่สวนพยานฝ่ายอัยการผู้ร้องในวันที่ 5, 9, 12 และ 19 ต.ค. และนัดไต่สวนพยานฝ่ายทนายความญาติผู้ตายวันที่ 30 ต.ค. เวลา 09.00 น.

นัดสืบพยานวันที่ 5 ตุลาคม 2555[4]

พยาน พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่า ได้รับแจ้งเรื่องกรณีนี้จากพนักงานสอบสวนเมื่อ ก.ย. 53 และได้เดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุในวันที่ 24 ก.ย. 53 ที่หน้า บริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถนนพระราม 4 ที่ประตูเหล็กม้วนพบรอยบุบอยู่สูงจากพื้น 1.74 เมตร 1 รอย ซึ่งคาดว่าเกิดจากเศษโลหะที่น่าจะเป็นเศษกระสุนปืนมากระแทกอย่างแรงและเร็ว รวมทั้งพบเส้นผมติดที่ขอบปูนด้านข้างประตู 1 เส้น สูงจากพื้น 1.90 เมตร และเหตุที่เส้นผมอยู่สูงกว่ารอยกระสุนนั้น เพราะเมื่อกระสุนกระทบกับศีรษะจะทำให้กระสุนและกระโหลกศีรษะแตกออกและกระเด็นออกไปทำให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าได้

เขาเบิกความอีกว่าหลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำข้อมูลภาพและวีดีโอคลิปขณะเกิดเหตุ รวมทั้งข้อมูลผลการชันสูตรศพให้  จึงได้มีการเข้าไปตรวจสถานที่เกิดเหตุอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 53 เพื่อจำลองเหตุการณ์หาทิศทางการยิง ผลการจำลองประกอบภาพและคลิปขณะเกิดเหตุเป็นภาพใกล้เคียงช่วงเวลาที่นายชาติชายหรือผู้ตายถูกยิง ขณะนั้นอยู่ริมถนนด้านหน้าที่รถเข็นและแผงเป็นที่กำบัง หันหน้าไปทางแยกศาลาแดง ซึ่งรอยบาดแผลกระสุนเข้าหน้าผากขวาทะลุศีรษะด้านหลังซ้าย กระสุนจึงมาจากทางฝังแยกศาลาแดง แนวกระสุนเป็นไปได้ทั้งระนาบตามแนวถนนและจากสะพานลอยข้ามถนนพระราม 4

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์  เบิกความด้วยว่าจากการดูบาดแผลเกิดจากกระสุนขนาด .223 ซึ่งใช้กับปืนเล็กกล เช่น M16 และ ทาโวร์ สำหรับภาพและคลิปนั้นเขาไม่ทราบว่าทางพนักงานสอบสวนได้มาจากไหน

นัดสืบพยานวันที่ 12 ตุลาคม 2555[5]

พยาน

  1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) (เลื่อน)
  2. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำนปช. (เลื่อน)
  3. พญ.เกษณี จงประสาธน์สุข อาจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พญ.เกษณี จงประสาธน์สุข เบิกความถึงการชันสูตรศพนายชาติชายว่า ได้รับศพเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 53 โดยสภาพของศพถูกยิงด้วยอาวุธปืนเข้าที่ศีรษะ มีแผลเปิดบริเวณท้ายทอยขนาด 5 ซ.ม. และขมับด้านขวา 0.5 ซ.ม. จากการตรวจพิสูจน์บาดแผลพบว่า เกิดจากลูกกระสุนปืนขนาด 5.56 ม.ม. แต่ไม่ทราบว่าใช้กับอาวุธปืนชนิดใด

ศาลได้แจ้งว่าการเบิกความของนายสุเทพและนายณัฐวุฒิ ที่ทนายญาติผู้ตายประสงค์จะนำเข้าเบิกความนั้น  ศาลตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าประเด็นที่จะเข้าเบิกความนั้น นายณัฐวุฒิและนายสุเทพเคยเข้าเบิกความปรากฏอยู่ในบันทึกคำให้การพยานของศาลอาญาแล้ว ศาลจึงให้นำคำให้การดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาคดี พร้อมกับให้พนักงานอัยการและทนายความญาติผู้ตาย แจ้งพยานทั้ง 2 ปากว่าหากประสงค์จะเบิกความในประเด็นโดยละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้โดยเฉพาะ ให้เตรียมข้อเท็จจริงมาเบิกความในนัดหน้า หากเป็นประเด็นซ้ำก็ให้อ้างคำให้การเดิม

นัดสืบพยานวันที่ 19 ตุลาคม 2555[6]

พยาน

  1. พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร โฆษก บช.น.
  2. นางศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนายผู้รับมอบจากญาติผู้ตาย
  3. พ.ต.ท.สุพจน์ ชายป่า พนักงานสอบสวน (สบ3) สน.พระราชวัง

พ.ต.อ.ปรีดา เบิกความโดยสรุปว่า มีหน้าที่เป็นผู้วางแผนการปฏิบัติของบช.น. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 53 มีการประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร บริเวณ กทม. ต่อมาวันที่ 10 มี.ค. 53 ได้รับคำสั่งให้จัดตั้งชุดรักษาความสงบในกทม. โดยตั้งด่านตรวจค้นตามจุดต่างๆ ที่จะเข้าสู่กทม. กระทั่งวันที่ 7 เม.ย. 53 รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงมีคำสั่งให้จัดกำลังตั้งด่านในวันที่ 10 พ.ค. 53 บริเวณสีลม ศาลาแดง ราชดำริ และบริเวณโดยรอบ จำนวน 11 กองร้อย รวมทั้งหมด 13 ด่าน ภายใต้การดูแลของ บก.น. 5 โดยลักษณะเป็นการยืนรักษาการณ์

พยานเบิกความต่อว่า วันที่ 13 พ.ค. 53 เพิ่มคำสั่งให้ตำรวจที่รักษาการณ์ตรวจค้นบุคคลที่ผ่านเข้าออกตามจุดต่างๆ ที่วางกำลังไว้ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามาเพิ่มเติ่ม และตรวจค้นอาวุธ หากพบอาวุธก็จะจับกุม ขณะปฏิบัติหน้าที่ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่พกอาวุธปืนสั้นเท่านั้น การวางกำลังระหว่างตำรวจกับทหารนั้น เป็นไปตามคำสั่งของศอฉ. โดยทหารจะอยู่บริเวณด้านใน ส่วนตำรวจจะล้อมอยู่ด้านนอก จากการตรวจค้นพบว่ามีผู้พกพาอาวุธเข้ามา

ทนายซักถามว่ามีการรายงานว่าพบชายชุดดำหรือไม่ เขาบอกว่าไม่ทราบ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการวางกำลังเท่านั้น และการปฏิบัติการในเดือน พ.ค. 53 เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนทหารเท่านั้น ส่วนทหารจะมีอาวุธหรือไม่ พยานไม่ทราบ

นางศิริพร เมืองศรีนุ่น เบิกความว่า เป็นผู้รับมอบจากญาติผู้ตายให้เป็นผู้ร้องทุกข์ และติดตามความคืบหน้าของคดี โดยจะมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ศาลประกอบการพิจารณาคดี ประกอบด้วย คำสั่งศาลแพ่งและศาลปกครอง เรื่องการสลายการชุมนุมที่ศาลมีความเห็นว่าสามารถกระทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักสากล เอกสารกฎการใช้กำลังตามที่สหประชาชาติกำหนด บัญชีการเบิกกระสุนและอาวุธปืน เอกสารรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และภาพถ่ายป้าย เขตพื้นที่ใช้กระสุนจริง

พ.ต.ท.สุพจน์ ชายป่า  เบิกความว่า ได้รับแต่งตั้งจาก บช.น. ให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดี โดยได้รับสำนวนการสอบสวนมาจาก DSI ที่มีความเห็นว่าสาเหตุการตายน่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ทหาร ที่อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งเขาเป็นผู้สอบสวนนายอภิสิทธิ์เกี่ยวกับการตั้งศอฉ. และคำสั่งแต่งตั้งต่างๆ พร้อมกับสอบสวนพยานทุกปากที่ปรากฏอยู่ในสำนวนสอบสวนที่มอบให้แก่ศาล จากการสอบสวนทราบว่า ขณะนั้นผู้ตายกำลังถือกล้องวิดีโอบันทึกภาพ และเดินถือไฟฉายเลเซอร์ไปด้วย โดยผู้ตายไม่มีอาวุธแต่อย่างใด สำหรับอาวุธปืนที่ทหารใช้มีM16 และ HK 33 จากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด จึงมีความเห็นสรุปว่าการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร

นัดสืบพยานวันที่ 30 ตุลาคม 2555[7]

พยาน

  1. พ.ท.กิตติพงศ์ เนื่องชมพู ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 8 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา
  2. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ.

พ.ท.กิตติพงศ์ เนื่องชมพู เบิกความว่า ช่วงที่มีการชุมนุมในวันที่ 9 เม.ย. 2553 ได้รับคำสั่งให้มาประจำอยู่ที่กรมทหารราบที่ 11 ก่อนจะมีคำสั่งเพิ่มกำลังมาช่วยอำนวยความสะดวกในช่วงกลางวัน และรักษาความปลอดภัยช่วงกลางคืน โดยตั้งด่านแข็งแรงบริเวณสะพานลอย ถนนพระราม 4 ห่างจาก ศาลาแดง ซอย 1 ประมาณ 30 เมตร

พ.ท.กิตติพงศ์ เบิกความถึงเหตุการณ์ว่า วันที่ 13 พ.ค. 2553 ตนนำกำลังตั้งด่านตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. รวม 24 ช.ม. โดยอาวุธประจำกายของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในตอนนั้น ประกอบด้วย ปืนลูกซอง ปืนพก ปืนM16 และปืน HK  แต่ไม่มีการจ่ายกระสุนจริง โดยช่วงเช้าเหตุการณ์บริเวณ ถนนพระราม 4 ปกติเรียบร้อยดี และช่วงกลางคืนวันที่ 13 เหตุการณ์ก็ไม่ได้มีอะไรรุนแรง นอกจากช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ทหารเริ่มได้รับการก่อกวนจากผู้ชุมนุม โดยมีรถซาเล้งขับมายังรั้วลวดหนามของเจ้าหน้าที่ และพยายามรื้อออก ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มตั้งด่านบริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยม เขาจึงสั่งการให้ทหารตะโกนไล่ออกไป แต่ผู้ชุมนุมก็ยังไม่ไปจึงสั่งการให้ทหารนายหนึ่งยิงปืนลูกซองขึ้น 2 ชุด เพื่อให้รู้ว่าบริเวณดังกล่าวมีทหารอยู่ไม่ให้ก่อกวน  เป็นเพียงการยิงกระสุนยางเท่านั้น  ซึ่งผู้ชุมนุมได้ล่าถอยไป แต่ไม่นานก็เริ่มก่อกวนด้วยเสียงตะไล บั้งไฟ คล้ายเสียงปืน แต่ทหารรู้ว่าไม่ใช่ปืนแน่นอนจึงถอยกลับเข้าจุด จากนั้นประมาณ 23.00 น. ผู้ชุมนุมจึงหยุดการก่อกวนและถอยออกไป

พ.ท.กิตติพงศ์ เบิกความอีกว่า การปฏิบัติหน้าที่ในคราวนี้เป็นการปฏิบัติตามหลักอย่างเคร่งครัด 7 ขั้นตอน ซึ่งตนปฏิบัติเพียงการแสดงกำลังเพื่อให้รู้ว่าทหารมีจำนวนมาก พร้อมกับยืนยันว่าในขอบเขตความรับผิดชอบของตนไม่มีการใช้กระสุนจริงเด็ดขาดเป็นกระสุนยางทั้งหมด แม้ว่าจะมีอาวุธประจำกายตลอดเวลา แต่กระสุนไม่ได้ประจำกายตลอดเวลาด้วย เพราะขึ้นอยู่กับคำสั่งของผู้บังคับกองพัน และในวันเกิดเหตุตนไม่ทราบว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิต มาทราบเมื่อเวลาผ่านไป 4 เดือนแล้ว เนื่องจากพล.ม.2 เรียกประชุม และแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ความรับผิดชอบของตน ซึ่งตนไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะในคืนที่เกิดเหตุบริเวณ ถ.พระราม 4 ที่ตนดูแลอยู่ไม่มีเหตุรุนแรง มีเพียงการยิงขู่แสดงสัญลักษณ์ให้ผู้ชุมนุมรู้ว่ามีทหาร และไม่ได้ใช้กระสุนจริง

พยานปากที่ 2 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความว่า การชุมนุมของกลุ่มนปช.ในปี 2553 เพื่อขับไล่รัฐบาลให้นายอภิสิทธิ์ลาออกหรือยุบสภา  เป็นการชุมนุมที่แตกต่างจากการชุมนุมปี 2552 เพราะมีการก่อการร้ายคู่ขนานกับการชุมนุมด้วย ได้แก่ การใช้อาวุธปืนยิงตามธนาคาร ที่ทำการของรัฐ ใช้ RPG ยิงที่เก็บน้ำมันเครื่องบิน ใช้ระเบิด อาวุธสงครามปืนM16 เข่นฆ่าทหาร และประชาชน

กระทั่งวันที่ 7 ต.ค. 53 นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และนายยศวริศ ชูกล่อม แกนนำนปช. นำผู้ชุมนุมบุกเข้ารัฐสภา ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และแย่งอาวุธปืน ก่อนบุกเข้ามาที่ห้องอาหารรัฐสภาเพื่อจับตน จากเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการที่คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้งศอฉ.ในค่ำวันเดียวกัน เพราะเห็นว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ตนเป็นผอ.ศอฉ. รับผิดชอบดูแล กำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่  ดังนั้นคำสั่งทั้งหมดตั้งแต่ คำสั่งที่ 1/2553 เขาจึงเป็นผู้ที่เซ็นคำสั่งทั้งหมด โดยยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก มีโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ และปืนลูกซองที่ใช้กระสุนยาง เป็นเครื่องมือในการควบคุมฝูงชน ซึ่งใช้กำลังทหารกว่า 2 หมื่นคน  ในการออกคำสั่งจะมีบันทึกข้อความที่ตนเซ็นสั่งการ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติจะมีคำสั่งต่อทางวิทยุหากไม่ได้รับคำสั่งจากศอฉ.จะไม่สามารถปฏิบัติการใดๆ ได้

นายสุเทพเบิกความต่อว่า แต่หลังจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 คนร้ายที่ปะปนมากับกลุ่มผู้ชุมนุมยิงเจ้าหน้าที่ และประชาชนเสียชีวิต ศอฉ.จึงมีนโยบายให้ทุกหน่วยป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะในระยะประชิด และไม่ให้เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม จึงมีคำสั่งตั้งด่านแข็งแรงด้วยวัตถุประสงค์ไม่ต้องการให้เข้าถึงตัวเจ้าหน้าที่ และทำป้ายห้ามผ่านเด็ดขาด แต่ตนได้รับรายงานภายหลังว่าบางจุดเจ้าหน้าที่กลับเขียนป้ายว่าเขตใช้กระสุนจริง ซึ่งตนเข้าใจว่าเพื่อขู่เตือนประชาชนไม่ให้บุกฝ่าเข้ามายังเขตห้ามผ่านเด็ดขาด โดยอนุญาตให้ใช้ปืนพก และปืนM16 ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ปืนเอ็ม 79 เด็ดขาด ขณะที่กระสุนก็มีทั้งกระสุนจริง และกระสุนซ้อม ซึ่งตนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ได้เบิกกระสุนแล้ว ซึ่งสาเหตุที่อนุญาตให้ใช้ปืนกล เนื่องจากให้เจ้าหน้าที่ได้คุ้มครองตัวเอง และประชาชน หลังเกิดเหตุการณ์ 10 เม.ย. 53 ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล โดยอัยการสูงสุดทำบันทึกรายงานเสนอต่อ ศอฉ.ว่าหากมีการก่อการร้ายรัฐบาลก็มีสิทธิมีอำนาจใช้อาวุธเพื่อป้องกันเหตุร้าย

นอกจากนี้ คำสั่งศอฉ.ยังสั่งเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังในพื้นที่สูงข่มเพื่อป้องกันการโจมตีในระยะไกล หรือกระสุนวิถีโค้ง โดยส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่สูงข่มที่อยู่ใกล้กับจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งด่าน ซึ่งไม่ใช่การซุ่มยิง ส่วนการเสียชีวิตของนายชาติชาย ตนได้รับทราบภายหลัง และไม่รู้ว่าขณะที่นายชาติชายถูกยิงอยู่ในลักษณะใด และใครเป็นผู้กระทำ

นัดสืบพยานวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555[8]

พยาน  นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำนปช.

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อเบิกความสรุปว่า การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนปช. เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น ยุบสภา โดยตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และที่ราชประสงค์ ชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. 53 รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเข้าสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ในวันที่ 10 เม.ย. 53 ขณะนั้นพยานยังอยู่ที่เวทีราชประสงค์

พยานเบิกความต่อว่า จากนั้นวันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับรายงานว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการเข้ามาชุมนุม ปะทะกับทหารบริเวณอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต ต่อมาวันที่ 13 พ.ค. 53 เกิดเหตุลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม จึงไม่มีใครสามารถเข้าหรือออกได้ รวมถึงตัดน้ำ ตัดไฟ ในบริเวณพื้นที่ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมที่ต้องการออกจากการชุมนุม ไม่สามารถออกไปได้ และผู้ที่เป็นห่วงผู้ชุมนุมต้องการเข้ามาดู ก็ไม่สามารถเข้ามาได้ ทำให้เกิดการปะทะกันบริเวณโดยรอบพื้นที่ชุมนุมเป็นระยะ

นายณัฐวุฒิเบิกความอีกว่า ต่อมาในช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 พ.ค. 53 ได้รับรายงานว่ารัฐบาลได้ส่งกำลังทหารกว่า 10,000 นาย เคลื่อนเข้ามาที่เวทีราชประสงค์ พร้อมอาวุธครบมือ พยานและบรรดาแกนนำจึงประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 13.00 น.  เขายืนยันว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎสากล เนื่องจากใช้กระสุนจริง และพลซุ่มยิงตามตึกสูง สำหรับการตายของนายชาติชายนั้น พยานทราบข่าวภายหลังผ่านสื่อมวลชนว่านายชาติชายถูกยิงจากระยะไกลเข้าที่บริเวณศีรษะ

จากนั้นศาลถามพยานว่าในการชุมนุมมีการยิงพลุ และตะไลใส่ทหารหรือไม่ พยานเบิกความว่า มีการยิงจริง แต่รัศมีของพลุและตะไลไม่สามารถไปถึงฝั่งทหารได้
ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 17 ธันวาคม 2555[9]

ศาลได้พิเคราะห์เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย เห็นว่าผู้ร้องมีเจ้าหน้าที่กู้ชีพของวชิรพยาบาล ประจักษ์พยานยืนยันว่าเห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน อีกทั้งจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้บริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และ อาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระราม 4 ซึ่งบริเวณนั้นมีเพียงเจ้าพนักงานตั้งด่านตรวจแข็งแรง และเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกาย ได้แก่ M16 , M 653 , HK33 , ปืนลูกซอง และปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ.และด้านหลังแนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานเป็นบังเกอร์ ซึ่งบุคลภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ยกเว้รถพยาบาลเท่านั้น

เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามีบุคคลฝ่ายที่ 3 เข้ามาก่อเหตุใดๆ อีกทั้งกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 ม.ม.) ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืน ขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืน M16 , M 653 , HK33 , ที่เจ้าพนักงานใช้ประจำการณ์ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในที่เกิดเหตุ จึงเชื่อได้ว่า กระสุนดังกล่าวถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจแข็งแรง โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ
มีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายชาติชาย  ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เวลา 23.37 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาด ร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิธีกระสุนปืนมากจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บริเวณถนนพระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของชาติชาย ชาเหลาฉบับเต็ม

เชิงอรรถ

[1] “เบิกความคดีไต่สวนชันสูตรศพคนเสื้อแดง,” เดลินิวส์, 25 มิ.ย. 55
[2] ในรายงานข่าวชื่อร้านผิดซึ่งชื่อร้านซึ่งอาจจะเป็นได้ว่า
[3] “ไต่สวนช่างภาพอิตาลี-เสื้อแดงตาย พยานยันเป็นฝีมือทหาร,” เดลินิวส์, 23 ก.ค. 55
[4] “จนท.ตรวจที่เกิดเหตุ เบิกความไต่สวนการตาย “ชาติชาย ชาเหลา” เหยื่อกระสุน พ.ค.53,” ประชาไท, 7 ต.ค. 55
[5] “ ‘ธิดา’ เบรกแดงไม่สนงานปชป,” ข่าวสด, 13 ต.ค. 55
[6] “นปช.ให้ด้วย1ล้านแจ้งข้อมูลชุดดำพยานย้ำ!คดีฮิโรยูกิชี้จนท.ยิง,” ข่าวสด, 20 ต.ค. 55
[7] “ไต่สวนศพสวนลุม,” ข่าวสด, 30 ต.ค. 55
[8] “นัดชี้อีกคดี ผลไต่สวน”ศพแดง”,” ข่าวสด, 15 พ.ย. 55
[9] “ศาลสั่งคดีที่ 3 ไต่สวนการตายเสื้อแดง ตายด้วยกระสุนจากกลุ่มทหาร,” ประชาไท, 17 ธ.ค.55

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : อช.3/2555  วันที่ฟ้อง : 22/02/2555

คดีหมายเลขแดงที่ : อช.12/2555 วันที่ออกแดง : 20/12/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด

ผู้เสียชีวิต : เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

 

นัดไต่สวนคำร้องวันที่ 28 พฤษภาคม 2555[2]

ในวันนี้มีการนัดสืบพยานและอัยการได้ยื่นบัญชีพยานโดยมีทั้งหมด 50 ปาก  และในคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพมีการระบุถึงการตายของคุณากรเอาไว้ว่า ระหว่างที่ทหารปิดถนนราชปรารภและมีการติดป้ายเขตกระสุนจริง ในวันที่ 15 พ.ค.เวลา 00.01 น. นายสมร ไหมทอง ได้ขับรถตู้เข้ามาในเขตดังกล่าวเพื่อกลับบ้านพัก ผ่านถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกมักกะสัน เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศโทรโข่งให้หยุดรถ นายสมรยังขับต่อไป จึงระดมยิงใส่รถตู้จนนายสมร ได้รับบาดเจ็บที่ท้อง ขณะที่ลูกกระสุนยังไปถูก ด.ช.คุณากร ที่ออกมาเดินบริเวณโรงภาพยนตร์โอเอซึ่งอยู่ติดกับแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสันอันเป็นที่ตั้งของหน่วยทหาร  เป็นเหตุให้ ด.ช.คุณากรเสียชีวิต ขอให้ศาลได้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ใด เมื่อใดและทราบถึงสาเหตุ พฤติการณ์การตาย  และขอให้องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบียตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง  ซึ่งเป็นผู้อุปการะด.ช.คุณากรเนื่องจาก ด.ช. คุณากรเป็นเด็กกำพร้า บิดาเสียชีวิตและมารดาหายสาบสูญ

 

นัดสืบพยานวันที่  20 กรกฎาคม 2555[3]

                พยาน[4]

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  อดีตโฆษกศอฉ.
  2. พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล ผู้บังคับกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.)
  3. ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล[5] ผู้บังคับกองร้อยอยู่ในสังกัดของพ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล  (ป.พัน.31 รอ.)

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความว่า จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงแรกเป็นการชุมนุมตามกฎหมาย แต่ระยะหลังทวีความรุนแรงขึ้นและกระทำผิดกฎหมาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพิจารณาเห็นว่าการกระทำทวีความรุนแรงขึ้น จึงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีคำสั่งตั้ง ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ เป็น ผอ.ศอฉ.

เขาเบิกความต่อว่า กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งจุดตรวจค้นโดยพลการอย่างผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ศอฉ.จึงมีคำสั่งให้ทหารจากพล. 1 รอ. เข้าปิดกั้นการจราจรบริเวณราชประสงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้านและกันไม่ให้คนไปชุมนุมเพิ่ม  ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกมักกะสัน ย่านราชปรารภ วางกำลังเฉพาะบริเวณถนนใหญ่เท่านั้นจะไม่นำกำลังทหารเข้าไปประจำการบริเวณ ตรอกซอยเล็กๆ และเขาไม่ทราบว่าพล. 1 รอ. ใช้เจ้าหน้าที่จากหน่วยใดบ้าง และศอฉ.มีคำสั่งห้ามใช้เส้นทางหรือนำยานพาหนะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว มีวิธีการเป็นไปตามกฎการใช้กำลัง ในขั้นต้นให้แจ้งเตือนหากมีผู้ฝ่าฝืน โดยใช้โทรโข่ง หรือส่งอาณัติสัญญาณห้ามเข้า

พ.อ.สรรเสริญเบิกความว่า ระหว่างวันที่ 13-18 พ.ค. 2553 เป็นแค่การปิดกั้นพื้นที่เท่านั้น ศอฉ.มีมติกำชับลงไปแล้วว่า ห้ามใช้อาวุธกับประชาชน แต่ไม่ได้ติดตามว่าทำตามหรือไม่ เนื่องจากเขาอยู่ส่วนกลางจึงไม่ทราบรายละเอียดเรื่องที่มีผู้เสียชีวิต รวมถึงกรณี ด.ช.คุณากร ด้วย ส่วนมาตรการกระชับพื้นที่กดดันกลุ่มผู้ชุมนุม เพิ่งมีคำสั่งในวันที่ 19 พ.ค. 2553 หลังจากนั้นคณะกรรมการของกองทัพบก ประชุมและสรุปการชี้แจง แต่พยานไม่ทราบว่ามีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องในส่วนนั้น

ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูลเบิกความว่า วันที่ 14 พ.ค. 2553 ได้รับคำสั่งให้มารักษาพื้นที่บริเวณแยกมักกะสันถึงแยกประตูน้ำ เขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.วรการ ดูแลกำลังพล 150 นาย พร้อมอาวุธM 16 จำนวน 20 กระบอก ปืนลูกซอง 30 กระบอก มีทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ส่วนที่เหลือถือโล่และกระบอง โดยจัดกำลังพลที่ราชปรารภ 2 จุด และมักกะสัน 2 จุด มีเจ้าหน้าที่ประจำจุด 5-6 นาย ส่วนที่เหลือจะอยู่บริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สับเปลี่ยนเวร เวรละ 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วไป พร้อมตรวจค้นการพกพาวุธ โดยในวันที่ 14 พ.ค.2553 ตรวจไม่พบผู้พกพาอาวุธแต่อย่างใด

เขาบิกความต่อว่า ช่วงกลางดึกได้รับแจ้งทางวิทยุว่า มีรถตู้สีขาวจะเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ถ้ามีรถลักษณะนี้เข้ามาให้ประกาศเตือนเพื่อไม่ให้เข้าพื้นที่ ต่อมาเวลา 00.30 น. มีรถตู้สีขาวออกมาจากซอยราชปรารภ 8 แล้วจอด ขณะนั้นตัวเขาอยู่ที่หน้าร้านอาหารอินเดียฟู้ด ห่างไปประมาณ 50-60 เมตร เขาจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ใช้รถประชาสัมพันธ์ของหน่วยประกาศบอกรถตู้ให้กลับไปทางเดิม หรือไปทางประตูน้ำนานกว่า 10 นาที แต่รถตู้ไม่ยอมออก และวิ่งพุ่งเข้ามาที่ใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ก่อนได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดจากหลายทิศทาง แต่เขาไม่เห็นคนยิงว่าเป็นใครและไม่ทราบว่ามีหน่วยอื่นหรือไม่ เพราะจุดเกิดเหตุไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ

เขาเบิกความอีกว่าไม่ได้ทำการตรวจค้นรถตู้แต่อย่างใด เพราะเกรงว่าจะมีอาวุธ และเป็นรถต้องสงสัยที่ได้รับแจ้ง หลังจากรถตู้ถูกยิงถึงทราบว่ามีเด็กได้รับบาดเจ็บและได้รับแจ้งจากทหารพยาบาลประจำหน่วยว่ามีคนบาดเจ็บในรถตู้ด้วย แต่ทางผู้บัญชาการก็ไม่ได้เรียกไปประชุมในเรื่องนี้ และไม่ได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ

พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูลเบิกความว่า ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 14 พ.ค. 53 เข้าประจำจุดในเวลา 16.00 น. ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงราชปรารภ และแยกมักกะสัน โดยแบ่งกำลังพลเป็น 3 หน่วย มีหน่วยราชปรารภ  แยกมักกะสัน ส่วนกำลังที่เหลืออยู่ใต้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์

ในเวลา 17.00 น. มีผู้ยิงปืนเล็กยาวเข้ามา ต่อมาเวลา 19.00-04.00 น. มีการยิงเอ็ม 79 เข้ามาเป็นสิบนัด แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง จากนั้นในเวลา 00.30 น. ได้รับรายงานทางวิทยุว่า มีรถตู้ฝ่าฝืนเข้ามา และได้ยินเสียงปืนแต่ไม่ทราบว่ามาจากทางใด ภายหลังทราบว่ามีผู้บาดเจ็บ จึงให้หน่วยทหารเฉพาะกิจประสานไปยังมูลนิธิให้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล  หลังเกิดเหตุประมาณ 15 นาที ได้รับแจ้งทางวิทยุว่ามีเด็กถูกยิงบาดเจ็บ แต่เขาไม่ได้เข้าไปดู เพราะไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ จนรุ่งเช้าเวลา 09.00 น. จึงเข้าไปดูและพบว่ารถตู้มีรอยกระสุนรอบคัน ก่อนมีคนบอกว่าคนขับเป็นผู้ชุมนุม เพราะตรวจค้นภายในรถพบมีด ผ้าพันคอ และเสื้อสีแดง แต่เห็นเพียงในรูปภาพเท่านั้น ส่วนตอนเกิดเหตุกำลังสะลึมสะลือ เพราะก่อนหน้านั้นปฏิบัติงานหนักมาก จึงนอนหลับพักผ่อนตรงจุดที่ประจำอยู่ มารู้สึกตัวอีกทีตอนได้ยินเสียงปืนดังขึ้น  ส่วนในการประชุมไม่มีการแจ้งเรื่องนี้

 

นัดสืบพยานวันที่ 29 ตุลาคม 2555[6]

            พยาน

  1. นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ
  2. นายสมเจตร์ ศาลาวงศ์ อาสาสมัครหน่วยแพทย์วชิรพยาบาล
  3. พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เบิกความโดยสรุปว่า ด.ช.คุณากร เป็นเด็กกำพร้าในความสงเคราะห์ขององค์กร ศึกษาอยู่ชั้นป.4 โรงเรียนวิจิตรวิทยา เป็นคนสมาธิสั้น ชอบเล่น และจะชอบหลบหนีออกจากสถานสงเคราะห์ไปเที่ยวเล่นบ่อยครั้ง โดยวันเกิดเหตุมีคนมาแจ้งให้ทราบว่า พบ ด.ช.คุณากรไปเที่ยวเล่นแถวพื้นที่การชุมนุม ทั้งที่ไม่ได้รู้เรื่องการเมืองเลย คิดว่าคงอยากรู้อยากเห็นตามปกติของเด็ก และหลังจากเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน คือเดือนมิถุนายน มีคนโทรศัพท์มาแจ้งว่า ด.ช.คุณากร ถูกยิงเสียชีวิต ศพถูกส่งไปยังสุสานศพไร้ญาติ จังหวัดชลบุรี จึงเดินทางไปรับศพมาประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม

นายสมเจตร์ ศาลาวงศ์ เบิกความว่า ช่วงเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มนปช. ตนและเพื่อนอาสาสมัครตระเวนช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่แถวบ่อนไก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และราชปรารภ โดยวันที่ 15 พ.ค. 53 จอดรถกู้ชีพอยู่บริเวณลานจอดรถของอาบอบนวดเจ-วัน ถนนศรีอยุธยา ติดกับ โรงพยาบาลพญาไท 1 ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืน และระเบิดดังมาจากประตูน้ำเป็นระยะๆ กระทั่งได้รับแจ้งจากวิทยุสื่อสารว่ามีคนเจ็บบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ขณะนั้นอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุเพียง 200-300 เมตร เมื่อได้รับแจ้งก็เตรียมพร้อม แต่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ทันที เพราะมีรั้วลวดหนามของทหารกั้นอยู่บริเวณแยกจตุรทิศ

นายสมเจตร์เบิกความต่อว่า ผ่านไป 30 นาที ทหารที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเห็นว่ามีรถพยาบาล จึงวิทยุไปบอกทหารที่อยู่ในพื้นที่ที่มีคนเจ็บ ว่าจะนำรถพยาบาลของตนเข้าไป จึงขับรถตามทหารที่ขี่รถจักรยานยนต์นำทางเข้าไป  ในระหว่างทางจะเห็นทหารถืออาวุธอยู่ 2 ข้างทาง แต่ไม่พบว่ามีชายชุดดำอยู่ในจุดดังกล่าว  เมื่อไปถึงข้างบันไดเลื่อนของแอร์พอร์ตลิงก์มีพยาบาลทหาร 5-6 นาย ไม่ได้ถืออาวุธ และพบ ด.ช.คุณากรอยู่ในเปลพยาบาลทหารข้างรถทหาร ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นขณะนั้นยังไม่เสียชีวิต แต่สภาพที่เห็นคือมีไส้ทะลักออกมาเพราะถูกยิง แต่ไม่ทราบว่าใครยิง จึงรีบนำตัวส่ง โรงพยาบาลพญาไท แต่เสียชีวิตระหว่างนำส่ง

พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม เบิกความว่า เป็นผู้ชันสูตรศพด.ช.คุณากร โดยเวลา 03.30 น. วันที่ 15 พ.ค. 53 พนักงานสอบสวน สน.พญาไท นำศพมาส่งชันสูตร สภาพศพภายนอกมีบาดแผลถูกยิงเข้าบริเวณด้านหลังข้างขวาช่วงล่าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 ซ.ม. ในระดับต่ำกว่ายอดศีรษะ 60 ซ.ม. กระสุนเข้าด้านหลังขวาทะลุผ่านช่องท้องมาด้านหน้า มีลำไส้จำนวนมากทะลักที่ปากแผล และพบเศษโลหะเล็กๆ กระจายตามแนวกระสุนผ่าน เลือดออกภายในช่องท้อง 800 ม.ล. ลำไส้เล็กฉีกขาดหลายแห่ง เศษโลหะที่กระจายตามแนวบาดแผลนั้น สันนิษฐานได้ว่าเป็นเศษโลหะจากกระสุนปืนที่มีความเร็วสูง อาจเป็นปืนที่ใช้ในสงคราม เช่น อาก้า เอ็ม 16 เพราะดูจากเศษโลหะ และแนวเข้าออกของกระสุน สรุปสาเหตุการเสียชีวิตได้ว่า เกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเข้าที่ท้องทำให้ลำไส้ทะลุ

 

นัดสืบพยานวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555[7]

            พยาน[8]

  1. ร.ท.กิตติภพ ธูปทอง ทหารพยาบาล
  2. ส.อ.พุทธรักษ์ สุขเกษม ทหารพยาบาล
  3. ส.อ.วรากร ผาสุข กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์
  4. ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์
  5. พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

ร.ท.กิตติภพ ธูปทอง เบิกความว่าวันเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนไม่ให้รถตู้เข้ามา จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังอย่างต่อเนื่อง สักพักจึงได้รับคำสั่งให้ไปดูผู้บาดเจ็บ ก็พบนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ถูกยิงบาดเจ็บ ต่อมามีหน่วยแพทย์อาสาวชิรพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ในขณะเกิดเหตุเขาไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.พุทธรักษ์ สุขเกษม เบิกความว่า  ขณะเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนไม่ให้รถตู้เข้ามา และได้ยินเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง หลังเสียงปืนสงบ จึงพบร่างด.ช.คุณากร อยู่ในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสมีไส้ทะลักออกมา แต่ยังไม่เสียชีวิต จากนั้นหน่วยแพทย์อาสาวชิรพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ในขณะเกิดเหตุนั้น เขาไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.วรากร ผาสุข เบิกความสรุปว่า วันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ฝั่งซ้ายของถนนราชปรารภ มีปืนM16 เป็นอาวุธประจำกาย มีหน้าที่ตรวจค้นบุคคลเข้าออก และไม่พบว่ามีใครพกพาอาวุธเข้าไปแต่อย่างใด ขณะเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนว่ารถตู้อย่าเข้ามาหลายครั้ง จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่าปฏิบัติหน้าที่อยู่จุดเดียวกันกับส.อ.วรากร ได้ยินเสียงประกาศเตือน และเสียงปืนเช่นกัน แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบว่ารอยกระสุนปืนบริเวณร้านค้ากับใกล้สำนักงานคอนโดไอดีโอ และมีกระสุนตกอยู่ตรงประตูเหล็กด้านหน้าร้าน สันนิษฐานว่ายิงมาจากฝั่งตรงข้าม โดยวิถีกระสุนยิงในลักษณะเป็นแนวราบ แต่ไม่สามารถระบุชนิดของกระสุนและอาวุธปืนได้

 

นัดสืบพยานวันที่ 26 พฤศจิกายยน 2555[9]

            พยาน[10]

  1. นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้
  2. นายคมสันติ ทองมาก ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่น
  3. พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  4. พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุนปืน สตช. ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน
  5. ร.ต.อ.สากล คำยิ่งยง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท

นายสมร ไหมทองเบิกความสรุปได้ว่า หลังจากกลับจากส่งผู้โดยสาร ได้ขับรถตู้เข้ามาบริเวณถนนราชปรารภ และถูกระดมยิง ขณะนั้นไม่ได้ยินประ กาศแจ้งเตือนแต่อย่างใด หลังเสียงปืนสงบเห็นทหารถือปืนเข้ามาล้อมรถ และช่วยนำพยานส่งโรงพยาบาล

นายคมสันติ ทองมากเบิกความว่า เป็นผู้ถ่ายคลิปเหตุการณ์ยิงรถตู้ ไม่ได้ตัดต่อแต่อย่างใด ขณะนั้นยืนอยู่ด้านหลังเจ้าหน้าที่ และได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศบอกรถตู้ว่าอย่าเข้ามา พร้อมเล็งปืนไปที่รถตู้ หลังสิ้นเสียงประกาศก็เห็นรถตู้วิ่งเข้ามาบริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1-2 นาที จากด้านซ้ายและขวาที่ เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่

พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมากเบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจอาวุธปืนM16 แต่จากการตรวจไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงผู้ตาย เนื่องจากส่งมาหลังเกิดเหตุเป็นเวลากว่า 1 ปี เช่นเดียวกับพ.ต.ต.กิตติศักดิ์เบิกความสรุปว่าเป็นผู้ตรวจสอบภาพถ่ายรถตู้ที่ถูกยิงรอบคัน และตรวจอาวุธปืนM16 ผลปรากฏว่าไม่ตรงกับปืนที่ใช้ยิงผู้ตาย

ร.ต.อ.สากล คำยิ่งยง เบิกความเพื่อให้การรับรองเอกสารรายงานช่วงเกิดเหตุและมอบแก่ศาล โดยรายละเอียดมีว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่สน.พญาไท เป็นพนักงานสอบสวน ได้รับคำสั่งให้สอบสวนคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม โดยเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14-20 พ.ค. 53 บริเวณแยกประตูน้ำ ราชปรารภ ถึงสามเหลี่ยมดินแดง โดยตรวจสอบพบผู้เสียชีวิต 15 ราย ซึ่ง1 ใน 15 รายนั้นมีด.ช.คุณากรรวมอยู่ด้วย ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 02.00 น. บริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ หลังจากทราบแล้วได้รวบรวมเอกสารทั้ง 15 ราย ให้คณะสอบสวนอีกชุด แต่ตัวเขาเองไม่ได้ทำการตรวจสอบศพเอง แต่มีพนักงานสอบสวนอีกชุดหนึ่งทำการตรวจสอบ  โดยสาเหตุการตายเบื้องต้นมาจากถูกอาวุธปืนยิง

 

นัดสืบพยานวันที่ 4 ธันวาคม 2555[11]

            พยาน พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท

พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง เบิกความว่า คดีนี้บช.น.แต่งตั้งพนักงานสอบสวน 10 นาย เขาเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน จากการสอบสวนทราบว่าคดีนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนปช.บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 หลังจากนั้นมีการปะทะกันในวันที่ 10 เม.ย. 53 ผู้ชุมนุมจึงย้ายมารวมกันที่ราชประสงค์ในเวลาต่อมา ขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 53 และวันที่ 13 พ.ค. 53 ได้ประกาศห้ามเข้าออกพื้นที่ถนนบางสาย ในคดีนี้เป็นถนนราชปรารภ ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกมักกะสัน และจะขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุม
วันที่ 14 พ.ค. 53 เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนพลมาที่ถนนราชปรารภ และได้ใช้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์เป็นศูนย์บัญชาการ นอกจากนี้ ยังนำลวดหนามมาขวางหน้าโรงแรมอินทรา ใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และแยกมักกะสัน เพื่อห้ามยานพาหนะและคนนอกไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ รวมทั้งตั้งบังเกอร์อยู่ริมถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง และบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย กระทั่งเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 15 นายสมร ไหมทอง ได้ขับรถตู้ออกจากซอยวัฒนวงศ์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกดินแดง ระหว่างขับถึงจุดที่สร้างคอนโดไอดีโอซึ่งเป็นเขตหวงห้าม เจ้าหน้าที่ทหารประกาศให้ขับออกมาแต่คนขับยังฝ่าเข้าไป ทหารจึงสกัดโดยใช้ปืนยิงรถตู้จนจอดนิ่งอยู่บริเวณทางขึ้นสถานีแอร์พอร์ตลิงก์

พ.ต.ท.บรรยงเบิกความอีกว่า หลังสิ้นเสียงปืนเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปช่วยเหลือนายสมรที่ยังไม่เสียชีวิต และนำตัวใส่รถ GMC ที่จอดอยู่ในโรงภาพยนตร์โอเอ ทราบว่ามีคนเจ็บอีกคนคือ ด.ช. คุณากร อยู่ในรถ GMC ด้วย จากนั้นทหารอนุญาตให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิรับทั้งคู่ไปส่งที่โรงพยาบาลพญาไท 1 โดยด.ช.คุณากรเสียชีวิต ส่วนนายสมรบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้ ยังมีนายพัน คำกอง เสียชีวิตอยู่บริเวณคอนโดฯ ไอดีโอ ด้วย เหตุการณ์นี้นายคมสันติ ทองมาก ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่นบันทึกคลิปเหตุการณ์ทั้งหมด และมอบให้แก่พนักงานสอบสวนแล้ว

เขาเบิกความถึงคลิปกล่าวว่าเห็นรถตู้ของนายสมรขับมาตามถนนราชปรารภจากประตูน้ำไปแยกดินแดง เมื่อข้ามทางรถไฟใต้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์แล้วมีเสียงปืนดังขึ้นทุกทิศจนรถตู้หยุด จากนั้นทหารเข้าไปช่วยนำนายสมรออกจากรถตู้และรักษาพยาบาลเบื้องต้น ก่อนใช้เปลหามเข้าไปในซอยโรงภาพยนตร์โอเอและใส่รถ GMC จากนั้นมีรถมูลนิธิเข้าไป เห็นทหารนำด.ช.คุณากรออกจากรถ GMC สภาพยังไม่เสียชีวิต แต่เดินไม่ได้แล้วและมีบาดแผลที่ท้อง ทราบภายหลังว่าถูกยิงข้างหลังทะลุท้อง รถมูลนิธินำทั้งคู่ไปส่งโรงพยาบลพญาไท 1 และมีภาพรถมูลนิธิมารับนายพัน คำกอง ไปส่งโรงพยาบาลด้วย

พนักงานสอบสวนเบิกความต่อว่า ผลการชันสูตรพบกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่แขนซ้ายของนายพัน และพบกระสุนM16 ในตัวของนายสมร ขณะที่ผลการตรวจปืนM16 จำนวน 40 กระบอก จากทหารที่รักษาการณ์ในที่เกิดเหตุ ไม่พบว่าตรงกับของกลางแต่อย่างใด เขาไม่ได้ตรวจรถตู้ที่ถูกยิง แต่ได้นำภาพถ่ายและคลิปภาพเสียงส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจ และจากการสอบสวนนายอเนก ชาติโกฎิเจ้าหน้าที่ รปภ.ของคอนโดฯ ไอดีโอให้การว่าอยู่กับนายพันในช่วงเกิดเหตุ หลังได้ยินเสียงปืนทั้งคู่ออกมาดูสถานการณ์ด้านหน้า และเห็นทหารอยู่โดยรอบ แต่ไม่เห็นว่าใครยิง และนายคมสันติยังได้ให้การสอดคล้องกันด้วยว่าได้ยินเสียงปืนและเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าวด้วย  และนอกจากนี้ พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต ผกก.สภ.บ้านไร่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนร่วมกับทหาร ให้การว่าได้ยินประกาศห้ามรถตู้เข้ามาและได้ยินเสียงปืน แต่ไม่ได้ออกไปดู

พยานเบิกความอีกว่า หลังยุติการชุมนุม DSI ประกาศให้คดีสลายการชุมนุมเป็นคดีพิเศษ พยานจึงส่งสำนวนไปให้DSI และทาง DSI เชื่อว่าการตายของด.ช.คุณากร น่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ จึงส่งสำนวนกลับมาให้สอบสวนต่อ เขาเบิกความว่าเชื่อได้ว่าเกิดจากการยิงของทหารเนื่องจากในที่เกิดเหตุทหารขึ้นไปใช้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์เป็นศูนย์บัญชาการและบล็อกแนวบริเวณดังกล่าวไว้หมด บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าออกบริเวณนี้ได้ ส่วนด.ช.คุณากรถูกกระสุนM16 ยิงจากด้านหลังทะลุด้านหน้า จุดที่เสียชีวิตกับรถตู้อยู่บริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ นายพันยังถูกปืนM 16 ยิงเสียชีวิตในบริเวณนั้นด้วย ทหารอาจไม่ทราบว่ามีด.ช.คุณากรอยู่ในบริเวณดังกล่าว และไม่น่าเป็นการยิงโดยเจตนา

 

ฟังคำสั่งวันที่ 20 ธันวาคม 2555[12]

ด.ช.คุณากรผู้ตาย มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 44 ม.1 แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กทม. กระทั่งปี 2547 ย้ายไปอยู่ในความปกครองของสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตั้งอยู่เขตสวนหลวง โดยระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 53 นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และจัดตั้งศอฉ. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผอ.ศอฉ. และศอฉ.ได้ออกประกาศควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมเข้าออก ถ.ราชปรารภ ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำ ถึง สี่แยกมักกะสัน ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาการให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งถนนและตามแนวบังเกอร์ ประกอบด้วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และจัดวางลวดหนามตั้งแต่บริเวณปากซอยราชปรารภ 6 ถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

วันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 23.00 น. เศษ นายคมสันติ ทองมาก ผู้สื่อข่าวซึ่งไปทำข่าวเกี่ยวกับผู้ชุมนุมนปช. บริเวณถ.ราชปรารภ พบเห็นผู้ตายวิ่งเล่นอยู่บริเวณบังเกอร์ที่เจ้าหน้าที่ทหารวางไว้ตามสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ฝั่งโรงภาพยนตร์โอเอ ต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 14 พ.ค. 53 นายสมร ไหมทอง ขับรถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพฯ ออกจาก ซ.วัฒนวงศ์ แล้วเลี้ยวขวาไปที่สี่แยกมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล ซึ่งประจำอยู่บริเวณด้านหน้าร้านอาหารอินเดียฟู้ด จึงแจ้งไปยังชุดตรวจที่อยู่ใกล้ปากซอยให้ประกาศห้ามรถยนต์ตู้ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ควบคุม แต่นายสมรยังคงขับรถยนต์ตู้ต่อไปทางสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อแล่นผ่านจุดที่ ร.อ.เสริมศักดิ์ กับพวกประจำอยู่ มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดมาจากหลายทิศทาง นายสมรพยายามขับรถยนต์ตู้ต่อไปจนข้ามทางรถไฟไปถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อสิ้นเสียงปืนพบว่านายสมรถูกกระสุนปืนที่เอวและท้อง

นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ถูกกระสุนปืนยิงใส่อีก 2 คน คือ นายพัน คำกอง และผู้ตายในคดีนี้โดยมีบาดแผลถูกกระสุนปืนยิงเข้าด้านหลังบริเวณกึ่งกลางลำตัวทะลุช่องท้อง ซึ่งพบผู้ตายได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ที่พื้นถนนในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ห่างจากปากซอยซึ่งติดถ.ราชปรารภประมาณ 20 เมตร ถัดจากปากซอยไปไม่ไกลเป็นจุดที่รถยนต์ตู้คันที่นายสมรขับจอดอยู่ ส่วนนายพัน คำกอง ถูกกระสุนปืนขณะยืนอยู่ตรงบริเวณทางเข้าออกอาคารคอนโดมิเนียมไอดีโอ ตรงกันข้ามเยื้องกับซอยโรงภาพยนตร์โอเอ

สำหรับสาเหตุที่ผู้ตายถูกยิงนั้น ได้ความจากนายสมร ผู้บังคับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุว่า เมื่อขับเลี้ยวขวาออกจากซอยได้ประมาณ 30 เมตร ก็มีเสียงปืนดังขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองฝั่งระดมยิงมาที่รถยนต์ตู้ของพยาน ซึ่งสอดคล้องกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าเห็นทหารจำนวน 3 นายยิงปืนมาที่รถ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายคมสันติว่า ก่อนที่รถยนต์ตู้จะแล่นเข้ามา เจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าขอให้ผู้ขับหยุดรถ มิฉะนั้นจะยิงสกัด เมื่อสิ้นเสียงประกาศจึงมีเสียงปืนดังมาจาก 2 ฝั่งถนน โดยทั้ง 2 ฝั่งถนนมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสัน ซึ่งพยานได้บันทึกภาพเหตุการณ์รถยนต์ตู้เข้าไปในพื้นที่จนกระทั่งถูกยิงสกัดไว้

อีกทั้งพยานผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุต่างเบิกความตรงกันสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่ 4 แยกมักกะสันไปจนถึงซอยราชปรารภ 6 ฝั่งซ้ายมุ่งหน้าที่ 4 แยกประตูน้ำ แบ่งกำลังคุมพื้นที่ 4 แห่ง แต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 6 คน โดยก่อนเกิดเหตุพยานแต่ละคนได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ไม่ให้รถตู้ นายสมรแล่นผ่านเข้าไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ แต่รถตู้ยังแล่นต่อไป จากนั้นมีเสียงปืนดังหลายนัดมาจากหลายทิศทาง

แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่าผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุถ.ราชปรารภตั้งแต่ 4 แยกประตูน้ำไปจนถึง 4 แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ นำโดยพ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถ.ราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ 4 แยกประตูน้ำไปจนถึง 4 แยกมักกะสัน และปากซอยหมอเหล็ง เฉพาะหน่วยของพ.ท.วรการมีทหารถึง 150 คน มีกองบัญชาการอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น

อีกทั้งพล.อ.ต.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม แพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายเบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่าเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภท M16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้องและภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐานจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายนายมีอาวุธปืนM16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้

จึงต้องรับฟังว่า คืนเกิดเหตุขณะที่นายสมรขับรถยนต์ตู้เข้าไปในถ.ราชปรารภ มุ่งหน้าสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมตามประกาศของศอฉ. เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงห้ามเข้าไปในพื้นที่แล้ว นายสมรยังขับรถยนต์ตู้ต่อไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่รถยนต์ตู้ของนายสมร เป็นเหตุให้ลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายจนถึงแก่ความตาย

ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ถนนศรีอยุธยา แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณฉบับเต็ม

 


[1]  การไต่สวนชันสูตรพลิกศพด.ช.คุณากร นี้มีการใช้พยานบุคคลและหลักฐานบางส่วนร่วมกับคดีนายพัน คำกอง

[3] “สืบพยานคดีน้องอีซา เหยื่อสลายการชุมนุม พ.ค.53,” Voice TV, 20 ก.ค. 55 ; “ไก่อูเบิกความคดียิงดช.อีซา ‘แดง’นัดลุ้น 23 กค.ชี้ชะตาตู่,” ข่าวสด, 21 ก.ค. 55

[4] พยานทหารทั้ง 3 นาย นี้เป็นชุดเดียวกับที่ขึ้นเบิกความในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง

[5] ในรายงานข่าวลงชื่อผิด

[6] “โชว์หลักฐาน’หัวกระสุน’ สื่อดัตช์พค.53 ย้ำโดนจนท.ยิง,” ข่าวสด, 30 ต.ค. 53

[7] “ไต่สวน 2 ศพ แดง,” ข่าวสด, 6 พ.ย. 55

[8] เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ ทั้ง 2 นาย นั้นได้ให้การในการไต่สวนชูนสูตรนายพัน คำกองด้วย

[10] พยาน 1-4 ให้การในการไต่สวนชันสูตรนายพัน คำกอง ด้วย

[12] “ศาลชี้ศพ 4 “ดช.อีซา” จนท.ยิง! “มาร์ค-เทือก” หนักต้องถูกดำเนินคดีต่อเนื่อง’พัน คำกอง’เผยกระสุนทะลุหลังใกล้บังเกอร์ทหารไต่สวน6ศพวัดปทุม-นาทีชีวิตน้องเกด,” ข่าวสด, 21 ธ.ค. 55 ; “ศาลสั่งเป็นคดีที่ 4 “ด.ช.อีซา” เหยื่อกระสุน พ.ค. 53 เสียชีวิตจากทหาร,” ประชาไท, 20 ธ.ค. 55

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายบุญมี เริ่มสุข

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : ช.7/2555  วันที่ฟ้อง : 14/03/2555

คดีหมายเลขแดงที่ : ช.1/2556  วันที่ออกแดง : 16/01/2556

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4

ผู้เสียชีวิต : นายบุญมี  เริ่มสุข

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

นัดสืบพยานวันที่ 11 มิถุนายน 2555[1]

                พยาน

  1. พนักงานสอบสวน
  2. นางนันทพร เริ่มสุข ภรรยา
  3. นายธนพร  วงษ์ณรัตน์

นางนันทพร เริ่มสุข ได้ให้ข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายบุญมีก่อนขึ้นให้การในศาลว่า นายบุญมีถูกยิงในวันที่ 14 พ.ค. 53 เวลาราว 15.00 น. ที่ตู้โทรศัพท์หน้าปั๊ม ปตท. บ่อนไก่  โดยก่อนที่นายบุญมีจะเสียชีวิตเล่าให้เธอฟังว่า ก่อนเกิดเหตุรับประทานอาหารอยู๋ร้านระเบียงทอง ใต้สะพานข้ามถนนเพียงคนเดียวไม่ได้เข้าไปร่วมชุมนุม  หลังรับประทานอาหารเสร็จหลานสาวโทรศัพท์บอกว่ากำลังจะกลับจากการรายงานตัวที่โรงเรียนสายปัญญา แต่ไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากไม่มีรถเมล์โดยสารและกลัวว่าจะเกิดอันตราย เพราะมีเจ้าหน้าที่ถืออาวุญปืนอยู่ 2 ข้างทางเป็นจำนวนมาก  จากนั้นนายบุญมีจึงไปรอรับหลานตรงจุดเกิดเหตุ   ขณะนั้นมีทหารถืออาวุธปืนเดินลาดตระเวณริมถนนพระราม 4 เป็นระยะ  และมีทหารขี่มอเตอร์ไซค์โดยมาคันละ 2 คน จำนวน 5 คัน ลงมาจากสะพานไทย-เบลเยี่ยม มาทางบ่อนไก่   มี 1 คัน ที่เสียหลักล้มลง เมื่อลุกขึ้นมาทหารก็ได้กราดยิงมาทางที่ประชาชนอยู่ และกระสุนได้ถูกนายบุญมีเข้าที่หน้าท้อง  จากนั้นได้มีคนช่วยนำขึ้นจักรยานยนต์พาไปส่งที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์  จากนั้นจึงได้ย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจต่อเป็นเวลา 76 วัน จึงเสียชีวิต

นายธนพร วงษ์ณรัตน์  ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่ที่สะพานมัฆวานฯ จนกระทั่งถึงแยกราชประสงค์ก่อนเกิดเหตุนายบุญมีถูกยิงเสียชีวิต เขากำลังจะเข้าไปร่วมชุมนุมที่ย่านบ่อนไก่โดยเขากำลังยืนอยู่ที่ปากซอยงามดูพลี ขณะนั้นมีทหารถืออาวุธเดินลาดตระเวณเป็นแนวทั้งสองข้างถนนพระราม 4 พร้อมกับเสียงปืนดังเป็นระยะจนทหารลาดตระเวณมาถึงบ่อนไก่มีเสียงปืนดังต่อเนื่องและเดินใกล้เข้ามา  เขาจึงตะโกนบอกผู้ชุมนุมฝั่งตรงข้ามให้หลบเจ้าไปในซอยเพราะเกรงจะถูกยิง พร้อมกันนั้นเขาได้พาประชาชนอีกส่วนหนึ่งหลบวิถีกระสุนเข้าไปในซอยงามดูพลี  และเมื่อเขามองไปฝั่งตรงข้ามเห็นทหารเดินมาถึงปั๊ม ปตท. มีชายสูงวัยรูปร่างใหญ่ ศีรษะล้านยืนอยู่ จึงได้ตะโกนบอกให้เขาหลบเข้าไปในซอย แล้วก็มีเสียงปืนดังขึ้น ชายคนนั้นถูกยิงล้มลงข้างตู้โทรศัพท์ เขาจึงวิ่งข้ามถนนพระราม 4 ไปช่วย เห็นมีเลือดไหลออกจากหน้าท้อง เขาจึงถามว่า “ลุงเป็นอะไรมากไหม?”  มีชาววิ่งมาช่วยแล้วบอกว่า “ลุงบุญมีรึเปล่า ลุงบุญมีอยู่แฟลการเคหะ ในซอยปลูกจิตหน้า” จากนั้นจึงช่วยกันอุ้มลุงบุญมีขึ้นรถจักรยานยนต์นำส่งที่โรงพยาบาล แล้วเขาจึงวิ่งข้ามกลับไปที่ซอยงามดูพลีอีกครั้ง จนมาทราบภายหลังว่าลุงบุญมีเสียชีวิตแล้ว   เขาบอกอีกว่าเคยให้การกับพนักงานสอบสวน ที่สน. บางรักไว้แล้ว ก่อนที่จะเตรียมเข้าเบิกความ

 

นัดสืบพยานวันที่ 15 สิงหาคม 2555[2]

              พยาน ช่างภาพจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 7

พยานช่างภาพเบิกความว่า  ในวันที่ 14 พ.ค. 53 เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณที่เกิดเหตุบริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ถนนพระราม 4  ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น. ได้มีการตอบโต้กันระหว่างผู้ชุมนุมกับทหารซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั๊ม ปตท.  เขาได้ถ่ายภาพผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ แต่เขาไม่ทราบว่าเป็นใครจนกระทั่งพนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายที่พยานได้ถ่ายไว้ให้ดู  และไม่ทราบว่าถูกนำส่งไปรักษาที่ใดและเสียชีวิตเมื่อไหร่

เหตุการณ์วันถัดมา(?) ทหารได้เข้าจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณดังกล่าว  นอกจากนี้นักข่าวที่ทำงานร่วมกันเตือนเขาให้ระวังเรื่องจากทหารมีการใช้กระสุนจริง ขณะที่ถ่ายภาพยังมีเสียงระเบิดดังขึ้นจากฝั่งผู้ชุมนุมด้วยส่วนพลุที่กลุ่มผู้ชุมนุมยิงใสฝั่งทหารนั้นไม่เป็นเหตุให้ทหารได้รับบาดเจ็บ  ขณะกำลังบันทึกภาพมีกลุ่มผู้ชุมนุมถืออาวุธไม้กระบอกงและขว้างหิน

 

นัดสืบพยานวันที่ 22 สิงหาคม 2555[3]

             พยาน

  1. นายพิชา วิจิตรศิลป์  ทนาย
  2. น.ส.กาญจน์ชนิษฐา เอกแสงศรี อาสาพยาบาล
  3. นายวสันต์ สายรัศมี  อาสาพยาบาล

พยาน 2 และ 3 ไม่ได้มีการสืบเนื่องจากมีการสืบพยานที่ 3 ไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่มีการสืบพยานทั้ง 2 คน ซึ่งเป็นการตกลงกันทั้งผู้พิพากษา อัยการและทนายของญาติผู้เสียชีวิต

นายพิชา วิจิตรศิลป์  เบิกความว่าหลัง 19 พ.ค. 53 หนึ่งเดือนมีผู้นำวีดิโอสัมภาษณ์นายบุญมีมาวางไว้ที่สำนักงานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทไทย แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร เมื่อเขาเปิดดูพบว่าเป็นวีดิโอสัมภาษณ์นายบุญมี และเสียชีวิต เขาได้ทราบว่าทางดีเอสไอต้องการพยานหลักฐาน จึงได้นำวีดิโอมาให้

 

นัดสืบพยานวันที่ 29 สิงหาคม 2555[4](ไม่มีข่าวรายละเอียดในห้องพิจารณาคดี)

            พยาน

  1. พ.อ.เพชรพนม โพธิชัย ผู้บังคับกองพันที่ 5 รักษาพระองค์
  2. ร.อ.ผดุงศักดิ์  ปิ่นเกตุ
  3. ร.ท.พีระพงศ์  พินิจรัตน์พันธ์
  4. พ.ต.ท.นพ.ณัฏฐพงศ์ กุลสิทธิจินดา นายแพทย์ สัญญาบัตร 3 โรงพยาบาลตำรวจ

จากข่าวพยานที่เป็นทหารจากกองพันทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์  ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุได้นำกำลังจำนวน 2 กองร้อย ทหารทั้งหมด 300 นาย เข้าประจำในพื้นที่ มีอาวุธปืน M356 ปืนลูกซอง และปืนสั้นประจำกาย ยืนยันว่าเป็นกระสุนยาง และกระสุนแบลงค์ ไม่มีกระสุนจริง  ในการปฏิบัตินั้นได้ใช้ยุทธวิธีจากเบาไปหาหนัก แต่วันเกิดเหตุมีระเบิดถูกปาใส่แถวทหารพร้อมกับมีเสียงปืนอยู่รอบบริเวณ ทำให้กำลังทหารที่ตั้งแถวอยู่แตกกระจายหาที่กำบัง จนไม่ได้ปฏิบัติตามยุทธวิธี

พ.ต.ท.นพ.ณัฏฐพงศ์ กุลสิทธิจินดา ให้ข้อมูลเรื่องผลชันสูตรว่านายบุญมีเสียชีวิตจากบาดแผลซึ่งส่งผลมาจากการถูกยิง และยืนยันว่าวัตถุที่พบในร่างกายผู้ตายคือตะกั่วคล้ายกระสุนปืน

 

นัดบริหารคดีวันที่ 19 กันยายน 2555[5]

ไม่มีการสืบแต่เป้นการนัดพยานอีก 8 ปาก ซึ่งทนายของยาติผู้เสียชีวิตมีการยื่นคำร้องขอให้มีการไต่สวนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และพ.ต.ท.สมชาย เพชรประเสริฐ

 

นัดสืบพยานวันที่ 24 ตุลาคม 2555[6]

           พยาน

  1. พ.ต.ท.นพสิทธิ์ อัครนพหงส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน
  2. พ.ต.ท.วัชรัตน์ เฉลิมสุขสันต์ ผอ.สำนักตรวจสอบที่เกิด เหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
  3. นายธนพร วงษ์ณรัตน์

พ.ต.ท.นพสิทธิ์ อัครนพหงส์ เบิกความว่า วันที่ 18 เม.ย. 54 บก.น. 5 มีหนังสือนำส่งของกลางถึงกองพิสูจน์หลักฐานกลางพร้อมลูกกระสุนขนาด .223(5.56 มม.) จากตัวนายบุญมี   ซึ่งกระสุนขนาดดังกล่าวใช้ในราชการเท่านั้น ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้บุคคลทั่วไปได้ ส่วนปืน M16 ขนาด .223 จำนวน 40 กระบอกที่ส่งมานั้นพยานได้รับมอบหมายให้ตรวจ 5 กระบอก ไม่มีกระบอกใดตรงกับกระสุนที่ยิงนายบุญมี แต่ปืน M16 นั้นสามารถถอดเปลี่ยนลำกล้องได้[7]

พ.ต.ท.วัชรัตน์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่าจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบร่องรอยกระสุนปืนขนาด .223 และกระสุนปืนลูกปรายหน้าบ้านประชาชน ราวบันไดสะพานลอย และตู้โทรศัพท์ใกล้กับจุดที่นายบุญมีถูกยิง  การตรวจแนววิถีกระสุนคาดว่ายิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ส่วนการตรวจในฝั่งเจ้าหน้าที่นั้นไม่พบร่องรอยกระสุนจากทางผู้ชุมนุมแต่อย่างใด เขาได้ถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุไว้  และจะมอบให้ศาล

พยานคนสุดท้ายนายธนพร วงษ์ณรัตน์  เป็นคนเดียวกันกับที่เบิกความในการสืบพยานนัดแรก แต่มีที่เพิ่มมาคือตอนที่กำลังช่วยนายบุญมีขึ้นรถจักรยานยนต์อยู่นั้นได้มีเจ้าหน้าที่(ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพหรือทหาร แต่คาดว่าจะเป็นทหารที่ได้เดินมาถึงปั๊ม ปตท.แล้ว) บอกกับเขาว่า “เลือดออกมากขนาดนี้ คงไม่รอดหรอก เดี๋ยวจะนำไปส่งโรงพยาบาลให้”  แต่เขาไม่ยอมและรีบนำขึ้นรถไปส่งที่โรงพยาบาลแล้วกลับมาที่ซอยงามดูพลีอีกครั้ง

 

นัดสืบพยานวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555[8]

            พยาน

  1. พ.ต.ท. ณปภัช ณัฏฐสุมน แพทย์ชันสูตร สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ
  2. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

พ.ต.ท. ณปภัช ณัฏฐสุมน เบิกความว่า  ได้ตรวจศพนายบุญมี เริ่มสุขเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 53  คาดว่าสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากการถูกยิงและเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด   ทนายความญาติผู้ตายถามพ.ต.ท. ณปภัช ว่าพบหัวกระสุนปืนในตัวนายบุญมีหรือไม่ เขาตอบว่าไม่พบ แต่ทนายบอกว่าทราบจากพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ว่าพบหัวกระสุนปืนในตัวผู้ตาย

จากนั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความ ว่าตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 มีการชุมนุมของ นปช. รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ เพื่อแก้ไขสถานการณ์จากนั้นประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการตั้ง ศอฉ. โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และตั้งเขาเป็นผอ.ศอฉ. มีหน้าที่เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานและหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการปฏิบัติงานของศอฉ. จะทำในรูปแบบของคณะกรรมการ มีการประชุมออกความเห็นและลงมติร่วมกัน โดยเขาเป็นประธานในที่ประชุมทุกครั้ง ซึ่งจัดประชุมวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น

นายสุเทพยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก สมควรแก่เหตุและให้แจ้งเตือนก่อนทุกครั้ง และระบุการปฏิบัติตามขั้นตอน 7 ขั้น ว่าแต่ละขั้นตอนต้องมีผู้ตัดสินใจ เช่น ผู้บัญชาการที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ส่วนการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ต้องได้รับความเห็นชอบจากศอฉ.เท่านั้น อาวุธที่ศอฉ. อนุญาตให้ใช้คือปืนลูกซอง ส่วน M16 อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะผู้บังคับหน่วยเท่านั้น และไม่ให้ใช้อาวุธสงคราม เช่น M79 และ RPG โดยกำหนดกฎการใช้อาวุธว่าต้องไม่ประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่เพื่อคุ้มครองตนเองและผู้ที่อยู่ในความคุ้มครองต้องไม่ใช้อาวุธกับเด็ก สตรีและคนชรา ให้เล็งส่วนล่างของร่างกายตั้งแต่เข่าลงไป

ในส่วนการตายของนายบุญมีนายสุเทพกล่าวว่าเขาทราบหลังจากที่นายบุญมีเสียชีวิตไปแล้วหลายเดือน เนื่องจากต้องนำข้อมูลชี้แจงในสภาจึงทราบว่าในวันที่ 14 พ.ค. ผู้ตายยืนอยู๋หน้าร้านอาหารระเบียงทอง และถูกคนร้ายยิงด้วยอาวุธปืนไม่ทราบชนิดเข้าที่หน้าท้อง ก่อนไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา  พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน นำร่างไปชันสูตรและสรุปความเห็นว่าไม่สามารถหาพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้ผู้ตายเสียชีวิต และไม่ทราบว่าวิถีกระสุน ที่ยิงถูกนายบุญมีมาจากทิศทางใด  โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่ามีรอยวิถีกระสุนมาจาก 2 ทิศทาง ทั้งจากฝ่ายทหารและฝ่ายตรงข้าม และไม่ทราบว่าผู้ตายหันหน้าไปทิศทางใด ประกอบกับอาวุธปืนที่ส่งมาตรวจนั้น ก็ไม่พบว่าตรงกับกระสุนปืนจากตัวผู้ตาย

ทนายได้ซักถามนายสุเทพถึงภาพถ่ายป้าย “เขตพื้นที่ใช้กระสุนจริง” ว่าได้ออกคำสั่งให้ติดตั้งป้ายหรือไม่ เขาเบิกความว่าไม่ได้สั่งให้เขียนป้ายว่าเขตพื้นที่ใช้กระสุนจริงแค่สั่งให้ติดป้ายเขตห้ามเข้าเท่านั้น ทนายได้ให้ดูภาพถ่ายพลซุ่มยิง 2 นาย อยู๋บนตึกสูงและมีอาวุธติดกล้องช่วยเล็ง[9] และถามว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักสากลหรือไม่ เขาตอบว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของทหารในพื้นที่สูงโปร่งเพื่อป้องกันการโจมตีจากผู้ก่อการร้าย ที่ใช้อาวุธวิถีโค้งและยิงจากระยะไกล  ซึ่งอัยการสูงสุดได้ให้คำแนะนำในที่ประชุมศอฉ. ว่าหากมีผู้ก่อการร้ายโจมตีให้ใช้อาวุธดังกล่าวได้เป็นไปตามหลักสากลของสหประชาชาติ ปรากฏในเอกสารที่อัยการสูงสุดทำเสนอในที่ประชุมด้วย

 

นัดสืบพยานวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555[10]

            พยาน

  1. พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
  2. พ.ต.ท.สาธิต ภักดี พนักงานสอบสวน ผู้ชำนาญการพิเศษ สน.บางรัก
  3. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
  4. นายดิศักดิ์ ดีสม (พยานจากทางฝ่ายทนายญาติผู้เสียชีวิต)

พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ เบิกความว่าเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนการเสียชีวิตนายุญมี เริ่มสุข  เขาได้แจงพยานหลักฐานในการสืบสวนว่ามีวีดิโอสัมภาษณืนายบุญมีก่อนเสียชีวิตซึ่งได้จากชมรมกฎหมายวิวัฒน์แห่งประเทศไทย  การสอบสวนทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ 3 นาย วัตถุพยานที่ผ่าออกจากศพ(กระสุน) ที่รับจากโรงพยาบาลตำรวจนำส่งให้กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ระบุว่า เป็นกระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) ใช้กับปืน M16 โดยสอบสวนทราบว่าเป็นอาวุธปืนที่เบิกมาใช้ในการปฏิบัติการและผลการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่พยานไปร่วมตรวจสอบด้วย

ผลการตรวจวิถีกระสุนและทิศทางการยิง พบว่ามาจากจุดที่เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ทั้ง 2 ฝั่งถนนทั้งฝั่งสนามมวยลุมพินีและภัตตาคารจันทร์เพ็ญ โดยทหารเคลื่อนจากหน้าปั๊ม ปตท. และถอยกลับจุดเดิมก่อนตั้งด่านถาวรจนถึงวันที่ 19 พ.ค. 53 โดยมีวีดิโอบันทึกเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ยิงปืนไปทางซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 ขาออก ฝั่งเดียวกับปั๊ม ปตท. ในเว็บไซต์ยูทูบ  และการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยกระสุนปืนบริเวณตู้โทรศัพท์ หน้าปั๊ม ปตท. ที่นายบุญมีถูกยิง ราวสะพาน และเสาป้ายบอกทางประมาณ 50 รอย มีตั้งแต่ความสูงระดับหัวเข่าไปจนถึงเหนือศีรษะ  และยังพบรอยกระสุนบนขอบสะพานลอยหน้าปั๊ม ไปจนถึงสะพานลอยใกล้กับธนาคารกรุงเทพ สาขาพระราม 4[11]  และจากเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตประมาณ 15 คน[12] และผู้บาดเจ็บประมาณกว่า 100 คน ตั้งแต่สนามมวยลุมพินีจนถึงใต้ทางด่วนพระราม 4(ถนนเชื้อเพลิง)

พยานคนที่ 2 พ.ต.ท.สาธิต ภักดี   เบิกความว่า บช.น. ได้รับสำนวนต่อจากดีเอสไอ มีสำเนาคำให้การ วิดีโอสัมภาษณ์นายบุญมีก่อนเสียชีวิต โดยในการสัมภาษณ์นายบุญมีได้บอกว่าโดนยิงจากฝั่งทหาร และจากการสอบสวนทราบว่านายบุญมีถูกยิงที่หน้าท้องด้านขวา ที่หน้าปั๊ม ปตท.  วันที่ 14 พ.ค. 53  และเสียชีวิตโดยการติดเชื้อในกระแสเลือดจากบาดแผลถูกยิง  และเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพราะจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ประกอบด้วยหัวกระสุน ปืนขนาด .223(5.56 มม.)  พยานการ์ด นปช. ซึ่งเป็นพยานที่เห็นผู้ตายขณะถูกยิง  และแผ่นวีซีดีบันทึกภาพจากผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ที่มีภาพเจ้าหน้าที่ยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม

พ.ต.ท.สาธิตเบิกความอีกว่า จากการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ รับว่าได้นำกำลังเข้าไปผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามถนนพระราม 4 มุ่งหน้าทางด่วนคลองเตย(ทางด่วนพระราม4) หน้าปั๊มน้ำมัน ปตท.  โดยยิงปืนM16 แต่ใช้กระสุนซ้อมหรือกระสุนยาง  จึงได้ให้พนักงานชำนาญการด้านอาวุธปืน จากสตช. ดูวีซีดีบันทึกภาพจากผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ และถามว่าใช้กระสุนซ้อมหรือไม่ พนักงานชำนาญการได้บอกว่าหากเป็นการยิงกระสุนซ้อม จะต้องมีการดึงคันรั้งลูกเลื่อนเพื่อคัดปลอกกระสุนออก แต่ไม่ปรากฏว่ามีการดึงคันรั้ง และอธิบายว่าจะต้องมีอแดปเตอร์สวมปากกระบอกปืนไว้เพื่อให้มีแรงดันพอที่ปืนจะคัดปลอกกระสุนออกเองได้ แต่ก็ไม่พบการติดอุปกรณ์ติดอยู่  จึงเชื่อได้ว่าเป็นการยิงกระสุนจริง

พ.ต.ท.สาธิตได้เบิกความถึงเรื่องชายชุดดำเอาไว้ว่า จากการสอบสวนทั้งทหารและชาวบ้านในบริเวณนั้น ไม่พบว่าชายชุดดำ และจากการตั้งด่านแข็งของทหารซึ่งห้ามคนเข้าออกแยกราชประสงค์ได้ จึงไม่สามารถที่จะมีใครเข้าไปหรือยิงมาจากหลังแนวทหารได้

พยานคนที่ 3 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เบิกความถึงเป้าหมายการชุมนุมและลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุม  โดยให้การว่าการชุมนุมของนปช. มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าการได้เป็นรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์นั้นไม่ได้มาด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกปฏเสธข้อเรียกร้อง โดยมีการชุมนุมตั้งแ 12 มี.ค. 53 ที่ราชดำเนิน   แล้วในวันที่ 7 เม.ย. รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีการตั้ง ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ

ตั้งแต่เริ่มชุมนุมถึงวันที่ 7 เม.ย. 53 ผู้ชุมนุมไปที่ต่างๆ โดยไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รัฐบาลได้ตัดสัญญาณช่องพีเพิลชาแนลที่ถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของ นปช.ให้กับประชาชนได้รับทราบ หลังจากนั้น 9 เม.ย. ตนและนปช. จึงไปชุมนุมที่สถานีดาวเทียมไทยคม เพื่อเรียกร้องให้ต่อสัญญาณกลับ โดยที่สถานีดาวเทียมไทยคมมีทหารที่มีอาวุธสงครามแต่ก็ไม่มีเหตุร้ายแรง ต่อมารัฐบาลได้ต่อสัญญาณดาวเทียม พวกตนได้กลับไปที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ แต่กลับถูกตัดสัญญาณอีก และนายกฯแสดงความไม่พอใจทางโทรทัศน์และประกาศจะไม่ยอมให้เกิดเหตุขึ้นอีก

วันที่ 10 เม.ย.53 ช่วงสายได้รับรายงานว่าจะมีการเคลื่อนกำลังไปที่สะพานผ่านฟ้า ผู้ชุมนุมได้เผชิญหน้ากับทหารเพื่อไม่ให้เข้ามา ในเหตุการณ์นั้นทหารมีอาวุธสงคราม มีปฏิบัติการต่อเนื่องจนถึงค่ำ จนกระทั่งมีประชาชนและทหารถูกยิงเสียชีวิต 25 ราย โดยประชาชนส่วนใหญ่ถูกยิงที่อวัยวะสำคัญและศีรษะ ก่อนที่ทหารจะหยุดปฏิบัติการ

นายณัฐวุฒิเบิกความต่อ ถึงเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมว่า ในวันที่ 13 พ.ค. เกิดเหตุลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศาลาแดง หลังจากนั้นเขาได้รับรายงานว่าทหารได้ปิดกั้นรอบราชประสงค์ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าร่วมได้ จึงเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับประชาชนตามจุดต่างๆ เช่น ถนนพระราม 4 ราชปรารภ ดินแดง ซอยรางน้ำ ทำให้คนเข้าออกจากพื้นที่ไม่ได้ เพราะทหารยิงสกัดตลอดเวลา อีกทั้งรัฐบาลประกาศตัดน้ำ ไฟ สัญญาณโทรศัพท์ บริเวณที่ชุมนุม และเขาได้ยืนยันอีกว่าการชุมนุมของ นปช.นั้นไม่ใช่การก่อการร้ายตามที่ ศอฉ. อ้าง เนื่องจากชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีนายบุญมีนายณัฐวุฒิเบิกความว่า เขาทราบจากข่าวว่านายบุญมีเสียชีวิตถูกยิงที่ลำตัว ในวันที่ 14 พ.ค. 53 ที่ปน้าปั๊ม ปตท. ทราบว่าแนวการยิงมาจากทางทิศที่ทหารตั้งอยู่ โดยผู้ตายไม่มีอาวุธ ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่  แต่ทราบว่ามีการยิงพลุ ตะไลที่มีระยะยิงเพียง 10 ม. ซึ่งไปไม่ถึงและไม่เป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่ และบางส่วนใช้หนังสติ๊ก

 

ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 16 มกราคม 2556[13]

เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอาวุธประจำกายได้แก่ ปืนเล็กกล M 16, M 653 และปืนลูกซอง เข้าทำการผลักดันผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. เพื่อขอคืนพื้นที่ตามแนว ถ.พระราม 4 ต่อมาเวลา 14.00 – 15.00 น. ของวันดังกล่าว ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่เพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยม ถ.พระราม 4 จากกลุ่ม นปช. ได้ใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าผลักดันผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. จึงเกิดการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งพยายามยึดพื้นที่บริเวณใต้สะพานไทย-เบลเยี่ยม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธปืน ประทัดยักษ์ หนังสติ๊ก และตะไล ยิงมายังฝ่ายเจ้าพนักงาน ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมสิ้นสุดลง มีการตรวจสอบไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ถึงผู้ได้รับบาดเจ็บ และถึงแก่ความตายเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. พบว่าในวันที่ 14 พ.ค.53 ผู้ตายซึ่งไม่ใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกยิงบริเวณหน้าท้องได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จากนั้นได้ย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ แล้วถึงแก่ความตายในวันที่ 28 ก.ค.53 โดยแพทย์มีความเห็นว่า เหตุตายเกิดจากติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับประวัติถูกยิงช่องท้อง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่าผู้ร้องมีพยานซึ่งเป็นช่างภาพสถานีโทรทัศน์ปฏิบัติหน้าที่ถ่ายภาพการปะทะกันระหว่างฝ่ายเจ้าพนักงานกับกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันว่า เห็นการยิงตอบโต้กันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และเห็นฝ่ายผู้ชุมนุมมีการใช้พลุและอาวุธปืนยิงตอบโต้ทางฝ่ายเจ้าพนักงาน พยานเป็นคนกลางซึ่งไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความเป็นจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุและทำรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุว่า มีรอยกระสุนปืนมีทิศทางการยิงมาจาก ถ.พระราม 4 ฝั่งแยกวิทยุมุ่งหน้าใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ด่านบ่อนไก่) มุ่งหน้าแยกวิทยุ ซึ่งเป็นฝั่งของกลุ่ม นปช. จึงรับฟังได้ว่ามีคนในกลุ่ม นปช. และฝ่ายเจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้กัน

ส่วนที่พยานปากผู้ร่วมชุมนุมกลุ่ม นปช. และพนักงานสอบสวนเบิกความว่า ผู้ตายถูกยิงขณะยืนอยู่ที่หน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถ.พระราม 4 แต่กลับปรากฏจากรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุว่า หน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เป็นจุดที่บุคคลอื่นถูกยิง ไม่ใช่จุดที่ผู้ตายถูกยิง และเมื่อตรวจสอบภาพความเคลื่อนไหวจากแผ่นบันทึกภาพ ซึ่งได้บันทึกการสัมภาษณ์ผู้ตาย ผู้ตายก็ไม่ได้ระบุว่าตนเองถูกยิงที่หน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และยังได้ความจากพยานผู้ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนว่า หากจะระบุวิถีกระสุนที่ยิงจากผู้ตายตามหลักวิชาการจะต้องดูตำแหน่งที่ผู้ตายยืน ลักษณะท่าทาง และการเคลื่อนไหวของผู้ตายในขณะถูกยิง ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่มีผู้ใดเห็นว่าผู้ตายยืนอยู่ในลักษณะใด แม้ในเอกสารการถอดคำสัมภาษณ์ผู้ตายจะระบุอ้างว่า ผู้ตายพูดว่า “ถูกยิงจากฝั่งทหาร”  แต่เมื่อพิจารณาจากภาพเคลื่อนไหวจากแผ่นบันทึกภาพในช่วงเวลาที่อ้างว่ามีคำพูดเช่นนั้นของผู้ตาย ก็ไม่ปรากฏว่ามีเสียงพูดของผู้ตายด้วยถ้อยคำดังกล่าว โดยมีเพียงลักษณะของการขยับปากพูดเท่านั้น ซึ่งไม่แน่ชัดว่าลักษณะการขยับปากดังกล่าว เป็นไปตามเอกสารการถอดคำสัมภาษณ์หรือไม่

แม้พนักงานสอบสวนเบิกความว่า หัวกระสุนที่ได้จากตัวผู้ตายเป็นขนาด .223 (5.56 มม.) ที่ใช้กับปืนเล็กกล M 16 ซึ่งใช้ในราชการทหาร แต่ก็ได้ความจากเจ้าพนักงานว่า มีเจ้าพนักงานถูกยิงด้วยหัวกระสุน ซึ่งใช้กับอาวุธปืนอาก้าหรืออาวุธปืนเล็กกล M 16 เช่นเดียวกัน ซึ่งพยานผู้ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนก็เบิกความว่า ลูกกระสุนปืนของกลางในตัวผู้ตาย มีลักษณะคล้ายลูกกระสุนปืนที่ยิงถูกเจ้าพนักงาน จึงเชื่อว่านอกจากฝ่ายเจ้าพนักงานจะใช้กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) แล้ว ยังมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่ม นปช. และใช้กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ยิงตอบโต้กับฝ่ายเจ้าพนักงานด้วย สำหรับผลการตรวจพิสูจน์ของพยานผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ของกลาง ไม่ได้ยิงออกมาจากอาวุธปืนเล็กกล M 16 จำนวน 40 กระบอก ของเจ้าพนักงาน แม้พยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่า อาวุธปืนของกลางสามารถถอดเปลี่ยนลำกล้องได้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้ว่า ก่อนเจ้าพนักงานจะส่งอาวุธปืนของกลางมาตรวจพิสูจน์ ได้มีการเปลี่ยนลำกล้องปืนใหม่แต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังได้วินิจฉัยมาดังกล่าว จึงฟังได้ว่า ผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56  มม.) โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ตายถูกยิงจากฝ่ายใด และใครเป็นผู้กระทำ

ศาลมีคำสั่งว่า “ผู้ตายคือนายบุญมี เริ่มสุข ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 ก.ค.53 เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับประวัติถูกยิงที่บริเวณช่องท้อง ด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ขณะอยู่บริเวณ ถ.พระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”

อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของบุยมี เริ่มสุขฉบับย่อ

 


[1] “พยานยันเห็นชัด จนท.กราดยิงใส่ เบิกความ-98ศพ.” ข่าวสด, 12 มิ.ย. 55

[4] “ทหารม้าที่ประจำบ่อนไก่ให้การไต่สวนการตายลุงบุญมี,” วอยซ์ทีวี, 29 ส.ค. 55

[5] “เปิดรูป-ซุ่มยอดตึก จวกคอป. ไม่ค้นหาสไนเปอร์,” ข่าวสด, 20 ก.ย. 55

[6] “ศาลนัดชี้อีกศพแดง26พ.ย.ฟังคำสั่งคดีชาญณรงค์,” ข่าวสด, 25 ต.ค. 55

[7] ในการเบิกความส่วนของการพิสูจน์รอยกระสุนปืนนี้คาดว่าเบิกความเหมือนในคดีของพัน คำกอง แต่ในข่าวมีรายละเอียดเพียงเท่านี้ ซึ่งการตรวจพิสูจน์นั้นจะทำโดยการดูรอยเกลียวบนหัวกระสุนที่เป็นหลักฐาน เทียบกับรอยเกลียวกับหัวกระสุนของปืนที่นำมายิงทดสอบว่าตรงกันหรือไม่ ซึ่งรอยเกลียวจะเกิดจากร่องเกลียวในลำกล้องปืนซึ่งจะทำให้เกิดรอยบนหัวกระสุนเมื่อถูกยิงออกไป

[8] “นัดชี้อีกคดี ผลไต่สวน”ศพแดง”,” ข่าวสด, 15 พ.ย. 55

[9] ภาพทหาร 2 นาย บนตึกหน้าสนามมวยลุมพินีกำลังเล็งยิง ซึ่งเป็นภาพในวันที่ 15 พ.ค. 53

[11] ทั้ง 2 สะพานห่างกันราว 100 เมตร

[12] ยอดผู้เสียชีวิตเฉพาะบ่อนไก่

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ :  อช. 2/2555    วันที่ฟ้อง :  21/02/2555

คดีหมายเลขแดงที่ :   อช. 7/2555   วันที่ออกแดง :  17/09/2555

โจทก์ :   พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 สำนักงานอัยการสูงสุด  ผู้ร้อง

ผู้เสียชีวิต :  นายพัน คำกอง

คดี :  ชันสูตรพลิกศพ

นัดสืบพยานวันที่ 11 พฤษภาคม 2555[1]

            พยาน

  1. นางหนูชิต คำกอง ภรรยานายพัน คำกอง
  2. น.ส.ศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนาย
  3. นายอเนก ชาติโกฎิ  พนักงานรักษาความปลอดภัยโครงการคอนโดมิเนียม ไอดีโอ

พยานปากแรกคือ นางหนูชิต คำกอง ได้เบิกความว่า นายพัน คำกองได้ไปที่อู่แท็กซี่ ย่านวัดสระเกศ เพื่อนำรถแท็กซี่มาประกอบอาชีพ แต่เนื่องจากช่วงนั้นรัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีคำสั่งขอคืนพื้นที่แถบราชปรารภ โดยเวลา 20.00 น. สามีโทรศัพท์หาลูกสาวว่ายังเดินทางกลับมาไม่ได้เพราะมีการกระชับพื้นที่ของทหาร และได้มาหลบภัยบริเวณงานก่อสร้างคอนโดแห่งหนึ่งแถวราชปรารภ ซึ่งเป็นการติดต่อครั้งสุดท้าย จากนั้นเวลาเที่ยงคืน นายอเนก ไม่ทราบนามสกุล(คือนายอเนก ชาติโกฎิ) รปภ.ดูแลงานก่อสร้างคอนโดดังกล่าว ได้โทรศัพท์มาแจ้งบุตรชายตนว่าสามีถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต ต่อมาศพของสามีจึงถูกนำไปชันสูตรที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างรอแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพ ได้สังเกตเห็นศพของสามี มีรอยกระสุนใต้ราวนมซ้ายทะลุออกซี่โครง และรอยกระสุนที่แขนด้านขวา ซึ่งการชันสูตรศพนั้นแพทย์ให้พยานเข้าไปร่วมสังเกตด้วย แต่พยานปฏิเสธเพราะไม่กล้าเข้าไปดู หลังจากนั้น 3 วัน พยานได้เข้าไปดูพื้นที่เกิดเหตุก็พบรอยเลือดอยู่ และทราบว่าขณะเกิดเหตุบริเวณดังกล่าวไม่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีแต่กองกำลังทหารเท่านั้น

พยานปากที่สองน.ส. ศิริพร เมืองศรีนุ่น ซึ่งเป็นทนายที่รับมอบอำนาจจากนางหนูชิตให้ร่วมแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสน.พญาไท ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สั่งตั้งศอฉ. และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในขณะนั้นและเบิดความว่าเชื่อได้ว่านายพัน คำกองเสียชีวิตเนื่องจากนาย สมร ไหมทอง ขับรถตู้เข้าไปในพื้นที่ควบคุมแนวของทหารทำให้มีการระดมยิงรถตู้จนเป็นรูพรุนซึ่งนายสมรก็ได้รับบาดเจ็บ และกระสุนอาจไปโดนนายพัน โดยบริเวณใกล้เคียงก็ยังพบศพ ด.ช. คุณากร ศรีสุวรรณ ที่ถูกยิงเสียชีวิตด้วย

พยานปากที่สามนายอเนก ชาติโกฎิ รปภ.ประจำโครงการก่อสร้างคอนโด ไอดีโอ เบิกความว่า เวลา 20.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 53  ระหว่างที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่นายพันได้เข้ามาขอหลบที่โครงการเพราะทหารประกาศห้ามเดินผ่านและมีการติดป้ายใช้กระสุนจริง และได้ประกาศห้ามออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 19.00 น.  เขาได้สอบถามกับนายพันว่ามาจากไหน นายพันได้ตอบว่าจะไปเอาแท็กซี่แต่เนื่องจากยังซ่อมไม่เสร็จ  จากนั้นนายพันได้นั่งเล่นหมากฮอสกับนายอเนก  จนเที่ยงคืนได้ยินเสียงประกาศเตือนจากรถทหาร สั่งให้รถตู้หยุดวิ่ง ไม่หยุดจะทำการยิงจากเบาไปหนักพยานได้วิ่งหลบ ส่วนนายพันวิ่งออกไปดู  และได้ยินเสียงปืนดังทีละนัดดังต่อเนื่องกันราว 20 นัด  แต่รถตู้ยังไม่หยุด และยังมีเสียงปืนดังต่อเนื่องอีกราว 1 นาที นายพันได้วิ่งกลับเขามาบอกกับนายอเนกว่าให้ช่วยโทรบอกที่บ้านว่าเขาถูกยิง พยานเห็นนายพันมีเลือดไหลเอามืออุดแผลใต้ราวนมแล้วล้มไป พยานจึงนำโทรศัพท์มือถือนายพันโทรไปมีเสียงเด็กผู้ชายรับสาย พยานจึงบอกว่าพ่อถูกยิงที่ย่านราชปรารภ และเขาได้แจ้งศูนย์นเรนทรมารับศพนายพัน หลังจากนั้นมีทหาร นักข่าว และหน่วยกู้ภัยมารับศพนายพันออกไปที่โรงพยาบาล โดยตั้งแต่เกิดเหตุจนหน่วยกู้ภัยมารับศพไปใช้เวลานาน 20 นาที และที่เกิดเหตุไม่พบบุคคลอื่นนอกจากทหาร

 

นัดสืบพยานวันที่ 3 กรกฎาคม 2555[2]

            พยาน

  1. พ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล  ผู้บังคับกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.)
  2. ร.อ. เสริมศักดิ์ คำละมูล ผู้บังคับกองร้อยอยู่ในสังกัดของพ.ท. วรการ  (ป.พัน.31 รอ.)
  3. ทหารพยาบาล 2 นาย

พยานที่ให้การคนแรกคือ พ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล เบิกความว่า ช่วงหัวค่ำมีเสียงระเบิดคาดว่าเป็น M 79 ทยอยระเบิดห่างไม่เกิน 500 ม. กระทั่งมีตกลงบนถนนราชปรารภและหลังคาสะพานลอยที่มีทหารประจำการอยู่จึงถอนกำลังออก เมื่อสงบจึงได้กลับไปประจำที่อีกครั้ง จนเมื่อ 24.00 น. ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีรถตู้ออกมาจากซอยวัฒนวงศ์(ราชปรารภ 8) มุ่งหน้าไปที่แอร์พอร์ตลิงค์ไม่มีรายงานว่ามีการระดมยิง หลังเหตุการณ์สงบได้มีการตรวจค้นรถตู้ในรถมีผ้าพันคอและเสื้อสีแดง เขียนข้อความ “แดงทั้งแผ่นดิน” และมีมีดดาบยาวประมาณ 2 ฟุต ไม่มีอาวุธอย่างอื่น จากนั้นได้รับรายงานเพิ่มอีกว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นคนขับรถตู้ และเด็กอีก 1 คน จึงให้ติดต่อประสานรถพยาบาลในพื้นที่ จากนั้นก็มีการแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บอีกรายที่บริเวณคอนโด ไอดีโอ ซึ่งกำลังก่อสร้าง โดยเหตุการณ์ทั้งหมดพยานไม่ได้เห็นด้วยตัวเองแต่เป็นการรับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชานั้น และปฏิเสธว่าไม่มีทหารในหน่วยของตัวเองยิงรถตู้ และไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิงรถตู้  ไม่มีการจับคนร้ายและในคืนนั้นไม่มีการประชุมกองแต่อย่างใด

พ.ท.วรการให้การในส่วนเรื่องอาวุธที่ใช้ในการปฏิบัติการเอาไว้ว่า “หน่วยของตน” มีโล่กระบองครบ ทั้ง 150 คน ปืนลูกซอง 30 กระบอก  และปืน M 16 20 กระบอก  โดยมีการแจกกระสุนแบลงค์สำหรับ M 16  กระสุนยางสำหรับปืนลูกซอง โดยไม่มีการบรรจุกระสุนไว้ในปืน โดยกระสุนทั้ง 2 ชนิดไม่มีอันตรายถึงชีวิต  และเขายืนยันว่าไม่มีการแจกกระสุนจริงให้ใช้ แต่มีการเบิกกระสุนจริงสำหรับปืน M 16 มาเป็นจำนวน 400 นัด ส่วนกระสุนซ้อม(แบลงค์)นั้นจำไม่ได้ กระสุนจริงสำหรับปืนลูกซองจำไม่ได้ กระสุนปืนพกไม่มีกระสุน ในการเบิกทำผ่านศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก(ศปก.) มีบัญชีชัดเจน  การติดป้าย “พื้นที่กระสุนจริง” เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าเป็นของหน่วยไหนเขียนไปติด

พ.ท.วรการได้ให้การเพิ่มว่าในวันที่ 14 พ.ค. ตนได้รับแจ้งจาก ศปก.พล.1รอ.  ว่าแอร์พอร์ตลิงค์ถูกผู้ชุมนุมยึดและอาจจะมีการเผา จึงถูกเรียกให้ไปยึดคืนจึงออกจากทำเนียบรัฐบาลไปที่ราชปรารภ  ซึ่งที่แอร์พอร์ตลิงค์มีเพียง 1 หน่วยที่ประจำการอยู่  จึงมีการเรียกเข้าไปเพิ่มทั้งหมด 3 หน่วย  แต่เมื่อไปถึงปรากกฎว่ามีทหารประจำการอยู่ก่อนแล้วจึงเข้าใจว่ามีหน่วยอื่นมายึดคืนได้ก่อนแล้ว สภาพแวดล้อมบริเวณรอบๆ ขณะนั้นมีกองยางและรถน้ำทหารถูกเผาอยู่ และระหว่างเข้าไปในพื้นที่ยังได้รับแจ้งเตือนระมัดระวังชายชุดดำซุ่มยิงจากที่สูง ซึ่งก็มีการยิงลงมาจากตึกด้วยแต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บและได้รับแจ้งเตือนให้ระวังรถตู้ที่อาจจะเข้ามาก่อเหตุคาร์บอมบ์

ทหารทั้ง 4 กองพันที่ปฏิบัติการในพื้นที่นั้นมีการประสานกันโดยจะเป็นการประสานกันเองระหว่างผู้บังคับกองร้อย  ในส่วนของผู้บังคับกองพันนั้นจะมีหน้าที่รับนโยบายและควบคุมดูแล โดยหน่วยของตนจะวางกำลัง 80 คน อยู่ที่ฝั่งซ้ายของถนนและฝั่งขวาเป็นของ พ.ท. พงศกร อาจสัญจร จาก ร.1พัน3

หลังจากสืบพยานได้มีการเปิดวิดีโอของนักข่าวเนชั่นโดยได้บันทึกขณะช่างภาพอยู่หลังทหารที่หลบอยู่หลังเสาไฟฟ้า ห่างจากรถตู้ 50-100 ม.  และมีเสียงปืนดังขึ้นเพื่อหยุดรถตู้ ราว 20 นัด จนกระทั่งรถหยุด และมีทหารเข้าไปดู มีการนำคนเจ็บลงจากรถเพื่อปฐมพยาบาล และมีภาพการลำเลียงคนเจ็บอื่นๆ จากรถพยาบาลทหารขึ้นรถหน่วยกู้ชีพ และในศาลมีการซักถามกับ พ.ท.วรการว่า ในวิดีโอมีลูกน้องของตนอยู่ด้วยหรือไม่  เขายอมรับว่ามีอยู่ 2 คน  แต่ทหารคนอื่นๆ เขาไม่แน่ใจว่าเป็นทหารจาก ร.1พัน3 หรือไม่

พยานปากที่สอง ร.อ. เสริมศักดิ์ คำละมูล ให้การว่าตนเป็นทหารในสังกัดของพ.ท.วรการ ซึ่งเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ย้ายมาจากทำเนียบเพื่อเข้าปฏิบัติการที่ราชปรารภในเย็นวันที่ 14 พ.ค.  โดยกองร้อยของตนอยู่ทางฝั่งซ้ายของถนนราชปรารภโดยหันหน้าไปทางด้านแยกประตูน้ำ โดยมีทั้งบนสะพานลอยหน้าราชปรารภ 6 และ หน้าร้านอินเดียฟู้ดส์ และอีกส่วนอยู่บนถนนมักกะสันเรียบทางรถไฟ โดยเขาได้รับแจ้งเตือนให้ระวังรถตู้สีขาวที่อาจจะเข้าก่อเหตุ

ในเวลา 17.00-18.00 น. มีคนเข้าไปด่าทอทหาร ร.อ.เสริมศักดิ์ยังบอกด้วยว่ามีชายชุดดำรวมอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย แล้วกลุ่มคนก็เดินจากไป แต่ไม่ถึงนาทีก็มีระเบิดปิงปอง 3 ลูก ตกใกล้กับทหารแต่ไม่มีใครบาดเจ็บ  จากนั้นมีระเบิด M79 ตามมาเป็นระยะประมาณ 10 นาที  ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เขาไม่ทราบว่ามาจากทางไหน แต่ระยะไม่เกิน 750 ม. ต่อมาในเวลา 22.00 น. ก็มีระเบิด M79 อีกครั้ง มีเสียงปืนสั้นประปรายและมี การยิงน๊อตลูกแก้วด้วย ไม่มีทหารได้รับบาดเจ็บอีกเช่นกัน

ต่อมาเวลา 23.00 น. ได้มีการส่งกำลังไปรักษาการณ์ที่ราชปรารภ 8  เวลาประมาณเที่ยงคืนมีรถตู้สีขาวคล้ายกับที่ได้รับแจ้งเตือนออกมาจากทางราชปรารภ 8 จึงได้มีการแจ้งเตือนให้วนกลับไปทางเดิมหรือเลี้ยวไปทางประตูน้ำจากนั้นอีก 10 นาทีก็ได้ให้รถทหารประกาศอีกทีปรากกฏว่ารถตู้เลี้ยวขวามุ่งหน้าแอร์พอร์ตลิงค์ พยานยังได้ยินเสียงประกาศอยู่ตลอดพร้อมกับมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ  เขาและทหารที่อยู่ที่หน้าร้านอินเดียฟู้ดส์ด้วยกัน 5-6 นาย จึงหมอบลงอยู่กับพื้นประมาณ 1 นาที จนเสียงปืนสงบลงจึงได้สั่งกำลังพลให้ไปตรวจการที่ประตูน้ำ แต่ไม่ได้ไปดูที่รถตู้  อัยการถามย้ำว่า มีการใช้ปืนยิงสกัดรถตู้ไหม ร.อ.เสริมศักดิ์ตอบว่า ไม่มี และทนายได้ถามว่าในขณะที่มีเสียงปืนนั้นเป็นเสียงที่ดังขึ้นทั้งสองฝั่งถนนใช่หรือไม่  พยานกล่าวว่าไม่รู้เนื่องจากเสียงก้องมาก คำถามต่อมา เมื่อรถตู้ถูกยิงแล้วมีอาการอย่างไร(น่าจะหมายถึงว่าเมื่อรถตู้ถูกยิงแล้วลักษณะการวิ่งของรถตู้เป็นอย่างไร) พยานตอบว่าไม่ทราบเนื่องจากหมอบอยู่จึงไม่เห็นเหตุการณ์ และทนายยังได้ถามอีกว่าทราบหรือไม่ว่าเป็นเสียงปืนอะไร พยานตอบว่าแยกไม่ออก แม้ว่าศาลจะได้เปิดวิดีโออีกครั้ง ทนายได้ถามเขาว่า หลังเหตุการณ์มีการประสานเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่  พยานตอบว่าไม่มีการประสาน

พยานอีก 2 คน คือ ทหารพยาบาลที่ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บคือนายสมร ไหมทอง และ ด.ช.คุณากร โดยหลังเหตุการณ์สงบได้เข้าไปช่วยเหลือโดยการห้ามเลือดให้ แต่ไม่ได้ดูบาดแผลเนื่องจากขณะปฐมพยาบาลแสงไฟไม่สว่าง แต่ในตอนเช้าก็ได้เห็นรถตู้มีกระสุนปืนรอบคัน จากนั้นทนายได้นำผลการรักษามาอ่าน พบหัวกระสุนปลายแหลมหุ้มทองเหลืองในบาดแผลของนายสมร  และได้ถามว่าใช่ลักษณะของหัวกระสุนปืน M16 หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

ทหารพยาบาลอีกคนเป็นคนที่เข้าไปช่วย ด.ช. คุณากร ขณะช่วยพบบาดแผลที่ช่องท้องและลำไส้ไหล แต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด ไม่ทราบว่าพบเด็กคนนี้ได้อย่าง ทราบในภายหลังว่าคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ

 

นัดสืบพยานวันที่ 4 กรกฎาคม 2555[3]

            พยาน

  1. พ.ท.พงศกร อาจสัญจร (ขณะนี้ยศพันเอก) ผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 (ผบ.ร. 1 พัน 3 รอ.)
  2. พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์  รองผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 พัน 3 รอ.)
  3. ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ผบ.มว.อาวุธหนัก  ร. 1 พัน 3 รอ.
  4. ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี
  5. ส.อ.วรากรณ์ ผาสุก กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  (ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี

พยานปากแรก พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ได้เบิกความว่า ในวันที่ 14 พ.ค. 53 ได้รับแจ้งว่ามีการรื้อกระสอบทรายที่แยกจตุรทิศ ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ให้ไปที่เกิดเหตุโดยมีรองผู้บังคับกองพันเป็นคนคุมกำลังไป 1 กองร้อย เป็นจำนวน 150 นาย  แต่เนื่องจากจำนวนผู้ชุมนุมที่มีมากตนจึงได้รายงานไปที่ผู้บังคับการกรมฯ เพื่อนำกำลังไปที่เกิดเหตุอีก 1 กองร้อย จำนวน 150 นาย  โดยหน่วยที่นำไปนั้นรักษาความปลอดภัยสถานที่และควบคุมฝูงชน โดยมีการใช้กฎเกณฑ์จากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน ในระหว่างนั้นไม่สามารถปฏิบิตหน้าที่ได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมล้อมอยู่ ในการจัดกำลังพลนั้น ใน 1 กองร้อยจะมีโล่ กระบอง ปืนลูกซองกระสุนยาง 30 กระบอก กระบอกละ 10 นัด รวมทั้งหมด 300 นัด และเขาได้อธิบายเพิ่มว่ากระสุนยางไม่เหมือนลูกแบลงค์ โดยลูกแบลงค์จะเป็นกระสุนซ้อมรบ จะมีแต่เสียงเพื่อให้เกิดความสมจริง โดยกระสุนจะเป็นหัวจีบ ไม่มีหัวกระสุน แต่ถ้าอยู่ในระยะ 1 ม. ความแรงของดินปืนจะทำให้ไหม้ได้ ส่วนกระสุนยางจะใช้กับปืนลูกซอง ซึ่งยิงได้ในระยะ 10 ม. เมื่อถูกยิงจะจุกแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต และไม่สามารถยิงทะลุผ่านเหล็กหรือไม้ได้

เวลาประมาณ 13.00 น. เขาได้นำกำลังไปที่ปากซอยรางน้ำ ถนนราชปรารภและเดินเข้าไปที่แยกจตุรทิศ ในขณะนั้นมีรถบรรทุกของทหารจอดอยู่บริเวรดังกล่าวแล้วมีผู้ชุมนุมเข้าไปแย่งยึดและกระชากทหารที่อยู่บนรถลงมา แต่หน่วยของเขาได้เข้าไปช่วยทหารทั้ง 2 นาย  แต่ไม่สามารถนำรถออกมาได้ เนื่องจากถูกผู้ชมุนุมล้อมเอาไว้ โดยในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมอยู่ราวประมาณ 700 คน ทั้งบนสะพานจตุรทิศ และด้านล่างก็ยังมีผู้ชุมนุมและผู้สัญจรไปมาเนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการปิดเส้นทาง  จากนั้นเขาจึงให้ผู้บังคับบัญชาปิดการจราจรให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ออกจากพื้นที่ไปเพื่อความปลอดภัย แต่เจ้าตัวก็ไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่ปิดหรือไม่ แต่อีก 20 นาทีต่อมา จึงไม่มีรถเข้าแล้วใช้เวลาประมาณ 1 ชม.

เขาได้ประเมินว่ามีคนอยู่จำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ของตนมีน้อยจึงได้ขอกำลังเสริมอีกกับผู้บังคับบัญชา จากนั้นจึงได้มีทหารจากกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ (ป.พัน.31.รอ.) เข้ามาราวสองกองร้อย โดยอยู่คนละฝั่งกับหน่วยของตนซึ่งอยู่ทางด้านขวา โดย ป.พัน.31.รอ. อยู่ทางซ้าย จนถึงเวลา 16.00 น. สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง  ประจำอยู่ใต้สะพานลอยหน้าโรงพยาบาลพญาไท 1 โดยอีก 1 กองร้อย ของพ.ท. ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์นำมาจะอยู่ที่แอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งตนประจำอยู่บริเวณดังกล่าวจนเสร็จในวันที่ 22 พ.ค. 53

ในช่วงค่ำ มีข่าวการแจ้งเตือนว่าให้ระวังการยิงมาในพื้นที่ และได้ยิน M203  ไม่ทราบจุดตก แต่ได้ยินมาจากด้านประตูน้ำ ในช่วงประมาณ 19.00 -21.00 น. ประมาณ 6-8 นัด และทราบว่าตกตรงสะพานลอยถนนราชปรารภ หน้าโรงแรมอินทราจากการรายงานทางวิทยุของ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ หลังจากนั้นราวเที่ยงคืนครึ่ง มีเสียงปืนดังติดต่อกันประปราย ทราบว่ามีรถวิ่งผ่านมา ตนอยู่ในมุมที่ไม่ได้ยินมากเพราะเสียงก้อง จากนั้นเสียงปืนสงบลง อัยการได้ถามว่าสามารถแยกเสียงปืนได้ไหมว่าเป็นปืนชนิดใด ในเมื่อทราบว่าเป็นเสียงระเบิดชนิดใด พยานได้ตอบว่าไม่แน่ใจเนื่องจากเสียงก้อง  ในช่วงที่เกิดเหตุ พ.ท.พงศกร ได้มอบหน่วยของ พ.ท.ไชยยงค์ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตรซึ่งมียศสูงกว่าตนควบคุมหน่วยแทน ทนายได้ซักถามว่าทราบหรือไม่ว่ามีหน่วยใดบ้างนอกจากหน่วยของพยาน พ.ท.พงศกรตอบว่าไม่ทราบ ทราบเพียงว่ามี ป.พัน. 31 รอ. สุดท้ายทนายซักว่าสั่งการกันอย่างไรในสถานการณ์ พยานตอบว่าใช้วิทยุสั่งการ

พยานปากที่สอง พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ รองผู้บังคับการ ร.1พัน.3รอ.  เบิกความถึงอาวุธที่นำมาใช้ ว่าหน่วยของตนมีปืนลูกซอง 30 กระบอก มี M16 20 กระบอก โดยมีการกำหนดตัวกำลังพลที่จะใช้ แต่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาก่อนคือ พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร  พยานเบิกความความต่อว่า ปืนลูกซองจะอยู่ติดตัวกำลังพล แต่ M16 จะเก็บแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการแย่งชิง และการจะนำมาใช้ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาทราบและตัดสินใจก่อน  กระสุนที่ใช้กับ M16 จะเป็นกระสุนซ้อมรบ คือลูกแบลงค์ ซึ่งจะแยกกันระหว่างปืนกับกระสุน โดยนำมา 400 นัด การบรรจุเหมือนการบรรจุกระสุนจริง ซองกระสนุจะบรรจุได้ 20 นัดต่อกระบอกลักษณะการใช้จะเป็นการยิงเตือน แต่สามารถยิงต่อเนื่องอัตโนมัติได้[4] และเขาได้เบิกความเกี่ยวกับการใช้กระสนุยางว่า การใช้กระสุนจริงและกระสุนยางแตกต่างกัน เช่น ลักษณะการบรรจุกระสุน  ทิศทางการเล็ง  เทคนิกก็จะต่างกัน    จะยิงเพื่อให้หนีหรือหยุดกระทำ อัยการได้ถามว่าปืนกระสุนจริงกับกระสุนยางใช้ร่วมกันได้หรือไม่ พยานตอบว่าบางกระบอกใช้ได้ บางกระบอกใช้ไม่ได้ ใช้เฉพาะกระสุนยาง

พ.ท.ทรงสิทธิ์เบิกความถึงสถานการณ์ในคืนนั้นเอาไว้ว่า ไม่มีเหตุการณ์ปล้นปืนหรือกระสุนไป  ในคืนนั้นตนและพ.อ.นัฐวัฒน์ อัครนิบุตร อยู่บนชั้น 2 ของแอร์พอร์ตลิงค์  ส่วนกำลังพลอยู่บนชั้น 3  โดยในช่วงกลางคืนมีเสียงปืนดังมาจากทุกทิศทาง  มีกระสุน M79 มาตกที่แอร์พอร์ตลิงค์ หลายลูก นอกจากนี้เห็นระเบิดไม่ทราบชนิด แต่เห็นตอนเช้า โดยดูจากร่องรอยวิเคราะห์เอาว่าเป็น RPG ที่บริเวณตึกแถวฝั่งตรงข้ามโรงแรมอินทรา

พ.ท.ทรงสิทธิ์เบิกความต่อว่า เขาได้รับรายงานทางวิทยุจากส่วนกลางหรือส่วนควบคุมว่ามีรถตู้วิ่งมาจากทางด้านประตูน้ำ ในเวลาเที่ยงคืนหลังจากรถตู้วิ่งเข้ามาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลังเหตุการณ์ได้ลงไปดูกับผู้บังคับบัญชา มีรถมูลนิธิมารับผู้บาดเจ็บ แต่ตนไม่เห็นผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิต แต่ทราบภายหลังว่ามีนายพัน คำกอง ได้รับบาดเจ็บและ คนขับรถตู้(นายสมร ไหมทอง) และเด็ก(ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ)

จากนั้นอัยการได้เปิดวิดีโอของนักข่าวเนชั่น ซึ่งถ่ายเหตุการณ์ไว้ได้และได้ถามว่าเสียงปืน 20 นัดดังกล่าว เป็นเสียงจากปืนชนิดใด พยานตอบว่ามีทั้งปืน M16 และลูกซอง แต่เสียงของ 2 นัดสุดท้าย เป็นเป็นปืนยาวแต่เสียงอยู่ไกลมากไม่ใช่พื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นเสียงลูกซ้อมหรือลูกจริง และลูกซ้อมจะมีประกายไฟได้ และอัยการได้ถามอีกว่าพบชายชุดดำในช่วงที่มีการปฏิบัติการหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มีการรายงานถึงเรื่องชายชุดดำ

พยานปากที่สาม ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ผบ.มว. อาวุธหนัก จาก ร.1พัน 3 รอ. คุมกำลังอยู่ใต้แอร์พอร์ตลิงค์บริเวณแยกจตุรทิศ เบิกความว่า กระสุนยางบรรจุเหมือนกับกระสุนจริง และปืนสามารถใช้ได้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ท่าการยิงเหมือนกันไม่มีท่าเฉพาะ ส่วนเสียงปืนนั้น พยานกล่าวว่าเสียงลูกแบลงค์กับลูกกระสุนจริงจะแตกต่างกัน โดยกระสุนจริงเสียงจะดังแน่นกว่า

ร.อ.เกริกเกียรติ เบิกความต่อว่าในวันที่ 14 พ.ค. นั้น ได้นำกำลังไปวางที่หน้าโรงหนังโอเอ อยู่ในซอยหลังกำแพง และช่วงเหตุการณ์รถตู้เข้ามานั้นตนกำลังพักจึงไม่ทราบเหตุการณ์ภายนอก  ทราบในช่วงเช้าจากที่มีรายงานทางวิทยุ และทราบแต่เพียงว่ามีคนเจ็บ ไม่ทราบว่ามีคนเสียชีวิต แต่ทราบในภายหลังจากหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว และอัยการได้เปิดวิดีโออีกครั้งเพื่อถามว่าเสียงปืนที่ดังเป็นปืนชนิดใด พยานตอบว่าไม่สามารถแยกได้

ทนายได้ซักถามถึงเรื่องอาวุธปืนของหน่วยที่นำมาใช้ว่ามีอะไรบ้าง ร.อ.เกริกเกียรติระบุว่ามี M16A1 และทาโวร์ ส่วนปืนลูกซองที่นำมาใช้ไม่ใช่ของหน่วยพึ่งได้รับมาในช่วงเหตุการณ์ ส่วนกระสุนหน่วยของตนใช้เป็นกระสุนหัวตะกั่วหุ้มทองแดง

และเขาไม่ทราบว่ามีหน่วยใดอยู่ที่บริเวณแอร์พอร์ตลิงค์บ้าง  ตนไม่ได้ประสานกับหน่วยข้างเคียงเพราะเป็นเรื่องของผู้บัญชาการ

พยานปากที่สี่ ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่าหน่วยของตนอยู่ฝั่งซ้ายของแอร์พอร์ตลิงค์ หากหันหน้าไปทางประตูน้ำหรือฝั่งคอนโด ไอดีโอ  พยานเบิกความเรื่องอาวุธไว้ว่าอาวุธประจำกายของตนคือ M16 และกระสุนซ้อมรบ(กระสุน แบลงค์) 20 นัด  ซึ่งติดมาจากลพบุรี และมีหลักเกณฑ์การใช้อาวุธก็ต่อเมื่อตนเองหรือคนอื่นจะได้รับอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และห้ามใช้อาวุธกับเด็ก สตรี และผู้ไม่มีอาวุธ

ส.อ.ชิตณรงค์เบิกความต่อว่า เวลาประมาณเที่ยงคืนได้ยินเสียงรถประชาสัมพันธ์บอกให้รถตู้กลับออกไป ให้ใช้เส้นทางอื่น เป็นเวลา 10 นาที ต่อมาได้ยินเสียงคล้ายเสียงปืนไม่ทราบทิศทาง เพราะเสียงก้อง ไม่ทราบจำนวนนัด รถตู้ได้มาหยุดที่ใต้แอร์พอร์ตลิงค์ ใกล้กับรถประชาสัมพันธ์ ในขณะนั้นไม่พบชายชุดดำ หรือคนอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร แต่เขาไม่ได้เข้าไปที่เกิดเหตุเนื่องจากไม่ได้รับคำสั่ง และเห็นรถพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ทราบภายหลังว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 1 คน และไม่ทราบว่าคนเสียชีวิตอยู่บนรถตู้หรือไม่ ส่วนกำลังพลของเขาไม่ได้รับบาดเจ็บและอาวุธไม่ได้ถูกแย่งชิงไป ทนายได้ซักถามเรื่องชายชุดดำว่าตามความเข้าใจของพยานชายชุดดำมีลักษณะอย่างไร  คือชายชุดดำถืออาวุธ หากใส่ชุดดำแต่ไม่ถืออาวุธไม่ใช่ชายชุดดำ

พยานปากที่ห้า ส.อ. วรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าหน่วยของตนอยู่ที่ฟุตปาธหน้าคอนโด ไอดีโอ แอร์พอร์ตลิงค์ ใกล้ตู้โทรศัพท์ ตรงร้านอินเดียฟู้ดส์ ซึ่งอยู่ที่เดียวกับ ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล เขาได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่า รถตู้ที่เกิดเหตุมาเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่า ออกมาจากซอยวัฒนวงศ์ หรือราชปรารภ 8 มีเสียงประกาศให้รถถอยกลับออกไปราว 10 นาที แต่ไม่มีใครลงจากรถหรือถอยกลับไป โดยขณะนั้นหน่วยของเขาอยู่ใกล้สุดคือห่างประมาร 80 ม. โดยปากซอยมีรั้วลวดหนามวางเอาไว้ด้วย อัยการได้ถามว่าได้มีการเข้าไปเตือนโดยตรงหรือไม่ พยานปฏิเสธว่าไม่ได้มีการเข้าไปเตือนโดยตรงเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นรถอะไร  จากนั้นรถได้ออกจากซอยวัฒนวงศ์เลี้ยวไปทางแอร์พอร์ตลิงค์ รถประชาสัมพันธ์ยังคงประกาศเตือนต่อ แต่รถตู้ยังวิ่งเข้าหา หลังจากนั้นได้ยินเสียงคล้ายเสียงปืนดังขึ้นแต่ไม่ทราบทิศทาง ขณะเกิดเหตุเขาหมอบหลบนอนราบกับพื้นอยู่ไม่ได้มองว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีใครได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ส่วนกำลังพลไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

อัยการได้ซักถามเรื่องชายชุดดำกับ ส.อ.วรากรณ์  เขาได้ยืนยันว่าตลอดเวลาที่อยู่ไม่ชายชุดดำ ไม่พบหน่วยอื่นนอกจากทหาร ส่วนฝั่งตรงข้ามบริเวณโรงแรมอินทรา ไม่ทราบว่ากลุ่มคนที่มายืนอยู่เป็นใคร อัยการสอบถามว่าหากไม่ทราบว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นใครแล้วได้มีการรายงานกับผู้บังคับบัญชาหรือไม่ เขาตอบว่าไม่มีการแจ้ง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้บังคับกองร้อย

 

นัดสืบเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555[5]

            พยาน

  1. ทหารจากปราจีนบุรี  2 นาย
  2. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด

การสืบพยานครั้งนี้พยานที่มาให้การทั้งหมดไม่ได้ให้การที่เกี่ยวข้องกับคดีพัน คำกอง เนื่องจากทหารจากปราจีนบุรี 2 คนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และให้การแต่ในส่วนของวันที่ 10 เมษายน  และ 1 ใน 2 คนนั้นเบิกความว่าถูกยิงที่เข่าจากเหตุการณ์ในช่วงบ่ายที่ถนนตะนาว โดยเขาได้เห็นชายคนหนึ่งชักปืนออกมายินตนเองด้วย

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เบิกความว่าตนไม่ทราบรายละเอียดเหตุการณ์ยิงรถตู้วันที่ 15 พ.ค. เพราะรับผิดชอบแต่ส่วนนโยบาย  แต่มีการเบิกความไล่เหตุการณ์ตั้งแต่ เริ่มการชุมนุม 12 มี.ค. และสาเหตุที่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าผู้ชุมนุมได้มีการบุกรัฐสภาและมีการยื้อแย่งอาวุธ แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ยึดตามหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ซึ่งท้ายสุดจะมีการยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้าหรือหากไม่ได้ผลก็จะมีการยิงไปในทิศทางที่ปลอดภัย ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่และจะยิงต่อเป้าหมายก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นจะทำร้าย ประทุษร้ายต่อประชาชนหรือเจ้าหน้าที่เท่านั้นและมุ่งให้หยุดการกระทำไม่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต

และให้การอีกว่า ในวันที่ 10 มีการขอคืนพื้นที่ จากผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า ในวันดังกล่าวมีการปะทะกันแต่ไม่มีใครเสียชีวิต กระทั่งก่อนเวลา 17.00 น. เนิ่มมีการปะทะกันมากขึ้น ขณะที่แสงสว่างกำลังจะหมด ศอฉ. จึงมีการสั่งให้หยุดปฏิบัติการและถอนกำลังออก แต่ที่สี่แยกคอกวัวไม่สามารถถอนกำลังออกได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมเอาไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขณะที่ชายชุดดำแฝงตัวมาในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธยิงเข้ามาจนทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว รวมถึงพ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมด้วย

พ.อ.สรรเสริญยังยืนยันถึงเรื่องมีคำสั่งถอนกำลังว่าเป็นจริงเมื่อถูกทนายซักถามถึง โดยเขาได้ตอบว่า มีมติให้สั่งถอนกำลัง โดยในที่ประชุมมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่วนตนเองเดินเข้าๆออกๆ สำหรับการสั่งการ ศอฉ. ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะใช้การสั่งการทางวิทยุ โดยแต่ละหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่วิทยุเข้าไปในที่ประชุมอยู่แล้วและสามารถสั่งการได้เลย นอกจากนี้ยังระบุว่าคำสั่งกระชับวงล้อมนั้นอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ตามเอกสารที่นำส่งศาล ส่วนจะใช้กำลังเท่าไหร่ อาวุธอะไรบ้างนั้นตนไม่ทราบรายละเอียด

ในวันนั้นในช่วงบ่ายที่บริเวณสะพานปิ่นเกล้าและถนนดินสอ มีผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าแย่งอาวุธของทหาร มีการนำไปแสดงบนเวทีแต่ไม่ได้ส่งคืน ทหารสามารถยึดคืนได้จำนวนมากแต่มีบางส่วนที่สูญหาย โดยแจ้งความไว้ที่สน.บางยี่ขัน ปืนที่หายได้แก่ ทาโวร์ 12 กระบอก ปืนลูกซอง 35 กระบอก

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวถึงการปรับกำลังในช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 10 เอาไว้ว่า ได้มีการปรับกำลังพลหลังจากที่พยายามผลักดันผู้ชุมนุมมานานแต่ไม่สำเร็จว่า ได้มีการปิดเส้นทางต่างๆ มากขึ้น และปรับกำลังในการรับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ โดยมี พล. 1 รอ. จำนวน 22 กองร้อย รักษาความสงบ และ 19 กองร้อย ปราบจลาจล เข้าปิดถนนเส้นทาง ราชปรารภ เพชรบุรี พญาไท ราชวิถี ศรีอยุธยาแต่ก็ยังไม่สำเร็จนักเนื่องจากมีตรอกซอกซอยเป็นจำนวนมากจนกระทั่ง วันที่ 19 พ.ค. 53 ศอฉ. มีคำสั่งกระชับวงล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาทหารถูกชายชุดดำโจมตีด้วย M79 แต่ทหารไม่ได้ไปจนถึงเวที

 

นัดสืบพยานวันที่ 11 กรกฎาคม 2555[6]

            พยาน

  1. พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต  ผกก.สภ.บ้านไร่ อ.ศรีสำโรง จว.สุโขทัย ผู้ควบคุมกองร้อยควบคุมฝูงชนตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัย
  2. พ.ต.ท.วีรเมศว์ วีรสุธีกุล สวป.สภ.ขาณุวรลักษบุรี จว.กำแพงเพชร ผู้ควบคุมกองร้อยควบคุมฝูงชนตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร
  3. ด.ต.ธีรพงษ์ เย็นใจราษฎร์  มาจากหน่วยเดียวกันกับพ.ต.ท .วีรเมศว์ ผู้ขับรถหกล้อในการขนส่งกองร้อยและในวันเกิดเหตุผู้ขับรถขนสัมภาระ

พยานคนแรก พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต เบิกความว่าในวันที่ 14 พ.ค. 53 ตนได้นำหน่วยเข้าไปกั้นถนนบนแยกจตุรทิศซึ่งมีกำลังพล 150 นาย ตามคำสั่งของทหาร  เนื่องจากเกรงว่าจะมีการปิดถนนจึงให้พยานได้เข้าไปเจรจาก่อนแต่เนื่องจากไม่สามารถคุมได้ทหารจึงจะนำรถน้ำมาใช้ฉีดประชาชน แต่กลับถูกปล่อยลมยางเสียก่อน ทหารจึงสั่งให้ถอยเพราะจะทำการ “ขอคืนพื้นที่” และจะมีการใช้แก๊ซน้ำตา  ตำรวจจึงไปหลบตามซอยต่างๆ จนกระทั่งถึง 16.00 น.  ตนจึงได้รับคำสั่งให้ตามกำลังกลับมา ซึ่งในเวลานั้นไม่มีประชาชนอยู่แล้วเหลือแต่ทหารที่ยึดพื้นที่ไว้ได้หมดแล้วโดยมีการกั้นลวดหนามทั้งสี่ทิศของแยกจตุรทิศ รถสัญจรไปมาไม่ได้แล้ว โดยเขาได้เบิกความต่ออีกว่า ได้มีการจัดกำลังตำรวจ 40 นาย อยู่เป็นแนวหลังของทหารใต้สะพานฝั่งไปซอยหมอเหล็ง ซึ่งเป็นถนนขนานกับสะพาน ส่วนกำลังพลที่เหลือได้พักที่บริษัทโตโยต้า

อัยการได้ถามพ.ต.อ.สุขเกษม ว่ากำลังพล 40 นายนั้นมีการติดอาวุธหรือไม่ เขาได้ตอบว่ามีเพียงตัวเปล่า ไม่มีอาวุธประจำกายแม้แต่โล่และกระบอง ซึ่งทหารได้สั่งให้หน่วยของตนระวังหลังให้ อัยการถามต่อว่าทหารในเวลานั้นมีอาวุธปืนหรือไม่ เขาตอบต่อว่ามีปืนลูกซองและปืนเล็กยาว ไม่แน่ใจว่าเป็น  M16 หรือ HK (HK 33)  ซึ่งพลทหารจะใช้ปืนลูกซอง ส่วนนายสิบขึ้นไปจะใช้ปืนเล็กยาว โดยมีทหารประจำอยู่กับหน่วยของพยานด้วย 1 ชุด และจะมีอยู่ตรงถนนราชปรารภทางไปประตูน้ำ แอร์พอร์ทลิงค์และทางไปโรงพยาบาลพญาไท 1

พ.ต.อ.สุขเกษมเบิกความต่อว่า หลัง 2 ทุ่ม จะมีประชาชนเข้าออกพื้นที่จึงได้มีการสอบถามและมีการตรวจค้น  ซึ่งช่วงหัวค่ำจะมีเสียงปืนดังตลอดจากทางประตูน้ำ แต่ไม่ได้ออกไปดู  และเบิกความถึงช่วงเกิดเหตุว่า หลังเที่ยงคืนได้ยินเสียงรถประกาศของทหารบอกรถตู้อย่าเข้ามาสักพักไม่กี่นาที  ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดหลังจากเสียงสงบลงตนก็ได้มองดูเห็นรถตู้จอดอยู่ใกล้รถประกาศของทหาร ตอนประชุม 10 โมงเช้า ตนได้เห็นรอยกระสุนปืนบนรถตู้หลายสิบรอย  อัยการถามว่าทราบเหตุการณ์ยิงรถตู้หรือไม่ เขาตอบว่า ตนเข้าใจว่าเป็นการยิงเพื่อหยุดรถไม่เข้ามา และอธิบายเพิ่มว่า เพราะรถกำลังจะเข้ามาที่กองบัญชาการ ทหารจึงยิงเพื่อหยุด และพ.ต.อ.สุขเกษมได้ปฏิเสธว่าไม่พบเห็นชายชุดดำและไม่มีการพูดในที่ประชุมเมื่ออัยการถามเขาว่าได้พบเห็นชายชุดดำบ้างหรือไม่  เขาได้ให้เล่าถึงการใช้รถประกาศของทหารว่า เสียงจากรถทหารนั้นจะได้ยินเสียงประกาศเตือนตั้งแต่ช่วงหัวค่ำซึ่งจะถี่ เช่นมีคนข้าม หรือรถแท็กซี่เข้ามาก็จะมีการประกาศเตือน แต่พอดึกแล้วจะไม่ถี่

พยานคนที่สองพ.ต.ท .วีรเมศว์ วีรสุธีกุล  และสามคือ ด.ต.ธีรพงษ์ เย็นใจราษฎร์ เบิกความว่าเห็นทหารในพื้นที่ถือปืนยาว M16 และลูกซอง ไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารถือโล่และกระบองหรือไม่ ส่วนตัวเขาเองมีปืนพก แต่ไม่ได้นำมาออกมาใช้

 

นัดสืบพยาน 18 กรกฎาคม 2555[7]

            พยาน

  1. พ.ต.ท. ธีรนันต์ นคินทร์พงษ์  กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  2. พยานจากกองพิสูจน์หลักฐานอีก 3 นาย

พยานที่มาในการสืบพยานครั้งนี้เป็นเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐาน เบิกความเกี่ยวกับการพิสูจน์หัวกระสุนที่พบในตัวนายพัน คำกอง โดยมีการเบิกความว่าหัวกระสุนที่พบในร่างนายพันนั้นเป็นกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มม.)  ซึ่งใช้กับปืนเล็กกลและไรเฟิลได้ เช่น M16, HK และทาโวร์ และเป็นกระสุนชนิดเดียวกับที่ใช้ในปืนของทหารที่นำส่งตรวจ แต่ลักษณะรอยตำหนิพิเศษของหัวกระสุนที่ยิงจากปืนที่ได้มีการส่งตรวจนั้น  ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นปืนกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงนายพันหรือไม่  โดยรอยตำหนินั้นในการยิงจากปืนแต่ละกระบอกนั้นจะไม่เหมือนกันตามลำกล้องของปืนแต่ละกระบอก แต่ลำกล้องปืนนั้นสามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้และหากมีการเปลี่ยนลำกล้องปืนก็จะไม่สามารถยืนยันได้

พ.ต.ท. ธีรนันต์ นคินทร์พงษ์  ได้เบิกความว่า  การพิสูจน์เปรียบเทียบหัวกระสุนที่อยู่ในร่างผู้เสียชีวิตกับอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้ในการปฏบัติการในพื้นที่ดังกล่าว โดยหน่วยงานตรวจสอบได้รับมอบปืนกลเล็ก 5 กระบอก ของ ป.พัน.31 รอ.  ในวันที่ 1 มิ.ย. 54  จากพนักงานสอบสวนพญาไทอีกที โดยเขาได้บอกว่า “ปรากฎว่ากระสุนของกลาง ไม่ได้ใช้ยิงมาจากปืนทั้ง 5 กระบอกนี้”

อัยการได้มีการสอบถามถึงเหตุที่ไม่เหมือนกัน เขาได้ตอบว่า พิจารณาจากตำหนิรอยร่องเกลียว ซึ่งเกิดจากการที่กระสุนวิ่งผ่านลำกล้องปืน โดยแต่ละกระบอกนั้นตำหนิจะไม่ซ้ำกัน[8]  และลำกล้องปืนนั้นสามารถถอดเปลี่ยนได้ และได้ตอบอีกว่า กระสุนที่พบในร่างนายพันเป็นกระสุนปืนเล็กกล .223 ซึ่งสามารถใช้กับปืนเล็กกลและปืนไรเฟิลได้ เช่น  M16, HK และทาโวร์ เป็นต้น และกระสุนปืนที่พบนั้นสามารถใช้ยิงจากปืนของทหารที่นำมาส่งตรวจได้

ทนายได้มีการซักถามว่าปืนที่ใช้ก่อเหตุนั้นได้มีการเปลี่ยนลำกล้องก่อนส่งตรวจจะสามารถยืนยันว่ากระสุนนั้นมาจากปืนที่ส่งตรวจได้หรือไม่ เขาได้ตอบว่าไม่ได้เนื่องจากจะทำให้รอยตำหนิเปลี่ยนไป และศาลได้ถามว่าขณะยิงจะมีไฟออกที่ปากกระบอกปืนหรือไม่ เขาตอบว่ามีแต่ไม่มากเนื่องจากมีปล่องควบคุม

นัดสืบพยาน 24 กรกฎาคม 2555[9]

            พยาน

  1. พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม  ผู้เชี่ยวชายด้านอาวุธปืน ทำหน้าที่ตรวจสอบอาวุธปืน
  2. พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  3. พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุนปืน สตช. ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน
  4. พยานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานอีก 3 นาย (รอเช็ค)

พยานที่มาในวันนี้ได้มีการเบิกความว่าหัวกระสุนที่อยู่ในร่างนายพัน คำกองเป็นกระสุนปืนเล็กกล ทองแดงหุ้มเหล็กและตะกั่ว ขนาด .223(5.56 มม.) แบบ M 855 ซึ่งสามารถใช้กับปืนเล็กกล เช่น  M16 และทาโวร์ เป็นกระสุนชนิดเดียวกันกับที่อยู่ในร่างนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู่ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์เดียวกัน รวมทั้งยังเป็นกระสุนชนิดเดียวกันที่ใช้กับปืนของเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.1 พัน 3 รอ และ ป.พัน 31 รอ. ที่พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ส่งมาให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจ

โดยลักษณะรอยตำหนิพิเศษของหัวกระสุนที่ถูกยิงจากลำกล้องของปืนที่ส่งตรวจนั้น ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นปืนกระบอกเดียวกันกับที่ใช้ยิงผู้ตาย เนื่องจากตำหนิจะเกิดจากลำกล้องปืนแต่ละกระบอกที่ไม่เหมือนกันแต่หากมีการเปลี่ยนลำกล้องเจ้าที่พิสูขน์หลักฐานยืนยันว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้

พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ได้เบิกความว่าลำกล้องของเจ้าหน้าที่ว่าตัวลำกล้องไม่มีหมายเลขประทับ ไม่มีการตอกหมายเลข และการเปลี่ยนลำกล้องนั้นสามารถทำได้หากเจ้าหน้าที่ในภาคสนามมีความสามารถที่จะเปลี่ยนโดยการเปลี่ยนลำกล้องปืนนั้นใช้เวลาเพียง 15 นาที

ทนายได้ซัก พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก ถึงการยิงสกัดรถตู้ที่ไม่ได้หมายชีวิตกับการยิงเพื่อหมายชีวิตแตกต่างกันหรือไม่ เขาได้ตอบว่าแตกต่างกัน โดยการยิงที่ไม่ได้ต้องการเอาชีวิตจะยิงในส่วนที่ไม่สำคัญหรือยิงที่บริเวณล้อรถ  จากนั้นทนายได้นำรูปรถตู้ของนายสมรให้เขาดู พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ได้ตอบว่ารอยกระสุนบนรนั้นเชื่อได้ว่าเป็นการยิงซึ่งอาจจะมีผลต่อชีวิตได้

พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัยได้เบิกความว่าตามรูปถ่ายรถตู้จุดที่กระสุนเข้ามากที่สุดเป็นประตูด้านขวาฝั่งคนขับ  ทนายได้ถามว่าหากยิงเพื่อสกัดหยุดรถควรจะทำอย่างไร เขาได้ตอบว่าควรจะยิงที่ยางหรือห้องเครื่อง และศาลได้ถามอีกว่าการยิงมาที่ตำแหน่งคนขับตามภาพแสดงว่าอะไร เขาได้ตอบอีกว่า  “คิดว่ามีลักษณะที่คาดว่ายิงให้คนขับถึงแก่ชีวิต”

อัยการได้เปิดวิดีโอของนายคมสันติ ทองมาก อดีตช่างภาพเนชั่นแชนเนล ที่ถ่ายไว้เมื่อคืนวันที่ 14 พ.ค. 53 ให้พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ดู  และเขาได้เบิกความว่ามีความเป็นไปได้สูงว่ารถตู้คันดังกล่าวถูกยิงด้วยอาวุธสงคราม และศาลได้ถามว่าอะไรคืออาวุธสงคราม เขาอธิบายว่าคือปืนเล็กกล หรือเรียกว่า M16 และบอกในวิดีโอดังกล่าวมีทหารถือ M16 และปืนลูกซองด้วย

 

นัดสืบพยาน วันที่ 25 กรกฎาคม 2555[10]

            พยาน     

  1. พ.ต.ท.สมิต นันท์นฤมิตร  พนักงานสอบสวน สน.พญาไท
  2. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมต.ไอซีที ในช่วงเหตุการณ์เป็นเลขาธิการศูนย์ติดตามช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยของประชาชน(ศชปป.)

พ.ต.ท. สมิต นันท์นฤมิตร ได้เบิกความว่า วันเกิดเหตุหลังจากที่ผู้ตายนำรถแท็กซี่ไปส่งที่อู่ แล้วเดินกลับที่พัก แต่ไม่สามารถกลับได้จึงไปพักกับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คอนโดไอดีโอ  ขณะเกิดเหตุมีเสียงทหารประกาศเตือนห้ามรถตู้ของนายสมร ไหมทองที่ขับเข้ามาบริเวณนั้น  จากนั้นมีการยิงสกัดรถตู้ ทำให้นายพันที่อยู่บริเวณนั้นถูกยิงด้วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ผลการตรวจหัวกระสุนในร่างนายพัน คำกองและนายสมร ไหมทอง เป็นกระสุนปืนความเร็วสูง และทหารมีกระสุนชนิดนี้ใช้ พร้อมทั้งในพื้นที่เกิดเหตุอยู่ในการควบคุมของทหาร และจากการตรวจที่เกิดเหตุพบว่าแนวบังเกอร์ทหาร รถตู้นายสมรที่ถูกยิง และบริเวณสำนักงานขายคอนโดไอดีโอ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ตายอยู่เป็นจุดที่แนววิถีตรงกัน พนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้เบิกความต่อศาลถึงการสรุปสำนวนคดีนี้ว่า นายพัน คำกองเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ยิงรถตู้นายสมร ไหมทอง แล้วพลาดไปโดน

พยานคนถัดมา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เบิกความว่า ในการสลายการชุมนุมมีการใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าจำนวนมาก ซึ่งกระสุนจะตกกลับลงมาซึ่งกระสุนที่ตกลงมานั้นสามารถทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ และในระดับสากลนั้นการสลายการชุมนุมนั้นจะต้องมีการประกาศล่วงหน้าแต่ไม่มีการประกาศล่วงหน้า  ในวันที่ 10 เม.ย. 53 นั้น มีการใช้แก๊สน้ำตามาจากอากาศยาน(เฮลิคอปเตอร์) ลงมาในที่ชุมนุมที่มีคนจำนวนมากและไม่มีการประกาศเตือน ทั้งที่น้ำหนักของกระป๋องแก๊สน้ำตา ที่ตกลงมาก็มีความอันตราย

อัยการได้ถามถึงลำดับการบังคับบัญชาในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร น.อ.อนุดิษฐ์ได้อธิบายว่าจะต้องสั่งลงมาตามลำดับขั้นแม้สุดท้ายผู้บังคับกองพันจะเป็นคนสั่งให้พลทหารภายใต้สังกัดตัวเองบรรจุกระสุน แต่ผู้พันเองก็ไม่มีอำนาจไปสั่งให้ใครยิงได้จนกว่าผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าจะสั่งการลงมาเพราะฉะนั้นในการปฏิบัติการทางทหารผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวคือผู้บังคับบัญชาที่สูงที่สุดในการกำกับดูแล อัยการได้ถามว่าผู้บังคับบัญชาสูงสุดในขณะนั้นคือใครเขาได้ตอบว่าถ้าดูคำสั่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถือเป็นผู้กำกับการปฏิบัติการ ซึ่งได้ถูกแต่งตั้งโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อัยการถามต่ออีกว่ากรณีแบบนี้นายกรัฐมนตรีจะพ้นความรับผิดชอบที่ได้จัดตั้ง ศอฉ.  แต่งตั้งผู้อำนวยการ ศอฉ. ได้หรือไม่ น.อ.อนุดิษฐ์ เบิกความว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ให้ภาระความรับผิดชอบในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แล้วการดำเนินการดังกล่าวแล้วไม่สามารถทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ตั้งแต่ 10 เม.ย. ถึง 19 พ.ค.53 ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทนายได้สอบถามในประเด็นนี้ต่อว่าถึงรัฐบาลขณะนั้นได้มีการพยายามหยุดยั้งการตายและเจ็บหรือไม่ เขาได้ตอบว่า ยังคงมีอย่างต่อเนื่องภายหลังจาก 110 เม.ย. 53 เพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารและอาวุธ

น.อ.อนุดิษฐ์ ยังได้เบิกความถึงการสลายการชุมนุมในปี 2552 ที่นำมาสู่การบาดเจ็บ  ในภายหลังเหตุการณ์ทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของแต่ละคณะกรรมาธิการ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการใช้กำลังในช่วงตี 2 – 3 ของวันที่ 12 เม.ย.52 ที่เข้าสลายการชุมนุมผู้ชุมนุมที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และผลักดันที่ทำเนียบรัฐบาลภายหลังนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมาธิการทุกชุดที่ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้สรุปการสลายการชุมนุมในเวลากลางคืนโดยกำลังทหารและอาวุธสงคราม กระสุนจริง ไม่สามารถทำได้ จะสลายได้เฉพาะเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจนตก ส่วนการใช้กระสุนจริงจะกระทำไม่ได้

น.อ.อนุดิษฐ์ได้เบิกความว่าในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน พ.ค.53 เขาและส.ส.หลายคนได้มีการใช้ช่องทางสื่อสารของรัฐบาลทั้งทีวีและวิทยุ เช่น ช่อง 3 และช่อง 11 ให้ฝ่ายค้านได้ทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้การสถานการณ์คลี่คลายแต่ถูกปฏิเสธ  ทนายได้ถามความเห็นเขาว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณมักอ้างถึงชายชุดดำยิงผู้ชุมนุมหรือผู้ชุมนุมยิงกันเอง เขาได้ตอบว่า “จะเกิดจากชายชุดดำอย่างไรเป็นเรื่องที่รัฐบาลขณะนั้นต้องพิสูจน์ แต่หน้าที่ของรัฐบาลต้องปกป้องประชาชน ไม่ใช่นำเอาอาวุธมาดำเนินการกับประชาชน”

ศาลได้ถามน.อ.อนุดิษฐ์เกี่ยวกับวิดีโอที่ถ่ายโดยนายคมสันต์ ทองมาก ว่ามีชายชุดดำหรือไม่ เขาได้ตอบว่าเป็นไปไม่ได้ ในทางการทหารพื้นที่นั้นได้ถูก “สถาปนาพื้นที่” ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีแต่กำลังทหาร การวางกำลังนั้นจะไมได้มีการวางเพียงแนวเดียวแต่จะมีการวางกำลังแนวหน้า รวมไปถึงแนวหลัง แนวสนับสนุน เป็นต้น เพราะฉะนั้นแนวปะทะแบบในวิดีโอ ตรงนั้นจะเป็นส่วนแนวหน้า เพราะฉะนั้นในแนวอื่นจะไม่อนุญาตให้ชายชุดดำมาอยู่ร่วมกับแนวหน้าได้เลย ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้

 

นัดสืบพยานวันที่ 21 สิงหาคม 2555(เลื่อน)[11]

            พยาน

  1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
  2. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ เป็นผอ.ศอฉ. ในช่วงสลายการชุมนุม

ไม่มีการสืบพยานเนื่องจากมีการขอเลื่อนนัด 15 วัน โดยนายสุเทพอ้างว่าหมายศาลที่ส่งมาให้นั้นส่งมาให้กระชั้นชิดเกินไปโดยเขาได้รับหมายเรียกเมื่อวันที่ 15-16 ส.ค. 55  จึงทำให้เตรียมข้อมูลไม่ทัน

นัดสืบพยานวันที่ 28 สิงหาคม 2555(เลื่อน)[12]

            พยาน 

  1. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.
  2. พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 1

ไม่มีการสืบพยาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขอเลื่อนเนื่องจากติดภารกิจ ส่วนพล.อ.คณิต สาพิทักษ์ขอเลื่อนเพราะต้องไปดูงานต่างประเทศ  ทนายได้กล่าวด้วยว่ายังคงติดใจอยู่จากการขอเลื่อนดังกล่าว เนื่องจากพยานซึ่งขอหมายเรียกไปนั้นก็เพื่อต้องการได้ข้อเท็จจริงจากพยานแต่ละปาก ซึ่งถ้าพยานแต่ละปากมา ก็จะได้ทราบว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างไร แต่ศาลก็เห็นว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงที่ผ่านมามีข้อมูลเพียงพอที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคดี (การเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐ) ได้แล้ว

 

นัดสืบพยานวันที่ 30 สิงหาคม 2555[13]

            พยาน

  1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและเป็นผอ.ศอฉ. ในช่ววงสลายการชุมนุม
  2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมันตรี
  3. พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ มีตำแหน่ง รักษาการ ผบ.ตร. ในขณะนั้น

พยานปากแรก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความว่า เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ได้ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า และยึดถนนราชดำเนิน นายกรัฐมนตรีจึงใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ตั้ง ศอรส.  โดยได้รับการอนุมัติจาก ครม.  เพื่อคลี่คลายสถานการณ์แต่ต่อมาผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ คุกคามการใช้ชีวิตโดยสงบของประชาชนทั่วไป มีการก่อเหตุร้าย ยิงปืน M 79 ระเบิดชนิดขว้าง ใส่สถานที่ราชการและเอกชน จนเกิดความหวาดหวั่น ปลุกระดมด้วยข้อความที่ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลและสถาบันอันเป็นที่เคารพ   และหลังจากผู้ชุมนุมบุก ก.ก.ต.และรัฐสภา พร้อมด้วยอาวุธ และเข้ายึดอาวุธจากเจ้าหน้าที่ ครม.จึงเห็นชอบประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เมื่อ 7 เมษายน 2553 พร้อมมอบหมายให้เขาเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. เพื่อป้องกันเหตุร้าย คลี่คลายสถานการณ์ให้ปกติสุข และดำรงไว้ซึ่งอำนาจรัฐและความมั่นคงปลอดภัยของบ้านเมือง

นายสุเทพ เบิกความต่อว่า ศอฉ.มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการระดมกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อป้องกันยับยั้งเหตุร้าย โดยสายบังคับบัญชายังมีอยู่ตามปกติ   ทั้งนี้เขายืนยันว่า ศอฉ.ไม่เคยมีคำสั่งสลายการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว โดยตลอดเวลา 2 เดือนครึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นการแก้ไขตามสถานการณ์ในแต่ละเวลา เช่น เมื่อ นปช.ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า และยึดราชดำเนินทั้งสาย ทั้งยังยึดสี่แยกราชประสงค์ ก่อให้เกิดปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ อย่างรุนแรง ศอฉ.จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุม เพื่อขอคืนพื้นที่บางส่วน เพื่อแก้ปัญหาจราจรตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และการผลักดันผู้ชุมนุม ไม่ใช่การสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังบังคับให้เลิกโดยเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการดันให้ผู้ชุมนุมถอยร่น เพื่อคืนพื้นที่บางส่วนสำหรับใช้ในการจราจร

นายสุเทพได้เบิกความอธิบายการปฏิบัติการในวันที่ 10 เมษายน เอาไว้ว่า ศอฉ. มีคำสั่ง 1/53 ระบุวิธีปฏิบัติในการควบคุมฝูงชน โดยสาระสำคัญในการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอยู่ในภาคผนวก 9 ว่าด้วยการใช้กำลัง ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามหลักสากล ตั้งแต่ โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองกระสุนยาง ซึ่งมีการแจ้งให้ประชาชนและผู้ชุมนุมทราบโดยตลอด ทั้งนี้ รับว่าหนังสือดังกล่าวประทับตรา “ลับมาก” ไม่เผยแพร่สู่ประชาชนตามระเบียบของราชการ แต่ ศอฉ.และรัฐบาลก็ได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยตลอด   ในส่วนของการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ในแถวหน้าจะให้ถือโล่ กระบอง แถวถัดมาเป็นรถฉีดน้ำ และปืนลูกซอง  มีการอนุญาตให้มีอาวุธปืนเล็กยาวได้ไม่เกิน 10 คนต่อหน่วย โดยคนถือจะต้องเป็นผู้บังคับหมู่ขึ้นไป เพื่อใช้ป้องกันหน่วย หรือประชาชนกรณีมีเหตุร้าย ซึ่งเป็นปกติที่กำหนดไว้ในกฎการใช้กำลัง  แต่มีคำสั่งกำชับชัดเจนให้ใช้เมื่อพบผู้กระทำผิดซึ่งหน้า และจะเกิดอันตรายถึงชีวิตแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน

ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ปฏิบัติการเริ่มในเวลา  13.00 น. และหยุดเมื่อ 18.15 น. เนื่องจากเห็นว่าใกล้ค่ำจึงให้ทุกหน่วยหยุด ณ จุดที่ไปได้ถึง แต่ปรากฎว่ามีผู้ชุมนุมล้อมรถพาหนะของเจ้าหน้าที่และแย่ง M16 ทาโวร์ ไปจำนวนมาก แกนนำมีการปลุกระดม เกิดการปะทะด้วยความรุนแรงขึ้น และเนื่องจากมีลม ทำให้แก๊สน้ำตาจากพื้นดินไม่ได้ผล ศอฉ. จึงสั่งให้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวและแก๊สน้ำตาทางอากาศ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงเจ้าหน้าที่ เมื่อถึงเวลาทุ่มเศษ มีกองกำลังชุดดำใช้อาวุธสงครามยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชน มีผู้บาดเจ็บล้มตาย เมื่อศอฉ. สั่งถอนกำลัง ปรากฎว่ามีการปิดล้อมเจ้าหน้าที่ ใช้ M79 และปืนเล็กยาว ยิงใส่เจ้าหน้าที่ รวมถึงใช้ระเบิดขว้าง ศอฉ.จึงอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนยิงขู่เพื่อป้องกันตนเองได้ แต่ก็ไม่สามารถจับชายชุดดำได้แม้แต่คนเดียวเนื่องจากเข้าไม่ถึงตัวและปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม

แต่มีตำรวจสายตรวจของนครบาลสามารถแย่งชิงอาวุธจากชายชุดดำได้ 1 ราย เป็น M79 มา หลังเหตุการณ์ 10 เมษายน ได้มีการกำหนดมาตราการป้องกันการสูญเสียและบาดเจ็บ เช่น ให้เจ้าหน้าที่ตั้งหน่วยอยู่กับที่ รักษาระยะห่างอย่างน้อย 150 ม. ด่านตรวจมีที่กำบัง และเขาปฏิเสธว่า ไม่มีการอนุญาตให้มีการซุ่มยิง เพราะไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน การอนุมัติใช้อาวุธมีลำดับขั้นตอนตามความรุนแรงของสถานการณ์โดยหลังเกิดเหตุ 10 เม.ย. ได้อนุญาตให้ใช้ปืนลูกซองกระสุนลูกปราย เพื่อระงับเหตุและไม่ประสงค์ชีวิตประชาชน โดยต้องเล็งยิงในระดับต่ำกว่าเข่าลงไป ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตามถนน ได้ถูกผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามโจมตี จึงอนุญาตให้มีปืนเล็กยาวป้องกันตัวจากนั้นเมื่อผู้ก่อการร้ายซุ่มยิงจากตึกสูง จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่สูงข่มรอบบริเวณเพื่อไม่ให้มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้

นายสุเทพได้เบิกความถึงกรณีการเสียชีวิตของนายพัน คำกองว่าจากการสอบถามคณะตัวแทนของ พล.ร.1 เพื่อชี้แจงต่อสภาหลังเหตุการณ์ ได้ข้อมูลว่า เช้ามืดวันที่ 15 พ.ค. มีรถตู้ฝ่ามาบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มีการโจมตีชุลมุน ไม่รู้ใครเป็นใคร เมื่อเหตุสงบพบผู้เสียชีวิต 2 ราย รายหนึ่งคือนายพัน คำกอง เสียชีวิตใกล้บังเกอร์เจ้าหน้าที่แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ อีกรายคือเด็กชายคุณากร (ศรีสุวรรณ)  ซึ่งถูกยิงในซอยข้างโรงหนัง นอกวิถีกระสุนของเจ้าหน้าที่ และเมื่อทนายได้เปิดภาพรถตู้ที่มีรอยกระสุนบริเวณกระจกข้าง เขาได้ตอบว่า ไม่ทราบว่าใครเป้นคนยิง แต่เจ้าหน้าที่จะยิงแบบนี้ไม่ได้

อัยการซักถามถึงเรื่องชายชุดดำ นายสุเทพได้เบิกความว่า ชายชุดดำปรากฎชัดเจนในช่วงค่ำของวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งมีการขอคืนพื้นที่โดยจากเหตุทั้งหมดมีที่จับกุมได้บางส่วน และส่งให้ดีเอสไอดำเนินคดีก่อการร้าย

และมีการเปิดวิดีโอของช่างภาพเนชั่น ศาลได้ถามว่าในคำสั่งของ ศอฉ. เกี่ยวกับการใช้อาวุธระบุว่าห้ามใช้ปืนยิงอัตโนมัติ แต่ในคลิปดังกล่าวมีเสียงปืนอัตโนมัติ ผิดหรือไม่ นายสุเทพตอบว่า ในภาพไม่เห็นว่าใครยิง และมีปืนกี่กระบอก ได้ยินแต่เสียง อาจจะเป็นการยิงพร้อมๆ กันก็ได้

พยานปากที่สอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  เบิกความยืนยันว่าไม่มีการสั่งให้สลายการชุมนุม ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและขอคืนพื้นที่  รัฐบาลได้ขอให้ศาลแพ่งวินิจฉัยว่ากระทำได้เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้มีหลักการปฏิบัติตามความเหมาะสมและจำเป็น แต่เขากล่าวต่อมาว่าไม่ทราบรายละเอียดการปฏิบัติและไม่ทราบว่าในการปฏิบัติจริง มีการทำคำสั่งหรือไม่ แต่มีรายงานว่าได้ดำเนินตามนโยบายที่ให้ไว้

เขาได้กล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. เอาไว้ว่า ขณะที่มีการปฏิบัติการอยู่ยังไม่มีรายงานการเสียชึวิต จนเมื่อมีการหยุดปฏิบัติการในช่วงใกล้ค่ำ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ถูกโอบล้อม และมีการใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่   จึงมีการรายงานการสูญเสียครั้งแรก  และตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. มีรายงานว่ามีผู้ติดอาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่ที่ด่านรอบที่ชุมนุม โดยมีการลำเลียงอาวุธจากในที่ชุมนุม

แต่เขาได้กล่วถึงการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นว่ายังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากยังไม่มีรายงานว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยยกตัวอย่าง เช่น การเสียชีวิตจาก M79 ว่าไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไมได้มีการใช้ M79  ส่วนการเสียชีวิตที่เกิดจากการยิง ต้องรอสอบสวนเนื่องจากมีการปล้นอาวุธของเจ้าหน้าที่และนำไปใช้ และทราบว่ามีกลุ่มติดอาวุธในผู้ชุมนุมจากวิดีโอ ได้มีการดำเนินคดีไปแล้วบางส่วนแต่เขาจำรายละเอียดไม่ได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าได้พยายามเจรจากับแกนนำ นปช. หลายครั้ง มีการประกาศแผนปรองดอง กำหนดวันยุบสภา แต่แกนนำไม่ยอมยุติการชุมนุมและเปลี่ยนเงื่อนไขการเจรจา รัฐบาลจึงมีนโยบายกระชับวงล้อมเพื่อกดดันให้ยุติการชุมนุมโดยไม่สลายการชุมนุม เช่นเดียวกับการชุมนุมในปี 2552 และเขาได้ปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าใครสั่งให้เคลื่อนพลใช้กำลังพร้อมอธิบายว่าการใช้คำว่าขอคืนพื้นที่ เป็นการอธิบายตามความจริง ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงคำว่าสลายการชุมนุม โดยวันนั้นขอคืนพื้นที่สวนลุมพินี การชุมนุมที่ราชประสงค์ก็ยังทำได้ แต่ถ้าเป็นการสลายการชุมนุมจะไม่เป็นเช่นนั้น

เขาได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวัดปทุมฯ เอาไว้ว่ามีการโทรขอความช่วยเหลือจากนักข่าว นสพ. อินดิเพนเดนท์ กับทางรัฐบาล  แต่หน่วยพยาบาลที่เข้าไปถูกซู่มยิง และมีการรายงานอย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าชายชุดดำในวัดปทุมฯ มีการต่อสู้ ข่มขู่ทวงหนี้กันด้วย

พยานคนสุดท้าย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เบิกความว่าหลังการประกาศ พรก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ. ซึ่งในการประชุม ศอฉ. มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณนั่งอยู่ในการประชุมด้วยทุกครั้งตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม  มีการให้ตำรวจหาข่าวตลอด ทั้งตำรวจในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ   ในช่วงแรก มีการใช้ตำรวจ 70 กองร้อย กองร้อยละ 155 คน โดยจะขึ้นตรงต่อกองทัพภาคที่ 1 ต่อมาหลัง 14 พ.ค. ได้เปลี่ยนมาขึ้นตรงกับ ศอฉ. เนื่องจากมีการชุมนุมในต่างจังหวัดด้วย แต่ความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 1 อยู่แค่ในกรุงเทพฯจึงต้องเปลี่ยนไปขึ้นกับ ศอฉ. แทน

เขาได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย.53 ว่า  ตนเองไม่ทราบว่าใครควบคุมการสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ แต่ทราบว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายยุทธการของทหาร โดยจะจัดกำลังเป็น 3 ชั้น  ชั้น 2 และ 3  เป็นกำลังตำรวจ ส่วนชั้นแรกจะเป็นของหน่วยงานอื่น และไม่ทราบถึงรายละเอียดการใช้กำลังและวิธีปฏิบัติ เนื่องจากตนเองดูแลนโยบายเท่านั้น  ในส่วนของราชประสงค์กำลังเป็นของฝ่ายทหารไม่ทราบว่าฝ่ายใดปิดล้อม โดยกำลังตำรวจนั้นยังอยู่ชั้นที่ 2-3 เหมือนเดิม

ส่วนอาวุธที่ตำรวจใช้ในวันที่ 10 เม.ย. นั้นมีเพียงโล่ กระบองเท่านั้นไม่มีอาวุธอื่น จนในช่วงหลังมีการอนุญาตให้พกปืนพกได้ เนื่องจากมีตำรวจเสียชีวิต 2 นาย จากการโดนยิงที่ท้อง 1 นาย และ M79 1 นาย  นอกจากนี้ ศอฉ. ให้เจ้าพนักงานใช้ปนลูกซอง และปืนเล็กยาวเพื่องป้องกันตนเองได้ โดยสมควรแก่เหตุ โดยมีการทำหนังสือย้ำหลักปฏิบัติตลอด

ส่วนการเสียชีวิตนั้นเขาไม่ทราบถึงรายงานการเสียชีวิต รวมถึงนายพัน คำกอง ที่จัดทำโดยตำรวจนครบาล พญาไท และเขายังกล่าวอีกว่าโดยปกติเมื่อเกิดการเสียชีวิตจะต้องเข้าไปตรวจสอบโดยเร็วแต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากติดรั้วลวดหนาม และมีการปะทะกัน  ต่อมาจึงได้ไปที่โรงพยาบาลพญาไทที่ศพตั้งอยู่

เขายังกล่าวอีกว่า หากมีการสลายการชุมนุมโดยตำรวจจะต้องได้รับรายงาน แต่ที่ผ่านมาไม่พบกรณีเจ้าหน้าที่ถูกลงโทษทางวินัยจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หากมีการทำเกินกว่าเหตุ เขาในฐานะผบ.ตร. เจ้าพนักงานตำรวจผู้ที่กระทำจะต้องรับผิดชอบ

 

ศาลออกคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ วันที่ 17 กันยายน 2555[14]

ศาลได้มีคำสั่งว่าผู้ตาย นายพัน คำกอง ตายที่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียม ชื่อไอดีโอ ตอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 เวลาก่อนเที่ยงคืน เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223(5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของ ศอฉ.

อ่านคำสั่งศาลการไต่สวนการตายของพัน คำกอง

 


[4] การยิงต่อเนื่องของกระสุนแบลงค์จะสามารถทำได้โดยการติดอแดปเตรอ์ที่ปลายปากกระบอกปืนเท่านั้น แต่จากภาพและคลิป ที่เห็นไม่มีการติดอแดปเตอร์ดังกล่าวทั้งตอนตั้งแถวในช่วงกลางวันและขณธเกิดการยิงในช่วงกลางคืน แต่การยิงนั้นเป็นการยิงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำได้จะต้องเป็นกระสุนจริงเท่านั้น

[8] การพิสูจน์จะทำโดยการนำปืนที่ส่งพิสูจน์ไปทดลองยิง แล้วนำหัวกระสุนมาเปรียบเทียบรอยตำหนิ ซึ่งลำกล้องของปืนแต่ละกระบอกจะมีการเซาะร่องเกลียวเอาไว้เพื่อทำให้กระสุนหมุน ซึ่งเกลียวที่ว่านี้จะทำให้เกิดรอยบนหัวกระสุนที่ยิงออกไป ซึ่งลำกล้องแต่ละอันจะมีร่องเกลียวที่แตกต่างกันไป  และลำกล้องนี้เป็นอะไหล่ 1 ชิ้นในปืน ซึ่งสามารถทำการถอดเปลี่ยนได้ เมื่อเปลี่ยนแล้วกระสุนที่ยิงออกจากปืนกระบอกเดียวกันแต่มีการเปลี่ยนลำกล้อง ก็จะมีตำหนิต่างไปอีก

 

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : ช.7/2555  วันที่ฟ้อง : 06/09/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2

ผู้เสียชีวิต : นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

 

นัดสืบพยานวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556

             พยาน

  1. พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ พนักงานสอบสวน สน.บางรัก
  2. นางกังสดาล โรสเรส เจ้าหน้าที่เวชระเบียนหน้าห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
  3. น.ส. วิภาวดี ทะนงค์ พยาบาลห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
  4. ร.ต.อ.สุทิน ซ้อนรัม พนักงานสอบสวน สน.บางรัก
  5. พ.ต.ท.ยุต ทองอยู่ พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี

นางกัลย์สุดา โรสเรส เบิกความว่าวันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 13.06 น. เจ้าหน้าที่มูลนิธิ(เธอจำชื่อมูลนิธิไม่ได้) นำตัวนายฐานุทัศน์มาส่งที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่านายฐานุทัศน์เป็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงจากบ่อนไก่ ขณะที่รับตัวนั้นนายฐานุทัศน์ไม่รู้สึกตัวจึงไม่สามารถถามชื่อเพื่อทำประวัตินายฐานุทัศน์เจ้าหน้าที่ได้นำบัตรประชาชนนายฐานุทัศน์จากกระเป๋ากางเกงให้ เธอได้ทำประวัติและนำเวชระเบียนส่งให้ห้องฉุกเฉิน

ในวันที่ 14 พ.ค. ยังมีผู้บาดเจ็บอีกหลายราย และได้รับตัวผู้บาดเจ็บตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2553 โดยในช่วงนี้มีทั้งผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต  ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ส่งตัวนายฐานุทัศน์มานั้นเธอไม่ทราบว่าเป็นใครเนื่องจากโรงพยาบาลขณะนั้นวุ่นวายมาก มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เธอไม่ได้เป็นคนแจ้งญาติของนายฐานุทัศน์และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แจ้ง แต่คาดว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินเป็นผู้แจ้ง

ช่วงทนายซักถามพยาน เธอตอบคำถามของทนายว่าไม่ทราบสภาพการบาดเจ็บของนายฐานุทัศน์เนื่องจากไม่ได้ดู แต่ทราบว่าถูกยิงจากการสอบถามนายฐานุทัศน์ และในวันนั้นยังมีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีก 7 ราย จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองแต่เธอจำไม่ได้ว่าถูกนำตัวมาจากที่ใดบ้าง โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการถูกยิง ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย เสียชีวิตจากการถูกยิง

น.ส.วิภาวดี ทะนงค์ เบิกความว่า วันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 13.06 น. ขณะนั้นเธอทำหน้าที่พยาบาลในห้องฉุกเฉินมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิ(เธอจำไม่ได้เช่นกว่ามูลนิธิใด) นำนายฐานุทัศน์มาที่ห้องฉุกเฉิน เธอได้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นพบบาดแผลเป็นรูคล้ายกระสุนยิงที่หลังด้านซ้ายมีเลือดออกจากบาดแผล หลังจากนั้นแพทย์ได้เข้ามารับช่วงต่อ จากนั้นได้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทตั้งแต่ 14 พ.ค.- 4 มิ.ย. 53 จึงได้ย้ายไปโรงพยาบาลมเหสักข์

เธอไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่มูลนิธิที่มาส่งชื่ออะไร และเขาไม่ได้ใส่เครื่องแบบ ในวันนั้นมีคนไข้เข้ามามาก เธอไม่ได้เป็นผู้แจ้งญาติและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แจ้ง และเธอได้มอบบันทึกผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตให้พนักงานสอบสวน

เบิกความว่ามีหน้าที่สืบสวนตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา  เขาถูกแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนของ บก.น. 6 ตามคำสั่งที่ 45/2555 มีหน้าที่ประสานงงานกับพยานที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ 26 ก.พ. 55 นางวรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคงได้แจ้งว่านายฐานุทัศน์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 55  ที่โรงพยาบาลมเหสักข์ เขาจึงได้ถูกแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่ และเข้ายังเบิกความว่าสาเหตุการเสียชีวิตจากการถูกกระสุนในเหตุการณืชุมนุมเมื่อ เม.ย.-พ.ค. 53 โดยถูกยิงที่ป้ายรถประจำทางหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี

เขาเป็นผู้ถอดเทปการสัมภาษณ์นายฐานุทัศน์ก่อนเสียชีวิตซึ่งผู้สัมภาษณ์คือนายอุเชนทร์  เชียงเสนและน.ส. อัจฉรา อิงคามระธรเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 54 เวลา 14.00 น. เศษ ที่บ้านของนายฐานุทัศน์(มีการเปิดคลิปสัมภาษณ์ ตั้งแต่นาทีที่ 7.42) และเขายืนยันว่าคลิปไม่มีการตัดต่อ

ช่วงทนายซักถามเขาได้ให้การเพิ่มว่านอกจากคลิปสัมภาษณ์ดังกล่าวแล้วคลิปหลักฐานอื่นๆ ที่อยู่ในแผ่นดีวีดีที่มอบให้แก่ศาลนั้นไม่มีการตัดต่อเช่นกัน และการถอดเทปสัมภาษณ์เป็นการถอดแบบคำต่อคำไม่ได้เป็นการสรุปใจความ

พ.ต.ท. ยุต ทองอยู่ เบิกความว่า วันที่ 26 มิ.ย. 53 เวลา 18.00 น. เศษ ขณะนั้นเขาเป็นร้อยเวรสอบสวนคดีอาญา นางวรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคงได้มาแจ้งความว่าสามีของเธอถูกยิงบริเวณไขสันหลัง ผ่านปอดขวาและฝังที่สบักขวา ที่ป้ายรถประจำทางหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี ติดกับโรงรับจำนำน่ำเลี้ยง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 12.00 น.เศษ แตวันนั้นยังไม่ได้มีการลงบันทึกประจำวันไว้เพราะว่ามืดแล้ว แต่วันนั้นได้ไปที่จุดเกิดเหตุกับนางวรานิษฐ์เพื่อถ่ายรูปและทำแผนที่จุดเกิดเหตุ และได้มีการสอบปากคำด้วย

จากการสอบปากคำได้ความว่าก่อนเกิดเหตุนายฐานุทัศน์เป็นมะเร็งถุงน้ำดีและอยู่ในระหว่างรักษาตัว   ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือนายฐานุทัศน์ถูกยิงที่ป้ายรถประจำทางหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สาขาลุมพินี ในวันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 12.00 น. เศษ  ระหว่างรอรถประจำทางอยู่นั้นมีคนขับจักรยานยนต์มาบอกว่าข้างหน้ามีการปะทะอยู่ นายฐานุทัศน์ได้ให้ครอบครัวแยกไป ส่วนตัวนายฐานุทัศน์เองซึ่งยังอยู่ที่เดิมและถูกยิงล้มลง   ต่อจากนั้นในวันที่ 29 มิ.ย. 53 จึงได้มีการลงบันทึกประจำวันไว้ ในข้อหาพยายามฆ่า

เขาได้สอบปากคำนายฐานุทัศน์เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 53 ที่โรงพยาบาลมเหสักข์ในตอนนั้นนายฐานุทัศน์ยังสามารถพูดคุยได้และให้การว่าตนถูกยิงเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 12.00 น. ที่ป้ายรถประจำทางหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สาขาลุมพินี ได้มีคนขับรถจักรยานยนต์มาบอกว่ามีการปะทะที่สะพานไทย-เบลเยี่ยมและมีทหารอยู่  โดยนายฐานุทัศน์และภรรยาก็เห็นว่ามีทหารอยู่ จากนั้นมีเสียงดังขึ้นแต่ไม่ทราบว่าเสียงอะไร ตัวเขาเกิดอาการชาและได้มีคนนำเขาส่งโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เขาไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

เขาได้ส่งสำนวนสอบสวนให้กับ DSI เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 53 เพราะได้มีคำสั่ง(เขาจำไม่ได้ว่าศอฉ.หรือใครเป็นผู้สั่ง) ว่าให้ส่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมให้กับ DSI  ส่วนตัวเขาเองไม่ได้มีความเห็นใดๆ ต่อสำนวนการสอบสวน เขาไม่ทราบว่านายฐานุทัศน์เสียชีวิตเมื่อใด แต่เขาได้รับแจ้งจาก สน.บางรักว่าเสียชีวิตเมื่อ 25 ก.พ. 55  และทางสน.บางรักได้พาเขาไปตรวจที่เกิดเหตุอีกครั้ง และได้มีการถ่ายภาพและทำแผนที่ไว้

ทนายได้ซักถามเขาว่ารับราชการที่ สน.ลุมพินีตั้งแต่เมื่อใดและช่วงเหตุการณ์ทราบหรือไม่ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไรบ้าง เขาได้ตอบว่าเขาอยู่ที่สน.ลุมพินี 10 กว่าปี แต่ในช่วงเหตุการณ์นั้นเขาอยู่แต่ในโรงพักจึงไม่ได้ทราบว่าเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นบ้าง จากการสอบสวนนายฐานุทัศน์ถูกยิงขณะหันหน้าเข้าไปทางธนาคารและหันหลังให้กับถนน

 

นัดสืบพยานวันที่ 7 กุมภาพันธ์

              พยาน

  1. นายอุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษา ปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  2. นางสาวอัจฉรา อิงคามระธร อาสาสมัครของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.)
  3. นายเอกสิทธิ์ วงศ์คำมา ช่างทาสี

พยานปากแรก นายอุเชนทร์ เชียงเสน เป็นนักศึกษา ปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานเบิกความ  พยานเบิกความว่า พยานได้พักอาศัยอยู่ที่ชั้น 30 อาคารลุมพินีพาร์ควิว คอนโดมิเนียม ติดถนนพระราม 4 เยื้องกับสนามมวยลุมพินี  ในวันเกิดเหตุ 14 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 12.00 น. พยานได้ยินเสียงปืนด้านหน้าอาคาร (ถ.พระราม 4) และเสียงเอะอะโวยวาย จึงได้หยิบกล้องถ่ายรูปออกมาที่ระเบียงห้องพัก (ด้าน ถ.พระราม 4) มองลงไปหน้าอาคารและบนถนนเห็นทหารพร้อมอาวุธปืนจึงได้ถ่ายรูปเอาไว้

หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที พยานได้ยินเสียงประกาศผ่านโทรโข่งของทหาร พร้อมเล็งอาวุธมายังพยานว่า “ผู้พักอาศัย ให้หลบเข้าไปด้านใน ไม่อย่างนั้นจะถือว่าท่านเป็นผู้ไม่ประสงค์ดี” จึงรู้สึกกลัวและหลบเข้าไปในห้องพัก แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นและเก็บบันทึกภาพไว้ จากนั้นเขาลงไปด้านล่างหน้าอาคาร ตรงถนนพระราม 4  พบเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธปืนประมาณ 40 -50 คน ยืนเป็นแถวอยู่บนถนนพระราม 4 และอีกประมาณ 20-30 คน อยู่บนสะพานไทย-เบลเยี่ยม จึงได้ถ่ายภาพไว้

จากนั้นทหารที่อยู่บนถนนพระราม 4 ได้เดินมุ่งหน้าไปทางฝั่งคลองเตย และยิงอาวุธปืนใส่ประชาชนที่กระจายอยู่บริเวณปั้ม ปตท. และใต้สะพานลอยบ่อนไก่ (ใกล้ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี) และเห็นกลุ่มควันออกจากกระบอกปืนของทหารด้วย โดยพยานได้เดินถ่ายรูปตามหลังทหารมาถึงบริเวณปั้ม ปตท. เมื่อเคลียร์พื้นที่เสร็จแล้ว คือ ประชาชนวิ่งกระจัดกระจายออกไป ทหารจึงถอยมาตั้งฐานบริเวณด้านหน้าอาคารลุมพินีพาร์ควิว

ในระหว่างนั้นพยาน ไม่ทราบว่ามีประชาชนผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ เพราะพยานถ่ายรูปอยู่ด้านหลังทหาร ขณะที่ฝั่งประชาชนได้ยิงหนังสติ๊กและจุดพลุตะไลเข้าใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อตอบโต้เท่านั้น  เมื่อถูกซักว่าอาวุธที่ทหารใช้นั้นเป็นอาวุธชนิดใด พยานเบิกความว่า เป็นอาวุธM 16 และปืนลูกซองยาว ที่ระบุได้เนื่องจากเคยเห็นมาบ้างจากรูปในอินเตอร์เน็ทและนิตยสารต่างๆ ดังปรากฏในรูปซึ่งได้มอบรูปทั้งหมดให้กับพนักงานสอบสวนแล้ว

หลังจากเหตุการณ์พยานได้เป็นอาสาสมัครของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 หรือ ศปช. ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ ภายหลังเหตุการณ์พยานซึ่งเป็นอาสาสมัครร่วมกับนางสาวอัจฉรา อิงคามระธร ได้ทราบข่าวว่ามีผู้บาดเจ็บ ซึ่งทราบชื่อในภายหลังว่า คือ นายฐานุทัศน์ อัศวศิริมั่นคง ได้รับบาดเจ็บและนอนรักษาตัวอยู่ที่แฟลตบ่อนไก่ จึงได้เดินทางไปเยี่ยมและถ่ายคลิปวีดีโอสัมภาษณ์ไว้ในวันที่ 21 กุมภาพันธุ์ 2554 และได้มอบให้กับพนักงานสอบสวน

โดยนายฐานุทัศน์ เล่าให้ฟังว่า เวลาประมาณ 12.00 น. เศษ ตนได้ยืนอยู่ที่ป้ายรถประจำทางบ่อนไก่ (ใกล้สะพานลอย และธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี) เห็นทหารยิงแก๊สน้ำตามา และหลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น จึงหันหลังวิ่งหนี และล้มคว่ำลงหน้ากระแทกพื้น (ตามคลิปเวลา 7.40-8.50) และยังได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากถูกยิงแล้วได้มีชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง อุ้มไปขึ้นรถตู้ตำรวจเพื่อนำส่งโรงพยาบาล

ทนายได้ซักพยานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ พยานได้เบิกความว่า พยานทราบว่าการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2553 โดยมีพื้นที่การชุมนุมมาถึงบริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ตรงแยกศาลาแดง ต่อมาเมื่อวันที่ 19 เม.ย.53 มีทหารและตำรวจเข้ามาตั้งอยู่บนถนนสีลม ฝั่งตรงกันข้าม และในอีกวันถัดมาผู้ชุมนุมก็ได้ตั้งรั้วเครื่องกีดขวางบริเวณแยกศาลาแดง แต่ก่อนเหตุการณ์ถึงวันที่ 13 พ.ค.53 การเดินทาง สัญจรไปมาสามารถทำได้ตามปกติ และมีเพียงด่านตรวจตำรวจที่หน้าตึกอื้อจือเหลียงในตอนกลางคืนเท่านั้น

สำหรับพื้นที่หน้าอาคารที่พักของพยาน ตรงถนนพระราม 4 และแถวบ่อนไก่ ไม่ได้เป็นพื้นที่ชุมนุม มีรถยนต์วิ่งผ่าน และประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นก็ใช้ชีวิตกันอย่างปกติ ในวันเกิดเหตุ 14 พ.ค.53 เวลาตอนเช้า พยานตื่น 9.00 น. เศษ ได้ยินเสียงปืนประปรายดังมาเป็นระยะจากด้านสวนลุมพินี แต่ไม่สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ ส่วนบริเวณถนนพระราม 4 หน้าอาคารที่พัก ยังมีผู้คนและยานพาหนะสัญจรไปมาได้ แต่มีจำนวนน้อย ก่อนเกิดเหตุประชาชนแถวนั้นก็ยังใช้ชีวิตแบบปกติ

พยานเบิกความเพิ่มว่า จากรูปถ่ายจากบนอาคารนั้น ในช่วงเกิดเหตุ เวลาประมาณ 12.00 น.  มีประชาชนซึ่งเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นผู้ชุมนุมหลบมาหนีทหารมาจากแยกวิทยุ และไปจับกลุ่มที่บริเวณปั๊ม ปตท.และบริเวณสะพานลอยบ่อนไก่

สาเหตุที่พยานกล้าที่จะเดินถ่ายรูปหลังแนวทหาร เพราะว่ามีเพียงการยิงหนังสติ๊กมาตกที่พื้นประปรายเท่านั้นในช่วงแรกที่พยานได้ลงจากอาคาร จึงเห็นว่าไม่มีอันตรายร้ายแรง ทำให้พยานและนักข่าวคนอื่นๆ กล้าที่จะเดินถ่ายรูปตามหลังแนวทหารขณะปฏิบัติการได้ และไม่เห็นทหารได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง

ทหารบนถ.พระราม 4   ทหารบนถ.พระราม 4

ทหารบนถ.พระราม 4   ทหารบนถ.พระราม 4

ทหารบนถ.พระราม 4   ทหารบนถ.พระราม 4

ทหารบนถ.พระราม 4   ทหารบนถ.พระราม 4

ทหารบนถ.พระราม 4   ทหารบนถ.พระราม 4

ทหารบนถ.พระราม 4

รูปบางส่วนที่ใช้ในการไต่สวนจากนายอุเชนทร์(เรียงตามลำดับการถ่าย) เป็นภาพถ่ายที่เขาถ่ายจากชั้น 30 ของคอนโดลุมพินีปาร์ควิว  จะเห็นลักษณะการวางกำลังทหารเพื่อทำการปิดล้อมพื้นที่แยกราชประสงค์ทางด้านถ.พระราม 4 เชิงสะพานไทย-เบลเยี่ยมในช่วงเที่ยงของวันที่ 14 พ.ค. 53 วันที่ 2 ของปฏิบัติการปิดล้อมแยกราชประสงค์ต่อเนื่องจากคืนวันที่ 13 ซึ่งเขาได้นำภาพเหล่านี้มอบให้แก้พนักงานสอบสวนเพื่อประกอบคำให้การ และได้มีการเปิดภาพถ่ายเหล่านี้ในการไต่สวนของศาลด้วย

พยานปากที่สอง นางสาวอัจฉรา อิงคามระธร เบิกความว่า พยานเป็นอาสาสมัครของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) โดยพยานมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์

เดือนมิ.ย.53  เธอทราบว่านายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง ถูกยิงได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 53 บริเวณบ่อนไก่ พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมเหสักข์ พยานจึงไปสอบถามอาการบาดเจ็บขณะนั้น ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 54 พยานและนายอุเชนทร์ เชียงเสน ได้ไปสัมภาษณ์นายฐานุทัศน์และภรรยาคือนางวรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคง ที่บ้านเพื่อเก็บข้อมูลวันที่เกิดเหตุถูกยิงจนได้รับบาดเจ็บ พร้อมทั้งได้บันทึกเป็นวิดีโอเทปความยาวประมาณ 50 นาที ซึ่งได้มอบให้กับพนักงานสอบสวนไปแล้วนั้น

ในวิดิโอเทปนายฐานุทัศน์ได้เล่าว่า วันเกิดเหตุประมาณ 12.00 น.เศษ ผู้ตายอยู่บริเวณป้ายรถโดยสารประจำทาง  หน้าร้านค้าสะดวกซื้อเซเว่นเอเลฟเวนใกล้ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี ได้เห็นทหารยิงแก็สน้ำตามา แต่ลมพัดกลับไปทำให้ทหารหยุดยิง สักพักมีเสียงปืนผู้ตายจึงบอกให้ภรรยาและบุตรหลบเข้าไปที่ร้านเซเว่นเอเลฟเวน ก่อนที่ผู้ตายจะตามเข้าไปแต่ล้มลงหน้ากระแทกพื้นเสียก่อนเพราะถูกกระสุนเข้าด้านหลัง ต่อมามีคนมาช่วยพาผู้ตายขึ้นรถตู้สีขาวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อนำส่งโรงพยาบาล

นอกจากนี้พยานได้มอบคลิปวิดีโอเหตุการณ์ ซึ่งเป็นภาพถ่ายมุมสูงจากอาคารลุมพินีทาวเวอร์ (ตรงข้ามซ.บ่อนไก่ ซึ่งห่างจากจุเกิดเหตุประมาณ 20 ม.) โดยคลิปมีความยาวประมาณ  5 นาที 10 วินาที

ในคลิปวิดีโอดังกล่าว ปรากฎภาพนายฐานุทัศน์สวมเสื้อสีเขียว กางเกงสีน้ำเงินกรมท่าขณะที่มีประชาชนช่วยกันนำร่างขึ้นรถตู้สีขาวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งวิดีโอดังกล่าวพยานได้มาจากอินเตอร์เนต จึงมอบให้กับพนักงานสอบสวนด้วย

พยานปากที่สามนายเอกสิทธิ์ วงศ์คำมา เบิกความว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 53 ก่อนเกิดเหตุการณื ในเวลาประมาณ 9.00 น. เขาทำงานทาสีบ้านของนายสุทธิเดช จิราธิวัฒน์ ในสาทร ซอย 1 แยกวิทยุ  แล้วใน เวลา 11.00 น. เจ้าของบ้านได้แจ้งให้เขากลับบ้านเนื่องจากมีทหารเคลื่อนกำลังมาที่สะพานไทย-เบลเยี่ยม เขาจึงออกมาทางสาทร ซอย 1 โดยเดินไปตามฟุตปาธจนถึงสี่แยกวิทยุ แล้วเขาได้ข้ามไปฝั่งสนามมวยลุมพินีแล้วเดินโดยมุ่งหน้าไปทางคลองเตยเพื่อกลับบ้าน

ระหว่างที่เดินอยู่นั้นเขาเห็นทหารราว 20 นาย บนถนนพระราม 4 เชิงสะพานไทย-เบลเยี่ยม โดยมี 4-5 คน นั่งประทับปืนเล็งปืนมาทางเขา และมีอีก 10 คนยืนอยู่ โดยทหารทั้งหมดนี้มีปืนยาวทุกคน และมีอีก 4-5 นายอยู่ที่มุมตึกใกล้กับสถานี MRT ลุมพินีด้วย เขาเดินผ่านปั๊มปตท. บ่อนไก่ และเดินผ่านซอยปลูกจิตซึ่งอยู่ใกล้กับปั๊ม และหยุดเดินที่ป้ายรถประจำทางซึ่งอยู่ด้นหน้าของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี โดยในบริเวณนั้นมีสะพานลอยคนข้ามและเซเว่นเอเลฟเวนอยู่ใกล้ๆ ด้วย

เวลาประมาณ 11.30 น. เขาเห็นประชาชนและกลุ่มจักรยานยนต์อยู่ใต้สะพานลอยคนข้ามราว 30-40 คน มุงดูทหารที่อยู่บริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยม จุดที่เขาอยู่นั้นห่างจากสะพานราว 300-400 เมตร ขณะอยู่บริเวณนั้นเขาได้เห็นรถดับเพลิงสีแดงขับออกมาจากซอยปลูกจิตและจอดอยู่บนถนนพระราม 4 โดยหน้ารถหันไปทางแยกวิทยุ  จากนั้นได้มีเสียงรถจักรยานยนต์ล้มลง 1-2 คัน เขาจึงหันมองเห็นคนกำลังพยุงรถขึ้น และได้เห็นนายฐานุทัศน์ล้มคว่ำลงกับพื้นถนนพระราม 4 บนช่องทางจราจรที่ 2 นับจากฟุตปาธห่างจากตัวเขาไปราว 10 เมตรเวลาในขณะนั้นราว 12.00 น. เศษ เขาจึงได้เข้าไปช่วยแต่เขาไม่ทราบว่าถูกอะไร ขณะช่วยเหลือเขาเห็นเลือดไหลออกจากปากหยดลงบนพื้นถนนฟันหน้าของนายฐานุทัศน์หัก 1 ซี่ และเห็นรูบนเสื้อกลางหลังและมีเลือดออกมาด้วย  เขาได้เรียกคนในบริเวณนั้นให้เข้ามาช่วยกันอุ้มออกไป  เขาได้พานายฐานุทัศน์ไปขึ้นรถตู้สีขาวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาทราบจากที่ข้างรถมีตราสำนักงานตำรวจแห่งชาติติดอยู่และบนรถยังมีเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาว กางเกงสีกากี ราว 10 คน เพื่อให้ไปส่งโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท

นายเอกสิทธิ์ คิดว่านายฐานุทัศน์ถูกยิงจากทหารเนื่องจากมีทหารกระชับพื้นที่อยู่ในบริเวณนั้น  ในวันนั้นนายฐานุทัศน์ใส่เสื้อสีเขียว แต่จำกางเกงกับรองเท้าไม่ได้  ส่วนตัวเขาใส่เสื้อยืดสีครีม กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ สะพายเป้ลายทหาร ขณะเกิดเหตุการณ์เขาเห็นเพียงนายฐานุทัศน์ได้รับบาดเจ็บคนเดียว  และได้ยินเสียงปืนดังเป้นระยะจากทหารที่อยู่บริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยมก่อนที่นายฐานุทัศน์จะถูกยิง

ช่วงทนายซักถามได้ถามรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงเช้าได้ความว่า วันนั้นนายเอกสิทธิ์นั่งรถประจำทางไปทำงานที่สาทร ซอย 1 ในเวลา 8.00 น. โดยนั่งรถไปทางถนนพระราม 4 โดยมาจากทางด้านคลองเตยมุ่งหน้าไปทางศาลาแดง แล้วลงรถที่ย่านบ่อนไก่แล้วเดินต่อจากบ่อนไก่ไปเข้าสาทร ซอย 1 ซึ่งในตอนนั้นรถยังผ่านไปมาได้ จากนั้นทนายได้ถามต่อถึงหลังจากเขาเลิกงานขณะที่เขาเลิกงานออกมาแล้วเดินจากสาทรซอย 1 ไปทางบ่อนไก่สภาพเป็นอย่างไร เขาบอกว่าเห็นทหารอยู่ที่มุมตึกเยื้องสนามมวยลุมพินี เวลานั้นร้านค้ายังค้าขายกันตามปกติ ยังมีคนเดินตามทางเดียวกับเขาไปทางบ่อนไก่ด้วยเช่นกัน แต่รถที่ขับมาตามถนนมุ่งหน้าไปทางศาลาแดงนั้นไปต่อไม่ได้แล้วเพราะมีแนวทหารขวางถนนอยู่  ส่วนจำนวนทหารเขาไม่ได้สังเกตมากนัก แต่เขาเห็นทหารราว 20 คน อยู่ตามมุมตึก 4-5 คน และอยู่บนถนนราว 15 คน

ในขณะที่เขาเดินอยู่นั้นเมื่อเดินมาถึงหน้าสนามมวยลุมพินี ฝั่งตรงกันข้ามบริเวณซอยงามดูพลี เขาเห็นมีคนกำลังใช้หนังสติ๊กกยิงไปทางทหารตอนนั้นเขายังไม่เห็นว่ามีอาวุธอย่างอื่น และเมื่อเขาเดินไปถึงสะพานลอยหน้าปากซอยปลูกจิต เขาเห็นคนเดิมกำลังเอาขวดน้ำมันปาไปทางทหารที่อยู่บริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยมได้ เพราะไปได้ไกลแค่ประมาณ 10 เมตร  ซึ่งไปไม่ถึงทหารและไม่สามารถทำอันตรายได้ เพราะเมื่อตกถึงพื้นก็เป็นเพียงเปลวไฟขึ้นมาวูบหนึ่ง และคนๆ นั้นก็อยู่ห่างจากจุดที่นายฐานุทัศน์ถูกยิงมาก

ตอนที่เขาอยู่ที่สะพานลอยคนข้ามในขณะนั้นเขาได้หันหน้าไปทางทหารเห็นทหารยืนเรียงแถวหน้ากระดานอยู่แต่ไม่เคลื่อนที่ เมื่อมีเสียงรถล้มเขาหันหลังกลับเห็นคนพยุงรถและเห็นนายฐานุทัศน์ล้มอยู่ ก่อนที่เขาจะเห็นายฐานุทัศน์ล้มเขาได้ยินเสียงปืนจากทิศที่ทหารอยู่เท่านั้น ส่วนประชาชนที่อยู่ใกล้กันกับเขาไม่เห็นว่ามีปืนนายฐานุทัศน์เองก็ไม่มี  หลังพานายฐานุทัศน์ไปส่งที่รถเขาไม่ได้ขึ้นรถไปด้วยเนื่องจากรถไม่มีที่ให้ขึ้นแล้ว จากนั้นเขาจึงได้เดินทางกลับบ้านโดยเดินต่อไปทางคลองเตย

 

นัดสืบพยานวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 56 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมพระธรรมนูญทหารมาสังเกตการณ์ในวันนี้ซึ่งเป็นการสืบพยานนัดที่สอง(นัดแรกวันที่ 6 ก.พ. ยังไม่มีเจ้าหน้าที่พระธรรมนูญเข้ามาสังเกตการณ์การไต่สวน) ขอดูสำนวนคดีกับอัยการที่ดูแลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฐานทัศน์ อัศวสิริมั่นคง แล้วไม่พบว่ามีพยานจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ในสำนวน  ต่อมา ทราบจากทนายญาติผู้ตายว่า ฝ่ายทหารจะทำหนังสือถึงศาลร้องขอให้มีการเรียกพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารมาเบิกความ

ทั้งนี้ทนายกล่าวอีกว่าในสำนวนการไต่สวนนี้ในช่วงที่สำนวนยังอยู่ในขั้นตอนสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน สน.บางรัก ทางเจ้าพนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือส่งให้กับทางฝ่ายทหารเพื่อเรียกพยานมาให้การในการสอบสวนแล้ว แต่ไม่มีการตอบรับกลับมา  ซึ่งทางพนักงานสอบสวนได้มีการนำสำนวนสอบสวนจากคดีของนายบุญมี เริ่มสุข ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันและบริเวณเดียวกัน แต่คนละช่วงเวลากัน  ซึ่งในสำนวนดังกล่าวมีพยานของฝ่ายทหารอยู่แล้วพนักงานสอบสวนจึงได้ส่งสำนวนต่อให้กับทางอัยการ  เมื่ออัยการทำสำนวนเสร็จและเห็นว่าสำนวนสมบูรณ์แล้วจึงได้ทำการยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพ

             พยาน

  1. นายอนิรุทธ์ ชวางกูร  ช่างภาพโทรทัศน์ ช่อง 7
  2. พ.ต.ต.นพ.เอกสิทธิ์ หงส์แก้ว กลุ่มงานนิติพยาธิ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ
  3. นายธนพร วงษณรัตน์ ทำการเกษตร

พยานปากแรก นายอนิรุทธ์ ชวางกูร เบิกความว่าเขาได้รับมอบหมายให้เข้าไปทำข่าวในที่ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 11-19 พ.ค. 53 โดยมีผู้ช่วยคือนายวัชรินทร์ แก่นเดียว คอบขับรถและส่งเทปกลับสถานีและนักข่าวหญิงอีกคนซึ่งเขาจำชื่อไม่ได้ และในวันที่ 14 เขาอยู่ในพื้นที่ถนนพระราม 4 ตั้งแต่เที่ยงจนราวสองทุ่ม ในระหว่างนี้เขาได้เห็นคนเจ็บหลายคนเนื่องจากเห็นมีรถพยาบาลและกู้ภัยเข้าออกพื้นที่ เขาคาดว่าคนเจ็บเกิดจากการถูกกระสุนปืนยิง

ในช่วงเหตุการณ์เขาอยู่ฝั่งทหารเห็นมีทหาราว 30 นาย บริเวณสนามมวยลุมพินี และมีทหารอยู่อีกฟากถนนอีกราว 30-40 นาย เช่นกัน ส่วนทางด้านผู้ชุมนุมอยู่ห่างออกไปทางบ่อนไก่ซึ่งห่างจากสนามมวยลุมพินีราว 100 เมตร ใกล้กับปั๊มน้ำมัน ปากซอยปลูกจิตมีผู้ชุมนุมอยู่เป็นจำนวนมาก  ทางฝ่ายทหารได้มีการยิงปืน M16 ยิงไปทางผู้ชุมนุม แต่เขาไม่ทราบว่าเป็นกระสุนจริงหรือกระสุนซ้อม และมีการใช้แก๊สน้ำตาด้วย ทางด้านผู้ชุมนุมได้ยิงพลุ ตะไล ในการตอบโต้กลับไป

ทหารได้ตั้งแถวเดินจากสะพานไทย-เบลเยี่ยมเข้าหาผู้ชุมนุมที่อยู่ทางด้านบ่อนไก่ตั้งแต่ช่วงเที่ยง 14.00 น. จึงได้เริ่มปฏิบัติการกระชับพื้นที่ ระหว่างนี้มีคนได้รับบาดเจ็บแต่เขาไม่ได้เห็นกับตาแต่เขาดูจากการที่มีรถพยาบาลและกู้ภัยพเข้าออกถนนพระราม 4  ทางด้านผู้ชุมนุมก็ได้ถอยจากบริเวณสนามมวยลุมพินีไปที่ซอยปลูกจิต ทหารจะมาถึงแค่สนามมวยลุมพินีและจับกุมผู้ชุมนุมที่เข้าใกล้ทหารได้ราว 10-20 คน แล้วใช้สายรัดมัดมือไพล่หลังเอาไว้  ผู้ชุมนุมได้ถอยไปจนถึงซอยปลูกจิตซึ่งตรงนั้นมีร้านชื่ออะไรเขาจำไม่ได้เขาจำได้เพียงมีคำว่า “ระเบียง” อยู่ในชื่อด้วย ซึ่งได้มีเสียงระเบิดดังขึ้นที่บริเวณนั้น แต่ในขณะเดียวกันในจุดที่เขาอยู่คือบริเวณสนามมวยลุมพินีมีคนตะโกนสั่งว่า “ใช้กระสุนจริงแล้ว” ซึ่งในจุดที่เขาอยู่นั้นมีกลุ่มทหารอยู่ใกล้ๆ ด้วย แต่เขาไม่ทราบว่าใครพูด

ในตอนค่ำเขาทราบว่าคนชื่อฐานุทัศน์ถูกยิงที่บริเวณสะพานลอยแถวบ่อนไก่จากคนที่อยู่ในบริเวณนั้น และเวลาราว 18.00-19.00 น. ได้มีระเบิดมาตกทางด้านขวามือของเขาซึ่งในขณะนั้นเขาได้หันหน้าไปทางบ่อนไก่ โดยตกห่างจากเขาราว 10 เมตร ทำให้ถูกเศษหินที่แตกจากการระเบิดทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ฝ่ามือและหัวเข่า เขาทราบว่าเป็น M79 จากทหารที่เตือนให้หลบจากนั้นเขาจึงไปแจ้งความที่สน.ลุมพินีแล้วจึงไปรักษาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาลพญาไท 2

ทนายถามว่าเขาเข้าพื้นที่ตั้งแต่เวลาใดและอยู่จุดในเขาได้ตอบว่า ตั้งแต่ 10 โมงเช้า แล้วเขาได้ไปขอเจ้าของร้านเสริมสวยที่อยู่หน้าสนามมวยลุมพินี ฝั่งตรงกันข้ามกับภัตตาคารจันทร์เพ็ญ ขึ้นไปบนอาคารเพื่อจะถ่ายภาพมุมกว้างโดยขึ้นไปด้วยกันหมดทั้ง 3 คน  ในขณะนั้นทหารอยู่บริเวณเชิงสะพานไทย-เบลเยี่ยม ราว 1 กองร้อยโดยมีอาวุธปืน M16 ปืนลูกซอง และโล่ หลังจากนั้นเขาลงจากตึกโดยปีนต้นไม้ลงเพราะเจ้าของได้ออกจากพื้นที่ไปก่อนแล้ว เมื่อลงมาแล้วจึงไปทางสนามมวยลุมพินี หลังแนวทหาร ตัวเขาไม่มีเกราะกันกระสุน มีปลอกแขนสีเขียว

ในช่วงเกิดเหตุมีคนบอกกับเขาว่ามีทหารอยู่บนตึกให้ระวัง โดยตึกดังกล่าวอยู่ฝั่งเดียวกับภัตตาคารจันทร์เพ็ญเขาได้ใช้กล้องหันไปแต่มองไม่เห็น

ทนายได้ถามถึงกล้องที่เขาใช้ว่าเป็นกล้องชนิด รุ่นอะไรและสามารถซูมภาพได้มากน้อยแค่ไหนเขาตอบว่ากล้องที่ใช้เป็นกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว ซูเปอร์เบต้าสามารถซูมภาพได้ในระยะไม่ต่ำกว่า 200 เมตร และทนายได้ถามกับเขาว่ารู้จักปืน M653 หรือไม่ เขาตอบปฏิเสธ ทนายถามคำถามสุดท้ายว่าในวันที่ 14 ร้านค้าในพื้นที่ยังเปิดให้บริการปกติหรือไม่ เขาบอกว่ายังเปิดตามปกติ

พยานปากที่สอง พ.ต.ต.นพ.เอกสิทธิ์ หงส์แก้ว เบิกความว่าเขาเป็นแพทย์ สบ.2กลุ่มงานพยาธิวิทยามีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุการตายที่พนักงานสอบสวนส่งศพให้ตรวจ และในวันที่ 27 ก.พ. 55 เวลา 23.45 น. พนักงานสอบสวน สน.บางรัก ได้ส่งศพนายฐานุทัศน์ให้ตรวจ วันรุ่งขึ้นเวลา 10.30 น. จึงได้ทำการตรวจ แต่ก่อนตรวจเขาไม่ทราบว่าได้เสียชีวิตเป็นเวลากี่วันแล้ว

จากนั้นเขาได้อ่านรายงานการตรวจศพสรุปได้ความว่า สภาพศพภายนอก พบบาดแผลเป็นลักษณะแนวเส้นโค้งบริเวณหน้าท้องด้านขวาส่วนบน  ที่บริเวณสะบักด้านขวามีแผลลักษณะแนวเส้นตรง  ที่ขากรรไกรล่างด้านขวามีแผลเป็นลักษณะแนวเส้นตรง และใต้สะบักซ้ายมีแผลเป็นรูปร่างค่อนข้างกลม  และพบแผลกดทับ  สภาพศพภายในที่บริเวณอกกระดูกซี่โครงด้านขวาซี่ที่ 4-5 หักทางด้านหลัง  ปอดขวามีเนื้อเยื่อพังผืดยึดติดผิวปอดกับเยื่อหุ้มผนังช่องอก เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจแขนงซ้ายมีผนังหนาร่วมกับหลอดเลือดมีลักษณะตีบแคบลง 50 % และพบหัวกระสุนปืนตะกั่วหุ้มทองแดง จำนวน 1 ชิ้น ฝังอยู่ใต้สะบักด้านขวาค่อนมาทางด้านนอก พบหย่อมกลุ่มเซลล์อักเสบแทรกในเนื้อปอด ตับพบก้อนเนื้อมะเร็งแทรกในเนื้อตับ สาเหตุการตาย ระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลว สันนิษฐานจากมะเร็งระยะลุกลาม ร่วมกับพบหัวกระสุนปืนบริเวณสะบักด้านขวา และมีการพบยารักษาสภาพศพในร่างกายตามอวัยวะภายในจุดต่างๆ และอวัยวะบางส่วนเริ่มมีการเน่า

แผลเป็นค่อนข้างกลมที่อยู่ใต้สะบักซ้ายไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากอะไร และยืนยันไม่ได้ว่าเกิดจากกระสุนหรือไม่ ส่วนแผลกดทับสภาพเป็นแผลเรื้อรังตรงตำแหน่งส่วนนูนของกระดูกซึ่งสัมผัสกับที่นอน อาจเกิดจากการกดทับกับที่นอน แผลกดทับสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และการติดเชื้อทำให้เสียชีวิตได้ แต่เพียงแค่แผลกดทับอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ แต่ในกรณีของนายฐานุทัศน์นั้นมีสาเหตุอื่นที่มาจากสภาพผู้ป่วยเนื่องจากพบว่ามีมะเร็งที่ตับอาจเป็นเหตุให้การติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น  การติดเชื้อที่ทำให้ถึงแก้ชีวิตจะต้องเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือด

ยารักษาสภาพศพที่ตรวจพบในร่างกายส่งผลต่อการตรวจในบางเรื่อง เพราะหากจะมีผลจะส่งผลต่อการตรวจหาสารเคมีหรือการตรวจปัสสาวะจะทำให้ตรวจไม่ได้เพราะเกิดการปนเปื้อน แต่ในกรณีนี้น้ำยากรักษาสภาพศพไม่ส่งผลต่อการตรวจศพของนายฐานุทัศน์ อวัยวะบางส่วนที่เริ่มเน่าไม่มีผลต่อการตรวจเช่นกัน ไม่พบบาดแผลภายนอก  การตรวจภายในไม่พบสิ่งผิดปกติที่ศีรษะและคอที่อกมีซี่โครงที่ 4-5 หักทางด้นหลังการหักจะต้องแรงมากระทำแต่บอกไม่ได้ว่าแรงเพียงใด  แต่ในรายนี้บอกไม่ได้แล้วว่าหักเมื่อใดเนื่องจากหักก่อนมีการตรวจศพนานแล้ว ปอดขวามีเยื่อพังผืดติดอยู๋กับเยื่อพนังช่องอก เนื่องจากมีการอักเสบมาก่อนหน้านี้ อาจเกิดจากการติดเชื้อหรืออักเสบถ้าเป็นมากสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ในรายนี้มีภาวะมะเร็งตับอาจเป็นเหตุสนับสนุนให้เสียชีวิตเร็วขึ้น ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีร่องรอยเคยได้รับการผ่าตัด  ไม่สามารถยืนยันได้อีกว่ามีส่วนใดมีบาดแผลที่เกิดจากกระสุนปืน ในความเห็นของเขาร่างกายส่วนที่เสียหายมากจนทำให้เสียชีวิตคือมะเร็งที่ตับ แต่มะเร็งที่ตับเป็นมะเร็งที่ลุกลามมาจากส่วนอื่น แต่ตรวจไม่พบว่าลุกลามมาจากส่วนอวัยวะใดหรืออาจจะเป็นเพราะว่ามะเร็งได้ถูกรักษาไปก่อนแล้วทำให้ตรวจไม่พบ  นอกจากนี้ยังพบหัวกระสุนปืนตะกั่วหุ้มทองแดงที่สะบักขวา

เขามีความเห็นว่านายฐานุทัศน์เสียชีวิตจากมะเร็งระยะลุกลามระบบโลหิตและหายใจล้มเหลวและพบหัวกระสุน ส่วนกระสุนที่พบในร่างกายสามารถอยู่ได้ตลอดไปและอยู่ในจุดที่ไม่มีอวัยวะสำคัญถ้าสามารถเอาออกได้ก็เอาออก แต่ถ้าเกิดอันตรายก็ไม่เอาออก แต่จุดที่พบไม่มีอวัยวะสำคัญจึงไม่จำเป็นต้องเอาออก และเขาคิดว่าแพทย์ที่ทำการรักษาเห็นว่าไม่เอาออกเนื่องจากอาจจะเกิดอันตรายมากกว่า และเขาเบิกความต่ออีกว่าแม้ว่าผู้ตายคนนี้ไม่ถูกยิงเหตุตายก็ยังอาจจะตายจากเหตุเดียวกันนี้

ทนายได้ถามเขาว่าเคยดูผลการตรวจรักษาก่อนหน้าที่นายฐานุทัศน์เสียชีวิตหรือไม่เขาตอบว่าไม่เคยและไม่ทราบสภาพก่อนหน้าที่เขาจะทำการตรวจ และเขาตรวจศพจากสภาพตามที่เห็นไม่ได้ใช้ผลการตรวจอื่นๆ ประกอบ ทนายได้ถามต่อว่าแผลเป็นที่ตรวจพบนั้นเกิดขึ้นมานานแค่ไหน เขาตอบว่าแผลเป็นที่ตรวจพบนั้นเป็นแผลที่เกิดก่อนการตรวจ 7 วันแน่นอน แต่นานแค่ไหนเขาไม่ทราบ ส่วนแผลกดทับนั้นเขาก็ไม่ทราบเช่นกันว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เกิดก่อนเสียชีวิตแน่นอน

ส่วนกระดูกซี่โครงซี่ที่ 4-5 ที่หักนั้นไม่เกี่ยวกับการเป็นอัมพาตแต่จากการตรวจศพเมื่อตรวจแล้วเขาไม่ทราบว่านายฐานุทัศน์เป็นอัมพาต  การตีบตันของเส้นเลือดที่เกิดจากผนังหลอดเลือดที่หนาสามารถทำให้เสียชีวิตได้แต่จากการตรวจศพที่พบว่าตีบแคบลง 50 % คาดว่าจะไม่ส่งผลต่อเลือดที่ส่งไปเลี้ยงหัวใจทำให้ถึงแก่ชีวิต ส่วนการที่ไม่สามารถหาอวัยวะต้นทางของมะเร็งที่ตับเจอนั้นอาจะเป็นเพราะว่าได้รับการรักษาไปแล้วหรือตรวจไม่พบเนื่องจากมะเร็งมีขนาดเล็กจนหาไม่พบ

ที่ปอดพบเซลล์อักเสบเป็นจำนวนมากแทรกในเนื้อปอดเนื่องจากการติดเชื้อมนปอดแต่ไม่ทราบว่าติดเชื้อจากอะไรซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ ในการติดเชื้อนั้นอาจจะเกิดจากสาเหตุประกอบอื่นๆ นอกจากมะเร็งที่พบอาจเกิดจากการเป็นอัมพาตเป็นเวลานานก็ได้แต่ในรายนี้เขาคิดว่าอาจจะเกิดจากมะเร็งมากกว่า

พยานปากที่สามนายธนพร วงษณรัตน์ เบิกความว่าเขาเป็นการ์ด นปช. คอยดูแลผู้ชุมนุม ในวันที่ 14 พ.ค. 53 เขาอยู่ในที่ชุมนุมตั้งแต่ 5.00 – 11.00 น. แล้วกลับไปที่โรงแรมทุ่งมหาเมฆ ในซอยงามดูพลีจากนั้นได้ออกมาชุมนุมอีกในเวลา 13.00-15.00 น.  เมื่อเขากลับออกมาชุมนุมอีกครั้งมีผู้ชุมนุมเล่าให้เขาฟังว่ามีคนถูกยิงที่สะพานลอยตรงบ่อนไก่ พระราม 4 ในเวลาประมาณ 12.00 – 13.00 น. เขาทราบในภายหลังว่าคนที่ถูกยิงนั้นชื่อนายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง

เวลาประมาณ 14.00 น. ตอนที่เขาอยู่ที่ปากซอยงามดูพลีเขาเห็นทหารราว 200-300 นาย แต่งกายชุดลายพราง ผ้าพันคอสีฟ้า มีโล่และปืนยาว หันหน้ามาทางบ่อนไก่และได้ทำการยิงอยู่หน้าสนามมวยลุมพินีโดยทหารเดินมาจากทางสะพานไทย-เบลเยี่ยม ทางผู้ชุมนุมและประชาชน 200-300 คน อยู่ห่างจากแนวทหารราว 100 เมตร หลังจากนั้นเวลาประมาณ 15.00 – 16.00 น.เขาได้เห็นนายบุญมี เริ่มสุขถูกยิงอยู่ข้างตู้โทรศัพท์หน้าซอยปลูกจิตใกล้ปั๊มน้ำมัน ปตท. ซึ่งตอนที่เขาเห็นนั้นได้มีเสียงปืนดังขึ้นและเขาได้เห็นว่าทหารได้มีการยิงโดยเล็งปืนมาทางผู้ชุมนุม เขาได้หันไปดูทางปั๊ม ปตท. เขาได้เห็นายบุญมีล้มอยู่ เห็นแล้วเขาจึงได้วิ่งข้ามจากฝั่งซอยงามดูพลีไปฝั่งปั๊ม ปตท. และได้พานายบุญมีเข้าไปในร้านกาแฟของปั๊มน้ำมันจากนั้นได้มีจักรยานยนต์มารับตัวไปส่งโรงพยาบาล  เขาได้บอกอีกว่าจุดที่นายฐานุทัศน์และนายบุญมีถูกยิงนั้นห่างกันราว 40 เมตร ซึ่งตรงจุดนั้นจะมีสะพานลอยคนข้ามอยู่จุดที่นายฐานุทัศน์ถูกยิงจะอยู่เลยสะพานออกไป

อาวุธที่ทหารใช้มีปืนM16 ทาโวร์ ปืนลูกซอง และแก๊สน้ำตา และเขาคิดว่ากระสุนที่ทหารใช้เป็นกระสุนจริงเพราะถ้าเป็นกระสุนยางก็ไม่น่าจะทะลุเสื้อผ้าได้ และเขาเคยเป็นทหารกองร้อยลาดตระเวณระยะไกล กองพลทหารราบที่ 6 จ.ร้อยเอ็ด เขาไม่เห็นชายชุดดำหรือว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธนอกจากนำยางมาจากร้านยาง

ทนายถามถึงเหตุการณ์ก่อนที่เขาจะกลับเข้าโรงแรมว่าทหารอยู่บริเวณใด เขาได้ตอบว่าตอนนั้นทหารอยู่ที่สะพานไทย-เบลเยี่ยม ตั้งแถวปิดฝั่งสาทรไม่ให้คนมารวมที่บ่อนไก่ ทหารได้มีการยิงด้วย ตอนราว 7 โมงหนึ่งรอบ  9 โมงหนึ่งรอบ เห็นเล็งไปทางที่คนอยู่ ทนายได้ถามถึงว่าในวันนั้นคนในบริเวณนั้นมีพฤติกรรมอย่างไรบ้างเขาตอบว่า ในเวลานั้นคนยังคงใช้ชีวิตตามปกติทั่วไปอยู่

จากนั้นทนายได้ถามถึงเหตุการณ์ตอนบ่ายหลังเขาออกจากโรงแรมกลับมาชุมนุม เขาตอบว่า ทหารได้ขยับแนวเข้ามาใกล้มากขึ้นโดยอยู่ตรงบริเวณสนามมวยลุมพินีซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่เขาอยู่ราว 200 เมตร และถามว่าเห็นมีการใช้ปืน M653หรือไม่เขาบอกว่าเห็น

 

นัดสืบพยานวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

วันนี้ทางฝ่ายทหารจากสำนักงานพระธรรมนูญทหารบกซึ่งได้รับมอบอำนาจจากรองผบ.ทบ. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ซึ่งทำหน้าที่แทนผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการยื่นหนังสือคำร้องขอนำพยานเข้าสืบซึ่งเป็นทหารจำนวน 3 นาย คือ พ.อ.เพชรพนม โพธิ์ชัย, ร.อ.ผดุงศักดิ์ ปิ่นเกตุ และร.อ.พีระพงศ์ พินิจรัตนพันธ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากกองพันทหารม้าที่ 5 กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในที่เกิดเหตุ และเพิ่มสำนวนคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำ ช.7/2555(คดีนายบุญมี เริ่มสุข)เขามาในการไต่สวนด้วย

             พยาน

  1. พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์  นักนิติวิทยาศาสตร์ ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจสถานที่เกิดเหตุและตรวจวิถีกระสุน  ผอ.สำนักตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
  2. พ.ต.ท.สุรพล ล้วนประเสริฐ  พนักงานสอบสวน สน.บางรัก
  3. พ.ต.ท.ปรีชา หนูประสิทธิ์  พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ

พยานปากแรก พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์  เบิกความว่า ตรวจพื้นที่ถนนพระราม 4 ครั้งแรกในวันที่ 24 ก.ย. 53 ตั้งแต่แยกวิทยุถึงใต้ทางด่วนเฉลิมมหานครโดยมีการตรวจทั้งถนนฝั่งขาเข้าและขาออกโดยพบรอยกระสุน 55 รอย จากกระสุน .223(5.56มม.),กระสุนลูกซอง และยืนยันชนิดไม่ได้ โดยทิศทางกระสุนจากทางด้านแยกวิทยุไปทางด่วนเฉลิมมหานครเป็นส่วนใหญ่  และเข้าตรวจอีกครั้ง 16 พ.ย. 53 ที่หน้าปั๊ม ปตท. บริวเณร้านอเมซอนภายในปั๊ม และฝั่งตรงข้ามคือซอยงามดูพลี   ที่บริเวณหน้าปั๊ม ปตท. เจอรอยกระสุนแต่ยืนยันชนิดไม่ได้  ส่วนทางด้านซอยงามดูพลี พบเศษกระสุนอยู่ข้างในเสา ระบุวันที่ไม่ได้แต่อยู่ในช่วง 14-16 พ.ค. 53

เขาได้รับการติดต่อจากทาง DSI ให้เข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุในวันที่ 24 ก.ย.53 เวลาราว 10โมงเช้า โดยเขาได้ทำรายงานการตรวจสถานที่ ภาพถ่าย และทำแผนที่  ที่บริเวณจุดนายฐานุทัศน์ถูกยิงป้ายรถประจำทางหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ พบรอยกระสุน 15 รอย จากกระสุนขนาด .223(5.56 มม.) ตามอาคารและบอกทางริมถนน หน้าบริษัทโตด้า พีวีซี จำกัด หน้าร้านแว่นท๊อปเจริญ ร้านแผงลอยริมถนน โดยมีทิศทางจากด้านแยกวิทยุไปใต้ทางด่วนเฉลิมมหานคร  รอยที่พบมีระดับความสูงตั้งแต่ไม่ถึง 1 ม. จนถึง สูงกว่า 2 ม. ขึ้นไปถ้ามีคนอยู่ในวิถีกระสุนก็อาจจะถูกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งกระสุน.223(5.56 มม.)  เป็นเครื่องกระสุนที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ใช้ได้เพาะเจ้าหน้าที่ ทหารและตำรวจ

ทนายได้ถามเขาว่าระยะหวังผลของกระสุนปืน .223 มีระยะเท่าไหร่ เขาได้ตอบ่าอยู่ในช่วง 300-400 ม. โดยมีระยะยิงไกลสุดอยู่ที่ 1 กม. และกระสุนชนิดนี้ใช้ได้ทั้งปืน M16 และ HK33

พยานปากที่สอง พ.ต.ท.สุรพล ล้วนประเสริฐ เบิกความว่าได้รับแจ้งถึงการเสียชีวิตของนายฐานุทัศน์ จากนางวรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคง เมื่อวันที่ 26 ก.พ.55 ในเวลา 14.50 น. โดยเธอได้แจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 12.00 น.เศษ เธอ นายฐานุทัศน์และลูกชาย ลูกสาว ได้ออกจากบ้านี่ทบ่อนไก่ ไปรอรถประจำทางที่ป้ายรถหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ขณะที่รออยู่นั้นก็ได้สังเกตเห็นทหารอยู่ที่สะพานไทย-เบลเยี่ยม ราว 10-15 นาย มีทั้งที่ถือและสะพายอาวุธปืนยาวอยู่ ทหารจะตั้งแถวอยู่บนสะพาน

ต่อมานางวรานิษฐ์ได้ยินเสียงปืนมาจากทางสะพานไทย-เบลเยี่ยม พวกเธอจึงได้วิ่งหนี นายฐานุทัศน์ได้บอกให้เธอและลูกๆ หลบเข้าไปในเซเว่นเอเลฟเวน แต่นางวรานิษฐ์ บอกให้ลูกทั้งสองคนวิ่งเข้าบ้านดีกว่า เมื่อถึงบ้านแล้วเธอได้โทรศัพท์หายนายฐานุทัศน์แต่ไม่รับสาย  จากนั้นพี่สาวของนางวรานิษฐ์ถามว่านายฐานุทัศน์ถึงบ้านหรือยังเธอได้ตอบว่ายังไม่กลับ ต่อมาเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทโทรศัพท์แจ้งกับเธอว่านายฐานุทัศน์ต้องผ่าตัดและเสียเลือดมากให้เธอไปที่โรงพยาบาล   เมื่อเธอไปถึงโรงพยาบาลนายฐานุทัศน์กำลังได้รับการรักษาอยู่   ต่อมาได้ย้ายไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลมเหสักข์ นายฐานุทัศน์เสียชีวิตในวันที่ 23 ก.พ.55 เวลา 22.25 น. ที่โรงพยาบาลมเหสักข์วันที่ 24 ก.พ.55 นางวรานิษฐ์ได้รับศพไปทำพิธีที่วัดหัวลำโพง

เขาได้รับแจ้งว่านายฐานุทัศน์เสียชีวิตจากการถูกยิงและปอดอักเสบ โดยในตอนแรกแจ้งว่าเป็นปอดอักเสบ ภายหลังแจ้งว่าถูกยิงจากทหาร จึงได้มีการร่วมกันชันสูตรพลิกศพโดยพนักงานสอบสวน แพทย์นิติวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และพนักงานอัยการ ตรวจพบหัวกระสุนตะกั่วหุ้มทองแดงที่สะบักด้นขวาจึงส่งไปตรวจพิสูจน์ จากนั้นเขาได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาและไปถึงผู้กำกับการ เขาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีด้วย เมื่อทำการสอบสวนได้พบคลิปบนอินเตอร์เนตจึงได้หาคนถ่ายคลิปดังกล่าวแล้วพบว่าคือนายอนิรุทธ์ ชวางกูร

ทนายได้ซักถามถึงการขีดฆ่าสาเหตุการเสียชีวิตในมรณบัตรและมีการแก้ไขจากปอดอักเสบเป็น ระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจล้มเหลวและพบหัวกระสุนว่ามีการแก้เมื่อไหร่ เขาไม่ทราบ

พยานปากที่สาม พ.ต.ท.ปรีชา หนูประสิทธิ์ เบิกความว่าจากมติคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีคำสั่ง 3/2553  ให้คดีที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายในเหตุการณ์ชุมนุมปลายปี 52 เป็นคดีพิเศษ และนางวรานิษฐ์ได้แจ้งความว่านายฐานุทัศน์ถูกยิงบาดเจ็บเมื่อ 14 พ.ค.53 เวลา 12.00 น. ที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ลุมพินี หลังสน.ลุมพินีส่งสำนวน DSI ได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 338/2553 และได้มีคำสั่ง 222/2553 ให้สืบสวนตามมติคณะกรรมการคดีพิเศษ

ในสำนวนมีคำให้การของนางวรานิษฐ์และนายฐานุทัศน์ก่อนเสียชีวิต และมีเอกสารการสอบสวนของพ.ต.ท.ยุต ทองอยู่ ทำไว้มีบันทึกการตรวจสถานที่ แผนที่  DSI ได้ทำหนังสือร้องขอรายงานผลการตรวจของแพทย์ไปทั้งโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทและโรงพยาบาลมเหสักข์  จากการติดตามของเขาได้รายงานมาจากโรงพยาบาลมเหสักข์เพียงแห่งเดียว

เขาได้คุยกับหัวหน้าชุดสอบสวนเนื่องจากไม่มีประจักษ์พยานอื่นๆ ในคำให้การของนายฐานุทัศน์และนางวรานิษฐ์นอกจากลูกชายและลูกสาว จึงเห้นควรให้นำพยานในคดีอื่นที่เสียชีวิตในวัน เวลาและสถานที่เดียวกันมารวม แต่ยังไม่พบว่ามีเขาจึงไม่มีความเห็นใดๆ ต่อสำนวนการสืบสวนนี้

เขาได้อธิบายถึงเหตุที่สำนวนการสืบสวนมาอยู่ที่ สน.บางรักได้ ว่าพนักงานสอบสวน สน.บางรักได้แจ้งว่านายฐานุทัศน์เสียชีวิตแล้วจึงได้ทำหนังสือขอสำนวนการสืบสวน 338/2553 จากทาง DSI เขาจึงได้ทำหนังสือส่งสำนวนให้กับทางสน.บางรัก

 

นัดสืบพยานวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556

วันนี้ศาลได้ยกคำร้องนำพยานเข้าสืบจากทางฝ่ายทหารโดยให้เหตุผลว่า “ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.150 ให้อำนาจพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนและให้สิทธิญาติของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบและสืบพยานหลักฐานอื่นได้  โดยไม่ปรากฎว่าได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ยื่นคำร้องขอสืบพยานหลักฐานได้  ให้ยกคำร้อง”

             พยาน

  1. นางวรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคง ภรรยานายฐานุทัศน์
  2. นพ.อำนาจ กุสลานันท์  แพทย์ที่ปรึกษานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท และ โรงพยาบาลมเหสักข์ ปัจจุบันเป็นแพทย์ที่ปรึกษาประจำ โรงพยาบาลศิริราช
  3. นายนนท์นริฐ อัศวสิริมั่นคง ลูกชายนายฐานุทัศน์
  4. พ.ต.ท.กิตติศัดิ์ ยาคุ้มภัย กองพิสูจน์

พยานปากแรกนางวรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคงเบิกความว่า นายฐานุทัศน์เป็นมะเร็งท่อน้ำดี อาการราวช่วงกลางเดือนมิ.ย.52 จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลมเหสักข์มีการเจาะเลือด  แต่การรักษาไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ

นางวรานิษฐ์ได้เบิกความถึงเหตุการณ์วันที่ 14 พ.ค.53 ว่าเธอ นายฐานุทัศน์(ใส่เสื้อยืดคอปกสีเขียว กางเกงสีน้ำเงินเข้ม) และลูกทั้ง 2 คนออกจากเคหะบ่อนไก่จะไปโลตัส พระราม 4 ในเวลาประมาณ 11.00 น.เศษ ก่อนเที่ยง ไปรอรถประจำทางที่ป้ายรถหน้าธนาคารไทยพาณิชย์  ซึ่งในบริเวณนั้นมีโรงรับจำนำและเซเวนเอเลฟเวนอยู่ใกล้ๆ ในระหว่างที่กำลัรอรถอยู่นั้นเหตุการณ์ยังปกติ ต่อมาประมาณเที่ยงรถบนถนนน้อยลงและมีจักรยานยนต์รับจ้างขับเข้ามาถามว่าจะไปที่ไหนหรือไม่ เธอปฏิเสธเขาไปแล้วเขาได้บอกเธอว่ามีทหารปิดถนนอยู่จึงได้ถามเขาไปว่าปิดถนนทำไมแต่เขาไม่ทราบ  เธอมองไปทางสะพานไทย-เบลเยี่ยมเห็นทหารราว 10 กว่าคน อยู่ที่เชิงสะพานถืออาวุธปืน  เธอและลูกเข้าไปในเซเว่นเอเลฟเวน ส่วนนายฐานุทัศน์แยกไปซื้อล็อตเตอรี่ซึ่งห่างออกไปราว 10 เมตร  และจุดที่อยู่นั้นห่างจากแนวทหารราว 200 เมตร เมื่อเห็นว่ารถจะไม่มาแล้วก็เลยบอกกับลูกๆ ว่าให้กลับเข้าบ้านแต่ได้มีเสียงที่ดังมากเกิดขึ้น คนในบริเวณนั้นเกิดความตกใจและวิ่งหนี  นายฐานุทัศน์เดินกลับมาถามเธอว่าเกิดอะไรขึ้น เธอได้บอกให้เขาดูทหารทางสะพานไทย-เบลเยี่ยม ตอนนั้นทหารตั้งแถวหน้ากระดานและสะพายปืนตั้งขึ้นเล็งมาทางที่เธอยืนอยู่ จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นชุดแล้วหยุดจากทางสะพานไทย-เบลเยี่ยม  นายฐานุทัศน์บอกให้เธอพาลูกๆ เข้าไปในเซเว่นเอเลฟเวนแต่เธอได้กลับบ้านเลย  โดยระหว่างกลับเข้าบ้านได้โทรศัพท์หายนายฐานุทัศน์แต่ไม่รับสายจนกระทั่งกลับถึงบ้านพี่สาวของนายฐานุทัศน์ได้โทรศัพท์มาหาถามว่าอยู่กันครบหรือไม่เพราะได้ยินมาว่ามีคนในชุมชนบ่อนไก่ถูกยิง

ต่อมาเวลา 13.00 น. เศษ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทโทรศัพท์แจ้งว่านายฐานุทัศน์ถูกนำตัวมารักษาและเสียเลือดมากให้รีบไปที่โรงพยาบาล  เมื่อเธอไปถึงโรงพยาบาลแพทย์ได้แจ้งกับเธอว่านายฐานุทัศน์ถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่กระดูกสันหลัง เธอจึงขอพบนายฐานุทัศน์  เมื่อได้พบเขาได้ถามเธอว่าทำไมขาไม่มีความรู้สึก เธอจึงถามแพทย์แจ้งว่าสามีถูกยิงด้วยอาวุธปืนเข้าที่กระดูกสันหลัง ทะลุปอดด้านขวาทำให้เสียเลือดมากจึงต้องผ่าเอาออก และพบกระสุนฝังอยู่ที่สะบักด้านขวา 1 นัด อาจพิการและเดินไม่ได้ไปตลอดชีวิต จากนั้นมีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าจะมีเคอร์ฟิวตอน 18.00 น. ให้รีบกลับบ้าน

ในช่วงเกิดเหตุยังไม่มีการชุมนุมและเธอยังไม่พบเห็นชายชุดดำ ไม่พบคนมีอาวุธปืน เธอคิดว่าที่นายฐานุทัศน์ถูกยิงเพราะเข้าใจว่าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม  วันนั้นเธอยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนช่วยนายฐานุทัศน์แต่ในระหว่างที่เขารักษาตัวอยู่นายเอกสิทธิ์ วงศ์คำมาได้มาเยี่ยมและเขาได้เราให้เธอฟังในภายหลัง

นายฐานุทัศน์รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทจนถึงวันที่ 4 มิ.ย.53 และย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลมเหสักข์  ขณะนั้นแพทย์ต้องระบายเลือดออกจากปอด สามีมีอาการขาอ่อนแรงทั้งสองข้าง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยแพทย์แจ้งว่าเป็นอัมพาตช่วงล่างอย่างถาวร  แล้วออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 7 ก.ค.53 ไปรักษาตัวที่บ้าน

วันที่ 26 มิ.ย.53 ช่วงที่ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาลมเหสักข์ เธอได้ไปแจ้งความข้อหาพยายามฆ่าที่ สน.ลุมพินี ในวันนี้ได้ให้การ และไปสถานที่เกิดเหตุเพื่อชี้จุดถ่ายภาพและทำแผนที่ไว้แต่ยังไม่ได้ลงบันทึกประจำวัน จนในอีก 3 วันต่อมา ในวันที่ 29 จึงได้มีการลงบันทึกประจำวันไว้ และตำรวจจากสน.ลุมพินีได้ไปสอบปากคำนายฐานุทัศน์ที่โรงพยาบาลมเหสักข์

ต้นเดือนต.ค.54 นางวรานิษฐ์พานายฐานุทัศน์ไปส่งโรงพยาบาลมเหสักข์เนื่องจากเขามีอาการเจ็บต้นคอ แน่นหน้าอก แพทย์ได้ทำการผ่าตัดที่คอในวันที่ 20 ต.ค.  เนื่องจากกระดูกต้นคอเสื่อมจากการได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกยิงที่ประสาทไขสันหลังและหายใจเองไม่ได้เนื่องจากกล้ามเนื้อปอดไม่ทำงานทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอัมพาตทั้งตัวแขนอ่อนแรงทั้งสองข้าง  จากนั้นได้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน  วันที่ 11 พ.ย. เธอได้นำตัวนายฐานุทัศน์กลับไปรักษาที่โรงพยาบาลมเหสักข์อีกครั้งเพราะมีอาการหายใจไม่ออกและแขนยังอ่อนแรงอยู่ รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลต่อเนื่องจนถึงวันที่ 5 ธ.ค.จึงมีการเจาะคอและอยู่ใน ICU จนถึง 23 ก.พ. 55 เวลา 22.20 น. เจ้าหน้าที่ ICU โทรศัพท์แจ้งกับเธอว่านายฐานุทัศน์กำลังจะเสียชีวิตคาดว่าจะไม่เกินในอีก 10 นาที เธอเกิดอาการช็อคเมื่อเธอฟื้นจึงได้โทรกลับไปเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับเธอว่าเขาได้เสียชีวิตแล้ว เวลา 22.35 น. จึงเสียชีวิต วันรุ่งขึ้นจึงได้ไปรับศพที่โรงพยาบาลและทางโรงพยาบาลได้ออกใบมรณบัตรโดยระบุว่าปอดอักเสบ จากนั้นเธอจึงนำศพไปทำพิธีที่วัดหัวลำโพง  26 ก.พ. จึงได้แจ้งความที่สน.บางรัก กับ พ.ต.ท.สุรพล ล้วนประเสริฐ พ.ต.ท.สาธิต ภักดี และร.ต.อ.สุทิน ซ้อนรัมย์ จากนั้นจึงได้ส่งศพไปตรวจที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจในวันที่ 27 ก.พ. และตรวจในวันรุ่งขึ้น โดยระบุสาเหตุการตายว่า ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจล้มเหลวและพบหัวกระสุน

นางวรานิษฐ์ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อกระทรวงการคลัง, กระทรวงกลาโหมและกองทัพบก ที่ศาลแพ่ง รัชดา เป็นเงิน 1,700,000 บาท  แต่ได้ถอนฟ้องตามเงื่อนไขรับเงินเยียวยาจากทางรัฐบาล ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้จ่ายเป้นจำนวนเงิน 7 ล้านบาทเศษ

เธอได้ตอบการซักถามของทนายว่าก่อนเกิดเหตุในวันที่ 14 เส้นทางยังใช้ได้ตามปกติ ร้านค้ายังเปิดหนาแน่น อาคารสำนักงานต่างๆ ยังเปิดตามปกติ ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการใช้กำลังทหารในบริเวณนั้นมาก่อน แต่เธอทราบว่ามีการชุมนุมที่แยกศาลาแดงและสี่แยกราชประสงค์  หลังได้รับแจ้งจากทางโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทขณะกำลังจะเดินทางออกไปจากบ่อนไก่เธอได้ยินเสียงปืนดังตลอด และต้องใช้เส้นทางอ้อมออกไปทางคลองเตย ซึ่งไม่มีรถวิ่งเข้าถนนพระราม 4 แล้วมีแต่รถเลี้ยวออกไปทางศูนย์สิริกิติ์

ทนายซักถามถึงการเจ็บป่วยของนายฐานุทัศน์ก่อนถูกยิงเธอได้ตอบว่ามะเร็งท่อน้ำดี ได้มีการผ่าตัดไปตั้งแต่ ก.ย.52 จากนั้นมีการฉายแสงและทำเคมีบำบัดตั้งแต่เดือนม.ค.53 จนถึงเม.ย. 53 จนครบแล้ว และแพทย์ได้ให้มีการรายงานผลทุก 3 เดือน แต่หลังจากที่นายฐานุทัศน์ถูกยิงก็ไม่ได้ให้เขาไปตรวจแต่ได้ให้พยาบาลจากศูนย์อนามัยชุมชนบ่อนไก่มาเจาะเลือดเพื่อนำเลือดที่บ้านและเธอเป็นคนนำเลือดไปตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาฯ  ตามกำหนด ผลตรวจมะเร็งไม่ได้อยู่ในระยะลุกลามและเลือดเป็นปกติดี

พยานปากที่สอง นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เบิกความว่าเป็นผู้ตรวจบาดแผลและออกรายงานชันสูตรบาดแผลตอนที่นายฐานุทัศน์ยังไม่เสียชีวิตจากการตรวจพบบาดแผลกระสุนปืนที่หลังทะลุกระดูกไขสันหลังได้รับบาดเจ็บทำให้ขาเป้นอัมพาต โดยขาได้ทำการตรวจให้ทั้งขณะที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทยและโรงพยาบาลมเหสักข์  โดยนายฐานุทัศน์รักษาที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทเป็นเวลา 22 วัน และตอนที่ย้ายโรงพยาบาลนั้นขาทั้งสองข้างเป็นอัมพาตไม่สามารถช่วยตัวเองได้

เขาเบิกความอีกว่าการบาดเจ็บของนายฐานุทัศน์หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เนื่องจากกระสุนทะลุเข้าปอดและกระดูกไขสันหลังและประสาทไขสันหลัง  พบบาดแผลกระสุนปืนที่บริเวณหลังและเมื่อเอ็กซเรย์พบหัวกระสุนที่สะบักขวา  แพทย์ที่ผ่าตัดได้ทำการผ่าตัดเอาหัวกระสุนออก การบาดเจ็บทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อาจทำให้เกิดแผลกดทับ และในกรณีนี้ก็มีบาดแผลกดทับที่ก้นกบและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อจนเสียชีวิตได้ ซึ่งก็มีแผลติดเชื้อที่ก้นกบ

นพ.อำนาจตอบการซักถามของทนายว่าเขาเป็นผู้ตรวจบาดแผลแต่แพทย์ที่รักาเป็นทีมอื่นซึ่งเป็นคณะแพทย์ของทางโรงพยาบาลของแต่ละโรงพยาบบาล   เขาได้ตรวจบาดแผลหลังจากที่ถูกยิงในช่วงแรกของการรักษา  แต่ไม่ได้ตรวจช่วงก่อนเสียชีวิต  เขาทราบว่านายฐานุทัศน์เสียชีวิตจากการดูประวัติการรักษา   จากที่มรณบัตรลงเอาไว้ในความเห็นของเขาปอดอักเสบเกิดได้จากการบาดเจ็บที่ปอดขวาจากบาดแผลกระสุนปืนหรืออาจเกิดจากการที่อยู่นิ่งเป็นเวลานานจากการเป็นอัมพาต  ส่วนกระสุนที่สะบักขวาเขายืนยันไม่ได้ว่าเป็นกระสุนนัดเดียวกันกับที่เขาจากหลังทะลุไขสันหลังและปอดหรือไม่ และไม่ทราบว่ากระสุนทะลุอย่างไร  เขาไม่ทราบว่านายฐานุทัศน์มีอาการเจ็บป่วยอื่นหรือไม่

พยานปากที่สามนายนนท์นริฐ อัศวสิริมั่นคงเบิกความว่าวันที่ 14พ.ค.53 เวลา 12.00น. เศษ เขากำลังจะไปโลตัสพระราม 4 กับครอบครัวโดยไปขึ้นรถประจำทางที่ป้ายซึ่งมีเซเว่นเอเลฟเวน โรงรับจำนำ และธนาคารไทยพาณิชย์สาขาลุมพินีอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

เขาเข้าไปในเซเวนเอเลฟเวนแล้วเดินออกมา มีเสียงดังคล้ายระเบิดเกิดขึ้น  นางวรานิษฐ์จึงพาเขาและน้องสาวหลบที่โรงจำนำอยู่ราว 10 นาที  จากนั้นนายฐานุทัศน์เดินมารวมกัน มีเสียงปืนดังขึ้นผู้คนวิ่งหนีกันอลหม่าน เขาจึงมองไปทางสะพานไทย-เบลเยี่ยมเขาจึงเห็นว่ามีทหารอยู่  ขณะนั้นมีเสียงปืนดังเป็นระยะ เขาก็เข้าเซเวนเอเลฟเวนอีกครั้งนางวรานิษฐ์ได้เดินเข้าไปตามแล้วบอกว่ากลับดีกว่าเพราะเกรงว่าอาจจะเกิดอันตราย

ระหว่างที่กำลังเดินเข้าบ้านได้พยายามโทรศัพท์หานายฐานุทัศน์แต่ไม่รับสาย  เมื่อถึงบ้านแล้วป้า(พี่สาวนายฐานุทัศน์) ได้โทรศัพท์หานางวรานิษฐ์ถามว่าครอบครัวอยู่กันครบหรือไม่เนื่องจากทราบว่ามีคนในชุมชนบ่อนไก่ถูกยิง หลังจากนั้นโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทได้โทรศัพท์มาแจ้งว่านายฐานุทัศน์ถูกยิง  เขา แม่และน้องสาวจึงไปที่โรงพยาบาลพบนายฐานุทัศน์อยู่ในห้องไอซียู แพทย์ได้แจ้งว่านายฐานุทัศน์อาจจะเป็นอัมพาตที่ขา

นายนนท์นริฐ เบิกความด้วยว่าไม่เห็นว่าใครเป็นยิงนายฐานุทัศน์ แต่เขาคิดว่าเป็นทหารยิงบิดาพยานเพราะว่าช่วงนั้นทหารมากระชับพื้นที่จัดการการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมขณะนั้น  ส่วนป้ายรถประจำทางที่พยานอยู่นั้นห่างจากสะพานไทย-เบลเยี่ยมประมาณ 200 เมตร ขณะเกิดเหตุนายฐานุทัศน์สวมเสื้อโปโลสีเขียว กางเกงสีเทาดำ   ก่อนเกิดเหตุนายฐานุทัศน์ไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับใครมาก่อน

พ.ต.ท.กิตติศักดิ์  ยาคุ้มภัย เบิกความว่าหัวกระสุนที่ได้จากการผ่าศพนายฐานุทัศน์ซึ่งได้รับมาตรวจเป็นกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223(5.56 มม.) ซึ่งสามารถใช้กับปืนเล็กยาว M653 ได้  สำหรับอาวุธปืนเล็กยาว M653 สามารถเปลี่ยนลำกล้องใช้ร่วมกับปืนเล็กกลขนาดเดียวกันได้ เช่น M16 ซึ่ง M16 มีหลากหลายรุ่น เช่น M16 A1 หรือ M16 A2 เป็นต้น

เขาเบิกความอธิบายถึงการใช้กระสุนซ้อมรบว่า กระสุนซ้อมรบหรือลูกแบลงค์(Blank) เป็นกระสุนที่ไม่มีหัว จะมีดินปืนบรรจุอยู่ในปลอกกระสุนบรรจุและส่วนปลายของปลอกกระสุนจะเป็นจีบปิดเอาไว้ ดังนั้นเวลายิงจะมีเสียงดังออกไป โดยทั่วไปการยิงกระสุนซ้อมรบแบบยิงต่อเนื่องจะต้องใช้อแดปเตอร์ครอบที่ปากลำกล้องปืน หน้าที่ของอแดปเตอร์เพื่อให้มีการคัดปลอกกระสุนออกจากรังเพลิงแล้วถบรรจุกระสุนเข้าไปใหม่ทำให้สามารถยิงต่อเนื่องได้  ซึ่งการทำงานของอแดปเตอร์จะครอบปลายลำกล้องปืนเพื่อไม่ให้พลังงานหรือแรงขับเวลาพุ่งออกไปหมดเมื่อทำการยิงไปแล้ว  เพื่อทำให้ลูกเลื่อนของปืนวิ่งถอยหลังแล้วดึงปลอกกระสุนออกจากรังเพลิง และเมื่อลูกเลื่อนตีกลับเข้าตำแหน่งเดิมก็จะดันให้กระสุนนัดถัดไปเข้าสู่รังเพลิง  ดังนั้นอแดปเตอร์จะเป็นตัวทำให้กระบวนการทำงานสมบูรณ์ แต่ถ้าไม่มีอแดปเตอร์ก็สามารถยิงกระสุนซ้อมรบได้แต่จะยิงได้ครั้งละ 1 นัด  ถ้าต้องการยิงในนัดต่อไปต้องใช้มือดึงคันรั้งลูกเลื่อนถอยหลัง เพื่อทำการคัดปลอกกระสุนออกจากรังเพลิง และเมื่อปล่อยคันรั้งลูกเลื่อนตีกลับไปในตำแหน่งเดิมก็จะเป็นการบรรจุกระสุนนัดต่อไปเข้ารังเพลิง

อัยการได้มีการเปิดวิดีโอเหตุการณ์จากนายอนิรุทธิ์ ชวางกูร(พยานช่างภาพช่อง 7) เพื่อให้พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ พิจารณาว่ามีการใช้อแดปเตอร์หรือไม่ เขายืนยันว่าในวิดีโอมีเจ้าหน้าที่ทหารที่ถือปืน M16 ไม่ได้ใช้อแดปเตอร์ แต่จากการดูวิดีโอไม่สามารถบอกได้ว่าใช้กระสุนจริง, กระสุนยางหรือกระสุนซ้อมรบแต่กระสุนยางนั้นจะใช้ในปืนลูกซองส่วนกระสุนซ้อมรบจะใช้ในปืนเล็กกล .223เท่านั้น  เขาชี้แจงด้วยว่ากระสุน .223 ซึ่งเป็นพยานวัตถุ มีใช้ในราชการทหาร ตำรวจและกรมการปกครองเท่านั้น คนทั่วไปไม่สามารถมีได้

พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ เบิกความว่าอาวุธปืนเล็กกลขนาด .223 นั้น โดยทั่วไปมีระยะหวังผลอยู่ที่ 300-400 เมตร แต่ถ้าเลยจากระยะหวังผลแล้วบางช่วงบางจังหวะก็ยังสามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน สำหรับกระสุนซ้อมรบและกระสุนยางนั้นไม่สามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยวัตถุประสงค์ของกระสุนซ้อมรบคือส่งเสียงสร้างจังหวะในการซ้อม ส่วนกระสุนยางมุ่งเน้นไปที่การปราบการจลาจลและยิงได้ไม่ถึง 100 เมตร จะอยู่ที่ราวๆ 50 เมตร

เขาได้ตอบการซักถามของทนายว่า ปืนเล็กกลขนาด .223 นั้นมีหลายยี่ห้อ เช่น HK, FN, M16และ M653 เป็นต้น ซึ่งปืนเหล่านี้ถูกผลิตเพื่อให้ใช้กับกระสุนขนาด .223 ได้ ส่วนเสียงของกระสุนจริงนั้นจะดังกว่ากระสุนซ้อมรบแต่เขาไม่สามารถยืนยันถึงความต่างได้

 

นัดสืบพยานวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

             พยาน

  1. พ.ต.ท.สาธิต ภักดี พนักงานสอบสวน สน.ราษฎร์บูรณะ
  2. นพ.ปิยะ ปรีดียานนท์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลมเหสักข์

พยานปากแรก พ.ต.ท.สาธิต ภักดี เบิกความว่าเดิมเขารับราชการอยู่ที่ สน. บางรักตั้งแต่ปี 2540- ธ.ค. 2555 มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางรัก แล้วจึงได้ย้ายไป สน.ราษฎร์บูรณะ 6 ธ.ค. 55 ซึ่งในช่วงที่ยังรับาราชการที่สน.บางรักอยู่นั้น ปลายเดือน ก.พ.55 นางวราฯษฐ์ อัศวสิริมั่นคงได้เข้าแจ้งความที่ สน.บางรัก กับ พ.ต.ท.สุรพล ล้วนประเสริฐ แจ้งความว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 12.20-13.06 น. นายฐานุทัศน์ได้ถูกกระสุนปืนจากเจ้าหน้าที่ทหารยิง โดยวันเกิดเหตุ เวลาประมาณเที่ยงเศษ  นายฐานุทัศน์ นางวรานิษฐ์และลูกทั้งสองคนออกจากบ้านเพื่อที่จะไปห้างโลตัส พระราม 4 จึงได้ออกไปรอรถประจำทางที่ป้ายรถหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี ซึ่งใกล้ๆ กันนั้นมีโรงรับจำนำและร้านเซเว่นเอเลฟเวนอยู่ด้วย พวกเธอรอรถอยู่สักพักไม่เห็นว่ามีรถประจำทางมาเธอจึงชะโงกมองไปทางสะพานไทย-เบลเยี่ยม เห็นมีทหารอยู่บริเวณสะพาน เธอจึงคิดว่าที่รถไม่มาก็เนื่องมาจากมีทหารปิดถนนอยู่  จากนั้นได้มีเสียงปืนดังขึ้น นายฐานุทัศน์จึงให้นางวรานิษฐ์และลูกๆ หลบเข้าเซเว่นเอเลฟเว่น  แต่เธอคิดว่ากลับเข้าบ้านเลยจะดีกว่าจึงได้บอกลูกๆ ให้กลับเข้าบ้านเลย เมื่อกลับถึงบ้านเวลาประมาณ 13.00 น. เศษ ทางโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทได้โทรศัพท์มาแจ้งว่านายฐานุทัศน์ถูกยิง หลังจากทำการรักษาที่โรงพยาบาลโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทจึงได้ย้ายไปโรงพยาบาลมเหสักข์

นายฐานุทัศน์ได้เสียชีวิตในวันที่ 23 ก.พ.55 เวลา 22.00 น.เศษ ศพของนายฐานุทัศน์ได้ถูกส่งไปที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิต แพทย์ได้ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจล้มเหลว และพบหัวกระสุน พ.ต.ท.สุรพลจึงได้เสนอไปทางบก.น. 6 ทางบก.น.6ได้มีคำสั่ง 45/55 แต่งตั้งพนักงานสอบสวนเพื่อทำการสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ซึ่งมีเขาเป็นหนึ่งในนั้น หัวกระสุนที่พบในศพได้นำส่งกองพิสูจน์หลักฐาน ผลการพิสูจน์พบว่าเป็นหัวกระสุนขนาด .223(5.56 มม.)

เขาเบิกความว่าตัวเองเป็นพนักงานสอบสวนคดีช.34/2553 นายบุญมี เริ่มสุข ซึ่งถูกยิงวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 16.00 น. จึงได้มีการอ้างพยานจากสำนวนการสอบสวนนายบุญมีเข้ามาในคดีของนายฐานุทัศน์ด้วยซึ่งทางพนักงานสอบสวนได้ลงความเห็นในกรณีการเสียชีวิตของนายบุญมีว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร

เขาได้เบิกความสรุปถึงการสอบสวนคดีนี้ว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.53 กลุ่ม นปช.ได้มีการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา วันที่ 3 เม.ย. ได้มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งแยกไปตั้งเวทีที่แยกราชประสงค์  วันที่ 7 เม.ย. นายอภิสิทธิ์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้มีการออกคำสั่งพิเศษที่ 1/53 ตั้งศอฉ. และออกคำสั่งพิเศษที่ 2/53 แต่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. ศอฉ.ได้ออกคำสั่ง 1/2553 ให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาปฏิบัติงานที่ ศอฉ. วันที่ 10 เม.ย. ศอฉ. ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ทหารให้ขอคืนพื้นที่ ได้เกิดการผลักดันและปะทะกันเกิดขึ้น มีประชาชนถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนทหารได้ถูกระเบิดเสียชีวิต  14 เม.ย. ผู้ชุมนุมได้ย้ายการชุมนุมไปที่แยกราชประสงค์เพียงแห่งเดียว  26 เม.ย. มีคำสั่งเจ้าหน้าที่ตั้งด่านแข็งแรงรอบราชประสงค์

14 พ.ค. เวลา 11.00 น. ศอฉ.ได้มีคำสั่งทางวิทยุ ให้เข้าขอคืนพื้นที่ถนนพระราม 4 ตั้งแต่แยกวิทยุมุ่งไปทางทางด่วยนพระราม 4 โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกองพันทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ ซึ่งอยู่ในการบังคับบัญชาของผู้บังคับกองพัน พ.อ.เพชรพนม โพธิ์ชัย โดยเริ่มผลักดันผู้ชุมนุมในช่วงเที่ยง  จากแยกวิทยุไปทางทิศทางด่วนพระราม 4 มาจนถึงปั๊มปตท. หน้าซอยปลูกจิต  ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่มีการชุมนุม ร้านค้ายังคงเปิดค้าขายตามปกติ จนช่วงเที่ยงเศษๆ ถึงมีผู้ชุมนุมมาเพิ่มขึ้นบริเวณใต้สะพานลอยหน้าธนาคารไทยพาณิชย์  ทางฝ่ายทหารได้มีการตั้งแถวหน้ากระดาน ใช้ปืนยิงทั้งยิงขึ้นฟ้าและเล็งใส่ผู้ชุมนุม โดยใช้ทั้งปืน M653 และปืนลูกซอง ซึ่งปืน M653 เป็นปืนที่ใช้กระสุนขนาด .223 เป็นปืน M16 รุ่นหนึ่ง ในขณะที่ทหารปฏิบัติการอยู่นั้น

มีพยานนักข่าวชื่อนายอนิรุทธิ์ ชวางกูรเดินตามหลังทหารเพื่อถ่ายวิดีโอ  นายอุเชนทร์ เชียงเสน ซึ่งอาศัยอยู่ที่คอนโดในบริเวณนั้นซึ่งได้ถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ทหารขณะกำลังทำการผลักดันผู้ชุมนุม และเขายังได้ไปสัมภาษณ์นายฐานุทัศน์ที่บ้านพร้อมกับน.ส.อัจฉรา อิงคามระธร  ได้ถ่ายวิดีโอการสัมภาษณ์ไว้ จากการสัมภาษณ์ได้ความว่า ตอนที่นายฐานุทัศน์อยู่ในที่เกิดเหตุนั้น ได้มีเสียงปืนดังขึ้นเขาจึงหันหลังวิ่งหนีจากนั้นเขาก็หน้ามืดไป และได้มีพยานคนหนึ่งเข้าไปช่วยอุ้มนายฐานุทัศน์ไปขึ้นรถตู้เพื่อส่งโรงพยาบาลคือนายเอกสิทธิ์ วงศ์คำมา โดนนายเอกสิทธิ์ได้ให้การว่า ตอน 9.00 น. ได้ไปทำงานตกแต่งบ้านหลังหนึ่งในสาทร ซอย 1  แต่เนื่องจากมีการชุมนุมเจ้าของบ้านจึงให้เขากลับ เขาจึงเดินออกมาจนถึงบ่อนไก่และได้พบนายฐานุทัศน์ถูกยิงเขาจึงได้ช่วย

จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุของพ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์  พบรอยกระสุน 61 รอย มีทิศทางจากแยกวิทยุไปทางทางด่วนพระราม 4 ซึ่งมีรอยที่เกิดจากกระสุนขนาด .223(5.56 มม.) รวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นกระสุนขนาดเดียวกับที่พบในศพของนายฐานุทัศน์ มีรอยกระสุนไม่ทราบขนาดจำนวน 2 รอย มีทิศทางสวนกันคือจากทางด้านทางด่วนพระราม 4 ไปทางแยวิทยุ  จากการตรวจสอบเฉพาะจุดที่นายฐานุทัศน์ถูกยิงพบรอยกระสุน 15 รอย มีรอยกระสุนที่เกิดจากกระสุนขนาด .223 อยู่ด้วย โดยมีทิศทางจากแยกวิทยุไปทิศทางทางด่วนพระราม 4

พนักงานสอบสวนได้รับปืน M653 จำนวน 40 กระบอกจากทางฝ่ายทหารเพื่อทำการตรวจสอบเปรียบเทียบกับหัวกระสุนของกลางที่พบในศพของนายฐานุทัศน์ ผลการตรวจพบว่าหัวกระสุนของกลางไม่ตรงกับปืนกระบอกใดเลย ส่วนสาเหตุอาจเนื่องมาจาก 1. ปืนที่ฝ่ายทหารนำมาให้ตรวจสอบเป็นปืนที่ทหารเลือกนำมาให้เองหลังเกิดเหตุการณ์เป็นเวลาปีเศษ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนลำกล้องไปแล้ว 2. ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าปืนที่นำมาส่งตรวจนั้นเป็นปืนกระบิกเดียวกับที่ใช้ในการปฏิบัติการในวันเกิดเหตุ 3. หลังมีการยิงไปแล้วปืนก็ถูกทำความสะอาดไปแล้ว  ทำให้รอยบนหัวกระสุนที่ยิงเปรียบเทียบไม่ตรงกับหัวกระสุนของกลาง

จากการสอบสวนไม่พบว่าในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทหารถูกยิงและไม่มีพยานคนใดพบเห็นผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน พบเพียงหนังสติ๊ก พลุ ตะไล  และจากการสืบสวนสอบสวนในการเสียชีวิตของนายบุญมี มีการสอบปากคำพ.อ.เพชรพนม ซึ่งได้ให้การว่าในการปฏิบัติการมีการใช้กระสุนซ้อมรบและกระสุนยางเท่านั้น  แต่คำให้การแย้งกับการตรวจสถานที่เกิดเหตุซึ่งพบร่องรอยกระสุนจริงจากทางด้านแยกวิทยุไปทางด่วนพระราม 4

เขาซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในทั้ง 2 คดี เขาจึงได้นำสำนวนสอบสวนเอกสารพยานหลักฐานจากคดีของนายบุญมีมาไว้ในสำนวนคดีนายฐานุทัศน์ด้วย

โดยปกติในการสืบสวนจะมีการประสานงานกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารโดยทางผู้บังคับบัญชาในกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะทำหนังสือแจ้งกับทางฝ่ายผู้บังคับบัญชาทางฝ่ายทหารเพื่อมาให้ปากคำในการสอบสวน แต่ในการสืบสวนคดีนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารมาให้ปากคำ  เขาไม่ทราบว่าผู้บังคับบัญชาได้มีการทำหนังสือแจ้งไปหรือไม่

พยานปากสุดท้ายของการไต่สวน น.พ. ปิยะ ปรีดียานนท์ เบิกความว่า เขาได้ทำการรักษานายฐานุทัศน์ราวเดือนพฤศจิกายน 54 ซึ่งมารับการรักษาด้วยมีอาการไข้ ไอ เหนื่อยและซึมลง  ซึ่งจากเวชระเบียนลงประวัติว่าเขาได้ถูกยิงที่ทรวงอก และเข้าโรงพยาบาล 2 ครั้ง ก่อนที่เขาจะได้ทำการรักษา ซึ่งเขาไม่ได้เป็นผู้ตรวจรักษา ซึ่งครั้งแรกประมาณเดือน มิ.ย.53 และอีกครั้งเดือนต.ค. 54  โดยในครั้งแรกเป็นการถูกยิงมีเลือดออกในช่องอก และมีการกดทับเส้นประสาท ทำให้ร่างกายครึ่งร่างเป็นอัมพาต  ซึ่งการเป็นอัมพาตเกิดจากการที่ไขสันหลังช่วงระดับอกได้รับบาดเจ็บ

ครั้งที่ 2 เดือนต.ค. 54 มีอาการปอดอักเสบ และแขน 2 ข้างอ่อนแรง ในการรักษามีการตรวจร่างกายและ X-ray  และเมื่อตรวจเพิ่มพบว่ากระดูกคอมีเลือดออกกดทับไขสันหลังซึ่งอยู่ในระดับคอเพิ่มด้วย แพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเอาเลือดออกที่กดทับออก แต่ผลการรักษายังคงมีอาการอ่อนแรงอยู่ จากนั้นได้กลับบ้านไป2 สัปดาห์ และกลับมาอีกครั้งด้วยอาการไข้ ไอและเหนื่อย เนื่องจากปอดอักเสบ โดยพบจากการตรวจร่างกายและ  X-RAY ที่ปอด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ได้ทำการรักษาได้มีการติดเชื้อที่ปอดตอลดการรักษา ซึ่งปอดอักเสบก็คือการที่ปอดมีการติดเชื้อ

ซึ่งก่อนที่นายฐานุทัศน์จะมารักษาครั้งหลังสุดได้มีการรักษาอาการที่โรงพยาบาลกลางก่อนในช่วงวันที่ 12-19 พ.ย. ซึ่งได้มีการใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ก่อนและน้ำในปอดแล้ว จึงถูกพามารักาตัวต่อที่โรงพยาบาลมเหสักข์ วันที่รับมานั้นมาด้วยปอดอักเสบ และมีโรคเก่าคือกระดูกคอทับเส้นประสาททำให้แขนขาอ่อนแรง แต่เขาไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องย่างไรกับการที่ไขสันหลังช่วงอกได้รับบาดเจ็บอย่างไร เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ที่ทำการผ่าตัดก็ไม่ได้ลงบันทึกสาเหตุที่มีเลือดออกมากดทับเส้นประสาทที่ไขสันหลังระดับคอไว้ในเวชระเบียนด้วย  ซึ่งการที่ไขสันหลังระดับคอมีการกดทับทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจอ่อนแรงเพราะเส้นประสาทไขสันหลังระดับคอเป็นตัวควบคุมกล้ามเนื้อกระบังลม การกดทับทำให้ไม่มีการสั่งงานและทำให้กระบังลมไม่ทำงาน

ก่อนที่นายฐานุทัศน์จะเสียชีวิตได้มีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อปอดอักเสบ และใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งมีช่วงการติดเชื้อในปอดมีอาการดีขึ้นจึงได้ลองให้หายใจด้วยตนเองไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่มีอาการเหนื่อยเนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งพิสูจน์การที่นายฐานุทัศน์ไม่สามารถหายใจได้เองจากการนำเลือดมาตรวจแล้วพบว่ามีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่มาก นอกจากอาการต่างๆ ที่กล่าวมามีเพียงอาการซึมเศร้าด้วยเท่านั้น

สาเหตุการเสียชีวิตของนายฐานุทัศน์คือปอดอักเสบจากการที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงซึ่งเกิดจากกระดูกไขสันหลังระดับคอถูกดทับ และเขาเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการตายว่าเสียชีวิตจากปอดอักเสบ  และเขาได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการที่ผลการชันสูตรลงว่าเสียชีวิตจากระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจล้มเหลวว่า   ส่วนระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว คือหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลวจะมีอาการชีพจรลดลงหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจจะเกิดจากโรคหัวใจหรือในอวัยวะอื่นอย่งรุนแรง ซึ่งเป็นอาการปกติก่อนตาย ปอดอักเสบนั้นเป็นโรคซึ่งหากเป็นมากๆ ก็จะมีภาวะหายใจล้มเหลว ซึ่งผู้ป่วยปอดอักเสบมี 10 % ที่เสียชีวิต ซึ่งเมื่อเสียชีวิตระบบไหลเวียนโลหิตก็ต้องล้มเหลว ในกรณีนี้ปอดอักเสบเป็นเหตุให้ระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจล้มเหลวจึงเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้นายฐานุทัศน์เสียชีวิต ปอดอักเสบเป็นโรคทั่วไปที่คนอายุมากและภูมิต้านทานต่ำเป็น แต่ในกรณีนี้การเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงทำให้เป็นปอดอักเสบ

นายฐานุทัศน์มีโรคประจำตัวคือมะเร็งท่อน้ำดีอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่มิ.ย. 52 ซึ่งรับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ  ซึ่งจะมีอาการดีซ่าน ทางโรงพยาบาลจึงได้มีการใส่ลวดเพื่อขยายท่อน้ำดีเพื่อบรรเทาอาการ ทางโรงพยาบาลจุฬาฯได้ส่งตัวให้โรงพยาบาลมเหสักข์ทำการ X-RAY พบว่ามีเซลล์มะเร็งลงเหลือในตับซึ่งทางโรงพยาบาลจุฬาฯก็ได้ทราบผลการ X-RAY นี้ด้วย ซึ่งการลุกลามของมะเร็งนั้นสามารถคาดการณืได้ว่าจะมีการลุกลามแน่นอนแต่คาดเดาไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ ซึ่งบางรายอยู่ได้เป็นปีหรือหลายปีแล้วแต่สภาพคนไข้ ซึ่งมะเร็งในท่อน้ำดีอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือลุกลามไปอวัยวะสำคัญอื่นๆ ให้อวัยวะหยุดทำงาน แต่ในรายนี้ไม่ใช่สาเหตุทำให้เสียชีวิตและการตรวจศพแม้จะพบมะเร็งในตับแต่ไม่ได้มีภาวะตับวายจากมะเร็ง ไม่มีอาการดีซ่าน และไม่พบมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ

ในกรณีทั่วไปหากไขสันหลังช่วงอกมีการกดทับก็จะทำให้ร่างกายส่วนต่ำกว่าลงไปเป็นอัมพาต และหากไขสันหลังระดับคอมีการกดทับก็จะทำให้แขนและกล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแรงและยังทำให้ช่วงต่ำลงไปกว่านั้นอ่อนแรงด้วยเช่นกันเนื่องจากสัญญาณจากสมองจะลงไปตามเส้นประสาทไขสันหลัง  แต่การที่ไขสันหลังช่วงอกมีการกดทับก็อาจจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อทรวงอกทำให้หายใจลำบากได้เช่นกัน  แต่ในกรณีนี้เมื่อดูประวัติการรักษาการที่มีการบาดเจ็บที่ไขสันหลังช่วงอกไม่ได้ส่งผลต่อการหายใจเนื่องจากมีการหายใจได้ตามปกติมาตลอดก่อนที่จะมีการกดทับที่ไขสันหลังระดับคอ  เขามีสันนิษฐานว่ามีปัญหาการหายใจตั้งแต่ช่วงที่มีอาการแขน 2 ข้างอ่อนแรงและมีเลือดออกที่คอแล้ว

ศาลนัดให้ทนายยื่นคำแถลงปิดคดีภายในวันที่ 1 มีนาคม และนัดฟังคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพในวันที่ 27 มีนาคม 2556

 

นัดฟังคำสั่งวันที่ 27 มีนาคม 2556

ศาลอ่านคำสั่งสรุปได้ว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและภริยาผู้ตายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. – 19 พ.ค. 53 มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เริ่มที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธข้อเรียกร้อง  นปช.จึงชุมนุมต่อเนื่องโดยมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 และถนนพระราม 4

ต่อมาในวันที่ 7 เม.ย. รัฐบาลพิจารณาเห็นว่า การดำเนินการชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ  นายอภิสิทธิ์จึงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553 จั้งตั้ง ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ  และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ต่อมา ศอฉ. ได้ออกข้อกำหนดห้ามกระทำการต่างๆ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 12.00 น. เศษ นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง นางวรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคง ภรรยา และลูกทั้ง 2 คน ได้ออกจากบ้านในซอยบ่อนไก่ มารอรถที่ป้ายรถโดยสารประจำทาง ใกล้กับธนาคารไทยพาณิชย์สาขาลุมพินี ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ถนนพระราม 4 ได้มีเสียงคล้ายระเบิดและปืนดังขึ้นหลายนัด   นางวรานิษฐ์และลูกจึงกลับเข้าบ้าน แต่นายฐานุทัศน์ยังคงอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ

ขณะนั้นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอาวุธประจำกายคือ M653 และปืนลูกซอง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาตามคำสั่งของ ศอฉ. ให้มากระชับพื้นที่ และผลักดันผู้ชุมนุมบนถนนพระราม 4 จากแยกวิทยุไปทางซอยบ่อนไก่ และทางพิเศษเฉลิมมหานคร(ทางด่วนพระราม 4) ผู้ชุมนุมใช้หนังสติ๊ก พลุและตะไล ยิงโต้ตอบเจ้าพนักงาน ขณะที่เจ้าพนักงานได้ใช้อาวุธปืนยิงขู่ผู้ชุมนุมเพื่อกระชับพื้นที่โดยยิงขู่ ทางด้านผู้ชุมนุมที่บริเวณซอยบ่อนไก่ ถนนพระราม 4  นายฐานุทัศน์กำลังจะกลับเข้าบ้านถูกยิงที่หลังด้านซ้าย  และถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท  จากนั้นได้ย้ายไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลมเหสักข์จากการถูกยิงดังกล่าวทำให้ประสาทไขสันหลังของผู้ตายได้รับบาดเจ็บเป็นผลให้ขาทั้งสองข้างเป็นอัมพาต  นายฐานุทัศน์รักษาตัวที่โรงพยาบาลมเหสักข์สลับการรักษาตัวที่บ้านครั้งสุดท้ายเข้า  รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมเหสักข์  และถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 55 ปัญหาต้องวินิจฉัยว่าเหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร

นางวรานิษฐ์มีแพทย์ผู้ตรวจรักษานายฐานุทัศน์เป็นพยานยืนยันว่านายฐานุทัศน์ถึงแก่ความตายด้วยอาการปอดอักเสบเกิดจากกล้ามเนื้อในการหายใจอ่อนแรง เนื่องจากมีการกดทับไขสันหลังระดับคอ นอกจากนี้ผู้ตายเป็นโรคมะเร็งที่ท่อน้ำดี ซึ่งตรวจพบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 และพบเซลล์มะเร็งที่หลอดเลือดในตับของผู้ตายก่อนเกิดเหตุคดีนี้  เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้ร้องซึ่งเป็นแพทย์ผู้ตรวจศพว่าสาเหตุการตายของผู้ตายน่าจะเกิดจากมะเร็งเป็นหลัก ซึ่งพยานเชื่อว่าการตายเกิดจากการที่นายฐานุทัศน์ป่วยเป็นโรคมะเร็ง  พยานทั้งสองปากเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดเชื่อว่าพยานทั้งสองปากเบิกความและให้ความเห็นไปตามความเป็นจริง นอกจากนี้แพทย์ผู้ตรวจรักษานายฐานุทัศน์ยังได้เบิกความว่า โดยทั่วไปการเป็นอัมพาตที่ขาทั้งสองข้างไม่เกี่ยวกับการเป็นอัมพาตที่แขนทั้งสองข้าง นายฐานุทัศน์มีเลือดออกที่กระดูกคอ  ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด ในเดือนมิถุนายน 2553 หลังจากนายฐานุทัศน์ถูกยิง   ผู้ตายไม่ได้มีปัญหาเรื่องการหายใจ  การถูกยิงจึงไม่น่าเกี่ยวกับการทำให้ผู้ตายมีปัญหาการหายใจ  จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2554 ผู้ตายถึงเริ่มมีอาการอ่อนแรงของแขนทั้งสองข้าง  เมื่อเอ็กซเรย์พบว่ากระดูกทับเส้นประสาทระดับคอ และมีเลือดออกที่กระดูกคอ หลังจากเข้ารับการผ่าตัดกระดูกคอแล้ว  นายฐานุทัศน์สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ จึงน่าจะมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจตั้งแต่เมื่อมีอาการแขนทั้งสองข้างอ่อนแรง และมีการกดทับไขสันหลังระดับคอ

ดังนี้ การที่นายฐานุทัศน์ถูกยิงแล้วมีผลให้เป็นอัมพาตที่ขาทั้งสองข้าง  จึงมิได้เป็นผลโดยตรงที่ทำให้นายฐานุทัศน์เป็นอัมพาตที่แขนทั้งสองข้าง  อีกทั้งทางไต่สวนไม่ปรากฎว่า  การที่นายฐานุทัศน์มีกระดูกทับเส้นประสาทระดับคอ  และมีเลือดออกที่กระดูกคอนั้นเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด และได้ความว่าหลังจากหลังจากถูกยิงผู้ตายยังมีอาการหายใจได้ดีมาตลอด  เพิ่งมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจตั้งแต่เมื่อมีอาการแขนทั้งสองข้างอ่อนแรงและมีการกดทับไขสันหลังระดับคอนอกจากนี้ยังได้ความว่า  นายฐานุทัศน์ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบและโรคมะเร็งในระยะลุกลามจนกระทั่งถึงแก่ความตาย  แม้มีการพบหัวกระสุนปืนที่บริเวณสะบักด้านขวาก็ตาม  แต่ได้ความจากแพทย์ผู้ตรวจศพว่าหัวกระสุนปืนดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ถึงแก่ความตาย และแม้ว่าหัวกระสุนปืนดังกล่าวจะอยู่ในร่างกายของนายฐานุทัศน์ตลอดไปก็ไม่เป็นเหตุทำให้ถึงแก่ความตาย เพราะตำแหน่งหัวกระสุนปืนอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณสะบักซึ่งไม่มีอวัยวะสำคัญ  จากข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นฟังได้ว่า  การที่นายฐานุทัศน์ถูกยิงมิใช่ผลโดยตรงที่ทำให้ถึงแก่ความตาย  แต่สาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดจากปอดอักเสบ ระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลวจากโรคมะเร็งระยะลุกลาม

จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือนายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง  ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลมเหสักข์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 55 เวลา 22.35 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายสืบเนื่องจากปอดอักเสบ  ระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลวจากโรคมะเร็งระยะลุกลาม โดยมิใช่ผลโดยตรงจากการถูกยิง

อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคงฉบับเต็ม

10 เมษายน 2553 – ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต

รูป

ผู้ได้รับบาดเจ็บ

ผู้เสียชีวิต

10 เมษายน 2553 – กลางวัน

รูป

[print_gllr id=6724]

[print_gllr id=6811]

[print_gllr id=6892]

[print_gllr id=6973]

[print_gllr id=7054]

[print_gllr id=7135]

[print_gllr id=7217]