บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายชาติชาย ชาเหลา

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : ช.6/2555  วันที่ฟ้อง : 14/03/2555

คดีหมายเลขแดงที่ : ช.4/2555 วันที่ออกแดง : 17/12/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4

ผู้เสียชีวิต : นายชาติชาย ชาเหลา

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

นัดไต่สวนพยานวันที่ 25 มิถุนายน 2555[1]

พยาน

  1. พ.ต.อ. สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผบก.น.6
  2. นางพลอย ขบวนฮาม มารดาของนายชาติชาย(ไม่พบรายงานข่าวที่มีการเบิกความของเธอ)

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เข้าเบิกความปากแรกสรุปว่า ตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ชุดที่ 3 โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 54 DSI ได้ส่งสำนวนมาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลสอบสวนต่อ เนื่องจากเชื่อว่าการเสียชีวิตของนายชาติชายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  จึงทำหนังสือยื่นต่อสำนักงานอัยการสูงสุดขอให้ส่งพนักงานอัยการร่วมสืบสวนคดีนี้ด้วย

โดยผลการสืบสวนสรุปว่า คดีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. -19 พ.ค. 53 โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เริ่มชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เพื่อขอให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยุบสภา แต่รัฐบาลไม่ยอมทำตาม กลุ่มผู้ชุมนุมจึงขยายการชุมนุมไปหลายพื้นที่ รวมถึงแยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก นายอภิสิทธิ์จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง แล้วออกคำสั่งตั้ง ศอฉ. โดยมีคำสั่งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ และให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อระงับสถานการณ์รุนแรง รวมทั้งได้ประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ห้ามเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม ห้ามเดินรถโดยสารบางพื้นที่ ห้ามให้บริการรถไฟฟ้าบางสถานี และตัดสาธารณูปโภค

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุวันที่ 13 พ.ค.53 ศูนย์ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมสถานการณ์ โดยกองกำลังทหารชุดดังกล่าวประมาณ 165 นายได้ตั้งด่านแข็งแรงที่บริเวณสะพานลอยหน้าอาคารอื้อจื่อเหลียง มีอาวุธปืนM16 M653 HK ปืนลูกซองกระสุนยาง กระสุนซ้อมรบ และกระสุนจริงประจำกาย ซึ่งนอกจากทหารแล้วผู้อื่นไม่สามารถเข้าไปในบริเวณนั้นได้ ขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากจากแยกถนนวิทยุมุ่งหน้าตรงเข้าหาด่านของทหาร มีการใช้พลุและตะไลยิงเข้าใส่ด่าน เจ้าหน้าที่ทหารจึงใช้ปืนยิงตอบโต้   เวลาประมาณ 22.50 น. ขณะที่นายชาติชายซึ่งมาร่วมชุมนุมและถือกล้องวีดีโอยืนถ่ายภาพเหตุการณ์อยู่หน้าบริษัทกฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด[2] ใกล้อาคารอื้อจื่อเหลียง ได้ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่หน้าผากด้านขวาทะลุศีรษะ 1 นัด แล้วเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาฯ

ภายหลังการเสียชีวิตพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน พร้อมด้วยแพทย์นิติเวช พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันชันสูตรพลิกศพปรากฏว่า นายชาติชายถูกกระสุนความเร็วสูงยิงเข้าที่ศีรษะทำลายอวัยวะสำคัญเป็นเหตุให้เสียชีวิต และจากการตรวจสอบพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุพบเศษชิ้นเนื้อ เส้นผม คราบเลือดของผู้ตาย และเศษหัวกระสุนตกอยู่ที่พื้นใกล้กับจุดที่นายชาติชายล้มลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนตรวจพิสูจน์พบเพียงแค่รอยแนววิถีกระสุนที่นายชาติชายถูกยิง และยืนยันว่าเป็นกระสุนความเร็วสูง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระสุนชนิดใด เนื่องจากเศษกระสุนเสียสภาพมาก อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมพยานเอกสารหลักฐาน ประจักษ์พยานแล้วไม่พบชายชุดดำปะปนกับผู้ร่วมชุมนุม จึงเชื่อว่านายชาติชายเสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ  ภายหลังศาลไต่สวนพยานปาก
นัดพร้อมวันที่ 23 กรกฎาคม 2555[3]

นัดพร้อมคู่ความคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา  ศาลได้กำหนดนัดวันไต่สวนพยานฝ่ายอัยการผู้ร้องในวันที่ 5, 9, 12 และ 19 ต.ค. และนัดไต่สวนพยานฝ่ายทนายความญาติผู้ตายวันที่ 30 ต.ค. เวลา 09.00 น.

นัดสืบพยานวันที่ 5 ตุลาคม 2555[4]

พยาน พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่า ได้รับแจ้งเรื่องกรณีนี้จากพนักงานสอบสวนเมื่อ ก.ย. 53 และได้เดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุในวันที่ 24 ก.ย. 53 ที่หน้า บริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถนนพระราม 4 ที่ประตูเหล็กม้วนพบรอยบุบอยู่สูงจากพื้น 1.74 เมตร 1 รอย ซึ่งคาดว่าเกิดจากเศษโลหะที่น่าจะเป็นเศษกระสุนปืนมากระแทกอย่างแรงและเร็ว รวมทั้งพบเส้นผมติดที่ขอบปูนด้านข้างประตู 1 เส้น สูงจากพื้น 1.90 เมตร และเหตุที่เส้นผมอยู่สูงกว่ารอยกระสุนนั้น เพราะเมื่อกระสุนกระทบกับศีรษะจะทำให้กระสุนและกระโหลกศีรษะแตกออกและกระเด็นออกไปทำให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าได้

เขาเบิกความอีกว่าหลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำข้อมูลภาพและวีดีโอคลิปขณะเกิดเหตุ รวมทั้งข้อมูลผลการชันสูตรศพให้  จึงได้มีการเข้าไปตรวจสถานที่เกิดเหตุอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 53 เพื่อจำลองเหตุการณ์หาทิศทางการยิง ผลการจำลองประกอบภาพและคลิปขณะเกิดเหตุเป็นภาพใกล้เคียงช่วงเวลาที่นายชาติชายหรือผู้ตายถูกยิง ขณะนั้นอยู่ริมถนนด้านหน้าที่รถเข็นและแผงเป็นที่กำบัง หันหน้าไปทางแยกศาลาแดง ซึ่งรอยบาดแผลกระสุนเข้าหน้าผากขวาทะลุศีรษะด้านหลังซ้าย กระสุนจึงมาจากทางฝังแยกศาลาแดง แนวกระสุนเป็นไปได้ทั้งระนาบตามแนวถนนและจากสะพานลอยข้ามถนนพระราม 4

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์  เบิกความด้วยว่าจากการดูบาดแผลเกิดจากกระสุนขนาด .223 ซึ่งใช้กับปืนเล็กกล เช่น M16 และ ทาโวร์ สำหรับภาพและคลิปนั้นเขาไม่ทราบว่าทางพนักงานสอบสวนได้มาจากไหน

นัดสืบพยานวันที่ 12 ตุลาคม 2555[5]

พยาน

  1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) (เลื่อน)
  2. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำนปช. (เลื่อน)
  3. พญ.เกษณี จงประสาธน์สุข อาจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พญ.เกษณี จงประสาธน์สุข เบิกความถึงการชันสูตรศพนายชาติชายว่า ได้รับศพเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 53 โดยสภาพของศพถูกยิงด้วยอาวุธปืนเข้าที่ศีรษะ มีแผลเปิดบริเวณท้ายทอยขนาด 5 ซ.ม. และขมับด้านขวา 0.5 ซ.ม. จากการตรวจพิสูจน์บาดแผลพบว่า เกิดจากลูกกระสุนปืนขนาด 5.56 ม.ม. แต่ไม่ทราบว่าใช้กับอาวุธปืนชนิดใด

ศาลได้แจ้งว่าการเบิกความของนายสุเทพและนายณัฐวุฒิ ที่ทนายญาติผู้ตายประสงค์จะนำเข้าเบิกความนั้น  ศาลตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าประเด็นที่จะเข้าเบิกความนั้น นายณัฐวุฒิและนายสุเทพเคยเข้าเบิกความปรากฏอยู่ในบันทึกคำให้การพยานของศาลอาญาแล้ว ศาลจึงให้นำคำให้การดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาคดี พร้อมกับให้พนักงานอัยการและทนายความญาติผู้ตาย แจ้งพยานทั้ง 2 ปากว่าหากประสงค์จะเบิกความในประเด็นโดยละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้โดยเฉพาะ ให้เตรียมข้อเท็จจริงมาเบิกความในนัดหน้า หากเป็นประเด็นซ้ำก็ให้อ้างคำให้การเดิม

นัดสืบพยานวันที่ 19 ตุลาคม 2555[6]

พยาน

  1. พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร โฆษก บช.น.
  2. นางศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนายผู้รับมอบจากญาติผู้ตาย
  3. พ.ต.ท.สุพจน์ ชายป่า พนักงานสอบสวน (สบ3) สน.พระราชวัง

พ.ต.อ.ปรีดา เบิกความโดยสรุปว่า มีหน้าที่เป็นผู้วางแผนการปฏิบัติของบช.น. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 53 มีการประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร บริเวณ กทม. ต่อมาวันที่ 10 มี.ค. 53 ได้รับคำสั่งให้จัดตั้งชุดรักษาความสงบในกทม. โดยตั้งด่านตรวจค้นตามจุดต่างๆ ที่จะเข้าสู่กทม. กระทั่งวันที่ 7 เม.ย. 53 รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงมีคำสั่งให้จัดกำลังตั้งด่านในวันที่ 10 พ.ค. 53 บริเวณสีลม ศาลาแดง ราชดำริ และบริเวณโดยรอบ จำนวน 11 กองร้อย รวมทั้งหมด 13 ด่าน ภายใต้การดูแลของ บก.น. 5 โดยลักษณะเป็นการยืนรักษาการณ์

พยานเบิกความต่อว่า วันที่ 13 พ.ค. 53 เพิ่มคำสั่งให้ตำรวจที่รักษาการณ์ตรวจค้นบุคคลที่ผ่านเข้าออกตามจุดต่างๆ ที่วางกำลังไว้ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามาเพิ่มเติ่ม และตรวจค้นอาวุธ หากพบอาวุธก็จะจับกุม ขณะปฏิบัติหน้าที่ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่พกอาวุธปืนสั้นเท่านั้น การวางกำลังระหว่างตำรวจกับทหารนั้น เป็นไปตามคำสั่งของศอฉ. โดยทหารจะอยู่บริเวณด้านใน ส่วนตำรวจจะล้อมอยู่ด้านนอก จากการตรวจค้นพบว่ามีผู้พกพาอาวุธเข้ามา

ทนายซักถามว่ามีการรายงานว่าพบชายชุดดำหรือไม่ เขาบอกว่าไม่ทราบ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการวางกำลังเท่านั้น และการปฏิบัติการในเดือน พ.ค. 53 เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนทหารเท่านั้น ส่วนทหารจะมีอาวุธหรือไม่ พยานไม่ทราบ

นางศิริพร เมืองศรีนุ่น เบิกความว่า เป็นผู้รับมอบจากญาติผู้ตายให้เป็นผู้ร้องทุกข์ และติดตามความคืบหน้าของคดี โดยจะมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ศาลประกอบการพิจารณาคดี ประกอบด้วย คำสั่งศาลแพ่งและศาลปกครอง เรื่องการสลายการชุมนุมที่ศาลมีความเห็นว่าสามารถกระทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักสากล เอกสารกฎการใช้กำลังตามที่สหประชาชาติกำหนด บัญชีการเบิกกระสุนและอาวุธปืน เอกสารรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และภาพถ่ายป้าย เขตพื้นที่ใช้กระสุนจริง

พ.ต.ท.สุพจน์ ชายป่า  เบิกความว่า ได้รับแต่งตั้งจาก บช.น. ให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดี โดยได้รับสำนวนการสอบสวนมาจาก DSI ที่มีความเห็นว่าสาเหตุการตายน่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ทหาร ที่อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งเขาเป็นผู้สอบสวนนายอภิสิทธิ์เกี่ยวกับการตั้งศอฉ. และคำสั่งแต่งตั้งต่างๆ พร้อมกับสอบสวนพยานทุกปากที่ปรากฏอยู่ในสำนวนสอบสวนที่มอบให้แก่ศาล จากการสอบสวนทราบว่า ขณะนั้นผู้ตายกำลังถือกล้องวิดีโอบันทึกภาพ และเดินถือไฟฉายเลเซอร์ไปด้วย โดยผู้ตายไม่มีอาวุธแต่อย่างใด สำหรับอาวุธปืนที่ทหารใช้มีM16 และ HK 33 จากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด จึงมีความเห็นสรุปว่าการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร

นัดสืบพยานวันที่ 30 ตุลาคม 2555[7]

พยาน

  1. พ.ท.กิตติพงศ์ เนื่องชมพู ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 8 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา
  2. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ.

พ.ท.กิตติพงศ์ เนื่องชมพู เบิกความว่า ช่วงที่มีการชุมนุมในวันที่ 9 เม.ย. 2553 ได้รับคำสั่งให้มาประจำอยู่ที่กรมทหารราบที่ 11 ก่อนจะมีคำสั่งเพิ่มกำลังมาช่วยอำนวยความสะดวกในช่วงกลางวัน และรักษาความปลอดภัยช่วงกลางคืน โดยตั้งด่านแข็งแรงบริเวณสะพานลอย ถนนพระราม 4 ห่างจาก ศาลาแดง ซอย 1 ประมาณ 30 เมตร

พ.ท.กิตติพงศ์ เบิกความถึงเหตุการณ์ว่า วันที่ 13 พ.ค. 2553 ตนนำกำลังตั้งด่านตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. รวม 24 ช.ม. โดยอาวุธประจำกายของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในตอนนั้น ประกอบด้วย ปืนลูกซอง ปืนพก ปืนM16 และปืน HK  แต่ไม่มีการจ่ายกระสุนจริง โดยช่วงเช้าเหตุการณ์บริเวณ ถนนพระราม 4 ปกติเรียบร้อยดี และช่วงกลางคืนวันที่ 13 เหตุการณ์ก็ไม่ได้มีอะไรรุนแรง นอกจากช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ทหารเริ่มได้รับการก่อกวนจากผู้ชุมนุม โดยมีรถซาเล้งขับมายังรั้วลวดหนามของเจ้าหน้าที่ และพยายามรื้อออก ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มตั้งด่านบริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยม เขาจึงสั่งการให้ทหารตะโกนไล่ออกไป แต่ผู้ชุมนุมก็ยังไม่ไปจึงสั่งการให้ทหารนายหนึ่งยิงปืนลูกซองขึ้น 2 ชุด เพื่อให้รู้ว่าบริเวณดังกล่าวมีทหารอยู่ไม่ให้ก่อกวน  เป็นเพียงการยิงกระสุนยางเท่านั้น  ซึ่งผู้ชุมนุมได้ล่าถอยไป แต่ไม่นานก็เริ่มก่อกวนด้วยเสียงตะไล บั้งไฟ คล้ายเสียงปืน แต่ทหารรู้ว่าไม่ใช่ปืนแน่นอนจึงถอยกลับเข้าจุด จากนั้นประมาณ 23.00 น. ผู้ชุมนุมจึงหยุดการก่อกวนและถอยออกไป

พ.ท.กิตติพงศ์ เบิกความอีกว่า การปฏิบัติหน้าที่ในคราวนี้เป็นการปฏิบัติตามหลักอย่างเคร่งครัด 7 ขั้นตอน ซึ่งตนปฏิบัติเพียงการแสดงกำลังเพื่อให้รู้ว่าทหารมีจำนวนมาก พร้อมกับยืนยันว่าในขอบเขตความรับผิดชอบของตนไม่มีการใช้กระสุนจริงเด็ดขาดเป็นกระสุนยางทั้งหมด แม้ว่าจะมีอาวุธประจำกายตลอดเวลา แต่กระสุนไม่ได้ประจำกายตลอดเวลาด้วย เพราะขึ้นอยู่กับคำสั่งของผู้บังคับกองพัน และในวันเกิดเหตุตนไม่ทราบว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิต มาทราบเมื่อเวลาผ่านไป 4 เดือนแล้ว เนื่องจากพล.ม.2 เรียกประชุม และแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ความรับผิดชอบของตน ซึ่งตนไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะในคืนที่เกิดเหตุบริเวณ ถ.พระราม 4 ที่ตนดูแลอยู่ไม่มีเหตุรุนแรง มีเพียงการยิงขู่แสดงสัญลักษณ์ให้ผู้ชุมนุมรู้ว่ามีทหาร และไม่ได้ใช้กระสุนจริง

พยานปากที่ 2 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความว่า การชุมนุมของกลุ่มนปช.ในปี 2553 เพื่อขับไล่รัฐบาลให้นายอภิสิทธิ์ลาออกหรือยุบสภา  เป็นการชุมนุมที่แตกต่างจากการชุมนุมปี 2552 เพราะมีการก่อการร้ายคู่ขนานกับการชุมนุมด้วย ได้แก่ การใช้อาวุธปืนยิงตามธนาคาร ที่ทำการของรัฐ ใช้ RPG ยิงที่เก็บน้ำมันเครื่องบิน ใช้ระเบิด อาวุธสงครามปืนM16 เข่นฆ่าทหาร และประชาชน

กระทั่งวันที่ 7 ต.ค. 53 นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และนายยศวริศ ชูกล่อม แกนนำนปช. นำผู้ชุมนุมบุกเข้ารัฐสภา ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และแย่งอาวุธปืน ก่อนบุกเข้ามาที่ห้องอาหารรัฐสภาเพื่อจับตน จากเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการที่คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้งศอฉ.ในค่ำวันเดียวกัน เพราะเห็นว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ตนเป็นผอ.ศอฉ. รับผิดชอบดูแล กำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่  ดังนั้นคำสั่งทั้งหมดตั้งแต่ คำสั่งที่ 1/2553 เขาจึงเป็นผู้ที่เซ็นคำสั่งทั้งหมด โดยยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก มีโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ และปืนลูกซองที่ใช้กระสุนยาง เป็นเครื่องมือในการควบคุมฝูงชน ซึ่งใช้กำลังทหารกว่า 2 หมื่นคน  ในการออกคำสั่งจะมีบันทึกข้อความที่ตนเซ็นสั่งการ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติจะมีคำสั่งต่อทางวิทยุหากไม่ได้รับคำสั่งจากศอฉ.จะไม่สามารถปฏิบัติการใดๆ ได้

นายสุเทพเบิกความต่อว่า แต่หลังจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 คนร้ายที่ปะปนมากับกลุ่มผู้ชุมนุมยิงเจ้าหน้าที่ และประชาชนเสียชีวิต ศอฉ.จึงมีนโยบายให้ทุกหน่วยป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะในระยะประชิด และไม่ให้เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม จึงมีคำสั่งตั้งด่านแข็งแรงด้วยวัตถุประสงค์ไม่ต้องการให้เข้าถึงตัวเจ้าหน้าที่ และทำป้ายห้ามผ่านเด็ดขาด แต่ตนได้รับรายงานภายหลังว่าบางจุดเจ้าหน้าที่กลับเขียนป้ายว่าเขตใช้กระสุนจริง ซึ่งตนเข้าใจว่าเพื่อขู่เตือนประชาชนไม่ให้บุกฝ่าเข้ามายังเขตห้ามผ่านเด็ดขาด โดยอนุญาตให้ใช้ปืนพก และปืนM16 ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ปืนเอ็ม 79 เด็ดขาด ขณะที่กระสุนก็มีทั้งกระสุนจริง และกระสุนซ้อม ซึ่งตนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ได้เบิกกระสุนแล้ว ซึ่งสาเหตุที่อนุญาตให้ใช้ปืนกล เนื่องจากให้เจ้าหน้าที่ได้คุ้มครองตัวเอง และประชาชน หลังเกิดเหตุการณ์ 10 เม.ย. 53 ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล โดยอัยการสูงสุดทำบันทึกรายงานเสนอต่อ ศอฉ.ว่าหากมีการก่อการร้ายรัฐบาลก็มีสิทธิมีอำนาจใช้อาวุธเพื่อป้องกันเหตุร้าย

นอกจากนี้ คำสั่งศอฉ.ยังสั่งเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังในพื้นที่สูงข่มเพื่อป้องกันการโจมตีในระยะไกล หรือกระสุนวิถีโค้ง โดยส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่สูงข่มที่อยู่ใกล้กับจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งด่าน ซึ่งไม่ใช่การซุ่มยิง ส่วนการเสียชีวิตของนายชาติชาย ตนได้รับทราบภายหลัง และไม่รู้ว่าขณะที่นายชาติชายถูกยิงอยู่ในลักษณะใด และใครเป็นผู้กระทำ

นัดสืบพยานวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555[8]

พยาน  นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำนปช.

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อเบิกความสรุปว่า การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนปช. เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น ยุบสภา โดยตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และที่ราชประสงค์ ชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. 53 รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเข้าสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ในวันที่ 10 เม.ย. 53 ขณะนั้นพยานยังอยู่ที่เวทีราชประสงค์

พยานเบิกความต่อว่า จากนั้นวันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับรายงานว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการเข้ามาชุมนุม ปะทะกับทหารบริเวณอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต ต่อมาวันที่ 13 พ.ค. 53 เกิดเหตุลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม จึงไม่มีใครสามารถเข้าหรือออกได้ รวมถึงตัดน้ำ ตัดไฟ ในบริเวณพื้นที่ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมที่ต้องการออกจากการชุมนุม ไม่สามารถออกไปได้ และผู้ที่เป็นห่วงผู้ชุมนุมต้องการเข้ามาดู ก็ไม่สามารถเข้ามาได้ ทำให้เกิดการปะทะกันบริเวณโดยรอบพื้นที่ชุมนุมเป็นระยะ

นายณัฐวุฒิเบิกความอีกว่า ต่อมาในช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 พ.ค. 53 ได้รับรายงานว่ารัฐบาลได้ส่งกำลังทหารกว่า 10,000 นาย เคลื่อนเข้ามาที่เวทีราชประสงค์ พร้อมอาวุธครบมือ พยานและบรรดาแกนนำจึงประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 13.00 น.  เขายืนยันว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎสากล เนื่องจากใช้กระสุนจริง และพลซุ่มยิงตามตึกสูง สำหรับการตายของนายชาติชายนั้น พยานทราบข่าวภายหลังผ่านสื่อมวลชนว่านายชาติชายถูกยิงจากระยะไกลเข้าที่บริเวณศีรษะ

จากนั้นศาลถามพยานว่าในการชุมนุมมีการยิงพลุ และตะไลใส่ทหารหรือไม่ พยานเบิกความว่า มีการยิงจริง แต่รัศมีของพลุและตะไลไม่สามารถไปถึงฝั่งทหารได้
ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 17 ธันวาคม 2555[9]

ศาลได้พิเคราะห์เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย เห็นว่าผู้ร้องมีเจ้าหน้าที่กู้ชีพของวชิรพยาบาล ประจักษ์พยานยืนยันว่าเห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน อีกทั้งจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้บริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และ อาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระราม 4 ซึ่งบริเวณนั้นมีเพียงเจ้าพนักงานตั้งด่านตรวจแข็งแรง และเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกาย ได้แก่ M16 , M 653 , HK33 , ปืนลูกซอง และปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ.และด้านหลังแนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานเป็นบังเกอร์ ซึ่งบุคลภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ยกเว้รถพยาบาลเท่านั้น

เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามีบุคคลฝ่ายที่ 3 เข้ามาก่อเหตุใดๆ อีกทั้งกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 ม.ม.) ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืน ขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืน M16 , M 653 , HK33 , ที่เจ้าพนักงานใช้ประจำการณ์ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในที่เกิดเหตุ จึงเชื่อได้ว่า กระสุนดังกล่าวถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจแข็งแรง โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ
มีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายชาติชาย  ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เวลา 23.37 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาด ร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิธีกระสุนปืนมากจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บริเวณถนนพระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของชาติชาย ชาเหลาฉบับเต็ม

เชิงอรรถ

[1] “เบิกความคดีไต่สวนชันสูตรศพคนเสื้อแดง,” เดลินิวส์, 25 มิ.ย. 55
[2] ในรายงานข่าวชื่อร้านผิดซึ่งชื่อร้านซึ่งอาจจะเป็นได้ว่า
[3] “ไต่สวนช่างภาพอิตาลี-เสื้อแดงตาย พยานยันเป็นฝีมือทหาร,” เดลินิวส์, 23 ก.ค. 55
[4] “จนท.ตรวจที่เกิดเหตุ เบิกความไต่สวนการตาย “ชาติชาย ชาเหลา” เหยื่อกระสุน พ.ค.53,” ประชาไท, 7 ต.ค. 55
[5] “ ‘ธิดา’ เบรกแดงไม่สนงานปชป,” ข่าวสด, 13 ต.ค. 55
[6] “นปช.ให้ด้วย1ล้านแจ้งข้อมูลชุดดำพยานย้ำ!คดีฮิโรยูกิชี้จนท.ยิง,” ข่าวสด, 20 ต.ค. 55
[7] “ไต่สวนศพสวนลุม,” ข่าวสด, 30 ต.ค. 55
[8] “นัดชี้อีกคดี ผลไต่สวน”ศพแดง”,” ข่าวสด, 15 พ.ย. 55
[9] “ศาลสั่งคดีที่ 3 ไต่สวนการตายเสื้อแดง ตายด้วยกระสุนจากกลุ่มทหาร,” ประชาไท, 17 ธ.ค.55