ชาติชาย ชาเหลา

รูป

วิดีโอ : คืนวันที่ 13 บริเวณสวนลุมพินี ชาติชาย ชาเหลา  
ภาพจาก : AFP
ขนาดไฟล์ : 66 MB
ความยาว : 1:24 นาที

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายชาญณรงค์ พลศรีลา

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : อช.1/2555 วันที่ฟ้อง : 17/02/2555 คดีหมายเลขแดงที่ : อช.9/2555 วันที่ออกแดง : 26/11/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 สำนักงานอัยการสูงสุด

ผู้เสียชีวิต : นายชาญณรงค์ พลศรีลา

คดี : ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ

 

นัดพร้อมวันที่ 12 มีนาคม 2555[2]

นัดพร้อมไต่สวนชันูสตรพลิกศพ นายชาญณรงค์ พลศรีลา  โดยอัยการในฐานะผู้ร้องขอได้ขอให้ศาลเลื่อนการไต่สวนเป็นนัดหน้า  มีพยานทั้งหมด 41 ปาก โดยจะมีการสืบพยานครบทั้งหมดไม่มีการตัดพยานออก และฝ่ายทนายญาติผู้เสียชีวิตยื่นพยาน 15 ปาก

 

นัดสืบพยานวันที่ 18 มิถุนายน 2555[3]

            พยาน

  1. นายนิค นอสติทซ์ (Nick Nostitz)ช่างภาพอิสระ ชาวเยอรมัน
  2. นายธีโล เธียลเค (Thilo Thielke) นักข่าวจาก Der Spiegel

พยานปากแรกนายนิค นอสติทซ์เบิกความว่า เขาเริ่มติดตามเหตุการณืทางการเมืองตั้งแต่ การชุมนุมของเสื้อเหลืองก่อนปี 2549  ในปี 2553 เขาได้เข้าไปทำข่าวการชุมนุมเสื้อแดงที่ผ่านฟ้า

นิคได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค. 53 ว่าเขาเข้าไปทำข่าวที่สามเหลี่ยมดินแดง เห็นผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 200 คน  ขณะนั้นผู้ชุมนุมไม่ได้สวมเสื้อสีแดงแล้ว  เวลา 14.00 น.  เขาเข้าไปในถนนราชปรารภ ยังคงมีรถสัญจรไปมาอยู่ เมื่อไปถึงแยกรางน้ำมีทหารอยู่ในบังเกอร์ แต่เขาจำไม่ได้ว่าอาวุธที่ถือเป็น M16หรือไม่ จากนั้นเขาเดินไปซื้อน้าที่ เซเว่น อีเลฟเวน แล้วกลับมายังบังบริเวณสมเหลี่ยมดินแดง เวลา 15.00 น. เห็นรถสีเหลืองบรรทุกยางมาที่ราชปรารภ ไปยังปั๊ม เชลล์ นิคได้พบกับนายชาญณรงค์ ซึ่งในขณะนั้นเขายังไม่รู้ โดยชาญณรงค์สวมหน้ากากอนามัย มือถือหนังสติ๊กและตนได้บันทึกภาพนายชาญณรงค์ไว้ก่อนถูกยิงประมาณ 7 นาที  ผู้ชุมนุมได้ย้ายยางเข้าไปใกล้ฝั่งทหารมีระยะห่างประมาณ 80 ม.  ในขณะนั้นตนอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมประมาณ 4 ม. เห็นทหารยิงมายังกลุ่มผู้ชุมนุม เวลา 16.05 น. หลังมีการยิง 1 นาที นายชาญณรงค์กำลังคลานออกจากแนวยางเขาได้ถูกยิงเข้าที่บริเวณท้อง   ระหว่างที่กำลังนายชาญณรงค์กำลังกลับตัวเพื่อเข้าหาแนวยางนายนิคได้เห็นว่าเขถูกยิงที่แขนจนกระดูกหัก  จากนั้นพยายามเข้าหายางรถยนต์ ในขณะที่ผู้ชุมนุมที่อยู่หลังยางรถยนต์พยายามออกจากบังเกอร์ก็โดนยิงมาจากซอยรางน้ำ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีทหารประจำอยู่

นิคเบิกความอีกว่า ยืนยันว่านอกจากนายชาญณรงค์แล้วยังมีผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บอีก 2 ราย และทั้ง 2 ออกจากแนวยางรถยนต์ไปยังปั๊ม เชลล์ ตนเลยวิ่งตามไปถ่ายบุคคลทั้ง 2 ที่ห้องน้ำ จากนั้นผู้บาดเจ็บทั้ง 2 รายได้ปีนข้ามกำแพงไปบ้านที่อยู่หลังปั๊ม แล้วนิคได้กลับไปที่ทางเข้าปั๊มใกล้กับแนวยางอีกครั้ง เห็นมีผู้ชุมนุมวิ่งออกจากแนวยางอีก 2 คน  เสียงปืนดังใกล้เข้ามากว่าเดิมเขารู้สึกไม่ปลอดภัยจึงวิ่งออกจากจุดดังกล่าว  มีเสียงปืนดังเป็นระยะจึงเข้าไปหลบในห้องน้ำของปั๊ม เขาได้เห็นผู้ชุมนุม 2 คน พานายชาญณรงค์เข้ามาในห้องน้ำ เขาจึงถ่ายภาพผู้ชุมนุมทั้ง 2 คนนั้นไว้ หลังจากพาเขามาแล้วได้มีการเปิดดูบาดแผลของนายชาญณรงค์จากนั้นได้ส่งตัวเขาข้ามกำแพงไปแล้วไถลลงไปในสระน้ำ  แล้วนิคก็ได้ปีนข้ามกำแพงไปด้วย  นายนิคกล่าวว่าผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธและก็ได้มีการบอกกับทหารว่า ไม่มีอาวุธ ตั้งแต่ผู้ชุมนุมยังอยู่ที่บังเกอร์ยาง นิคยังได้ยืนยันอีกว่าไม่เห็นฝั่งผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน

ระหว่างนั้นทหารได้เดินเข้ามาและมีการยิงปืนขึ้นฟ้า ทำให้มีปลอกกระสุนกระเด็นข้ามมา เขาได้ยินเสียงผู้ชุมนุมที่ยังอยู่ตรงห้องน้ำของปั๊มบอกว่า “ผมยอมแล้ว ผมยอมแล้ว” และเขายังได้ยินเสียงทหารทำร้ายผู้ชุมนุม  มีทหารคนหนึ่งปีนข้ามกำแพงมาและมีทหารอีกคนอยู่ที่กำแพง  เขาและทหารที่ข้ามมาได้ช่วยกันดึงนายชาญณรงค์ขึ้นจากสระน้ำ เมื่อทหารดึงขึ้นมาจากน้ำแล้วทหารได้ตะโกนว่า ทำไมมึงยังไม่ตายอีก รู้ไหมทหารต้องนำตัวไปส่งโรงพยาบาล  ระหว่างนั้นนายชาญณรงค์ได้ลื่นไหลกลับลงไปในสระอีกครั้ง เขาจึงดูและผู้ตาย ทหารได้วิทยุเรียกหน่วยแพทย์มา ขณะนั้นนายชาญณรงค์หายใจไม่ออก ไม่ขยับตัว  หลังจากนั้นทหารได้มารับตัวนายชาญณรงค์ไป  หลังจากนั้นนิคได้กลับไปยังหลังกำแพง และไม่กล้าออกจากบริเวณดังกล่าวจึงได้ออกมาทางด้านหลังและไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเวลา 20.30 น. และได้บันทึกภาพพระที่สวดมนต์บนฐานอนุสาวรีย์ชัยฯ  จากนั้นจึงกลับบ้านเวลา 21.30 น. และได้เขียนบทความบันทึกเหตุการณ์เผยแพร่ทางเว็บไซต์นิวแมนเดลา[4]

หลังเหตุการณ์ประมาณหนึ่งเดือน ดูรายชื่อผู้เสียชีวิตจึงได้ติดตามไปที่สถานีตำรวจ พญาไท จึงทราบว่านายชาญณรงค์ได้เสียชีวิตแล้ว และบทความของเขาได้ถูกบล็อกจากกระทรวง ไอซีที เพื่อสอบถามและยืนยันว่าบทความไม่ได้ผิดกฎหมาย หลังจากนั้นบทความจึงเข้าได้อีกครั้ง  และเขายังเล่าถึงเรื่องที่ภรรยาเขาถูกจี้เอาเงินไป 2,000 บาท โดยคนร้ายยังได้กล่าวกับภรรยาเขาว่า “สวัสดีนิคด้วย” ทำให้เขาไม่แน่ใจว่าเป็นการถูกคุกคามหรือไม่ และคนร้ายรู้จักชื่อของเขาได้อย่างไร  แต่เขาได้บอกด้วยว่าหลังให้การกับ คอป. เหตุการณ์เหล่านี้ก็ลดลง

พยานคนที่สอง นายธีโล เธียลเค เบิกความว่าวันที่ 15 พ.ค. 53 ได้เดินทางจากบ้านไปที่ดินแดง เขาเห็นผู้ชุมนุม 40-50 คน หลังจากนั้นมีคนเอายางรถยนต์มาที่ถนนผู้ชุมนุมนำยางรถยนต์ไปใกล้เจ้าหน้าที่ทหาร หลัง 14.00 น. มีการยิงเกิดขึ้น เขาอยู่หลังบังเกอร์ของผู้ชุมนุมประมาณ 15 ม. ตนไม่เห็นว่าใครเป็นคนยิงหลังจากที่มีการยิงกันประมาณ 10 นาที เห็นผู้บาดเจ็บประมาณ 3-4 คน โดยไม่ทราบว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิตหรือไม่ในขณะนั้น หลังจากที่ผู้ชุมนุมได้หนีเข้าไปในสถานีจำหน่ายน้ำมันแล้ว มีเจ้าหน้าที่ทหาร ถืออาวุธปืนไรเฟิลตามเข้าไป เขาที่หลบอยู่ด้านหลังของสถานีน้ำมันก็ได้กระโดดข้ามไปยังบ้านหลังนั้น และมีทหารเข้ามาพูดคุยแต่ตนไม่เข้าใจสิ่งที่ทหารพูด

นายธีโลเบิกความอีกว่า ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ฝ่ายทหารทีอาวุธปืน ใส่ชุดฟอร์มสีเขียว และยืนยันว่าผู้ชุมนุมที่อยู่หลังบังเกอร์ยางไม่มีการยิงตอบโต้กับทหาร ในตอนที่เขาอยู่ด้านหลังของปั๊ม นิค นอสติทซ์คือคนที่ที่พยายามจะช่วยเหลือผู้ชุมนุม

 

นัดสืบพยานวันที่ 25 มิถุนายน 2555[5]

                พยาน

  1. นางศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนายผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์
  2. นายไชยวัฒน์ พุ่มพวง  ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่น(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นายเดชภพ แล้ว)

ไม่มีข้อมูลการสืบพยานในศาล แต่มีการสัมภาษณ์ทนายโชคชัย อ่างแก้ว  ที่ให้ข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับการเบิกความของนางศิริพร ที่ได้เบิกความขั้นตอนการสลายการชุมนุมและคำสั่งการปฏิบัติการของทหารในการสลายการชุมนุม

ในการเบิกความของนายไชยวัฒน์ทนายโชคชัยกล่าวว่า เหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค. 53 วิถีกระสุนถูกระดมยิงมาจากทางฝั่งที่มีทหารประจำการอยู่ และตัวของพยานเองก็โดนกระสุนยิงเข้าที่ขา และเห็นนายชาญณรงค์ถูกยิงด้วย

 

นัดสืบพยานวันที่ 2 กรกฎาคม 2555[6]

            พยาน

  1. นายเดชภพ พุ่มพวง ช่างภาพเนชั่น(นายไชยวัฒน์ พุ่มพวง)
  2. นายณัฐพงศ์ พรหมเพชร ช่างภาพช่องไทยพีบีเอส(ในคำสั่งศาลจะมียศว่าที่ร้อยตรีนำหน้า)
  3. นายพงษ์ไทย วัฒนาวณิชย์วุฒิ นักข่าวโพสต์ทูเดย์
  4. นายสรศักดิ์ ดิษปรีชา  รับจ้างขับรถ

พยานปากแรก นายเดชภพ พุ่มพวง(ชื่อเดิมนายไชยวัฒน์)  เบิกความว่า วันที่ 15 พ.ค. 53 เขาได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายภาพที่ถนนราชปรารภ  ซึ่งที่นั่นมีลวดหนามของทหารที่ติดป้าย “แนวกระสุนจริง” ขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามตั้งบังเกอร์ห่างออกไป ช่วงที่มีการยิงทหารเริ่มเดินรุกคืบบนถนนทั้งสองฝั่ง  แต่เขาไม่เห็นทหารบนสะพานลอย  มีเสียงปินดังจากทางแนวทหาร ฝั่งผู้ชุมนุมไม่ได้มีการตอบโต้ด้วยอาวุธ แต่ก็มีการยิงพลุซึ่งไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ตนใส่ปลอกแขนมีคำว่า PRESS ชัดเจน แต่เขาก็ยังถูกยิงเข้าที่โคนขาขวา โดยเชื่อว่ายิงมาจากฝั่งทหาร และไม่มีการประกาศเตือนล่วงหน้าจากทางเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

พยานปากที่สองว่าที่ร้อยตรีณัฐพงศ์ พรหมเพชร เบิกความว่า ช่วงบ่ายโมงกว่า กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้เริ่มพยายามนำยางรถยนต์เข้าไปวางห่างจากสามเหลี่ยมดินแดงประมาณ 100 ม. ฝ่ายทหารน่าจะอยู่ห่างออกไปทางรางน้ำ เขาไม่เห็นอาวุธในกลุ่มผู้ชุมนุม   ทางผู้ชุมนุมมีการนำฝากระโปรงรถทหารมาทำเป็นเกราะกำบัง  จากนั้นเขาได้ยินเสียงปืนดังจากทางฝั่งทหารแต่น่าจะเป็นการยิงขึ้นฟ้าและจากที่มีการยิงไม่กี่นัดก็เริ่มมากขึ้นๆ ผู้คนก็แตกกระจายหาที่กำบัง   ทางผู้ชุมนุมมีการตอบโต้ด้วยพลุตะไลจำนวนประมาณ 3 นัด แต่เขาเข้าใจว่าเป็น M79   ระหว่างที่ทหารรพดมยิงเรื่อยๆ อยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงปืนลูกโม่เป็นระยะๆ แต่ไม่มากนัก มาจากทางฝั่งผู้ชุมนุมด้วย  ระหว่างที่มีการยิงอยู่นั้นเขาได้เห็นผู้ชุมนุมถูกยิง 2 คน คนหนึ่งกระโดหนีไปได้ อีกคนทราบภายหลังว่าคือนายชาญณรงค์  แต่เขาไม่เห็นทหารยิงอย่างชัดเจน แต่ทราบว่ากระสุนมาจากทางทหาร ระหว่างนี้นายเดชภพก็ถูกยิงด้วย แต่เขาเข้าไปช่วยไม่ได้จนทหารเข้าไปช่วย  และเขายังถูกทหารยึดเทปบันทึกภาพไป เขาจึงต่อรองโดยเขาแจ้งทหารว่าในเทปมีภาพทหารช่วยนายเดชภพด้วย หากได้ออกอากาศน่าจะเป็นผลดี ทหารจึงยอมมอบเทปคืน แต่ทหารซึ่งแต่งนอกเครื่องแบบ(เขาคิดว่าเป็นระดับผู้บังคับบัญชา) สั่งให้เขาลบภาพที่มีการหามคนเจ็บหรือคนตายออกไป 1 ภาพ เมื่อได้เทปคืนจึงได้นำภาพที่เหลือไปออกอากาศ 2 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างเบิกความมีการเปิดฉายเทปบันทึกการรายงานข่าวสถานการณ์ดังกล่าวของไทยพีบีเอสที่นายณัฐพงศ์เก็บภาพไว้ได้ด้วยโดยเห็นผู้ชุมนุมมีการจุดตะไล และมีการระดมยิงเข้าบริเวณบังเกอร์ใกล้ปั๊มเชลล์กระทั่งมีการหามนายเดชภพออกจากจุดเกิดเหตุโดยทหารและมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทนายจำเลยได้ซักถามถึงภาพที่ระดมยิงใส่กองยางและมีผู้บาดเจ็บว่ามีการถ่ายไว้ด้วยหรือไม่  เขาได้ตอบว่ามีการถ่ายไว้แต่ไม่แน่ใจว่ามีการนำไปออกอากาศหรือไม่เพราะตนมีหน้าที่เพียงส่งภาพทั้งหมดเข้าไปยังสำนักงานเท่านั้น

พยานปากที่สาม นายพงษ์ไทย  วัฒนาวณิชย์วุฒิ  เบิกความว่าบังเกอร์ถูกนำมาวางที่ปั๊มเชลล์มีผู้ชุมนุมราว 20-30 คน แต่ยังไม่ทันเป็นรูปเป็นร่างก็ได้ยินเสียงปืน 2-3 นัด ซึ่งตนยังจับไม่ได้ว่ามาจากทางไหน  จากนั้นได้ยินเสียงปืนอีกหลายนัด และเริ่มประเมินได้แล้วว่ามาจากทางฝ่ายทหารแต่ไม่เห็นวิถีตกของกระสุน เขาจึงเข้าไปหลบฝั่งตรงกันข้ามกับปั๊มเชลล์ เห็นผู้ชุมนุมหลบอยุ๋หลังกองยางราว 10 คน จากนั้นกระสุนชุดที่สามก็มาอย่างต่อเนื่อง เขาได้เห้นวิถีกระสุนชัดว่ามาจากทางด้านทหาร มาทั้งข้างล่าง ข้างบน ตกที่ถนนข้ามกองยางไป และเห็นว่าโดนคนหลังกองยางด้วยเพราะเห็นเลือด แต่ไม่รู้ว่าโดนกี่คน ส่วนนายเดชภพซึ่งหลบอยุ่ใกล้ๆ นั้นก็ถูกยิงด้วยในช่วงนี้ นายเดชภพได้ตะโกนบอกว่าถูกยิง เขาจึงชะโงกไปดู  เขาวางกล้องจะไปช่วย จังหวะที่ชะโงกคลานไปแล้วครึ่งตัว เหมือนมีแรงลมผ่านใกล้หัวมากจึงต้องหลบเข้าที่เดิมและบอกให้นายเดชภพนั่งนิ่งๆ เพราะกลัวเขาโดนยิงซ้ำหากขยับ ทั้งสองคนนั่งอยู่นานปราะมาณ 20 นาที จึงเห็นทหารกระชับพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ มีอาวุธปืนคาดว่าเป็น M16 ค่อยๆ ย่องเข้ามาในลักษณะกระชับปืนคอยเล็งตลอด จนพบผู้สื่อข่าวและช่วยออกไปจากพื้นที่

พยานปากสุดท้ายนายสรศักดิ์ ดิษปรีชา เบิกความว่าระหว่างที่เขาหลบอยู่หลังกองยาง ขณะนั้นนายชาญณรงคืหมออยู่ห่างจากกองออกไปและพยายามคลานเข้ามาใกล้แล้วบอกว่า “ผมโดนแล้วๆ” และได้เปิดเสื้อให้เขาดูเห็นเลือดออกมาจากบาดแผลจำนวนมาก จากนั้นเขาพยายามวิ่งเข้าปั๊มซึ่งระหว่างปั๊มกับแนวยางจะมีช่องที่ไม่มีกองยางบังอยู่ มีกระสุนมาไม่ขาด  เมื่อเขาเข้าไปได้แล้วมีคนตะโกนบอกว่าอย่าไปอยู่ในปั๊มเพราะลูกปืนจะโดนหัวจ่ายน้ำมันระเบิด  เขาจึงอ้อมหลบข้างรถเก๋งที่จอดอยู่ข้างปั๊มก่อนจะพยายามออกมจากพื้นที่เพื่อกลับไปมอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่ไม่ไกล

เขาเบิกความด้วยว่าผู้ชุมนุมมี่อาวุธ นายชาญณรงค์ที่มีหนังสติ๊ก  แต่หลังจากที่ทหารเริ่มยิงมีเด็กผู้ชายคนหนึ่งนำตะไลออกมาเตรียมจุด แต่เขาได้เตือนเด็กว่าอย่าจุดเพราะจะยิ่งเป้นการยั่วยุ แล้วเด็กก็ไม่ได้จุดตะไล

 

นัดสืบพยานวันที่ 9 กรกฎาคม 2555[7]

            พยาน

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด
  2. ร.อ.มนต์ชัย ยิ้มอยู่
  3. พ.อ.กัญชัย ประจวบอารีย์
  4. พ.ต.ท.สุรพล รื่นสุข  รองผู้กำกับการ สน. คันนายาว ในช่วงการชุมนุมมีหน้าที่ฝ่ายการข่าว กองบัญชาการตำรวจนครบาล
  5. พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร ในช่วงเหตุการณ์ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  6. พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ อดีตสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท

ในการสืบพยานครั้งนี้ พ.อ.สรรเสิรญ แก้วกำเนิด พ.อ.กัญชัย ประจวบอารีย์ และร.อ.มนชัย ยิ้มอยู่ไม่ได้ขึ้นให้การ เนื่องจากมีการนำส่งหลักฐานเอกสารและภาพถ่ายเพิ่มจึงเลื่อนการไต่สวนไปเป็น 24 กันยายน 2555  ส่วนทางฝ่ายตำรวจคือ พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ ต้องเลื่อนไปนัดของวันที่ 16 ก.ค. 55 เนื่องจากเวลาไม่พอ

พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร เบิกความว่าระหว่างวันที่ 12-16 พฤษภาคม 2553 กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้จัดกำลังตำรวจตั้งจุดตรวจจุดสกัดกั้นการนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง 13 จุด ซึ่งใกล้ที่เกิดเหตุคือบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสามเหลี่ยมดินแดง ต่อมาได้ตั้งเพิ่มอีกจุด คือ ซอยรางน้ำ ในส่วนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์นั้น เขาทราบข่าวเบื้องต้นจากการรายงานข่าวของพนักงานสอบสวนในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการประกาศภาวะฉุกเฉินทำให้ พนักงานสอบสวนเจ้าของพื้นที่ และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ไม่สามารถเข้าพื้นที่เกิดเหตุได้

พ.ต.ท.สุรพล รื่นสุข เบิกความถึงส่วนการเสียชีวิตนายชาญณรงค์ เบื้องต้นทราบข่าวจากการรายงานของตำรวจในพื้นที่และต่อมาทราบชื่อผู้ตายจากสื่อมวลชน โดยการนำเสนอข่าวนั้นจะรวบรวมจาก ตำรวจในพื้นที่ตำรวจสันติบาลและสื่อมวลชน

 

นัดสืบพยานวันที่ 16 กรกฎาคม 2555[8]

            พยาน

  1. พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ อดีตสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท
  2. พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม  ผู้เชี่ยวชายด้านอาวุธปืน ทำหน้าที่ตรวจสอบอาวุธปืน

นอกจากตำรวจ 2 นายนี้แล้วตามข่าวยังมีตำรวจและทหารคนอื่นที่ขึ้นเบิกความในช่วงบ่ายอีก แต่ไม่มีข่าวสำนักไหนอยู่ทำข่าวในช่วงบ่าย

พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ เบิกความ สรุปว่า ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ได้รับแจ้งว่ามีการก่อความวุ่นวายของกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วน ที่บริเวณปั๊มเชลล์ซอยรางน้ำ มีการเผายางรถยนต์ ขว้างขวดใส่เจ้าหน้าที่ทหารจนเกิดการปะทะกัน และได้รับแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บ โดยมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันที่บริเวณปากซอยราชวิถี 11 เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ซึ่งพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ผบก.น.1 (ขณะนั้น) สั่งการให้รถตำรวจนำรถพยาบาลเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องถูกยิงสกัดจากแนวรั้วลวดหนามของทหาร พล.ต.ต.วิชัยจึงประสานกับ ศอฉ. เพื่อขอกำลังอาสาสมัครไปช่วยผู้บาดเจ็บออกมาจากที่เกิดเหตุ และช่วงบ่ายวันเดียวกันก็ได้รับแจ้งว่า มีรถตำรวจถูกยิงที่บริเวณถนนราชปรารภ ตอนกลางซึ่งเป็นช่วงที่ทหารวางกำลังอยู่
พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ เบิกความอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 53 หลังการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยศอฉ.ทหารได้วางกำลังตั้งศูนย์บัญชาการที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน ตรงถนนราชปรารภ พร้อมกับวางรั้วลวดหนามตลอดแนวกั้นเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่แยกราชประสงค์ โดยติดป้ายข้อความว่า เขตการใช้กระสุนจริง ทั้งที่ถนนราชปรารภ ตรงหน้าโรงแรมอินทรา และบริเวณซอยรางน้ำ รวมทั้งตำรวจก็ไม่สามารถเข้าพื้นตรวจที่เกิดเหตุได้ และทราบผลการชันสูตรศพนายชาญณรงค์ในภายหลังว่า ถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนความเร็วสูงเข้าที่บริเวณท้อง ซึ่งหากเป็นเหตุการณ์ปกติเมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ชุดสืบสวนสามารถเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุได้ เมื่อได้รับแจ้งเหตุ แต่ช่วงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ ศอฉ.ประกาศผ่านสื่อ ห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับระบุด้วยว่า ช่วงการสืบสวนหาข่าวเห็นทหารพกปืนM 16 และทาโวร์ติดลำกล้องในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้

พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ซึ่งทำหน้าที่ตรวจอาวุธปืน

 

นัดสืบพยานวันที่ 27 กันยายน 2555[9]

            พยาน

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารบก ในช่วงเหตุการณ์เป็นโฆษก ศอฉ.
  2. พ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์   เสนาธิการหน่วยเฉพาะกิจ จ.นราธิวาส ในช่วงเกิดเหตุเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ จังหวัดลพบุรี
  3. พ.ต.มนต์ชัย ยิ้มอยู่  ในช่วงเหตุการณ์ยศ ร้อยเอก เป็นผู้บังคับกองร้อยในพื้นที่เกิดเหตุ นายทหารยุทธการและการศึก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เบิกความว่าได้เข้าร่วมประชุมกับ ศอฉ. แต่ไม่ได้ประชุมทุกรอซึ่งการประชุม ศอฉ. จะมีขึ้นทุกวันและมีหน้าที่นำเรื่องราวที่ประชุมเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ศอฉ. ถูกจัดตั้งโดยคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผู้ควบคุมดูแล

การชุมนุมของ นปช. เริ่มในวันที่ 12 มี.ค.53 ที่บริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและให้รัฐบาลในขณะนั้นลาออก หลังจากนั้น 3 เม.ย.53 ได้ขยายพื้นที่ไปปิดสี่แยกราชประสงค์ เมื่อที่ราชดำเนินมีคนน้อยจึงขอพื้นที่คืนวันที่ 10 เม.ย.53  ในวันที่ 7 เม.ย.53 มีกลุ่มผู้ชุมนุมนำโดย นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง บุกไปในรัฐสภาและยึดอาวุธปืนจากเจ้าหน้าที่รัฐสภา หลังเหตุการณ์ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้ประชุมหารือกันโดยมีนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ดูแล และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนำไปสู่การตั้ง ศอฉ.

นอกจากนายอริสมันต์บุกเข้ารัฐสภาแล้วยังมีการใช้กระสุน M79 ยิงไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ คิดโดยสรุปว่าเป็นการยิงจากกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีการเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 53 ที่มีการขอพื้นที่คืนบริเวณถนนราชดำเนินโดยทหารและตำรวจ ในช่วงเวลา 17.00 น. ไปแล้วเกิดการปะทะกันนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และมีทหารบาดเจ็บหลายนายและเสียชีวิต 5 นายในเหตุการณ์นั้น

พ.อ.สรรเสริญเบิกความต่ออีกว่าหลังการประชุมในตอนเช้ามีการสั่งการขอคืนพื้นที่ให้ปฏิบัติเสร็จภายในช่วงเวลา 17.00 น. ในขณะนั้นมีการรายงานจากทุกหน่วยว่าทัศนวิสัยไม่ดีเนื่องจากใกล้มืดแล้วจึงขอยุติการปฏิบัติการและศอฉ. ได้อนุมัติให้ถอนกำลังแต่ขณะนั้นทหารจากกองพันทหารราบที่ 2  ไม่สามารถถอนตัวออกจากสี่แยกคอกวัวได้เพราะมีผู้ชุมนุมขวางด้านหน้าและด้านหลัง   ต่อมาทหารหน่วยนั้นได้ถูกโจมตีด้วย M67  M79 และกระสุนปืนจากผู้ใช้อาวุธที่ฝั่งผู้ชุมนุม

เวลา 20.00 น. จากการที่ ศอฉ. ได้ประชุมกันอย่างต่อเนื่อง พ.อ.สรรเสริญนั่งใกล้กับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เขาเข้าใจว่าขณะนั้นนายกอร์ปศักดิ์ได้โทรศัพท์คุยกับ นพ.เหวง โตจิราการ เขาได้ยินนายกอร์ปศักดิ์พูดว่า “ให้ฝั่งโน้น(ผู้ชุมนุม นปช.) หยุดปฏิบัติการ เพราะทหารยุติแล้ว”

หลังเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. แล้ว ที่ราชประสงค์มีความรุนแรงเกิดขึ้นจึงนำไปสู่มาตรการปิดล้อม การตัดสาธารณูปโภค ตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อให้ยุติการชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 53     ซึ่งปรากฏว่าในเวลากลางวันกลุ่มผู้ชุมนุมมีปริมาณไม่มาก แต่เมื่อเย็นและค่ำปริมาณก็เพิ่มขึ้นอีก แสดงว่าให้เห็นว่าผู้ชุมนุมยังสามารถเข้าออกได้อยู่

วันที่ 19 พ.ค. 53 จึงตัดสินใจ “กระชับวงล้อม” เพื่อกดดันให้ยุติการชุมนุมไปเองและต้องการควบคุมพื้นที่สวนลุมพินีเนื่องจากมีกลุ่มใช้อาวุธสงครามอยู่และยิงออกมา เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และเขาอธิบายว่าการกดดันทำให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเองไม่ได้เป็นการสลายการชุมนุมเพราะไม่มีการส่งกำลังไปยังใจกลางพื้นที่ชุมนุมการกระชับวงล้อมเราใช้มาตรฐานสากล 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก

ในส่วนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ที่ราชปรารภนั้น เขาเบิกความว่าเขาได้ทราบเรื่องหลังเหตุการณ์ไปแล้ว ศอฉ. ไม่มีการแถลงข่าวเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ใช่เหตุการณ์ในภาพรวมและจำไม่ได้ว่ามีทหารหน่วยปฏิบัติการที่ไหนบ้าง เขายืนยันว่าการเป็นโฆษกไม่จำเป็นต้องรู้เรื่อง และเขาได้กล่าวถึงอาวุธของทหารไว้ว่า ทหารจะมีอุวธประจำกายทุกนาย แต่กระสุนจริงจะแจกเฉพาะผู้บังคับหมู่ที่มีดุลยพินิจและประสบการณ์

เขากล่าวต่ออีกว่าที่มีภาพเขตการใช้กระสุนจริงนั้นเขาได้รับรายงานจากผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ถึงเหตุผลในการติดป้ายว่า เหตุผลแรก พื้นที่นั้มีชายชุดดำในกลุ่มผู้ชุมนุมยิงมา เหตุผลที่สอง เป็นพื้นที่อันตรายไม่ให้คนเข้า และสุดท้ายเป็นปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่นั้น  เขายังบอกอีกว่ามีการจับกุมกลุ่มผู้ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งทาง ศอฉ. เรียกว่า “ชายชุดดำ” ได้หลังการชุมนุมแต่ไม่สามารถจับได้ระหว่างการชุมนุมเนื่องจากกลุ่มนี้จะแฝงตัวกับผู้ชุมนุม

เขาได้กล่าวถึงบทความในวารสารเสนาธิปัตย์ ฉบับที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2553[10] ว่า ผู้เขียนได้มีการเขียนแก้จากเดิมที่วิเคราะห์จากรายงานข่าวว่ารูปแบบการปฏิบัติการของทหารเป็นการใช้การรบ แต่หลังจากผู้เขียนได้คุยเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติการ จึงมีการเขียนบทความอีกชิ้นลงในวารสารเสนาธิปัตย์ ฉบับที่ 60 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2553[11] โดยแก้ว่าไม่ใช่ปฏิบัติการรบ

พ.อ.สรรเสริญ ได้เบิกความด้วยว่าก่อนหน้า 10 เม.ย.53 นั้นยังไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่หลังจากมีการบาดเจ็บล้มตาย ศอฉ. จึงมีการสรุปถึงสาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่เขาไม่ทราบข้อสรุปอย่างไรก็ตามมีการแถลงเกี่ยวกับเหตุการณืที่เกิดขึ้นในบางกรณี เช่น กรณีที่มีคนโบกธงแล้วโดนยิงหงายท้อง(นายวสันต์ ภู่ทอง)

ในส่วนของชายชุดดำในวันที่ 10 เม.ย. 53 จับกุมตัวได้และมีการดำเนินคดีอยู่ แต่เขาจำชื่อไม่ได้ ส่วนคนขว้างระเบิดและยิง M79 ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนทำแต่สามารถจับกุมได้กว่า 10 คน ในเหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่ทหารมีการใช้อาวุธและกระสุนจริง และเขาได้กล่าวถึงการประชุม ศอฉ.ในวันที่ 10 เม.ย. ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ

พ.อ.สรรเสริญเบิกความถึงการใช้อาวุธในพื้นที่ราชปรารภว่า  ในแต่ละวันมีการรายงานว่ามีคนเจ็บคนตาย แต่ไม่ทราบมากนัก การเสียชีวิตนั้นตนเองไม่ได้รับรายงาน เพราะคนเป็นโฆษกไม่ใช่คนรับรายงาน  ใน 7 ขั้นตอนของการควบคุมฝูงชนนั้นไม่มีการใช้กระสุนจริง แต่หากตรวจพบว่าบุคคลใช้อาวุธจริงทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชน เจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้กระสุนจริงได้ แต่ไม่มุ่งหมายเอาชีวิต  และหากนิยามว่าหนังสติ๊กไม่ใช่อาวุธสงคราม เมื่อมีคนถือหนังสติ๊ก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้อาวุธสงครามยิงได้  และมีการปฏิบัติภารกิจแบบ “สไนเปอร์” จริง แต่เป็นในลักษณะ “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” เพื่อคอยป้องกันประชาชนและทหาร ส่วนคำว่า “สไนเปอร์” เป็นคำศัพท์ทางการทหาร คือ “พลซุ่มยิงลอบสังหาร” ซึ่งต่างจาก “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ที่ใช้แม้จะสามารถยิงสกัดได้แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเอาชีวิตรวมถึงไม่จำเป็นต้องอยู่ที่สูงเสมอไป ขึ้นอยู่กับลักฦษณะภูมิประเทศ โดยจะใช้ M16 และทาโวร์แต่ไม่แน่ใจว่าใช้อาวุธปืนชนิดอื่นด้วยหรือไม่

พยานปากที่สองพ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์ เข้าไปตั้งด่านในพื้นที่ถนนราชปรารภในวันที่ 14 พ.ค.53 เพื่ออำนวยความสะดวกและตรวจอาวุธไม่ให้ผู้ชุมนุมนำอาวุธเข้าไปยังที่ชุมนุม  แต่ไม่มีการห้ามเข้าออก  โดยหน่วยที่รับผิดชอบมี 3 กองร้อย  กองร้อยละ 150 นาย เข้าไปขึ้นกับ ร.1รอ.  โดยหน่วยของเขามีอาวุธปืนลูกซอง ประมาณ 80-100 กระบอก ที่เหลือเป็นโล่และกระบอง ทาโวร์ 5 กระบอก แต่เบิกกระสุนซ้อมรบไป  แต่ในปืนลูกซองมีกระสุนจริงด้วย

ได้รับคำสั่งให้มาจากทางสามเหลี่ยมดินแดงโดยเดินเท้าเข้าไปตั้งด่านที่บริเวณปากซอยราชปรารภ 12 ถึง 14 โดยผ่านผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ขณะผ่านมานั้นทหารได้รับความบอบช้ำแต่ไม่มีความรุนแรง  จุดที่ไปวางกำลังอยู่ใกล้สถานีจำหน่ายน้ำมันเอสโซ่ วางกำลังอยู่ตามชายคาตึกหลบตามซอกตึกห่างจากสถานีจำหน่ายน้ำมันเชลล์ประมาณ 300 ม.

ในวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 16.00 น. หลังจากที่ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายตลอดทางที่เข้ามาและมีการเคลื่อนกำลังมาประชิดขณะที่หน่วยของพ.อ.กัณฐ์ชัยกำลังตั้งด่าน จึงได้ขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาเพื่อผลักดันผู้ชุมนุมออกไป โดยใช้ดละและกระบอง  ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นหลังจากนั้นมีการวางลวดหนามห่างจากจุดที่วางกำลัง 100 ม. ทั้งด้านซ้ายและขวา ในบริเวณที่พยานวางกำลังไม่มีการติดป้ายข้อความ “เขตพื้นที่กระสุนจริง” มีเหตุการณ์ทหารถูกปล้นปืนไปที่สามเหลี่ยมดินแดงโดยเขาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ภาคใต้ เวลา 17.00 น. ทหารจาก ร.1 ที่เข้ามาส่งอาหารทางสามเหลี่ยมดินแดงได้ถูกทำร้ายและปืนถูกปล้นไป 2 กระบอก และมีการเผารถยนต์ของทหารเหมือนเหตุการณ์ในภาคใต้ มีการแต่งกายคล้ายทหารมีการนำเสื้อทหารไปใส่ เช่นเดียวกับภาคใต้ที่ปลอมตัวเป็นทหาร รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมจะทำร้ายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าโดยไม่มีสติ  และเขายังเท้าความถึงการปล้นปืนในวันที่ 10 เม.ย. ที่สาพนปิ่นเกล้าซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้คืน

พ.อ.กัณฐ์ชัยได้เบิกความถึงคืนวันที่ 14 พ.ค. ต่อว่า หน่วยของเขาถูกโจมตีอย่างหนักโดยยิงมาจากทางสามเหลี่ยมดินแดงและตามซอยต่างๆ อาคารสูงเช่นอาคารชีวาทัยและโรงแรมเซ็นจูรี่  ด้วยอาวุธปืนเล็กยาว M79 และอาวุธระเบิดจากกองกำลังที่อยู่ในฝูงชน มีทหารบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่มีใครเสียชีวิต  วันที่ 16 พ.ค. ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดสามารถเก็บระเบิดที่กลุ่มผู้ชุมนุมวางไว้ได้ เขาได้ส่องกล้องไปบนตึกชีวาทัยพบว่ามีกองกำลังติดอาวุธอยู่บนตึกด้วย

เขาเบิกความย้อนกลับมาวันที่ 15 ว่ามีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธโจมตีหน่วยของเขา ซึ่งสายข่าวสามารถถ่ายภาพไว้ได้ หน่วยของเขาจึงมีการทำบังเกอรืโดยใช้กระสอบทราย มีตำรวจพร้อมอาวุธวางกำลังช่วยเหลือหน่วยของเขาในบริเวณใกล้เคียงด้วย เวลา 15.00 น. มีคนแจ้งว่ามีคนเจ็บที่บริเวณปั๊มเชลล์ จึงวิทยุไปยังผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อขอจัดกำลังเข้าไปช่วยเหลือ โดยเขามอบให้ ร.อ.มลชัย ยิ้มอยู่ จัดกำลังเข้าไปช่วย หลังจากนั้นได้นำผู้บาดเจ็บเป็นชาย 2 คน ซึ่งขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่ทราบชื่อในภายหลังว่าคือนายชาญณรงค์  ระหว่างที่เข้าไปช่วยนั้นมีเสียงปืนยิงมาจากทางสามเหลี่ยมดินแดง และมีทหารได้รับบาดเจ็บ คือ ส.อ.สรายุทธิ์ ศรีวะโสภา ถูกยิงแต่บาดเจ็บไม่มาก

พ.อ.กัณฐ์ชัยเบิกความอีกว่าอาวุธปืนทาโวร์ของหน่วยมีมากกว่า 100 กระบอก แต่ในการปฏิบัติการมีการเบิกจ่ายเพียง 5 กระบอกและไม่มีการเบิกจ่ายกระสุน  เพราะได้รับภารกิจเพียงแค่ตั้งด่านจึงเอาปืนมาเพียงแค่ขู่ก็เพียงพอแล้ว และตั้งแต่ 14-19 พ.ค. ไม่มีการเบิกจ่ายกระสุนจริง  แม้จะถูกโจมตีก็ไม่มีการตอบโต้

เขาอธิบายต่อว่าในระหว่างปฏิบัติการมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธยิงใส่หน่วยของเขา แต่ไม่มีการยิงใส่กลุ่มเหล่านั้นเลย แม้จะมีการร้องขอความช่วยเหลือไปยังผู้การ ร.1 รอ. แต่ถูกสั่งให้ช่วยเหลือตัวเองและให้เอากระสอบทรายทำเป็นบังเกอร์บังเอาไว้ รวมทั้งให้ใช้เพียงปืนลูกซองยิงขู่ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา เพราะหน่วยของเขาเป็นหน่วยจากต่างจังหวัดจึงไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือให้ความสำคัญจากทหารในเมือง  การปฏิบัติจะได้รับคำสั่งจากผู้การ ร. 1 รอ. อีกทีแต่ผู้การจะได้รับคำสั่งจากไหนนั้นเขาไม่ทราบ   และในที่ตั้งด่านอยู่นั้นพยานจะขึ้นไปตรวจบนตึกสูงก็ถูกปฏิเสธจากประชาชนในบริเวณนั้นเพราะพวกเขาถูกขู่ว่าถ้าให้ทหารขึ้นตึกจะถูกเผา  ในวันที่ 14-19 นั้นนอกจากผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน ที่เขาเห็นแล้วไม่เห็นหรือได้รับรายงนว่ามีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในบริเวณนั้นอีก

เขาคิดว่าการวางยางไม่ได้เป็นภัยคุกคาม แต่มีเสียงปืนและระเบิดดังมาจากฝั่งผู้ชุมนุมเป็นระยะ ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 มีการนำยางมาวางบริเวณหน้าสถานีจำหน่ายน้ำมันเชลล์ แต่ไม่ได้เห็นตัวคนชัดเจนแต่เห็นเพียงยางที่กลิ้งมาซึ่งในตอนนั้นเขาไม่ได้มีการสั่งการอะไร  แต่ได้ยินเสียงปืนและระเบิดดังมาจากฝั่งผู้ชุมนุมเป็นระยะ ซึ่งจุดที่ผู้ชุมนุมวางแนวยางนั้นห่างจากจุดที่พยานอยู่ประมาณ 300 ม. และคิดว่าการวางยางดังกล่าวไม่ได้เป็นภัยคุกคามอะไรต่อกำลังพลและประชาชน   จากการตรวจการพบว่ามีการยิงมาจากที่สูงและแนวราบมายังทหารที่ตั้งด่านอยู่แต่ทหารภายใต้การบังคับบัญชาของพยานก็ไม่ได้มีการยิงตอบโต้

เขาเบิกความอีกว่าช่วงที่ตั้งด่านตรวจค้นมีการตรวจพบอาวุธ เช่น มีด ระเบิดปิงปอง ระเบิดทำมือ ธงแหลม ได้มีการส่งให้ตำรวจในท้องที่เพื่อดำเนินคดี แต่คนที่ผ่านไปมาไม่มีอาวุธก็จะไม่ขัดขวางหากจะไปชุมนุมที่ราชประสงค์ และเท่าที่สังเกตการณ์ไม่พบว่ามีกลุ่มติดอาวุธยิงใส่ประชาชน

พยานปากสุดท้าย พ.ต.มนต์ชัย ยิ้มอยู่ เบิกความว่าช่วงเกิดเหตุ ศอฉ. ได้อนุญาตให้ใช้ทั้งกระสุนจริงและกระสุนยางได้ แต่ปืนทาโวร์ที่ตัวเขาเองใช้นั้นเป็นเพียงกระสุนซ้อมรบ ส่วนหลักการใช้กระสุนจริงของ ศอฉ. คือ  แจ้งเตือน ยิงขึ้นฟ้า และ ยิงโดยไม่ประสงค์ชีวิต ยิงเพื่อป้องกันตนเอง   ซึ่งหน่วยของเขาได้มีการเบิกปืนทาโวร์มา 5 กระบอก โดยมีทหารระดับสัญญาบัตรถือ และไม่มีการเบิกกระสุนจริงมาใช้ มีเพียงกระสุนซ้อมรบ

พ.ต.มนต์ชัย เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 14 พ.ค. 53 ไว้ว่า ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายตลอดด้วย ไม้ เหล็กแหลม มีและอาวุธที่หนักขึ้น ระเบิดขวด ระเบิดปิงปอง ขวางใส่ จนทหารในหน่วยได้รับอันตรายบาดเจ็บแต่ไม่สาหัส หลายนายหัวแตก ฟกช้ำ และในตอนเย็น ที่สามเหลี่ยมดินแดง ผู้ชุมนุมได้ยึดอาวุธปืน M16 ไป 3 กระบอก และกระสุนจริงจากเจ้าหน้าที่ และเผาทำลายรถทหาร รวมทั้งนำเครื่องแต่งกายของทหารมาแต่งเพื่อทำให้เข้าใขผิดคิดว่าเป็นทหาร และในคืนวันนั้นหน่วยของเขาถูกโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธของ นปช. โดยใช้ปืนพก ปืนเล็กยาว M79 ระเบิดขว้าง ระเบิดเพลิง หนังสติ๊กและหัวน๊อต แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และไม่ได้ทำการตอบโต้เพราะไม่มีคำสั่ง

ในวันที่ 15 พ.ค.53 ตำรวจติดอาวุธ 1 กองร้อย เข้ามาช่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ ส่วนผุ้ชุมนุมมีการพยายามเข้ามากดดันหน่วยของ พ.ต.มนต์ชัย และมีกองกำลังติดอาวุธมาด้วย ซึ่งมีเสียงปืนเล็กดังมาจากหลายทิศทาง ทั้งจากที่สูงอย่างตึกชีวาทัยและโรงแรมเซนจูรี่ และจากแนวราบ  มีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากพอสมควรนำยางรถยนต์วางห่างจากจุดที่เขาอยู่ประมาณ 300 ม. ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นยิงจากตึกสูงบริเวณรอบข้าง  เขาหลบอยู่ที่กำบังไม่มีการตอบโต้เนื่องจากไม่มีคำสั่ง

พ.ต.มนต์ชัยเบิกความต่อว่า หลังจากนั้นเขาทราบจากผู้พัน(พ.อ.กัณฐ์ชัย) ว่ามีคนเจ็บอยุ่ทางด้านหน้าทางปั๊มเชลล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ นปช. เขาจึงเข้าไปกับทหารอีกประมาณ 8 นาย  เพื่อตรวจสอบโดยอาวุธที่นำไปด้วยส่วนใหญ่เป็นปืนลูกซอง มีเพียงตัวเขาที่ใช้ทาโวร์ รวมทั้งมีช่างภาพของทหารไปด้วยเพื่อถ่ายภาพการปฏิบัติงาน คือ ส.อ.สรายุทธ์ ศรีวะโสภา โดยเดินทางไปตามแนวถนนทางด้านซ้าย ขณะเดินทางไปนั้นได้ถูกโจมตีด้วยอาวุธปืนเล็ก แต่ไม่มีใครบาดเจ็บเนื่องจากหลบตามเสา เมื่อเขาไปถึงปั๊มเชลล์จึงพยายามค้นหาผู้บาดเจ็บ จนพบอยู่บริเวณด้านหลังปั๊มในสระน้ำเล็กๆ ต่อมาทราบชื่อว่าเป็นนายชาญณรงค์ โดยขณะที่พบไม่พบผู้อื่นอยู่ในบริเวณนั้น จึงช่วยขึ้นจากสระ และเรียกผลเปลนำร่างไปและมีรถพยาบาลมารับไป ขณะนั้นได้รับแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บอีกคน ทราบชื่อในภายหลังว่าคือนายไชยวัฒน์ พุ่มพวง ช่างภาพเนชั่น ที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ฝั่งตรงข้ามปั๊ม

ขณะเข้าไปที่ป็มเชลล์ ไม่มีการยิงใส่พวกเขาแล้ว เนื่องจากถ้ามีการยิงก็จะระเบิดขึ้น และยังพบผู้ชุมนุมคนหนึ่งยืนอยู่ในปั๊ม แต่เขาก็ไมได้สอบถามอะไร  แต่ขณะกลับไปจุดประจำการก็ถูกยิงไล่หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ส.อ.สรายุทธ์ ที่ตามไปถ่ายภาพถูกยิงขณะถ่ายภาพ

พ.ต.มนต์ชัยกล่าวถึงการใช้อาวุธของหน่วยในช่วงเกิดเหตุว่า แม้ว่าตามกฎการใช้กำลังในข้อ 58 จะระบุว่าเจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธตอบโต้เพื่อหยุดการคุกคามได้ แต่ว่าตั้งแต่ปฏิบัติการในพื้นที่และเวลาดังกล่าว ไม่เคยใช้อาวุธตอบโต้ แม้ว่ามีการตั้งคำถามว่าเป็นการปล่อยปละละเลยไม่ตอบโต้กลุ่มที่โจมตีอย่างนั้นจะสามารถคุ้มครองใครได้  แต่เหตุที่ไม่ตอบโต้เพราะตัวเขาเองไม่มีใจจะตอบโต้ และผู้บังคับบัญชาก็ไม่อนุญาต  หน่วยของเขาก็ไม่ได้รับความเสียหาย  และการที่ผู้ชุมนุมเอายางมาวางก็ไม่เป็นเหตุให้ต้องทำการตอบโต้หรือผลักดัน  และตอนนั้นก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่าไม่ให้เข้ามาประชิดเพราะไม่อยากให้เกิดการปะทะเหมือนช่วงเย็นของวันที่ 14 พ.ค.  และเขายืนยันด้วยว่าไม่มีทหารหน่วยใดเข้าไปผลักดันผู้ชุมนุมออกจากถนนราชปรารภ

พ.ต.มนต์ชัย ยังได้นำเอกสารที่แสดงถึงคดีการไต่สวนเพื่อพิจารณาว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเพื่อมอบให้กับศาล และอ้างว่าคดีในลักษณะเดียวกันนี้ควรเป็นอำนาจของศาลทหารในการไต่สวน  แต่ศาลได้ชี้แจงกับเขาว่าเนื่องจากมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วภายหลังคดีที่เป็นความในเอกสารที่เขานำมาอ้าง  ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของศาลในพื้นที่เกิดเหตุในการพิจารณาคดี

 

นัดสืบพยานวันที่ 24 ตุลาคม 2555 [12]

            พยาน

  1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  และอดีต ผอ.ศอฉ.
  2. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช. เกษตรและสหกรณ์ และเป็นแกนนำ นปช.

พยานปากแรก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความถึงแนวทางการสั่งการของ ศอฉ.  ว่า ขณะที่เขาเป็น ผอ.ศอฉ. ได้ออกคำสั่ง 1/2553 เพื่อเป้นแนวทางในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์สำหรับสลายการชุมนุมตามมาตรฐานสากล คือ โล่, กระบอง, กระสุนยางซึ่งใช้ปืนลูกซองยิง, แก๊สน้ำตา, รถฉีดน้ำ และเป็นการปฏิบัติตามหลักมาตรการสากล 7 ขั้นตอน จากเบาไปหาหนัก ภายใต้อำนาจและการดูแลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ระหว่างปฏิบัติการต่างๆ มีการประชุม ศอฉ. ทุกวันเช้า-เย็น แต่เขาไม่เคยมีคำสั่งอะไรเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่เคยให้เป็นแนวทางของ ศอฉ. ส่วนการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่มีทั้งกำลังตำรวจและทหาร ในหลายพื้นที่เพื่อสกัดคนไม่ให้เข้าไป รวมทั้ง ให้ตัดน้ำตัดไฟในพื้นที่ชุมนุม เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมมีความสะดวกสบายอีกด้วย ขณะที่การพกอาวุธปืนจะให้เฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่สามารถมีปืนพก ปืนเล็กยาวและกระสุนจริงได้เพื่อป้องกันตัวและประชาชน โดยไม่ทำให้มีผลถึงแก่ชีวิต

เขาเบิกความถึงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์เอาไว้ว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 ที่บริเวณราชปรารภ  ขณะเกิดเหตุเขายังไม่ทราบรายละเอียดของเหตุการณ์  เขาทราบในภายหลังจากดีเอสไอ รวบรวมข้อมูลการเสียชีวิต 13 ศพที่ดีเอสไอมีความเห้นไม่ตรงกับ สตช. ว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนของ สตช. ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการชันสูตรศพขึ้นมาเฉพาะระบุว่าไม่ทราบว่าการเสียชีวิตเกิดจากฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ ส่วนรายงานของ คอป. มีการระบุถึงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ไว้ แต่เขาไม่เห็นข้อความระบุว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่

พยานปากที่สองนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เบิกความถึงสาเหตุการชุมนุมของ นปช. และเล่าสถานการณ์แวดล้อมเอาไว้ว่า การชุมนุมของ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยการชุมนุมเริ่มในวันที่ 12 มี.ค. 53 ตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ แต่ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากกินพื้นที่ถึงบริเวณถนนราชดำเนินนอกและราชดำเนินกลาง   ในวันที่ 10 เม.ย. 53 ศอฉ. ได้นำกำลังทหรออกจากที่ตั้งพร้อมอาวุธปืน M16 ปืนยาว ดล่และกระบอง พร้อมรถถังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมโดยไม่ปฏิบัติตามหลักสากล  มีการโยนแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมจากบนเฮลิคอปเตอร์ มีการใช้พลแม่นปืนมีอาวุธปืนความเร็วสูงติดกล้องเล็งยิงผู้ชุมนุมเข้าที่ศีรษะและอวัยวะสำคัญ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้พลซุ่มยิงกับผู้ชุมนุมทางการเมือง ไม่เคยมีรัฐบาลใดเคยทำมาก่อน  หลังเหตุการณ์ได้ยุบเวทีปราศรัยที่สะพานผ่านฟ้าไปรวมที่เวทีราชประสงค์เวทีเดียว

เขาได้เบิกความถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมว่า ประมาณวันที่ 14 พ.ค. 53 เกิดความคึงเครียดเนื่องจาก ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่ ทหารตั้งด่านตรวจค้นรอบพื้นที่การชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าพื้นที่ชุมนุมได้ และมีเหตุการ์เจ้าหน้าที่ปะทะกับผู้ชุมนุมและมีการซุ่มยิงทำให้ประชาชนเสียชีวิตหลายราย  เขาทราบจากข่าวว่านายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 ซึ่งเหตุเกิดนอกพื้นที่ชุมนุมโดยบริเวณดังกล่าวนอกจากนายชาญณรงค์แล้วยังมีผู้อื่นถูกยิงเสียชีวิตอีกหลายราย

 

ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555[13]

การไต่สวนชันสูตรพลิกศพครั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายชาญณรงค์ พลศรีลา ตายที่โรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 14.00 น. เหตุและพฤติการณที่ตายคือ  ถูกทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในการดำเนินการตามมาตรการปิดล้อมและสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และผิวจราจรบริเวณถนนราชปรารภ ยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. หัวกระสุนปืนลูกโดดถูกที่บริเวณหน้าท้องและแขนขวาเป็นเหตุให้ลำไส้ฉีกขาดหลายตำแหน่ง

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายญาติผู้เสียชีวิต กล่าวถึงกระบวนการต่อจากนี้ว่า  ศาลจะส่งคำสั่งไปที่อัยการและอัยการจะส่งต่อให้พนักงานสอบสวนในท้องที่แล้วส่งต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งคดีเหล่านี้จะเป็นคดีพิเศษทั้งหมด ซึ่งพนักงานสอบสวนของกรมสวบสวนคดีพิเศษจะทำการสอบสวนเพิ่มเติม เพราะยังไม่ปรากฏชัดว่าใครบุคคลไหนเป็นผู้กระทำ ดังนั้นกระบวนการต่อไปก็จะเป็นการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด

อ่านคำสั่งศาลการไต่สวนการตายของชาญณรงค์ พลศรีลาฉบับเต็ม

 


[4] http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2010/05/16/nick-nostitz-in-the-killing-zone/

[5] “ช่างภาพเนชั่นเบิกความวิถีกระสุนยิงมาจากฝั่งทหาร,” กรุงเทพธุรกิจ, 25 มิ.ย. 55

[7] “เสธ.ไก่อู เลื่อนนัดศาลคดีเสื้อแดง,” Voice TV, 9 ก.ค. 55

[8] “ยันปืนสไนเปอร์ยิงฆ่าแท็กซี่แดง,” ข่าวสด, 17 ก.ค. 55

[10] ในการเบิกความของพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิดเกี่ยวกับบทความที่ลงในเสนาธิปัตย์ได้มีการอ้างชื่อบทความผิด ซึ่งบทความที่เขากล่าวถึงคือ “บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ ๑๔ – ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓” (หัวหน้าควง, “บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ ๑๔ – ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓,” วารสารเสนาธิปัตย์, ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2553)

แต่ในส่วนของชื่อผู้เขียนนั้นในตัวบทความไม่มีการระบุถึงชื่อจริงของผู้เขียนมีแต่เพียงนามปากกาว่า “หัวหน้าควง” แต่เมื่อเปรียบเทียบประวัติของคนเขียนเมื่อเทียบกับของ พ.อ.บุญรอด ศรีสมบัติที่เขียนบทความ “บทเรียนการปฏิบัติการข่าวสาร : กรณี ปปส.ในเมือง (มีนาคม – พฤษภาคม ๒๕๕๓)” (พ.อ.บุญรอด ศรีสมบัติ “บทเรียนการปฏิบัติการข่าวสาร : กรณี ปปส.ในเมือง (มีนาคม – พฤษภาคม ๒๕๕๓),” วารสารเสนาธิปัตย์, ปีที่ 60 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2554) นั้นพบว่าตรงกันทั้งหมด  จึงคาดว่าหัวหน้าควงและ พ.อ.บุญรอดนั้นเป็นคนเดียวกัน

[11] หัวหน้าควง, “ข้อเท็จจริง : บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ ๑๔ – ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓,” วารสารเสนาธิปัตย์, ปีที่ 60 ฉบับที่3 กันยายน – ธันวาคม พ.ศ. 2554, โดยบทความชิ้นนี้นอกจากจุดที่พ.อ.สรรเสริญกล่าวถึงแล้วยังมีการเขียนคำอธิบายแก้บทความเก่าของตัวเขาเองอีกหลายจุด

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายชาติชาย ชาเหลา

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : ช.6/2555  วันที่ฟ้อง : 14/03/2555

คดีหมายเลขแดงที่ : ช.4/2555 วันที่ออกแดง : 17/12/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4

ผู้เสียชีวิต : นายชาติชาย ชาเหลา

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

นัดไต่สวนพยานวันที่ 25 มิถุนายน 2555[1]

พยาน

  1. พ.ต.อ. สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผบก.น.6
  2. นางพลอย ขบวนฮาม มารดาของนายชาติชาย(ไม่พบรายงานข่าวที่มีการเบิกความของเธอ)

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เข้าเบิกความปากแรกสรุปว่า ตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ชุดที่ 3 โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 54 DSI ได้ส่งสำนวนมาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลสอบสวนต่อ เนื่องจากเชื่อว่าการเสียชีวิตของนายชาติชายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  จึงทำหนังสือยื่นต่อสำนักงานอัยการสูงสุดขอให้ส่งพนักงานอัยการร่วมสืบสวนคดีนี้ด้วย

โดยผลการสืบสวนสรุปว่า คดีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. -19 พ.ค. 53 โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เริ่มชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เพื่อขอให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยุบสภา แต่รัฐบาลไม่ยอมทำตาม กลุ่มผู้ชุมนุมจึงขยายการชุมนุมไปหลายพื้นที่ รวมถึงแยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก นายอภิสิทธิ์จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง แล้วออกคำสั่งตั้ง ศอฉ. โดยมีคำสั่งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ และให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อระงับสถานการณ์รุนแรง รวมทั้งได้ประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ห้ามเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม ห้ามเดินรถโดยสารบางพื้นที่ ห้ามให้บริการรถไฟฟ้าบางสถานี และตัดสาธารณูปโภค

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุวันที่ 13 พ.ค.53 ศูนย์ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมสถานการณ์ โดยกองกำลังทหารชุดดังกล่าวประมาณ 165 นายได้ตั้งด่านแข็งแรงที่บริเวณสะพานลอยหน้าอาคารอื้อจื่อเหลียง มีอาวุธปืนM16 M653 HK ปืนลูกซองกระสุนยาง กระสุนซ้อมรบ และกระสุนจริงประจำกาย ซึ่งนอกจากทหารแล้วผู้อื่นไม่สามารถเข้าไปในบริเวณนั้นได้ ขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากจากแยกถนนวิทยุมุ่งหน้าตรงเข้าหาด่านของทหาร มีการใช้พลุและตะไลยิงเข้าใส่ด่าน เจ้าหน้าที่ทหารจึงใช้ปืนยิงตอบโต้   เวลาประมาณ 22.50 น. ขณะที่นายชาติชายซึ่งมาร่วมชุมนุมและถือกล้องวีดีโอยืนถ่ายภาพเหตุการณ์อยู่หน้าบริษัทกฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด[2] ใกล้อาคารอื้อจื่อเหลียง ได้ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่หน้าผากด้านขวาทะลุศีรษะ 1 นัด แล้วเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาฯ

ภายหลังการเสียชีวิตพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน พร้อมด้วยแพทย์นิติเวช พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันชันสูตรพลิกศพปรากฏว่า นายชาติชายถูกกระสุนความเร็วสูงยิงเข้าที่ศีรษะทำลายอวัยวะสำคัญเป็นเหตุให้เสียชีวิต และจากการตรวจสอบพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุพบเศษชิ้นเนื้อ เส้นผม คราบเลือดของผู้ตาย และเศษหัวกระสุนตกอยู่ที่พื้นใกล้กับจุดที่นายชาติชายล้มลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนตรวจพิสูจน์พบเพียงแค่รอยแนววิถีกระสุนที่นายชาติชายถูกยิง และยืนยันว่าเป็นกระสุนความเร็วสูง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระสุนชนิดใด เนื่องจากเศษกระสุนเสียสภาพมาก อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมพยานเอกสารหลักฐาน ประจักษ์พยานแล้วไม่พบชายชุดดำปะปนกับผู้ร่วมชุมนุม จึงเชื่อว่านายชาติชายเสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ  ภายหลังศาลไต่สวนพยานปาก
นัดพร้อมวันที่ 23 กรกฎาคม 2555[3]

นัดพร้อมคู่ความคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา  ศาลได้กำหนดนัดวันไต่สวนพยานฝ่ายอัยการผู้ร้องในวันที่ 5, 9, 12 และ 19 ต.ค. และนัดไต่สวนพยานฝ่ายทนายความญาติผู้ตายวันที่ 30 ต.ค. เวลา 09.00 น.

นัดสืบพยานวันที่ 5 ตุลาคม 2555[4]

พยาน พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่า ได้รับแจ้งเรื่องกรณีนี้จากพนักงานสอบสวนเมื่อ ก.ย. 53 และได้เดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุในวันที่ 24 ก.ย. 53 ที่หน้า บริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถนนพระราม 4 ที่ประตูเหล็กม้วนพบรอยบุบอยู่สูงจากพื้น 1.74 เมตร 1 รอย ซึ่งคาดว่าเกิดจากเศษโลหะที่น่าจะเป็นเศษกระสุนปืนมากระแทกอย่างแรงและเร็ว รวมทั้งพบเส้นผมติดที่ขอบปูนด้านข้างประตู 1 เส้น สูงจากพื้น 1.90 เมตร และเหตุที่เส้นผมอยู่สูงกว่ารอยกระสุนนั้น เพราะเมื่อกระสุนกระทบกับศีรษะจะทำให้กระสุนและกระโหลกศีรษะแตกออกและกระเด็นออกไปทำให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าได้

เขาเบิกความอีกว่าหลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำข้อมูลภาพและวีดีโอคลิปขณะเกิดเหตุ รวมทั้งข้อมูลผลการชันสูตรศพให้  จึงได้มีการเข้าไปตรวจสถานที่เกิดเหตุอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 53 เพื่อจำลองเหตุการณ์หาทิศทางการยิง ผลการจำลองประกอบภาพและคลิปขณะเกิดเหตุเป็นภาพใกล้เคียงช่วงเวลาที่นายชาติชายหรือผู้ตายถูกยิง ขณะนั้นอยู่ริมถนนด้านหน้าที่รถเข็นและแผงเป็นที่กำบัง หันหน้าไปทางแยกศาลาแดง ซึ่งรอยบาดแผลกระสุนเข้าหน้าผากขวาทะลุศีรษะด้านหลังซ้าย กระสุนจึงมาจากทางฝังแยกศาลาแดง แนวกระสุนเป็นไปได้ทั้งระนาบตามแนวถนนและจากสะพานลอยข้ามถนนพระราม 4

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์  เบิกความด้วยว่าจากการดูบาดแผลเกิดจากกระสุนขนาด .223 ซึ่งใช้กับปืนเล็กกล เช่น M16 และ ทาโวร์ สำหรับภาพและคลิปนั้นเขาไม่ทราบว่าทางพนักงานสอบสวนได้มาจากไหน

นัดสืบพยานวันที่ 12 ตุลาคม 2555[5]

พยาน

  1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) (เลื่อน)
  2. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำนปช. (เลื่อน)
  3. พญ.เกษณี จงประสาธน์สุข อาจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พญ.เกษณี จงประสาธน์สุข เบิกความถึงการชันสูตรศพนายชาติชายว่า ได้รับศพเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 53 โดยสภาพของศพถูกยิงด้วยอาวุธปืนเข้าที่ศีรษะ มีแผลเปิดบริเวณท้ายทอยขนาด 5 ซ.ม. และขมับด้านขวา 0.5 ซ.ม. จากการตรวจพิสูจน์บาดแผลพบว่า เกิดจากลูกกระสุนปืนขนาด 5.56 ม.ม. แต่ไม่ทราบว่าใช้กับอาวุธปืนชนิดใด

ศาลได้แจ้งว่าการเบิกความของนายสุเทพและนายณัฐวุฒิ ที่ทนายญาติผู้ตายประสงค์จะนำเข้าเบิกความนั้น  ศาลตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าประเด็นที่จะเข้าเบิกความนั้น นายณัฐวุฒิและนายสุเทพเคยเข้าเบิกความปรากฏอยู่ในบันทึกคำให้การพยานของศาลอาญาแล้ว ศาลจึงให้นำคำให้การดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาคดี พร้อมกับให้พนักงานอัยการและทนายความญาติผู้ตาย แจ้งพยานทั้ง 2 ปากว่าหากประสงค์จะเบิกความในประเด็นโดยละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้โดยเฉพาะ ให้เตรียมข้อเท็จจริงมาเบิกความในนัดหน้า หากเป็นประเด็นซ้ำก็ให้อ้างคำให้การเดิม

นัดสืบพยานวันที่ 19 ตุลาคม 2555[6]

พยาน

  1. พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร โฆษก บช.น.
  2. นางศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนายผู้รับมอบจากญาติผู้ตาย
  3. พ.ต.ท.สุพจน์ ชายป่า พนักงานสอบสวน (สบ3) สน.พระราชวัง

พ.ต.อ.ปรีดา เบิกความโดยสรุปว่า มีหน้าที่เป็นผู้วางแผนการปฏิบัติของบช.น. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 53 มีการประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร บริเวณ กทม. ต่อมาวันที่ 10 มี.ค. 53 ได้รับคำสั่งให้จัดตั้งชุดรักษาความสงบในกทม. โดยตั้งด่านตรวจค้นตามจุดต่างๆ ที่จะเข้าสู่กทม. กระทั่งวันที่ 7 เม.ย. 53 รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงมีคำสั่งให้จัดกำลังตั้งด่านในวันที่ 10 พ.ค. 53 บริเวณสีลม ศาลาแดง ราชดำริ และบริเวณโดยรอบ จำนวน 11 กองร้อย รวมทั้งหมด 13 ด่าน ภายใต้การดูแลของ บก.น. 5 โดยลักษณะเป็นการยืนรักษาการณ์

พยานเบิกความต่อว่า วันที่ 13 พ.ค. 53 เพิ่มคำสั่งให้ตำรวจที่รักษาการณ์ตรวจค้นบุคคลที่ผ่านเข้าออกตามจุดต่างๆ ที่วางกำลังไว้ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามาเพิ่มเติ่ม และตรวจค้นอาวุธ หากพบอาวุธก็จะจับกุม ขณะปฏิบัติหน้าที่ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่พกอาวุธปืนสั้นเท่านั้น การวางกำลังระหว่างตำรวจกับทหารนั้น เป็นไปตามคำสั่งของศอฉ. โดยทหารจะอยู่บริเวณด้านใน ส่วนตำรวจจะล้อมอยู่ด้านนอก จากการตรวจค้นพบว่ามีผู้พกพาอาวุธเข้ามา

ทนายซักถามว่ามีการรายงานว่าพบชายชุดดำหรือไม่ เขาบอกว่าไม่ทราบ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการวางกำลังเท่านั้น และการปฏิบัติการในเดือน พ.ค. 53 เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนทหารเท่านั้น ส่วนทหารจะมีอาวุธหรือไม่ พยานไม่ทราบ

นางศิริพร เมืองศรีนุ่น เบิกความว่า เป็นผู้รับมอบจากญาติผู้ตายให้เป็นผู้ร้องทุกข์ และติดตามความคืบหน้าของคดี โดยจะมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ศาลประกอบการพิจารณาคดี ประกอบด้วย คำสั่งศาลแพ่งและศาลปกครอง เรื่องการสลายการชุมนุมที่ศาลมีความเห็นว่าสามารถกระทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักสากล เอกสารกฎการใช้กำลังตามที่สหประชาชาติกำหนด บัญชีการเบิกกระสุนและอาวุธปืน เอกสารรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และภาพถ่ายป้าย เขตพื้นที่ใช้กระสุนจริง

พ.ต.ท.สุพจน์ ชายป่า  เบิกความว่า ได้รับแต่งตั้งจาก บช.น. ให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดี โดยได้รับสำนวนการสอบสวนมาจาก DSI ที่มีความเห็นว่าสาเหตุการตายน่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ทหาร ที่อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งเขาเป็นผู้สอบสวนนายอภิสิทธิ์เกี่ยวกับการตั้งศอฉ. และคำสั่งแต่งตั้งต่างๆ พร้อมกับสอบสวนพยานทุกปากที่ปรากฏอยู่ในสำนวนสอบสวนที่มอบให้แก่ศาล จากการสอบสวนทราบว่า ขณะนั้นผู้ตายกำลังถือกล้องวิดีโอบันทึกภาพ และเดินถือไฟฉายเลเซอร์ไปด้วย โดยผู้ตายไม่มีอาวุธแต่อย่างใด สำหรับอาวุธปืนที่ทหารใช้มีM16 และ HK 33 จากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด จึงมีความเห็นสรุปว่าการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร

นัดสืบพยานวันที่ 30 ตุลาคม 2555[7]

พยาน

  1. พ.ท.กิตติพงศ์ เนื่องชมพู ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 8 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา
  2. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ.

พ.ท.กิตติพงศ์ เนื่องชมพู เบิกความว่า ช่วงที่มีการชุมนุมในวันที่ 9 เม.ย. 2553 ได้รับคำสั่งให้มาประจำอยู่ที่กรมทหารราบที่ 11 ก่อนจะมีคำสั่งเพิ่มกำลังมาช่วยอำนวยความสะดวกในช่วงกลางวัน และรักษาความปลอดภัยช่วงกลางคืน โดยตั้งด่านแข็งแรงบริเวณสะพานลอย ถนนพระราม 4 ห่างจาก ศาลาแดง ซอย 1 ประมาณ 30 เมตร

พ.ท.กิตติพงศ์ เบิกความถึงเหตุการณ์ว่า วันที่ 13 พ.ค. 2553 ตนนำกำลังตั้งด่านตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. รวม 24 ช.ม. โดยอาวุธประจำกายของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในตอนนั้น ประกอบด้วย ปืนลูกซอง ปืนพก ปืนM16 และปืน HK  แต่ไม่มีการจ่ายกระสุนจริง โดยช่วงเช้าเหตุการณ์บริเวณ ถนนพระราม 4 ปกติเรียบร้อยดี และช่วงกลางคืนวันที่ 13 เหตุการณ์ก็ไม่ได้มีอะไรรุนแรง นอกจากช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ทหารเริ่มได้รับการก่อกวนจากผู้ชุมนุม โดยมีรถซาเล้งขับมายังรั้วลวดหนามของเจ้าหน้าที่ และพยายามรื้อออก ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มตั้งด่านบริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยม เขาจึงสั่งการให้ทหารตะโกนไล่ออกไป แต่ผู้ชุมนุมก็ยังไม่ไปจึงสั่งการให้ทหารนายหนึ่งยิงปืนลูกซองขึ้น 2 ชุด เพื่อให้รู้ว่าบริเวณดังกล่าวมีทหารอยู่ไม่ให้ก่อกวน  เป็นเพียงการยิงกระสุนยางเท่านั้น  ซึ่งผู้ชุมนุมได้ล่าถอยไป แต่ไม่นานก็เริ่มก่อกวนด้วยเสียงตะไล บั้งไฟ คล้ายเสียงปืน แต่ทหารรู้ว่าไม่ใช่ปืนแน่นอนจึงถอยกลับเข้าจุด จากนั้นประมาณ 23.00 น. ผู้ชุมนุมจึงหยุดการก่อกวนและถอยออกไป

พ.ท.กิตติพงศ์ เบิกความอีกว่า การปฏิบัติหน้าที่ในคราวนี้เป็นการปฏิบัติตามหลักอย่างเคร่งครัด 7 ขั้นตอน ซึ่งตนปฏิบัติเพียงการแสดงกำลังเพื่อให้รู้ว่าทหารมีจำนวนมาก พร้อมกับยืนยันว่าในขอบเขตความรับผิดชอบของตนไม่มีการใช้กระสุนจริงเด็ดขาดเป็นกระสุนยางทั้งหมด แม้ว่าจะมีอาวุธประจำกายตลอดเวลา แต่กระสุนไม่ได้ประจำกายตลอดเวลาด้วย เพราะขึ้นอยู่กับคำสั่งของผู้บังคับกองพัน และในวันเกิดเหตุตนไม่ทราบว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิต มาทราบเมื่อเวลาผ่านไป 4 เดือนแล้ว เนื่องจากพล.ม.2 เรียกประชุม และแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ความรับผิดชอบของตน ซึ่งตนไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะในคืนที่เกิดเหตุบริเวณ ถ.พระราม 4 ที่ตนดูแลอยู่ไม่มีเหตุรุนแรง มีเพียงการยิงขู่แสดงสัญลักษณ์ให้ผู้ชุมนุมรู้ว่ามีทหาร และไม่ได้ใช้กระสุนจริง

พยานปากที่ 2 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความว่า การชุมนุมของกลุ่มนปช.ในปี 2553 เพื่อขับไล่รัฐบาลให้นายอภิสิทธิ์ลาออกหรือยุบสภา  เป็นการชุมนุมที่แตกต่างจากการชุมนุมปี 2552 เพราะมีการก่อการร้ายคู่ขนานกับการชุมนุมด้วย ได้แก่ การใช้อาวุธปืนยิงตามธนาคาร ที่ทำการของรัฐ ใช้ RPG ยิงที่เก็บน้ำมันเครื่องบิน ใช้ระเบิด อาวุธสงครามปืนM16 เข่นฆ่าทหาร และประชาชน

กระทั่งวันที่ 7 ต.ค. 53 นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และนายยศวริศ ชูกล่อม แกนนำนปช. นำผู้ชุมนุมบุกเข้ารัฐสภา ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และแย่งอาวุธปืน ก่อนบุกเข้ามาที่ห้องอาหารรัฐสภาเพื่อจับตน จากเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการที่คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้งศอฉ.ในค่ำวันเดียวกัน เพราะเห็นว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ตนเป็นผอ.ศอฉ. รับผิดชอบดูแล กำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่  ดังนั้นคำสั่งทั้งหมดตั้งแต่ คำสั่งที่ 1/2553 เขาจึงเป็นผู้ที่เซ็นคำสั่งทั้งหมด โดยยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก มีโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ และปืนลูกซองที่ใช้กระสุนยาง เป็นเครื่องมือในการควบคุมฝูงชน ซึ่งใช้กำลังทหารกว่า 2 หมื่นคน  ในการออกคำสั่งจะมีบันทึกข้อความที่ตนเซ็นสั่งการ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติจะมีคำสั่งต่อทางวิทยุหากไม่ได้รับคำสั่งจากศอฉ.จะไม่สามารถปฏิบัติการใดๆ ได้

นายสุเทพเบิกความต่อว่า แต่หลังจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 คนร้ายที่ปะปนมากับกลุ่มผู้ชุมนุมยิงเจ้าหน้าที่ และประชาชนเสียชีวิต ศอฉ.จึงมีนโยบายให้ทุกหน่วยป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะในระยะประชิด และไม่ให้เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม จึงมีคำสั่งตั้งด่านแข็งแรงด้วยวัตถุประสงค์ไม่ต้องการให้เข้าถึงตัวเจ้าหน้าที่ และทำป้ายห้ามผ่านเด็ดขาด แต่ตนได้รับรายงานภายหลังว่าบางจุดเจ้าหน้าที่กลับเขียนป้ายว่าเขตใช้กระสุนจริง ซึ่งตนเข้าใจว่าเพื่อขู่เตือนประชาชนไม่ให้บุกฝ่าเข้ามายังเขตห้ามผ่านเด็ดขาด โดยอนุญาตให้ใช้ปืนพก และปืนM16 ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ปืนเอ็ม 79 เด็ดขาด ขณะที่กระสุนก็มีทั้งกระสุนจริง และกระสุนซ้อม ซึ่งตนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ได้เบิกกระสุนแล้ว ซึ่งสาเหตุที่อนุญาตให้ใช้ปืนกล เนื่องจากให้เจ้าหน้าที่ได้คุ้มครองตัวเอง และประชาชน หลังเกิดเหตุการณ์ 10 เม.ย. 53 ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล โดยอัยการสูงสุดทำบันทึกรายงานเสนอต่อ ศอฉ.ว่าหากมีการก่อการร้ายรัฐบาลก็มีสิทธิมีอำนาจใช้อาวุธเพื่อป้องกันเหตุร้าย

นอกจากนี้ คำสั่งศอฉ.ยังสั่งเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังในพื้นที่สูงข่มเพื่อป้องกันการโจมตีในระยะไกล หรือกระสุนวิถีโค้ง โดยส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่สูงข่มที่อยู่ใกล้กับจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งด่าน ซึ่งไม่ใช่การซุ่มยิง ส่วนการเสียชีวิตของนายชาติชาย ตนได้รับทราบภายหลัง และไม่รู้ว่าขณะที่นายชาติชายถูกยิงอยู่ในลักษณะใด และใครเป็นผู้กระทำ

นัดสืบพยานวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555[8]

พยาน  นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำนปช.

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อเบิกความสรุปว่า การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนปช. เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น ยุบสภา โดยตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และที่ราชประสงค์ ชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. 53 รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเข้าสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ในวันที่ 10 เม.ย. 53 ขณะนั้นพยานยังอยู่ที่เวทีราชประสงค์

พยานเบิกความต่อว่า จากนั้นวันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับรายงานว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการเข้ามาชุมนุม ปะทะกับทหารบริเวณอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต ต่อมาวันที่ 13 พ.ค. 53 เกิดเหตุลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม จึงไม่มีใครสามารถเข้าหรือออกได้ รวมถึงตัดน้ำ ตัดไฟ ในบริเวณพื้นที่ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมที่ต้องการออกจากการชุมนุม ไม่สามารถออกไปได้ และผู้ที่เป็นห่วงผู้ชุมนุมต้องการเข้ามาดู ก็ไม่สามารถเข้ามาได้ ทำให้เกิดการปะทะกันบริเวณโดยรอบพื้นที่ชุมนุมเป็นระยะ

นายณัฐวุฒิเบิกความอีกว่า ต่อมาในช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 พ.ค. 53 ได้รับรายงานว่ารัฐบาลได้ส่งกำลังทหารกว่า 10,000 นาย เคลื่อนเข้ามาที่เวทีราชประสงค์ พร้อมอาวุธครบมือ พยานและบรรดาแกนนำจึงประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 13.00 น.  เขายืนยันว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎสากล เนื่องจากใช้กระสุนจริง และพลซุ่มยิงตามตึกสูง สำหรับการตายของนายชาติชายนั้น พยานทราบข่าวภายหลังผ่านสื่อมวลชนว่านายชาติชายถูกยิงจากระยะไกลเข้าที่บริเวณศีรษะ

จากนั้นศาลถามพยานว่าในการชุมนุมมีการยิงพลุ และตะไลใส่ทหารหรือไม่ พยานเบิกความว่า มีการยิงจริง แต่รัศมีของพลุและตะไลไม่สามารถไปถึงฝั่งทหารได้
ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 17 ธันวาคม 2555[9]

ศาลได้พิเคราะห์เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย เห็นว่าผู้ร้องมีเจ้าหน้าที่กู้ชีพของวชิรพยาบาล ประจักษ์พยานยืนยันว่าเห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน อีกทั้งจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้บริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และ อาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระราม 4 ซึ่งบริเวณนั้นมีเพียงเจ้าพนักงานตั้งด่านตรวจแข็งแรง และเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกาย ได้แก่ M16 , M 653 , HK33 , ปืนลูกซอง และปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ.และด้านหลังแนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานเป็นบังเกอร์ ซึ่งบุคลภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ยกเว้รถพยาบาลเท่านั้น

เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามีบุคคลฝ่ายที่ 3 เข้ามาก่อเหตุใดๆ อีกทั้งกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 ม.ม.) ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืน ขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืน M16 , M 653 , HK33 , ที่เจ้าพนักงานใช้ประจำการณ์ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในที่เกิดเหตุ จึงเชื่อได้ว่า กระสุนดังกล่าวถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจแข็งแรง โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ
มีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายชาติชาย  ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เวลา 23.37 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาด ร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิธีกระสุนปืนมากจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บริเวณถนนพระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของชาติชาย ชาเหลาฉบับเต็ม

เชิงอรรถ

[1] “เบิกความคดีไต่สวนชันสูตรศพคนเสื้อแดง,” เดลินิวส์, 25 มิ.ย. 55
[2] ในรายงานข่าวชื่อร้านผิดซึ่งชื่อร้านซึ่งอาจจะเป็นได้ว่า
[3] “ไต่สวนช่างภาพอิตาลี-เสื้อแดงตาย พยานยันเป็นฝีมือทหาร,” เดลินิวส์, 23 ก.ค. 55
[4] “จนท.ตรวจที่เกิดเหตุ เบิกความไต่สวนการตาย “ชาติชาย ชาเหลา” เหยื่อกระสุน พ.ค.53,” ประชาไท, 7 ต.ค. 55
[5] “ ‘ธิดา’ เบรกแดงไม่สนงานปชป,” ข่าวสด, 13 ต.ค. 55
[6] “นปช.ให้ด้วย1ล้านแจ้งข้อมูลชุดดำพยานย้ำ!คดีฮิโรยูกิชี้จนท.ยิง,” ข่าวสด, 20 ต.ค. 55
[7] “ไต่สวนศพสวนลุม,” ข่าวสด, 30 ต.ค. 55
[8] “นัดชี้อีกคดี ผลไต่สวน”ศพแดง”,” ข่าวสด, 15 พ.ย. 55
[9] “ศาลสั่งคดีที่ 3 ไต่สวนการตายเสื้อแดง ตายด้วยกระสุนจากกลุ่มทหาร,” ประชาไท, 17 ธ.ค.55

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : อช.3/2555  วันที่ฟ้อง : 22/02/2555

คดีหมายเลขแดงที่ : อช.12/2555 วันที่ออกแดง : 20/12/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด

ผู้เสียชีวิต : เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

 

นัดไต่สวนคำร้องวันที่ 28 พฤษภาคม 2555[2]

ในวันนี้มีการนัดสืบพยานและอัยการได้ยื่นบัญชีพยานโดยมีทั้งหมด 50 ปาก  และในคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพมีการระบุถึงการตายของคุณากรเอาไว้ว่า ระหว่างที่ทหารปิดถนนราชปรารภและมีการติดป้ายเขตกระสุนจริง ในวันที่ 15 พ.ค.เวลา 00.01 น. นายสมร ไหมทอง ได้ขับรถตู้เข้ามาในเขตดังกล่าวเพื่อกลับบ้านพัก ผ่านถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกมักกะสัน เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศโทรโข่งให้หยุดรถ นายสมรยังขับต่อไป จึงระดมยิงใส่รถตู้จนนายสมร ได้รับบาดเจ็บที่ท้อง ขณะที่ลูกกระสุนยังไปถูก ด.ช.คุณากร ที่ออกมาเดินบริเวณโรงภาพยนตร์โอเอซึ่งอยู่ติดกับแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสันอันเป็นที่ตั้งของหน่วยทหาร  เป็นเหตุให้ ด.ช.คุณากรเสียชีวิต ขอให้ศาลได้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ใด เมื่อใดและทราบถึงสาเหตุ พฤติการณ์การตาย  และขอให้องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบียตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง  ซึ่งเป็นผู้อุปการะด.ช.คุณากรเนื่องจาก ด.ช. คุณากรเป็นเด็กกำพร้า บิดาเสียชีวิตและมารดาหายสาบสูญ

 

นัดสืบพยานวันที่  20 กรกฎาคม 2555[3]

                พยาน[4]

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  อดีตโฆษกศอฉ.
  2. พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล ผู้บังคับกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.)
  3. ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล[5] ผู้บังคับกองร้อยอยู่ในสังกัดของพ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล  (ป.พัน.31 รอ.)

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความว่า จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงแรกเป็นการชุมนุมตามกฎหมาย แต่ระยะหลังทวีความรุนแรงขึ้นและกระทำผิดกฎหมาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพิจารณาเห็นว่าการกระทำทวีความรุนแรงขึ้น จึงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีคำสั่งตั้ง ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ เป็น ผอ.ศอฉ.

เขาเบิกความต่อว่า กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งจุดตรวจค้นโดยพลการอย่างผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ศอฉ.จึงมีคำสั่งให้ทหารจากพล. 1 รอ. เข้าปิดกั้นการจราจรบริเวณราชประสงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้านและกันไม่ให้คนไปชุมนุมเพิ่ม  ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกมักกะสัน ย่านราชปรารภ วางกำลังเฉพาะบริเวณถนนใหญ่เท่านั้นจะไม่นำกำลังทหารเข้าไปประจำการบริเวณ ตรอกซอยเล็กๆ และเขาไม่ทราบว่าพล. 1 รอ. ใช้เจ้าหน้าที่จากหน่วยใดบ้าง และศอฉ.มีคำสั่งห้ามใช้เส้นทางหรือนำยานพาหนะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว มีวิธีการเป็นไปตามกฎการใช้กำลัง ในขั้นต้นให้แจ้งเตือนหากมีผู้ฝ่าฝืน โดยใช้โทรโข่ง หรือส่งอาณัติสัญญาณห้ามเข้า

พ.อ.สรรเสริญเบิกความว่า ระหว่างวันที่ 13-18 พ.ค. 2553 เป็นแค่การปิดกั้นพื้นที่เท่านั้น ศอฉ.มีมติกำชับลงไปแล้วว่า ห้ามใช้อาวุธกับประชาชน แต่ไม่ได้ติดตามว่าทำตามหรือไม่ เนื่องจากเขาอยู่ส่วนกลางจึงไม่ทราบรายละเอียดเรื่องที่มีผู้เสียชีวิต รวมถึงกรณี ด.ช.คุณากร ด้วย ส่วนมาตรการกระชับพื้นที่กดดันกลุ่มผู้ชุมนุม เพิ่งมีคำสั่งในวันที่ 19 พ.ค. 2553 หลังจากนั้นคณะกรรมการของกองทัพบก ประชุมและสรุปการชี้แจง แต่พยานไม่ทราบว่ามีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องในส่วนนั้น

ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูลเบิกความว่า วันที่ 14 พ.ค. 2553 ได้รับคำสั่งให้มารักษาพื้นที่บริเวณแยกมักกะสันถึงแยกประตูน้ำ เขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.วรการ ดูแลกำลังพล 150 นาย พร้อมอาวุธM 16 จำนวน 20 กระบอก ปืนลูกซอง 30 กระบอก มีทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ส่วนที่เหลือถือโล่และกระบอง โดยจัดกำลังพลที่ราชปรารภ 2 จุด และมักกะสัน 2 จุด มีเจ้าหน้าที่ประจำจุด 5-6 นาย ส่วนที่เหลือจะอยู่บริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สับเปลี่ยนเวร เวรละ 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วไป พร้อมตรวจค้นการพกพาวุธ โดยในวันที่ 14 พ.ค.2553 ตรวจไม่พบผู้พกพาอาวุธแต่อย่างใด

เขาบิกความต่อว่า ช่วงกลางดึกได้รับแจ้งทางวิทยุว่า มีรถตู้สีขาวจะเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ถ้ามีรถลักษณะนี้เข้ามาให้ประกาศเตือนเพื่อไม่ให้เข้าพื้นที่ ต่อมาเวลา 00.30 น. มีรถตู้สีขาวออกมาจากซอยราชปรารภ 8 แล้วจอด ขณะนั้นตัวเขาอยู่ที่หน้าร้านอาหารอินเดียฟู้ด ห่างไปประมาณ 50-60 เมตร เขาจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ใช้รถประชาสัมพันธ์ของหน่วยประกาศบอกรถตู้ให้กลับไปทางเดิม หรือไปทางประตูน้ำนานกว่า 10 นาที แต่รถตู้ไม่ยอมออก และวิ่งพุ่งเข้ามาที่ใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ก่อนได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดจากหลายทิศทาง แต่เขาไม่เห็นคนยิงว่าเป็นใครและไม่ทราบว่ามีหน่วยอื่นหรือไม่ เพราะจุดเกิดเหตุไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ

เขาเบิกความอีกว่าไม่ได้ทำการตรวจค้นรถตู้แต่อย่างใด เพราะเกรงว่าจะมีอาวุธ และเป็นรถต้องสงสัยที่ได้รับแจ้ง หลังจากรถตู้ถูกยิงถึงทราบว่ามีเด็กได้รับบาดเจ็บและได้รับแจ้งจากทหารพยาบาลประจำหน่วยว่ามีคนบาดเจ็บในรถตู้ด้วย แต่ทางผู้บัญชาการก็ไม่ได้เรียกไปประชุมในเรื่องนี้ และไม่ได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ

พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูลเบิกความว่า ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 14 พ.ค. 53 เข้าประจำจุดในเวลา 16.00 น. ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงราชปรารภ และแยกมักกะสัน โดยแบ่งกำลังพลเป็น 3 หน่วย มีหน่วยราชปรารภ  แยกมักกะสัน ส่วนกำลังที่เหลืออยู่ใต้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์

ในเวลา 17.00 น. มีผู้ยิงปืนเล็กยาวเข้ามา ต่อมาเวลา 19.00-04.00 น. มีการยิงเอ็ม 79 เข้ามาเป็นสิบนัด แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง จากนั้นในเวลา 00.30 น. ได้รับรายงานทางวิทยุว่า มีรถตู้ฝ่าฝืนเข้ามา และได้ยินเสียงปืนแต่ไม่ทราบว่ามาจากทางใด ภายหลังทราบว่ามีผู้บาดเจ็บ จึงให้หน่วยทหารเฉพาะกิจประสานไปยังมูลนิธิให้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล  หลังเกิดเหตุประมาณ 15 นาที ได้รับแจ้งทางวิทยุว่ามีเด็กถูกยิงบาดเจ็บ แต่เขาไม่ได้เข้าไปดู เพราะไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ จนรุ่งเช้าเวลา 09.00 น. จึงเข้าไปดูและพบว่ารถตู้มีรอยกระสุนรอบคัน ก่อนมีคนบอกว่าคนขับเป็นผู้ชุมนุม เพราะตรวจค้นภายในรถพบมีด ผ้าพันคอ และเสื้อสีแดง แต่เห็นเพียงในรูปภาพเท่านั้น ส่วนตอนเกิดเหตุกำลังสะลึมสะลือ เพราะก่อนหน้านั้นปฏิบัติงานหนักมาก จึงนอนหลับพักผ่อนตรงจุดที่ประจำอยู่ มารู้สึกตัวอีกทีตอนได้ยินเสียงปืนดังขึ้น  ส่วนในการประชุมไม่มีการแจ้งเรื่องนี้

 

นัดสืบพยานวันที่ 29 ตุลาคม 2555[6]

            พยาน

  1. นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ
  2. นายสมเจตร์ ศาลาวงศ์ อาสาสมัครหน่วยแพทย์วชิรพยาบาล
  3. พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เบิกความโดยสรุปว่า ด.ช.คุณากร เป็นเด็กกำพร้าในความสงเคราะห์ขององค์กร ศึกษาอยู่ชั้นป.4 โรงเรียนวิจิตรวิทยา เป็นคนสมาธิสั้น ชอบเล่น และจะชอบหลบหนีออกจากสถานสงเคราะห์ไปเที่ยวเล่นบ่อยครั้ง โดยวันเกิดเหตุมีคนมาแจ้งให้ทราบว่า พบ ด.ช.คุณากรไปเที่ยวเล่นแถวพื้นที่การชุมนุม ทั้งที่ไม่ได้รู้เรื่องการเมืองเลย คิดว่าคงอยากรู้อยากเห็นตามปกติของเด็ก และหลังจากเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน คือเดือนมิถุนายน มีคนโทรศัพท์มาแจ้งว่า ด.ช.คุณากร ถูกยิงเสียชีวิต ศพถูกส่งไปยังสุสานศพไร้ญาติ จังหวัดชลบุรี จึงเดินทางไปรับศพมาประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม

นายสมเจตร์ ศาลาวงศ์ เบิกความว่า ช่วงเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มนปช. ตนและเพื่อนอาสาสมัครตระเวนช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่แถวบ่อนไก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และราชปรารภ โดยวันที่ 15 พ.ค. 53 จอดรถกู้ชีพอยู่บริเวณลานจอดรถของอาบอบนวดเจ-วัน ถนนศรีอยุธยา ติดกับ โรงพยาบาลพญาไท 1 ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืน และระเบิดดังมาจากประตูน้ำเป็นระยะๆ กระทั่งได้รับแจ้งจากวิทยุสื่อสารว่ามีคนเจ็บบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ขณะนั้นอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุเพียง 200-300 เมตร เมื่อได้รับแจ้งก็เตรียมพร้อม แต่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ทันที เพราะมีรั้วลวดหนามของทหารกั้นอยู่บริเวณแยกจตุรทิศ

นายสมเจตร์เบิกความต่อว่า ผ่านไป 30 นาที ทหารที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเห็นว่ามีรถพยาบาล จึงวิทยุไปบอกทหารที่อยู่ในพื้นที่ที่มีคนเจ็บ ว่าจะนำรถพยาบาลของตนเข้าไป จึงขับรถตามทหารที่ขี่รถจักรยานยนต์นำทางเข้าไป  ในระหว่างทางจะเห็นทหารถืออาวุธอยู่ 2 ข้างทาง แต่ไม่พบว่ามีชายชุดดำอยู่ในจุดดังกล่าว  เมื่อไปถึงข้างบันไดเลื่อนของแอร์พอร์ตลิงก์มีพยาบาลทหาร 5-6 นาย ไม่ได้ถืออาวุธ และพบ ด.ช.คุณากรอยู่ในเปลพยาบาลทหารข้างรถทหาร ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นขณะนั้นยังไม่เสียชีวิต แต่สภาพที่เห็นคือมีไส้ทะลักออกมาเพราะถูกยิง แต่ไม่ทราบว่าใครยิง จึงรีบนำตัวส่ง โรงพยาบาลพญาไท แต่เสียชีวิตระหว่างนำส่ง

พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม เบิกความว่า เป็นผู้ชันสูตรศพด.ช.คุณากร โดยเวลา 03.30 น. วันที่ 15 พ.ค. 53 พนักงานสอบสวน สน.พญาไท นำศพมาส่งชันสูตร สภาพศพภายนอกมีบาดแผลถูกยิงเข้าบริเวณด้านหลังข้างขวาช่วงล่าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 ซ.ม. ในระดับต่ำกว่ายอดศีรษะ 60 ซ.ม. กระสุนเข้าด้านหลังขวาทะลุผ่านช่องท้องมาด้านหน้า มีลำไส้จำนวนมากทะลักที่ปากแผล และพบเศษโลหะเล็กๆ กระจายตามแนวกระสุนผ่าน เลือดออกภายในช่องท้อง 800 ม.ล. ลำไส้เล็กฉีกขาดหลายแห่ง เศษโลหะที่กระจายตามแนวบาดแผลนั้น สันนิษฐานได้ว่าเป็นเศษโลหะจากกระสุนปืนที่มีความเร็วสูง อาจเป็นปืนที่ใช้ในสงคราม เช่น อาก้า เอ็ม 16 เพราะดูจากเศษโลหะ และแนวเข้าออกของกระสุน สรุปสาเหตุการเสียชีวิตได้ว่า เกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเข้าที่ท้องทำให้ลำไส้ทะลุ

 

นัดสืบพยานวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555[7]

            พยาน[8]

  1. ร.ท.กิตติภพ ธูปทอง ทหารพยาบาล
  2. ส.อ.พุทธรักษ์ สุขเกษม ทหารพยาบาล
  3. ส.อ.วรากร ผาสุข กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์
  4. ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์
  5. พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

ร.ท.กิตติภพ ธูปทอง เบิกความว่าวันเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนไม่ให้รถตู้เข้ามา จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังอย่างต่อเนื่อง สักพักจึงได้รับคำสั่งให้ไปดูผู้บาดเจ็บ ก็พบนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ถูกยิงบาดเจ็บ ต่อมามีหน่วยแพทย์อาสาวชิรพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ในขณะเกิดเหตุเขาไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.พุทธรักษ์ สุขเกษม เบิกความว่า  ขณะเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนไม่ให้รถตู้เข้ามา และได้ยินเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง หลังเสียงปืนสงบ จึงพบร่างด.ช.คุณากร อยู่ในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสมีไส้ทะลักออกมา แต่ยังไม่เสียชีวิต จากนั้นหน่วยแพทย์อาสาวชิรพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ในขณะเกิดเหตุนั้น เขาไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.วรากร ผาสุข เบิกความสรุปว่า วันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ฝั่งซ้ายของถนนราชปรารภ มีปืนM16 เป็นอาวุธประจำกาย มีหน้าที่ตรวจค้นบุคคลเข้าออก และไม่พบว่ามีใครพกพาอาวุธเข้าไปแต่อย่างใด ขณะเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนว่ารถตู้อย่าเข้ามาหลายครั้ง จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่าปฏิบัติหน้าที่อยู่จุดเดียวกันกับส.อ.วรากร ได้ยินเสียงประกาศเตือน และเสียงปืนเช่นกัน แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบว่ารอยกระสุนปืนบริเวณร้านค้ากับใกล้สำนักงานคอนโดไอดีโอ และมีกระสุนตกอยู่ตรงประตูเหล็กด้านหน้าร้าน สันนิษฐานว่ายิงมาจากฝั่งตรงข้าม โดยวิถีกระสุนยิงในลักษณะเป็นแนวราบ แต่ไม่สามารถระบุชนิดของกระสุนและอาวุธปืนได้

 

นัดสืบพยานวันที่ 26 พฤศจิกายยน 2555[9]

            พยาน[10]

  1. นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้
  2. นายคมสันติ ทองมาก ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่น
  3. พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  4. พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุนปืน สตช. ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน
  5. ร.ต.อ.สากล คำยิ่งยง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท

นายสมร ไหมทองเบิกความสรุปได้ว่า หลังจากกลับจากส่งผู้โดยสาร ได้ขับรถตู้เข้ามาบริเวณถนนราชปรารภ และถูกระดมยิง ขณะนั้นไม่ได้ยินประ กาศแจ้งเตือนแต่อย่างใด หลังเสียงปืนสงบเห็นทหารถือปืนเข้ามาล้อมรถ และช่วยนำพยานส่งโรงพยาบาล

นายคมสันติ ทองมากเบิกความว่า เป็นผู้ถ่ายคลิปเหตุการณ์ยิงรถตู้ ไม่ได้ตัดต่อแต่อย่างใด ขณะนั้นยืนอยู่ด้านหลังเจ้าหน้าที่ และได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศบอกรถตู้ว่าอย่าเข้ามา พร้อมเล็งปืนไปที่รถตู้ หลังสิ้นเสียงประกาศก็เห็นรถตู้วิ่งเข้ามาบริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1-2 นาที จากด้านซ้ายและขวาที่ เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่

พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมากเบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจอาวุธปืนM16 แต่จากการตรวจไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงผู้ตาย เนื่องจากส่งมาหลังเกิดเหตุเป็นเวลากว่า 1 ปี เช่นเดียวกับพ.ต.ต.กิตติศักดิ์เบิกความสรุปว่าเป็นผู้ตรวจสอบภาพถ่ายรถตู้ที่ถูกยิงรอบคัน และตรวจอาวุธปืนM16 ผลปรากฏว่าไม่ตรงกับปืนที่ใช้ยิงผู้ตาย

ร.ต.อ.สากล คำยิ่งยง เบิกความเพื่อให้การรับรองเอกสารรายงานช่วงเกิดเหตุและมอบแก่ศาล โดยรายละเอียดมีว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่สน.พญาไท เป็นพนักงานสอบสวน ได้รับคำสั่งให้สอบสวนคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม โดยเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14-20 พ.ค. 53 บริเวณแยกประตูน้ำ ราชปรารภ ถึงสามเหลี่ยมดินแดง โดยตรวจสอบพบผู้เสียชีวิต 15 ราย ซึ่ง1 ใน 15 รายนั้นมีด.ช.คุณากรรวมอยู่ด้วย ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 02.00 น. บริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ หลังจากทราบแล้วได้รวบรวมเอกสารทั้ง 15 ราย ให้คณะสอบสวนอีกชุด แต่ตัวเขาเองไม่ได้ทำการตรวจสอบศพเอง แต่มีพนักงานสอบสวนอีกชุดหนึ่งทำการตรวจสอบ  โดยสาเหตุการตายเบื้องต้นมาจากถูกอาวุธปืนยิง

 

นัดสืบพยานวันที่ 4 ธันวาคม 2555[11]

            พยาน พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท

พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง เบิกความว่า คดีนี้บช.น.แต่งตั้งพนักงานสอบสวน 10 นาย เขาเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน จากการสอบสวนทราบว่าคดีนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนปช.บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 หลังจากนั้นมีการปะทะกันในวันที่ 10 เม.ย. 53 ผู้ชุมนุมจึงย้ายมารวมกันที่ราชประสงค์ในเวลาต่อมา ขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 53 และวันที่ 13 พ.ค. 53 ได้ประกาศห้ามเข้าออกพื้นที่ถนนบางสาย ในคดีนี้เป็นถนนราชปรารภ ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกมักกะสัน และจะขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุม
วันที่ 14 พ.ค. 53 เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนพลมาที่ถนนราชปรารภ และได้ใช้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์เป็นศูนย์บัญชาการ นอกจากนี้ ยังนำลวดหนามมาขวางหน้าโรงแรมอินทรา ใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และแยกมักกะสัน เพื่อห้ามยานพาหนะและคนนอกไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ รวมทั้งตั้งบังเกอร์อยู่ริมถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง และบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย กระทั่งเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 15 นายสมร ไหมทอง ได้ขับรถตู้ออกจากซอยวัฒนวงศ์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกดินแดง ระหว่างขับถึงจุดที่สร้างคอนโดไอดีโอซึ่งเป็นเขตหวงห้าม เจ้าหน้าที่ทหารประกาศให้ขับออกมาแต่คนขับยังฝ่าเข้าไป ทหารจึงสกัดโดยใช้ปืนยิงรถตู้จนจอดนิ่งอยู่บริเวณทางขึ้นสถานีแอร์พอร์ตลิงก์

พ.ต.ท.บรรยงเบิกความอีกว่า หลังสิ้นเสียงปืนเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปช่วยเหลือนายสมรที่ยังไม่เสียชีวิต และนำตัวใส่รถ GMC ที่จอดอยู่ในโรงภาพยนตร์โอเอ ทราบว่ามีคนเจ็บอีกคนคือ ด.ช. คุณากร อยู่ในรถ GMC ด้วย จากนั้นทหารอนุญาตให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิรับทั้งคู่ไปส่งที่โรงพยาบาลพญาไท 1 โดยด.ช.คุณากรเสียชีวิต ส่วนนายสมรบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้ ยังมีนายพัน คำกอง เสียชีวิตอยู่บริเวณคอนโดฯ ไอดีโอ ด้วย เหตุการณ์นี้นายคมสันติ ทองมาก ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่นบันทึกคลิปเหตุการณ์ทั้งหมด และมอบให้แก่พนักงานสอบสวนแล้ว

เขาเบิกความถึงคลิปกล่าวว่าเห็นรถตู้ของนายสมรขับมาตามถนนราชปรารภจากประตูน้ำไปแยกดินแดง เมื่อข้ามทางรถไฟใต้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์แล้วมีเสียงปืนดังขึ้นทุกทิศจนรถตู้หยุด จากนั้นทหารเข้าไปช่วยนำนายสมรออกจากรถตู้และรักษาพยาบาลเบื้องต้น ก่อนใช้เปลหามเข้าไปในซอยโรงภาพยนตร์โอเอและใส่รถ GMC จากนั้นมีรถมูลนิธิเข้าไป เห็นทหารนำด.ช.คุณากรออกจากรถ GMC สภาพยังไม่เสียชีวิต แต่เดินไม่ได้แล้วและมีบาดแผลที่ท้อง ทราบภายหลังว่าถูกยิงข้างหลังทะลุท้อง รถมูลนิธินำทั้งคู่ไปส่งโรงพยาบลพญาไท 1 และมีภาพรถมูลนิธิมารับนายพัน คำกอง ไปส่งโรงพยาบาลด้วย

พนักงานสอบสวนเบิกความต่อว่า ผลการชันสูตรพบกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่แขนซ้ายของนายพัน และพบกระสุนM16 ในตัวของนายสมร ขณะที่ผลการตรวจปืนM16 จำนวน 40 กระบอก จากทหารที่รักษาการณ์ในที่เกิดเหตุ ไม่พบว่าตรงกับของกลางแต่อย่างใด เขาไม่ได้ตรวจรถตู้ที่ถูกยิง แต่ได้นำภาพถ่ายและคลิปภาพเสียงส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจ และจากการสอบสวนนายอเนก ชาติโกฎิเจ้าหน้าที่ รปภ.ของคอนโดฯ ไอดีโอให้การว่าอยู่กับนายพันในช่วงเกิดเหตุ หลังได้ยินเสียงปืนทั้งคู่ออกมาดูสถานการณ์ด้านหน้า และเห็นทหารอยู่โดยรอบ แต่ไม่เห็นว่าใครยิง และนายคมสันติยังได้ให้การสอดคล้องกันด้วยว่าได้ยินเสียงปืนและเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าวด้วย  และนอกจากนี้ พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต ผกก.สภ.บ้านไร่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนร่วมกับทหาร ให้การว่าได้ยินประกาศห้ามรถตู้เข้ามาและได้ยินเสียงปืน แต่ไม่ได้ออกไปดู

พยานเบิกความอีกว่า หลังยุติการชุมนุม DSI ประกาศให้คดีสลายการชุมนุมเป็นคดีพิเศษ พยานจึงส่งสำนวนไปให้DSI และทาง DSI เชื่อว่าการตายของด.ช.คุณากร น่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ จึงส่งสำนวนกลับมาให้สอบสวนต่อ เขาเบิกความว่าเชื่อได้ว่าเกิดจากการยิงของทหารเนื่องจากในที่เกิดเหตุทหารขึ้นไปใช้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์เป็นศูนย์บัญชาการและบล็อกแนวบริเวณดังกล่าวไว้หมด บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าออกบริเวณนี้ได้ ส่วนด.ช.คุณากรถูกกระสุนM16 ยิงจากด้านหลังทะลุด้านหน้า จุดที่เสียชีวิตกับรถตู้อยู่บริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ นายพันยังถูกปืนM 16 ยิงเสียชีวิตในบริเวณนั้นด้วย ทหารอาจไม่ทราบว่ามีด.ช.คุณากรอยู่ในบริเวณดังกล่าว และไม่น่าเป็นการยิงโดยเจตนา

 

ฟังคำสั่งวันที่ 20 ธันวาคม 2555[12]

ด.ช.คุณากรผู้ตาย มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 44 ม.1 แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กทม. กระทั่งปี 2547 ย้ายไปอยู่ในความปกครองของสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตั้งอยู่เขตสวนหลวง โดยระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 53 นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และจัดตั้งศอฉ. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผอ.ศอฉ. และศอฉ.ได้ออกประกาศควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมเข้าออก ถ.ราชปรารภ ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำ ถึง สี่แยกมักกะสัน ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาการให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งถนนและตามแนวบังเกอร์ ประกอบด้วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และจัดวางลวดหนามตั้งแต่บริเวณปากซอยราชปรารภ 6 ถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

วันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 23.00 น. เศษ นายคมสันติ ทองมาก ผู้สื่อข่าวซึ่งไปทำข่าวเกี่ยวกับผู้ชุมนุมนปช. บริเวณถ.ราชปรารภ พบเห็นผู้ตายวิ่งเล่นอยู่บริเวณบังเกอร์ที่เจ้าหน้าที่ทหารวางไว้ตามสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ฝั่งโรงภาพยนตร์โอเอ ต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 14 พ.ค. 53 นายสมร ไหมทอง ขับรถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพฯ ออกจาก ซ.วัฒนวงศ์ แล้วเลี้ยวขวาไปที่สี่แยกมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล ซึ่งประจำอยู่บริเวณด้านหน้าร้านอาหารอินเดียฟู้ด จึงแจ้งไปยังชุดตรวจที่อยู่ใกล้ปากซอยให้ประกาศห้ามรถยนต์ตู้ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ควบคุม แต่นายสมรยังคงขับรถยนต์ตู้ต่อไปทางสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อแล่นผ่านจุดที่ ร.อ.เสริมศักดิ์ กับพวกประจำอยู่ มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดมาจากหลายทิศทาง นายสมรพยายามขับรถยนต์ตู้ต่อไปจนข้ามทางรถไฟไปถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อสิ้นเสียงปืนพบว่านายสมรถูกกระสุนปืนที่เอวและท้อง

นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ถูกกระสุนปืนยิงใส่อีก 2 คน คือ นายพัน คำกอง และผู้ตายในคดีนี้โดยมีบาดแผลถูกกระสุนปืนยิงเข้าด้านหลังบริเวณกึ่งกลางลำตัวทะลุช่องท้อง ซึ่งพบผู้ตายได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ที่พื้นถนนในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ห่างจากปากซอยซึ่งติดถ.ราชปรารภประมาณ 20 เมตร ถัดจากปากซอยไปไม่ไกลเป็นจุดที่รถยนต์ตู้คันที่นายสมรขับจอดอยู่ ส่วนนายพัน คำกอง ถูกกระสุนปืนขณะยืนอยู่ตรงบริเวณทางเข้าออกอาคารคอนโดมิเนียมไอดีโอ ตรงกันข้ามเยื้องกับซอยโรงภาพยนตร์โอเอ

สำหรับสาเหตุที่ผู้ตายถูกยิงนั้น ได้ความจากนายสมร ผู้บังคับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุว่า เมื่อขับเลี้ยวขวาออกจากซอยได้ประมาณ 30 เมตร ก็มีเสียงปืนดังขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองฝั่งระดมยิงมาที่รถยนต์ตู้ของพยาน ซึ่งสอดคล้องกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าเห็นทหารจำนวน 3 นายยิงปืนมาที่รถ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายคมสันติว่า ก่อนที่รถยนต์ตู้จะแล่นเข้ามา เจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าขอให้ผู้ขับหยุดรถ มิฉะนั้นจะยิงสกัด เมื่อสิ้นเสียงประกาศจึงมีเสียงปืนดังมาจาก 2 ฝั่งถนน โดยทั้ง 2 ฝั่งถนนมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสัน ซึ่งพยานได้บันทึกภาพเหตุการณ์รถยนต์ตู้เข้าไปในพื้นที่จนกระทั่งถูกยิงสกัดไว้

อีกทั้งพยานผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุต่างเบิกความตรงกันสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่ 4 แยกมักกะสันไปจนถึงซอยราชปรารภ 6 ฝั่งซ้ายมุ่งหน้าที่ 4 แยกประตูน้ำ แบ่งกำลังคุมพื้นที่ 4 แห่ง แต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 6 คน โดยก่อนเกิดเหตุพยานแต่ละคนได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ไม่ให้รถตู้ นายสมรแล่นผ่านเข้าไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ แต่รถตู้ยังแล่นต่อไป จากนั้นมีเสียงปืนดังหลายนัดมาจากหลายทิศทาง

แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่าผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุถ.ราชปรารภตั้งแต่ 4 แยกประตูน้ำไปจนถึง 4 แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ นำโดยพ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถ.ราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ 4 แยกประตูน้ำไปจนถึง 4 แยกมักกะสัน และปากซอยหมอเหล็ง เฉพาะหน่วยของพ.ท.วรการมีทหารถึง 150 คน มีกองบัญชาการอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น

อีกทั้งพล.อ.ต.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม แพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายเบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่าเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภท M16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้องและภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐานจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายนายมีอาวุธปืนM16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้

จึงต้องรับฟังว่า คืนเกิดเหตุขณะที่นายสมรขับรถยนต์ตู้เข้าไปในถ.ราชปรารภ มุ่งหน้าสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมตามประกาศของศอฉ. เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงห้ามเข้าไปในพื้นที่แล้ว นายสมรยังขับรถยนต์ตู้ต่อไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่รถยนต์ตู้ของนายสมร เป็นเหตุให้ลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายจนถึงแก่ความตาย

ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ถนนศรีอยุธยา แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณฉบับเต็ม

 


[1]  การไต่สวนชันสูตรพลิกศพด.ช.คุณากร นี้มีการใช้พยานบุคคลและหลักฐานบางส่วนร่วมกับคดีนายพัน คำกอง

[3] “สืบพยานคดีน้องอีซา เหยื่อสลายการชุมนุม พ.ค.53,” Voice TV, 20 ก.ค. 55 ; “ไก่อูเบิกความคดียิงดช.อีซา ‘แดง’นัดลุ้น 23 กค.ชี้ชะตาตู่,” ข่าวสด, 21 ก.ค. 55

[4] พยานทหารทั้ง 3 นาย นี้เป็นชุดเดียวกับที่ขึ้นเบิกความในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง

[5] ในรายงานข่าวลงชื่อผิด

[6] “โชว์หลักฐาน’หัวกระสุน’ สื่อดัตช์พค.53 ย้ำโดนจนท.ยิง,” ข่าวสด, 30 ต.ค. 53

[7] “ไต่สวน 2 ศพ แดง,” ข่าวสด, 6 พ.ย. 55

[8] เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ ทั้ง 2 นาย นั้นได้ให้การในการไต่สวนชูนสูตรนายพัน คำกองด้วย

[10] พยาน 1-4 ให้การในการไต่สวนชันสูตรนายพัน คำกอง ด้วย

[12] “ศาลชี้ศพ 4 “ดช.อีซา” จนท.ยิง! “มาร์ค-เทือก” หนักต้องถูกดำเนินคดีต่อเนื่อง’พัน คำกอง’เผยกระสุนทะลุหลังใกล้บังเกอร์ทหารไต่สวน6ศพวัดปทุม-นาทีชีวิตน้องเกด,” ข่าวสด, 21 ธ.ค. 55 ; “ศาลสั่งเป็นคดีที่ 4 “ด.ช.อีซา” เหยื่อกระสุน พ.ค. 53 เสียชีวิตจากทหาร,” ประชาไท, 20 ธ.ค. 55

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ :  อช. 2/2555    วันที่ฟ้อง :  21/02/2555

คดีหมายเลขแดงที่ :   อช. 7/2555   วันที่ออกแดง :  17/09/2555

โจทก์ :   พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 สำนักงานอัยการสูงสุด  ผู้ร้อง

ผู้เสียชีวิต :  นายพัน คำกอง

คดี :  ชันสูตรพลิกศพ

นัดสืบพยานวันที่ 11 พฤษภาคม 2555[1]

            พยาน

  1. นางหนูชิต คำกอง ภรรยานายพัน คำกอง
  2. น.ส.ศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนาย
  3. นายอเนก ชาติโกฎิ  พนักงานรักษาความปลอดภัยโครงการคอนโดมิเนียม ไอดีโอ

พยานปากแรกคือ นางหนูชิต คำกอง ได้เบิกความว่า นายพัน คำกองได้ไปที่อู่แท็กซี่ ย่านวัดสระเกศ เพื่อนำรถแท็กซี่มาประกอบอาชีพ แต่เนื่องจากช่วงนั้นรัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีคำสั่งขอคืนพื้นที่แถบราชปรารภ โดยเวลา 20.00 น. สามีโทรศัพท์หาลูกสาวว่ายังเดินทางกลับมาไม่ได้เพราะมีการกระชับพื้นที่ของทหาร และได้มาหลบภัยบริเวณงานก่อสร้างคอนโดแห่งหนึ่งแถวราชปรารภ ซึ่งเป็นการติดต่อครั้งสุดท้าย จากนั้นเวลาเที่ยงคืน นายอเนก ไม่ทราบนามสกุล(คือนายอเนก ชาติโกฎิ) รปภ.ดูแลงานก่อสร้างคอนโดดังกล่าว ได้โทรศัพท์มาแจ้งบุตรชายตนว่าสามีถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต ต่อมาศพของสามีจึงถูกนำไปชันสูตรที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างรอแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพ ได้สังเกตเห็นศพของสามี มีรอยกระสุนใต้ราวนมซ้ายทะลุออกซี่โครง และรอยกระสุนที่แขนด้านขวา ซึ่งการชันสูตรศพนั้นแพทย์ให้พยานเข้าไปร่วมสังเกตด้วย แต่พยานปฏิเสธเพราะไม่กล้าเข้าไปดู หลังจากนั้น 3 วัน พยานได้เข้าไปดูพื้นที่เกิดเหตุก็พบรอยเลือดอยู่ และทราบว่าขณะเกิดเหตุบริเวณดังกล่าวไม่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีแต่กองกำลังทหารเท่านั้น

พยานปากที่สองน.ส. ศิริพร เมืองศรีนุ่น ซึ่งเป็นทนายที่รับมอบอำนาจจากนางหนูชิตให้ร่วมแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสน.พญาไท ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สั่งตั้งศอฉ. และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในขณะนั้นและเบิดความว่าเชื่อได้ว่านายพัน คำกองเสียชีวิตเนื่องจากนาย สมร ไหมทอง ขับรถตู้เข้าไปในพื้นที่ควบคุมแนวของทหารทำให้มีการระดมยิงรถตู้จนเป็นรูพรุนซึ่งนายสมรก็ได้รับบาดเจ็บ และกระสุนอาจไปโดนนายพัน โดยบริเวณใกล้เคียงก็ยังพบศพ ด.ช. คุณากร ศรีสุวรรณ ที่ถูกยิงเสียชีวิตด้วย

พยานปากที่สามนายอเนก ชาติโกฎิ รปภ.ประจำโครงการก่อสร้างคอนโด ไอดีโอ เบิกความว่า เวลา 20.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 53  ระหว่างที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่นายพันได้เข้ามาขอหลบที่โครงการเพราะทหารประกาศห้ามเดินผ่านและมีการติดป้ายใช้กระสุนจริง และได้ประกาศห้ามออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 19.00 น.  เขาได้สอบถามกับนายพันว่ามาจากไหน นายพันได้ตอบว่าจะไปเอาแท็กซี่แต่เนื่องจากยังซ่อมไม่เสร็จ  จากนั้นนายพันได้นั่งเล่นหมากฮอสกับนายอเนก  จนเที่ยงคืนได้ยินเสียงประกาศเตือนจากรถทหาร สั่งให้รถตู้หยุดวิ่ง ไม่หยุดจะทำการยิงจากเบาไปหนักพยานได้วิ่งหลบ ส่วนนายพันวิ่งออกไปดู  และได้ยินเสียงปืนดังทีละนัดดังต่อเนื่องกันราว 20 นัด  แต่รถตู้ยังไม่หยุด และยังมีเสียงปืนดังต่อเนื่องอีกราว 1 นาที นายพันได้วิ่งกลับเขามาบอกกับนายอเนกว่าให้ช่วยโทรบอกที่บ้านว่าเขาถูกยิง พยานเห็นนายพันมีเลือดไหลเอามืออุดแผลใต้ราวนมแล้วล้มไป พยานจึงนำโทรศัพท์มือถือนายพันโทรไปมีเสียงเด็กผู้ชายรับสาย พยานจึงบอกว่าพ่อถูกยิงที่ย่านราชปรารภ และเขาได้แจ้งศูนย์นเรนทรมารับศพนายพัน หลังจากนั้นมีทหาร นักข่าว และหน่วยกู้ภัยมารับศพนายพันออกไปที่โรงพยาบาล โดยตั้งแต่เกิดเหตุจนหน่วยกู้ภัยมารับศพไปใช้เวลานาน 20 นาที และที่เกิดเหตุไม่พบบุคคลอื่นนอกจากทหาร

 

นัดสืบพยานวันที่ 3 กรกฎาคม 2555[2]

            พยาน

  1. พ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล  ผู้บังคับกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.)
  2. ร.อ. เสริมศักดิ์ คำละมูล ผู้บังคับกองร้อยอยู่ในสังกัดของพ.ท. วรการ  (ป.พัน.31 รอ.)
  3. ทหารพยาบาล 2 นาย

พยานที่ให้การคนแรกคือ พ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล เบิกความว่า ช่วงหัวค่ำมีเสียงระเบิดคาดว่าเป็น M 79 ทยอยระเบิดห่างไม่เกิน 500 ม. กระทั่งมีตกลงบนถนนราชปรารภและหลังคาสะพานลอยที่มีทหารประจำการอยู่จึงถอนกำลังออก เมื่อสงบจึงได้กลับไปประจำที่อีกครั้ง จนเมื่อ 24.00 น. ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีรถตู้ออกมาจากซอยวัฒนวงศ์(ราชปรารภ 8) มุ่งหน้าไปที่แอร์พอร์ตลิงค์ไม่มีรายงานว่ามีการระดมยิง หลังเหตุการณ์สงบได้มีการตรวจค้นรถตู้ในรถมีผ้าพันคอและเสื้อสีแดง เขียนข้อความ “แดงทั้งแผ่นดิน” และมีมีดดาบยาวประมาณ 2 ฟุต ไม่มีอาวุธอย่างอื่น จากนั้นได้รับรายงานเพิ่มอีกว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นคนขับรถตู้ และเด็กอีก 1 คน จึงให้ติดต่อประสานรถพยาบาลในพื้นที่ จากนั้นก็มีการแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บอีกรายที่บริเวณคอนโด ไอดีโอ ซึ่งกำลังก่อสร้าง โดยเหตุการณ์ทั้งหมดพยานไม่ได้เห็นด้วยตัวเองแต่เป็นการรับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชานั้น และปฏิเสธว่าไม่มีทหารในหน่วยของตัวเองยิงรถตู้ และไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิงรถตู้  ไม่มีการจับคนร้ายและในคืนนั้นไม่มีการประชุมกองแต่อย่างใด

พ.ท.วรการให้การในส่วนเรื่องอาวุธที่ใช้ในการปฏิบัติการเอาไว้ว่า “หน่วยของตน” มีโล่กระบองครบ ทั้ง 150 คน ปืนลูกซอง 30 กระบอก  และปืน M 16 20 กระบอก  โดยมีการแจกกระสุนแบลงค์สำหรับ M 16  กระสุนยางสำหรับปืนลูกซอง โดยไม่มีการบรรจุกระสุนไว้ในปืน โดยกระสุนทั้ง 2 ชนิดไม่มีอันตรายถึงชีวิต  และเขายืนยันว่าไม่มีการแจกกระสุนจริงให้ใช้ แต่มีการเบิกกระสุนจริงสำหรับปืน M 16 มาเป็นจำนวน 400 นัด ส่วนกระสุนซ้อม(แบลงค์)นั้นจำไม่ได้ กระสุนจริงสำหรับปืนลูกซองจำไม่ได้ กระสุนปืนพกไม่มีกระสุน ในการเบิกทำผ่านศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก(ศปก.) มีบัญชีชัดเจน  การติดป้าย “พื้นที่กระสุนจริง” เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าเป็นของหน่วยไหนเขียนไปติด

พ.ท.วรการได้ให้การเพิ่มว่าในวันที่ 14 พ.ค. ตนได้รับแจ้งจาก ศปก.พล.1รอ.  ว่าแอร์พอร์ตลิงค์ถูกผู้ชุมนุมยึดและอาจจะมีการเผา จึงถูกเรียกให้ไปยึดคืนจึงออกจากทำเนียบรัฐบาลไปที่ราชปรารภ  ซึ่งที่แอร์พอร์ตลิงค์มีเพียง 1 หน่วยที่ประจำการอยู่  จึงมีการเรียกเข้าไปเพิ่มทั้งหมด 3 หน่วย  แต่เมื่อไปถึงปรากกฎว่ามีทหารประจำการอยู่ก่อนแล้วจึงเข้าใจว่ามีหน่วยอื่นมายึดคืนได้ก่อนแล้ว สภาพแวดล้อมบริเวณรอบๆ ขณะนั้นมีกองยางและรถน้ำทหารถูกเผาอยู่ และระหว่างเข้าไปในพื้นที่ยังได้รับแจ้งเตือนระมัดระวังชายชุดดำซุ่มยิงจากที่สูง ซึ่งก็มีการยิงลงมาจากตึกด้วยแต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บและได้รับแจ้งเตือนให้ระวังรถตู้ที่อาจจะเข้ามาก่อเหตุคาร์บอมบ์

ทหารทั้ง 4 กองพันที่ปฏิบัติการในพื้นที่นั้นมีการประสานกันโดยจะเป็นการประสานกันเองระหว่างผู้บังคับกองร้อย  ในส่วนของผู้บังคับกองพันนั้นจะมีหน้าที่รับนโยบายและควบคุมดูแล โดยหน่วยของตนจะวางกำลัง 80 คน อยู่ที่ฝั่งซ้ายของถนนและฝั่งขวาเป็นของ พ.ท. พงศกร อาจสัญจร จาก ร.1พัน3

หลังจากสืบพยานได้มีการเปิดวิดีโอของนักข่าวเนชั่นโดยได้บันทึกขณะช่างภาพอยู่หลังทหารที่หลบอยู่หลังเสาไฟฟ้า ห่างจากรถตู้ 50-100 ม.  และมีเสียงปืนดังขึ้นเพื่อหยุดรถตู้ ราว 20 นัด จนกระทั่งรถหยุด และมีทหารเข้าไปดู มีการนำคนเจ็บลงจากรถเพื่อปฐมพยาบาล และมีภาพการลำเลียงคนเจ็บอื่นๆ จากรถพยาบาลทหารขึ้นรถหน่วยกู้ชีพ และในศาลมีการซักถามกับ พ.ท.วรการว่า ในวิดีโอมีลูกน้องของตนอยู่ด้วยหรือไม่  เขายอมรับว่ามีอยู่ 2 คน  แต่ทหารคนอื่นๆ เขาไม่แน่ใจว่าเป็นทหารจาก ร.1พัน3 หรือไม่

พยานปากที่สอง ร.อ. เสริมศักดิ์ คำละมูล ให้การว่าตนเป็นทหารในสังกัดของพ.ท.วรการ ซึ่งเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ย้ายมาจากทำเนียบเพื่อเข้าปฏิบัติการที่ราชปรารภในเย็นวันที่ 14 พ.ค.  โดยกองร้อยของตนอยู่ทางฝั่งซ้ายของถนนราชปรารภโดยหันหน้าไปทางด้านแยกประตูน้ำ โดยมีทั้งบนสะพานลอยหน้าราชปรารภ 6 และ หน้าร้านอินเดียฟู้ดส์ และอีกส่วนอยู่บนถนนมักกะสันเรียบทางรถไฟ โดยเขาได้รับแจ้งเตือนให้ระวังรถตู้สีขาวที่อาจจะเข้าก่อเหตุ

ในเวลา 17.00-18.00 น. มีคนเข้าไปด่าทอทหาร ร.อ.เสริมศักดิ์ยังบอกด้วยว่ามีชายชุดดำรวมอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย แล้วกลุ่มคนก็เดินจากไป แต่ไม่ถึงนาทีก็มีระเบิดปิงปอง 3 ลูก ตกใกล้กับทหารแต่ไม่มีใครบาดเจ็บ  จากนั้นมีระเบิด M79 ตามมาเป็นระยะประมาณ 10 นาที  ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เขาไม่ทราบว่ามาจากทางไหน แต่ระยะไม่เกิน 750 ม. ต่อมาในเวลา 22.00 น. ก็มีระเบิด M79 อีกครั้ง มีเสียงปืนสั้นประปรายและมี การยิงน๊อตลูกแก้วด้วย ไม่มีทหารได้รับบาดเจ็บอีกเช่นกัน

ต่อมาเวลา 23.00 น. ได้มีการส่งกำลังไปรักษาการณ์ที่ราชปรารภ 8  เวลาประมาณเที่ยงคืนมีรถตู้สีขาวคล้ายกับที่ได้รับแจ้งเตือนออกมาจากทางราชปรารภ 8 จึงได้มีการแจ้งเตือนให้วนกลับไปทางเดิมหรือเลี้ยวไปทางประตูน้ำจากนั้นอีก 10 นาทีก็ได้ให้รถทหารประกาศอีกทีปรากกฏว่ารถตู้เลี้ยวขวามุ่งหน้าแอร์พอร์ตลิงค์ พยานยังได้ยินเสียงประกาศอยู่ตลอดพร้อมกับมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ  เขาและทหารที่อยู่ที่หน้าร้านอินเดียฟู้ดส์ด้วยกัน 5-6 นาย จึงหมอบลงอยู่กับพื้นประมาณ 1 นาที จนเสียงปืนสงบลงจึงได้สั่งกำลังพลให้ไปตรวจการที่ประตูน้ำ แต่ไม่ได้ไปดูที่รถตู้  อัยการถามย้ำว่า มีการใช้ปืนยิงสกัดรถตู้ไหม ร.อ.เสริมศักดิ์ตอบว่า ไม่มี และทนายได้ถามว่าในขณะที่มีเสียงปืนนั้นเป็นเสียงที่ดังขึ้นทั้งสองฝั่งถนนใช่หรือไม่  พยานกล่าวว่าไม่รู้เนื่องจากเสียงก้องมาก คำถามต่อมา เมื่อรถตู้ถูกยิงแล้วมีอาการอย่างไร(น่าจะหมายถึงว่าเมื่อรถตู้ถูกยิงแล้วลักษณะการวิ่งของรถตู้เป็นอย่างไร) พยานตอบว่าไม่ทราบเนื่องจากหมอบอยู่จึงไม่เห็นเหตุการณ์ และทนายยังได้ถามอีกว่าทราบหรือไม่ว่าเป็นเสียงปืนอะไร พยานตอบว่าแยกไม่ออก แม้ว่าศาลจะได้เปิดวิดีโออีกครั้ง ทนายได้ถามเขาว่า หลังเหตุการณ์มีการประสานเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่  พยานตอบว่าไม่มีการประสาน

พยานอีก 2 คน คือ ทหารพยาบาลที่ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บคือนายสมร ไหมทอง และ ด.ช.คุณากร โดยหลังเหตุการณ์สงบได้เข้าไปช่วยเหลือโดยการห้ามเลือดให้ แต่ไม่ได้ดูบาดแผลเนื่องจากขณะปฐมพยาบาลแสงไฟไม่สว่าง แต่ในตอนเช้าก็ได้เห็นรถตู้มีกระสุนปืนรอบคัน จากนั้นทนายได้นำผลการรักษามาอ่าน พบหัวกระสุนปลายแหลมหุ้มทองเหลืองในบาดแผลของนายสมร  และได้ถามว่าใช่ลักษณะของหัวกระสุนปืน M16 หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

ทหารพยาบาลอีกคนเป็นคนที่เข้าไปช่วย ด.ช. คุณากร ขณะช่วยพบบาดแผลที่ช่องท้องและลำไส้ไหล แต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด ไม่ทราบว่าพบเด็กคนนี้ได้อย่าง ทราบในภายหลังว่าคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ

 

นัดสืบพยานวันที่ 4 กรกฎาคม 2555[3]

            พยาน

  1. พ.ท.พงศกร อาจสัญจร (ขณะนี้ยศพันเอก) ผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 (ผบ.ร. 1 พัน 3 รอ.)
  2. พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์  รองผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 พัน 3 รอ.)
  3. ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ผบ.มว.อาวุธหนัก  ร. 1 พัน 3 รอ.
  4. ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี
  5. ส.อ.วรากรณ์ ผาสุก กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  (ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี

พยานปากแรก พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ได้เบิกความว่า ในวันที่ 14 พ.ค. 53 ได้รับแจ้งว่ามีการรื้อกระสอบทรายที่แยกจตุรทิศ ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ให้ไปที่เกิดเหตุโดยมีรองผู้บังคับกองพันเป็นคนคุมกำลังไป 1 กองร้อย เป็นจำนวน 150 นาย  แต่เนื่องจากจำนวนผู้ชุมนุมที่มีมากตนจึงได้รายงานไปที่ผู้บังคับการกรมฯ เพื่อนำกำลังไปที่เกิดเหตุอีก 1 กองร้อย จำนวน 150 นาย  โดยหน่วยที่นำไปนั้นรักษาความปลอดภัยสถานที่และควบคุมฝูงชน โดยมีการใช้กฎเกณฑ์จากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน ในระหว่างนั้นไม่สามารถปฏิบิตหน้าที่ได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมล้อมอยู่ ในการจัดกำลังพลนั้น ใน 1 กองร้อยจะมีโล่ กระบอง ปืนลูกซองกระสุนยาง 30 กระบอก กระบอกละ 10 นัด รวมทั้งหมด 300 นัด และเขาได้อธิบายเพิ่มว่ากระสุนยางไม่เหมือนลูกแบลงค์ โดยลูกแบลงค์จะเป็นกระสุนซ้อมรบ จะมีแต่เสียงเพื่อให้เกิดความสมจริง โดยกระสุนจะเป็นหัวจีบ ไม่มีหัวกระสุน แต่ถ้าอยู่ในระยะ 1 ม. ความแรงของดินปืนจะทำให้ไหม้ได้ ส่วนกระสุนยางจะใช้กับปืนลูกซอง ซึ่งยิงได้ในระยะ 10 ม. เมื่อถูกยิงจะจุกแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต และไม่สามารถยิงทะลุผ่านเหล็กหรือไม้ได้

เวลาประมาณ 13.00 น. เขาได้นำกำลังไปที่ปากซอยรางน้ำ ถนนราชปรารภและเดินเข้าไปที่แยกจตุรทิศ ในขณะนั้นมีรถบรรทุกของทหารจอดอยู่บริเวรดังกล่าวแล้วมีผู้ชุมนุมเข้าไปแย่งยึดและกระชากทหารที่อยู่บนรถลงมา แต่หน่วยของเขาได้เข้าไปช่วยทหารทั้ง 2 นาย  แต่ไม่สามารถนำรถออกมาได้ เนื่องจากถูกผู้ชมุนุมล้อมเอาไว้ โดยในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมอยู่ราวประมาณ 700 คน ทั้งบนสะพานจตุรทิศ และด้านล่างก็ยังมีผู้ชุมนุมและผู้สัญจรไปมาเนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการปิดเส้นทาง  จากนั้นเขาจึงให้ผู้บังคับบัญชาปิดการจราจรให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ออกจากพื้นที่ไปเพื่อความปลอดภัย แต่เจ้าตัวก็ไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่ปิดหรือไม่ แต่อีก 20 นาทีต่อมา จึงไม่มีรถเข้าแล้วใช้เวลาประมาณ 1 ชม.

เขาได้ประเมินว่ามีคนอยู่จำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ของตนมีน้อยจึงได้ขอกำลังเสริมอีกกับผู้บังคับบัญชา จากนั้นจึงได้มีทหารจากกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ (ป.พัน.31.รอ.) เข้ามาราวสองกองร้อย โดยอยู่คนละฝั่งกับหน่วยของตนซึ่งอยู่ทางด้านขวา โดย ป.พัน.31.รอ. อยู่ทางซ้าย จนถึงเวลา 16.00 น. สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง  ประจำอยู่ใต้สะพานลอยหน้าโรงพยาบาลพญาไท 1 โดยอีก 1 กองร้อย ของพ.ท. ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์นำมาจะอยู่ที่แอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งตนประจำอยู่บริเวณดังกล่าวจนเสร็จในวันที่ 22 พ.ค. 53

ในช่วงค่ำ มีข่าวการแจ้งเตือนว่าให้ระวังการยิงมาในพื้นที่ และได้ยิน M203  ไม่ทราบจุดตก แต่ได้ยินมาจากด้านประตูน้ำ ในช่วงประมาณ 19.00 -21.00 น. ประมาณ 6-8 นัด และทราบว่าตกตรงสะพานลอยถนนราชปรารภ หน้าโรงแรมอินทราจากการรายงานทางวิทยุของ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ หลังจากนั้นราวเที่ยงคืนครึ่ง มีเสียงปืนดังติดต่อกันประปราย ทราบว่ามีรถวิ่งผ่านมา ตนอยู่ในมุมที่ไม่ได้ยินมากเพราะเสียงก้อง จากนั้นเสียงปืนสงบลง อัยการได้ถามว่าสามารถแยกเสียงปืนได้ไหมว่าเป็นปืนชนิดใด ในเมื่อทราบว่าเป็นเสียงระเบิดชนิดใด พยานได้ตอบว่าไม่แน่ใจเนื่องจากเสียงก้อง  ในช่วงที่เกิดเหตุ พ.ท.พงศกร ได้มอบหน่วยของ พ.ท.ไชยยงค์ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตรซึ่งมียศสูงกว่าตนควบคุมหน่วยแทน ทนายได้ซักถามว่าทราบหรือไม่ว่ามีหน่วยใดบ้างนอกจากหน่วยของพยาน พ.ท.พงศกรตอบว่าไม่ทราบ ทราบเพียงว่ามี ป.พัน. 31 รอ. สุดท้ายทนายซักว่าสั่งการกันอย่างไรในสถานการณ์ พยานตอบว่าใช้วิทยุสั่งการ

พยานปากที่สอง พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ รองผู้บังคับการ ร.1พัน.3รอ.  เบิกความถึงอาวุธที่นำมาใช้ ว่าหน่วยของตนมีปืนลูกซอง 30 กระบอก มี M16 20 กระบอก โดยมีการกำหนดตัวกำลังพลที่จะใช้ แต่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาก่อนคือ พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร  พยานเบิกความความต่อว่า ปืนลูกซองจะอยู่ติดตัวกำลังพล แต่ M16 จะเก็บแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการแย่งชิง และการจะนำมาใช้ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาทราบและตัดสินใจก่อน  กระสุนที่ใช้กับ M16 จะเป็นกระสุนซ้อมรบ คือลูกแบลงค์ ซึ่งจะแยกกันระหว่างปืนกับกระสุน โดยนำมา 400 นัด การบรรจุเหมือนการบรรจุกระสุนจริง ซองกระสนุจะบรรจุได้ 20 นัดต่อกระบอกลักษณะการใช้จะเป็นการยิงเตือน แต่สามารถยิงต่อเนื่องอัตโนมัติได้[4] และเขาได้เบิกความเกี่ยวกับการใช้กระสนุยางว่า การใช้กระสุนจริงและกระสุนยางแตกต่างกัน เช่น ลักษณะการบรรจุกระสุน  ทิศทางการเล็ง  เทคนิกก็จะต่างกัน    จะยิงเพื่อให้หนีหรือหยุดกระทำ อัยการได้ถามว่าปืนกระสุนจริงกับกระสุนยางใช้ร่วมกันได้หรือไม่ พยานตอบว่าบางกระบอกใช้ได้ บางกระบอกใช้ไม่ได้ ใช้เฉพาะกระสุนยาง

พ.ท.ทรงสิทธิ์เบิกความถึงสถานการณ์ในคืนนั้นเอาไว้ว่า ไม่มีเหตุการณ์ปล้นปืนหรือกระสุนไป  ในคืนนั้นตนและพ.อ.นัฐวัฒน์ อัครนิบุตร อยู่บนชั้น 2 ของแอร์พอร์ตลิงค์  ส่วนกำลังพลอยู่บนชั้น 3  โดยในช่วงกลางคืนมีเสียงปืนดังมาจากทุกทิศทาง  มีกระสุน M79 มาตกที่แอร์พอร์ตลิงค์ หลายลูก นอกจากนี้เห็นระเบิดไม่ทราบชนิด แต่เห็นตอนเช้า โดยดูจากร่องรอยวิเคราะห์เอาว่าเป็น RPG ที่บริเวณตึกแถวฝั่งตรงข้ามโรงแรมอินทรา

พ.ท.ทรงสิทธิ์เบิกความต่อว่า เขาได้รับรายงานทางวิทยุจากส่วนกลางหรือส่วนควบคุมว่ามีรถตู้วิ่งมาจากทางด้านประตูน้ำ ในเวลาเที่ยงคืนหลังจากรถตู้วิ่งเข้ามาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลังเหตุการณ์ได้ลงไปดูกับผู้บังคับบัญชา มีรถมูลนิธิมารับผู้บาดเจ็บ แต่ตนไม่เห็นผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิต แต่ทราบภายหลังว่ามีนายพัน คำกอง ได้รับบาดเจ็บและ คนขับรถตู้(นายสมร ไหมทอง) และเด็ก(ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ)

จากนั้นอัยการได้เปิดวิดีโอของนักข่าวเนชั่น ซึ่งถ่ายเหตุการณ์ไว้ได้และได้ถามว่าเสียงปืน 20 นัดดังกล่าว เป็นเสียงจากปืนชนิดใด พยานตอบว่ามีทั้งปืน M16 และลูกซอง แต่เสียงของ 2 นัดสุดท้าย เป็นเป็นปืนยาวแต่เสียงอยู่ไกลมากไม่ใช่พื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นเสียงลูกซ้อมหรือลูกจริง และลูกซ้อมจะมีประกายไฟได้ และอัยการได้ถามอีกว่าพบชายชุดดำในช่วงที่มีการปฏิบัติการหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มีการรายงานถึงเรื่องชายชุดดำ

พยานปากที่สาม ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ผบ.มว. อาวุธหนัก จาก ร.1พัน 3 รอ. คุมกำลังอยู่ใต้แอร์พอร์ตลิงค์บริเวณแยกจตุรทิศ เบิกความว่า กระสุนยางบรรจุเหมือนกับกระสุนจริง และปืนสามารถใช้ได้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ท่าการยิงเหมือนกันไม่มีท่าเฉพาะ ส่วนเสียงปืนนั้น พยานกล่าวว่าเสียงลูกแบลงค์กับลูกกระสุนจริงจะแตกต่างกัน โดยกระสุนจริงเสียงจะดังแน่นกว่า

ร.อ.เกริกเกียรติ เบิกความต่อว่าในวันที่ 14 พ.ค. นั้น ได้นำกำลังไปวางที่หน้าโรงหนังโอเอ อยู่ในซอยหลังกำแพง และช่วงเหตุการณ์รถตู้เข้ามานั้นตนกำลังพักจึงไม่ทราบเหตุการณ์ภายนอก  ทราบในช่วงเช้าจากที่มีรายงานทางวิทยุ และทราบแต่เพียงว่ามีคนเจ็บ ไม่ทราบว่ามีคนเสียชีวิต แต่ทราบในภายหลังจากหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว และอัยการได้เปิดวิดีโออีกครั้งเพื่อถามว่าเสียงปืนที่ดังเป็นปืนชนิดใด พยานตอบว่าไม่สามารถแยกได้

ทนายได้ซักถามถึงเรื่องอาวุธปืนของหน่วยที่นำมาใช้ว่ามีอะไรบ้าง ร.อ.เกริกเกียรติระบุว่ามี M16A1 และทาโวร์ ส่วนปืนลูกซองที่นำมาใช้ไม่ใช่ของหน่วยพึ่งได้รับมาในช่วงเหตุการณ์ ส่วนกระสุนหน่วยของตนใช้เป็นกระสุนหัวตะกั่วหุ้มทองแดง

และเขาไม่ทราบว่ามีหน่วยใดอยู่ที่บริเวณแอร์พอร์ตลิงค์บ้าง  ตนไม่ได้ประสานกับหน่วยข้างเคียงเพราะเป็นเรื่องของผู้บัญชาการ

พยานปากที่สี่ ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่าหน่วยของตนอยู่ฝั่งซ้ายของแอร์พอร์ตลิงค์ หากหันหน้าไปทางประตูน้ำหรือฝั่งคอนโด ไอดีโอ  พยานเบิกความเรื่องอาวุธไว้ว่าอาวุธประจำกายของตนคือ M16 และกระสุนซ้อมรบ(กระสุน แบลงค์) 20 นัด  ซึ่งติดมาจากลพบุรี และมีหลักเกณฑ์การใช้อาวุธก็ต่อเมื่อตนเองหรือคนอื่นจะได้รับอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และห้ามใช้อาวุธกับเด็ก สตรี และผู้ไม่มีอาวุธ

ส.อ.ชิตณรงค์เบิกความต่อว่า เวลาประมาณเที่ยงคืนได้ยินเสียงรถประชาสัมพันธ์บอกให้รถตู้กลับออกไป ให้ใช้เส้นทางอื่น เป็นเวลา 10 นาที ต่อมาได้ยินเสียงคล้ายเสียงปืนไม่ทราบทิศทาง เพราะเสียงก้อง ไม่ทราบจำนวนนัด รถตู้ได้มาหยุดที่ใต้แอร์พอร์ตลิงค์ ใกล้กับรถประชาสัมพันธ์ ในขณะนั้นไม่พบชายชุดดำ หรือคนอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร แต่เขาไม่ได้เข้าไปที่เกิดเหตุเนื่องจากไม่ได้รับคำสั่ง และเห็นรถพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ทราบภายหลังว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 1 คน และไม่ทราบว่าคนเสียชีวิตอยู่บนรถตู้หรือไม่ ส่วนกำลังพลของเขาไม่ได้รับบาดเจ็บและอาวุธไม่ได้ถูกแย่งชิงไป ทนายได้ซักถามเรื่องชายชุดดำว่าตามความเข้าใจของพยานชายชุดดำมีลักษณะอย่างไร  คือชายชุดดำถืออาวุธ หากใส่ชุดดำแต่ไม่ถืออาวุธไม่ใช่ชายชุดดำ

พยานปากที่ห้า ส.อ. วรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าหน่วยของตนอยู่ที่ฟุตปาธหน้าคอนโด ไอดีโอ แอร์พอร์ตลิงค์ ใกล้ตู้โทรศัพท์ ตรงร้านอินเดียฟู้ดส์ ซึ่งอยู่ที่เดียวกับ ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล เขาได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่า รถตู้ที่เกิดเหตุมาเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่า ออกมาจากซอยวัฒนวงศ์ หรือราชปรารภ 8 มีเสียงประกาศให้รถถอยกลับออกไปราว 10 นาที แต่ไม่มีใครลงจากรถหรือถอยกลับไป โดยขณะนั้นหน่วยของเขาอยู่ใกล้สุดคือห่างประมาร 80 ม. โดยปากซอยมีรั้วลวดหนามวางเอาไว้ด้วย อัยการได้ถามว่าได้มีการเข้าไปเตือนโดยตรงหรือไม่ พยานปฏิเสธว่าไม่ได้มีการเข้าไปเตือนโดยตรงเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นรถอะไร  จากนั้นรถได้ออกจากซอยวัฒนวงศ์เลี้ยวไปทางแอร์พอร์ตลิงค์ รถประชาสัมพันธ์ยังคงประกาศเตือนต่อ แต่รถตู้ยังวิ่งเข้าหา หลังจากนั้นได้ยินเสียงคล้ายเสียงปืนดังขึ้นแต่ไม่ทราบทิศทาง ขณะเกิดเหตุเขาหมอบหลบนอนราบกับพื้นอยู่ไม่ได้มองว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีใครได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ส่วนกำลังพลไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

อัยการได้ซักถามเรื่องชายชุดดำกับ ส.อ.วรากรณ์  เขาได้ยืนยันว่าตลอดเวลาที่อยู่ไม่ชายชุดดำ ไม่พบหน่วยอื่นนอกจากทหาร ส่วนฝั่งตรงข้ามบริเวณโรงแรมอินทรา ไม่ทราบว่ากลุ่มคนที่มายืนอยู่เป็นใคร อัยการสอบถามว่าหากไม่ทราบว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นใครแล้วได้มีการรายงานกับผู้บังคับบัญชาหรือไม่ เขาตอบว่าไม่มีการแจ้ง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้บังคับกองร้อย

 

นัดสืบเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555[5]

            พยาน

  1. ทหารจากปราจีนบุรี  2 นาย
  2. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด

การสืบพยานครั้งนี้พยานที่มาให้การทั้งหมดไม่ได้ให้การที่เกี่ยวข้องกับคดีพัน คำกอง เนื่องจากทหารจากปราจีนบุรี 2 คนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และให้การแต่ในส่วนของวันที่ 10 เมษายน  และ 1 ใน 2 คนนั้นเบิกความว่าถูกยิงที่เข่าจากเหตุการณ์ในช่วงบ่ายที่ถนนตะนาว โดยเขาได้เห็นชายคนหนึ่งชักปืนออกมายินตนเองด้วย

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เบิกความว่าตนไม่ทราบรายละเอียดเหตุการณ์ยิงรถตู้วันที่ 15 พ.ค. เพราะรับผิดชอบแต่ส่วนนโยบาย  แต่มีการเบิกความไล่เหตุการณ์ตั้งแต่ เริ่มการชุมนุม 12 มี.ค. และสาเหตุที่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าผู้ชุมนุมได้มีการบุกรัฐสภาและมีการยื้อแย่งอาวุธ แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ยึดตามหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ซึ่งท้ายสุดจะมีการยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้าหรือหากไม่ได้ผลก็จะมีการยิงไปในทิศทางที่ปลอดภัย ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่และจะยิงต่อเป้าหมายก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นจะทำร้าย ประทุษร้ายต่อประชาชนหรือเจ้าหน้าที่เท่านั้นและมุ่งให้หยุดการกระทำไม่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต

และให้การอีกว่า ในวันที่ 10 มีการขอคืนพื้นที่ จากผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า ในวันดังกล่าวมีการปะทะกันแต่ไม่มีใครเสียชีวิต กระทั่งก่อนเวลา 17.00 น. เนิ่มมีการปะทะกันมากขึ้น ขณะที่แสงสว่างกำลังจะหมด ศอฉ. จึงมีการสั่งให้หยุดปฏิบัติการและถอนกำลังออก แต่ที่สี่แยกคอกวัวไม่สามารถถอนกำลังออกได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมเอาไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขณะที่ชายชุดดำแฝงตัวมาในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธยิงเข้ามาจนทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว รวมถึงพ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมด้วย

พ.อ.สรรเสริญยังยืนยันถึงเรื่องมีคำสั่งถอนกำลังว่าเป็นจริงเมื่อถูกทนายซักถามถึง โดยเขาได้ตอบว่า มีมติให้สั่งถอนกำลัง โดยในที่ประชุมมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่วนตนเองเดินเข้าๆออกๆ สำหรับการสั่งการ ศอฉ. ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะใช้การสั่งการทางวิทยุ โดยแต่ละหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่วิทยุเข้าไปในที่ประชุมอยู่แล้วและสามารถสั่งการได้เลย นอกจากนี้ยังระบุว่าคำสั่งกระชับวงล้อมนั้นอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ตามเอกสารที่นำส่งศาล ส่วนจะใช้กำลังเท่าไหร่ อาวุธอะไรบ้างนั้นตนไม่ทราบรายละเอียด

ในวันนั้นในช่วงบ่ายที่บริเวณสะพานปิ่นเกล้าและถนนดินสอ มีผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าแย่งอาวุธของทหาร มีการนำไปแสดงบนเวทีแต่ไม่ได้ส่งคืน ทหารสามารถยึดคืนได้จำนวนมากแต่มีบางส่วนที่สูญหาย โดยแจ้งความไว้ที่สน.บางยี่ขัน ปืนที่หายได้แก่ ทาโวร์ 12 กระบอก ปืนลูกซอง 35 กระบอก

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวถึงการปรับกำลังในช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 10 เอาไว้ว่า ได้มีการปรับกำลังพลหลังจากที่พยายามผลักดันผู้ชุมนุมมานานแต่ไม่สำเร็จว่า ได้มีการปิดเส้นทางต่างๆ มากขึ้น และปรับกำลังในการรับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ โดยมี พล. 1 รอ. จำนวน 22 กองร้อย รักษาความสงบ และ 19 กองร้อย ปราบจลาจล เข้าปิดถนนเส้นทาง ราชปรารภ เพชรบุรี พญาไท ราชวิถี ศรีอยุธยาแต่ก็ยังไม่สำเร็จนักเนื่องจากมีตรอกซอกซอยเป็นจำนวนมากจนกระทั่ง วันที่ 19 พ.ค. 53 ศอฉ. มีคำสั่งกระชับวงล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาทหารถูกชายชุดดำโจมตีด้วย M79 แต่ทหารไม่ได้ไปจนถึงเวที

 

นัดสืบพยานวันที่ 11 กรกฎาคม 2555[6]

            พยาน

  1. พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต  ผกก.สภ.บ้านไร่ อ.ศรีสำโรง จว.สุโขทัย ผู้ควบคุมกองร้อยควบคุมฝูงชนตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัย
  2. พ.ต.ท.วีรเมศว์ วีรสุธีกุล สวป.สภ.ขาณุวรลักษบุรี จว.กำแพงเพชร ผู้ควบคุมกองร้อยควบคุมฝูงชนตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร
  3. ด.ต.ธีรพงษ์ เย็นใจราษฎร์  มาจากหน่วยเดียวกันกับพ.ต.ท .วีรเมศว์ ผู้ขับรถหกล้อในการขนส่งกองร้อยและในวันเกิดเหตุผู้ขับรถขนสัมภาระ

พยานคนแรก พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต เบิกความว่าในวันที่ 14 พ.ค. 53 ตนได้นำหน่วยเข้าไปกั้นถนนบนแยกจตุรทิศซึ่งมีกำลังพล 150 นาย ตามคำสั่งของทหาร  เนื่องจากเกรงว่าจะมีการปิดถนนจึงให้พยานได้เข้าไปเจรจาก่อนแต่เนื่องจากไม่สามารถคุมได้ทหารจึงจะนำรถน้ำมาใช้ฉีดประชาชน แต่กลับถูกปล่อยลมยางเสียก่อน ทหารจึงสั่งให้ถอยเพราะจะทำการ “ขอคืนพื้นที่” และจะมีการใช้แก๊ซน้ำตา  ตำรวจจึงไปหลบตามซอยต่างๆ จนกระทั่งถึง 16.00 น.  ตนจึงได้รับคำสั่งให้ตามกำลังกลับมา ซึ่งในเวลานั้นไม่มีประชาชนอยู่แล้วเหลือแต่ทหารที่ยึดพื้นที่ไว้ได้หมดแล้วโดยมีการกั้นลวดหนามทั้งสี่ทิศของแยกจตุรทิศ รถสัญจรไปมาไม่ได้แล้ว โดยเขาได้เบิกความต่ออีกว่า ได้มีการจัดกำลังตำรวจ 40 นาย อยู่เป็นแนวหลังของทหารใต้สะพานฝั่งไปซอยหมอเหล็ง ซึ่งเป็นถนนขนานกับสะพาน ส่วนกำลังพลที่เหลือได้พักที่บริษัทโตโยต้า

อัยการได้ถามพ.ต.อ.สุขเกษม ว่ากำลังพล 40 นายนั้นมีการติดอาวุธหรือไม่ เขาได้ตอบว่ามีเพียงตัวเปล่า ไม่มีอาวุธประจำกายแม้แต่โล่และกระบอง ซึ่งทหารได้สั่งให้หน่วยของตนระวังหลังให้ อัยการถามต่อว่าทหารในเวลานั้นมีอาวุธปืนหรือไม่ เขาตอบต่อว่ามีปืนลูกซองและปืนเล็กยาว ไม่แน่ใจว่าเป็น  M16 หรือ HK (HK 33)  ซึ่งพลทหารจะใช้ปืนลูกซอง ส่วนนายสิบขึ้นไปจะใช้ปืนเล็กยาว โดยมีทหารประจำอยู่กับหน่วยของพยานด้วย 1 ชุด และจะมีอยู่ตรงถนนราชปรารภทางไปประตูน้ำ แอร์พอร์ทลิงค์และทางไปโรงพยาบาลพญาไท 1

พ.ต.อ.สุขเกษมเบิกความต่อว่า หลัง 2 ทุ่ม จะมีประชาชนเข้าออกพื้นที่จึงได้มีการสอบถามและมีการตรวจค้น  ซึ่งช่วงหัวค่ำจะมีเสียงปืนดังตลอดจากทางประตูน้ำ แต่ไม่ได้ออกไปดู  และเบิกความถึงช่วงเกิดเหตุว่า หลังเที่ยงคืนได้ยินเสียงรถประกาศของทหารบอกรถตู้อย่าเข้ามาสักพักไม่กี่นาที  ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดหลังจากเสียงสงบลงตนก็ได้มองดูเห็นรถตู้จอดอยู่ใกล้รถประกาศของทหาร ตอนประชุม 10 โมงเช้า ตนได้เห็นรอยกระสุนปืนบนรถตู้หลายสิบรอย  อัยการถามว่าทราบเหตุการณ์ยิงรถตู้หรือไม่ เขาตอบว่า ตนเข้าใจว่าเป็นการยิงเพื่อหยุดรถไม่เข้ามา และอธิบายเพิ่มว่า เพราะรถกำลังจะเข้ามาที่กองบัญชาการ ทหารจึงยิงเพื่อหยุด และพ.ต.อ.สุขเกษมได้ปฏิเสธว่าไม่พบเห็นชายชุดดำและไม่มีการพูดในที่ประชุมเมื่ออัยการถามเขาว่าได้พบเห็นชายชุดดำบ้างหรือไม่  เขาได้ให้เล่าถึงการใช้รถประกาศของทหารว่า เสียงจากรถทหารนั้นจะได้ยินเสียงประกาศเตือนตั้งแต่ช่วงหัวค่ำซึ่งจะถี่ เช่นมีคนข้าม หรือรถแท็กซี่เข้ามาก็จะมีการประกาศเตือน แต่พอดึกแล้วจะไม่ถี่

พยานคนที่สองพ.ต.ท .วีรเมศว์ วีรสุธีกุล  และสามคือ ด.ต.ธีรพงษ์ เย็นใจราษฎร์ เบิกความว่าเห็นทหารในพื้นที่ถือปืนยาว M16 และลูกซอง ไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารถือโล่และกระบองหรือไม่ ส่วนตัวเขาเองมีปืนพก แต่ไม่ได้นำมาออกมาใช้

 

นัดสืบพยาน 18 กรกฎาคม 2555[7]

            พยาน

  1. พ.ต.ท. ธีรนันต์ นคินทร์พงษ์  กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  2. พยานจากกองพิสูจน์หลักฐานอีก 3 นาย

พยานที่มาในการสืบพยานครั้งนี้เป็นเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐาน เบิกความเกี่ยวกับการพิสูจน์หัวกระสุนที่พบในตัวนายพัน คำกอง โดยมีการเบิกความว่าหัวกระสุนที่พบในร่างนายพันนั้นเป็นกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มม.)  ซึ่งใช้กับปืนเล็กกลและไรเฟิลได้ เช่น M16, HK และทาโวร์ และเป็นกระสุนชนิดเดียวกับที่ใช้ในปืนของทหารที่นำส่งตรวจ แต่ลักษณะรอยตำหนิพิเศษของหัวกระสุนที่ยิงจากปืนที่ได้มีการส่งตรวจนั้น  ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นปืนกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงนายพันหรือไม่  โดยรอยตำหนินั้นในการยิงจากปืนแต่ละกระบอกนั้นจะไม่เหมือนกันตามลำกล้องของปืนแต่ละกระบอก แต่ลำกล้องปืนนั้นสามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้และหากมีการเปลี่ยนลำกล้องปืนก็จะไม่สามารถยืนยันได้

พ.ต.ท. ธีรนันต์ นคินทร์พงษ์  ได้เบิกความว่า  การพิสูจน์เปรียบเทียบหัวกระสุนที่อยู่ในร่างผู้เสียชีวิตกับอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้ในการปฏบัติการในพื้นที่ดังกล่าว โดยหน่วยงานตรวจสอบได้รับมอบปืนกลเล็ก 5 กระบอก ของ ป.พัน.31 รอ.  ในวันที่ 1 มิ.ย. 54  จากพนักงานสอบสวนพญาไทอีกที โดยเขาได้บอกว่า “ปรากฎว่ากระสุนของกลาง ไม่ได้ใช้ยิงมาจากปืนทั้ง 5 กระบอกนี้”

อัยการได้มีการสอบถามถึงเหตุที่ไม่เหมือนกัน เขาได้ตอบว่า พิจารณาจากตำหนิรอยร่องเกลียว ซึ่งเกิดจากการที่กระสุนวิ่งผ่านลำกล้องปืน โดยแต่ละกระบอกนั้นตำหนิจะไม่ซ้ำกัน[8]  และลำกล้องปืนนั้นสามารถถอดเปลี่ยนได้ และได้ตอบอีกว่า กระสุนที่พบในร่างนายพันเป็นกระสุนปืนเล็กกล .223 ซึ่งสามารถใช้กับปืนเล็กกลและปืนไรเฟิลได้ เช่น  M16, HK และทาโวร์ เป็นต้น และกระสุนปืนที่พบนั้นสามารถใช้ยิงจากปืนของทหารที่นำมาส่งตรวจได้

ทนายได้มีการซักถามว่าปืนที่ใช้ก่อเหตุนั้นได้มีการเปลี่ยนลำกล้องก่อนส่งตรวจจะสามารถยืนยันว่ากระสุนนั้นมาจากปืนที่ส่งตรวจได้หรือไม่ เขาได้ตอบว่าไม่ได้เนื่องจากจะทำให้รอยตำหนิเปลี่ยนไป และศาลได้ถามว่าขณะยิงจะมีไฟออกที่ปากกระบอกปืนหรือไม่ เขาตอบว่ามีแต่ไม่มากเนื่องจากมีปล่องควบคุม

นัดสืบพยาน 24 กรกฎาคม 2555[9]

            พยาน

  1. พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม  ผู้เชี่ยวชายด้านอาวุธปืน ทำหน้าที่ตรวจสอบอาวุธปืน
  2. พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  3. พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุนปืน สตช. ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน
  4. พยานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานอีก 3 นาย (รอเช็ค)

พยานที่มาในวันนี้ได้มีการเบิกความว่าหัวกระสุนที่อยู่ในร่างนายพัน คำกองเป็นกระสุนปืนเล็กกล ทองแดงหุ้มเหล็กและตะกั่ว ขนาด .223(5.56 มม.) แบบ M 855 ซึ่งสามารถใช้กับปืนเล็กกล เช่น  M16 และทาโวร์ เป็นกระสุนชนิดเดียวกันกับที่อยู่ในร่างนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู่ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์เดียวกัน รวมทั้งยังเป็นกระสุนชนิดเดียวกันที่ใช้กับปืนของเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.1 พัน 3 รอ และ ป.พัน 31 รอ. ที่พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ส่งมาให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจ

โดยลักษณะรอยตำหนิพิเศษของหัวกระสุนที่ถูกยิงจากลำกล้องของปืนที่ส่งตรวจนั้น ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นปืนกระบอกเดียวกันกับที่ใช้ยิงผู้ตาย เนื่องจากตำหนิจะเกิดจากลำกล้องปืนแต่ละกระบอกที่ไม่เหมือนกันแต่หากมีการเปลี่ยนลำกล้องเจ้าที่พิสูขน์หลักฐานยืนยันว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้

พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ได้เบิกความว่าลำกล้องของเจ้าหน้าที่ว่าตัวลำกล้องไม่มีหมายเลขประทับ ไม่มีการตอกหมายเลข และการเปลี่ยนลำกล้องนั้นสามารถทำได้หากเจ้าหน้าที่ในภาคสนามมีความสามารถที่จะเปลี่ยนโดยการเปลี่ยนลำกล้องปืนนั้นใช้เวลาเพียง 15 นาที

ทนายได้ซัก พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก ถึงการยิงสกัดรถตู้ที่ไม่ได้หมายชีวิตกับการยิงเพื่อหมายชีวิตแตกต่างกันหรือไม่ เขาได้ตอบว่าแตกต่างกัน โดยการยิงที่ไม่ได้ต้องการเอาชีวิตจะยิงในส่วนที่ไม่สำคัญหรือยิงที่บริเวณล้อรถ  จากนั้นทนายได้นำรูปรถตู้ของนายสมรให้เขาดู พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ได้ตอบว่ารอยกระสุนบนรนั้นเชื่อได้ว่าเป็นการยิงซึ่งอาจจะมีผลต่อชีวิตได้

พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัยได้เบิกความว่าตามรูปถ่ายรถตู้จุดที่กระสุนเข้ามากที่สุดเป็นประตูด้านขวาฝั่งคนขับ  ทนายได้ถามว่าหากยิงเพื่อสกัดหยุดรถควรจะทำอย่างไร เขาได้ตอบว่าควรจะยิงที่ยางหรือห้องเครื่อง และศาลได้ถามอีกว่าการยิงมาที่ตำแหน่งคนขับตามภาพแสดงว่าอะไร เขาได้ตอบอีกว่า  “คิดว่ามีลักษณะที่คาดว่ายิงให้คนขับถึงแก่ชีวิต”

อัยการได้เปิดวิดีโอของนายคมสันติ ทองมาก อดีตช่างภาพเนชั่นแชนเนล ที่ถ่ายไว้เมื่อคืนวันที่ 14 พ.ค. 53 ให้พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ดู  และเขาได้เบิกความว่ามีความเป็นไปได้สูงว่ารถตู้คันดังกล่าวถูกยิงด้วยอาวุธสงคราม และศาลได้ถามว่าอะไรคืออาวุธสงคราม เขาอธิบายว่าคือปืนเล็กกล หรือเรียกว่า M16 และบอกในวิดีโอดังกล่าวมีทหารถือ M16 และปืนลูกซองด้วย

 

นัดสืบพยาน วันที่ 25 กรกฎาคม 2555[10]

            พยาน     

  1. พ.ต.ท.สมิต นันท์นฤมิตร  พนักงานสอบสวน สน.พญาไท
  2. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมต.ไอซีที ในช่วงเหตุการณ์เป็นเลขาธิการศูนย์ติดตามช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยของประชาชน(ศชปป.)

พ.ต.ท. สมิต นันท์นฤมิตร ได้เบิกความว่า วันเกิดเหตุหลังจากที่ผู้ตายนำรถแท็กซี่ไปส่งที่อู่ แล้วเดินกลับที่พัก แต่ไม่สามารถกลับได้จึงไปพักกับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คอนโดไอดีโอ  ขณะเกิดเหตุมีเสียงทหารประกาศเตือนห้ามรถตู้ของนายสมร ไหมทองที่ขับเข้ามาบริเวณนั้น  จากนั้นมีการยิงสกัดรถตู้ ทำให้นายพันที่อยู่บริเวณนั้นถูกยิงด้วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ผลการตรวจหัวกระสุนในร่างนายพัน คำกองและนายสมร ไหมทอง เป็นกระสุนปืนความเร็วสูง และทหารมีกระสุนชนิดนี้ใช้ พร้อมทั้งในพื้นที่เกิดเหตุอยู่ในการควบคุมของทหาร และจากการตรวจที่เกิดเหตุพบว่าแนวบังเกอร์ทหาร รถตู้นายสมรที่ถูกยิง และบริเวณสำนักงานขายคอนโดไอดีโอ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ตายอยู่เป็นจุดที่แนววิถีตรงกัน พนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้เบิกความต่อศาลถึงการสรุปสำนวนคดีนี้ว่า นายพัน คำกองเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ยิงรถตู้นายสมร ไหมทอง แล้วพลาดไปโดน

พยานคนถัดมา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เบิกความว่า ในการสลายการชุมนุมมีการใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าจำนวนมาก ซึ่งกระสุนจะตกกลับลงมาซึ่งกระสุนที่ตกลงมานั้นสามารถทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ และในระดับสากลนั้นการสลายการชุมนุมนั้นจะต้องมีการประกาศล่วงหน้าแต่ไม่มีการประกาศล่วงหน้า  ในวันที่ 10 เม.ย. 53 นั้น มีการใช้แก๊สน้ำตามาจากอากาศยาน(เฮลิคอปเตอร์) ลงมาในที่ชุมนุมที่มีคนจำนวนมากและไม่มีการประกาศเตือน ทั้งที่น้ำหนักของกระป๋องแก๊สน้ำตา ที่ตกลงมาก็มีความอันตราย

อัยการได้ถามถึงลำดับการบังคับบัญชาในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร น.อ.อนุดิษฐ์ได้อธิบายว่าจะต้องสั่งลงมาตามลำดับขั้นแม้สุดท้ายผู้บังคับกองพันจะเป็นคนสั่งให้พลทหารภายใต้สังกัดตัวเองบรรจุกระสุน แต่ผู้พันเองก็ไม่มีอำนาจไปสั่งให้ใครยิงได้จนกว่าผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าจะสั่งการลงมาเพราะฉะนั้นในการปฏิบัติการทางทหารผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวคือผู้บังคับบัญชาที่สูงที่สุดในการกำกับดูแล อัยการได้ถามว่าผู้บังคับบัญชาสูงสุดในขณะนั้นคือใครเขาได้ตอบว่าถ้าดูคำสั่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถือเป็นผู้กำกับการปฏิบัติการ ซึ่งได้ถูกแต่งตั้งโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อัยการถามต่ออีกว่ากรณีแบบนี้นายกรัฐมนตรีจะพ้นความรับผิดชอบที่ได้จัดตั้ง ศอฉ.  แต่งตั้งผู้อำนวยการ ศอฉ. ได้หรือไม่ น.อ.อนุดิษฐ์ เบิกความว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ให้ภาระความรับผิดชอบในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แล้วการดำเนินการดังกล่าวแล้วไม่สามารถทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ตั้งแต่ 10 เม.ย. ถึง 19 พ.ค.53 ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทนายได้สอบถามในประเด็นนี้ต่อว่าถึงรัฐบาลขณะนั้นได้มีการพยายามหยุดยั้งการตายและเจ็บหรือไม่ เขาได้ตอบว่า ยังคงมีอย่างต่อเนื่องภายหลังจาก 110 เม.ย. 53 เพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารและอาวุธ

น.อ.อนุดิษฐ์ ยังได้เบิกความถึงการสลายการชุมนุมในปี 2552 ที่นำมาสู่การบาดเจ็บ  ในภายหลังเหตุการณ์ทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของแต่ละคณะกรรมาธิการ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการใช้กำลังในช่วงตี 2 – 3 ของวันที่ 12 เม.ย.52 ที่เข้าสลายการชุมนุมผู้ชุมนุมที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และผลักดันที่ทำเนียบรัฐบาลภายหลังนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมาธิการทุกชุดที่ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้สรุปการสลายการชุมนุมในเวลากลางคืนโดยกำลังทหารและอาวุธสงคราม กระสุนจริง ไม่สามารถทำได้ จะสลายได้เฉพาะเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจนตก ส่วนการใช้กระสุนจริงจะกระทำไม่ได้

น.อ.อนุดิษฐ์ได้เบิกความว่าในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน พ.ค.53 เขาและส.ส.หลายคนได้มีการใช้ช่องทางสื่อสารของรัฐบาลทั้งทีวีและวิทยุ เช่น ช่อง 3 และช่อง 11 ให้ฝ่ายค้านได้ทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้การสถานการณ์คลี่คลายแต่ถูกปฏิเสธ  ทนายได้ถามความเห็นเขาว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณมักอ้างถึงชายชุดดำยิงผู้ชุมนุมหรือผู้ชุมนุมยิงกันเอง เขาได้ตอบว่า “จะเกิดจากชายชุดดำอย่างไรเป็นเรื่องที่รัฐบาลขณะนั้นต้องพิสูจน์ แต่หน้าที่ของรัฐบาลต้องปกป้องประชาชน ไม่ใช่นำเอาอาวุธมาดำเนินการกับประชาชน”

ศาลได้ถามน.อ.อนุดิษฐ์เกี่ยวกับวิดีโอที่ถ่ายโดยนายคมสันต์ ทองมาก ว่ามีชายชุดดำหรือไม่ เขาได้ตอบว่าเป็นไปไม่ได้ ในทางการทหารพื้นที่นั้นได้ถูก “สถาปนาพื้นที่” ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีแต่กำลังทหาร การวางกำลังนั้นจะไมได้มีการวางเพียงแนวเดียวแต่จะมีการวางกำลังแนวหน้า รวมไปถึงแนวหลัง แนวสนับสนุน เป็นต้น เพราะฉะนั้นแนวปะทะแบบในวิดีโอ ตรงนั้นจะเป็นส่วนแนวหน้า เพราะฉะนั้นในแนวอื่นจะไม่อนุญาตให้ชายชุดดำมาอยู่ร่วมกับแนวหน้าได้เลย ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้

 

นัดสืบพยานวันที่ 21 สิงหาคม 2555(เลื่อน)[11]

            พยาน

  1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
  2. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ เป็นผอ.ศอฉ. ในช่วงสลายการชุมนุม

ไม่มีการสืบพยานเนื่องจากมีการขอเลื่อนนัด 15 วัน โดยนายสุเทพอ้างว่าหมายศาลที่ส่งมาให้นั้นส่งมาให้กระชั้นชิดเกินไปโดยเขาได้รับหมายเรียกเมื่อวันที่ 15-16 ส.ค. 55  จึงทำให้เตรียมข้อมูลไม่ทัน

นัดสืบพยานวันที่ 28 สิงหาคม 2555(เลื่อน)[12]

            พยาน 

  1. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.
  2. พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 1

ไม่มีการสืบพยาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขอเลื่อนเนื่องจากติดภารกิจ ส่วนพล.อ.คณิต สาพิทักษ์ขอเลื่อนเพราะต้องไปดูงานต่างประเทศ  ทนายได้กล่าวด้วยว่ายังคงติดใจอยู่จากการขอเลื่อนดังกล่าว เนื่องจากพยานซึ่งขอหมายเรียกไปนั้นก็เพื่อต้องการได้ข้อเท็จจริงจากพยานแต่ละปาก ซึ่งถ้าพยานแต่ละปากมา ก็จะได้ทราบว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างไร แต่ศาลก็เห็นว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงที่ผ่านมามีข้อมูลเพียงพอที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคดี (การเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐ) ได้แล้ว

 

นัดสืบพยานวันที่ 30 สิงหาคม 2555[13]

            พยาน

  1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและเป็นผอ.ศอฉ. ในช่ววงสลายการชุมนุม
  2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมันตรี
  3. พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ มีตำแหน่ง รักษาการ ผบ.ตร. ในขณะนั้น

พยานปากแรก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความว่า เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ได้ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า และยึดถนนราชดำเนิน นายกรัฐมนตรีจึงใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ตั้ง ศอรส.  โดยได้รับการอนุมัติจาก ครม.  เพื่อคลี่คลายสถานการณ์แต่ต่อมาผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ คุกคามการใช้ชีวิตโดยสงบของประชาชนทั่วไป มีการก่อเหตุร้าย ยิงปืน M 79 ระเบิดชนิดขว้าง ใส่สถานที่ราชการและเอกชน จนเกิดความหวาดหวั่น ปลุกระดมด้วยข้อความที่ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลและสถาบันอันเป็นที่เคารพ   และหลังจากผู้ชุมนุมบุก ก.ก.ต.และรัฐสภา พร้อมด้วยอาวุธ และเข้ายึดอาวุธจากเจ้าหน้าที่ ครม.จึงเห็นชอบประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เมื่อ 7 เมษายน 2553 พร้อมมอบหมายให้เขาเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. เพื่อป้องกันเหตุร้าย คลี่คลายสถานการณ์ให้ปกติสุข และดำรงไว้ซึ่งอำนาจรัฐและความมั่นคงปลอดภัยของบ้านเมือง

นายสุเทพ เบิกความต่อว่า ศอฉ.มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการระดมกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อป้องกันยับยั้งเหตุร้าย โดยสายบังคับบัญชายังมีอยู่ตามปกติ   ทั้งนี้เขายืนยันว่า ศอฉ.ไม่เคยมีคำสั่งสลายการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว โดยตลอดเวลา 2 เดือนครึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นการแก้ไขตามสถานการณ์ในแต่ละเวลา เช่น เมื่อ นปช.ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า และยึดราชดำเนินทั้งสาย ทั้งยังยึดสี่แยกราชประสงค์ ก่อให้เกิดปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ อย่างรุนแรง ศอฉ.จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุม เพื่อขอคืนพื้นที่บางส่วน เพื่อแก้ปัญหาจราจรตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และการผลักดันผู้ชุมนุม ไม่ใช่การสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังบังคับให้เลิกโดยเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการดันให้ผู้ชุมนุมถอยร่น เพื่อคืนพื้นที่บางส่วนสำหรับใช้ในการจราจร

นายสุเทพได้เบิกความอธิบายการปฏิบัติการในวันที่ 10 เมษายน เอาไว้ว่า ศอฉ. มีคำสั่ง 1/53 ระบุวิธีปฏิบัติในการควบคุมฝูงชน โดยสาระสำคัญในการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอยู่ในภาคผนวก 9 ว่าด้วยการใช้กำลัง ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามหลักสากล ตั้งแต่ โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองกระสุนยาง ซึ่งมีการแจ้งให้ประชาชนและผู้ชุมนุมทราบโดยตลอด ทั้งนี้ รับว่าหนังสือดังกล่าวประทับตรา “ลับมาก” ไม่เผยแพร่สู่ประชาชนตามระเบียบของราชการ แต่ ศอฉ.และรัฐบาลก็ได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยตลอด   ในส่วนของการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ในแถวหน้าจะให้ถือโล่ กระบอง แถวถัดมาเป็นรถฉีดน้ำ และปืนลูกซอง  มีการอนุญาตให้มีอาวุธปืนเล็กยาวได้ไม่เกิน 10 คนต่อหน่วย โดยคนถือจะต้องเป็นผู้บังคับหมู่ขึ้นไป เพื่อใช้ป้องกันหน่วย หรือประชาชนกรณีมีเหตุร้าย ซึ่งเป็นปกติที่กำหนดไว้ในกฎการใช้กำลัง  แต่มีคำสั่งกำชับชัดเจนให้ใช้เมื่อพบผู้กระทำผิดซึ่งหน้า และจะเกิดอันตรายถึงชีวิตแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน

ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ปฏิบัติการเริ่มในเวลา  13.00 น. และหยุดเมื่อ 18.15 น. เนื่องจากเห็นว่าใกล้ค่ำจึงให้ทุกหน่วยหยุด ณ จุดที่ไปได้ถึง แต่ปรากฎว่ามีผู้ชุมนุมล้อมรถพาหนะของเจ้าหน้าที่และแย่ง M16 ทาโวร์ ไปจำนวนมาก แกนนำมีการปลุกระดม เกิดการปะทะด้วยความรุนแรงขึ้น และเนื่องจากมีลม ทำให้แก๊สน้ำตาจากพื้นดินไม่ได้ผล ศอฉ. จึงสั่งให้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวและแก๊สน้ำตาทางอากาศ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงเจ้าหน้าที่ เมื่อถึงเวลาทุ่มเศษ มีกองกำลังชุดดำใช้อาวุธสงครามยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชน มีผู้บาดเจ็บล้มตาย เมื่อศอฉ. สั่งถอนกำลัง ปรากฎว่ามีการปิดล้อมเจ้าหน้าที่ ใช้ M79 และปืนเล็กยาว ยิงใส่เจ้าหน้าที่ รวมถึงใช้ระเบิดขว้าง ศอฉ.จึงอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนยิงขู่เพื่อป้องกันตนเองได้ แต่ก็ไม่สามารถจับชายชุดดำได้แม้แต่คนเดียวเนื่องจากเข้าไม่ถึงตัวและปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม

แต่มีตำรวจสายตรวจของนครบาลสามารถแย่งชิงอาวุธจากชายชุดดำได้ 1 ราย เป็น M79 มา หลังเหตุการณ์ 10 เมษายน ได้มีการกำหนดมาตราการป้องกันการสูญเสียและบาดเจ็บ เช่น ให้เจ้าหน้าที่ตั้งหน่วยอยู่กับที่ รักษาระยะห่างอย่างน้อย 150 ม. ด่านตรวจมีที่กำบัง และเขาปฏิเสธว่า ไม่มีการอนุญาตให้มีการซุ่มยิง เพราะไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน การอนุมัติใช้อาวุธมีลำดับขั้นตอนตามความรุนแรงของสถานการณ์โดยหลังเกิดเหตุ 10 เม.ย. ได้อนุญาตให้ใช้ปืนลูกซองกระสุนลูกปราย เพื่อระงับเหตุและไม่ประสงค์ชีวิตประชาชน โดยต้องเล็งยิงในระดับต่ำกว่าเข่าลงไป ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตามถนน ได้ถูกผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามโจมตี จึงอนุญาตให้มีปืนเล็กยาวป้องกันตัวจากนั้นเมื่อผู้ก่อการร้ายซุ่มยิงจากตึกสูง จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่สูงข่มรอบบริเวณเพื่อไม่ให้มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้

นายสุเทพได้เบิกความถึงกรณีการเสียชีวิตของนายพัน คำกองว่าจากการสอบถามคณะตัวแทนของ พล.ร.1 เพื่อชี้แจงต่อสภาหลังเหตุการณ์ ได้ข้อมูลว่า เช้ามืดวันที่ 15 พ.ค. มีรถตู้ฝ่ามาบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มีการโจมตีชุลมุน ไม่รู้ใครเป็นใคร เมื่อเหตุสงบพบผู้เสียชีวิต 2 ราย รายหนึ่งคือนายพัน คำกอง เสียชีวิตใกล้บังเกอร์เจ้าหน้าที่แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ อีกรายคือเด็กชายคุณากร (ศรีสุวรรณ)  ซึ่งถูกยิงในซอยข้างโรงหนัง นอกวิถีกระสุนของเจ้าหน้าที่ และเมื่อทนายได้เปิดภาพรถตู้ที่มีรอยกระสุนบริเวณกระจกข้าง เขาได้ตอบว่า ไม่ทราบว่าใครเป้นคนยิง แต่เจ้าหน้าที่จะยิงแบบนี้ไม่ได้

อัยการซักถามถึงเรื่องชายชุดดำ นายสุเทพได้เบิกความว่า ชายชุดดำปรากฎชัดเจนในช่วงค่ำของวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งมีการขอคืนพื้นที่โดยจากเหตุทั้งหมดมีที่จับกุมได้บางส่วน และส่งให้ดีเอสไอดำเนินคดีก่อการร้าย

และมีการเปิดวิดีโอของช่างภาพเนชั่น ศาลได้ถามว่าในคำสั่งของ ศอฉ. เกี่ยวกับการใช้อาวุธระบุว่าห้ามใช้ปืนยิงอัตโนมัติ แต่ในคลิปดังกล่าวมีเสียงปืนอัตโนมัติ ผิดหรือไม่ นายสุเทพตอบว่า ในภาพไม่เห็นว่าใครยิง และมีปืนกี่กระบอก ได้ยินแต่เสียง อาจจะเป็นการยิงพร้อมๆ กันก็ได้

พยานปากที่สอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  เบิกความยืนยันว่าไม่มีการสั่งให้สลายการชุมนุม ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและขอคืนพื้นที่  รัฐบาลได้ขอให้ศาลแพ่งวินิจฉัยว่ากระทำได้เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้มีหลักการปฏิบัติตามความเหมาะสมและจำเป็น แต่เขากล่าวต่อมาว่าไม่ทราบรายละเอียดการปฏิบัติและไม่ทราบว่าในการปฏิบัติจริง มีการทำคำสั่งหรือไม่ แต่มีรายงานว่าได้ดำเนินตามนโยบายที่ให้ไว้

เขาได้กล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. เอาไว้ว่า ขณะที่มีการปฏิบัติการอยู่ยังไม่มีรายงานการเสียชึวิต จนเมื่อมีการหยุดปฏิบัติการในช่วงใกล้ค่ำ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ถูกโอบล้อม และมีการใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่   จึงมีการรายงานการสูญเสียครั้งแรก  และตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. มีรายงานว่ามีผู้ติดอาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่ที่ด่านรอบที่ชุมนุม โดยมีการลำเลียงอาวุธจากในที่ชุมนุม

แต่เขาได้กล่วถึงการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นว่ายังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากยังไม่มีรายงานว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยยกตัวอย่าง เช่น การเสียชีวิตจาก M79 ว่าไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไมได้มีการใช้ M79  ส่วนการเสียชีวิตที่เกิดจากการยิง ต้องรอสอบสวนเนื่องจากมีการปล้นอาวุธของเจ้าหน้าที่และนำไปใช้ และทราบว่ามีกลุ่มติดอาวุธในผู้ชุมนุมจากวิดีโอ ได้มีการดำเนินคดีไปแล้วบางส่วนแต่เขาจำรายละเอียดไม่ได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าได้พยายามเจรจากับแกนนำ นปช. หลายครั้ง มีการประกาศแผนปรองดอง กำหนดวันยุบสภา แต่แกนนำไม่ยอมยุติการชุมนุมและเปลี่ยนเงื่อนไขการเจรจา รัฐบาลจึงมีนโยบายกระชับวงล้อมเพื่อกดดันให้ยุติการชุมนุมโดยไม่สลายการชุมนุม เช่นเดียวกับการชุมนุมในปี 2552 และเขาได้ปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าใครสั่งให้เคลื่อนพลใช้กำลังพร้อมอธิบายว่าการใช้คำว่าขอคืนพื้นที่ เป็นการอธิบายตามความจริง ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงคำว่าสลายการชุมนุม โดยวันนั้นขอคืนพื้นที่สวนลุมพินี การชุมนุมที่ราชประสงค์ก็ยังทำได้ แต่ถ้าเป็นการสลายการชุมนุมจะไม่เป็นเช่นนั้น

เขาได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวัดปทุมฯ เอาไว้ว่ามีการโทรขอความช่วยเหลือจากนักข่าว นสพ. อินดิเพนเดนท์ กับทางรัฐบาล  แต่หน่วยพยาบาลที่เข้าไปถูกซู่มยิง และมีการรายงานอย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าชายชุดดำในวัดปทุมฯ มีการต่อสู้ ข่มขู่ทวงหนี้กันด้วย

พยานคนสุดท้าย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เบิกความว่าหลังการประกาศ พรก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ. ซึ่งในการประชุม ศอฉ. มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณนั่งอยู่ในการประชุมด้วยทุกครั้งตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม  มีการให้ตำรวจหาข่าวตลอด ทั้งตำรวจในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ   ในช่วงแรก มีการใช้ตำรวจ 70 กองร้อย กองร้อยละ 155 คน โดยจะขึ้นตรงต่อกองทัพภาคที่ 1 ต่อมาหลัง 14 พ.ค. ได้เปลี่ยนมาขึ้นตรงกับ ศอฉ. เนื่องจากมีการชุมนุมในต่างจังหวัดด้วย แต่ความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 1 อยู่แค่ในกรุงเทพฯจึงต้องเปลี่ยนไปขึ้นกับ ศอฉ. แทน

เขาได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย.53 ว่า  ตนเองไม่ทราบว่าใครควบคุมการสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ แต่ทราบว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายยุทธการของทหาร โดยจะจัดกำลังเป็น 3 ชั้น  ชั้น 2 และ 3  เป็นกำลังตำรวจ ส่วนชั้นแรกจะเป็นของหน่วยงานอื่น และไม่ทราบถึงรายละเอียดการใช้กำลังและวิธีปฏิบัติ เนื่องจากตนเองดูแลนโยบายเท่านั้น  ในส่วนของราชประสงค์กำลังเป็นของฝ่ายทหารไม่ทราบว่าฝ่ายใดปิดล้อม โดยกำลังตำรวจนั้นยังอยู่ชั้นที่ 2-3 เหมือนเดิม

ส่วนอาวุธที่ตำรวจใช้ในวันที่ 10 เม.ย. นั้นมีเพียงโล่ กระบองเท่านั้นไม่มีอาวุธอื่น จนในช่วงหลังมีการอนุญาตให้พกปืนพกได้ เนื่องจากมีตำรวจเสียชีวิต 2 นาย จากการโดนยิงที่ท้อง 1 นาย และ M79 1 นาย  นอกจากนี้ ศอฉ. ให้เจ้าพนักงานใช้ปนลูกซอง และปืนเล็กยาวเพื่องป้องกันตนเองได้ โดยสมควรแก่เหตุ โดยมีการทำหนังสือย้ำหลักปฏิบัติตลอด

ส่วนการเสียชีวิตนั้นเขาไม่ทราบถึงรายงานการเสียชีวิต รวมถึงนายพัน คำกอง ที่จัดทำโดยตำรวจนครบาล พญาไท และเขายังกล่าวอีกว่าโดยปกติเมื่อเกิดการเสียชีวิตจะต้องเข้าไปตรวจสอบโดยเร็วแต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากติดรั้วลวดหนาม และมีการปะทะกัน  ต่อมาจึงได้ไปที่โรงพยาบาลพญาไทที่ศพตั้งอยู่

เขายังกล่าวอีกว่า หากมีการสลายการชุมนุมโดยตำรวจจะต้องได้รับรายงาน แต่ที่ผ่านมาไม่พบกรณีเจ้าหน้าที่ถูกลงโทษทางวินัยจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หากมีการทำเกินกว่าเหตุ เขาในฐานะผบ.ตร. เจ้าพนักงานตำรวจผู้ที่กระทำจะต้องรับผิดชอบ

 

ศาลออกคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ วันที่ 17 กันยายน 2555[14]

ศาลได้มีคำสั่งว่าผู้ตาย นายพัน คำกอง ตายที่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียม ชื่อไอดีโอ ตอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 เวลาก่อนเที่ยงคืน เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223(5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของ ศอฉ.

อ่านคำสั่งศาลการไต่สวนการตายของพัน คำกอง

 


[4] การยิงต่อเนื่องของกระสุนแบลงค์จะสามารถทำได้โดยการติดอแดปเตรอ์ที่ปลายปากกระบอกปืนเท่านั้น แต่จากภาพและคลิป ที่เห็นไม่มีการติดอแดปเตอร์ดังกล่าวทั้งตอนตั้งแถวในช่วงกลางวันและขณธเกิดการยิงในช่วงกลางคืน แต่การยิงนั้นเป็นการยิงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำได้จะต้องเป็นกระสุนจริงเท่านั้น

[8] การพิสูจน์จะทำโดยการนำปืนที่ส่งพิสูจน์ไปทดลองยิง แล้วนำหัวกระสุนมาเปรียบเทียบรอยตำหนิ ซึ่งลำกล้องของปืนแต่ละกระบอกจะมีการเซาะร่องเกลียวเอาไว้เพื่อทำให้กระสุนหมุน ซึ่งเกลียวที่ว่านี้จะทำให้เกิดรอยบนหัวกระสุนที่ยิงออกไป ซึ่งลำกล้องแต่ละอันจะมีร่องเกลียวที่แตกต่างกันไป  และลำกล้องนี้เป็นอะไหล่ 1 ชิ้นในปืน ซึ่งสามารถทำการถอดเปลี่ยนได้ เมื่อเปลี่ยนแล้วกระสุนที่ยิงออกจากปืนกระบอกเดียวกันแต่มีการเปลี่ยนลำกล้อง ก็จะมีตำหนิต่างไปอีก

 

แผนที่ผู้เสียชีวิตวันที่ 16 พฤษภาคม 2553: บ่อนไก่-พระรามสี่

กดที่ร่างผู้เสียชีวิตเพื่ออ่านรายละเอียดรายบุคคล

ในเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม มีฝนตกเวลาประมาณ 8.30 น. ขณะที่บริเวณบ่อนไก่ สีลมถูกควบคุมกำกับโดย ศอฉ. ตลอดถนนพระราม 4 จนถึงแนวตั้งรับของฝ่ายผู้ชุมนุม ตามแนวตึกบนถนนสีลมตลอดทั้งสาย หลังฝนตก ฝ่ายผู้ชุมนุมได้วางยางรถยนต์เผาไฟเป็นแนวเพื่อลดการมองเห็นและป้องกันการถูกยิงจากสไนเปอร์ โดยเฉพาะ

จากทิศทางที่ตั้งของกองกำลังร่วมของ ศอฉ. ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตที่บ่อนไก่มากที่สุดถึง 7 คน คือ นายสมชาย พระสุพรรณ, นายสุพรรณ ทุมทอง, นายวุฒิชัย วราห์คำ, นายเฉลียว ดีรื่นรัมย์, นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล, นายประจวบ ประจวบสุข และนายสมัย ทัดแก้ว

อ่านเพิ่มเติมในรายงาน ศปช บทที่ 3.1: ความตายที่สวนลุมพินี-บ่อนไก่

แผนที่ผู้เสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553: บ่อนไก่-พระรามสี่

กดที่ร่างผู้เสียชีวิตเพื่ออ่านรายละเอียดรายบุคคล

การปะทะเริ่มขึ้นอีกเมื่อเวลา 8.00 ของวันที่ 15 พฤษภาคม 9.30 น. มีประชาชน 3-4 คนถูกบุคคลที่อยู่ในที่สูงยิงลงมาทำให้ได้รับบาดเจ็บ บางรายถูกยิงที่หน้าอก จึงต้องนำส่งโรงพยาบาล มีรายงานว่ามีการยิง M79 ใส่ทหารเป็นระยะและมีการยิงตอบโต้จากฝ่ายทหาร เมื่อถึงเวลา 12.00 น. นายแพทย์วันชัย เจริญโชคทวี ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลแจ้งว่าได้ประกาศถอนกำลังหน่วยกู้ชีพเพราะสถานการณ์ไม่ปลอดภัย ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

ในเขตแนวตั้งฝ่ายทหารเป็นกองกำลังจาก ม.พัน 25 จากจังหวัดสระบุรี ได้วางกำลังบนถนนพระราม 4 หน้าอาคารวอลโว่ มีการเสริมกระสอบทรายเวลา 15.00 น. ให้เป็นบังเกอร์สูงขึ้น ระยะทางระหว่างผู้ชุมนุมถึงแนวยางรถยนต์ที่ถูกเผาไฟประมาณ 50 เมตร และอยู่ห่างจากฝั่งทหารประมาณ 60 เมตร

เวลาประมาณ 15.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำเอายางรถยนต์มากองและจุดไฟอำพรางวิถีกระสุนของฝ่ายทหารบริเวณหน้าอาคารลุมพินีทาวเวอร์ หน้าสำนักงานธนาคาร สาขาลุมพินี จนไฟลุกไหม้สายไฟหน้าธนาคารดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมต้องนำน้ำมาฉีดดับไฟ แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะเผชิญหน้ากับฝ่ายทหารจากข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้มีผู้เสียชีวิตในสถานการณ์ระหว่างวันได้แก่ นายมานะ แสนประเสริฐศรี, นายพรสวรรค์ นาคะไชย, นายเกรียงไกร เลื่อนไธสง, นายวารินทร์ วงศ์สนิทและนายวงศกร แปลงศรี

อ่านเพิ่มเติมในรายงาน ศปช บทที่ 3.1: ความตายที่สวนลุมพินี-บ่อนไก่

แผนที่ผู้เสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553: ศาลาแดง-สาธร

กดที่ร่างผู้เสียชีวิตเพื่ออ่านรายละเอียดรายบุคคล

จากรายงานข่าว เวลา 22.00 น.วันที่15 พฤษภาคม 2553 กลุ่ม ผู้ชุมนุมได้บุกยึดสถานีบริการปั๊มน้ำมันเชลล์ สาขาสาทรและนำยางรถยนต์จำนวนมากมาเผา ทำให้เกิดควันพวยพุ่ง เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดควันพวยพุ่งเป็นจำนวนมาก จากการที่ถนนและตึกแถวร้านค้าสองข้างหน้าทางปิดไฟหมด เจ้าหน้าที่จึงทำงานด้วยความยากลำบาก มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตอนเย็นเป็นต้นมามีการระดมคนประมาณ 400 คน มารวมตัวกันที่สน.ทุ่งมหาเมฆ มุ่งออกไปทางปากซอยสวนพลูเพื่อเคลื่อนไปคลองเตย ซึ่งน่าจะเป็นเหตุการณ์ช่วงที่นายวงศกร แปลงศรีเสียชีวิต

อ่านเพิ่มเติมในรายงาน ศปช บทที่ 3: ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง พฤษภา 53

แผนที่ผู้เสียชีวิตวันที่ 16 พฤษภาคม 2553: สวนลุมพินี

กดที่ร่างผู้เสียชีวิตเพื่ออ่านรายละเอียดรายบุคคล

ในช่วงค่ำของวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 นายสุพจน์ ยะทิมา (อายุ 37 ปี) ชาวอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นการ์ด นปช. จังหวัดพิษณุโลก ถูกยิงเสียชีวิต แต่ไม่ทราบรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกจากจุดที่เกิดเหตุและช่วงเวลาเกิดเหตุ

อ่านเพิ่มเติมในรายงาน ศปช บทที่ 3.1: ความตายที่สวนลุมพินี-บ่อนไก่

แผนที่ผู้เสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2553: สวนลุมพินี

กดที่ร่างผู้เสียชีวิตเพื่ออ่านรายละเอียดรายบุคคล

ในเหตุการณ์ช่วงเช้าของวันที่ 19 ทหารบริเวณศาลาแดง สวนลุมพินี ได้เริ่มปฏิบัติการกระชับวงล้อมโดยมีการใช้รถหุ้มเกราะลำเลียงพลเข้าร่วมในการปฏิบัติการ โดยเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 5.00 น. โดยปฏิบัติการของทหารในเช้าวันที่ 19 นั้น ทางกองทัพได้ชี้แจงว่า การวางกำลังของทหารตั้งแต่เริ่มเข้าไปในพื้นที่ศาลาแดงนั้นจะมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น

  • ส่วนที่ 1 กรมทหารม้าที่ 1 จะอยู่บริเวณแยกศาลาแดง
  • ส่วนที่ 2 คือ ฉก. กองพลทหารราบที่ 4 อยู่บริเวณสามย่าน
  • ส่วนที่ 3 และ 4 ของ ฉก.ม.1 ฉก. ม.3 จะเข้าพื้นที่บริเวณลุมพินี เข้าปฏิบัติการในสวนลุมพินี
  • ส่วนที่ 5 ส่วนของ ฉก.ร.11 จะเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของลุมพินี บริเวณอาคารเคี่ยนหงวน
  • ส่วนที่ 6 จะเป็นกำลังที่อยู่ที่บริเวณสีลม เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ของสีลม เนื่องจากเป็นพื้นที่ธุรกิจ
  • ส่วนที่ 7 กรมทหารม้าที่ 6
  • ส่วนที่ 8 ฉก.ม. 5 จะวางกำลังอยู่ที่สะพานไทย – เบลเยี่ยม เพื่อตรึงไม่ให้คนเข้าไปเพิ่มเติม

ในเหตุการณ์ช่วงเช้าถึงเที่ยงนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 5 คน โดยมี 2 คน เสียชีวิตบริเวณหลังแนวยางใกล้กับที่จอดรถด้านข้างสวนลุมพินี คือนายถวิล คำมูล และชายที่ยังระบุตัวตนไม่ได้ แต่ในภาพจะเห็นเขาใส่เพียงกางเกงลายพราง รูปร่างผอมเกร็ง ผมยาวและไว้หนวดเครา ส่วนอีก 2 คน คือ ฟาบิโอ โปเลนกีและนรินทร์ ศรีชมพู เสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ส่วน ธนโชติ ชุ่มเย็นนั้นยังไม่สามารถระบุตำแหน่งชัดเจน ทราบเพียงว่าถูกยิงจากถนนราชดำริเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติมในรายงาน ศปช บทที่ 3.1: ความตายที่สวนลุมพินี-บ่อนไก่