คดีหมายเลขดำที่ : อช.3/2555 วันที่ฟ้อง : 22/02/2555
คดีหมายเลขแดงที่ : อช.12/2555 วันที่ออกแดง : 20/12/2555
โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด
ผู้เสียชีวิต : เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ
คดี : ชันสูตรพลิกศพ
นัดไต่สวนคำร้องวันที่ 28 พฤษภาคม 2555[2]
ในวันนี้มีการนัดสืบพยานและอัยการได้ยื่นบัญชีพยานโดยมีทั้งหมด 50 ปาก และในคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพมีการระบุถึงการตายของคุณากรเอาไว้ว่า ระหว่างที่ทหารปิดถนนราชปรารภและมีการติดป้ายเขตกระสุนจริง ในวันที่ 15 พ.ค.เวลา 00.01 น. นายสมร ไหมทอง ได้ขับรถตู้เข้ามาในเขตดังกล่าวเพื่อกลับบ้านพัก ผ่านถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกมักกะสัน เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศโทรโข่งให้หยุดรถ นายสมรยังขับต่อไป จึงระดมยิงใส่รถตู้จนนายสมร ได้รับบาดเจ็บที่ท้อง ขณะที่ลูกกระสุนยังไปถูก ด.ช.คุณากร ที่ออกมาเดินบริเวณโรงภาพยนตร์โอเอซึ่งอยู่ติดกับแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสันอันเป็นที่ตั้งของหน่วยทหาร เป็นเหตุให้ ด.ช.คุณากรเสียชีวิต ขอให้ศาลได้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ใด เมื่อใดและทราบถึงสาเหตุ พฤติการณ์การตาย และขอให้องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบียตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง ซึ่งเป็นผู้อุปการะด.ช.คุณากรเนื่องจาก ด.ช. คุณากรเป็นเด็กกำพร้า บิดาเสียชีวิตและมารดาหายสาบสูญ
นัดสืบพยานวันที่ 20 กรกฎาคม 2555[3]
พยาน[4]
- พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษกศอฉ.
- พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล ผู้บังคับกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.)
- ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล[5] ผู้บังคับกองร้อยอยู่ในสังกัดของพ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล (ป.พัน.31 รอ.)
พ.อ.สรรเสริญ เบิกความว่า จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงแรกเป็นการชุมนุมตามกฎหมาย แต่ระยะหลังทวีความรุนแรงขึ้นและกระทำผิดกฎหมาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพิจารณาเห็นว่าการกระทำทวีความรุนแรงขึ้น จึงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีคำสั่งตั้ง ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ เป็น ผอ.ศอฉ.
เขาเบิกความต่อว่า กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งจุดตรวจค้นโดยพลการอย่างผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ศอฉ.จึงมีคำสั่งให้ทหารจากพล. 1 รอ. เข้าปิดกั้นการจราจรบริเวณราชประสงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้านและกันไม่ให้คนไปชุมนุมเพิ่ม ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกมักกะสัน ย่านราชปรารภ วางกำลังเฉพาะบริเวณถนนใหญ่เท่านั้นจะไม่นำกำลังทหารเข้าไปประจำการบริเวณ ตรอกซอยเล็กๆ และเขาไม่ทราบว่าพล. 1 รอ. ใช้เจ้าหน้าที่จากหน่วยใดบ้าง และศอฉ.มีคำสั่งห้ามใช้เส้นทางหรือนำยานพาหนะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว มีวิธีการเป็นไปตามกฎการใช้กำลัง ในขั้นต้นให้แจ้งเตือนหากมีผู้ฝ่าฝืน โดยใช้โทรโข่ง หรือส่งอาณัติสัญญาณห้ามเข้า
พ.อ.สรรเสริญเบิกความว่า ระหว่างวันที่ 13-18 พ.ค. 2553 เป็นแค่การปิดกั้นพื้นที่เท่านั้น ศอฉ.มีมติกำชับลงไปแล้วว่า ห้ามใช้อาวุธกับประชาชน แต่ไม่ได้ติดตามว่าทำตามหรือไม่ เนื่องจากเขาอยู่ส่วนกลางจึงไม่ทราบรายละเอียดเรื่องที่มีผู้เสียชีวิต รวมถึงกรณี ด.ช.คุณากร ด้วย ส่วนมาตรการกระชับพื้นที่กดดันกลุ่มผู้ชุมนุม เพิ่งมีคำสั่งในวันที่ 19 พ.ค. 2553 หลังจากนั้นคณะกรรมการของกองทัพบก ประชุมและสรุปการชี้แจง แต่พยานไม่ทราบว่ามีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องในส่วนนั้น
ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูลเบิกความว่า วันที่ 14 พ.ค. 2553 ได้รับคำสั่งให้มารักษาพื้นที่บริเวณแยกมักกะสันถึงแยกประตูน้ำ เขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.วรการ ดูแลกำลังพล 150 นาย พร้อมอาวุธM 16 จำนวน 20 กระบอก ปืนลูกซอง 30 กระบอก มีทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ส่วนที่เหลือถือโล่และกระบอง โดยจัดกำลังพลที่ราชปรารภ 2 จุด และมักกะสัน 2 จุด มีเจ้าหน้าที่ประจำจุด 5-6 นาย ส่วนที่เหลือจะอยู่บริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สับเปลี่ยนเวร เวรละ 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วไป พร้อมตรวจค้นการพกพาวุธ โดยในวันที่ 14 พ.ค.2553 ตรวจไม่พบผู้พกพาอาวุธแต่อย่างใด
เขาบิกความต่อว่า ช่วงกลางดึกได้รับแจ้งทางวิทยุว่า มีรถตู้สีขาวจะเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ถ้ามีรถลักษณะนี้เข้ามาให้ประกาศเตือนเพื่อไม่ให้เข้าพื้นที่ ต่อมาเวลา 00.30 น. มีรถตู้สีขาวออกมาจากซอยราชปรารภ 8 แล้วจอด ขณะนั้นตัวเขาอยู่ที่หน้าร้านอาหารอินเดียฟู้ด ห่างไปประมาณ 50-60 เมตร เขาจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ใช้รถประชาสัมพันธ์ของหน่วยประกาศบอกรถตู้ให้กลับไปทางเดิม หรือไปทางประตูน้ำนานกว่า 10 นาที แต่รถตู้ไม่ยอมออก และวิ่งพุ่งเข้ามาที่ใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ก่อนได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดจากหลายทิศทาง แต่เขาไม่เห็นคนยิงว่าเป็นใครและไม่ทราบว่ามีหน่วยอื่นหรือไม่ เพราะจุดเกิดเหตุไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ
เขาเบิกความอีกว่าไม่ได้ทำการตรวจค้นรถตู้แต่อย่างใด เพราะเกรงว่าจะมีอาวุธ และเป็นรถต้องสงสัยที่ได้รับแจ้ง หลังจากรถตู้ถูกยิงถึงทราบว่ามีเด็กได้รับบาดเจ็บและได้รับแจ้งจากทหารพยาบาลประจำหน่วยว่ามีคนบาดเจ็บในรถตู้ด้วย แต่ทางผู้บัญชาการก็ไม่ได้เรียกไปประชุมในเรื่องนี้ และไม่ได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ
พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูลเบิกความว่า ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 14 พ.ค. 53 เข้าประจำจุดในเวลา 16.00 น. ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงราชปรารภ และแยกมักกะสัน โดยแบ่งกำลังพลเป็น 3 หน่วย มีหน่วยราชปรารภ แยกมักกะสัน ส่วนกำลังที่เหลืออยู่ใต้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์
ในเวลา 17.00 น. มีผู้ยิงปืนเล็กยาวเข้ามา ต่อมาเวลา 19.00-04.00 น. มีการยิงเอ็ม 79 เข้ามาเป็นสิบนัด แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง จากนั้นในเวลา 00.30 น. ได้รับรายงานทางวิทยุว่า มีรถตู้ฝ่าฝืนเข้ามา และได้ยินเสียงปืนแต่ไม่ทราบว่ามาจากทางใด ภายหลังทราบว่ามีผู้บาดเจ็บ จึงให้หน่วยทหารเฉพาะกิจประสานไปยังมูลนิธิให้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล หลังเกิดเหตุประมาณ 15 นาที ได้รับแจ้งทางวิทยุว่ามีเด็กถูกยิงบาดเจ็บ แต่เขาไม่ได้เข้าไปดู เพราะไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ จนรุ่งเช้าเวลา 09.00 น. จึงเข้าไปดูและพบว่ารถตู้มีรอยกระสุนรอบคัน ก่อนมีคนบอกว่าคนขับเป็นผู้ชุมนุม เพราะตรวจค้นภายในรถพบมีด ผ้าพันคอ และเสื้อสีแดง แต่เห็นเพียงในรูปภาพเท่านั้น ส่วนตอนเกิดเหตุกำลังสะลึมสะลือ เพราะก่อนหน้านั้นปฏิบัติงานหนักมาก จึงนอนหลับพักผ่อนตรงจุดที่ประจำอยู่ มารู้สึกตัวอีกทีตอนได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ส่วนในการประชุมไม่มีการแจ้งเรื่องนี้
นัดสืบพยานวันที่ 29 ตุลาคม 2555[6]
พยาน
- นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ
- นายสมเจตร์ ศาลาวงศ์ อาสาสมัครหน่วยแพทย์วชิรพยาบาล
- พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เบิกความโดยสรุปว่า ด.ช.คุณากร เป็นเด็กกำพร้าในความสงเคราะห์ขององค์กร ศึกษาอยู่ชั้นป.4 โรงเรียนวิจิตรวิทยา เป็นคนสมาธิสั้น ชอบเล่น และจะชอบหลบหนีออกจากสถานสงเคราะห์ไปเที่ยวเล่นบ่อยครั้ง โดยวันเกิดเหตุมีคนมาแจ้งให้ทราบว่า พบ ด.ช.คุณากรไปเที่ยวเล่นแถวพื้นที่การชุมนุม ทั้งที่ไม่ได้รู้เรื่องการเมืองเลย คิดว่าคงอยากรู้อยากเห็นตามปกติของเด็ก และหลังจากเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน คือเดือนมิถุนายน มีคนโทรศัพท์มาแจ้งว่า ด.ช.คุณากร ถูกยิงเสียชีวิต ศพถูกส่งไปยังสุสานศพไร้ญาติ จังหวัดชลบุรี จึงเดินทางไปรับศพมาประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม
นายสมเจตร์ ศาลาวงศ์ เบิกความว่า ช่วงเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มนปช. ตนและเพื่อนอาสาสมัครตระเวนช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่แถวบ่อนไก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และราชปรารภ โดยวันที่ 15 พ.ค. 53 จอดรถกู้ชีพอยู่บริเวณลานจอดรถของอาบอบนวดเจ-วัน ถนนศรีอยุธยา ติดกับ โรงพยาบาลพญาไท 1 ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืน และระเบิดดังมาจากประตูน้ำเป็นระยะๆ กระทั่งได้รับแจ้งจากวิทยุสื่อสารว่ามีคนเจ็บบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ขณะนั้นอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุเพียง 200-300 เมตร เมื่อได้รับแจ้งก็เตรียมพร้อม แต่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ทันที เพราะมีรั้วลวดหนามของทหารกั้นอยู่บริเวณแยกจตุรทิศ
นายสมเจตร์เบิกความต่อว่า ผ่านไป 30 นาที ทหารที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเห็นว่ามีรถพยาบาล จึงวิทยุไปบอกทหารที่อยู่ในพื้นที่ที่มีคนเจ็บ ว่าจะนำรถพยาบาลของตนเข้าไป จึงขับรถตามทหารที่ขี่รถจักรยานยนต์นำทางเข้าไป ในระหว่างทางจะเห็นทหารถืออาวุธอยู่ 2 ข้างทาง แต่ไม่พบว่ามีชายชุดดำอยู่ในจุดดังกล่าว เมื่อไปถึงข้างบันไดเลื่อนของแอร์พอร์ตลิงก์มีพยาบาลทหาร 5-6 นาย ไม่ได้ถืออาวุธ และพบ ด.ช.คุณากรอยู่ในเปลพยาบาลทหารข้างรถทหาร ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นขณะนั้นยังไม่เสียชีวิต แต่สภาพที่เห็นคือมีไส้ทะลักออกมาเพราะถูกยิง แต่ไม่ทราบว่าใครยิง จึงรีบนำตัวส่ง โรงพยาบาลพญาไท แต่เสียชีวิตระหว่างนำส่ง
พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม เบิกความว่า เป็นผู้ชันสูตรศพด.ช.คุณากร โดยเวลา 03.30 น. วันที่ 15 พ.ค. 53 พนักงานสอบสวน สน.พญาไท นำศพมาส่งชันสูตร สภาพศพภายนอกมีบาดแผลถูกยิงเข้าบริเวณด้านหลังข้างขวาช่วงล่าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 ซ.ม. ในระดับต่ำกว่ายอดศีรษะ 60 ซ.ม. กระสุนเข้าด้านหลังขวาทะลุผ่านช่องท้องมาด้านหน้า มีลำไส้จำนวนมากทะลักที่ปากแผล และพบเศษโลหะเล็กๆ กระจายตามแนวกระสุนผ่าน เลือดออกภายในช่องท้อง 800 ม.ล. ลำไส้เล็กฉีกขาดหลายแห่ง เศษโลหะที่กระจายตามแนวบาดแผลนั้น สันนิษฐานได้ว่าเป็นเศษโลหะจากกระสุนปืนที่มีความเร็วสูง อาจเป็นปืนที่ใช้ในสงคราม เช่น อาก้า เอ็ม 16 เพราะดูจากเศษโลหะ และแนวเข้าออกของกระสุน สรุปสาเหตุการเสียชีวิตได้ว่า เกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเข้าที่ท้องทำให้ลำไส้ทะลุ
นัดสืบพยานวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555[7]
พยาน[8]
- ร.ท.กิตติภพ ธูปทอง ทหารพยาบาล
- ส.อ.พุทธรักษ์ สุขเกษม ทหารพยาบาล
- ส.อ.วรากร ผาสุข กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์
- ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์
- พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ร.ท.กิตติภพ ธูปทอง เบิกความว่าวันเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนไม่ให้รถตู้เข้ามา จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังอย่างต่อเนื่อง สักพักจึงได้รับคำสั่งให้ไปดูผู้บาดเจ็บ ก็พบนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ถูกยิงบาดเจ็บ ต่อมามีหน่วยแพทย์อาสาวชิรพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ในขณะเกิดเหตุเขาไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง
ส.อ.พุทธรักษ์ สุขเกษม เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนไม่ให้รถตู้เข้ามา และได้ยินเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง หลังเสียงปืนสงบ จึงพบร่างด.ช.คุณากร อยู่ในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสมีไส้ทะลักออกมา แต่ยังไม่เสียชีวิต จากนั้นหน่วยแพทย์อาสาวชิรพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ในขณะเกิดเหตุนั้น เขาไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง
ส.อ.วรากร ผาสุข เบิกความสรุปว่า วันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ฝั่งซ้ายของถนนราชปรารภ มีปืนM16 เป็นอาวุธประจำกาย มีหน้าที่ตรวจค้นบุคคลเข้าออก และไม่พบว่ามีใครพกพาอาวุธเข้าไปแต่อย่างใด ขณะเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนว่ารถตู้อย่าเข้ามาหลายครั้ง จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง
ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่าปฏิบัติหน้าที่อยู่จุดเดียวกันกับส.อ.วรากร ได้ยินเสียงประกาศเตือน และเสียงปืนเช่นกัน แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง
พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบว่ารอยกระสุนปืนบริเวณร้านค้ากับใกล้สำนักงานคอนโดไอดีโอ และมีกระสุนตกอยู่ตรงประตูเหล็กด้านหน้าร้าน สันนิษฐานว่ายิงมาจากฝั่งตรงข้าม โดยวิถีกระสุนยิงในลักษณะเป็นแนวราบ แต่ไม่สามารถระบุชนิดของกระสุนและอาวุธปืนได้
นัดสืบพยานวันที่ 26 พฤศจิกายยน 2555[9]
พยาน[10]
- นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้
- นายคมสันติ ทองมาก ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่น
- พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
- พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุนปืน สตช. ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน
- ร.ต.อ.สากล คำยิ่งยง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท
นายสมร ไหมทองเบิกความสรุปได้ว่า หลังจากกลับจากส่งผู้โดยสาร ได้ขับรถตู้เข้ามาบริเวณถนนราชปรารภ และถูกระดมยิง ขณะนั้นไม่ได้ยินประ กาศแจ้งเตือนแต่อย่างใด หลังเสียงปืนสงบเห็นทหารถือปืนเข้ามาล้อมรถ และช่วยนำพยานส่งโรงพยาบาล
นายคมสันติ ทองมากเบิกความว่า เป็นผู้ถ่ายคลิปเหตุการณ์ยิงรถตู้ ไม่ได้ตัดต่อแต่อย่างใด ขณะนั้นยืนอยู่ด้านหลังเจ้าหน้าที่ และได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศบอกรถตู้ว่าอย่าเข้ามา พร้อมเล็งปืนไปที่รถตู้ หลังสิ้นเสียงประกาศก็เห็นรถตู้วิ่งเข้ามาบริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1-2 นาที จากด้านซ้ายและขวาที่ เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่
พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมากเบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจอาวุธปืนM16 แต่จากการตรวจไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงผู้ตาย เนื่องจากส่งมาหลังเกิดเหตุเป็นเวลากว่า 1 ปี เช่นเดียวกับพ.ต.ต.กิตติศักดิ์เบิกความสรุปว่าเป็นผู้ตรวจสอบภาพถ่ายรถตู้ที่ถูกยิงรอบคัน และตรวจอาวุธปืนM16 ผลปรากฏว่าไม่ตรงกับปืนที่ใช้ยิงผู้ตาย
ร.ต.อ.สากล คำยิ่งยง เบิกความเพื่อให้การรับรองเอกสารรายงานช่วงเกิดเหตุและมอบแก่ศาล โดยรายละเอียดมีว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่สน.พญาไท เป็นพนักงานสอบสวน ได้รับคำสั่งให้สอบสวนคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม โดยเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14-20 พ.ค. 53 บริเวณแยกประตูน้ำ ราชปรารภ ถึงสามเหลี่ยมดินแดง โดยตรวจสอบพบผู้เสียชีวิต 15 ราย ซึ่ง1 ใน 15 รายนั้นมีด.ช.คุณากรรวมอยู่ด้วย ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 02.00 น. บริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ หลังจากทราบแล้วได้รวบรวมเอกสารทั้ง 15 ราย ให้คณะสอบสวนอีกชุด แต่ตัวเขาเองไม่ได้ทำการตรวจสอบศพเอง แต่มีพนักงานสอบสวนอีกชุดหนึ่งทำการตรวจสอบ โดยสาเหตุการตายเบื้องต้นมาจากถูกอาวุธปืนยิง
นัดสืบพยานวันที่ 4 ธันวาคม 2555[11]
พยาน พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท
พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง เบิกความว่า คดีนี้บช.น.แต่งตั้งพนักงานสอบสวน 10 นาย เขาเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน จากการสอบสวนทราบว่าคดีนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนปช.บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 หลังจากนั้นมีการปะทะกันในวันที่ 10 เม.ย. 53 ผู้ชุมนุมจึงย้ายมารวมกันที่ราชประสงค์ในเวลาต่อมา ขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 53 และวันที่ 13 พ.ค. 53 ได้ประกาศห้ามเข้าออกพื้นที่ถนนบางสาย ในคดีนี้เป็นถนนราชปรารภ ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกมักกะสัน และจะขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุม
วันที่ 14 พ.ค. 53 เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนพลมาที่ถนนราชปรารภ และได้ใช้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์เป็นศูนย์บัญชาการ นอกจากนี้ ยังนำลวดหนามมาขวางหน้าโรงแรมอินทรา ใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และแยกมักกะสัน เพื่อห้ามยานพาหนะและคนนอกไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ รวมทั้งตั้งบังเกอร์อยู่ริมถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง และบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย กระทั่งเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 15 นายสมร ไหมทอง ได้ขับรถตู้ออกจากซอยวัฒนวงศ์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกดินแดง ระหว่างขับถึงจุดที่สร้างคอนโดไอดีโอซึ่งเป็นเขตหวงห้าม เจ้าหน้าที่ทหารประกาศให้ขับออกมาแต่คนขับยังฝ่าเข้าไป ทหารจึงสกัดโดยใช้ปืนยิงรถตู้จนจอดนิ่งอยู่บริเวณทางขึ้นสถานีแอร์พอร์ตลิงก์
พ.ต.ท.บรรยงเบิกความอีกว่า หลังสิ้นเสียงปืนเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปช่วยเหลือนายสมรที่ยังไม่เสียชีวิต และนำตัวใส่รถ GMC ที่จอดอยู่ในโรงภาพยนตร์โอเอ ทราบว่ามีคนเจ็บอีกคนคือ ด.ช. คุณากร อยู่ในรถ GMC ด้วย จากนั้นทหารอนุญาตให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิรับทั้งคู่ไปส่งที่โรงพยาบาลพญาไท 1 โดยด.ช.คุณากรเสียชีวิต ส่วนนายสมรบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้ ยังมีนายพัน คำกอง เสียชีวิตอยู่บริเวณคอนโดฯ ไอดีโอ ด้วย เหตุการณ์นี้นายคมสันติ ทองมาก ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่นบันทึกคลิปเหตุการณ์ทั้งหมด และมอบให้แก่พนักงานสอบสวนแล้ว
เขาเบิกความถึงคลิปกล่าวว่าเห็นรถตู้ของนายสมรขับมาตามถนนราชปรารภจากประตูน้ำไปแยกดินแดง เมื่อข้ามทางรถไฟใต้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์แล้วมีเสียงปืนดังขึ้นทุกทิศจนรถตู้หยุด จากนั้นทหารเข้าไปช่วยนำนายสมรออกจากรถตู้และรักษาพยาบาลเบื้องต้น ก่อนใช้เปลหามเข้าไปในซอยโรงภาพยนตร์โอเอและใส่รถ GMC จากนั้นมีรถมูลนิธิเข้าไป เห็นทหารนำด.ช.คุณากรออกจากรถ GMC สภาพยังไม่เสียชีวิต แต่เดินไม่ได้แล้วและมีบาดแผลที่ท้อง ทราบภายหลังว่าถูกยิงข้างหลังทะลุท้อง รถมูลนิธินำทั้งคู่ไปส่งโรงพยาบลพญาไท 1 และมีภาพรถมูลนิธิมารับนายพัน คำกอง ไปส่งโรงพยาบาลด้วย
พนักงานสอบสวนเบิกความต่อว่า ผลการชันสูตรพบกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่แขนซ้ายของนายพัน และพบกระสุนM16 ในตัวของนายสมร ขณะที่ผลการตรวจปืนM16 จำนวน 40 กระบอก จากทหารที่รักษาการณ์ในที่เกิดเหตุ ไม่พบว่าตรงกับของกลางแต่อย่างใด เขาไม่ได้ตรวจรถตู้ที่ถูกยิง แต่ได้นำภาพถ่ายและคลิปภาพเสียงส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจ และจากการสอบสวนนายอเนก ชาติโกฎิเจ้าหน้าที่ รปภ.ของคอนโดฯ ไอดีโอให้การว่าอยู่กับนายพันในช่วงเกิดเหตุ หลังได้ยินเสียงปืนทั้งคู่ออกมาดูสถานการณ์ด้านหน้า และเห็นทหารอยู่โดยรอบ แต่ไม่เห็นว่าใครยิง และนายคมสันติยังได้ให้การสอดคล้องกันด้วยว่าได้ยินเสียงปืนและเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าวด้วย และนอกจากนี้ พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต ผกก.สภ.บ้านไร่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนร่วมกับทหาร ให้การว่าได้ยินประกาศห้ามรถตู้เข้ามาและได้ยินเสียงปืน แต่ไม่ได้ออกไปดู
พยานเบิกความอีกว่า หลังยุติการชุมนุม DSI ประกาศให้คดีสลายการชุมนุมเป็นคดีพิเศษ พยานจึงส่งสำนวนไปให้DSI และทาง DSI เชื่อว่าการตายของด.ช.คุณากร น่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ จึงส่งสำนวนกลับมาให้สอบสวนต่อ เขาเบิกความว่าเชื่อได้ว่าเกิดจากการยิงของทหารเนื่องจากในที่เกิดเหตุทหารขึ้นไปใช้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์เป็นศูนย์บัญชาการและบล็อกแนวบริเวณดังกล่าวไว้หมด บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าออกบริเวณนี้ได้ ส่วนด.ช.คุณากรถูกกระสุนM16 ยิงจากด้านหลังทะลุด้านหน้า จุดที่เสียชีวิตกับรถตู้อยู่บริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ นายพันยังถูกปืนM 16 ยิงเสียชีวิตในบริเวณนั้นด้วย ทหารอาจไม่ทราบว่ามีด.ช.คุณากรอยู่ในบริเวณดังกล่าว และไม่น่าเป็นการยิงโดยเจตนา
ฟังคำสั่งวันที่ 20 ธันวาคม 2555[12]
ด.ช.คุณากรผู้ตาย มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 44 ม.1 แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กทม. กระทั่งปี 2547 ย้ายไปอยู่ในความปกครองของสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตั้งอยู่เขตสวนหลวง โดยระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 53 นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และจัดตั้งศอฉ. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผอ.ศอฉ. และศอฉ.ได้ออกประกาศควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมเข้าออก ถ.ราชปรารภ ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำ ถึง สี่แยกมักกะสัน ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาการให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งถนนและตามแนวบังเกอร์ ประกอบด้วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และจัดวางลวดหนามตั้งแต่บริเวณปากซอยราชปรารภ 6 ถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
วันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 23.00 น. เศษ นายคมสันติ ทองมาก ผู้สื่อข่าวซึ่งไปทำข่าวเกี่ยวกับผู้ชุมนุมนปช. บริเวณถ.ราชปรารภ พบเห็นผู้ตายวิ่งเล่นอยู่บริเวณบังเกอร์ที่เจ้าหน้าที่ทหารวางไว้ตามสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ฝั่งโรงภาพยนตร์โอเอ ต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 14 พ.ค. 53 นายสมร ไหมทอง ขับรถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพฯ ออกจาก ซ.วัฒนวงศ์ แล้วเลี้ยวขวาไปที่สี่แยกมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล ซึ่งประจำอยู่บริเวณด้านหน้าร้านอาหารอินเดียฟู้ด จึงแจ้งไปยังชุดตรวจที่อยู่ใกล้ปากซอยให้ประกาศห้ามรถยนต์ตู้ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ควบคุม แต่นายสมรยังคงขับรถยนต์ตู้ต่อไปทางสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อแล่นผ่านจุดที่ ร.อ.เสริมศักดิ์ กับพวกประจำอยู่ มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดมาจากหลายทิศทาง นายสมรพยายามขับรถยนต์ตู้ต่อไปจนข้ามทางรถไฟไปถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อสิ้นเสียงปืนพบว่านายสมรถูกกระสุนปืนที่เอวและท้อง
นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ถูกกระสุนปืนยิงใส่อีก 2 คน คือ นายพัน คำกอง และผู้ตายในคดีนี้โดยมีบาดแผลถูกกระสุนปืนยิงเข้าด้านหลังบริเวณกึ่งกลางลำตัวทะลุช่องท้อง ซึ่งพบผู้ตายได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ที่พื้นถนนในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ห่างจากปากซอยซึ่งติดถ.ราชปรารภประมาณ 20 เมตร ถัดจากปากซอยไปไม่ไกลเป็นจุดที่รถยนต์ตู้คันที่นายสมรขับจอดอยู่ ส่วนนายพัน คำกอง ถูกกระสุนปืนขณะยืนอยู่ตรงบริเวณทางเข้าออกอาคารคอนโดมิเนียมไอดีโอ ตรงกันข้ามเยื้องกับซอยโรงภาพยนตร์โอเอ
สำหรับสาเหตุที่ผู้ตายถูกยิงนั้น ได้ความจากนายสมร ผู้บังคับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุว่า เมื่อขับเลี้ยวขวาออกจากซอยได้ประมาณ 30 เมตร ก็มีเสียงปืนดังขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองฝั่งระดมยิงมาที่รถยนต์ตู้ของพยาน ซึ่งสอดคล้องกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าเห็นทหารจำนวน 3 นายยิงปืนมาที่รถ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายคมสันติว่า ก่อนที่รถยนต์ตู้จะแล่นเข้ามา เจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าขอให้ผู้ขับหยุดรถ มิฉะนั้นจะยิงสกัด เมื่อสิ้นเสียงประกาศจึงมีเสียงปืนดังมาจาก 2 ฝั่งถนน โดยทั้ง 2 ฝั่งถนนมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสัน ซึ่งพยานได้บันทึกภาพเหตุการณ์รถยนต์ตู้เข้าไปในพื้นที่จนกระทั่งถูกยิงสกัดไว้
อีกทั้งพยานผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุต่างเบิกความตรงกันสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่ 4 แยกมักกะสันไปจนถึงซอยราชปรารภ 6 ฝั่งซ้ายมุ่งหน้าที่ 4 แยกประตูน้ำ แบ่งกำลังคุมพื้นที่ 4 แห่ง แต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 6 คน โดยก่อนเกิดเหตุพยานแต่ละคนได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ไม่ให้รถตู้ นายสมรแล่นผ่านเข้าไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ แต่รถตู้ยังแล่นต่อไป จากนั้นมีเสียงปืนดังหลายนัดมาจากหลายทิศทาง
แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่าผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุถ.ราชปรารภตั้งแต่ 4 แยกประตูน้ำไปจนถึง 4 แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ นำโดยพ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถ.ราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ 4 แยกประตูน้ำไปจนถึง 4 แยกมักกะสัน และปากซอยหมอเหล็ง เฉพาะหน่วยของพ.ท.วรการมีทหารถึง 150 คน มีกองบัญชาการอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น
อีกทั้งพล.อ.ต.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม แพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายเบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่าเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภท M16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้องและภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐานจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายนายมีอาวุธปืนM16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้
จึงต้องรับฟังว่า คืนเกิดเหตุขณะที่นายสมรขับรถยนต์ตู้เข้าไปในถ.ราชปรารภ มุ่งหน้าสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมตามประกาศของศอฉ. เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงห้ามเข้าไปในพื้นที่แล้ว นายสมรยังขับรถยนต์ตู้ต่อไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่รถยนต์ตู้ของนายสมร เป็นเหตุให้ลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายจนถึงแก่ความตาย
ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ถนนศรีอยุธยา แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่
อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณฉบับเต็ม
[1] การไต่สวนชันสูตรพลิกศพด.ช.คุณากร นี้มีการใช้พยานบุคคลและหลักฐานบางส่วนร่วมกับคดีนายพัน คำกอง
[3] “สืบพยานคดีน้องอีซา เหยื่อสลายการชุมนุม พ.ค.53,” Voice TV, 20 ก.ค. 55 ; “ไก่อูเบิกความคดียิงดช.อีซา ‘แดง’นัดลุ้น 23 กค.ชี้ชะตาตู่,” ข่าวสด, 21 ก.ค. 55
[4] พยานทหารทั้ง 3 นาย นี้เป็นชุดเดียวกับที่ขึ้นเบิกความในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง
[5] ในรายงานข่าวลงชื่อผิด
[6] “โชว์หลักฐาน’หัวกระสุน’ สื่อดัตช์พค.53 ย้ำโดนจนท.ยิง,” ข่าวสด, 30 ต.ค. 53
[7] “ไต่สวน 2 ศพ แดง,” ข่าวสด, 6 พ.ย. 55
[8] เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ ทั้ง 2 นาย นั้นได้ให้การในการไต่สวนชูนสูตรนายพัน คำกองด้วย
[9] “ศาลชี้อีกจนท.ยิง แดงศพที่2,” ข่าวสด, 26 พ.ย. 55 ; “ไต่สวนคดี ‘ด.ช.อีซา’ เหยื่อกระสุน พ.ค.53 ทนายยันเหตุการณ์เดียวกับ ‘พัน คำกอง’,” ประชาไท, 27 พ.ย. 55
[10] พยาน 1-4 ให้การในการไต่สวนชันสูตรนายพัน คำกอง ด้วย
[11] “นัดชี้รายที่5ดช.อีซา-20ธค.ธาริตถก99ศพใกล้สรุปสั่งฆ่า,” ข่าวสด, 5 ธ.ค. 55 ; “ศาลนัดแล้ว!! 20 ธ.ค.นี้ ฟังคำสั่งไต่สวนคดี ‘ด.ช.อีซา’ เหยื่อกระสุน พ.ค.53ศาลนัดแล้ว!! 20 ธ.ค.นี้ ฟังคำสั่งไต่สวนคดี ‘ด.ช.อีซา’ เหยื่อกระสุน พ.ค.53,” ประชาไท, 20 ธ.ค. 55
[12] “ศาลชี้ศพ 4 “ดช.อีซา” จนท.ยิง! “มาร์ค-เทือก” หนักต้องถูกดำเนินคดีต่อเนื่อง’พัน คำกอง’เผยกระสุนทะลุหลังใกล้บังเกอร์ทหารไต่สวน6ศพวัดปทุม-นาทีชีวิตน้องเกด,” ข่าวสด, 21 ธ.ค. 55 ; “ศาลสั่งเป็นคดีที่ 4 “ด.ช.อีซา” เหยื่อกระสุน พ.ค. 53 เสียชีวิตจากทหาร,” ประชาไท, 20 ธ.ค. 55