7 ปีของการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 : ไม่มีความจริง ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความปรองดอง

รูป

ตำรวจตั้งรั้วล้อมป้ายแยกราชประสงค์กันไม่ให้คนเสื้อแดงเข้ามารำลึกครบรอบ 7 ปีสลายการชุมนุม 19พ.ค.2553

สังคมไทยเป็นสังคมที่นิยมหยิบยืมศัพท์แสงทางการเมืองของฝรั่งที่ดูสวยหรูมาใช้ เพื่อทำให้การกระทำของผู้อ้างศัพท์แสงนั้นดูดี มีความหมายอันสูงส่ง แต่ในทางปฏิบัติกลับละทิ้งสารัตถะของถ้อยคำเหล่านั้นไปเสีย หนึ่งในคำที่นิยมใช้กันในปัจจุบันคือคำว่า “ปรองดอง” หรือ “สมานฉันท์” (reconciliation)

จากบทเรียนในอดีต เมื่อผู้มีอำนาจเอ่ยคำว่า “ปรองดอง” พวกเขามักหมายความว่า ให้ประชาชน ลืม หรือ เงียบ ต่อความรุนแรงที่พวกเขากระทำต่อประชาชน ให้เป็นพลเมืองดีเดินตามแนวทางที่พวกเขากำกับ แล้วสังคมจะดีขึ้นเอง ความสมัครสมานสามัคคีจะกลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง หากใครพยายามขุดคุ้ยเรียกร้องหาความจริงและความยุติธรรมกลับถูกตราหน้าว่าเป็นพวกชอบสร้างความแตกแยกปั่นป่วนในสังคม

ในสังคมอื่นที่เคยผ่านความขัดแย้งรุนแรง แต่สามารถผ่านพ้นวิกฤติและสร้างความปรองดองขึ้นมาได้นั้น เขาให้ความสำคัญกับการแสวงหาความจริง (truth) เพื่อหาทางคืนความยุติธรรม (justice) ให้แก่เหยื่อของความขัดแย้งรุนแรง อันเป็นส่วนสำคัญสำหรับทั้งการเยียวยาบาดแผลของเหยื่อและการสมานรอยร้าวของสังคม (reparation) ฉะนั้น คำว่าปรองดอง ความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยา จึงเป็นชุดคำศัพท์ที่ต้องปรากฏอยู่ด้วยกันเสมอ เพราะเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ซึ่งกันและกันของกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งในสังคม

แต่สำหรับสังคมไทย ผู้มีอำนาจต้องการความปรองดองในแง่ที่หมายถึงเพียงความสงบเรียบร้อยทางการเมือง พวกเขาปฏิเสธที่จะเยียวยาเหยื่อของความขัดแย้ง ด้วยการค้นหาความจริงและฟื้นฟูความยุติธรรมให้แก่พวกเขา

ความปรองดองที่ละเลย “ความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยาเหยื่อ” จึงเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อที่ไร้มนต์ขลัง และดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจเถื่อนที่กดหัวประชาชนไว้เท่านั้น ถือเป็นความปรองดองที่อิหลักอิเหลื่อและอันตราย

สำหรับศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) เรายังคงยืนยันว่า “ความจริงคือหัวใจของความยุติธรรมและความปรองดอง” แม้เวลาจะล่วงเลยเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษา-พฤษภา 2553 ไป 7 ปีแล้ว ศปช. ยังขอยืนยัน “ความจริง” ที่เราค้นพบอีกคำรบหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ และกองทัพ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุและละเมิดกฎการใช้กำลังจากเบาไปหาหนักในการสลายการชุมนุม มีการระดมกำลังพลของกองทัพถึง 67,000 นาย มีการเบิกจ่ายกระสุนจริงถึง 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด เท่ากับมีการใช้กระสุนจริงไปทั้งสิ้น 117,923 นัด มีการเบิกจ่ายกระสุนสำหรับการซุ่มยิง (สไนเปอร์) 3,000 นัด ส่งคืนเพียง 880 นัด เท่ากับใช้ไป 2,120 นัด และมีการประกาศ “เขตกระสุนจริง” ต่อผู้ชุมนุมอย่างเปิดเผย และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 84 ราย (เจ้าหน้าที่ 10 ราย) และบาดเจ็บอีกกว่า 1,400 คน
  • แม้ว่ารัฐบาลและ ศอฉ.พยายามกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย และมีอาวุธร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้เสียชีวิตรายใดมีอาวุธร้ายแรงที่สามารถทำร้ายเจ้าหน้าที่ในระยะไกลได้ ผลการไต่สวนการตายของผู้ชุมนุมโดยศาลอาญาจำนวน 18 ราย ล้วนยืนยันข้อเท็จจริงนี้
  • การเสียชีวิตและบาดแผลของผู้เสียชีวิตฝ่ายพลเรือน เกือบทั้งหมดเสียชีวิตจากกระสุนปืน โดยมากกว่าร้อยละ 50 พบบาดแผลบริเวณช่วงบนของลำตัว อาทิ ใบหน้า ศีรษะ หน้าอก ท้อง ปอด และลำคอ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต
  • จากการไต่สวนการตายของศาลอาญาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ในกรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ศาลเห็นว่าไม่มีน้ำหนักให้เชื่อตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีชายชุดดำยิงอยู่ภายในพื้นที่รอบวัดหรือภายในวัด หรือมีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ศาลจึงวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คนเป็นผลจากการกระทำของทหาร
  • กรณีการเผาเซ็นทรัลเวิล์ด ซึ่งเดิมเจ้าหน้าที่กล่าวหาผู้ชุมนุมเสื้อแดง 2 คน คือ นายสายชล แพบัว และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ ในข้อหาวางเพลิง ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นไปแล้ว

ทั้งนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2556 อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าโดยเจตนา จากกรณีที่ทั้งสองออกคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ให้เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

แต่หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงในปี 2553 จากเดิมที่ล่าช้าอยู่แล้ว ก็กลายเป็นชะงักงัน กล่าวคือ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กลับพิพากษายกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ด้วยเหตุผลว่าทั้งสองออกคำสั่งขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉะนั้นศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจพิจารณา

ขณะที่ทางด้าน ป.ป.ช. ก็มีมติให้ข้อกล่าวหากรณีนายอภิสิทธิ์กับพวกปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บตกไป ด้วยเหตุผลว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ป.ป.ช. เห็นว่า หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติใช้อาวุธโดยไม่สุจริต เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ก็ถือเป็นความรับผิดเฉพาะตัวเท่านั้น ซึ่งต้องส่งเรื่องให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่เป็นรายบุคคลไปยังดีเอสไอเพื่อสอบสวนการกระทำผิดต่อไป

นอกจากนี้ หลังรัฐประหารการบริหารประเทศก็ถูกครอบงำโดยคณะนายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมในปี 2553 อย่างชัดเจน เป็นต้นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเป็นรอง ผบ.ทบ. และผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ. ในช่วงสลายการชุมนุม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และที่ปรึกษา คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรองผู้อำนวยการ ศอฉ. ในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รัฐมนตรีกลาโหม และรองหัวหน้ากับประธานคณะที่ปรึกษาของ ศอฉ. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ ศอฉ. ในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นองคมนตรี และเคยเป็นที่ปรึกษา คสช. กับรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์

ในบริบทเช่นนี้เอง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ยังได้ออกคำสั่งที่ 68/2558 เปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวนและแนวทางการสอบสวนสำหรับสำนวนคดีผู้เสียชีวิตกรณีปี 53 ที่เหลือทั้งหมด เท่ากับเป็นการแทรกแซงกระบวนการสอบสวนคดีโดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังสลายการชุมนุม

จากที่กล่าวมา แม้ ศปช. จะตระหนักดีว่าผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ไม่ต้องการรับฟังความจริงรวมทั้งการสร้างความปรองดองจากแง่มุมที่ต่างไปจากของพวกเขา แต่ ศปช. ถือว่าสิ่งนี้เป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ยึดมั่นในหลักการสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่เราไม่อาจละเว้นได้ และเป็นการประกาศว่า เราไม่สามารถปรองดองกับระบอบที่มุ่งปิดกั้นความจริง ความยุติธรรม และสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

เผยแพร่ : 19 พฤษภาคม 2560