บันทึกไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ(ยศเดิมพลทหาร)

นอกเหนือ

ไต่สวนชันสูตรพลิกศพร้อยตรีณรงค์ฤทธิ์ สาละ

คดีหมายเลขดำที่ : อช.4/2555 วันที่ฟ้อง : ไม่ทราบ

คดีหมายเลขแดงที่ : ไม่ทราบ วันที่ออกแดง : ไม่ทราบ

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 สำนักงานอัยการสูงสุด

ผู้เสียชีวิต : ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ

คดี : ชันสูตรพลิกศพ
 

นัดไต่สวนคำร้องวันที่ 19 มีนาคม 2555[2]

ศาลเลื่อนนัดโดยให้เหตุผลว่าการประกาศวันนัดพร้อมยังไม่ครบ 15 วันตามกฎหมายและยังขาดรายละเอียดพยานบุคคลจำนวน 55 ปากที่ผู้ร้องได้แจ้งไว้ และให้ผู้ร้องจัดทำบัญชีที่ระบุรายละเอียดของพยานบุคคลให้ศาลพิจารณาเพื่อจัดกลุ่มพยานที่มีจำนวนมากก่อนเข้าสู่กระบวนการไต่สวน และเลื่อนวันนัดพร้อมไปเป็นวันที่ 18 มิ.ย. 55

 

นัดพร้อมวันที่ 18 มิถุนายน 2555[3]

ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้นำพยานฝ่ายผู้ร้องเข้าเบิกความไต่สวนจำนวน 37 ปาก ใช้เวลา 10 นัด และให้ฝ่ายผู้เสียหายนำพยานเข้าเบิกความรวม 9 ปาก ใช้เวลา 5 นัดครั้งแรกในวันที่ 14 ก.พ.56

 

นัดสืบพยานวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556[4]

            พยาน

  1. นายธวัชชัย สาละ พ่อร.ต.ณรงค์ฤทธิ์
  2. นายชัยพร คำทองทิพย์ รับจ้าง
  3. นายไพโรจน์ ไชยพรม  ว่างงาน

ในวันนี้นายธวัชชัย สาละ ซึ่งเป็นพ่อของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ยื่นคำร้องขอถอนการแต่งตั้งทนายเจษฏา จันทร์ดีและนายพีระ ลิ้มเจริญ โดยเขาอ้างว่าไม่รู้จักทนายทั้งสองมาก่อน และเขาขอให้ศาลถอนตัวเขาเองออกจากการเป็นผู้ร้องร่วมโดยให้เหตุผลว่าเขาไม่ติดใจแล้วว่าใครเป็นผู้ทำให้ลูกชายเสียชีวิต ไม่คิดจะดำเนินคดีอาญาและแพ่งอีก เพราะตัวเขาเองพักอาศัยอยู่ไกลเดินทางเพื่อร่วมรับฟังการพิจารณาคดีลำบาก  แต่ทางฝ่ายทนายได้ให้ข่าวว่ามีการติดต่อทางโทรศัพท์กับนายธวัชชัยตลอดแต่เป็นการติดต่อผ่านผู้ช่วยทนาย

พยานปากแรกนายธวัชชัย สาละ เบิกความว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เป็นลูกชายคนโต วันที่ 3 พ.ย.52 ได้รับการคัดเลือกเข้ารับราชการทหารที่อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ แล้วถูกย้ายไปค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี  ก่อนหน้าวันเกิดเหตุมีการติดต่อกับลูกชายตลอด แต่ในวันเกิดเหตุเขาไม่ทราบลูกของตนถูกย้ายเข้าประจำการไปในกรุงเทพฯ

นายธวัชชัยเล่าถึงวันเกิดเหตุว่า ในวันที่ 28 เม.ย. 53 เวลาประมาณ 15.00-16.00 น. ขณะที่เขาอยู่ในบ้าน น้องสาวของภรรยาโทรศัพท์แจ้งว่าลูกชายของเขาถูกยิงเสียชีวิตที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ หลังจากนั้น 2 วันเขาจึงเดินทางไปที่วัดพระศรีมหาธาตุเพื่อร่วมงานฌาปนกิจ ต่อมาทหารได้นำศพของลูกชายกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดแถวบ้านของครอบครัวทางเครื่องบิน

ทางครอบครัวได้รับเงินเยียวยาจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. จำนวน 100,000 บาท ในงานศพ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 200,000 บาท กองพลทหารราบที่ 9 มอบเงินช่วยเหลือเป็นรยเดือนให้เขาและภรรยาคนละ 6,300 บาท ไปตลอดชีวิต และได้ให้ทุนการศึกษาเดือนละ 10,000 บาท แก่ลูกสาวซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และสัญญาว่าจะให้เข้ารับราชการในตำแหน่งร้อยตรีด้วย และเขากล่าวด้วยว่าเขาไม่ทราบว่าใครเป้นคนสังหารลูกชาย แต่เขาก็ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีใดๆ ต่อผู้กระทำ

พยานปากที่สองนายชัยพร คำทองทิพย์ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย.53 ทำงานเป็นช่างเชื่อมโลหะอยู่ในร้านจำหน่ายมุ้งลวดแห่งหนึ่งแถวถนนปรีดี พนมยงค์ โดยทำงานที่นี่ได้เพียง 7-8 วันเท่านั้น ช่วงเช้าพี่สาวของเขาโทรศัพท์สั่งให้ไปดูแม่ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุม เขาจึงซ้อนจักรยานยนต์ของเพื่อนซึ่งทำงานอยู่ในร้านข้างๆ ไปที่สี่แยกราชประสงค์ 8.00 น. เมื่อถึงแล้วจึงเดินตามหาแม่แต่ก็ไม่พบ พบเพียงเพื่อนบ้านของแม่จึงได้สอบถาม  แต่ก็ไม่มีคนเห็นแม่ของเขา จน นปช. เคลื่อนขบวนออกจากสี่แยกราชประสงค์ เขาจึงร่วมขบวนไปด้วยโดยอาศัยรถกระบะของผู้ชุมนุม

11.00 น. ขบวนผู้ชุมนุมเดินทางไปทางถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก  เมื่อนั่งรถกระบะมาถึงปั๊มก๊าซแห่งหนึ่งไม่สามารถเคลื่อนขบวนต่อไปได้เนื่องจากตำรวจและทหารตั้งบังเกอร์ แผงเหล็ก และรั้วลวดหนามขวางถนนเอาไว้ จึงลงจากรถดูเหตุการณ์อยู่บนฟุตปาธหน้าปั๊มก๊าซ ซึ่งตอนนั้นเจ้าหน้าที่ได้ใช้ บังเกอร์ แผงเหล็ก และรั้วลวดหนามขวางถนนเฉพาะฝั่งขาออกเท่านั้น ไม่มีการกั้นฝั่งขาเข้า และเขาสังเกตเห็นอีกว่าตำรวจยืนเรียงแถวอยู่ด้านหน้าของบังเกอร์  โดยมีเพียงโล่ กระบองเท่านั้นแต่ทหารยืนอยู่หลังบังเกอร์โดยมีอาวุธหลายชนิด เช่น ปืนลูกซองยาวและ M16  ต่อมามีการตะโกนด่าทอจากทั้ง 2 ฝ่าย ฝั่งผู้ชุมนุมมีการยิงหนังสติ๊ก ขว้างปาสิ่งของ และก้อนหินใส่ตำรวจ ทหาร ต่อมาเขาได้ยินเสียงปืนมาจากฝั่งตำรวจ ทหาร และเห็นทหารยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม  มีบางคนถูกยิงเข้าที่ไหล่และแขนจนเป็นรอยช้ำ  จึงคิดว่าถูกยิงด้วยกระสุนยาง  ต่อมาทหารกระจายกำลังโอบล้อมผู้ชุมนุม  ช่วงนั้นมีเสียงปืนดังอยู่ตลอดเวลา บางครั้งได้ยินเป็นชุด และเห็นทหารอยู่บนสะพานลอยและสะพานขึ้นทางยกระดับดอนเมือง บนสะพานมีแผ่นป้ายโฆษณาปิดอยู่บนรั้ว เห็นทหาร 2-3 นาย นอนราบกับพื้นและเล็งปืน M16 มาที่ผู้ชุมนุม

ช่วงบ่ายมีผู้หญิงถูกยิงที่ขาซ้ายจนเลือดไหล  เขาจึงวิ่งเข้าไปช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาล ต่อมามีผู้ชายถูกยิงที่แขนจนเลือดออกบนเกาะกลางถนนจึงวิ่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ชายคนนั้นอีกแต่เขาถูกยิงเข้าที่กรามด้านขวาเขารู้สึกชา  แต่ไม่มีเลือดไหล เห็นทหารสวมชุดพรางผ้าพันคอสีฟ้า และถือปืนลูกซอง  หลายคนยืนอยู่ฝั่งทหาร ตำรวจ ซึ่งห่างจากจุดที่เขาอยู่ประมาณ 20 เมตร  ในตอนนั้นเสียงดังมาจากทุกทิศทาง และเห็นผู้ชุมนุมซึ่งอยู่ด้านหลังขว้างปาสิ่งของ  จากนั้นแผลที่กรามของเขาเริ่มมีเลือดไหลออกมาจึงวิ่งไปที่รถมูลนิธิซึ่งจอดอยู่ในบริเวณนั้นเขาจึงได้ถูกนำส่งโรงพยาบาลภูมิพลเพื่อทำการรักษาเมื่อแพทย์ตรวจบาดแผลจึงบอกว่ากระดูกขากรรไกรหัก และไม่สามารถผ่าตัดเอากระสุนออกได้เนื่องจากกระสุนเหล่านี้อยู่ใกล้กับเส้นประสาทต้องพักรักษาที่โรงพยาบาล 6 วัน ก่อนถูกส่งตัวกลับไปรักษาตัวที่บ้านพักใน จ.ขอนแก่น ทุกวันนี้ยังมีกระสุนฝังอยู่ที่กราม 1 นัด และที่คออีก 1 นัด

เขาได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์เป็นจำนวน 60,000 บาท  สำนักพระราชวัง 5,000 บาท ส่วนการเสียชีวิตของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เขาไม่ทราบว่าใครยิงเพราะเวลานั้นเขาถูกนำส่งโรงพยาบาล

พยานปากที่สามนายไพโรจน์ ไชยพรมเบิกความว่าก่อนวันที่ 28 เม.ย.53 เขาทำงานเป้นลูกจ้างร้านข้าวแกงแถวถนนสีลมและเคยเข้าร่วมชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์และถนนสีลม ในวันที่ 28 เม.ย. เขาเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่เช้าโดยขึ้นรถกระบะของผู้ชุมนุมเดินทางไปถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ถูกตำรวจ ทหารสกัดอยู่เมื่อถึงที่เกิดเหตุเห็นทหารสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่าน และมีการปะทะกัน เขาจึงลงจากรถกระบะเพื่อดูเหตุการณ์ ทหารใส่ชุดลายพราง และมีผ้าพันคอแต่ไม่แน่ใจว่าสีอะไรและไม่แน่ใจว่ามีตำรวจอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยหรือไม่ เนื่องจากขณะนั้นเกิดความชุลมุนนอกจากนี้ยังเห็นผู้ชุมนุมขว้างปาก้อนหินใส่ทหารและเห็นทหารยิงปืนลูกซองใส่ผู้ชุมนุม  มีผู้ชุมนุมถูกยิงที่แขนบนเกาะกลางถนนจนเลือดไหล เขาจึงวิ่งเข้าไปช่วยแต่ก็ถูกยิงสกัดจากทหาร  ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนหลายนัดจึงวิ่งหลบเสาตอม่อทางยกระดับดอนเมืองไม่กี่นาทีต่อมาเขาถูกยิงเข้าที่ขาซ้ายจนล้มลงกับพื้น โดยยิงมาจากฝั่งทหาร แต่ไม่เห็นหน้าผู้ยิงระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมพยายามจะเข้ามาช่วย แต่ถูกยิงสกัดไว้จนไม่สามารถเข้ามาได้เขาจึงแข็งใจลุกขึ้นเองโดยหันหลังให้กับฝั่งทหารและพยายามวิ่งหลบออกมา  แต่เขาก็ถูกยิงซ้ำจากด้านหลังทะลุท้องจนล้มลงอีกครั้งระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมเข้ามาช่วยเหลืออุ้มเขาออกจากที่เกิดเหตุก่อนที่เขาจะหมดสติ

เมื่อฟื้นขึ้นมาเขาอยู่ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลภูมิพลไม่ทราบว่าสลบไปกี่วัน  แพทย์ได้ผ่าตัดเอากระสุนออกจากบาดแผลทำให้มีแผลเป็นปัจจุบันบางครั้งยังเจ็บที่แผลเป็น  แม้จะสามารถเดินได้แต่ไม่สามารถทำงานหนักได้  ต่อมาได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จำนวน 60,000 บาท อย่างไรก็ตามยังประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับคนยิง

 

นัดสืบพยานวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556[5]

            พยาน

  1. นายพร้อม ดาทอง
  2. นายวิชาญ วางตาล ขับรถแท็กซี่
  3. น.ส.ระจิตร จันทะมั่น คนงานโรงงานย่านอุดมสุข
  4. นายวสุรัตน์ ประมวล ลูกจ้างประจำ ผู้ช่วยช่าง สำนักงานระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

พยานปากแรกนายพร้อม ดาทองเบิกความสรุปว่า เวลา 11.00 น. ของวันที่ 28 เม.ย. 53 เขาเดินทางไปสนามกีฬาธูปะเตมีย์ เพื่อดูสนามสอบทหารชั้นสัญญาบัตรที่จะจัดสอบในวันรุ่งขึ้น เมื่อเสร็จแล้วได้ขับจักรยานยนต์กลับบ้านโดยใช้ถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก  เมื่อมาถึงอนุสรณ์สถานเห็นกลุ่มเสื้อแดชุมนุมอยู่จำนวนมากจึงจอดจักรยานยนต์ดูเหตุการณ์  สักพักคนเสื้อแดงทยอยถอยหลังและได้ยินเสียงปืน  และเห็นปลอกกระสุนลูกซองหล่นอยู่หน้าผู้ชุมนุมเสื้อแดง  มีหนึ่งในผู้ชุมนุมบอกว่าเป็นกระสุนยาง  ต่อมามีผู้ชุมนุมล้มลงและมีเลือดไหลออกบริเวณท้อง  จึงเข้าไปช่วยเหลือโดยลากหลบกระสุนไปที่บริเวณตอม่อ  ส่วนเขาถูกยิงข้อมือซ้ายทะลุ  ช่วงหลบกระสุนเห็นทหารถือปืนออกจากข้างทาง  แต่ไม่รู้ว่าใครยิง  หลังเกิดเหตุได้เงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประมาณ 700,000 บาท จึงไม่คิดดำเนินคดีอาญาและแพ่งกับผู้ก่อเหตุ

พยานปากที่สองนายวิชาญ วางตาลเบิกความว่า  วันที่ 28 เม.ย. 53 เวลา 14.00 น. เขาขับแท็กซี่จากบ้านที่ย่านคูคตไปที่อู่ย่านรัชดาฯ โดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดี  เลนคู่ขนานขาเข้า ผ่านอนุสรณ์สถานแห่งชาติเจอกลุ่มเสื้อแดงเต็มช่องทางขาเข้าและขาออก  จึงลงจากรถมาดูเหตุการณ์เห็นคนเสื้อแดงปาก้อนหิน หนังสติ๊ก ไม้ บางคนโยนผักผลไม้มาจากโทลล์เวย์ใส่ทหาร   จากนั้นทหารยิงปืนรัวเป็นชุด  ขณะนั้นท้องฟ้ามืดครึ้มและมีฝนตกหนักด้วย  เขาจึงวิ่งไปหลบหลังเสาโทลล์เวย์โดยที่เขาหันหน้าไปทางทหาร หน้าอกซ้ายแนบเสาอยู่ มีกระสุนยิงมาโดนที่หน้าอกขวาและไหล่ขวา  เข้าใจว่ากระสุนมาจากกลุ่มทหาร หลังถูกยิงล้มลงได้มีคนช่วยนำตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่ากระสุนทะลุปอด ส่วนกระสุนที่เข้าไหล่ขวาทำให้กระดูกแตกและฝังใกล้กับเส้นประสาทแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดเอาออกมาได้  หากผ่าตัดอาจทำให้แขนใช้การไม่ได้

เขาไม่เห็นเหตุการณ์ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง  คดีนี้หากหาคนที่ยิงเขาได้ก็ไม่คิดดำเนินคดีอาญาและแพ่งกับผู้ก่อเหตุเนื่องจากได้รับเงินเยียวยาทั้งจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และน.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมกันเกือบ 700,000 แสนบาทและคดีล่วงเลยมานานกว่า 2 ปีแล้ว

เขาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังเบิกความเสร็จแล้วว่าเขาไม่ได้ร่วมชุมนุมแต่กลับถูกยิงด้วย หลังจากถูกยิงไม่สามารถทำงานได้ถึง 3 เดือน  และปัจจุบันก็ยังทำงานไม่สะดวกเนื่องจากกระสุนที่ฝังอยู่ที่หัวไหล่ยังขัดอยู่

พยานปากที่สามน.ส.ระจิตร จันทะมั่น เบิกความว่าคนรักของเธอติดตามการชุมนุมของ นปช. และได้ชักชวนเธอไปดูการชุมนุมที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ 10 กว่าวันก่อนเกิดเหตุ  ในวันที่ 28 เม.ย.53 เธออยู่ที่ราชประสงค์ ราว 10 โมงเช้า มีการประกาศว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณตลาดไทถูกทหารทำร้าย จึงมี นปช.จากตลาดไทชวนไปเยี่ยมมีการจัดรถยนต์หลายคันไป  เธอจึงร่วมเดินทางไปด้วย

ที่เกิดเหตุคือถนนวภาวดีรังสิตฝั่งขาออกมุ่งหน้าไปตลาดไท  มีเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจผู้ชุมนุมอยู่  จากนั้นเธอได้รับแจ้งจากผู้ชุมนุมที่เดินทางมาถึงก่อนหน้าเธอว่าไม่สามารถไปต่อได้แล้วเนื่องจากมีทหารมาสกัด  เธอจึงลงจากรถที่บริเวณปั๊มแก๊สร้างและพักอยู่ในบริเวณนั้นโดยมีผู้ชุมนุมก็เข้ามาด้วย  เธอเห็นทหารนำลวดขวางไว้และมีทหารที่ถือโล่ด้วย  และถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้าก็มีทหารอยู่แต่ไม่ได้สังเกตว่าถืออาวุธปืนไว้หรือไม่  ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณปั๊มส่วนหนึ่งตัดสินใจไม่เคลื่อนต่อ แต่เธอและผู้ชุมนุมอีกส่วนพยายามไปข้างหน้าต่อโดยหมอบไปด้วย  เมื่อเดินไปสักพักมีทหารยิงสวนมาเป็นชุดตลอดเพื่อสกัดไม่ให้ไปต่อ  เธอยินยันว่าทหารยิงมาโดยเป็นลักษณะของการยิงสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนที่แต่ไม่ทราบว่าปืนที่ใช้นั้นเป็นชนิดใด  เธอยังคงพยายามเดินต่อไปข้างหน้าจนห่างจากปั๊มมาราว 100 เมตร เธอถูกยิงเข้าที่บริเวณหน้าแข้งขวา  ไม่ทราบว่าใครยิงแต่รู้ว่ามาจากทางฝั่งทหารเพราะขณะนั้นหันหน้าไปทางแนวทหาร และกระสุนมาตามแนวนั้น  เธอยังได้เห็นผู้ชายถูกยิงที่ท้องมีเลือดไหลและมีรอยไหม้ด้วยแต่ไม่ทะลุเข้าใจว่าเป็นกระสุนยาง

เธอเบิกความต่อว่าขณะที่เธอถูกยิงนั้นฝนกำลังตกหนัก  มีผู้ชุมนุมเห็นเหตุการณ์จึงได้เรียกผู้ที่ขับจักรยานยนต์ผ่านเข้ามารับตัวไปส่งโรงพยาบาล  แต่ไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้า  แต่ในที่สุดก็สามารถนำตัวเธอไปส่งรถพยาบาลของโรงพยาบาลภูมิพลได้ในเวลาเกือบ 1 ทุ่ม  เนื่องจากต้องใช้เวลาในการโทรศัพท์ติดต่อนานมาก  แพทย์ได้เอ็กซเรย์และได้ผ่าตัดเอากระสุนออก ลักษณะกระสุนเป็นตะกั่วกลมๆ น่าจะเป็นกระสุนลูกปราย  เธอพยายามขอกระสุนจากแพทย์เพื่อนำไปใช้แจ้งความแต่แพทย์ปฏิเสธโดยแจ้งว่าอยู่ในช่วงเหตุการณ์แบบนี้ให้ไม่ได้

น.ส.ระจิตรได้รับการช่วยเหลือจากบ้านราชวิถี สำนักพระราชวัง และองค์กรอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 70,000 บาท  เธอเคยให้การกับพนักงานสอบสวน สน.พญาไท และพนักงานสอบสวนของ DSI ด้วยในคดีนี้ แต่เธอไม่ได้เห็นเหตุการณ์

พยานปากที่สี่นายวสุรัตน์ ประมวล เบิกความว่าเขาถูกยิงเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 28 เม.ย.53  ก่อนที่เขาจะถูกยิงเขาตั้งใจจะไปซื้อที่อยู่อาศัยที่รังสิตจึงขับจักรยานยนต์มุ่งหน้าไปทางวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก  เมื่อถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  ในเวลาประมาณ 15.00 น. จึงพบว่ามีการเดินขบวนของ นปช. แต่ถนนยังใช้สัญจรได้อยู่   เมื่อเขาเห็นกลุ่มทหารตั้งแนวสกัดผู้ชุมนุมที่จะมุ่งหน้าไปทางรังสิตเขาจึงหยุดอยู่ที่ปั๊มแก๊ส  เขาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นโดยที่ไม่ทราบทิศทางของเสียงทำให้ขบวนรถของผู้ชุมนุมไม่สามารถไปต่อได้  เขาจึงลงไปหลบที่ปั๊มเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยและย้ายไปหลบที่ทางเข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืนเป็นระยะหลายนัดต่อเนื่องจากฝั่งทหาร  จากนั้นเขาเขารู้สึกว่าลำตัวเหมือนโดนของแข็งกระทบจนหงายหลังล้มลง เขาพยายามลุกยืนแต่ไม่สามารถลุกขึ้นได้ มีเลือดไหลออกที่บริเวณหัวเขาจึงดึงกางเกงดูและพบว่าถูกยิง  ขณะที่เขาถูกยิงนั้นกำลังเดินเรียบไปทางประตูเหล็ก  วิถีกระสุนน่าจะมาจากทางด้านหน้าที่มีทหารอยู่ห่างออกไปประมาณ 100-150 เมตร  โดยทหารถือปืนยาวที่มลักษณะแบนทุกคน  เวลาในตอนนั้นประมาณ 15.00 น. ขณะนั้นฝนยังไม่ตกแต่ลมกรรโชกแรง

นายวสุรัตน์เบิกความต่อว่า  เห็นทหารถือปืนอยู่ด้านหน้าแต่ไม่ได้เห็นตอนยิงรู้ตัวอีกทีก็ล้มแล้ว  แต่ที่เขารู้ว่ามาจากทางทหารเนื่องจากตัวเขากระเด็นไปด้านหลัง  หลังถูกยิงพยานไม่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ  แพทย์โรงพยาบาลภูมิพลได้ให้ความเห็นเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่ากระสุนที่ยิงเป็นกระสุนลูกปราย  เขาไม่เห็นร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ขณะที่ถูกยิงและไม่ทราบหรือรู้ว่าตาย  แต่เขาทราบจากข่าวในวันรุ่งขึ้น  ขได้รับเงินเยียวยาจาก สำนักพระราชวัง 6,000 บาท จากกระทรวงพัฒนาสังคม 60,000 บาท  และได้แจ้งความไว้กับ สน.ดอนเมืองแล้ว

น.ส.ระจิตร  และนายวสุรัตน์  เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ทั้งคู่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลนี้ ทั้งๆ ที่พยายามติดตามความคืบหน้าหลายครั้งแล้ว

 

นัดสืบพยานวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

            พยาน

  1. นายวิโรจน์ โกสถา  รับจ้าง
  2. นายคมกฤต นันทน์ธนโชติ  รับจ้าง

วันนี้พยานทั้งหมด 4 ปาก แต่อัยการแจ้งว่าพยานอีก 2 ปาก ไม่สามารถตามมาให้การได้เนื่องจากต้องเดินทางจากต่างจังหวัด  แต่ยังไม่ได้มีการตัดพยาน  แต่อาจจะให้มีการสืบพยานในศาลจังหวัดที่พยานอาศัยอยู่หลังมีการสืบพยานในกรุงเทพฯเสร็จแล้ว

พยานปากแรกนายวิโรจน์ โกสถา เบิกความว่าเขาเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม โดยวันเกิดเหตุ 28 เม.ย.53 เขาอยู่ที่ราชประสงค์จากนั้นแกนนำได้เรียกรวมเพื่อที่จะไปรับผู้ชุมนุมซึ่งถูกทหารสกัดอยู่ที่ตลาดไทมาที่ราชประสงค์ โดยออกจากราชประสงค์ 9.30 น. เขาขึ้นรถกระบะไปโดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดี ฝั่งขาออก เมื่อไปถึงมีทหารตั้งแถวหน้ากระดาน เมื่อถึงบริเวณปั๊มแก๊สใกล้กับอนุสรณ์สถานแห่งชาติเขาจอดรถเอาไว้ที่บริเวณทางขึ้นโทลล์เวย์

จากนั้นแกนนำเดินเข้าไปเจรจากับทหารขอทหารให้เปิดทางให้ผู้ชุมนุมเดินทางจากตลาดไทเข้ามาได้ซึ่งเขาได้ตามแกนนำไปด้วย  แต่แกนนำเจรจาไม่สำเร็จ จึงเดินกลับกันออกมา เดินออกมาได้ราว 3 นาทีก็มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดต่อเนื่องราว 3 นาที เขาหันกลับไปดูเห็นทหารกำลังประทับปืนเล็ง M16 เตรียมยิงมากกว่า 10 คน ตลอดแนวทหาร   โดยขณะนั้นเขาอยู่ห่างจากแนวทหารราว 200 เมตร  จากนั้นเขากับเพื่อนที่มาด้วยกันหลบเข้าที่กำบัง และเห็นทหารบนโทลล์เวย์ด้วยราว 5-6 คน  ประทับปืน M16 เล็งอยู่ ขณะนั้นฟ้าครึ้มแต่ฝนยังไม่ตกยังมองเห็นได้ และที่เขาทราบว่าทหารใช้ปืน M16 เนื่องจากเขาเคยเป็นนาวิกโยธินมาก่อน เขาเห็นแค่ M16 เพียงอย่างเดียว

เขาเห็นนายไพโรจน์(ไม่ทราบนามสกุล) ถูกยิงฝั่งถนนฝั่งขาเข้าเขาก็ล้มนั่งลงไป  และเพื่อนของเขาชื่อเจ(ไม่ทราบชื่อจริง) ถูกยิงเข้าที่ต้นคอบนฟุตปาธบนเกาะกลางระหว่างถนนฝั่งขาเข้ากับขาออก โดยเจอยู่ห่างจากเขาราว 5-10 เมตร  ส่วนไพโรจน์ห่างราว 20-30 เมตร เขาจึงเข้าไปช่วยนายเจแล้วพยายามลากออกมา ขณะที่ช่วยเขาก็ต้องหมอบหลบด้วย  จากนั้นได้มีเพื่อนเข้ามาเขาได้ส่งนายเจให้เพื่อนรับไป ซึ่งระหว่างนี้เขาก็ถูกยิงเข้าที่ต้นขาขวาด้านหลังทะลุต้นขาด้านหน้าซึ่งตอนที่เขาถูกยิงนั้นเขายังอยู่ถนนฝั่งวิภาวดีขาออกหันหน้าไปฝั่งขาเข้า แนวจะอยู่ทางด้านซ้ายของเขา เมื่อถูกยิงเขาพยายาจะหลบแต่ก้าวไปได้เพียง 2 ก้าวก็ล้มลงที่ตอม่อโทลล์เวย์จากนั้นมีผู้ชุมนุมเข้ามาช่วยไปส่งที่รถแต่เขาไม่ทราบว่าเป็นรถของหน่วยงานใด เขาถูกพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลภูมิพล

เขามั่นใจว่ากระสุนมาจากทางทหารเพราะเห็นทหารประทับปืนเล็งมาและปากกระบอกมีไฟแล่บออกมา แต่ไม่เห็นว่าเป้นทหารนายใดที่ยิงตนเอง และเขาคิดว่าเขาถูกยิงจากปืน M16 เพราะกระสุนทะลุต้นขาออกไป เพราะถ้าเป็นกระสุนปืนลูกซองจะไม่ทะลุ  เขารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 6 วัน เขาไม่ทราบเรื่องร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละถูกยิง จนกระทั่งทราบจากข่าวในภายหลัง ในวันนั้นทั้งเขาไม่มีอาวุธและไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ กลุ่มของเขาที่ไปด้วยกันไม่ได้มีการขว้างปาสิ่งของและไม่มีการทะเลาะกับทหาร เมื่อการเจรจาของแกนนำจบลงราว 3 นาที ทหารก็เริ่มยิง เมื่อมีการยิงก็ไม่ได้มีการตอบโต้หลบอย่างเดียว

เขาได้รับเงินเยียวยา จากกระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ 60,000 บาท และจากสำนักพระราชวัง 2,000 บาท และเขาแจ้งความที่สน.ดอนเมือง

พยานปากที่สองนายคมกฤต  นันทน์ธนโชติ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย.53 ตอนเช้าประมาณ 7 เกือบ 8 โมง เขาออกจากบ้านที่ตลาดไทกับภรรยาด้วยรถฟอร์ด เรนเจอร์ 4 ประตู ตั้งจะไปไหว้พระพรหมที่ราชประสงค์ โดยจะไปซื้อบายศรีที่ปากคลองตลาดก่อนโดยแวะปล่อยปลาที่คลองประปาก่อนโดยขับรถไปทางวิภาวดีขาเข้า แต่เมื่อปล่อยปลาก็ไม่ได้ไปต่อแล้วขับรถกลับมาทางวิภาวดีขาออก แต่เขาจะแวะซื้อน้ำมันที่ร้านประภาภรณ์  เมื่อไปเกือบจะถึงปั๊มแก๊สซึ่งอยู่ใกล้กับอนุสรณ์สถานแห่งชาติรถติดอยู่เลนกลางและเห็น่ว่าข้างหน้ามีผู้ชุมนุมอยู่กระจายกันทั้งบนถนนและบนรถตอนนั้นมีรถอยู่หนาแน่น  เขาจึงพยายามเบียงรถเข้าซ้ายเพื่อเข้าร้านประภาภรณ์แต่ว่ามีรถคอนเทนเนอร์จอดขวางหน้าร้านอยู่จึงเข้าไม่ได้ จึงตัดสินใจกลับบ้านโดยจะขึ้นทางด่วนกลับบ้าน

ก่อนขึ้นข้างหน้ารถเขามีรถกระบะจอดอยู๋เขาจึงต้องหักหลบออกทางขวาจึงเห็นทหารยู่ตลอดแนวอยู่ที่ประตูอนุสรณ์สถาน บนถนนฝั่งขาเข้า  เมื่อขึ้นไปบนทางขึ้นทางด่วนได้เล็กน้อยเขาก็ถูกยิงจากทางด้านขวากระสุนได้ถูกแขนขวาของเขา  เมื่อเขาถูกยิงเขาจึงหยุดรถและหันไปมองทางขวาลอดช่องใต้ทางด่วนเห็นทหารอยู่บนอนุสรณ์สถานเห็นทหาร 5 นาย มี 3 นาย ที่เล็งปืนมาทางเขา  มีกระสุนอีกนัดทะลุกระจกรถผ่านหน้าเขาไปและมีเศษกระสุนแตกมาโดนที่แก้มขวา ทะลุใบหูขวา และท้ายทอยด้านหลังหูขวามีเศษโลหะฝังอยู่ด้วย ส่วนกระสุนที่ยิงเข้ามาได้ไปฝังอยู่ที่ราวจับฝั่งที่นั่งข้างคนขับ  และเศษกระจกที่แตกกระเด็นใส่ตาของเขา หลังจากถูกยิงนัดที่สอง ทหารทั้ง 3 นายที่เล็งปืนมาได้ยิงต่อเนื่องมาโดนรถของเขาซึ่งภายหลังจึงทราบว่ามีกระสุนมาโดนทางด้านขวาของรถทั้งหมด 9 นัด ส่วนเศษโลหะที่ฝังอยู่ที่ท้ายทอยแพทย์ที่ทำการรักษาบอกไม่สามารถเอาออกมาได้อาจจะทำให้เกิดอันตราย  ภายหลังกระสุนที่ฝังอยู่ที่ราวจับเขาได้มอบให้แก่พนักงานสอบสวนแต่เขาไม่ทราบว่าเป็นกระสุนชนิดใดเนื่องจากกระสุนเสียรูปทรงจนแบน  ภรรยาที่นั่งมาด้วยกันไม่ได้บาดเจ็บแต่อย่างใด

เมื่อตั้งสติได้จึงขับรถต่อจนขึ้นไปบนโทลล์เวย์ได้แล้วแต่รถจอดติดอยู่จึงไม่สามารถไปต่อได้เขาจึงลงจากรถเพื่อขอความช่วยเหลือ ขณะที่กำลังเดินอยู่นั้นมีนักข่าวเดินเข้ามาหาเขาและถามถึงเหตุการณืที่เกิดขึ้นกับเขาและถ่ายรูปเขาเอาไว้ เขาเดินต่อไปเรื่อยๆ จนเจอสารวัตรทหาร  สารวัตรทหารได้บอกกับเขาว่าให้ข้ามไปโทลล์เวย์ฝั่งขาเข้า  เขาจึงเดินไปอีกฝั่งและได้เจอกับทหารแต่งกายคล้ายหน่วยคอมมานโดและได้ช่วยเขาข้ามไปอีกฝั่ง  มีรถตำรวจขับมาและรับตัวเขาไปโรงพยาบาลวิภาวดี  เขาไม่ทราบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ถูกยิงเมื่อไหร่และทราบจากข่าวในภายหลัง แต่เขาคิดว่าน่าจะถูกยิงหลังจากที่เขาถูกยิงและขึ้นทางด่วนไปแล้วเนื่องจากตอนที่เขายังไม่ได้ขับรถขึ้นทางด่วนยังฟ้ามืดครึ้มแต่ฝนยังไม่ตก จนเขาขึ้นไปได้แล้วฝนจึงเริ่มตกและตกหนักเมื่อเขาอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว ซึ่งร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงตอนที่ฝนตกไปแล้ว

เขารักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 2-3 วัน และขอออกจากโรงพยาบาลเองแม้ว่าแพทย์จะได้บอกให้เขาอยู่ต่อ  เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้เพราะมีค่ารักษาราว 100,000 บาท แต่ภายหลังพรรคเพื่อไทยออกค่ารักษาให้ เขาทราบเนื่องจากมีซองใส่เงินมาจากพรรคถึงเขาต่างหากด้วย  วันที่รุ่งขึ้นภรรยาไปแจ้งความด้วยตัวเองที่ สน.ดอนเมือง และหลังจากออกจากโรงพยาบาลเขาได้ไปแจ้งความอีกครั้ง  ในราวเดือน ต.ค.53 DSI ได้เรียกไปให้การถึงเหตุการณืที่เกิดขึ้นด้วย จากนั้นปี 54 ได้ให้ทนายทำเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายกับทางกระทรวงการคลังซึ่งจะทราบผล 12 มี.ค.56 นี้

เขาได้รับการเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ 60,000 บาท และเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาเขาได้รับเงินเยียวยา เป็นเงินจำนวน 615,000 บาท

 

นัดสืบพยานวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556[6]

             พยาน

  1. นายธีระ ปะติตัง ผู้รับเหมาก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรแกรนด์ ไอ ดีไซน์
  2. นายนิโคลัส นอสติทซ์(นิก) ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน
  3. นายประยูร อนุสิทธิ์ คนขับแท็กซี่

พยานปากแรกนายธีระ ปะติตัง เบิกความว่าเขาทำงานอยู่กับลูกน้องที่หมู่บ้านจัดสรรแกรนด์ ไอ ดีไซน์ ช่วงบ่ายเห็นผู้ชุมนุมกลุ่มนปช.เดินทางจากดอนเมืองไปทางปทุมธานีด้วยรถเครื่อง รถกระบะ และรถคันใหญ่อีก 1 คัน และมีที่เดินอยู่ด้วย แต่มีทหารและตำรวจคอยสกัดอยู่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติโดยทหารจะอยู่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก ตำรวจจะอยู่ฝั่งขาเข้า  ผู้ชุมนุมจึงถอยไปอยู่ที่ปั๊มแก๊ส ปตท. ซึ่งอยู่ฝั่งเดียวกันกับสำนักงานของเขาห่างออกไปราว 300-400 เมตร

เมื่อเกิดเหตุการณ์เขาได้สั่งให้ลูกน้องหยุดทำงาน  เขาและลูกน้องรวมถึงผู้สื่อข่าวและชาวบ้านมุงดูเหตุการณ์อยู่บริเวณสำนักงานบ้านจัดสรรอยู่ติดกับถนนวิภาวดี รังสิต ขาออก ในขณะนั้นฝนกำลังตกอยู่นานประมาณ 1 ชั่วโมง โดยระหว่างนี้มีทหารประมาณ 10 นาย เข้ามาพักหลบฝน ดื่มน้ำ และเข้าห้องน้ำในสำนักงาน  ทุกคนสวมชุดลายพราง มีผ้าพันคอจำสีไม่ได้แต่ต่างจากสีเครื่องแต่งกาย และมีปืนยาวเกือบทุกคน เมื่อฝนหยุดทหารออกไปตั้งแถวใหม่บนถนนวิภาวดีหน้าสำนักงาน แต่มีทหารบางส่วนที่ไม่ได้ไปตั้งแถวด้วย  ทหารอีก 2-3 คน  อยู่ที่ตอม่อโทลล์เวย์ช่วงด้านหน้าโครงการ ทหารทั้งหมดถืออาวุธปืนในท่าเตรียมพร้อม

จากนั้นเวลา 14.00-15.00 น. ฝนยังตกและหยุดสลับกัน ทหารยังตั้งแถวอยู่ มีการ์ดนปช.สวมชุดสีดำ มีผ้าพันคอ ขับรถจักรยานยนต์มุ่งหน้ามายังแนวทหารราว 2-3 คัน ทหารจึงใช้กระสุนยางยิงจนถอยร่นกลับไป เป็นอย่างนี้อยู่ 2-3 เที่ยว เหตุที่ทราบว่าเป็นกระสุนยาง เพราะลูกน้องเก็บได้และนำมาให้ดูซึ่งเก้บมาได้เป็นจำนวนมาก  หลังจากนั้น 30 นาที มีทหารขี่รถจักรยานยนต์ 3-4 คัน บางคันขับมาคนเดียวบางคันก็มีทหารอีกนายนั่งซ้อนมาด้วย  มุ่งหน้าจากฝั่ง นปช.ไปยังแนวทหาร และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด ก่อนเห็นจักรยานยนต์ที่ทหารขับมาล้มลง 1 คัน มีนักข่าวและทหารคนอื่นๆ เข้าไปช่วยนำตัวขึ้นรถกระบะ ทราบภายหลังว่าทหารที่ถูกยิงคือ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ขณะเกิดเหตุพยานไม่เห็นว่าใครเป็นคนยิง แต่เสียงปืนดังมาจากแนวทหาร อยู่ห่างจากสำนักงานประมาณ 10 เมตร ส่วนกลุ่ม นปช.อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุมากกว่า 100 เมตร นอกจากนี้กลุ่ม นปช.ที่เดินเท้าเข้าหาแนวทหารในช่วงแรก พยานเห็นว่ามีเพียงหนังสติ๊ก บั้งไฟและไม้ ไม่มีมีดหรืออาวุธปืน ในเหตุการณ์นี้ยังมีลูกน้องของเขาที่ทำงานด้วยกันเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชื่อนาย ไพบูลย์

เขาตอบการซักถามเพิ่มเติมของศาลด้วยว่า ไม่มีคนอื่นอยู่ในแนวทหาร จะมีแค่ที่สำนักงานของเขาและบนถนน ส่วนด้านหลังแนวทหารมีเพียงรถของผู้ชุมนุม ที่เอากลับไม่ได้จึงจอดทิ้งเอาไว้ แต่ไม่มีคนอยู่ในบริเวรนั้นแล้ว และแม้ว่าในช่วงเหตุการณ์จะมีฝนตกทั้งวันแต่ยังสามารถมองเห็นได้ชัด  และขณะที่ทหารถูกยิงก็มีฝนตกพรำๆ แต่ยังเห็นเหตุการณ์ได้ชัด  ส่วนคนที่เข้ามาหลบฝนที่สำนักงานมีทั้งทหาร และชาวบ้านทั่วไป ซึ่งบางส่วนลงจากรถประจำทางเข้ามาเนื่องจากรถผ่านไปไม่ได้ แต่ไม่มีผู้ชุมนุมเข้าไปเนื่องจากมีทหารอยู่

นายนิโคลัส นอสติทซ์เบิกความว่า วนที่ 28 เม.ย.53  เดินทางออกจากบ้าน 11 โมงด้วย จักรยานยนต์ส่วนตัวโดยไปที่ราชประสงค์ก่อนเพื่อดูเหตุการณ์ชุมนุม นปช. ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ไปประจำทุกวันเพื่อตามข่าวความเคลื่อนไหว โดยเมื่อถึงที่ชุมนุมผู้ชุมนุมได้ประกาศจะไปให้กำลังใจเสื้อแดงที่ปทุมธานีและแจกซีดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 หลังจากนั้นเขาโทรศัพท์หาแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐจึงทราบว่าจะมีเจ้าหน้าที่คอยสกัดกลุ่มนปช.ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ พยานจึงขับรถจักรยานยนต์ตามผู้ชุมนุมที่เคลื่อนขบวนด้วยรถจักรยานยนต์ รถยนต์และรถเครื่องเสียงไปทางถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก ต่อมาขับแซงไปอยู่ด้านหน้าผู้ชุมนุมเพื่อไปดักรอจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อจะทราบการปฏิบัติการ  เมื่อถึงหน้าสโมสรกองทัพบกเห็นบังเกอร์พร้อมทหาร 5-10 นาย จึงจอดดูและถ่ายภาพ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ต่อมาเวลา 13.00 น. เขาไปถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เห็นทหารและตำรวจยืนกันอยู่เป็นกลุ่ม  ทหารเกือบทุกคนตรงนั้นสวมชุดทหารลายพรางหลายคนมีการผูกผ้าพันคอสีฟ้า และมีนอกเครื่องแบบมาด้วย  แต่ยังเปิดถนนให้รถผ่านได้ เขาจึงขับรถไปจอดในซอย แล้วเดินออกมาอยู่บริเวณกลุ่มทหารเพื่อถ่ายภาพแต่มีทหารเข้ามาห้ามไม่ให้เข้าใกล้จนมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง จนมีตำรวจเข้ามาเจรจาและให้พยานเข้าไปยืนอยู่ในแนวทหาร  เห็นทั้งทหารและตำรวจมีปืนลูกซองยาว มีทั้งกระสุนยางปลอกสีแดง และกระสุนลูกปรายปลอกสีเทาขาวสะพายไหล่  ทหารหลายนายมีปืน M16 และปืน HK แต่ไม่ได้มีทุกนาย  เขาเก็บปลอกกระสุนจริงได้ในวันเกิดเหตุ และนำมาแสดงในขณะเบิกความด้วย

ต่อมาเวลา 13.30 น. ทหารปิดถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก ยืนขวางเป็นแนวหน้ากระดานและนำลวดหนามมากั้น ส่วนเลนถนนในจะเป็นทหารกับตำรวจผสมกัน ทำให้ถนนคู่ขนานขาออกรถติดมาก ส่วนฝั่งขาเข้านั้นยังไม่มีการปิดถนน ขณะนั้นพยานเดินไปมาได้ การปิดกั้นถนนได้ทำให้รถของผู้ชุมนุมผ่านไปไม่ได้ ผู้ชุมนุมจึงพยายามเดินเท้าและขับจักรยานยนตร์มาทางแนวทหาร และเกิดการปะทะกัน ผู้ชุมนุมยิงหนังสติ๊กใส่ ขณะที่ทหารก็ยิงปืนลูกซองใส่ เขาไม่ทราบว่าฝ่ายใดเริ่มก่อนเมื่อมีการปะทะ นปช. ได้วิ่งหนี ทำให้ทหารก็เดินหน้าเรื่อยๆ และก็ยิงใส่ด้วยลูกซองต่อเนื่อง จนทำให้รถบางคันที่ติดอยู่กระจกแตกเนื่องจากถูกกระสุน โดยในช่วงนั้นเห็นทหารใช้ปืน M16 และ HK ยิงขึ้นฟ้าด้วย  และจับตัวบางคนที่อยู่ใกล้แนวทหารไว้  นอกจากนั้นมี นปช. ขว้างสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่จากด้านบนโทลล์เวย์ด้วย ซึ่งที่เสาโทลล์เวย์มีทหารยิงปืนรัวใส่เสื้อแดงที่อยู่บนโทลล์เวย์ โดยพยานได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ดังกล่าวไว้  ขณะนั้นทหารที่ยิงอยู่ห่างจากเขาไปประมาณ 50 ม. ซึ่งทุกครั้งที่มีการยิง จะปรากฏฝุ่นที่เกิดจากกระสุนกระทบผนังปูนของโทลล์เวย์

นายนิโคลัสเบิกความอีกว่า เวลา 15.00 น. ฝนตกลงมาอย่างหนัก เขาจึงหลบฝนอยู่กับทหารใต้ทางด่วน เป็นช่วงที่พยานเก็บปลอกกระสุนที่นำมาอ้างต่อศาลได้ ขณะที่กลุ่มนปช.ถอยห่างจากแนวทหาร 300-500 ม. ช่วงนั้นก็ยังคงมีทหารเล็กปืนขึ้นไปข้างบนโทลเวย์ด้วย สักพักทหารที่มียศสูงกว่าเข้ามาพูดกับทหารกลุ่มดังกล่าวว่าบนโทลเวย์เคลียร์พื้นที่หมดแล้ว ทำให้ไม่มีการเล็งปืนขึ้นไปต่อ  เวลา 15.40 น. ฝนได้หยุดตกขณะที่พยานบริเวณทางคู่ขนาด สักพักได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ ตะโกนว่า “หยุดๆ” และตามด้วยมีการยิงปืนไป และเห็นจักรยานยนต์ล้มลง โดยพยานห่างจากทหารที่ยิงประมาณ 5-10 ม. ก่อนที่จะมีการตะโกนบอกว่า “หยุดๆ” นั้น ทหารยังยืนตั้งแนวกั้นถนนอยู่ โดยเสียงที่บอกว่า “หยุดๆ” นั้นมีหลายคนตะโกน ทั้ง ทหารและตำรวจที่ตั้งแนว จุดตรงนั้นใช้ปืนลูกซอง ยิงหลายนัด แต่ไม่รู้ว่าเป็นกระสุนยางหรือจริง โดยก่อนหน้านี้เขาได้ยินทหารคนหนึ่งถามเพื่อนว่า มีกระสุนยางเหลืออีกหรือไม่ และได้รับคำตอบจากเพื่อนว่า กระสุนยางหมดแล้วเหมือนกัน ใช้กระสุนจริงไปเลย ขณะเกิดเหตุ กลุ่ม นปช. อยู่ห่างออกไปประมาณ 300-500 ม.

หลังจากนั้นพยานได้กระโดดข้ามเกาะกลางขั้นระหว่างเลนถนนเพื่อเข้ามาจุดเกิดเหตุเพื่อถ่ายภาพ แต่ถูกทหารสั่งห้ามถ่าย ขณะที่พยานเข้าไปถ่ายภาพนั้นยังเห็นทหารที่ถูกยิงยังไม่เสียชีวิต โดยขณะนั้นมีอาการชักอยู่ ขณะนั้นมีทหารประมาณ 2-3 นาย อยู่กับผู้ตาย ซึ่งขณะนั้นหัวของทหารคนที่ถูกยิงหันไปทางถนนขาออก และมีรถจักรยานยนต์ล้มอยู่ หลังจากนั้นทหารใช้เปลมานำศพออกไป โดยพยานมีการนำภาพที่ถ่ายร่างผู้เสียชีวิตมอบให้ศาลพิจารณาด้วย

นายนิโคลัสเบิกความถึงการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในลักษณะเคลื่อนที่ด้วยจักรยานยนต์เหมือนที่ทหารที่เสียชีวิตปฏิบัติการก่อนเสียชีวิตว่า เคยทราบการปฏิบัติการในลักษณะนี้มาก่อนเกิดเหตุ 3 วัน โดยช่วงนั้นทหารจะขับจักรยานยนต์เพื่อตามจับคนเสื้อแดง ซึ่งพยานก็ติดตามความเคลื่อนไหวของทหารกลุ่มนี้ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันว่าเป็นกลุ่มเดียวกับทหารที่เสียชีวิตหรือไม่เขาเบิกความเพิ่มเติมถึงการปฏิบัติการของทหารในขณะเกิดเหตุด้วยว่า ก่อนหน้าที่นั้นทหารจะกระจายไปทั่วบริเวณนอกจากบนถนน ทางคู่ขนาดแล้ว ยังมีบริเวณสะพานลอย โดยช่วงเกิดเหตุไม่มีเสื้อแดงอยู่บริเวณใกล้เคียงและไม่มีการปะทะตั้งแต่ฝนตกแล้ว และหลังฝนตกทหารก็มีการกระจายกำลังไปทั่วบริเวณที่เกิดเหตุ โดยมีปืนลูกซองและปืนความเร็วสูง M16 และ HK

อัยการมอบภาพถ่ายของนายนิโคลัสให้แก่ศาล มีทั้งภาพการตั้งแถวของทหารและตำรวจ ภาพทหารใช้ปืนลูกซองยาวยิงใส่แนวผู้ชุมนุมและภาพร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ที่ถูกยิง นอกจากนี้อัยการได้นำภาพจากรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราพร้อมข้อความใต้ภาพ “ผู้ต้องสงสัยเป็นชายสวมโม่งเสื้อดำ ที่มาพร้อมกับเสื้อแดง 2 คน” ซึ่งเป็นหลักฐานที่พยานฝ่ายทหารนำมาจากอินเตอร์เน็ตและอ้างส่งต่อศาลให้เขาดู และสอบถามว่าเคยเห็นภาพนี้หรือไม่ เขาตอบว่าเคยเห็นและเป็นภาพของเพื่อนนักข่าวชื่อเวย์น์ เฮย์(Wayne Hay) สำนักข่าวอัลจาซีราห์ถ่ายไว้ได้ แต่ไม่ได้มีการพูดตามข้อความใต้ภาพที่ระบุนั้น แต่ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ถูกคนอื่นเขียนกำกับเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ตภายหลัง ส่วน เวย์น  เฮย์ เคยเล่ากับพยานว่าคนในภาพเป็นคนที่อยู่กับคนเสื้อแดงที่ถืออาวุธปืนพกสั้น ที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร และภาพดังกล่าวก็ถ่ายก่อนเกิดเหตุ นอกจากนี้ยังมีเพื่อนของพยานที่เป็นนักข่าวต่างประเทศอีกคนซึ่งทำข่าวอยู่ฝั่งผู้ชุมนุมได้เคยเล่าด้วยว่าผู้ชุมนุมขณะนั้นได้เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ทหารชุดผู้ตายในคดีนี้ได้ขี่จักรยานยนต์เคลื่อนผ่านมาได้ โดยมีเพียงเสียงโห่เท่านั้นส่วนตัวเขาเองไม่เคยเห็นชายชุดดำในวันดังกล่าว

พยานปากที่สาม นายประยูร อนุสิทธิ์ ในวันเกิดเหตุเขารับผู้โดยสารจากหลักสี่ไปส่งที่ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เมื่อขับมาตามถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก ถึงบริเวณโรงเรียนสังคีต ไปต่อไม่ได้ ระหว่างนั่งอยู่ในรถเห็นทหารเดินเรียงแถวสวนมา และยิงปืนลูกซองยาวขึ้นฟ้าในมุม 45 องศา ส่วนปืน M16 ที่ติดตัวมาด้วยไม่ได้ยิง ขณะเดียวกันก็เห็นผู้ชุมนุมยิงหนังสติ๊กใส่ทหาร และถอยร่นไปเรื่อยๆ ส่วนอาวุธอื่นนั้นพยานไม่เห็น  ต่อมาทหารบอกให้พยานทิ้งรถแล้วไปหลบในโรงเรียน ระหว่างหลบอยู่ พยานได้ยินเสียงปืนหลายนัด แต่ไม่ได้ออกมาดูเหตุการณ์

 

นัดสืบพยานวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

                พยาน

  1. นายจตุรงค์ สิรินภัทราวรรณ์        ช่างภาพสปริงนิวส์
  2. นางสาวณัฐชา ทองย้อย            ผู้สื่อข่าวสปริงนิวส์
  3. ว่าที่ ร.ต. จตุพร สุวรรณรัตน์        ผู้สื่อข่าวสปริงนิวส์
  4. ร.อ. กฤษฒิชัย กองกิจ              ทหารในสังกัดกองพันทหารม้าที่ 13 จ. เพชรบูรณ์
  5. ส.อ. กิตติกร กิ่งกลาง                 ทหารในสังกัดกองพันทหารม้าที่ 13 จ. เพชรบูรณ์

พยานปากแรก นายจตุรงค์ สิรินภัทราวรรณ์ เบิกความว่า เวลาประมาณ 15.00 น. ขณะปฏิบัติงานอยู่ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติบริเวณถนนวิภาวดี เขาได้รับแจ้งจากช่างภาพของสถานีที่ประจำอยู่บริเวณสะพานด้านหน้าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออกว่าแบตเตอร์รี่กล้องหมด เขาจึงซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่เจ้าหน้าที่ของสถานีขับเข้าไปเพื่อนำแบตเตอร์รี่ไปให้ช่างภาพที่กำลังบันทึกภาพเหตุการณ์อยู่บริเวณสะพายลอยดังกล่าว   ขณะที่ซ้อนรถจักรยานยนต์เข้าไป ขณะนั้นมีฝนตกค่อนข้างหนัก ได้ขับผ่านกลุ่มของ นปช. โดยมุ่งหน้าเข้าไปด้านทางแนวกั้นของทหารที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามบริเวณเลยจุดทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์ตรงอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีขาออกไปเล็กน้อย

แต่การสื่อสารระหว่างนายจตุรงค์กับช่างภาพที่อยู่บนสะพานลอยขาดหายไป ทำให้คนขับขับเลยเข้าไปบริเวณใกล้แนวกั้นของเจ้าหน้าที่คาดว่าห่างจากแนวกั้นเพียงประมาณ 10 ม. เจ้าหน้าที่ได้ตะโกนแจ้งเตือนให้นำรถถอยห่างออกจากแนวกั้น  แต่เขาไม่ทราบว่าเป็นตำรวจหรือทหารที่ประจำอยู่บริเวณตอม่อไม่ได้อยู่ในแนวกั้นของ เจ้าหน้าที่เป็นคนตะโกน    ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ถือปืนอยู่ในแนวได้หันปลายกระบอกปืนมาทางเขาแต่ไม่ได้ยิงเพราะเจ้าหน้าที่น่าจะเห็นปลอกแขนจึงทราบว่าเขาเป็นผู้สื่อข่าวไม่ใช่กลุ่ม นปช.  ขณะที่รถจักรยานยนต์เข้าไปใกล้แนวกั้นของเจ้าหน้าที่เขาเห็นเจ้าหน้าที่แต่งกายในชุดเตรียมพร้อม  โดยสวมเสื้อสีเข้มออกไปทางดำ สวมรองเท้าคอมแบท  สวมหมวกครึ่งใบ มีผ้าพันคอไม่ทราบสี ถืออาวุธประเภทปืนยาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่แน่ใจว่าถือทุกคนหรือไม่ ไม่สามารถแยกประเภทปืนได้ และไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นชุดทหารหรือชุดตำรวจเนื่องจากขณะนั้นมีฝนตกและท้องฟ้าสลัว และมีเจ้าหน้าที่กว่า 10 คนที่แต่งกายเหมือนกัน และถือปืนยาวทุกคน ประจำอยู่บริเวณตอหม้อด้านซ้ายและด้านขวาหน้าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ขณะที่รถจักรยานยนต์เข้าไปบริเวณแนวทหารเขาไม่พบว่ามีคนที่มีสัญลักษณ์คนเสื้อแดงอยู่ใกล้แนวกั้นของเจ้าหน้าที่ และไม่มีชาวบ้านอยู่ทั้งในแนวและหลังแนวของเจ้าหน้าที่

เมื่อได้ยินเสียงตะโกนเตือนจากเจ้าหน้าที่ รถของนายจตุรงค์จึงได้เลี้ยววนกลับมาด้านหลัง และเห็นช่างภาพของสถานีที่อยู่ตรงสะพานลอย จึงได้นำแบตเตอร์รี่ไปเปลี่ยนให้และอยู่ที่บนสะพานดังกล่าวซึ่งห่างจากแนวเจ้าหน้าที่ประมาณ 100 ม. และห่างจาก นปช. 300 ม. ซึ่งเขาคิดว่าแนวของเจ้าหน้าที่และนปช.น่าจะห่างกันประมาณ 400-500 ม.  บนสะพานลอยที่เขาอยู่มีช่างภาพและชาวบ้านทั่วไปไม่มีสัญลักษณ์ของเสื้อแดงอยู่ด้วยประมาณ 10 กว่าคน และถัดจากสะพานลอยที่เขาอยู่ไปทางดอนเมืองอยู่เรื่อยไปจนถึงแนวที่ผู้ชุมนุม อยู่มีชาวบ้านยืนอยู่กระจัดกระจาย

ขณะที่อยู่บนสะพานยังคงมีฝนตกปรอยๆ และก่อนเกิดเหตุการณ์ทหารถูกยิง  นายจตุรงค์เห็นว่ามีกลุ่มรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ประมาณ 5-6 คัน โดยรถ 1 คัน จะมี 2 คน คือคนขับและคนซ้อนพร้อมอาวุธปืนยาวขับลงมาจากทางด่วนโทลล์เวย์ตรงจุดที่ผู้ชุมนุมยืนอยู่  เขาเห็นเพราะจุดที่อยู่บริเวณสะพานสามารถมองเห็นชัดเจนว่ามีใครขึ้น-ลงมาจากโทลล์เวย์   จากนั้นทหารที่ขับผ่านผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนคู่ขนานแล้วขับตัดเข้ามายังเส้นทางหลักของถนนวิภาวดี  ขณะที่รถจักรยานยนต์ทหารอยู่บนถนนไม่มีรถคันอื่นรวมอยู่ด้วยเพราะขณะนั้นถนนวิภาวดีถูกปิดการจราจรไปแล้ว และเมื่อรถจักรยานยนต์ของทหารขับผ่านด้านล่างของสะพานลอยที่เขายืนอยู่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 ครั้ง น่าจะดังมาจากทางด้านซ้ายของเขา  คิดว่าเป็นบริเวณตอม่อทางขึ้นโทลล์เวย์ขาออกเพราะเห็นแสงไฟออกจากปลายกระบอกปืนแต่ไม่เห็นคนยิง โดยขณะที่เขาหันหน้าเข้าไปฝั่งแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ ทันใดนั้นเห็นรถของเจ้าหน้าที่ล้มลง 1 คัน และจากรถคันอื่นๆ ที่ขับมาในกลุ่มเดียวกันได้ล้มลง และคนที่อยู่บนสะพานลอยได้ร้องตะโกนว่ายิงกันเองแล้ว และเขาเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณแนวกั้นยิงทหารที่อยู่บนถนน

โดยจุดที่ทหารถูกยิงล้มลงอยู่ห่างจากสะพานลอยที่พยานอยู่ประมาณ 50-70 ม. และอยู่ห่างจากแนวทหาร 30-50 ม.หลังจากเหตุการณ์ยิงกันเกิดขึ้น พยานยังคงประจำอยู่บนสะพานลอยจนเหตุการณ์คลี่คลายถึงได้กลับสถานี

พยานที่ 1 แสดงภาพข่าว[7]ภาพข่าวปรากฏภาพรถจักรยานยนต์ของทหารขับมุ่งหน้าเข้าไปยังแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ในช่องทางเดินรถฝั่งขวาสุดอยู่ติดกับเกาะกลางของเส้นทางหลักของถนนวิภาวดีขาออก จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น และรถของทหารได้ล้มลง ส่วนทหารวิ่งเข้าไปยังเกาะกลางถนน[8]

พยานปากที่สองน.ส.ณัฐชา ทองย้อย   เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53 เธอขึ้นรถไปกับแกนนำ นปช. ที่เคลื่อนจากกรุงเทพฯ ไปตลาดไท เมื่อไปถึงเจอด่านเจ้าหน้าที่สวมชุดพรางที่มีอาวุธปืนยาวไม่ทราบประเภทสกัดกั้นอยู่ที่บริเวณปั๊ม ปตท.  ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก หลังจากผลักดันกันระยะหนึ่งปรากฏว่าทางผู้ชุมนุม นปช. ไม่สามารถผ่านแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ไปได้ แกนนำ นปช.จึงได้ประกาศยุติการชุมนุมและประกาศให้ นปช. เข้าไปอยู่ในปั๊มแก๊สและไม่ให้เข้าไปอยู่ในปั๊ม ปตท. ที่มีทหารประจำอยู่ พยานจึงลงจากรถของแกนนำและขึ้นไปอยู่บนสะพานลอยที่อยู่ตรงกลางระหว่างแนวกั้นของทหารและกลุ่ม นปช. ซึ่งบนสะพานลอยดังกล่าวมีคนทั่วไปและนักข่าวประมาณ 10-20 คน แต่ไม่มีผู้ชุมนุม นปช. และเจ้าหน้าที่รวมอยู่ด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ได้ไล่สื่อมวลชนและผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด  ขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ห่างจากสะพานลอยที่พยานอยู่ประมาณ 200-300 ม. และบริเวณตอม่อระหว่างสะพานลอยถึงจุดที่ทหารตั้งแนวอยู่มีทหารกระจายอยู่ตามตอม่อ

เวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีคนขับรถลงมาจากโทลล์เวย์ประมาณ 8-9 คัน โดยขับไปทางแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ จากนั้นรถคันแรกได้ล้มลง และเธอได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 ครั้ง มาจากแนวของทหารและพยานเห็นแสงจากปืนออกจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในแนว และคนที่อยู่บนสะพานก็บอกว่าทหารยิงกันเอง จากนั้นทหารได้เข้าไปหามทหารที่ถูกยิงออกไป

พยานปากที่สามว่าที่ร้อยตรี จตุพร สุวรรณรัตน์ เบิกความว่า เวลาประมาณ 12.00 น. ขณะที่พยานเดินทางมาถึงโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา บริเวณถนนวิภาวดีฝั่งขาออกพบว่ามีแนวทหารแต่งชุดลายพราง มีผ้าพันคอสีฟ้า และมีการยิงปืนกระสุนยาง มีปืนลูกซองยาว และมีรถฉีดน้ำ เพื่อสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนผ่านไปตลาดไทได้  พยานได้ตั้งกล้องถ่ายภาพอยู่บริเวณดังกล่าว  จากนั้นได้มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่  ซึ่งทางเจ้าหน้าได้ห้ามไม่ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพเหตุการณ์ พยานจึงย้ายเข้าไปอยู่ในโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา

เวลาประมาณ 13.00 น. ขณะที่นายจตุพรสังเกตการณ์อยู่ในโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา พบว่าผู้ชุมนุมได้เข้ามาในโรงเรียนเพื่อพยายามข้ามฝั่งไปยังตลาดไท แต่เจ้าหน้าที่ยิงสกัดด้วยกระสุนยาง และผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการยิงหนังสติ๊กและโยนก้อนอิฐที่เก็บได้จากข้างทาง ไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน ขณะที่เจ้าหน้าที่มีโล่ กระบอง และปืน ผู้ชุมนุมไม่สามารถฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ไปได้  และฝนได้ตกลงมา  ผู้ชุมนุมจึงถอยห่างออกไปจากบริเวณแนวของทหารประมาณ 300-400 ม. ในขณะที่ฝนตกนั้นไม่มีการปะทะแล้ว ส่วนเขาได้ขยับมาที่เกาะกลางถนนที่อยู่หลังแนวเจ้าหน้าที่ไปทางตลาดไทประมาณ 200 ม. เพื่อหลบฝน ซึ่งหลังแนวทหารบริเวณที่พยานยืนอยู่ไม่มีประชาชนทั่วไปอยู่  ขณะนั้นเจ้าหน้าที่บางคนหลบฝน บางส่วนยังอยู่ในแนว  แต่เขาไม่ได้สังเกตทหารที่หลบฝนอยู่ตรงตอม่อทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์  และพยานมองไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมอยู่ตรงไหน   ขณะนั้นถนนถูกปิดการจราจรทุกช่องทาง

เวลาประมาณ 15.00 น. ฝนเริ่มซาลง เจ้าหน้ายังคงตั้งแนวสกัดอยู่บริเวณปั๊ม ปตท. ส่วนนายจตุพรยังคงสังเกตการณ์อยู่หลังแนวทหารเหมือนเดิม จากนั้นเขาได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิด 1 ครั้ง เพราะใต้โทลล์เวย์เสียงจะดังก้องมาก  เขาได้รับรายงานว่ามีทหารถูกยิง และได้เห็นทหารที่ถูกยิงถูกหามใส่เปลผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ไปที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ  เขาจึงได้วิ่งเข้าถามทหารที่หามเปลออกมาว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งทหารตอบว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้น จากนั้นเขาได้ติดตามไปสอบถามทหารที่อยู่ในชุดที่ขับรถจักรยานยนต์มาพร้อมกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละว่าเหตุการณ์อะไรขึ้น ทหารตอบว่าเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด

พยานปากที่สี่ ร.อ. กฤษฒิชัย กองกิจ เบิกความว่า เดือนมีนาคม 2553 ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บังคับการกองร้อย กองพันทหารม้าที่ 26 ให้มาปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยที่กองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ โดยเขาเป็นหัวหน้ากองร้อยและนำกำลังพลทั้งหมด 120 นาย  เข้ามาประจำการตามคำสั่ง วันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาให้ไปสกัดกั้น นปช.ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก เขาจึงได้นำกำลังพลจำนวนหนึ่งกองร้อยไป

ขั้นตอนการสั่งการของทหารมีดังนี้ ผู้บังคับบัญชาจะสั่งการด้วยวาจาผ่านวิทยุสื่อสารเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการสั่งการ จากนั้นคนที่รับวิทยุสั่งการจะพิมพ์คำสั่งลงในกระดาษเขียนข่าวซึ่งเป็นเอกสารสั่งการ และนำกำลังพลหนึ่งกองร้อยที่ประกอบด้วยทหารทั้งหมด 120 นาย เคลื่อนตัวออกจากกองพันทหารราบที่ 11 ด้วยรถบัสของราชการไปถึงที่อนุสรณ์สถานฯ ในเวลาประมาณ 13.00 น. เมื่อไปถึงพบว่ามีกองพันทหารม้าที่ 12 และ 16 และตำรวจอยู่ในพื้นที่แล้ว

ทหารในชุดของร.อ.กฤษฒิชัยแต่งกายด้วยชุดลางพราง สวมหมวกเหล็ก มีริบบิ้นสีขาวติดที่หัวไหล่ด้านขวาเป็นสัญลักษณ์ ส่วนของกองพันทหารม้าที่ 12 และ 16 มีผ้าพันคอสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ จากนั้นได้ตั้งแนวสกัดโดยแถวที่ 1 – 3  มีอาวุธประจำกายเป็นโล่และกระบอง แถวที่ 4 มีอาวุธปืนลูกซองยาว และแถวที่ 5 อาวุธปืนเล็กยาวประเภท M16  HK33  และทาโวร์ แต่ปืนที่หน่วยของเขาใช้คือ HK33 มีลักษณะภายนอกคล้ายปืน M16  เขาอยู่ในแถวที่ 5 แต่ไม่มีอาวุธปืนประจำกายมีเพียงวิทยุสื่อสารเท่านั้น โดยทหารทั้งสามกองร้อยตั้งแนวอยู่บนถนนคู่ขนานขาออก ส่วนตำรวจอยู่บนเส้นทางหลัก และห่างไปด้านหลังแนวทหารประมาณ 200 ม. จะมีกองพันทหารม้าที่ 15 อีกหนึ่งกองร้อยตั้งแนวกั้นอยู่ด้านหลังเพื่อสกัด ผ็ชุมนุมที่อาจเคลื่อนพลมาจากฝั่งตลาดไท

เวลา 13.30 น. ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนมาถึงแนวสกัดของทหาร มีการต่อว่าทหารและรื้อทำลายลวดหนามที่เจ้าหน้าที่วางสกัดไว้ซึ่งห่างจากแนวทหารไปประมาณ 5 ม.  มีการใช้หินและอิฐขว้างเข้าใส่เจ้าหน้าที่มีบางคนขว้างลงมาจากบนทางด่วนโทลล์เวย์  พยานไม่เห็นผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน แต่หลังเหตุการณ์จบลงร.อ.กฤษฒิชัยได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธปืนพก

ผู้ชุมนุมยังไม่สามารถฝ่าแนวสกัดของทหารไปได้  มีทหารได้รับบาดเจ็บจากการปะทะเล็กน้อย โดยระหว่างนี้ทหารได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่มีทหารที่ออกไปอยู่นอกแนวที่ตั้งสกัดอยู่บนถนน และการปฏิบัติเป็นไปตามขั้นตอนควบคุมฝูงชนที่ได้ฝึกมา คือ

  1. ตั้งแนวแสดงกำลังพลเพื่อให้ นปช. เห็นว่าไม่สามารถผ่านไปได้
  2. ประกาศแจ้งเตือนให้ทราบว่าไม่อนุญาตให้ผ่านไปได้
  3. ใช้โล่ผลักดัน
  4. ใช้น้ำฉีด และใช้เครื่องเสียงรบกวนเพื่อให้มวลชนสลายตัว แต่ในขั้นตอนการฉีดน้ำได้ข้ามไปเพราะรถฉีดน้ำไม่พร้อม
  5. ใช้กระบองและแก๊สน้ำตา
  6. ใช้กระสุนยาง

ภายใต้ขั้นตอนควบคุมฝูงชนนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้กระสุนจริง ยกเว้นทหารจะถูกยิงด้วยกระสุนจริงก่อน ถึงจะสามารถใช้กระสุนจริงเพื่อป้องกันตัวเองได้ แต่ในวันดังกล่าวมีการใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าเพื่อให้เกิดเสียงดังให้ผู้ชุมนุม นปช. หวาดกลัว

เวลา 14.00 น. เหตุการณ์ปะทะรอบแรกได้จบลง และได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ช่วงที่ฝนตกทหารบางส่วนได้เข้าไปหลบฝนที่ใต้ทางด่วน พยานก็เข้าไปหลบฝนที่ใต้ทางด่วนเช่นกัน แต่ยังคงมีทหารบางส่วนที่ยังคงตั้งแนวอยู่

เวลา 15.30 หลังฝนหยุดตก ทหารและตำรวจได้กลับมาตั้งแนวสกัดตามเดิม โดยไม่มีทหารประจำอยู่บริเวณตอม่อแล้ว และระหว่างนั้นร.อ.กฤษฒิชัยได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารอีกหน่วยเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์เพื่อเข้ามาสมทบกับทหารที่ตั้งแนวสกัดอยู่ โดยทหารที่มาจะมีริบบิ้นสีขาวที่ไหล่ขวาเป็นสัญลักษณ์ และเขาได้แจ้งให้ผู้ใต้บังคับบังชาที่ปฏิบัติหน้าที่ทราบด้วย แต่หลังจากนั้นเขาได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด แต่ไม่ทราบทิศทางแต่ดังอยู่รอบๆ บริเวณนั้น เมื่อเสียงปืนสงบลงได้รับแจ้งว่ามีทหารถูกยิง เขาจึงได้จัดกำลังนำเปลเข้าไปช่วยทหารที่ถูกยิงส่งโรงพยาบาล  ส่วนทหารชุดที่มาสมทบคนอื่นๆ ได้เข้าไปในแนวสกัด และไม่มีเหตุการณ์ปะทะกันเกิดขึ้นอีก  ในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ เขาไม่เห็นว่ามีชายชุดดำปรากฏอยู่ในเหตุการณ์

ร.อ.กฤษฒิชัยได้อธิบายเกี่ยวกับการยิงวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ในลักษณะเดียวกันกับรถจักรยานยนต์ของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ หากเป็นการยิงในระยะไกลผู้ยิงต้องมีความเชี่ยวชาญ แต่ถ้าระยะ 5-10 ม. คนที่ใช้ปืนเป็นทั่วไปสามารถยิงได้

พยานปากที่ห้า ส.อ. กิตติกร กิ่งกลางเบิกความว่า ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่กองพันทหารราบที่ 11 ต่อมาในวันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่สกัดกั้น กลุ่มนปช.ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ  จึงได้เดินทางไปพร้อมกับกองร้อยซึ่งมี ร.อ.ปรีชาเป็นผู้บังคับบัญชา  ออกจากกองพันทหารราบที่ 11 ด้วยรถของราชการ เมื่อไปถึงพบว่าเจ้าหน้าที่ได้วางลวดหนามสกัดไว้อยู่แล้ว และเขาได้เข้าไปอยู่ในแนวสกัดบริเวณปั๊ม ปตท. โดยแนวสกัดที่มีตำนวจและทหารจะตั้งแนวในระนาบเดียวกัน และมีการตั้งแนวในลักษณะเดียวกัน คือแถวแรกถึงแถวที่สามเป็นโล่และกระบอง แถวที่สี่และห้าเป็นอาวุธปืนลูกซองยาวกระสุนยางและ M16 HK33 ทาโวร์ กระสุนจริง พยานอยู่แถวที่สามมีปืนลูกซองยาวกระสุนยาง แต่กระสุนจริงใช้ยิงขึ้นฟ้าเพื่อปรามผู้ชุมนุม  หน่วยของเขาได้รับคำสั่งให้ประจำที่แนวกั้นซึ่งอยู่บนถนน ไม่มีทหารที่อยู่นอกแนวกั้น และเขาไม่เห็นว่ามีทหารคนอื่นๆ อยู่นอกแนวกั้นและอยู่บริเวณตอม่อ

ขณะที่ทหารถูกยิงมีฝนตกลงมาแต่ไม่หนักมาก และระหว่างนั้นมีคนโยนระเบิดปิงปองลงมาจากโทลล์เวย์  ซึ่ง ส.อ.กิตติกรเห็นว่าบนโทลล์เวย์มีประชาชนแต่งกายหลากหลายและบางคนแต่งกายแบบ นปช. ประมาณ 50 คน ขณะระเบิดปิงปองถูกโยนลงมา มีเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง จากนั้นทหารที่อยู่ในแนวได้ออกไปนำร่างทหารที่ถูกยิงออกมา แต่เขาไม่ทราบว่าใครยิง เขาก็ได้รับบาดเจ็บจากระเปิดปิงปองและถูกนำส่งโรงพยาบาล

วันเกิดเหตุส.อ.กิตติกร แต่งชุดลายพรางมีผ้าพันคอสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ สวมหมวกเหล็ก ด้านผู้ชุมนุมส่วนมากสวมเสื้อแดงและมีสีอื่นๆ ปนอยู่ด้วย แต่ไม่พบว่ามีชายชุดดำอยู่ในกลุ่มนปช.

 

นัดสืบพยานวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

                พยาน

  1. ส.ต.ต. สุกิจ หวานไกล สภอ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
  2. ส.ต.อ. ณรงค์ วังทองพูล สภอ.บ้านราช จ.เพชรบุรี
  3. ส.ต.อ. วินัย กองแก้ว
  4. ด.ต. สนธยา ต่วนเครือ สภอ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

พยานปากที่หนึ่งส.ต.ต. สุกิจ หวานไกล เบิกความว่าต้นเดือนเมษายน 2553 ได้รับคำสั่งให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่กรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมด 150 นาย โดยต้นคำสั่งมาจากสำนักงานตำรวจนครบาลที่สั่งการมายังสำนักงานตำรวจนครบาลภาค 7 และสั่งการลงมายังสภอ.ท่ายางอีกต่อหนึ่ง  ภายหลังได้รับคำสั่งพยานเดินทางมาพักอยู่สำนักงานตำรวจนครบาลแห่งชาติ และวันที่ 28 เม.ย. 53 ช่วงเช้าได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่กองบัญชาการทหารราบที่ 11 หรือ ศอฉ.ในเวลานั้น จากนั้นกองร้อยของเขารวมทั้งหมด 150 นายได้รับคำสั่งให้ไปสกัดกั้นผู้ชุมนุมที่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก และเขาทราบว่ามีกองตำรวจจากราชบุรีและกาญจนบุรีร่วมปฏิบัติภารกิจด้วย

พยานเดินทางมาถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และ พ.ต.ท.โชคชัยผู้บังคับกองร้อยได้ชี้แจงให้ปิดถนนวิภาวดีฝั่งขาออกบริเวณช่องทางเดินรถด้านใน  กองร้อยของส.ต.ต.สุกิจ แต่งกายด้วยเครื่องแบบตำรวจพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน มีหมวกนิรภัย โล่ กระบอง มีตำรวจหลายคนมีอาวุธปืนพกสั้น บางคนมีอาวุธปืนเล็กยาวประเภท M16 และตั้งแนวกั้นโดยสองแถวแรกเป็นตำรวจที่มีโล่และกระบอง แถวที่สามเป็นปืนกระสุนยาง ส่วนเจ้าหน้าที่ที่มี M16 จะอยู่แถวท้ายสุด ส่วนแนวด้านข้างของเขาเป็นทหารที่แต่งกายด้วยชุดลายพรางยืนอยู่แนวระนาบเดียวกัน และที่ตอม่อที่กั้นระหว่างถนนมีทหารสวมชุดลายพราง สวมหมวกกันน็อก มีโล่และอาวุธปืนเล็กยาวหลายคน และบางคนเป็นปืน M16 มีแถบสีติดที่หมวกและมีผ้าพันคอสีฟ้าด้วย ส่วนด้านหน้าแนวของเจ้าหน้าที่จะมีลวดหนามถูกวางไว้อยู่

เวลา 13.00 น. หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตั้งแนวสกัดเสร็จแล้ว ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเข้ามาถึงบริเวณแนวกั้น และพยายามรื้อลวดหนามจนสำเร็จ ขณะนั้นส.ต.ต.สุกิจยืนถือโล่อยู่ด้านหน้าสุดของแนวกั้น  เห็นเจ้าหน้าที่ทหารพยายามเจรจากับผู้ชุมนุม แต่ไม่สำเร็จ และเจ้าหน้าที่ได้ใช้ปืนกระสุนยางยิงขู่ขึ้นฟ้า ส่วนผู้ชุมนุมได้ใช้หนังสติ๊กยิงลูกแก้วและลูกหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่ และบางคนใช้ก้อนหินและไม้ มีเจ้าหน้าที่บางคนได้รับบาดเจ็บแต่เจ้าหน้าที่ส่วนมากไม่เป็นอะไรเพราะมีโล่บังอยู่

แม้เจ้าหน้าที่จะยิงปืนขู่แต่ผู้ชุมนุมยังคงพยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่และสามารถรื้อลวดหนามออกได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถฝ่าแนวที่ทหารยืนกั้นอยู่ไปได้ ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นตำรวจในกองร้อยเดียวกับส.ต.ต.สุกิจไม่มีใครอยู่นอกแนวสกัด มีทหารที่อยู่นอกแนวแต่เขาไม่ได้สังเกตว่าอยู่จุดไหนบ้าง

เวลา 14.00 น. ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักและมีลมแรง เจ้าหน้าที่บางส่วนจึงหลบฝนใต้ทางด่วนแต่บางส่วนยังคงยืนอยู่ตรงแนวสกัด ผู้ชุมนุมก็หลบฝนอยู่ในปั๊มแก๊สเช่นกัน ฝนตกหนักอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมงจึงซาลง

เวลา 15.00 น. เมื่อฝาซาลงเจ้าหน้าที่หลบอยู่ได้ถูกเรียกให้กลับมาตั้งแนวสกัดตามเดิม แต่แนวสกัดได้ขยับเข้ามาใกล้ผู้ชุมนุมมากขึ้น โดยขยับมาตั้งอยู่บริเวณปั๊มปตท. ขณะนั้นฝนยังตกเบาๆ และสามารถมองเห็นชัดเจนได้ในระยะ 100 ม. และมีทหารประจำอยู่ตรงตอม่อโทลล์เวย์ด้านขวามือของส.ต.ต.สุกิจอีกประมาณ 3-4  คน และมีอาวุธปืนเล็กยาวแต่ไม่แน่ใจว่าเป็น M16 หรือเปล่า จากนั้นได้มีรถประจำทางเปิดไฟขับตรงเข้ามาที่แนวสกัดของทหาร และเขาเข้าใจว่าเป็นรถที่ผู้ชุมนุมขับเข้ามาเพื่อฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่จึงได้ระวังตัวมากขึ้น ระหว่างนั้นมีรถจักยานยนต์ประมาณ 5-6 คันเปิดไฟหน้ารถแต่เขามองไม่เห็นคนที่นั่งมากับรถเพราะไฟหน้ารถแยงตาพยาน รถประจำทางได้จอดเข้าข้างทางด้านซ้าย ส่วนรถจักรยานยนต์ได้ขับแซงขึ้นมาด้านขวา และเขาได้ยินเสียงของเจ้าหน้าที่ตะโกนให้รถจักรยานยนต์หยุด แต่รถยังวิ่งเข้ามาและพยานได้ยิงเสียงปืนดังขึ้นมาจากกลุ่มทหารที่อยู่นอกแนวด้านขวามือและมีเสียงปืนหลายนัดดังขึ้นมาจากจากแถวหลังของแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ทหารด้วย และเห็นตำรวจและทหารเล็งปืนไปทางด้านหน้าที่รถจักรยานยนต์กำลังขับมา จากนั้นรถได้ล้มไปทั้งหมด และเมื่อเสียงปืนสงบลงมีคนตะโกนว่าทหารถูกยิง โดยจุดที่ถูกยิงอยู่ห่างจากจุดที่พยานยืนอยู่ประมาณ 20-30 ม. และมีทหารนำเปลไปนำร่างทหารที่ถูกยิงออกไป

ภายหลังจากเหตุการณ์ยิงทหารเกิดขึ้นสถานการณ์ก็สงบลง การจราจรถูกเปิดใช้ตามปกติ และตำรวจได้ทำหน้าที่ตั้งด่านตรวจค้นรถที่ขับผ่านบริเวณดังกล่าวอยู่ประมาณ 1ชั่วโมง จากนั้นได้ถอนกำลังกลับไปที่ตั้งที่กองพันทหารราบที่ 11

พยานปากที่สอง ส.ต.อ.ณรงค์ วังทองพูล เบิกความว่า ได้รับคำสั่งเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกองร้อยประมาณ 150 นาย  ก่อนเกิดเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย. 53 เพียงสองวัน เมื่อมาถึงได้เข้าพักที่กองพันทหารราบที่ 11 ต่อมาในวันที่ 28 เม.ย.  เขาได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติภารกิจสกัดการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม นปช. ที่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก

เวลา 11.00 กองร้อยของส.ต.อ.ณรงค์ ที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบตำรวจ สวมผ้าพันคอสีชมพู บางคนมีโล่ มีกระบอง มีอาวุธปืน M16 และอาวุธปืนลูกซองได้เดินทางถึงถนนวิภาวดีขาออก ซึ่งพบว่ามีแนวทหารที่แต่งกายด้วยชุดลายพราง สวมผ้าพันคอสีฟ้า และทุกคนมีปืนเล็กยาวซึ่งเขาไม่แน่ใจว่าเป็น M16 HK33 หรือทาโวร์ ตั้งด่านสกัดอยู่ก่อนแล้ว

เมื่อผู้ชุมนุมมาถึงบริเวณดังกล่าวได้รื้อลวดหนามที่เจ้าหน้าที่วางไว้  ได้ใช้ก้อนหินและไม้ขว้างใส่เจ้าหน้าที่ และมีผู้ชุมนุม นปช.บางส่วนอยู่บนโทลล์เวย์ขว้างปาสิ่งของลงมาใส่เจ้าหน้าที่ และมีเจ้าหน้าที่ขับรถขึ้นไปผลักดันผู้ชุมนุม ที่อยู่บนโทลล์เวย์ลงมาด้านล่าง  จากนั้นทหารยังคงประจำอยู่ด้านบนของโทลล์เวย์ ส่วนบนถนนได้เกิดการผลักดันกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตั้งแนวอยู่  เจ้าหน้าที่ได้ยิงปืนกระสุนยางขู่ผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนวิภาวดีและบนโทลล์เวย์ การปะทะเกิดขึ้นนานประมาณ 30 นาที ก่อนจะจบลงด้วยการที่เจ้าหน้าที่สามารถผลักดัน นปช.ให้ถอยร่นออกไปได้  หลังจากนั้นได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก กลุ่ม นปช.จึงได้สลายตัว ส่วนเจ้าหน้าที่บางส่วนยังคงตั้งแนวสกัดอยู่ แต่มีบางส่วนที่ไปหลบฝนในปั๊ม ปตท. และตอม่อกลางถนนวิภาวดี

เวลา 15.00 น. เมื่อฝนซาลงแล้ว ส.ต.อ.ณรงค์ เห็นว่ามีทหารหลบฝนกระจายกันอยู่และทุกคนมีปืนยาวอยู่บริเวณตอม่อตรงทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์ประมาณ 6-7 คน และขณะนั้นเขาได้กลับมาตั้งแนวสกัดตามเดิมและเห็นว่ามีรถประจำทางเปิดไฟหน้ารถขับตรงเข้าที่แนวสกัดของเจ้าหน้าที่ แต่ต่อมารถประจำทางคันดังกล่าวได้จอดรถเข้าข้างทางห่างจากจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งแนวอยู่ไม่ไกลมากนัก จากนั้นมีรถจักรยานยนต์เปิดไฟหน้าขับตรงเข้ามายังแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ประมาณ 6-7 คัน แต่เขามองเห็นไม่ชัดว่ามีคนนั่งซ้อนท้ายรถมาด้วยหรือเปล่าเพราะขณะนั้นท้องฟ้ายังคงมืดอยู่และรถยังอยู่ระยะไกลเกินไป และเมื่อรถจักรยานยนต์ขับเข้ามาใกล้แนวสกัดของเจ้าหน้าที่มากขึ้น มีตำรวจและทหารตะโกนบอกให้รถหยุดแต่รถไม่หยุด จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดจากด้านข้างฝั่งขวามือของเขา และรถจักรยานยนต์ได้ล้มลง 1 คัน ส่วนรถที่ตามมาข้างหลังได้หยุดรถและล้มลงตาม ในตอนแรกเขาไม่ทราบว่ารถล้มลงเพราะเหตุใด จากนั้นได้มีทหารเข้าไปดูรถที่ล้มและตะโกนว่ามีทหารถูกยิง ทหารจึงนำเปลเอาร่างทหารที่ถูกยิงออกไปส่งโรงพยาบาล ส่วนพยานยังคงประจำการต่ออยู่บนถนนวิภาวดีต่ออีก 1 ชม. จึงถอนกำลังกลับกองพันทหารราบที่ 11

พยานปากที่สาม ส.ต.อ.วินัย กองแก้ว เบิกความว่า วันที่ 25 เมษายน 2553 ขณะที่ประจำการอยู่ สภอ. บางอ้อ จ.ราชบุรี ได้รับคำสั่งให้มาประจำการที่กองพันทหารราบที่ 11 ต่อมาวันที่ 28 เมษายน ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ. ให้มาปฏิบัติภารกิจควบคุมฝูงชนโดยมีจำนวนเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมดสามกองร้อย

เวลา 12.00 น. ได้เดินทางมาถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ส.ต.อ.วินัยแต่งกายด้วยชุดควบคุมฝูงชน สวมสนับแขนสนับเข่าอ่อน เสื้อเกราะอ่อนที่กันกระสุนไม่ได้ สวมหมวก บนโล่เขียนว่า police  กระบอง ตำรวจจากราชบุรีสวมผ้าพันคอสีเขียว และมีอาวุธปืนประจำกาย  แนวสกัดแถวแรกของแนวจะถือโล่ แถวที่สองถือกระบอง แถวที่สามมีปืนลูกซองกระสุนยาง เขาไม่เห็นมีตำรวจที่ใช้ M16 และ HK33  ทหารก็แต่งกายด้วยชุดควบคุมฝูงชนเช่นกันแต่โล่จะเขียนว่า ARMY บางนายมีปืนเล็กยาวแต่เขาไม่แน่ใจว่าเป็นปืน M16 หรือเปล่าประมาณ 20 กระบอกต่อหนึ่งกองร้อย

หลังจากตั้งแนวสกัดประมาณ 20 นาที กลุ่มนปช.เคลื่อนมาถึงและมีการขว้างปาสิ่งของและยิงหนังสติ๊กเข้าใส่แนวสกัดของเจ้าหน้าที่ ด้านบนโทลล์เวย์ก็มี นปช. ขว้างปาสิ่งของลงมาใส่เจ้าหน้าที่เช่นกัน ผู้ชุมนุมสามารถรื้อลวดหนามที่เจ้าหน้าที่ตั้งขวางไว้ได้บางส่วน และปะทะกับแนวสกัดของทหารที่ใช้โล่กระบองผลักดันและใช้กระสุนยาง แต่ส.ต.อ.วินัยไม่แน่ใจว่ามีการใช้กระสุนจริงด้วยหรือไม่ การผลักดันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นติดต่อกันประมาณ 1 ชม. แต่ผู้ชุมนุมไม่สามารถผ่านด่านสกัดของทหารไปได้จึงถอยร่นกลับไปทางดอนเมือง หลังจากนั้นได้มีฝนตกลงมาหลักบ้างเบาบ้านสลับกันไป ผู้บังคับกองร้อยจึงสั่งให้พักผ่อนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ และทหารก็พักผ่อนด้วยเช่นกัน

เวลา 15.00 น. พยานได้ยินเสียงนกหวีดเรียกรวมพล และขยับแถวเข้าใกล้ผู้ชุมนุมอีก โดยมาตั้งแนวอยู่ที่บริเวณหน้าปั๊ม ปตท.ขณะนั้นส.ต.อ.วินัยเห็นมีทหารวางกำลังอยู่ที่ตอม่อเป็นจุดๆ ก่อนถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ประมาณจุดละ 2 คน และมีอาวุธปืนยาวทุกคน ขณะตั้งแนวสกัดสังเกตเห็นมีแสงไฟจากรถจักรยานยนต์ประมาณ 3-4 คัน ขับเข้ามาเป็นกลุ่ม โดยลงมาจากโทลล์เวย์ตรงเข้ามายังแนวทหารที่ตั้งแนวสกัดอยู่ จากนั้นพยานได้ยินเสียงนกหวีดอีกและเสียงตะโกนบอกให้หยุดรถ  เขาเข้าใจว่าเป็นรถของผู้ชุมนุมเพราะไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะมีเจ้าหน้าที่เคลื่อนพลในลักษณะนี้ แต่รถไม่ยอมหยุดและขับตรงเข้าหาแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ จนเข้ามาในระยะ 20-30 ม. เขาได้ยินเสียงปืนดังมาจากด้านขวาของเขาหรือบริเวณตอม่อทางขึ้นโทลล์เวย์ประมาณ 3-4 นัดจากนั้นรถที่ขับเข้ามาได้ล้มลง และในเวลาใกล้เคียงกันที่ด้านหลังก็มีเสียงปืนดังด้วย แต่ขณะนั้นเขาตั้งโล่ป้องกันอยู่จึงไม่สามารถมองเห็นได้ จากนั้นทหารได้นำเปลไปรับคนเจ็บส่งโรงพยาบาล ส่วนเขาประจำการอยู่ต่ออีกประมาณหนึ่งชั่วโมงและได้ถอนกำลังกลับที่ตั้ง

ขณะเกิดเหตุเขาสังเกตไม่เห็นผู้ชุมนุมเข้ามาปะปนอยู่ใกล้บริเวณแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ และสังเกตไม่เห็นว่าผู้ชุมนุม มีอาวุธปืนหรือไม่

พยานปากที่สี่ ด.ต.สนธยา ต่วนเครือ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53  ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ. ให้ไปตั้งแนวสกัดที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เพื่อสกัดผู้ชุมนุม นปช. ที่จะเดินทางไปตลาดไท เขาเดินทางไปถึงบริเวณดังกล่าวในเวลาเที่ยงวัน และร่วมกันตั้งแนวสกัดเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางผ่านไปได้ เขาอยู่ด้านหน้าสุดของแนวสกัด

เมื่อผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงได้พยายามฝ่าด่านสกัดแต่ไม่สำเร็จจึงได้ล่าถอยไป ต่อมาฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก  เมื่อฝนซาแล้วได้มีรถประจำทางขับเข้ามาแล้วจอดเข้าข้างทาง  จากนั้นมีรถจักรยานยนต์ขับแซงขึ้นมาและตรงเข้าหาแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ เมื่อขับเข้ามาใกล้ด.ต.สนธยา เห็นคนที่นั่งบนรถแต่งกายด้วยชุดทหารลายพราง เขาได้สังเกตเห็นว่ามีสัญลักษณ์เป็นผ้าพันคอหรือเป็นริบบิ้นหรือไม่ จากนั้นได้มีเสียงปืนดังขึ้นมาจากด้านขวาของเขา  บริเวณหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. รถจักรยานยนต์คันแรกได้ล้มลงและรถคันอื่นๆ ได้ล้มลงห่างจากจุดที่เขาอยู่ประมาณ 30 ม. เขามองไม่เห็นคนยิงแต่เข้าใจว่าเสียงปืนดังมาจากฝั่งที่ทหารอยู่และบริเวณดังกล่าวไม่มีตำรวจและผู้ชุมนุมอยู่ จากนั้นทหารวิ่งกรูนำเปลเข้าไปช่วยทหารออกไปส่งโรงพยาบาล

สำหรับอาวุธประจำกายของตำรวจมีเพียงปืนลูกซองไม่ใช่ HK33และ M16 แต่ทหารมีปืนทั้งสองประเภท

 

นัดสืบพยานวันที่ 19 มีนาคม 2556

มีพยานรวมทั้งหมด 4 ปาก จากกองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์จ.กาญจนบุรี เป็นทหารที่ขับรถจักรยานยนต์อยู่กลุ่มเดียวกันกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ

  พยาน

  1. ร.อ. ธนรัตน์ มณีวงค์
  2. ส.อ. อนุภัทร์ ขอมปรางค์
  3. จ.ส.อ. โกศล นิลบุตร
  4. จ.ส.อ. นภดล ตนเตชะ  ปัจจุบันลาออกจากราชการและประกอบธุรกิจส่วนตัว

พยานปากที่หนึ่ง ร.อ.ธนรัตน์ มณีวงค์ เบิกความว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังพลหนึ่งกองร้อย หรือ 150 นาย  ให้มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่บ้านผู้บัญชาการทหารบก  ย่านปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ  ต่อมาได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

วันที่ 28 เม.ย. 53ได้รับคำสั่งให้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อเป็นหน่วยเสริมในการปฏิบัติงาน โดยชุดปฏิบัติการดังกล่าวแต่งกายด้วยชุดทหารลายพราง สวมเสื้อเกราะ หมวกเคฟล่าที่ทำจากใยสังเคราะห์มีคุณสมบัติกันกระสุนได้เหมือนหมวกเหล็ก มีสัญลักษณ์เป็นริบบิ้นสีขาวติดที่หัวไหล่ด้านขวาและสวมผ้าพันคอสีเขียว มีอาวุธปืนทาโวร์กระสุนจริงเป็นอาวุธประจำกาย โดยนายทหารชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนบางนายใช้ปืนลูกซองยาว และพลทหารถือปืนลูกซองยาวกระสุนยาง และการปฏิบัติการเจ้าหน้าทุกคนถูกสั่งเรื่องการใช้อาวุธว่าจะใช้กระสุนจริงได้ก็ต่อเมื่อต้องป้องกันชีวิตตัวเองโดยไม่ทำลายชีวิตของผู้อื่น

เวลา 15.00 น. ร.อ.ธนรัตน์ได้รับคำสั่งให้นำกำลังเคลื่อนที่ด้วยรถจักรยานยนต์ไปช่วยเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแนวอยู่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  บนถนนวิภาวดีฝั่งขาออกซึ่งถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมอยู่   โดยเขาซึ่งเป็นหัวหน้ากองร้อยได้ทราบว่าผู้บังคับบัญชาได้ประสานงานกับทหารหน่วยที่ตั้งแนวสกัไว้ก่อนแล้ว สำหรับขั้นตอนการสั่งการก่อนเคลื่อนกำลังพลดังกล่าวมีดังนี้

  1. รองนายยกรัฐมนตรีสั่งการด้วยเอกสารมายังผู้บังคับบัญชาโดยใช้กระดาษเขียนข่าว
  2. จากนั้นผู้บังคับบัญชาจะสั่งการพยานด้วยวาจา

ร.อ.ธนรัตน์นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ขับนำหน้าเป็นคันแรก โดยตั้งขบวนและเคลื่อนขบวนออกจากสี่แยกหลักสี่ไปตามช่องทางจราจรหลักของถนนวิภาวดีขาออก สภาพอากาศขณะที่ขับรถไปเริ่มครึ้มฟ้าครึ้มฝน สามารถมองเห็นได้ในระยะ 200-300 ม. และขณะรถเริ่มเคลื่อนตัวมาเรื่อยๆ ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก รถที่ขับมาทุกคนต้องเปิดไฟหน้ารถ หลังจากขับผ่านหน้าดอนเมือง สังเกตเห็นถนนคู่ขนานที่อยู่ซ้ายมือมีผู้ชุมนุม นปช. อยู่จำนวนหลายร้อยคน ส่วนมากสวมเสื้อแดงและบางคนถือธงแดงที่มีปลายแหลมคม แต่พยานไม่ได้สังเกตเห็นว่า ผู้ชุมนุมมีอาวุธปืนหรือไม่ และเมื่อทหารขับรถเข้ามาใกล้บริเวณที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่ได้ยินเสียงผู้ชุมนุมตะโกนว่ามีทหารมา  ผู้ชุมนุมบางส่วนได้พยายามกรูข้ามที่กั้นกลางระหว่างช่องทางหลักกับช่องทางคู่ขนานเข้าหาทหาร เขาจึงสั่งการให้รถจักรยานยนต์ทุกคันรีบขับออกจากบริเวณนั้นและพุ่งไปข้างหน้า รถกลุ่มแรกที่หลุดออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีประมาณ 6-7 คัน รถคนที่เขาซ้อนมาอยู่ด้านสุดเหมือนเดิมและเมื่อมาจนถึงจุดที่ห่างจากแนวสกัดของตำรวจประมาณ 50 ม. เขาไม่ได้สังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณตอม่อโทลล์เวย์หรือไม่ แต่บริเวณทางเท้าที่อยู่ฝั่งซ้ายมือของเขามีประชาชนยืนอยู่ประปราย และสังเกตเห็นแนวตำรวจอยู่ด้านหน้า และในบริเวณเดียวกันนั้นมีรถยนต์ประมาณ 2-3 คัน จอดอยู่ข้างทาง รถคันที่เขาซ้อนมาขับผ่านรถประจำทางจอดอยู่ห่างจากแนวสกัดประมาณ 100 ม. และเห็นมีรถหกล้อจอดอยู่ด้านข้าง เมื่อพยานขับเข้าใกล้แนวของตำรวจในระยะ 50 ม.ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด แต่ไม่แน่ใจทิศทางของเสียงเพราะอยู่ใต้โทลล์เวย์เสียงจึงดังก้อง แต่ไม่ได้ยินเสียงคนตะโกนห้ามให้หยุดรถ เมื่อได้ยินเสียงปืนทหารที่ขับมาทุกคันได้หักรถให้ล้มเพื่อหาที่กำบังตามยุทธวิธีทางการทหารที่ฝึกมา เมื่อเสียงปืนสงบลงได้ตรวจสอบและพบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงนอนนิ่งหันหัวไปทางคอนกรีตกั้นระหว่างช่องทางหลักกับช่องทางคู่ขนาน จึงเรียกทหารที่อยู่ในแนวสกัดให้เข้ามาช่วยนำตัวส่งโรงพยาบาล จากนั้นพยานเรียกรวมพลทั้งหมดเข้าไปร่วมตั้งแนวสกัดกับเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยอื่นๆ

อัยการได้แสดงรูปถ่ายว่ามีบุคคลที่สวมเสื้อแดงและเสื้อดำสวมหมวกไหมพรมมีอาวุธปืนพกจำนวน 2 คน แต่ระหว่างเกิดเหตุร.อ.ธนรัตน์ไม่พบบุคคลตามภาพ แต่เขานำภาพนี้มาแสดงเพราะต้องการชี้ให้เห็นว่ามีบุคคลอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่มีอาวุธปืนอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

พยานปากที่สองส.อ.อนุภัทร์ ขอมปรางค์ วันที่ 28 เม.ย. 53 เวลา 13.00 น. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ร.อ. ธนรัตน์ มณีวงค์(พยานปากที่ 1) ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ โดยเขาแต่งกายด้วยชุดทหารลายพรางและมีปืนทาโวร์กระสุนจริงพร้อมด้วยโล่เป็นอาวุธประจำกาย เคลื่อนพลด้วยรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 50 คัน คันละ 2 คน เขาเป็นผลขับโดยมีร.อ.ธนรัตน์ นั่งซ้อนท้าย  ไปตามถนนวิภาวดีฝั่งขาออก  การจราจรติดขัดเนื่องจากมีรถของประชาชนและรถของกลุ่ม นปช.จอดขวางอยู่บนถนน

ขณะที่กำลังเคลื่อนพลไปนั้นได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก สามารถมองเห็นได้ในระยะ 30 ม. รถทุกคันต้องเปิดไฟหน้ารถ รถสามารถเคลื่อนตัวไปได้ด้วยความเร็วเพียง 20 กม./ชม. ระหว่างทางเห็นผู้ชุมนุม นปช.อยู่บริเวณทางเท้าด้านซ้ายมือของพยาน ผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธเป็นโล่ หนังสติ๊ก ไม้ และสวมหมวกกันน็อก และได้กรูเข้ามาเพื่อทำร้ายทหาร แต่พยานไม่ได้ถูกทำร้ายเพราะสามารถขับรถหลุดออกมาได้เป็นคันแรก แต่จากการสอบถามทหารคนอื่นๆ ทราบว่ามีบางคนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และถูกกระชากทรัพย์ประเภทกระสุนปืน หมวก เสื้อเกราะไป  มีรถที่สามารถผ่านมาได้พร้อมส.อ.อนุภัทร์ประมาณ 7-8 คัน ขณะขับรถตรงมาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 4 นัด แต่ไม่ทราบว่ามาจากทิศทางใด เขาจึงล้มรถลงและเข้าที่กำบังข้างทาง พอเสียงปืนเงียบลงร.อ. ธนรัตน์ ได้สั่งให้เขาตรวจสอบกำลังพล และพบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละถูกยิงนอนหันศีรษะไปทางถนนคู่ขนาน จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่นำเปลมารับไปส่งโรงพยาบาล

ส.อ.อนุภัทร์ ไม่ทราบว่ามีการประสานกันหรือไม่อย่างไรแต่เขาทราบว่าพลทหารสื่อสารจะรับหน้าที่นี้ และเขาไม่ได้สังเกตว่ามีบุคคลอยู่บริเวณด้านข้างก่อนถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่หรือไม่

พยานปากที่สาม จ.ส.อ.โกศล นิลบุตร เบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนกำลังจากปิ่นเกล้าไปที่ ร.1 พัน.2 และจากนั้นได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบโดยเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วด้วยรถจักรยานยนต์เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จากนั้นได้รับคำสั่งให้ไปรวมพลที่แยกหลักสี่เพื่อเคลื่อนพลไปอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ขณะที่รวมพลอยู่ท้องฟ้ามืดครึ้ม  แต่หลังจากเคลื่อนพลออกมาได้ไม่นานฝนได้ตกลงมาอย่างหนักและการจราจรติดขัดรถจึงเคลื่อนตัวได้ช้า

หลังจากจากเคลื่อนพลผ่านดอนเมืองมาได้ประมาณ 500 ม.ได้พบกับกลุ่มนปช.ยืนอยู่ตรงทางเท้าฝั่งซ้ายมือของจ.ส.อ.โกศล และเขาได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายออกจากจุดดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพราะผู้ชุมนุม นปช.ได้กรูข้ามคอนกรีตที่กั้นอยู่เข้ามาพร้อมอาวุธประเภทไม้และหนังสติ๊ก

รถของจ.ส.อ.โกศล สามารถหลุดพ้นออกจากกลุ่มของนปช.ได้เป็นกลุ่มแรกพร้อมกับรถของทหารคนอื่นๆ อีก 8 คัน หลังจากหลุดออกจากแนวผู้ชุมนุมมาได้ พยานสังเกตเห็นแนวของตำรวจที่ตั้งสกัดอยู่ จึงคิดว่าน่าจะรอดแล้วเพราะสามารถเข้าไปหลบที่แนวของเจ้าหน้าที่ได้ แต่ปรากฏว่าได้มีเสียงปืนดังขึ้น 5-6 นัด ไม่ทราบทิศทาง เขาจึงล้มรถแล้วเข้าหาที่กำบังและพยายามเรียกกำลังพลที่กระจัดกระจายอยู่ให้เข้ามาที่เกาะกลางถนน จากนั้นพลทหารที่ขับรถมากับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ได้คลานเข้าไปช่วยร.ต.ณรงค์ฤทธิ์  เขาได้เรียกหมอมาช่วยเพราะคิดว่ายังไม่เสียชีวิต และเห็นถูกยิงบริเวณหูด้านซ้าย จากนั้นทหารที่อยู่ในแนวได้นำเปลมาหามออกไป

จ.ส.อ.โกศลคิดว่าทหารที่อยู่ในแนวน่าจะทราบรถที่ขับเข้ามาเป็นทหารเหมือนกัน เพราะหลังจากถูกยิงเขาได้พยายามเข้ามาช่วย และพยานไม่ได้สังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่นอกแนวสกัดบริเวณตอม่อโทลล์เวย์หรือไม่ และก่อนถึงแนวกั้นของเจ้าหน้าที่พยานเห็นมีประชาชนทั่วไปและ นปช. ยืนอยู่ที่ทางเท้าประปราย และหลังจากเหตุการณ์สงบเขาได้เข้าไปรวมที่แนวสกัดและกลับที่ตั้งในอีกสองชั่วโมงต่อมา        

พยานปากที่สี่ จ.ส.อ.นภดล ตนเตชะ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53 ปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่สื่อสาร ในเวลา 15.30 น. ได้รับคำสั่งจากร.อ. ธนรัตน์ มณีวงค์(พยานปากที่ 1) ให้เคลื่อนกำลังพลไปยังอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  ทหารเคลื่อนขบวนไปด้วยจักรยานยนต์ 50 คัน คันละ 2 คน ส่วนทหารที่เหลือนั่งรถกระบะไป  พยานไม่มีอาวุธประจำกาย แต่มีวิทยุสื่อสารของราชการทหาร โทรศัพท์เคลื่อนที่ วิทยุไอคอม GPRS โดยในปฏิบัติการนี้ เขามีหน้าเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างหน่วยเหนือกับผู้บังคับกองร้อยร.อ. ธนรัตน์ และทำหน้าที่สื่อสารระหว่างร.อ. ธนรัตน์ กับกำลังพลในกองร้อย ส่วนนายทหารคนอื่นๆ มีอาวุธประจำกายเป็นปืนทาโวร์ ปืนลูกซองกระสุนยาง

เมื่อรถเคลื่อนขบวนผ่านดอนเมืองไปได้ประมาณ 400-500 ม. ได้พบกับกลุ่มนปช. 700-800 คน  อยู่ที่ช่องทางริมสุดของถนนคู่ขนานขาออก ส่วนจ.ส.อ.นภดลและกำลังพลทั้งหมดได้เคลื่อนกำลังตามเส้นทางหลัก เมื่อผู้ชุมนุมเห็นเจ้าหน้าที่ก็ได้พยายามเข้ามาทำร้าย ร.อ. ธนรัตน์ จึงได้สั่งการให้กำลังพลเคลื่อนที่ไปข้างให้เร็วที่สุด มีรถหลุดออกไปได้ 5-6 คัน รวมทั้งรถของเขาหลุดออกมาเป็นคันที่สองด้วย

หลังจากหลุดออกไปได้เห็นว่ามีตำรวจที่สวมเครื่องแบบตั้งแนวสกัดอยู่ ร.อ.ธนรัตน์ จึงได้สั่งการให้รีบขับรถเข้าไปในแนวป้องกัน แต่ก่อนถึงแนวป้องกัน 40-50 ม. ได้ยิงเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 4-5 นัด แต่ไม่ทราบทิศทาง กำลังพลทั้งหมดหักรถล้มลงตามยุทวิทีทางการทหารที่ฝึกมา หลังจากเสียงปืนสงบลงร.อ.ธนรัตน์ ได้ถามว่ามีใครถูกยิงบ้างไหม พลทหารที่ขับรถมากับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละได้บอกว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง ร.อ.ธนรัตน์ จึงได้เรียกให้ทหารที่อยู่ในแนวนำเปลมารับไปส่งโรงพยาบาล

ขณะที่เคลื่อนพลเจ้าหน้าที่ทหารกับตำรวจไม่ได้มีการประสานงานกัน มีแต่การประสานงานกับทหารที่รับผิดชอบเป็นระยะ แต่การติดต่อสื่อสารขาดไปโดยการสื่อสารครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นตอนที่ผ่านด่านของกลุ่มนปช.ออกมาได้ก่อนที่มาถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ เพราะขณะนั้นคิดว่าพ้นอันตรายแล้ว

ศพของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์มีรอยยิงบริเวณคิ้วหมวกได้หลุดมาห้อยอยู่ด้านหลัง  ขณะที่เกิดเหตุจ.ส.อ.นภดลมองไม่เห็นทางด้านซ้ายมือของเขาว่ามีใครอยู่ไหม เพราะมีเสาและต้นไม้บังอยู่

 

นัดสืบพยานวันที่ 20 มีนาคม 2556

                พยาน

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารบก
  2. นายพีรบูรณ์ สวัสดินันทน์  ช่างภาพ ช่อง 9
  3. นายนิมิต สุขประเสริฐ ผู้สื่อข่าว ช่อง 9
  4. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ
  5. นายพงษ์ระวี ธนะชัย อาชีพทำไรอ้อย  ทหารปลดประจำการ เป็นผู้ขับรถคันที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์นั่งซ้อนท้าย [9]
  6. พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พยานปากที่หนึ่ง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เบิกความว่าเมื่อ วันที่ 7 เม.ย. 53 นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ 1/2553 เรื่องการจัดตั้งศูนย์อํานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. และแต่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้อำนวยการศูนย์อํานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน  โดยในวันเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการ ผู้รับผิดชอบ ผู้ปฏิบัติงาน และแต่งตั้งนายสุเทพเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการของ ศอฉ.  และ ศอฉ. ได้มีคำสั่งที่ 1/2553 ซึ่งนายสุเทพในฐานะ ผอ. ได้ลงนาม เพื่อสั่งการให้หน่วยงานทั้งหมดที่ ศอฉ.ดูแลให้ระวังและระงับเหตุร้ายที่เกิดจากการชุมนุม และภายใต้คำสั่งที่ 1/2553 ของ ศอฉ. มีข้อบัญญัติถึงการใช้กำลังที่รวมถึงอาวุธและกำลังพลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงและเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป ทั้งหมด 7  ข้อ ดังนี้

  1. ชี้แจงอธิบายความว่าผู้ชุมนุมกำลังทำผิดกฎหมายใด
  2. จัดแสดงอาวุธและกำลังพล เป็นปฏิบัติจิตวิทยาเพื่อป้องปราม
  3. ใช้โล่ผลักดันผู้ชุมนุม
  4. ใช้น้ำฉีดและใช้เครื่องเสียงความถี่สูง
  5. ใช้แก๊สน้ำตา
  6. ใช้กระบองกับกระสุนยาง

แต่การใช้กระสุนจริงไม่ได้อยู่ใน 7 ขั้นตอนดังที่กล่าวมานี้

ก่อนตั้ง ศอฉ. รัฐบาลได้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศอ.รส. เพื่อดูแลการชุมนุมที่เริ่มขึ้นในระยะแรก แต่เมื่อการชุมนุมดำเนินไปซักระยะได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรองและพวกบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา และแย่งเอาอาวุธปืนประจำกายของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและทหารที่รัฐสภาไป พร้อมด้วยแสดงท่าทีข่มขู่บุคลากรในรัฐสภาด้วย จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องปรับจาก ศอ.รส. ขึ้นมาเป็น ศอฉ. เพื่อปรับใช้กฎหมายให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป คือจากพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. 53 ศอฉ. ได้มีคำสั่ง “ขอคืนพื้นที่” บริเวณราชดำเนินเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ เพราะในขณะนั้น นปช.ได้เปิดเวทีเพิ่มที่แยกราชประสงค์แล้ว ในเวลาประมาณ 15.30 น. กลุ่ม นปช. ได้แย่งเอาอาวุธประจำกายของทหารที่รักษาความสงบอยู่ที่บริเวณสะพานปิ่นเกล้าไป

จากนั้นประมาณ 17.00 น. ศอฉ.มีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่แล้ว แต่ไม่สามารถถอนกำลังออกมาได้เพราะถูกผู้ชุมนุม ปิดล้อมอยู่ และพบว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในผู้ชุมนุมด้วย พร้อมทั้งได้ใช้อาวุธปืนและระเบิดยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่จนเป็นเหตุให้มีทหารเสียชีวิต  ซึ่งรวมถึงพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมด้วย นอกจากนั้นยังมีทหารอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศอฉ. จึงมีคำสั่งให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนามสามารถใช้อาวุธจริงได้ ภายใต้ข้อกำหนดดังต่อไปนี้

  1. ห้ามใช้อาวุธที่มีอานุภาพสูงกว่าอาวุธประจำกาย เช่น ปืนลูกซองยาว, M16, ทาโวร์และ HK33 นอกจากนี้เช่น เครื่องยิงลูกระเบิด และระเบิดขว้าง จะไม่สามารถใช้ได้
  2. อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงสามารถยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญได้
  3. สามารถใช้กระสุนจริงต่อเป้าหมายบุคคลได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นกำลังใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่และผู้บริสุทธิ์ให้ถึงแก่ชีวิต โดยที่เจ้าหน้าไม่สามารถเลือกใช้ปฏิบัติการอื่นเพื่อป้องกันได้แล้ว

ซึ่งการใช้อาวุธดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมเลขที่ 59/2550   ข้อ 5.8 และ 5.9 เรื่องกฏการใช้กำลังของกองทัพไทย

แต่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในตอนต้นจะเป็นการปฏิบัติตามกฎจากเบาไปหาหนัก 7 ข้อ โดยไม่มีการใช้กระสุนจริงแต่อย่างใด แต่ต่อมาปรากฏชัดว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธ และพ.อ.สรรเสริญได้รับรายงานว่าการยื้อแย่งอาวุธจากเจ้าหน้าที่ที่สะพานปิ่นเกล้า  ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความว่ามีทรัพย์สินของทางราชการสูญหายไปทั้งหมด 115 รายการ ทางด้านผู้ชุมนุมนำอาวุธที่ยึดมาไปแสดงบนเวทีและแจ้งว่ายึดได้จากทหารด้วย  และมีเจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายร่างกาย  ในช่วงเย็นมีการยิงระเบิด M79 และปืนเล็กยาวเข้าใส่ทหาร ส่งผลให้ในช่วงเย็นมาตรฐานการชุมนุมเปลี่ยนแปลงไป เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้กระสุนจริงได้โดยไม่เกินกว่าเหตุ  ก่อนที่เหตุการณ์จะสงบลงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้โทรศัพท์ไปเจรจากับนายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำนปช.มีใจความว่า เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการตั้งแต่ 17.00 น. แล้ว ให้แกนนำแจ้งแก่ผู้ชุมนุมให้หยุดใช้อาวุธต่อเจ้าหน้าที่ เพราะเกรงว่าเหตุการณ์จะรุนแรงไปกว่านี้ จากนั้นเหตุการณ์ก็สงบลง

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความว่าพบหลายกรณีที่กลุ่ม นปช. นำเอาอาวุธที่ยึดจากทหารมาใช้กับทหารที่ เช่น กรณีเหตุการณ์นายเมธี อมรวุฒิกุล และกรณีการใช้อาวุธ M16 ยิงใส่ทหารที่วัดปทุมวนาราม ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นวัดพบว่ามีอาวุธปืนซุกซ่อนไว้ที่ฐานพระ และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นอาวุธของทหารที่หายไป

จากการตรวจภาพถ่ายและวีดีโอเหตุการณ์ วันที่ 10 เม.ย. ปรากฏชัดเจนว่ามีกลุ่มชายชุดดำที่เคลื่อนกำลังด้วยรถตู้ เข้ามายิงอาวุธสงคราม M79 เข้าใส่ทหารที่สี่แยกคอกวัว และในเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ชุมุนม เสียชีวิตแต่ไม่ได้รับรายงานว่าเสียชีวิตจากการกระทำของใคร

พยานในฐานะโฆษก ศอฉ. ในขณะนั้น ได้รายงานให้สังคมได้รับทราบตามวิดีโอที่แสดงเห็นว่ามีผู้ชุมุนมคนหนึ่งที่ถือธงแดงโบกเป็นสัญลักษณ์ หรือ โบกด้วยความดีใจกับกลุ่ม นปช. จากนั้นได้ถูกยิงล้มลง ที่ต้องนำภาพนี้มาอธิบายเพราะเชื่อว่าทหารไม่น่าจะเป็นผู้ยิงเพราะกำลังถอนกำลังพลแล้วในขณะนั้น แต่น่าจะเป็นการกระทำของชายที่แต่งกายด้วยชุดสีดำมากกว่า

พยานได้นำภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวมาแสดงต่อศาล โดยมีรายละเอียดภาพดังนี้[10]

  1. ภาพความรุนแรงที่เป็นกระทำของฝ่าย นปช.
  2. ชายชุดดำพร้อมอาวุธสงคราม โล่ที่ยึดมาจากทหาร อยู่ร่วมกับในบริเวณเดียวกันกับนปช.
  3.  หนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมให้สัมภาษณ์ว่ามีคนแต่งกายคล้ายทหารอยู่ชั้นสองอาคารและยิงปืนเข้าใส่ทหาร

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความถึงเหตุการณ์ 28 เม.ย. 53 ว่าเขาได้รับรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิตใต้ทางด่วนโทลล์เวย์บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงทราบว่าบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านสกัดอยู่ และมีเจ้าหน้าที่ทหารขับรถจักรยานยนต์ 10 คัน ได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่และกำลังจะกลับเข้าแนวสกัด ซึ่งปรากฏว่ามีทหาร 1 นายที่นั่งซ้อนท้ายมาถูกยิงทะลุขมับซ้าย ไม่ทราบว่าถูกยิงมาจากทิศทางใด แต่ภาพที่บันทึกได้ปรากฏว่ารถล้มจากฝั่งซ้ายไปขวา แต่ตอม่อโทลล์เวย์ที่อยู่กลายถนนวิภาวดีมีรอยเศษปูนกระจายในลักษณะของการยิงมาจากด้านขวามือของทหารที่ขับรถมา และกระสุนปืนได้เฉียดตอม่อโทลล์เวย์ก่อนที่จะพุงมาถูกทหารเสียงชีวิต เป็นเหตุให้ทหารที่เสียชีวิตล้มลงด้านซ้ายตามวิถีและแรงปะทะของกระสุนปืน และภาพถ่ายของนักข่าวสำนักข่าวอัลจาซีร่าสามารถจับภาพคนเสื้อแดงพร้อมอาวุธปืนอยู่ที่ด้านขวามือบริเวณปั๊ม ปตท. และโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา และตามภาพข่าวจะปรากฏว่าคนเสื้อแดงมีอาวุธปืนพกสั้น ส่วนทหารถูกยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูง แต่ก็มีความเป็นได้ว่าคนเสื้อแดงอาจนำอาวุธปืนที่แย่งจากทหารได้เมื่อวันที่ 10 เม.ย.  มาก่อเหตุดังกล่าวก็เป็นได้

จากการรวบรวมหลักฐานพบว่ากระสุนพุ่งมาจากฝั่งขวาของทหารที่เคลื่อนพลมาด้วยรถจักรยานยนต์หรือฝั่งซ้ายของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแนวอยู่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ มีแต่คนเสื้อแดงที่ยืนอยู่ และหลังจากรถจักรยานยนต์ของ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ที่ถูกยิงล้มลง รถคันอื่นๆ ที่ขับตามได้ล้มลงและทหารพยานปีนข้ามเกาะกลางถนนวิภาวดีไปตามแนววิถีกระสุนที่ยิงมาจากฝั่งขวามือ ซึ่งพยานได้รับข้อมูลว่ามีแต่กลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ และในกลุ่มนั้นคนที่มีอาวุธปืนรวมอยู่ด้วย[11]

พ.อ.สรรเสริญเบิกความอีกว่าเขาทราบจากสื่อมวลชนว่าแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ได้ชี้แจงถึงผลการชันสูตรกระสุนมาจากทางด้านซ้ายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ แต่จากประสบการณ์ของพยานทำให้เชื่อได้ว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝั่งขวาเพราะ

1. หากการยิงมาจากด้านซ้ายรถของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์น่าจะล้มไปทางขวาหรือตามแนวกระสุน หรือตามแรงปะทะ

2. ปรากฏรอยฝุ่นจากกระสุนที่เฉียดเสาตอม่อที่ด้านขวาก่อนที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์จะล้มลงไปทางด้านซ้าย

3. อาวุธยิงร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เป็นกระสุนความเร็วสูงดังนั้นลักษณะการล้มลงจากรถของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ต้องล้มไปตามแนวแนววิถีกระสุน หรือล้มตรงข้ามจากฝั่งที่มีแรงปะทะเข้า

พ.อ.สรรเสริญได้อธิบายเพิ่มเติมถึงลักษณะการสั่งการของ ศอฉ.

  1. เป็นการสั่งด้วยวาจาซึ่งเป็นผลจากการประชุม
  2. เป็นหนังสือสั่งการที่เกิดจากการสั่งการผ่านวิทยุราชการทหาร ซึ่งถูกพิมพ์ออกมาบนเอกสารที่เขียนว่า “กระดาษเขียนข่าว” เหตุที่ต้องใช้เช่นนี้เพราะหากสั่งการด้วยหนังสือจะเป็นการสั่งการถึงบุคคลเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเป็นกระดาษเขียนข่าวเป็นการสั่งการที่หมายถึงทั้งหน่วยงาน และสามารถระบุถึงความเร่งด่วนของคำสั่งได้หลายระดับ เช่น ด่วนมาก ด่วนที่สุด และด่วนภายในเวลาที่กำหนดลงไปในเอกสารนั้น  พร้อมด้วยมีการกำหนดระดับความลับของคำสั่ง และมีเลขจดหมายกำกับทุกครั้ง

พยานปากที่สองนายพีรบูรณ์ สวัสดินันทน์[12] เบิกความว่าได้รับคำสั่งให้ตามทำข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่สี่แยกราชประสงค์ตั้งแต่เช้า และได้ติดตามการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม นปช. ไปตามถนนศรีอยุธยา ดินแดง และถนนวิภาวดีตั้งแต่ช่วงเที่ยง เมื่อถึงเวลาประมาณบ่ายโมงผู้ชุมนุมได้เคลื่อนมาถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  แต่ไม่สามารถไปต่อได้เพราะมีแนวเจ้าหน้าที่ตั้งแนวสกัดอยู่ พยานและทีมข่าวจึงได้หยุดรถและไปตั้งกล้องถ่ายภาพที่สะพานลอยตรงปั๊มแก๊ส

ต่อมาฝนได้ตกลงมาอย่างหนักนายพีรบูรณ์ ยังคงตั้งกล้องอยู่ที่เดิม เขาสังเกตเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ขยับแนวสกัดเข้ามาใกล้แนวของผู้ชุมนุมมากขึ้น และอยู่ห่างจากเขาไปเพียง 100 ม. เขาไม่ได้สังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่นอกแนวสกัดหรือไม่  บริเวณระหว่างสะพานลอยที่พยานอยู่ถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ มีประชาชนแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นนปช.หรือไม่เดินผ่านไปมาประปราย

ต่อมาเมื่อฝนหยุดตกนายพีรบูรณ์เห็นมีเจ้าหน้าที่แต่งกายด้วยชุดสีเขียวขับรถจักรยานยนต์มีคนนั่งซ้อนท้ายมาด้วย ลงมาจากโทลล์เวย์ประมาณ 10 คัน พร้อมอาวุธปืนลูกซองยาว เมื่อลงจากโทลล์เวย์ได้หักรถเข้าช่องทางหลัก และขับลอดใต้สะพานลอยที่เขาอยู่ตรงเข้าไปยังแนวของเจ้าหน้าที่เขาได้บันทึกภาพเอาไว้จนกระทั่งทหารเข้าไปใกล้แนวสกัด  ในขณะเกิดเหตุเขาไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทราบเหตุการณ์เมื่อกลับเข้าสถานีและเปิดดูภาพในกล้อง เพราะจุดที่พยานตั้งกล้องอยู่ห่างจากเหตุการณ์ 100 ม. และขณะเขากำลังบันทึกภาพเขาต้องมองภาพจากจอของกล้องที่มีขนาดเล็กจึงเห็นรายละเอียดไม่ชัดเจน และเขาไม่ได้ยินเสียงปืนเพราะที่แนวเจ้าหน้าที่มีเสียงจากลำโพงดังมาก ตอนแรกพเขาคิดว่ารถล้มเพราะถนนลื่น แต่หลังจากนั้นรถที่ตามมาก็ล้มลงทุกคัน เขาจึงเข้าใจว่าเป็นการเจตนาทำให้ล้มลงและทหารได้วิ่งเข้าไปที่เกาะกลางถนน ตอนที่ทหารอยู่บนถนนได้มีรถของประชาชนทั่วไปอยู่บนถนนด้วย

พยานปากที่สามนายนิมิต สุขประเสริฐ เบิกความว่าได้ติดตามการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม นปช.ที่นำโดยนายขวัญชัย ไพรพนาไปยังตลาดไทจนมาถึงที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติเวลาประมาณเที่ยง และไม่สามารถเคลื่อนไปต่อได้ ขณะนั้นการจราจรติดขัดมากเขาจึงลงจากรถแล้วเดินไปจนถึงแนวสกัดของทหารและตำรวจ ที่อยู่ใกล้กับปั๊ม ปตท. เห็นเหตุการณ์ปะทะระหว่าง ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ซึ่งมีโล่ กระบอง และอาวุธปืน เขาหลบอยู่กำแพงปั๊มน้ำมันห่างจากเหตุการณ์ประมาณ 5  ม. เห็นผู้ชุมนุมบางคนถูกยิงด้วยกระสุนยาง จากนั้นผู้ชุมนุมได้ล่าถอยออกจากแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ไปประมาณ 300-500 ม.

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ขยับขึ้นมาในลักษณะเป็นแถวหน้ากระดานผ่านปั๊ม ปตท. ขึ้นมาอีก ไปจนถึงหน้าโครงการหมู่บ้านไอดีไซด์ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ขณะที่ผู้ชุมนุมไปรวมกันที่ทางเท้าและขว้างปาสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าหน้าที่บางคนยิงปืนขึ้นฟ้า จากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นตำรวจหรือทหารขึ้นไปบนโทลล์เวย์เพื่อผลักดันผู้ชุมนุมลงมาจากโทลล์เวย์ และสังเกตว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวยังคงอยู่บนโทลล์เวย์หลังผลักดันผู้ชุมนุมลงมาแล้ว

จากนั้นพยานได้หลบเข้าปั๊มเพื่อส่งข่าวให้สถานี ในปั๊ม ปตท. มีนักข่าว ช่างภาพ และประชาชนทั่วไป ส่วนผู้ชุมนุมได้ถูกทหารไล่ออกไปจากบริเวณนั้นหมดแล้ว ขณะที่นายนิมิตอยู่ในปั๊มได้มีท้องฟ้ามืดครึ้ม และมีฝนตกลงมาเป็นระยะ  ระหว่างนั้นเขาได้ยินคนพูดว่ามีทหารถูกยิง จึงได้ออกมาดูเหตุการณ์บริเวณโครงการหมู่บ้านไอดีไซน์ โดยยืนด้านหลังแนวป้องกันของเจ้าหน้าที่ เขาเห็นทหารนำผู้บาดเจ็บออกมาในสภาพนอนนิ่งและมีเลือดออกบริเวณศีรษะ ขณะที่เขาไปดูเหตุการณ์บริเวณดังกล่าวพบว่ามีเพียงเจ้าหน้าที่ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ในบริเวณดังกล่าวแล้ว และไม่มีอยู่ในบริเวณถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้าด้วย ส่วนบริเวณปั๊มน้ำมันที่อยู่ด้านซ้ายมีแต่ประชาชนทั่วไปพยายามจะออกไปจากเหตุการณ์ โดยไม่มีผู้ชุมนุมอยู่เพราะถูกไล่ออกไปก่อนหน้านั้นแล้ว และก่อนเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปตรวจบัตรประจำตัวทุกคนที่อยู่ในปั๊ม เขาเองก็ถูกตรวจบัตรด้วย

พยานปากที่สี่ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เบิกความว่าสืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน 2552 ได้มีผู้ชุมนุมได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก วันที่ 12 มี.ค. 53 พรรคเพื่อไทยตั้งศูนย์ช่วยเหลือที่มีชื่อว่า ศชปป.ขึ้น โดยมีสำนักงานอยู่ที่พรรคเพื่อไทย มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ประมาณ 20 คน พร้อมด้วยอุปกรณ์สื่อสารเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ส่วนมากเดินทางมาจากต่างจังหวัด และมอบหมายให้พยานดำรงตำแหน่งเลขาศูนย์ฯ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และหากมีความก็จะให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นได้

เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ช่วงเช้ารัฐบาลได้ประกาศ “ขอคืนพื้นที่” บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ผู้ชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจึงได้เคลื่อนกำลังไปสนับสนุนผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ แต่ในช่วงบ่ายรัฐบาลกลับได้กำลังเข้าไปขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ โดยช่วงบ่ายมีการผลักดันที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ซึ่งโดยปกติเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามหลักการเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน แต่กลับพบว่ามีการใช้กระสุนจริงข้ามขั้นตอน และมีการใช้อาวุธสงครามประเภท M16 HK33 ทาโวร์ ปืนสั้น ยิงขึ้นฟ้า  การยิงขึ้นฟ้าเมื่อกระสุนตกกลับลงมาก็จะมีความเร็วไม่แตกต่างกับตอนยิงขึ้นไป ซึ่งผู้ปฏิบัติหน้าที่จะทราบเรื่องนี้ดี  และมีการโยนแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านล่าง และในช่วงค่ำมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นอีกรอบ และนำรถหุ้มเกราะที่ติดตั้งอาวุธปืนกลต่อสู้อากาศยานมาใช้ด้วย ซึ่งการปฏิบัติการในช่วงเย็นหรือหลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปแล้วตามหลักการสากลและตามกฎปฏิบัติของกระทรวงกลาโหมจะไม่ถือเป็นการควบคุมฝูงชนแต่จะถือเป็นการปฏิบัติการทางการทหารจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือนกว่า 20 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 800 คน

เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2553 ข้อมูลที่ ศชปป.ได้มาจากการสังเกตการณ์และรายงานข่าวของสื่อมวลชน ทำให้เชื่อได้ว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแนวสกัดอยู่ เพราะจากการติดตามพบว่าอาวุธที่ยิงร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เสียชีวิตเป็นชนิดเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ใช้

และจากประสบการณ์ปี 2552 และปี 2553 ปรากฏภาพผ่านสื่อว่ามีบุคคลที่แต่งกายด้วยชุดพลเรือนปะปนและร่วมปฏิบัติการกลุ่มทหารด้วย

พยานปากที่ห้านายพงษ์ระวี ชนะชัย  เบิกความว่าในวันที่ 28 เม.ย. 53 ขณะนั้นเขาเป็นทหารเกณฑ์  ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติโดยเคลื่อนที่ด้วยรถจักรยานยนต์ไปด้วยกัน 50 คัน คันละ2 คนสวมเครื่องแบบลายพรางและมีสัญลักษณ์เป็นริบบิ้นสีขาวที่หัวไหล่ด้านขวา เจ้าหน้าที่มีปืนเล็กยาวและปืนลูกซอง  เขาเป็นพลขับรถจักรยานยนต์คันที่มีร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละนั่งซ้อนท้ายไปด้วย โดยขับมาเป็นคันที่ 4-5 ของขบวน จักรยานยนต์ที่ใช้เป็น ฮอนด้า เวฟ 110  หลังจากเคลื่อนพลออกไปได้ซักพักก็ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก และได้พบกับกลุ่ม นปช.จำนวนมาก แต่พยานได้ไม่ถูกทำร้าย และไม่ได้สังเกตว่า ผู้ชุมนุมมีอาวุธหรือไม่

นายพงษ์ระวีเป็นรถคันกลุ่มแรกที่ขับผ่านผู้ชุมนุมมาได้ประมาณ 4-5 คันและได้พบกับแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ โดยเขาขับรถเข้ามาที่ช่องทางหลักของถนนวิภาวดี และได้ขับรถเข้าใกล้แนวกั้นของตำรวจด้วยความเร็วประมาณ 20-30 กม./ชม. โดยอยู่ห่างจากแนวตำรวจประมาณ 3 ม. ส่วนผู้ชุมนุมอยู่ห่างจากจุดนั้นไปประมาณ 500 ม.   แล้วได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด พยานจึงได้ตัดสินใจล้มรถจักรยานยนต์ลงซึ่งเป็นไปตามยุทธวิธีทางการทหาร เขาไม่ได้รู้สึกถึงแรงปะทะที่เกิดจากการยิง และไม่ทราบว่ากระสุนยิงมาจากทิศทางใด เพราะเสียงปืนดังก้องมาก ไม่ทราบชนิดปืน จากนั้นเขาได้หาที่กำบัง บริเวณที่กั้นระหว่างช่องทางหลักกับทางคู่ขนาน โดยยังไม่รู้ว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ที่นั่งซ้อนท้ายมาถูกยิงหรืออยู่จุดใด

นายพงษ์ระวี เบิกความว่าหลังจากนั้นมีนายทหารยศจ่าเขาจำชื่อไม่ได้ ตะโกนว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง พยานยังไม่ได้เข้าไปดูแต่จากจุดที่หลบอยู่สามารถมองเห็นว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์นอนหัวเฉียงไปทางด้านซ้าย รถที่พยานขับมาก็ล้มลงทางด้านซ้าย จากนั้นหัวหน้ากองร้อยร.อ.ธนรัตน์ มณีวงค์ ได้สั่งให้นำเปลมารับไปส่งโรงพยาบาล และพยานได้เข้าไปอยู่ในแนวสกัดของเจ้าหน้าที่

นายพงษ์ระวี เบิกความต่อว่าเขาไม่เห็นเหตุการณ์ที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง แต่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 2 ชุด ชุดแรกดังมาจากด้านหน้าตรงแนวตำรวจเป็นปืนลูกซอง 5 นัด ตอนที่ได้ยินเสียงปืนชุดแรกร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ยังคงซ้อนท้ายอยู่ จากนั้นประมาณ 1-2 นาทีได้ยินเสียงปืนชุดที่ดังขึ้น 5 นัด ซึ่งเสียงปืนดังกว่าชุดแรก จึงได้ตัดสินใจหักล้มรถลงด้านซ้าย แต่ไม่ได้สังเกตว่าปืนดังมาจากทิศทางไหน และไม่ทราบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์หัวหน้าไปทิศทางไหน  เพราะขณะนั้นพยานหันหน้าไปด้านหน้าอย่างเดียว

พยานปากที่หกพ.ต.อ. ปรีดา สถาวร เบิกความว่า วันที่ 9 มี.ค. 53  รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สำนังานตำรวจนครบาลได้รับคำสั่งวันที่ 10 มีนาคม ให้กำหนดแผนรักษาความสงบเรียบร้อย โดยจัดทำแผนจากข้อมูลด้านงานข่าวเพื่อจัดกำลังควบคุมการชุมนุมของ นปช. ซึ่งสาระคือการตั้งจุดตรวจสกัดกลุ่มนปช.ที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่กลุ่ม นปช. ประกาศว่าจะใช้ชุมนุม

ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. รัฐได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถาณการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ.ขึ้น และแต่งตั้งเจ้าหน้าปฏิบัติงานตามคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีลงนามเลขที่ 2/2553  ในเวลาต่อมา ศอฉ.ได้มีคำสั่งเลขที่ 1/2553 เพื่อมอบหมายภารกิจให้ทหาร ตำรวจ และพลเรือนปฏิบัติหน้าที่

สำหรับตำรวจซึ่งมีตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ให้มีการจัดกำลังพลควบคุมฝูงชนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่กทม.

และวันที่ 28 เม.ย.ได้รับรายงานว่าผู้ชุมนุม นปช. จะเคลื่อนกำลังจากราชประสงค์ไปตลาดไท ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วไปตรวจตราความสงบเรียบร้อย และให้จัดกองกำลังสามกองร้อยไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความเรียบร้อยที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดี และพยานปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์บัญชาการตำรวจนครบาล

 

นัดสืบพยานวันที่ 21 มีนาคม 2556

            พยาน

  1. พ.ต.ท.สุพจน์ เผ่าถนอม ปฏิบัติหน้าที่รองผกก.ฝ่ายสรรพาวุธ กองพลาธิการและสรรพาวุธ
  2. พ.อ.นพ.เสกสรรค์ ชายทวีป แพทย์นิติเวชประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
  3. พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
  4. พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ อาภรณ์รัตน์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

พยานปากที่หนึ่ง พ.ต.ท.สุพจน์ เผ่าถนอม เบิกความว่าเขาทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน  พบว่าอาวุธปืน HK33 M16 มีใช้ในราชการตำรวจและทหาร แต่ปืนทาโวร์มีใช้เฉพาะทหารเท่านั้น ส่วนอาก้ามีใช้หน่วยงานปกครองของกระทรวงมหาดไทย

M16 เป็นปืนเล็กยาวสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ A1 ซึ่งประสิทธิภาพการยิงสูงกว่า ส่วน A2 จะยิงได้ไกลกว่า ทั้งสองประเภทมีลักษณะภายนอกเหมือนกัน ถ้าคนที่ไม่มีความรู้ไม่สามารถแยกออกได้ HK33 ลักษณะภายนอกมีความแตกต่างจาก M16 แต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ส่วนปืนทาโวร์ ใช้กระสุนขนาดเดียวกับ HK33 และ M16 มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันคือยิงกระทบของแข็งจะทำให้แตก บุบ ผิดรูป

ส่วนกระสุนความเร็วสูงชนิด M199 และM855 เป็นกระสุนที่ใช้กับปืนทั้ง 3 ประเภท แต่ M855 ใช้กับ A2และทาโวร์สามารถยิงทะลุของแข็ง และเสื้อเกราะระดับ 3 ได้ ส่วนหมวกเคฟล่ายิงระยะหวังผลพยานคิดว่าทะลุได้ ระยะยิงหวังผลของ A1ยิงได้ไกล 460 ม., A2 ยิงได้ไกล 800 ม., ทาโวร์ยิงได้ไกล 500 ม.

ปืนชนิดเดียวกัน เช่น  M16  ประเภท A1 และ A2 สามารถสลับอุปกรณ์กันได้ทุกชิ้นส่วน และถ้าสลับอุปกรณ์กันแล้วผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานจะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าถูกยิงออกจากปืนกระบอกใด

พยานปากที่สอง พ.อ.นพ.เสกสรรค์ ชายทวีป เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53 เวลา 19.00 น. ศพร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกส่งมายังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเพื่อชันสูตรพลิกศพ โดยศพถูกส่งไปที่สถาบันพยาธิวิทยาเพื่อเก็บในห้องเย็นป้องกันการเสื่อมสลาย

ต่อมาในวันที่ 30 เมษายน เวลา 10.00 น. พ.อ.นพ.เสกสรรค์ และแพทย์อีก 2 คนได้ตรวจสภาพศพด้านนอก พบว่าเป็นเพศชาย วัยหนุ่ม รูปร่างสันสัด สูง 167 ผมดำตัดสั้น ผิวดำแดง สวมชุดทหารลายพราง มีหมวกลายพรางสวมมาด้วย ที่ศพมีบาดแผลฉีกขาด ปากแผลไม่เรียบ บาดแผลฉีกขาดอยู่บริเวณหางคิ้วซ้ายหรือขมับด้านซ้ายขนาด กว้าง 0.7 ซม. ยาว 1.5 ซม. และมีบาดแผลหัวตาขวาขนาดกว้าง 3 ซม. ยาว 6 ซม. คาดว่าเป็นทางทางออกของเศษกระสุน ศีรษะด้านขวาไม่มีบาดแผลและไม่มีรอยกระสุนออก ไม่มีบาดแผลที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกาย

จากนั้นได้มีการผ่าชันสูตรภายในศีรษะพบว่าใต้หนังศีรษะมีลักษณะฟกช้ำเป็นบริเวณกว้างและกะโหลกแตกด้านซ้าย เนื้อสมองด้านซ้ายถูกทำลายอย่างรุนแรง พบเศษโลหะฝังค้างอยู่ในศีรษะและเนื้อสมองประมาณ 6-7 ชิ้น ขนาด 0.2 X0.5 ซม. จึงได้ใช้เครื่องมือแพทย์คีบออกและนำส่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และฐานกะโหลกส่วนกลางแตกร้าว ส่วนอื่นๆ ภายในร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติ

จากการชันสูตรพบว่าเป็นกระสุนลูกโดดที่ยิงเข้าจากทิศทางด้านซ้ายไปขวา แต่หัวกระสุนไม่ค้างอยู่ในศีรษะคาดว่าแตกกระจาย   หมวกที่สวมพบว่ามีรอยพรุนด้านซ้าย ค่อนมาทางด้านหน้าตรงกับรอยบาดแผลที่ศีรษะ และก่อนการผ่าชันสูตรได้นำร่างของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไปเอ็กซเรย์ พบว่ามีเงาของเศษโลหะกระจายอยู่ในศีรษะหลายชิ้น โดยเศษโลหะค่อนมาทางด้านขวาของศีรษะ และตอนผ่าชันสูตรพบว่าวิถีกระสุนเป็นการยิงมาจากด้านซ้ายไปขวาและมีเศษโลหะกระจายอยู่ในเนื้อสมองด้านขวา

พยานปากที่สาม พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่าเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 53  ได้รับแจ้งจาก DSI ให้ตรวจพิสูจน์รถจักรยานยนต์ที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์นั่งซ้อนมาในวันเกิดเหตุที่จอดอยู่กองพันทหารราบที่ 11 พบว่าเป็นรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ฮอนด้า เวฟ พบรอยกระสุนบริเวณเบาะด้านซ้ายของคนขับทะลุด้านขวา แสดงให้เห็นว่ามีการยิงกระสุนมาไม่น้อยกว่า 2 นัด

วันที่ 2  พ.ค. ได้ไปสถานที่เกิดเหตุที่ถนนวิภาวดี โดยมี DSI และทหารร่วมตรวจด้วย ได้นำรถจักรยานยนต์พร้อมบุคคลที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไปจำลองเหตุการณ์ด้วย วิธีการตรวจพิสูจน์จะมีการใช้อุปกรณ์สอดเข้ายังรอยกระสุนที่ปรากฏในรถเพื่อหาวิถีกระสุน และวัดพิกัด ประกอบกับการตรวจสอบรอยกระสุนที่หมวกซึ่งอยู่ส่วนบน และบาดแผลของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ พบว่าวิถีกระสุนถูกยิงมาจากด้านซ้ายและทะลุไปทางด้านขวา เป็นกระสุนลูกโดด

จากการนำเศษกระสุนไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการพบว่าเป็นกระสุนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้กับปืน M16 และHK33  แต่ไม่สามารถระบุประเภทปืนและปืนกระบอกที่ใช้ยิงได้ นอกจากจะนำปืนมาประกอบการตรวจสอบ

แต่ก็ยังไม่สามารถบอกว่าชัดเจนว่าถูกยิงจากทิศทางใดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะหากจำลองเหตุการณ์ว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไม่ได้หันหน้าไปทางตรงอาจแสดงให้เห็นว่าวิถีกระสุนมาจากทิศทางอื่นๆได้ เช่น ถ้าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์หันหน้าไปทางด้านขวา 45 องศากระสุนอาจถูกยิงมาจากด้านหน้า หรือถ้าหันหน้ามาด้านขวา 90 องศากระสุนอาจถูกยิงมาจากด้านขวาก็ได้ แต่การยิงมาด้านซ้ายมีความเป็นได้สูงสุด และกระสุนน่าจะถูกยิงมาจากระดับที่สูงกว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์หรืออย่างน้อยผู้ยิงต้องยืนขณะยิง

พยานปากที่สี่ พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ อาภรณ์รัตน์ เบิกความว่า วันที่ 3 พ.ค. 53 ศูนย์บริหารวัตถุพยานได้ส่งปลอกกระสุนปืนขนาด .223 จำนวน 5 ชิ้น และเศษแกนกระสุนขนาด .223 จำนวน 2 ชิ้น มาตรวจว่าเศษปลอกและแกนกระสุนมาจากปืนชนิดใด ปรากฏว่าเป็นลูกกระสุนปืนขนาด .223  ซึ่งจะมีขนาดจริงเป็น .224 ที่สามารถบรรจุในอาวุธปืนได้หลายชนิด เช่น ปืนล่าสัตว์ที่สามารถออกใบอนุญาตให้ประชาชนได้ และปืน M16 HK 33 และทาโวร์ที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ประชาชนได้ และถูกยิงมาจากปืนที่มีเกรียวในลำกล้อง 6 เกรียววนขวา

 

นัดสืบพยานวันที่ 22 มีนาคม 2556

             พยาน

  1. พ.ต.ท. บุญโชติ เลี้ยงบำรุง สน.มักกะสัน
  2. นายแพทย์วิทวัส ศรีประยูร โรงพยาบาลพระราม 9
  3. นายแพทย์ยรรยง โทนหงษา โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
  4. พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ แรงกล้า สน.พญาไท

 

พยานปากที่หนึ่งพ.ต.ท.บุญโชติ เลี้ยงบำรุง ความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สน.ดอนเมือง วันที่ 29 เม.ย. 53 ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบคดีร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ และทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าเวลา 16.00 น. ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ได้ถูกยิงเสียชีวิตและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พยานจึงได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจวิถีกระสุน พบปลอกกระสุนปืน .223 ตกอยู่ที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. จำนวน 4 ปลอก ต่อมาได้รับแผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์จากปั๊ม ปตท.[13] แต่ปลอกกระสุนดังกล่าวเกิดจากการยิงปืนขึ้นฟ้าตามที่ปรากฏภาพในวีดีโอของปั๊ม  ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ และในที่เกิดเหตุมีรอยกระสุนที่โทลล์เวย์เป็นจำนวนมาก และในวันเดียวกันได้มีพนักงานสอบสวนเดินทางไปสอบปากคำนายทหารชุดที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ในวันเกิดเหตุ

จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุโดยลากเส้นจากตำแหน่งที่เกิดเหตุและรอยที่รถจักรยานยนต์ พบว่าวิถีกระสุนไม่สามารถยิงมาจากที่ต่ำได้ และมีกระสุนบางส่วนปรากฏที่เสาโทลล์เวย์ ดังนั้นวิถีกระสุนน่าจะมาจากด้านซ้ายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ซึ่งอาจมาจากแนวที่สูงกว่าแต่ไม่สูงมาก หรือสามารถยิงมาจากเกาะกลางก็ได้ หรืออาจยิงเฉียงมาจากชั้นสองของบ้านตัวอย่างของโครงการหมู่บ้านไอดีไซน์

จากการสอบสวนไม่ทราบตัวผู้ยิงพ.ต.ท.บุญโชติ ได้ร่วมสังเกตการณ์การชันสูตรพลิกศพ และเขาได้ขอเศษกระสุนปืนมาเก็บไว้เป็นหลักฐาน แต่ DSI ที่ทำงานใน ศอฉ. ไม่อนุญาตและเก็บไว้เองทั้งหมด ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 ได้ส่งสำนวนการสอบสวนทั้งหมดให้ DSI

พยานปากที่สอง นพ.วิทวัส ศรีประยูร เบิกความว่า วันที่ 30 เม.ย. 53 เวลา 01.00 น. นายวิชาญ วังตาลได้ย้ายจาก โรงพยาบาลราชวิถีมาที่โรงพยาบาลพระราม9 พบว่าคนไข้มีรอยกระสุน 2 แห่งที่หัวไหล่ด้านขวา และราวนมด้านขวา พยานจึงได้ผ่าตัดเอากระสุนที่ราวนมออกทางบริเวณสีข้าง ส่วนกระสุนที่ไหล่ขวาไม่ได้ผ่าออกเพราะมีความเสี่ยงสูง เศษกระสุนที่ผ่าออกเป็นโลหะสีเทา ตามแนวบาดแผลที่ผ่ากระสุนออก วิถีกระสุนน่าจะยิงจากบนลงล่าง 

พยานปากที่สาม นพ.ยรรยง โทนหงษา เบิกความว่า  วันที่ 28 เม.ย. 53 นายไพโรจน์ ไชยพรมได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้องและต้นขาซ้ายได้มารับการรักษา เขาได้เข้าไปช่วยอาจารย์หมอผ่าตัด พบว่าในช่องท้องมีบาดแผลด้านหน้าทะลุด้านหลัง และลำไส้เล็กมีรอบช้ำและฉีกขาด ส่วนขาซ้ายมีบาดแผล 2 แห่ง คือด้านหน้าและด้านหลัง โดยบาดเผลเกิดจากวัตถุที่มีความเร็วสูงประเภทอาวุธปืนและระเบิด  แต่เขาจำไม่ได้ว่าวิถีกระสุนปืนยิงเข้าจากด้านหน้าหรือด้านหลัง

พยานปากที่สี่ พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ แรงกล้า เบิกความว่าเนื่องจากร.ต.ณรงค์ฤทธิ์  สาละ ถูกนำมาชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลพระมุงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.พญาไท จึงต้องทำหน้าที่สอบสวนการตาย แต่หลังจากสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นในรอบแรก เขาได้ทำสรุปสำนวนว่าการตายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไม่ได้เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง และเนื่องจากการตายเป็นคดีอาญา จึงได้ส่งคดีเพื่อไปรวมกับคดีกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสน.ดอนเมืองได้ส่งให้กับ DSI ไปก่อนหน้านี้แล้ว  ภายหลังมา DSI ได้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมจึงมีความเห็นว่าการตายอาจเกิดจากกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติที่ตามคำสั่ง จึงได้ส่งสำนวนกลับมาที่สำนักงานตำรวจนครบาล

สำนักงานตำรวจนครบาลจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนโดยมี สน.พญาไทในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ และผลจากการรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม สน.พญาไทจึงได้ทำสรุปสำนวนกลับไปยัง DSI เป็นรอบที่สอง โดยยืนตามเดิมว่าไม่มีพยานหลักฐานที่ชี้ชัดได้การตายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง  ต่อมา DSI ได้พิจารณาอีกรอบและยืนยันกลับมาว่ามีพยานหลักฐานชัดเจนที่ทำให้เชื่อได้ว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์อาจเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง และส่งสำนวนดังกล่าวกลับที่สำนักงานตำรวจนครบาล

สำนักงานตำรวจนครบาลได้มีคำสั่งที่ 387/2554 ลงวันที่ 21 กันยายน 2554 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชันสูตรพลิกศพร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ต่อมาในวันที่ 27 กันยายน 2554 ได้มีคำสั่งเพิ่มเติมโดยแต่งตั้งพ.ต.ท.เทพพิทักษ์ให้เป็นคณะกรรมสืบสวนสอบสวนด้วย จากนั้นได้มีการเรียกพยานที่ DSI ได้เคยสอบสวนไว้แล้วมาสอบสวนเพิ่มเติมต่อหน้าพนักงานอัยการ ซึ่งพยานได้ให้การตามเดิมแบบที่เคยให้การกับ DSI ไว้

จากการสอบปากคำพยานทั้ง 54 ปาก  พยานจึงได้สรุปความเห็นโดยมีสาระสำคัญระบุว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ได้ถึงแก่ความตายจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการ ตามรายงานการสอบที่ส่งให้อัยการเพื่อยื่นต่อศาลให้ทำการไต่สวนการตาย

 

ศาลออกคำสั่งวันที่ 30 เมษายน 2556[14]

ในวันนี้ญาติผู้เสียชีวิตรวมถึงอัยการผู้ร้องไม่มาร่วมฟังคำสั่งศาลจึงไม่ได้อ่านรายละเอียดของคำสั่งเพียงแต่อ่านส่วนสรุปผลการไต่สวนโดยมีความว่า พลทหารณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงเสียชีวิตจากกระสุนปืนของทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ บริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต ฝั่งขาออก ในวันที่ 28 เม.ย.53 เวลาประมาณ 15.00 น.  แต่ทางข่าวสดได้นำลงรายละเอียดบางส่วนของคำสั่งศาลไว้ในส่วนของข่าวด่วนวันเดียวกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ศาลพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและผู้ตายเป็นอย่างไรและใครเป็นผู้กระทำร้ายผู้ตาย โดยผู้ร้องมีนายธวัชชัย สาละ บิดาผู้ตายเบิกความ สอดคล้องกับพยานปากอื่น คือ ร.อ.ธนรัชน์ มณีวงศ์, จ.ส.อ.นภดล ตนเตชะ, จ.ส.อ.โกศล นิลบุตร, ส.อ.อนุภัทร์ ขอมปรางค์ และนายพงษ์ระวี ชนะชัย (อดีตพลทหาร) ทำนองว่า ร.อ.ธนรัชต์ มณีวงศ์ หัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็ว ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังชุดเคลื่อนที่เร็วด้วยรถจักรยานยนต์  เดินทางไปที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เพื่อเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งมีพลทหารพงษ์ระวี ชนะชัย ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนผู้ตายนั่งซ้อนท้าย เมื่อมาถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต ขาออกในช่องทางหลักและแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นแนวเดียวกันทางช่องทางคู่ขนาน กลุ่มรถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มแรกที่มาถึงใกล้แนวสกัดของทหารและตำรวจ โดยขับขี่เรียงตามกันมา รถจักรยานยนต์ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายตามมาเป็นคันที่ 5 และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 5 นัด พยานทั้งหมดจึงล้มรถ จักรยานยนต์ลงและวิ่งเข้าหาที่กำบัง ส่วนผู้ตายถูกยิงที่ศีรษะตกลงจากรถและเสียชีวิตเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ส.ต.ท.สุกิจ หวานไกล ส.ต.อ.วินัย กองแก้ว และ ส.ต.อ.ณรงค์ วังทองพูล เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งแนวสกัดในขณะเกิดเหตุเบิกความสอดคล้องกันว่า ในวันเกิดเหตุได้ปฏิบัติหน้าที่และหันหน้าไปทางกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เมื่อเวลา 15.00 น. เห็นทหารวางกำลังบริเวณตอม่อทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์เป็นระยะทั้งฝั่งซ้ายและขวา แต่ละจุดมีทหารถืออาวุธปืนยาว 2 นาย ต่อมามีรถจักรยานยนต์ 5-6 คัน เปิดไฟหน้าขับขี่เข้ามาตามถนนวิภาวดีรังสิต เข้าใกล้แนวสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจห่างประมาณ 50 เมตร พยานกับพวกเข้าใจว่าเป็นรถจักรยานยนต์ของกลุ่มนปช. มีคนตะโกนให้หยุดและเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยิงปืนไปที่กลุ่มรถจักรยานยนต์หลายนัด จนรถล้มลงมีคนตะโกนว่ามีทหารถูกยิง

ขณะที่ พ.ท.นพ.เสกสรร ชายทวีป เบิกความว่า ได้ชันสูตรพลิกศพผู้ตาย พบว่าที่ศีรษะผู้ตายมีบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบระหว่างหน้าขมับหางคิ้วขวา ขนาดกว้าง 3 ซม. ยาว 6 ซม. บาดแผลบริเวณหัวตาซ้ายกว้าง 0.7 ซม. ยาว 1.5 ซม.จากการผ่าศีรษะผู้ตายปรากฏว่าใต้หนังศีรษะพบรอยกระสุนและรอยฟกช้ำเป็นบริเวณกว้าง กะโหลกศีรษะแตก บริเวณหางคิ้วซ้ายเนื้อสมองซีกซ้ายถูกทำลายอย่างรุนแรง และพบเศษโลหะ 6-7 ชิ้น ฝังอยู่ภายในกะโหลกศีรษะและเนื้อสมอง และพบว่าวิถีกระสุน เข้าจากทิศทางซ้ายไปขวา ระหว่างหน้าขมับซ้ายและหางคิ้วซ้าย และสาเหตุที่ตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจพิสูจน์รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กยษ กจ 683 ที่ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายขณะเกิดเหตุและตรวจพิสูจน์เศษกระสุนปืนที่ผ่าออกจากศีรษะผู้ตายรวมทั้งตรวจหมวกทหารที่ผู้ตายสวมขณะเกิดเหตุ ผลการตรวจรถจักรยานยนต์ดังกล่าว พบว่าบริเวณเบาะนั่งด้านซ้ายที่คนขับมีรอยกระสุนปืนทะลุไปทางด้านขวา และผลการตรวจพิสูจน์เศษกระสุนปืนที่ผ่าออกจากศีรษะผู้ตาย พบว่า เป็นกระสุนขนาด .223 นิ้ว หรือ 5.56 มม. ซึ่งเป็นกระสุนปืนความเร็วสูงที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวแบบ เอ็ม 16 หรือ เอชเค 33 เชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความจริง นอกจากนี้ยังมีเอกสารการตรวจวิถีกระสุนที่ยิงมาที่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายนั่งอยู่ พบว่ามาจากคนยืนยิง ไม่ใช่ยิงมาจากที่สูง

ดังนั้นพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมานั้น ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้คือ ผู้ตายถูกยิงเข้าที่ศีรษะ ด้วยกระสุนปืนขนาด.223 นิ้ว หรือ 5.56 มม. ซึ่งยิงจากจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ตายที่บริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต ฝั่งขาออก แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา เหตุและพฤติการณ์การตายคือ ถูกลูกกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ โดยลูกกระสุนถูกที่ศีรษะด้านซ้ายทางคิ้วผ่านทะลุกะโหลกศีรษะทำลายเนื้อสมองเป็นเหตุให้ตาย


[1] เดิมเป็นพลทหารหลังเสียชีวิตได้รับการประดับยศเป็นร้อยตรี

[3] “ยิงบนรางบีทีเอสกระสุนหัวเขียวตร.ให้การศาลคดี6ศพวัดปทุม,” ข่าวสด, 19 มิ.ย.55

[4]เซอร์ไพรส์! พ่อพลทหารเหยื่อกระสุน 28 เม.ย.53 ถอนทนาย-ถอนการเป็นผู้ร้องร่วม,” ประชาไท, 15 ก.พ.56,  ; ““เทือก”ชดเชย พ่อพลทหาร,” ข่าวสด, 15 ก.พ.56,

[6] “นิกขึ้นศาล-ชี้ปี53จนท.กระสุนจริง,” ข่าวสด, 23 ก.พ.56 ;  “นอสติทซ์ หอบภาพเบิกคดี ‘พลฯ ณรงค์ฤทธิ์’ พยานยันจุดเกิดเหตุมีแต่ จนท.,” ประชาไท, 27 ก.พ.56

[7] หมายเหตุ:  จากการเบิกความของสรรเสริญ แก้วกำเนิด และนักข่าวช่อง 9 ในวันต่อมา ปรากฏว่าภาพข่าวที่สปริงนิวส์นำมาใช้เบิกความในศาลเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับขณะที่พลทหารณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงแต่จุดที่อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุการณ์ออกมาเล็กน้อยซึ่งเป็นภาพของทหารกลุ่มที่สองที่ขับตามกลุ่มแรกที่มีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละอยู่ในทหารกลุ่มแรกซึ่งนักข่าวของสปริงนิวส์ไม่สามารถจับภาพได้

[8] วิดีโอข่าวของสปริงค์นิวส์ที่ได้มีการเปิดประกอบการเบิกความดูได้ที่  “ทหารยิงกันเอง” อัพโหลดโดย RedHeart2553

[9] เป็นพยานที่ถูกเพิ่มเข้ามาในวันดังกล่าว แต่เป็นพยานที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนแล้ว

[10] เป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ทั่วไป แต่ได้ถูกตัดต่อขึ้นใหม่ น่าจะตัดต่อโดยทีมงานของพยาน

[11] พยานแสดงภาพถ่ายของช่อง 9

[12] วิดีโอรายงานข่าวชิ้นที่นายพีรบูรณ์ เป็นภาพข่าวที่บันทึกเหตุการณ์ที่เห็นเหตุการณ์ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ตกลงจากจักรยานยนต์ที่นั่งซ้อนมา

[13] วีซีดีบันทึกเหตุการณ์ไม่สมบูรณ์ โดยภาพขณะที่เกิดเหตุการณ์ยิงพลทหารณรงค์ฤทธิ์ไม่มี มีแค่ถึงช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ

[14] “ศาลชี้ ‘พลทหารฯณรงค์ฤทธิ์’ ถูกยิงที่อนุสรณ์สถานฯ เม.ย.53 ตายจากกระสุนปืนจนท.ทหาร,” ข่าวสด, 30 เม.ย.56