บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : อช.3/2555  วันที่ฟ้อง : 22/02/2555

คดีหมายเลขแดงที่ : อช.12/2555 วันที่ออกแดง : 20/12/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด

ผู้เสียชีวิต : เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

 

นัดไต่สวนคำร้องวันที่ 28 พฤษภาคม 2555[2]

ในวันนี้มีการนัดสืบพยานและอัยการได้ยื่นบัญชีพยานโดยมีทั้งหมด 50 ปาก  และในคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพมีการระบุถึงการตายของคุณากรเอาไว้ว่า ระหว่างที่ทหารปิดถนนราชปรารภและมีการติดป้ายเขตกระสุนจริง ในวันที่ 15 พ.ค.เวลา 00.01 น. นายสมร ไหมทอง ได้ขับรถตู้เข้ามาในเขตดังกล่าวเพื่อกลับบ้านพัก ผ่านถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกมักกะสัน เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศโทรโข่งให้หยุดรถ นายสมรยังขับต่อไป จึงระดมยิงใส่รถตู้จนนายสมร ได้รับบาดเจ็บที่ท้อง ขณะที่ลูกกระสุนยังไปถูก ด.ช.คุณากร ที่ออกมาเดินบริเวณโรงภาพยนตร์โอเอซึ่งอยู่ติดกับแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสันอันเป็นที่ตั้งของหน่วยทหาร  เป็นเหตุให้ ด.ช.คุณากรเสียชีวิต ขอให้ศาลได้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ใด เมื่อใดและทราบถึงสาเหตุ พฤติการณ์การตาย  และขอให้องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบียตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง  ซึ่งเป็นผู้อุปการะด.ช.คุณากรเนื่องจาก ด.ช. คุณากรเป็นเด็กกำพร้า บิดาเสียชีวิตและมารดาหายสาบสูญ

 

นัดสืบพยานวันที่  20 กรกฎาคม 2555[3]

                พยาน[4]

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  อดีตโฆษกศอฉ.
  2. พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล ผู้บังคับกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.)
  3. ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล[5] ผู้บังคับกองร้อยอยู่ในสังกัดของพ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล  (ป.พัน.31 รอ.)

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความว่า จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงแรกเป็นการชุมนุมตามกฎหมาย แต่ระยะหลังทวีความรุนแรงขึ้นและกระทำผิดกฎหมาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพิจารณาเห็นว่าการกระทำทวีความรุนแรงขึ้น จึงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีคำสั่งตั้ง ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ เป็น ผอ.ศอฉ.

เขาเบิกความต่อว่า กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งจุดตรวจค้นโดยพลการอย่างผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ศอฉ.จึงมีคำสั่งให้ทหารจากพล. 1 รอ. เข้าปิดกั้นการจราจรบริเวณราชประสงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้านและกันไม่ให้คนไปชุมนุมเพิ่ม  ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกมักกะสัน ย่านราชปรารภ วางกำลังเฉพาะบริเวณถนนใหญ่เท่านั้นจะไม่นำกำลังทหารเข้าไปประจำการบริเวณ ตรอกซอยเล็กๆ และเขาไม่ทราบว่าพล. 1 รอ. ใช้เจ้าหน้าที่จากหน่วยใดบ้าง และศอฉ.มีคำสั่งห้ามใช้เส้นทางหรือนำยานพาหนะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว มีวิธีการเป็นไปตามกฎการใช้กำลัง ในขั้นต้นให้แจ้งเตือนหากมีผู้ฝ่าฝืน โดยใช้โทรโข่ง หรือส่งอาณัติสัญญาณห้ามเข้า

พ.อ.สรรเสริญเบิกความว่า ระหว่างวันที่ 13-18 พ.ค. 2553 เป็นแค่การปิดกั้นพื้นที่เท่านั้น ศอฉ.มีมติกำชับลงไปแล้วว่า ห้ามใช้อาวุธกับประชาชน แต่ไม่ได้ติดตามว่าทำตามหรือไม่ เนื่องจากเขาอยู่ส่วนกลางจึงไม่ทราบรายละเอียดเรื่องที่มีผู้เสียชีวิต รวมถึงกรณี ด.ช.คุณากร ด้วย ส่วนมาตรการกระชับพื้นที่กดดันกลุ่มผู้ชุมนุม เพิ่งมีคำสั่งในวันที่ 19 พ.ค. 2553 หลังจากนั้นคณะกรรมการของกองทัพบก ประชุมและสรุปการชี้แจง แต่พยานไม่ทราบว่ามีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องในส่วนนั้น

ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูลเบิกความว่า วันที่ 14 พ.ค. 2553 ได้รับคำสั่งให้มารักษาพื้นที่บริเวณแยกมักกะสันถึงแยกประตูน้ำ เขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.วรการ ดูแลกำลังพล 150 นาย พร้อมอาวุธM 16 จำนวน 20 กระบอก ปืนลูกซอง 30 กระบอก มีทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ส่วนที่เหลือถือโล่และกระบอง โดยจัดกำลังพลที่ราชปรารภ 2 จุด และมักกะสัน 2 จุด มีเจ้าหน้าที่ประจำจุด 5-6 นาย ส่วนที่เหลือจะอยู่บริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สับเปลี่ยนเวร เวรละ 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วไป พร้อมตรวจค้นการพกพาวุธ โดยในวันที่ 14 พ.ค.2553 ตรวจไม่พบผู้พกพาอาวุธแต่อย่างใด

เขาบิกความต่อว่า ช่วงกลางดึกได้รับแจ้งทางวิทยุว่า มีรถตู้สีขาวจะเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ถ้ามีรถลักษณะนี้เข้ามาให้ประกาศเตือนเพื่อไม่ให้เข้าพื้นที่ ต่อมาเวลา 00.30 น. มีรถตู้สีขาวออกมาจากซอยราชปรารภ 8 แล้วจอด ขณะนั้นตัวเขาอยู่ที่หน้าร้านอาหารอินเดียฟู้ด ห่างไปประมาณ 50-60 เมตร เขาจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ใช้รถประชาสัมพันธ์ของหน่วยประกาศบอกรถตู้ให้กลับไปทางเดิม หรือไปทางประตูน้ำนานกว่า 10 นาที แต่รถตู้ไม่ยอมออก และวิ่งพุ่งเข้ามาที่ใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ก่อนได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดจากหลายทิศทาง แต่เขาไม่เห็นคนยิงว่าเป็นใครและไม่ทราบว่ามีหน่วยอื่นหรือไม่ เพราะจุดเกิดเหตุไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ

เขาเบิกความอีกว่าไม่ได้ทำการตรวจค้นรถตู้แต่อย่างใด เพราะเกรงว่าจะมีอาวุธ และเป็นรถต้องสงสัยที่ได้รับแจ้ง หลังจากรถตู้ถูกยิงถึงทราบว่ามีเด็กได้รับบาดเจ็บและได้รับแจ้งจากทหารพยาบาลประจำหน่วยว่ามีคนบาดเจ็บในรถตู้ด้วย แต่ทางผู้บัญชาการก็ไม่ได้เรียกไปประชุมในเรื่องนี้ และไม่ได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ

พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูลเบิกความว่า ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 14 พ.ค. 53 เข้าประจำจุดในเวลา 16.00 น. ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงราชปรารภ และแยกมักกะสัน โดยแบ่งกำลังพลเป็น 3 หน่วย มีหน่วยราชปรารภ  แยกมักกะสัน ส่วนกำลังที่เหลืออยู่ใต้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์

ในเวลา 17.00 น. มีผู้ยิงปืนเล็กยาวเข้ามา ต่อมาเวลา 19.00-04.00 น. มีการยิงเอ็ม 79 เข้ามาเป็นสิบนัด แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง จากนั้นในเวลา 00.30 น. ได้รับรายงานทางวิทยุว่า มีรถตู้ฝ่าฝืนเข้ามา และได้ยินเสียงปืนแต่ไม่ทราบว่ามาจากทางใด ภายหลังทราบว่ามีผู้บาดเจ็บ จึงให้หน่วยทหารเฉพาะกิจประสานไปยังมูลนิธิให้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล  หลังเกิดเหตุประมาณ 15 นาที ได้รับแจ้งทางวิทยุว่ามีเด็กถูกยิงบาดเจ็บ แต่เขาไม่ได้เข้าไปดู เพราะไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ จนรุ่งเช้าเวลา 09.00 น. จึงเข้าไปดูและพบว่ารถตู้มีรอยกระสุนรอบคัน ก่อนมีคนบอกว่าคนขับเป็นผู้ชุมนุม เพราะตรวจค้นภายในรถพบมีด ผ้าพันคอ และเสื้อสีแดง แต่เห็นเพียงในรูปภาพเท่านั้น ส่วนตอนเกิดเหตุกำลังสะลึมสะลือ เพราะก่อนหน้านั้นปฏิบัติงานหนักมาก จึงนอนหลับพักผ่อนตรงจุดที่ประจำอยู่ มารู้สึกตัวอีกทีตอนได้ยินเสียงปืนดังขึ้น  ส่วนในการประชุมไม่มีการแจ้งเรื่องนี้

 

นัดสืบพยานวันที่ 29 ตุลาคม 2555[6]

            พยาน

  1. นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ
  2. นายสมเจตร์ ศาลาวงศ์ อาสาสมัครหน่วยแพทย์วชิรพยาบาล
  3. พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เบิกความโดยสรุปว่า ด.ช.คุณากร เป็นเด็กกำพร้าในความสงเคราะห์ขององค์กร ศึกษาอยู่ชั้นป.4 โรงเรียนวิจิตรวิทยา เป็นคนสมาธิสั้น ชอบเล่น และจะชอบหลบหนีออกจากสถานสงเคราะห์ไปเที่ยวเล่นบ่อยครั้ง โดยวันเกิดเหตุมีคนมาแจ้งให้ทราบว่า พบ ด.ช.คุณากรไปเที่ยวเล่นแถวพื้นที่การชุมนุม ทั้งที่ไม่ได้รู้เรื่องการเมืองเลย คิดว่าคงอยากรู้อยากเห็นตามปกติของเด็ก และหลังจากเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน คือเดือนมิถุนายน มีคนโทรศัพท์มาแจ้งว่า ด.ช.คุณากร ถูกยิงเสียชีวิต ศพถูกส่งไปยังสุสานศพไร้ญาติ จังหวัดชลบุรี จึงเดินทางไปรับศพมาประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม

นายสมเจตร์ ศาลาวงศ์ เบิกความว่า ช่วงเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มนปช. ตนและเพื่อนอาสาสมัครตระเวนช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่แถวบ่อนไก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และราชปรารภ โดยวันที่ 15 พ.ค. 53 จอดรถกู้ชีพอยู่บริเวณลานจอดรถของอาบอบนวดเจ-วัน ถนนศรีอยุธยา ติดกับ โรงพยาบาลพญาไท 1 ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืน และระเบิดดังมาจากประตูน้ำเป็นระยะๆ กระทั่งได้รับแจ้งจากวิทยุสื่อสารว่ามีคนเจ็บบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ขณะนั้นอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุเพียง 200-300 เมตร เมื่อได้รับแจ้งก็เตรียมพร้อม แต่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ทันที เพราะมีรั้วลวดหนามของทหารกั้นอยู่บริเวณแยกจตุรทิศ

นายสมเจตร์เบิกความต่อว่า ผ่านไป 30 นาที ทหารที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเห็นว่ามีรถพยาบาล จึงวิทยุไปบอกทหารที่อยู่ในพื้นที่ที่มีคนเจ็บ ว่าจะนำรถพยาบาลของตนเข้าไป จึงขับรถตามทหารที่ขี่รถจักรยานยนต์นำทางเข้าไป  ในระหว่างทางจะเห็นทหารถืออาวุธอยู่ 2 ข้างทาง แต่ไม่พบว่ามีชายชุดดำอยู่ในจุดดังกล่าว  เมื่อไปถึงข้างบันไดเลื่อนของแอร์พอร์ตลิงก์มีพยาบาลทหาร 5-6 นาย ไม่ได้ถืออาวุธ และพบ ด.ช.คุณากรอยู่ในเปลพยาบาลทหารข้างรถทหาร ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นขณะนั้นยังไม่เสียชีวิต แต่สภาพที่เห็นคือมีไส้ทะลักออกมาเพราะถูกยิง แต่ไม่ทราบว่าใครยิง จึงรีบนำตัวส่ง โรงพยาบาลพญาไท แต่เสียชีวิตระหว่างนำส่ง

พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม เบิกความว่า เป็นผู้ชันสูตรศพด.ช.คุณากร โดยเวลา 03.30 น. วันที่ 15 พ.ค. 53 พนักงานสอบสวน สน.พญาไท นำศพมาส่งชันสูตร สภาพศพภายนอกมีบาดแผลถูกยิงเข้าบริเวณด้านหลังข้างขวาช่วงล่าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 ซ.ม. ในระดับต่ำกว่ายอดศีรษะ 60 ซ.ม. กระสุนเข้าด้านหลังขวาทะลุผ่านช่องท้องมาด้านหน้า มีลำไส้จำนวนมากทะลักที่ปากแผล และพบเศษโลหะเล็กๆ กระจายตามแนวกระสุนผ่าน เลือดออกภายในช่องท้อง 800 ม.ล. ลำไส้เล็กฉีกขาดหลายแห่ง เศษโลหะที่กระจายตามแนวบาดแผลนั้น สันนิษฐานได้ว่าเป็นเศษโลหะจากกระสุนปืนที่มีความเร็วสูง อาจเป็นปืนที่ใช้ในสงคราม เช่น อาก้า เอ็ม 16 เพราะดูจากเศษโลหะ และแนวเข้าออกของกระสุน สรุปสาเหตุการเสียชีวิตได้ว่า เกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเข้าที่ท้องทำให้ลำไส้ทะลุ

 

นัดสืบพยานวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555[7]

            พยาน[8]

  1. ร.ท.กิตติภพ ธูปทอง ทหารพยาบาล
  2. ส.อ.พุทธรักษ์ สุขเกษม ทหารพยาบาล
  3. ส.อ.วรากร ผาสุข กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์
  4. ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์
  5. พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

ร.ท.กิตติภพ ธูปทอง เบิกความว่าวันเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนไม่ให้รถตู้เข้ามา จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังอย่างต่อเนื่อง สักพักจึงได้รับคำสั่งให้ไปดูผู้บาดเจ็บ ก็พบนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ถูกยิงบาดเจ็บ ต่อมามีหน่วยแพทย์อาสาวชิรพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ในขณะเกิดเหตุเขาไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.พุทธรักษ์ สุขเกษม เบิกความว่า  ขณะเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนไม่ให้รถตู้เข้ามา และได้ยินเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง หลังเสียงปืนสงบ จึงพบร่างด.ช.คุณากร อยู่ในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสมีไส้ทะลักออกมา แต่ยังไม่เสียชีวิต จากนั้นหน่วยแพทย์อาสาวชิรพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ในขณะเกิดเหตุนั้น เขาไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.วรากร ผาสุข เบิกความสรุปว่า วันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ฝั่งซ้ายของถนนราชปรารภ มีปืนM16 เป็นอาวุธประจำกาย มีหน้าที่ตรวจค้นบุคคลเข้าออก และไม่พบว่ามีใครพกพาอาวุธเข้าไปแต่อย่างใด ขณะเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนว่ารถตู้อย่าเข้ามาหลายครั้ง จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่าปฏิบัติหน้าที่อยู่จุดเดียวกันกับส.อ.วรากร ได้ยินเสียงประกาศเตือน และเสียงปืนเช่นกัน แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบว่ารอยกระสุนปืนบริเวณร้านค้ากับใกล้สำนักงานคอนโดไอดีโอ และมีกระสุนตกอยู่ตรงประตูเหล็กด้านหน้าร้าน สันนิษฐานว่ายิงมาจากฝั่งตรงข้าม โดยวิถีกระสุนยิงในลักษณะเป็นแนวราบ แต่ไม่สามารถระบุชนิดของกระสุนและอาวุธปืนได้

 

นัดสืบพยานวันที่ 26 พฤศจิกายยน 2555[9]

            พยาน[10]

  1. นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้
  2. นายคมสันติ ทองมาก ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่น
  3. พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  4. พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุนปืน สตช. ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน
  5. ร.ต.อ.สากล คำยิ่งยง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท

นายสมร ไหมทองเบิกความสรุปได้ว่า หลังจากกลับจากส่งผู้โดยสาร ได้ขับรถตู้เข้ามาบริเวณถนนราชปรารภ และถูกระดมยิง ขณะนั้นไม่ได้ยินประ กาศแจ้งเตือนแต่อย่างใด หลังเสียงปืนสงบเห็นทหารถือปืนเข้ามาล้อมรถ และช่วยนำพยานส่งโรงพยาบาล

นายคมสันติ ทองมากเบิกความว่า เป็นผู้ถ่ายคลิปเหตุการณ์ยิงรถตู้ ไม่ได้ตัดต่อแต่อย่างใด ขณะนั้นยืนอยู่ด้านหลังเจ้าหน้าที่ และได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศบอกรถตู้ว่าอย่าเข้ามา พร้อมเล็งปืนไปที่รถตู้ หลังสิ้นเสียงประกาศก็เห็นรถตู้วิ่งเข้ามาบริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1-2 นาที จากด้านซ้ายและขวาที่ เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่

พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมากเบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจอาวุธปืนM16 แต่จากการตรวจไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงผู้ตาย เนื่องจากส่งมาหลังเกิดเหตุเป็นเวลากว่า 1 ปี เช่นเดียวกับพ.ต.ต.กิตติศักดิ์เบิกความสรุปว่าเป็นผู้ตรวจสอบภาพถ่ายรถตู้ที่ถูกยิงรอบคัน และตรวจอาวุธปืนM16 ผลปรากฏว่าไม่ตรงกับปืนที่ใช้ยิงผู้ตาย

ร.ต.อ.สากล คำยิ่งยง เบิกความเพื่อให้การรับรองเอกสารรายงานช่วงเกิดเหตุและมอบแก่ศาล โดยรายละเอียดมีว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่สน.พญาไท เป็นพนักงานสอบสวน ได้รับคำสั่งให้สอบสวนคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม โดยเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14-20 พ.ค. 53 บริเวณแยกประตูน้ำ ราชปรารภ ถึงสามเหลี่ยมดินแดง โดยตรวจสอบพบผู้เสียชีวิต 15 ราย ซึ่ง1 ใน 15 รายนั้นมีด.ช.คุณากรรวมอยู่ด้วย ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 02.00 น. บริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ หลังจากทราบแล้วได้รวบรวมเอกสารทั้ง 15 ราย ให้คณะสอบสวนอีกชุด แต่ตัวเขาเองไม่ได้ทำการตรวจสอบศพเอง แต่มีพนักงานสอบสวนอีกชุดหนึ่งทำการตรวจสอบ  โดยสาเหตุการตายเบื้องต้นมาจากถูกอาวุธปืนยิง

 

นัดสืบพยานวันที่ 4 ธันวาคม 2555[11]

            พยาน พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท

พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง เบิกความว่า คดีนี้บช.น.แต่งตั้งพนักงานสอบสวน 10 นาย เขาเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน จากการสอบสวนทราบว่าคดีนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนปช.บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 หลังจากนั้นมีการปะทะกันในวันที่ 10 เม.ย. 53 ผู้ชุมนุมจึงย้ายมารวมกันที่ราชประสงค์ในเวลาต่อมา ขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 53 และวันที่ 13 พ.ค. 53 ได้ประกาศห้ามเข้าออกพื้นที่ถนนบางสาย ในคดีนี้เป็นถนนราชปรารภ ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกมักกะสัน และจะขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุม
วันที่ 14 พ.ค. 53 เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนพลมาที่ถนนราชปรารภ และได้ใช้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์เป็นศูนย์บัญชาการ นอกจากนี้ ยังนำลวดหนามมาขวางหน้าโรงแรมอินทรา ใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และแยกมักกะสัน เพื่อห้ามยานพาหนะและคนนอกไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ รวมทั้งตั้งบังเกอร์อยู่ริมถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง และบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย กระทั่งเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 15 นายสมร ไหมทอง ได้ขับรถตู้ออกจากซอยวัฒนวงศ์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกดินแดง ระหว่างขับถึงจุดที่สร้างคอนโดไอดีโอซึ่งเป็นเขตหวงห้าม เจ้าหน้าที่ทหารประกาศให้ขับออกมาแต่คนขับยังฝ่าเข้าไป ทหารจึงสกัดโดยใช้ปืนยิงรถตู้จนจอดนิ่งอยู่บริเวณทางขึ้นสถานีแอร์พอร์ตลิงก์

พ.ต.ท.บรรยงเบิกความอีกว่า หลังสิ้นเสียงปืนเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปช่วยเหลือนายสมรที่ยังไม่เสียชีวิต และนำตัวใส่รถ GMC ที่จอดอยู่ในโรงภาพยนตร์โอเอ ทราบว่ามีคนเจ็บอีกคนคือ ด.ช. คุณากร อยู่ในรถ GMC ด้วย จากนั้นทหารอนุญาตให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิรับทั้งคู่ไปส่งที่โรงพยาบาลพญาไท 1 โดยด.ช.คุณากรเสียชีวิต ส่วนนายสมรบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้ ยังมีนายพัน คำกอง เสียชีวิตอยู่บริเวณคอนโดฯ ไอดีโอ ด้วย เหตุการณ์นี้นายคมสันติ ทองมาก ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่นบันทึกคลิปเหตุการณ์ทั้งหมด และมอบให้แก่พนักงานสอบสวนแล้ว

เขาเบิกความถึงคลิปกล่าวว่าเห็นรถตู้ของนายสมรขับมาตามถนนราชปรารภจากประตูน้ำไปแยกดินแดง เมื่อข้ามทางรถไฟใต้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์แล้วมีเสียงปืนดังขึ้นทุกทิศจนรถตู้หยุด จากนั้นทหารเข้าไปช่วยนำนายสมรออกจากรถตู้และรักษาพยาบาลเบื้องต้น ก่อนใช้เปลหามเข้าไปในซอยโรงภาพยนตร์โอเอและใส่รถ GMC จากนั้นมีรถมูลนิธิเข้าไป เห็นทหารนำด.ช.คุณากรออกจากรถ GMC สภาพยังไม่เสียชีวิต แต่เดินไม่ได้แล้วและมีบาดแผลที่ท้อง ทราบภายหลังว่าถูกยิงข้างหลังทะลุท้อง รถมูลนิธินำทั้งคู่ไปส่งโรงพยาบลพญาไท 1 และมีภาพรถมูลนิธิมารับนายพัน คำกอง ไปส่งโรงพยาบาลด้วย

พนักงานสอบสวนเบิกความต่อว่า ผลการชันสูตรพบกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่แขนซ้ายของนายพัน และพบกระสุนM16 ในตัวของนายสมร ขณะที่ผลการตรวจปืนM16 จำนวน 40 กระบอก จากทหารที่รักษาการณ์ในที่เกิดเหตุ ไม่พบว่าตรงกับของกลางแต่อย่างใด เขาไม่ได้ตรวจรถตู้ที่ถูกยิง แต่ได้นำภาพถ่ายและคลิปภาพเสียงส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจ และจากการสอบสวนนายอเนก ชาติโกฎิเจ้าหน้าที่ รปภ.ของคอนโดฯ ไอดีโอให้การว่าอยู่กับนายพันในช่วงเกิดเหตุ หลังได้ยินเสียงปืนทั้งคู่ออกมาดูสถานการณ์ด้านหน้า และเห็นทหารอยู่โดยรอบ แต่ไม่เห็นว่าใครยิง และนายคมสันติยังได้ให้การสอดคล้องกันด้วยว่าได้ยินเสียงปืนและเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าวด้วย  และนอกจากนี้ พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต ผกก.สภ.บ้านไร่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนร่วมกับทหาร ให้การว่าได้ยินประกาศห้ามรถตู้เข้ามาและได้ยินเสียงปืน แต่ไม่ได้ออกไปดู

พยานเบิกความอีกว่า หลังยุติการชุมนุม DSI ประกาศให้คดีสลายการชุมนุมเป็นคดีพิเศษ พยานจึงส่งสำนวนไปให้DSI และทาง DSI เชื่อว่าการตายของด.ช.คุณากร น่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ จึงส่งสำนวนกลับมาให้สอบสวนต่อ เขาเบิกความว่าเชื่อได้ว่าเกิดจากการยิงของทหารเนื่องจากในที่เกิดเหตุทหารขึ้นไปใช้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์เป็นศูนย์บัญชาการและบล็อกแนวบริเวณดังกล่าวไว้หมด บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าออกบริเวณนี้ได้ ส่วนด.ช.คุณากรถูกกระสุนM16 ยิงจากด้านหลังทะลุด้านหน้า จุดที่เสียชีวิตกับรถตู้อยู่บริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ นายพันยังถูกปืนM 16 ยิงเสียชีวิตในบริเวณนั้นด้วย ทหารอาจไม่ทราบว่ามีด.ช.คุณากรอยู่ในบริเวณดังกล่าว และไม่น่าเป็นการยิงโดยเจตนา

 

ฟังคำสั่งวันที่ 20 ธันวาคม 2555[12]

ด.ช.คุณากรผู้ตาย มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 44 ม.1 แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กทม. กระทั่งปี 2547 ย้ายไปอยู่ในความปกครองของสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตั้งอยู่เขตสวนหลวง โดยระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 53 นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และจัดตั้งศอฉ. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผอ.ศอฉ. และศอฉ.ได้ออกประกาศควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมเข้าออก ถ.ราชปรารภ ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำ ถึง สี่แยกมักกะสัน ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาการให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งถนนและตามแนวบังเกอร์ ประกอบด้วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และจัดวางลวดหนามตั้งแต่บริเวณปากซอยราชปรารภ 6 ถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

วันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 23.00 น. เศษ นายคมสันติ ทองมาก ผู้สื่อข่าวซึ่งไปทำข่าวเกี่ยวกับผู้ชุมนุมนปช. บริเวณถ.ราชปรารภ พบเห็นผู้ตายวิ่งเล่นอยู่บริเวณบังเกอร์ที่เจ้าหน้าที่ทหารวางไว้ตามสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ฝั่งโรงภาพยนตร์โอเอ ต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 14 พ.ค. 53 นายสมร ไหมทอง ขับรถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพฯ ออกจาก ซ.วัฒนวงศ์ แล้วเลี้ยวขวาไปที่สี่แยกมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล ซึ่งประจำอยู่บริเวณด้านหน้าร้านอาหารอินเดียฟู้ด จึงแจ้งไปยังชุดตรวจที่อยู่ใกล้ปากซอยให้ประกาศห้ามรถยนต์ตู้ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ควบคุม แต่นายสมรยังคงขับรถยนต์ตู้ต่อไปทางสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อแล่นผ่านจุดที่ ร.อ.เสริมศักดิ์ กับพวกประจำอยู่ มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดมาจากหลายทิศทาง นายสมรพยายามขับรถยนต์ตู้ต่อไปจนข้ามทางรถไฟไปถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อสิ้นเสียงปืนพบว่านายสมรถูกกระสุนปืนที่เอวและท้อง

นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ถูกกระสุนปืนยิงใส่อีก 2 คน คือ นายพัน คำกอง และผู้ตายในคดีนี้โดยมีบาดแผลถูกกระสุนปืนยิงเข้าด้านหลังบริเวณกึ่งกลางลำตัวทะลุช่องท้อง ซึ่งพบผู้ตายได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ที่พื้นถนนในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ห่างจากปากซอยซึ่งติดถ.ราชปรารภประมาณ 20 เมตร ถัดจากปากซอยไปไม่ไกลเป็นจุดที่รถยนต์ตู้คันที่นายสมรขับจอดอยู่ ส่วนนายพัน คำกอง ถูกกระสุนปืนขณะยืนอยู่ตรงบริเวณทางเข้าออกอาคารคอนโดมิเนียมไอดีโอ ตรงกันข้ามเยื้องกับซอยโรงภาพยนตร์โอเอ

สำหรับสาเหตุที่ผู้ตายถูกยิงนั้น ได้ความจากนายสมร ผู้บังคับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุว่า เมื่อขับเลี้ยวขวาออกจากซอยได้ประมาณ 30 เมตร ก็มีเสียงปืนดังขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองฝั่งระดมยิงมาที่รถยนต์ตู้ของพยาน ซึ่งสอดคล้องกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าเห็นทหารจำนวน 3 นายยิงปืนมาที่รถ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายคมสันติว่า ก่อนที่รถยนต์ตู้จะแล่นเข้ามา เจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าขอให้ผู้ขับหยุดรถ มิฉะนั้นจะยิงสกัด เมื่อสิ้นเสียงประกาศจึงมีเสียงปืนดังมาจาก 2 ฝั่งถนน โดยทั้ง 2 ฝั่งถนนมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสัน ซึ่งพยานได้บันทึกภาพเหตุการณ์รถยนต์ตู้เข้าไปในพื้นที่จนกระทั่งถูกยิงสกัดไว้

อีกทั้งพยานผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุต่างเบิกความตรงกันสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่ 4 แยกมักกะสันไปจนถึงซอยราชปรารภ 6 ฝั่งซ้ายมุ่งหน้าที่ 4 แยกประตูน้ำ แบ่งกำลังคุมพื้นที่ 4 แห่ง แต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 6 คน โดยก่อนเกิดเหตุพยานแต่ละคนได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ไม่ให้รถตู้ นายสมรแล่นผ่านเข้าไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ แต่รถตู้ยังแล่นต่อไป จากนั้นมีเสียงปืนดังหลายนัดมาจากหลายทิศทาง

แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่าผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุถ.ราชปรารภตั้งแต่ 4 แยกประตูน้ำไปจนถึง 4 แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ นำโดยพ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถ.ราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ 4 แยกประตูน้ำไปจนถึง 4 แยกมักกะสัน และปากซอยหมอเหล็ง เฉพาะหน่วยของพ.ท.วรการมีทหารถึง 150 คน มีกองบัญชาการอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น

อีกทั้งพล.อ.ต.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม แพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายเบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่าเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภท M16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้องและภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐานจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายนายมีอาวุธปืนM16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้

จึงต้องรับฟังว่า คืนเกิดเหตุขณะที่นายสมรขับรถยนต์ตู้เข้าไปในถ.ราชปรารภ มุ่งหน้าสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมตามประกาศของศอฉ. เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงห้ามเข้าไปในพื้นที่แล้ว นายสมรยังขับรถยนต์ตู้ต่อไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่รถยนต์ตู้ของนายสมร เป็นเหตุให้ลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายจนถึงแก่ความตาย

ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ถนนศรีอยุธยา แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณฉบับเต็ม

 


[1]  การไต่สวนชันสูตรพลิกศพด.ช.คุณากร นี้มีการใช้พยานบุคคลและหลักฐานบางส่วนร่วมกับคดีนายพัน คำกอง

[3] “สืบพยานคดีน้องอีซา เหยื่อสลายการชุมนุม พ.ค.53,” Voice TV, 20 ก.ค. 55 ; “ไก่อูเบิกความคดียิงดช.อีซา ‘แดง’นัดลุ้น 23 กค.ชี้ชะตาตู่,” ข่าวสด, 21 ก.ค. 55

[4] พยานทหารทั้ง 3 นาย นี้เป็นชุดเดียวกับที่ขึ้นเบิกความในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง

[5] ในรายงานข่าวลงชื่อผิด

[6] “โชว์หลักฐาน’หัวกระสุน’ สื่อดัตช์พค.53 ย้ำโดนจนท.ยิง,” ข่าวสด, 30 ต.ค. 53

[7] “ไต่สวน 2 ศพ แดง,” ข่าวสด, 6 พ.ย. 55

[8] เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ ทั้ง 2 นาย นั้นได้ให้การในการไต่สวนชูนสูตรนายพัน คำกองด้วย

[10] พยาน 1-4 ให้การในการไต่สวนชันสูตรนายพัน คำกอง ด้วย

[12] “ศาลชี้ศพ 4 “ดช.อีซา” จนท.ยิง! “มาร์ค-เทือก” หนักต้องถูกดำเนินคดีต่อเนื่อง’พัน คำกอง’เผยกระสุนทะลุหลังใกล้บังเกอร์ทหารไต่สวน6ศพวัดปทุม-นาทีชีวิตน้องเกด,” ข่าวสด, 21 ธ.ค. 55 ; “ศาลสั่งเป็นคดีที่ 4 “ด.ช.อีซา” เหยื่อกระสุน พ.ค. 53 เสียชีวิตจากทหาร,” ประชาไท, 20 ธ.ค. 55