ลำดับเหตุการณ์

นอกเหนือ

เมษายน 2553

1 เมษายน 2553

นปช. – นายณัฐวุฒิยืนยันว่าหากรัฐบาลยังยืนกราน 9 เดือน ก็จะไม่มีการเจรจารอบ 3

รัฐบาล – พรรคร่วมรัฐบาลมีมติให้รัฐบาลอยู่ครบวาระหากแกนนำ นปช. ไม่รับข้อเสนอยุบสภาภายใน 9 เดือน

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่ม 40 ส.ว. รณรงค์คัดค้านการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่นำไปสู่ความรุนแรงและร่วมปกป้องกรุงเทพฯ ปกป้องประเทศไทย โดยการติดธงไตรรงค์ที่รถ ระบุการชุมนุมของ นปช. เป็นภัยคุกคามของชาติ และมีการเตรียมก่อจราจล

กลุ่ม 40 ส.ว. แถลงต่อต้านคนเสื้อแดงและย้ำว่า พ.ต.ท. ทักษิณเป็นภัยคุกคามชาติ โดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ แถลงว่าวันที่ 3 เม.ย. มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรง ด้วยการยิงระเบิดใส่ผู้ชุมนุมเพื่อนำไปสู่การจราจล ดังนั้นประชาชนกรุงเทพฯ ต้องลุกขึ้นมาจัดตั้งตัวเองและเฝ้าระวังความปลอดภัย ร่วมกันต่อต้านการจราจล น.ส. รสนา โตสิตระกูลกล่าวว่า คนไทยทุกคน โดยเฉพาะคน กทม. ต้องลุกขึ้นมาป้องกันตัวเอง เพราะแกนนำคนเสื้อแดงอาศัยมวลชนปลุกระดมสร้างความรุนแรง เป็นภัยคุกคามของชาติ ขอเชิญชาว กทม. ติดธงไตรรงค์ที่รถยนต์เพื่อให้คนเสื้อแดงยุติการชุมนุม

จุฬาฯ ประกาศปิดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เวลา 21.00 น. ถึงวันที่ 4 เม.ย. หลังจาก น.พ. ตุล สิทธิสมวงศ์ นัดชุมนุมคนเสื้อชมพูที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 2 เม.ย. และฝ่ายแกนนำคนเสื้อแดงประกาศว่าจะนำมวลชนบุกไปยังจุฬาฯ (ดู “รวบ นปช. หมิ่นสถาบัน,” สยามรัฐ, 2 เม.ย. 53; “บุกจุฬาฯ ขู่หายนะ ปิดมหา’ ลัย-เสื้อชมพูนัดรวมพล,”ไทยโพสต์, 2 เม.ย. 53 ; “แดงบุกจุฬา ชมพูหลบ ปักหลักสวนลุม อธิการสั่งปิด 3 วัน 3 เมษาส่อเดือด,” คมชัดลึก, 2 เม.ย. 53 ; “แดงปัดเผา กทม. -ลุยชมพู จุฬาฯ ผวาปิด,” มติชน, 2 เม.ย. 53)

หมายเหตุ – ตำรวจจับหนุ่ม นปช. USA  (ดู “ฝากขังผู้ดูแลเว็บ นปช.USA หมิ่นเบื้องสูงผลัดแรก ศาลค้านประกัน,” ประชาไท, 2 เม.ย.53 ; “รวบ นปช. หมิ่นสถาบัน,” สยามรัฐ, 2 เม.ย. 53 ; ดูรายละเอียดคดีได้ที่ ศูนย์ข้อมูลฯ iLaw)

 

2 เมษายน 2553

นปช. –  เสื้อแดงระดมพลเดินหน้ายุทธการดาวฤกษ์ทั่วกรุง และแบ่งไปยื่นหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐอเมริกา

นปช. เคลื่อนจากสะพานผ่านฟ้าฯ ไปสถานทูตสหรัฐอเมริกาเพื่อยื่นหนังสือ นพ.เหวงเปิดเผยว่า ทาง นปช. ได้ยื่นจดหมายขอบคุณนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมกับยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของ นปช. ไม่มีความรุนแรง

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – นพ. ตุลย์เข้าพบนายกรัฐมนตรีและยื่นหนังสือให้กำลังใจ โดยระบุว่าออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1) ปกป้องสถาบัน 2) ความเป็นอยู่ของคน กทม. ได้รับความเดือดร้อน และ 3) ไม่ให้ยุบสภา

กลุ่มจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิป ไตย กลุ่มปัญญาสยาม กลุ่มเยาวชนกล้าธรรม์-คนเสื้อสีชมพู-หลากสี นำโดยนายจรัล สุวรรณมาลา คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นางตรีดาว อภัยวงศ์ สุขุม อาจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬ่าฯ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร นพ. เกรียง ตั้งสง่า นายต่อตระกูล ยมนาค นายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล ฯลฯ ชุมนุมคัดค้านการยุบสภา ที่ลานพระบรมรูป ร. 6 สวนลุมพินี โดย พล.ต.อ. วสิษฐ เป็นตัวแทนกล่าวคำปฏิญาณจะพลีกายเพื่อปกป้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ่านแถลงการณ์ และร่วมกันร้องเพลงสดุดีมหาราชา แล้วพากันเดินเชิญชวนให้ติดธงชาติและริบบิ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ (ดู “ซัดสงครามกลางเมืองทุกเสื้อสี,” ไทยโพสต์, 3 เม.ย. 53 ; “ชมพูปะทะแดง จ่อใช้ฉุกเฉิน ตร. 42 กองร้อยรับมือ หึ่งถกลับ 5 เดิอนยุบ,” คมชัดลึก, 3 เม.ย. 53)

เกิดเหตุปาระเบิดเพลิงใส่รถพนักงานรับส่งเอกสารบริษัท มติชน จำกัด ที่จอดข้างรั้วด้านนอกบริษัท จนไฟลุกไหม้พังเสียหาย

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 3 เม.ย.53

 

3 เมษายน 2553

นปช. – นปช. เคลื่อนขบวนใหญ่ โดยแยกกันเป็น 2 ขบวน ขบวนแรกนำโดยนายวีระ นายจตุพร และ นพ. เหวง มุ่งหน้าไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์ อีกขบวนนำโดยนายขวัญชัย ไพรพนา มุ่งสู่ ถ.วิภาวดีรังสิต และชุมนุมหน้าสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT เรียกร้องให้เสนอข่าวที่เป็นกลาง

เวลาประมาณ 13.00 น. ห้างสรรพสินค้าต่างๆ รอบแยกราชประสงค์ต่างปิดทำการ ต่อมาช่วงเย็นแกนนำ นปช. ประกาศ 4 ข้อ 1) ให้รัฐบาลยุบสภาทันที 2) จะปักหลักชุมนุมไม่มีกำหนด 3) การชุมนุมจะเป็นไปอย่างสันติ และ 4) พร้อมฟังจุดยืนของรัฐบาล และพร้อมรับเหตุการณ์ทุกรูปแบบ

รัฐบาล – ค่ำวันเดียวกัน ศอ.รส. แถลงออกประกาศฉบับที่ 5 ห้ามบุคคลเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่บริเวณราชประสงค์ แต่ไม่เป็นผล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลาประมาณ 2.00 น. เกิดระเบิดไม่ทราบสาเหตุบริเวณลานจอดรถ ร.พ. เซ็นทรัลเมโมเรียล จ. เชียงใหม่ เวลาประมาณ 4.00 น. เกิดเหตุยิง m79 ใส่ห้างโลตัสสาขาพะเยา เวลา 20.20 น. ที่กรุงเทพฯ หน้าประตูทางเข้าองค์การโทรศัพท์สาขาสะพานขาว พบระเบิดแสวงเครื่องในถุงดำ โดยระหว่างการตรวจสอบได้เกิดเสียงระเบิดขึ้นหน้าอาคารพาณิชย์ห่างจากจุดที่พบระเบิดแสวงเครื่องประมาณ 300 เมตร แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่คาดว่าเป็นระเบิดประเภทไปป์บอมบ์

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 4 เม.ย.53

 

4 เมษายน 2553

นปช. – การชุมนุมของ นปช. ในกรุงเทพฯ แบ่งออกเป็น 2 เวที คือบริเวณแยกราชประสงค์และผ่านฟ้า ด้านแกนนำเสื้อแดงประชุมกันที่ โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ ต่อมาเวลา 17.25 น. ที่ประชุมแกนนำ นปช. มีมติให้ปักหลักชุมนุมที่แยกราชประสงค์อย่างไม่มีกำหนด

รัฐบาล – ศอ.รส. ยื่นศาลขอหมายจับแกนนำ นปช. 5 คน ประกอบด้วยนายวีระ นายจตุพร นพ. เหวงและนายอริสมันต์

เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงแจกใบปลิวคำสั่ง ศอ.รส. แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่าการปิดแยกราชประสงค์ผิดกฎหมาย ด้านทหารได้เสริมกำลังบริเวณบ้านพักของบุคคลสำคัญ

นายอภิสิทธิ์แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า การปิดสี่แยกราชประสงค์และถนนโดยรอบเป็นการใช้สิทธิ์เกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญรับรอง เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ศอ.รส. จึงประกาศขอให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นผู้เจรจา ผลการเจรจาปรากฏว่าผู้ชุมนุมยอมเปิดเส้นทางจราจรบางส่วน นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่ารัฐบาลพร้อมลดวาระตัวเองลงถ้าสามารถทำให้สงบสุข สามารถพูดคุยกันได้ มั่นใจว่าถ้าทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันจะใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี 9 เดือน ขอยืนยันในประกาศของ ศอ.รส. ให้กลับไปใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านฟ้าฯ รัฐบาลกำลังผ่อนคลายสถานการณ์ จะบังคับใช้กฎหมายและจะปฏิบัติตามแนวทางสากล เริ่มต้นจากมาตรการเบาไปหาหนัก ขอให้ประชาชน กทม. อดทนอดกลั้น

ทางด้าน ศอ.รส. ออกประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่แยกราชประสงค์ รวมทั้งห้ามชุมนุมบนนถนนอีก 11 สายที่ล้อมรอบบริเวณดังกล่าว (ดู “ประกาศห้ามชุมนุมถนน11สายแดงเคลื่อนเย้ย,” มติชน, 4 เม.ย. 53)

เวลา 16.00 น. ศอ.รส. ออกประกาศฉบับที่ 6 ห้ามบุคคลเข้าหรือให้ออกขจากบริเวณพื้นที่ อาคาร สถานที่ที่กำหนด 11 เส้นทาง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้คนเสื้อแดงไปชุมนุมที่ ถนนสีลม

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลางคืนคนร้ายปาระเบิดเอ็ม 67 เข้าใส่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) และเกิดเหตุคาร์บอมระเบิดแสวงเครื่องในรถเก๋ง ที่ลานจอดรถ อาบอบนวดโพไซดอน ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวนางพรทิวา นาคาศัย รมต.พาณิชย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 5 เม.ย.53

 

5 เมษายน 2553

นปช. – นปช. ดาวกระจายเคลื่อนขบวนจากสะพานผ่านฟ้าลีลาสไปที่สำนักงาน กกต. ที่ศูนย์ราชการฯ ถ. แจ้งวัฒนะ เพื่อทวงถามเรื่องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ในที่สุด กกต. ได้นัดหมายให้ผู้ชุมนุมกลับมาฟังข้อสรุปในวันที่ 20 เม.ย.

นปช. โคราช ตั้งเวทีคู่ขนาน ที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ริมถ.ราชดำเนิน เขตเทศบาลนครนครราชสีมา

นปช. ขอนแก่น รวมตัวกันขับไล่ นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานพิธีเปิดทางลอดสี่แยกสามเหลี่ยม ใกล้ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาขอนแก่น

รัฐบาล –  ศอ.รส. ส่งทหารตรึงกำลังตั้งแต่แยกศาลาแดงหลังคนเสื้อแดงประกาศจะบุกสีลม

นายอภิสิทธิ์ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) มอบอำนาจ ผบ.ทบ. ยื่นร้องศาลแพ่งให้มีคำสั่งให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกจากบริเวณราชประสงค์ (ดู “แดงป่วน 11 จุด เย้ย ศอ.รส.,” ไทยรัฐ, 6 เม.ย. 53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์และสมาคมศูนย์การค้าไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช. ให้ได้ข้อยุติ และขอให้ นปช. ทบทวนเรื่องพื้นที่การชุมนุม ประธานวุฒิสภาแนะนำรัฐบาลให้ร่นระยะเวลาโรดแมป 9 เดือน

เกิดเหตุยิงเอ็ม79ใส่ห้างแม็คโคร ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง หมู่ที่ 6 ต.หนองป่าครั่ง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แต่ไม่ระเบิด

เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 ใส่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ “ตนานุวัฒน์” บ้านม่อนปิน ต.แม่เหียะ เชียงใหม่ของกรรมการหอการค้าเชียงใหม่

หมายเหตุ – “แดงป่วน 11 จุด เย้ย ศอ.รส.,” ไทยรัฐ, 6 เม.ย. 53

 

6 เมษายน 2553

นปช. – ผู้ชุมนุม นปช.ที่ราชประสงค์ได้พยายามล้อมกรอบกองกำลังทหารและตำรวจ เพื่อขับไล่เจ้าหน้าที่ที่ยกกำลังมาปิดล้อมเส้นทางเข้า-ออกบริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อกดดัน

ขณะเดียวกันคนเสื้อแดงในหลายจังหวัดก็จัดชุมนุมคู่ขนานไป เช่นที่อุดรธานี ร้อยเอ็ด ขอนแก่น เชียงราย ส่วนที่ศรีษะเกษ คนเสื้อแดงได้ผ่าจุดสกัดของตำรวจและทหารเข้าไปชับไล่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ที่มาตรวจยี่ยมพื้นที่ภัยแล้ง พร้อมแจกถุงยังชีพให้ประชาชน ที่ อ.กันทรลักษ์

รัฐบาล – ศอ.รส. วางกำลังตำรวจทหารปิดล้อมผู้ชุมนุมรอบแยกราชประสงค์ การตอบโต้กันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมเกิดขึ้นโดยรอบ สุดท้ายผู้ชุมนุมสามารถเคลื่อนไหวกดดันเจ้าหน้าที่ให้ถอยออกจากพื้นที่รอบราชประสงค์ได้สำเร็จ (ดู “ปะทะครั้งแรก รบ.หยั่งเชิงสลายก่อนถอย,” มติชน, 7 เม.ย. 53 ; “คำแถลงนายกฯแจกแจงเหตุระงับแผนสลายม็อบ,” มติชน, 7 เม.ย. 53 ; “นาทีต่อนาทีเครียด แดงปะทะตร.-ทหารครั้งแรก,” มติชน, 7 เม.ย. 53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยกคำร้องของรัฐบาลที่ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ชุมนุมออกจาก พื้นที่ราชประสงค์ โดยศาลแพ่งมีความเห็นว่า การชุมนุมของ นปช. โดยเฉพาะการปิดกั้นและขัดขวางเส้นทางสาธารณะในกรุงเทพมหานครนั้นเป็นการ กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตามหลักกฎหมายนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีอำนาจในการดำเนินการอยู่แล้ว

ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวตำหนิคนเสื้อแดงที่บุกเข้าไปในสำนักงาน กกต.

ในวันเดียวกันนั้น เกิดเหตุวางระเบิด (แต่ไม่ระเบิด) บริเวณใกล้ทางเข้าประตูใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลา 13.30 น. เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 ใส่ด้านหลังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ในวันครบรอบการก่อตั้งพรรค

 

7 เมษายน 2553

นปช. – เช้าวันที่ 7 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ที่เวทีผ่านฟ้าได้เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมรัฐสภา ซึ่งมีการประชุมคณะรัฐมนตรี วอร์รูมรัฐบาล และรัฐสภาอยู่ ต่อมาเวลาประมาณ 12.00 น. แกนนำ นปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุมที่รัฐสภาแล้วให้ผู้ชุมนุมรีบเดินทางไปยังสถานีดาวเทียมไทยคมเนื่องจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะตัดสัญญานของสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารหลักของคนเสื้อแดงขณะนั้น

เวลาประมาณ 12.20 น. นายอริสมันต์อ้างว่าตำรวจโยนแก๊ซน้ำตาเข้ามายังกลุ่มผู้ชุมนุม แล้วสั่งให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐสภา ทำให้ ส.ส. และเจ้าหน้าที่ด้านในแตกตื่นวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น เมื่อ ส.ส. พรรคเพื่อไทยเข้ามาเจรจากับนายอริสมันต์กลุ่มคนเสื้อแดงจึงยอมถอยออกไปอยู่ในบริเวณประตูทางเข้ารัฐสภา ต่อมานายสุพร อัตถาวงศ์ได้ประกาศยุติการปิดล้อมรัฐสภาและให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปที่สถานีดาวเทียมไทยคม ระหว่างที่คนเสื้อแดงกำลังทยอยออกไป ได้มีผู้เก็บระเบิดควัน 2 ลูก นำมาให้นายอริสมันต์ อ้างว่าเจ้าหน้าที่ขว้างมา นายอริสมันต์จึงนำคนเสื้อแดงที่เหลือกลับมาเรียกร้องหานายสุเทพ แล้วสั่งให้การ์ดเข้าไปตามหานายสุเทพในรัฐสภา จากนั้นนายสุเทพ พร้อมด้วยนายสาทิตย์และนายปณิธาน ต่างพากันปีนออกทางพระที่นั่งวิมานเมฆ ขณะที่เหตุการณ์กำลังจะบานปลายแกนนำจากเวทีราชประสงค์ได้โทรศัพเข้ามาขอให้นายอริสมันต์ลงจากเวที ต่อมาเวลาประมาณ 13.20 น. นายก่อแก้วและนายวิสาได้มาบัญชาการแทนนายอริสมันต์โดยสั่งให้ผู้ชุมนุมออกมาจากรัฐสภา ฝ่ายตำรวจชี้แจงว่าแก๊ซน้ำตาที่นายอริสมันต์อ้างว่าเจ้าหน้าที่โยนใส่ผู้ชุมนุมนั้น เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจราจล ซึ่งในช่วงที่คนเสื้อแดงปะทะกับเจ้าหน้าที่กระป๋องแก๊ซที่ติดตัวได้หล่นลงมาแล้วมีผู้ชุมนุมนำไปมอบให้นายอริสมันต์

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แกนนำ นปช. ไม่พอใจบทบาทของนายอริสมันต์ ซึ่งไม่ทำตามมติของแกนนำหลายครั้งแล้ว ทั้งตอนไปสาดเลือดหน้าบ้านนายอภิสิทธิ์และการนำมวลชนเข้าไปไล่ทหารในทำเนียบรัฐบาล

นปช. เคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่หน้าสถานีสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม ถ.รัตนา ธิเบศร์ จ.นนทบุรี เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลทำการปิดการถ่ายทอดสด People Channel

เวลา 17.30 น. แกนนำ นปช. ทั้งหมดขึ้นเวทีราชประสงค์ ประกาศย้ำจุดยืนให้นายกฯ ยุบสภาภายใน 15 วัน พร้อมประกาศว่าหากมีการตัดสัญญานพีเพิลชาแนลจะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม

เวลา 18.00 น. โทรทัศน์ทุกช่องถ่ายทอดสดนายกฯ แถลงข่าวประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้บรรยากาศการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ผู้ชุมนุมก็ตื่นตัวพร้อมรับสถานการณ์การสลายการชุมนุม ส่วนที่สถานีไทยคม นนทบุรี คนเสื้อแดงจำนวนมากยังปักหลักชุมนุมอยู่ และ พ.ต.อ. ชัยโรจน์ ชัยยะ อดีตนายตำรวจ ได้นำคนเสื้อแดงราวพันคนไปยึดสถานีส่งสัญญานไทยคม ลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีกำลังทหารมายึดไว้ตั้งแต่ช่วงเย็น

ส่วนที่ จังหวัดนครราชสีมา นปช.นครราชสีมา ตั้งเวทีปราศรัยที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อเตรียมพร้อมบุกยึดศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาทันทีหากมีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ

รัฐบาล – เวลาประมาณ 10.30 น. นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติตามที่ กอ.รมน. เสนอ ให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงออกไปตั้งแค่วันที่ 8-20 เม.ย. และให้ขยายพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันเป็นผลกระทบ ขณะเดียวกันที่รัฐสภา นายสุเทพ รองนายกฯ เป็นประธานการประชุมวอร์รูมรัฐบาลติดตามสถานการณ์การชุมนุม มีแกนนำรัฐบาลมาร่วมอย่างพร้อมเพรียง ใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ชม. และนายสุเทพได้คุยโทรศัพท์กับนายกฯ ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ก่อนเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงไอซีทีในฐานะคู่สัญญากับบริษัทไทยคมฯ สั่งให้ไทยคมยุติการให้บริการสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล โดยได้สั่งการไปตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.

เวลา 16.30 น. นายกรัฐมนตรีเรียกประชุม ครม. นัดพิเศษ ที่ ศอ.รส. ที่ ร.11 รอ. จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมือง อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และให้ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีนายสุเทพ เมือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ

วันเดียวกันนั้น นายสุเทพ ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. ทำหนังสือถึง รมว.ไอซีที ระบุว่าคณะกรรมการ กอฉ.(กองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) มีมติให้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลต่อความมั่นคง 36 URL ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่องทางการสื่อสารของคนเสื้อแดง รวมทั้งเว็บไซต์ประชาไท ฟ้าเดียวกัน และคนเหมือนกัน โดยอ้างข้อกำหนดตามที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ดู หนังสือศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ กห 0407.45/1 เรื่อง “การปิดกั้นเว็บไซต์ตาม พรก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” วันที่ 7 เม.ย. 53 ; และดูเพิ่มเติม รายงานการสัมมนา “วันเสรีภาพสื่อโลก: สื่อไทยภายใต้ภาวะ ‘ฉุกเฉิน’ ทางการเมือง,” ประชาไท, 6 พ.ค.53 ; “รบ.ประกาศภาวะฉุกเฉิน 6 จว.แดงสู้แตกหัก,” มติชน, 8 เม.ย.53 ; “รายงานพิเศษ อภิสิทธิ์ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน,” ข่าวสด, 8 เม.ย.53 ; “ภาวะฉุกเฉินแดงระดมสู้,” ข่าวสด, 8 เม.ย.53 ; “ประกาศฉุกเฉิน ม็อบไม่ถอย,” ไทยรัฐ, 8 เม.ย.53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลา 3.00 น. เกิดเหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 ตกข้างห้องสำนักงานผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ภายในกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน

วันเดียวกัน เกิดเหตุปาระเบิดหน้าที่ทำการตำรวจชุมชน (ศูนย์อยู่เย็น) ด้านหน้าทางเข้าห้าง เทสโก้โลตัส สาขานวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม และเกิดเหตุวางระเบิดแสวงเครื่อง (กู้ได้ทัน) บริเวณใต้เชิงสะพานวงแหวนขาออกลงสู่ ถนนรามอินทรา ใกล้กับห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ แขวงเขตคันนายาว

กลางดึก เกิดเหตุยิงระเบิด m79 เข้าใส่ห้องออกกำลังกายข้างห้องสำนักงานผู้บัญชาการทหารบก มีนายทหารบาดเจ็บ 1 นาย

 

8 เมษายน 2553

นปช. – กลุ่มแท็กซี่และเสื้อแดงจำนวนหนึ่งกำลังมาคุมสถานการณ์หน้าปากซอยวิภาวดี 16 ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุชุมชนคนรักแท็กซี่ เครือข่ายของนปช. เพราะหวั่นโดนทหารบุกยึดระงับออกอากาศ
ส่วนที่สถานีไทยคม คนเสื้อแดงได้ทยอยเดินทางมาชุมนุมปิดล้อมสถานีบริการภาคพื้นดินไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี กว่า 2 พันคน ผู้ชุมนุมพยายามบุกเข้าไปในสถานีแต่ไม่สำเร็จ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงสลายตัวไปในช่วงเย็น อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 19.30 น. พีเพิลชาแนลสามารถออกอากาศได้อีกครั้งโดยใช้สถานีลับ

ส่วนที่ต่างจังหวัด มีการชุมนุมที่ศาลกลางจังหวัดในจังหวัดต่อไปนี้ ภาคเหนือ ประกอบด้วย 1.พะเยา 2.ลำปาง 3.น่าน 4.เชียงราย 5.แพร่ 6.เชียงใหม่ 7.ตาก 8.พิษณุโลก 9.อุตรดิตถ์ 10.พิจิตร 11.ลำพูน 300 คน 12.เพชรบูรณ์ 13.นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 14.นครราชสีมา 15.ชัยภูมิ 16.ร้อยเอ็ด 17.กาฬสินธุ์ 18.เลย 19.หนองคาย 20.สกลนคร 21.อุบลราชธานี 22.อำนาจเจริญ 23.สุรินทร์ 24.นครพนม 25.ขอนแก่น 26.มหาสารคาม 27.อุดรธานี 28.ศรีสะเกษ 29.ยโสธร 30.มุกดาหาร 31.หนองบัวลำภู ภาคกลางและภาคตะวันออก 32.ลพบุรี 33.อยุธยา 34.จันทบุรี 35.ปราจีนบุรี 36.ฉะเชิงเทรา 37.ชลบุรี 38.สระแก้ว

รัฐบาล – นายกรัฐมนตรียกเลิกการเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน ที่ประเทศเวียดนามและการประชุมสุดยอดผู้นำความมั่นคงอาวุธนิวเคลียร์ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน

ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตัดสัญญานพีเพิลชาแนลได้สำเร็จ กระทรวงไอซีทีตั้งทีมไล่ปิดเว็บไซต์จำนวนมาก รมว. มหาดไทยสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดคุ้มกันศาลากลางอย่างเข้มงวด โดยหลังพีเพิลชาแนลถูกปิดได้มีกำลังทหารกับตำรวจปราบจราจลกว่า 3,000 นาย เข้าควบคุมสถานีไทยคม

ขณะที่ศาลอาญาได้ออกหมายจับแกนนำ นปช. 7 คน ที่นำผู้ชุมนุมบุกรัฐสภา ประกอบด้วยนายอริสมันต์ นายสุพร นายพายัพ เจ๋ง ดอกจิก นายเสงี่ยม สำราญรัก นายวันชนะ เกิดดี นางศิริวรรณ นิมิตศิลป์

ที่ ร.11รอ. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษก ศอฉ. กล่าวว่าทาง ศอฉ.ได้มีการแจ้งเตือนในกรณีที่ผู้ชุมนุมนำรถจักรยานยนต์มาใช้ในการก่อกวนเพื่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า การกระทำดังกล่าวมีเหตุอันควรสงสัยว่า ได้ใช้หรือจะใช้รถจักรยานยนต์ เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดรถจักรยานยนต์ได้ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 3 ของประกาศที่ออกตาม มาตรา 11 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งกรณีผู้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเข้าในพื้นที่โดยขับขี่รถพาผู้ชุมนุมผ่านจุด ตรวจ ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามที่ออกตามข้อ 6 ของประกาศที่ออกตามมาตรา 11 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดยานพาหะนะและจับกุมผู้ขับขี่ ผู้ครอบครอง และผู้นำพาหรือแกนนำในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งที่ออกตาม มาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

พ.อ. สรรเสริญกล่าวว่า สำหรับวิทยุชุมนุมที่อยู่ในข่ายปลุกระดมยั่วยุ ขณะนี้ทาง ศอฉ.ได้จัดทำบัญชีไว้แล้ว แต่ยอมรับว่าการดำเนินการไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถปิดคลื่นวิทยุได้ทันทีเพราะอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือการดำเนินการทาง ด้านเทคนิค โดยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมการออกอากาศ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการปิดดีทีวีทุกระบบน่าจะสามารถสกัดกั้นมวลชนคนเสื้อแดงได้จำนวนไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาแกนนำปลุกระดมผ่านดีทีวี ส่วนการวีดีโอลิงค์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นเชื่อว่าหลังจากปิดดีทีวี จะทำให้การวีดีโอลิงค์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้มาก ทำได้เฉพาะจุดที่ชุมนุมเท่านั้น (ดู “ศอฉ.สั่งห้ามมอเตอร์ไซค์-รถยนต์ขนคนร่วมเสื้อแดง ฝ่าฝืนจำคุก 2 ปี,” ประชาไท, 8 เม.ย.53 ; “ม็อบแดงรวมพลโต้ศอฉ.บุกราบ11-ไทยคม,” ไทยรัฐ, 9 เม.ย. 53 ; “แดงดีเดย์9โมงลุย10จุดดิ้นเปิดพีทีวีใหม่,” ข่าวสด, 9 เม.ย. 53 ; “พีทีวีจอมืด-ทหารยิงคลื่นกวนสัญญาณ,” คมชัดลึก, 9 เม.ย. 53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย –  ประธานวุฒิสภาแสดงความเห็นว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบแล้วเพราะมีการบุกรุกสถานที่ราชการ จึงเป็นเรื่องถูกต้องที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท และเว็บไซต์อื่นๆ

ฝ่ายแกนนำพันธมิตรฯ ออกมากล่าวว่ารัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ กลุ่มพันธมิตรฯ ขอสนับสนุนให้กำลังใจประชาชนทุกกลุ่มที่ออกมาปกป้องชุมชนของตัวเอง โดย พล.ต. จำลอง ศรีเมืองกล่าวว่าถ้ารัฐบาลจัดการไม่ได้ พันธมิตรฯ จะออกมาจัดการเอง

เวลา 0.45 น. เกิดเหตุคนร้ายขับรถยนต์และจักรยานยนต์ยิงเอ็ม-16 และเอ็ม-79 (แต่ไม่ระเบิด) ใส่ที่ทำการพรรคการเมืองใหม่ ถ.พระสุเมรุ แขวงบวร นิเวศน์ เขตพระนคร นอกจากนี้ยังเกิดเหตุยิงปืนและระเบิดเอ็ม 79 (แต่ไม่ระเบิด)เข้าใส่อาคารทีพีไอทาวเวอร์ แยกถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตัดถนนจันทร์ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร และเวลา 20.00 น. เกิดเหตุปาระเบิดเอ็ม 67 ใส่ลานจอดรถของกรมการขนส่งทางบก เขตจตุจักร กทม.

303 นักวิชาการแสดงจุดยืนต่อต้านการยุบสภา (ดู “303นักวิชาการต้านรัฐอย่าซี้ซั้วยุบสภา,” ไทยโพสต์, 9 เม.ย. 53)

หมายเหตุ

 

9 เมษายน 2553

นปช. – ด้านเวทีที่ราชประสงค์ นปช. ผลักดันกับกำลัง ตำรวจปราบจลาจล หน้า ร.พ.ตำรวจ เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม โดยท้ายที่สุด ตำรวจยอมกลับเข้าที่ตั้ง

วันเดียวกัน นปช. เดินทางไปชุมนุมและปิดล้อมสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ถ.รัตนาธิเบศร์ ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี

อีกส่วนหนึ่งเดินทางไปที่สถานีบริการภาคพื้นดินไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และบุกยึดสถานที่เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณ People Channel จากการครอบครองของทหารได้สำเร็จ หลังปะทะกับทหาร มีการยิงปืนกระสุนยางและขว้างแก๊สน้ำตา คนเสื้อแดงสามารถเชื่อมสัญญานได้สำเร็จ ทำให้พีเพิลชาแนลกลับมาถ่ายทอดได้อีกครั้ง เวลา 20.30 น. นายวีระขึ้นเวทีปราศรัยแถลงถึงความสำเร็จในการคืนสัญญานพีเพิลชาแนล (อย่างไรก็ตาม ในคืนนั้นเวลา 20.30 น. กำลังทหารจำนวนมากเข้ายึดพื้นที่สถานีไทยคมอีกครั้งหลังจากผู้ชุมนุมเสื้อแดงออกไปจากพื้นที่แล้ว และตัดสัญญานการออกอากาศพีเพิลแชนแนลทีวีอีกครั้ง ทว่าต่อมาพีเพิลแชนแนลกลับมาถ่ายทอดได้ในช่วงประมาณ 15.15 น. ของวันที่ 10 เม.ย.)

รัฐบาล – นายสุเทพ ในฐานะ ผอ. ศอฉ. ขีดเส้นตายให้ พล.ต.ท. ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. จับแกนนำเสื้อแดงให้ได้ภายในเวลา 48 ชั่วโมง ตอนเย็น 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจราจล 10 กองร้อย เดินแถวเข้าผลักดันผู้ชุมนุมด้านหน้าโรงพยาบาลตำรวจหลังได้รับคำสั่งให้จับกุมแกนนำ นปช.

ศอฉ. แถลงกฎการใช้กำลัง 7 ขั้นตอน และแถลงรายชื่อแกนนำ นปช. ที่ถูกออกหมายจับตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ประกอบด้วย 1. นพ. เหวง 2. นางดารุณี กฤติบุญญาลัย 3. นายจรัล ดิษฐาอภิชัย 4. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 5. นายนิสิต สินธุไพร 6. นายวีระ 7. นายก่อแก้ว พิกุลทอง 8. นายขวัญชัย สาราคำ (ไพรพนา) 9. นายชินวัฒน์ หาบุญพาด 10. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท 11. นายอดิศร เพียงเกษ 12. นายวรพล พรหมิกบุตร 13. พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรรัตน์ 14. นายสำเริง ประจำเรือ 15. นายวิสา คัญทัพ 16. นางไพจิตร อักษรณรงค์ และ 17. พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล

เวลา 22.10 น. นายกแถลงผ่านทางโทรทัศน์ต่อว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงว่าเหิมเกริม แต่รัฐบาลไม่ท้อ จะขอรักษากฎหมายต่อไป (ดู “แดงบุกยึดไทยคมปะทะเดือดหมายจับอีก 17,” ไทยรัฐ, 1 เม.ย.53 ; “ยึดไทยคม ฝ่าแก๊สน้ำตา-ทหาร,” ข่าวสด, 10 เม.ย.53 ; “นายกฯ ลั่น ยึด ก.ม.-ต้องชนะ,” กรุงเทพธุรกิจ, 10 เม.ย.53 ; “พรก.ฉุกเฉินหมดท่า รัฐบาลพ่ายแพ้ทุกแนวรบมิคสัญญีไทยคมลาดหลุมแก้ว,” ASTV ผู้จัดการรายวัน, 10 เม.ย.53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – คนร้ายนำระเบิดไปวางไว้บริเวณสะพานจ่ายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้านิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ตรงข้ามโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แต่เจ้าหน้าที่เก็บกู้ไว้ได้ทัน

หลังมีการตัดสัญญานพีเพิลชาแนล และกระทรวงไอซีทีไล่ปิดเว็บไซต์จำนวนมาก หลายฝ่ายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พร้อมวิตกกังวลการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ประณามสื่อที่บิดเบือนยั่วยุและคัดค้านการคุกคามสื่อทุกรูปแบบ

ศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่เปิดให้บริการ 10.00-18.00 น.

การประชุมวุฒิสภาล่มเนื่องจากกลุ่ม 40 ส.ว. ส่ง sms ชักชวนให้ ส.ว. หนีประชุม

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 10 เม.ย.53 และ 11 เม.ย.53

 

10 เมษายน 2553

นปช. – ที่ต่างจังหวัด นปช. เชียงใหม่ ผ่านแนวกั้นบุกยึด เข้าไปชุมนุมในศาลากลาง และสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 จังหวัดเชียงใหม่

นปช. ขอนแก่น ชุมนุมที่สวนรัชดานุสรณ์ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น

นปช. อุดรฯ (สถานีวิทยุชมรมคนรักอุดรประกาศให้คนเสื้อแดงมาชุมนุมกันที่ถนนหน้าศาลากลาง) กลุ่มคนเสื้อแดงราว 500 คน เปิดเวทีปราศรัยและบุกพังประตูรั้วเข้าไปยึดพื้นที่ในศาลากลางจังหวัด แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดไว้

นปช. นครราชสีมา ตั้งเวทีเวทีคู่ขนานบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

นปช. พิษณุโลก ชุมนุมที่หน้าประตูศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก

นปช. ร้อยเอ็ด ชุมนุมด้านหน้าศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลและมีการนำยางรถยนต์มากองไว้ที่หน้าศาลากลางด้วย

นปช. มหาสารคาม ตั้งเวทีชุมนุมที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง มหาสารคาม และด้านหน้าศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม

นปช. พะเยา ชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา

ที่อุบลราชธานี คนเสื้อแดงกลุ่มชักธงรบรวมตัวกันรวมตัวกันที่สนามบินจังหวัดเพื่อขับไล่นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ รมว. ศึกษาธิการ ส่วนที่หน้าศาลากลางจังหวัดกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกันร่วมชมการถ่ายทอดสดการชุมนุมในกรุงเทพฯ

ที่ลำพูน กลุ่มคนเสื้อแดงรวมตัวกันหน้าศาลากลางชมถ่ายทอดสด

รัฐบาล – เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการขอพื้นที่คืน ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ และเกิดการปะทะกับผู้ชุมนุมใหลายจุดรอบๆ บริเวณการชุมนุม หลังเกิดเหตุ ศอฉ. ยืนยันว่าไม่ได้ยิงผู้ชุมนุม และกล่าวว่าคนเสื้อแดงเป็นฝ่ายใช้อาวุธ ฝ่าย นปช. ปฏิเสธว่าไม่ได้ยิง m79 ใส่ทหาร และไม่ทราบว่าฝ่ายที่ยิงเป็นใคร พล.ต.ขัตติยะกล่าวว่า ฝ่ายที่ยิง m79 ใส่ทหารคือ “นักรบโรนิน” เป็นกองกำลังอิสระ และกล่าวว่าทหารขึ้นไปซุ่มยิงอยู่บนตึกโรงเรียนสตรีวิทยาและคนเสื้อแดงจำนวนมากตายเพราะพลซุ่มยิงของทหาร ด้านพรรคเพื่อไทยแสดงภาพถ่ายชี้ว่าฝ่ายทหารทำผิดกฎการใช้กำลัง

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลา 4.00 น. เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 เข้าไปตกบริเวณลานจอดรถหลังตึกกองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถ.พหลโยธิน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ห้างสรรพสินค้าบริเวณแยกราชประสงค์ปิดให้บริการโดยไม่มีกำหนด

20.00 น. มีเหตุยิงระเบิดใส่หลังคาตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล แต่ระเบิดไม่ทำงาน คาดว่าจะเป็นระเบิด m79 ต่อมาเวลา 20.15 น. มีเสียงระเบิดดังขึ้นอีกครั้งบริเวณเหนือห้องสีงาช้าง ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า

กลางคืน ที่ ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.อยุธยา เกิดเหตุวางระเบิดซีโฟร์บริเวณโคนเสาไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. 2 ต้น ที่รับกระแสไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าวังน้อยส่ง ไปสถานีรังสิตเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าในเขตกทม.และปริมณฑล เป็นระเบิดซีโฟร์ 6 ลูก แต่ทำงานเพียงแค่ 3 ลูก

หลังเหตุการณ์ 10 เมษา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุดเพื่อสอบสวนเหตุการณ์ ฝ่าย นปช. ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการกลางชันสูตรศพผู้เสียชีวิต

ที่ตรังและสุราษฎร์ธานี มีกลุ่มมวลชนชุมนุมคัดค้านการยุบสภา

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 11 เม.ย.53

 

11 เมษายน 2553

นปช. – นปช.นำโลงศพสีแดง 14 โลงมาวางเรียงกัน พร้อมตั้งเต็นท์และโต๊ะหมู่บูชา ทำพิธีบำเพ็ญกุศลและไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

พ.ต.ท.ทักษิณจี้นายอภิสิทธิ์รับผิดชอบ แกนนำ นปช. ประกาศนายกฯ ต้องยุบสภาแล้วออกนอกประเทศทันที

นปช.ปทุมธานี มาปักหลักหน้าสถานีบริการภาคพื้นดินไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้เชื่อมสัญญาณ People Channel กลับคืนสู่ปกติอีกครั้ง พีเพิลชาแนลสามารถกลับมาถ่ายทอดได้อีกครั้ง แต่ไม่นานก็ถูกสัญญานรบกวนอีก

รัฐบาล – นายสุเทพและ ศอฉ.แถลงโต้ว่า ทหารไม่ได้ทำร้ายประชาชน แต่มีกลุ่มติดอาวุธสงครามแฝงอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมยิงประชาชน

ในช่วงค่ำ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหารือร่วมกันที่โรงแรมมิเลเนียมฮิลตัน มีมติให้ยื่นเงื่อนไขการเจรจาโดยให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 6 เดือน หรือภายในเดือนตุลาคม แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่ทางด้านแกนนำพรรค ปชป. มีท่าทีไม่เห็นด้วย

หลังเกิดเหตุวันที่ 10 เมษายน ที่ประชุมศอฉ. เห็นว่า เนื่องจากปรากฎว่าได้มีการกระทำผิดทางอาญาที่สำคัญเกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความมั่นคงของประเทศจึงพิจารณาเห็นว่า ควรที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิเศษพิจารณาว่ามีเหตุสมควรเป็นคดีพิเศษดำเนินการตาม พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ จึงมอบหมายให้นายสุเทพ ในฐานะประธานกรรมการคดีพิเศษ นำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษเป็นการเร่งด่วน (ดู “รายงานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 3/2553,” วันที่ 16 เม.ย.53, หน้า 2-3)

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 12 เม.ย.53

 

12 เมษายน 2553

นปช. –  พรรคเพื่อไทยยื่นหนังสือต่อ ปปช. ฟ้องเอาผิดนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นผู้ออกคำสั่งจนทำให้เกิดความสูญเสียในเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53

นปช. นำโลงศพบรรจุศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ แห่ไปรอบกรุงเทพมหานครเพื่อประจานการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล

รัฐบาล – พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แสดงความเห็นว่ารัฐบาลควรยุบสภา ส่วนเรื่องเวลาควรหาทางออกด้วยการเจรจา ส่วนข้อสงสัยที่ว่าความสูญเสียของกองทัพเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53เกิดขึ้นเพราะความแตกแยกในกองทัพนั้น พล.อ. อนุพงษ์กล่าวว่า เท่าที่ทราบข่าว อาจมีทหารที่รีไทร์ไปแล้ว คนพวกนี้ไม่ใช่ความแตกแยกของกองทัพ แต่เป็นผู้ปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการ เรามีข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ แต่จะไม่สั่งให้กองกำลังไปกวาดล้าง

พรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้ยุบสภาภายใน 6 เดือน โดยไม่ต้องทำประชามติ ด้านนายชุมพล ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา เร่งพรรค ปชป. ให้สรุปจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เวลาประมาณ 15.00 น. ศอฉ. เปิดเทปรายการ “ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า” ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เป็นผู้ดำเนินรายการสัมภาษณ์นายทหารจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ จังหวัดปราจีนบุรี (พล ร.2 รอ.) พร้อมมีการเปิดคลิปวีดิโอเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ที่ระบุว่าเป็นของช่างภาพอิสระต่างประเทศซึ่งอยู่หลังแนวทหารหลายเหตุการณ์ ทั้งระหว่างการปะทะ การบาดเจ็บจากระเบิดM79 รวมไปถึงภาพของมือปืนโพกผ้าดำและมีผ้าแดงผูก ซึ่งทหารระบุว่าอาจเป็นกลุ่มมือที่สาม หรืออดีตทหารพรานต้องตรวจสอบกันอีกครั้ง พร้อมยืนยันทหารไม่แตกแยก ต่อสู้กันเอง

พ.ท.กิตติพงษ์ จรัญยานนท์ หัวหน้าฝ่ายยุทธการ จาก พล ร.2 รอ. กล่าวว่า ทหารได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติภารกิจในกรอบรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ. ความมั่นคง พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีการวางแผนร่วมกันอย่างเป็นระบบ และยึดถือความปลอดภัยผู้ร่วมชุมนุมเป็นหลัก มีการปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวว่า ผู้ชุมนมอาจมีอารมณ์ร่วมบ้างเพราะจิตวิทยารวมหมู่ แต่ไม่ได้รู้สึกกระด้างกระเดื่อง มีแต่แกนนำกับฮาร์ดคอร์เท่านั้น และอาจมีการยุยงให้บางกลุ่มฮึกเหิม แต่ละพื้นที่การปะทะเหตุการณ์ดำเนินเร็วมาก ดังนั้นขั้นตอนทั้ง 7 ขั้นตอนไม่สามารถกำหนดได้ว่าทำกี่นาที อย่างไรก็ตาม ทหารได้รับการต่อต้านทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นไม้เหลาแหลม อิฐตัวหนอน การกระโดดถีบ อย่างไรก็ตาม ทหารตระหนักดีว่าข้างหน้าคือคนไทยจึงพยายามใช้โล่ดันเป็นหลัก ส่วนการสูญเสียที่เกิดขึ้นตนไม่รู้จะตอบคำถามอย่างไร นอกจากเรียนข้อมูลว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมามีหลายภาพที่ฝั่งของกลุ่มคนเสื้อแดงยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ทหารไม่มีระเบิด ปืนที่มีอยู่ไม่ได้เล็งตรงใส่ผู้ชุมนุม แต่คงไม่สามารถหาภาพได้ว่าใครยิงใส่ผู้ชุมนุม และกระบวนการยุติธรรมเท่านั้นที่จะตรวจสอบในวันข้างหน้าว่าใครเป็นผู้กระทำ

ทั้งนี้ ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวนำก่อนเปิดคลิปการปะทะกันโดยระบุว่าไม่ต้องการสร้างความเกลียดชังเพิ่มเติม แต่ต้องการคืนความจริงและความบริสุทธ์ให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้บรรยายประกอบคลิปวีดิโอดังกล่าวว่า มีระเบิดตกเข้ามา โดนตั้งแต่ระดับพลทหารถึงระดับบัญชาการ ขณะที่มีทหารบางคนที่โดนสะเก็ดระเบิดพยายามโบกมืออย่ายิงซ้ำ แต่ก็มีการยิงซ้ำ และมีการขัดขวางการนำทหารเจ็บส่งออกนอกพื้นที่รวมถึงมีบางกลุ่มที่ทุบตีทหาร ที่ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีภาพชายโพกผ้าดำใช้ปืนอาก้าเล็งยิงตรงมุมตึกด้านหนึ่ง และวิ่งเข้าไปปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มผู้ไม่หวังดี

พ.อ.สรรเสริญกล่าวด้วยว่า การ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมมีลักษณะของการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี บางคนบอกว่าเป็นอดีตทหารพรานที่ไม่ได้รับราชการแล้ว ซึ่งก็ต้องหาหลักฐานพยานกันมาพิสูจน์ ส่วนอาวุธปืนที่ผู้ชุมนุมบางส่วนยึดไปได้นั้นมีความกังวลว่าจะมีการนำอาวุธ ไปสร้างสถานการณ์ แล้วโยนความผิดให้ทหาร อย่างไรก็ตามจะเร่งตรวจสอบว่าอาวุธที่หายไป

ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า ในขณะนี้ต้องระมัดระวังข้อมูลข่าวสาร เมื่อเกิดสงครามขึ้น สิ่งที่ถูกทำลายก่อนคือความจริง ต่างฝ่ายต่างใช้ข้อมูลที่คิดเอาเอง เราพยายามทำหน้าที่เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย ทั้งผู้ชุมนุมและททหารผู้เสียสละ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีคนบางกลุ่มแอบแฝงเข้าไปก่อความวุ่นวายและพยายามใส่ร้าย ป้ายสีทหารและกองทัพด้วย

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมกดดันทหารให้จัดการอย่างเด็ดขาด และทหารพยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด ผู้ดำเนินรายการกล่าวเสริมว่า และเมื่อต้องปฏิบัติตามหน้าที่แล้วก็เข้าทางผู้ที่ต้องการให้สถานการณ์บานปลาย แล้วมักมีการอ้างผู้เสียชีวิตเป็นความชอบธรรมของตัวเอง เพื่อตอบโต้มุ่งร้ายฝ่ายทหารและรัฐบาล

ผู้ดำเนินรายการกล่าว สรุปว่า ถึงเวลาที่เราต้องสามัคคีกันและจับกุมคนผิด ผู้ชุมนุมคงทราบว่าการชุมนุนนั้นได้สร้างความเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศ ท่านอาจจะบอกว่าต้องการประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยอยู่แล้ว อย่าทำให้กลายเป็นความคลั่งประชาธิปไตยมากไปกว่านี้ รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอยออกมาจากพวกที่นิยมความรุนแรง เพื่อลูกหลานจะได้รู้ว่าพ่อแม่ของพวกเขาได้เสียสละอย่างมีปัญญา (ดู “ศอฉ.เปิดคลิปทหารออกทีวีพูล วอนประชาชนอย่าบริโภคสื่อด้านเดียว,” ประชาไท, 12 เม.ย. 53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กกต. ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรค ปชป. และส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อร้องต่อศาล รธน.

ตัวแทนผู้ค้าย่านราชประสงค์เข้าร้องเรียนต่อประธานวุฒิสภา

โรงพยาบาลตำรวจแถลงผลการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53 จำนวน 11 ราย โดยระบุว่า 8 รายเสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูง 1 รายถูกยิงเข้าที่หน้าอกโดนหัวใจ ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกระสุนความเร็วสูงหรือความเร็วต่ำ 1 รายเสียชีวิตด้วยระบบการหายใจล้มเหลว โดยไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเพราะแก๊สน้ำตาหรือไม่ อีก 1 รายคือผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นไม่แถลงผลชันสูตรเนื่องจากเป็นความประสงค์ของญาติ ในจำนวนผู้เสียชีวิตที่ถูกกระสุนทั้ง 9 รายนั้น 8 รายเป็นการยิงจากระยะไกล 1 รายเป็นการยิงจากระยะใกล้ไม่เกิน 1 เมตรหรือระยะประชิด

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พ.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการ พล.ร.2 รอ. ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจี้รัฐบาลไทยสอบกรณีช่างภาพรอยเตอร์ถูกยิงเสียชีวิต

นพ.ตุลย์เป็นตัวแทนกลุ่มพลังเงียบเรียกร้องให้นายกฯ ไม่ยุบสภาและเรียกร้องให้ ผบ. เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 ตกไปยังข้างบ้านของรองผอ.โทรทัศน์ช่อง 5 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท

เกิดเหตุยิงปืนใส่อาคารไซเบอร์เวิลด์ ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กทม.

หมายเหตุ

 

13 เมษายน 2553

นปช.

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – สำนักราชเลขาธิการแถลงการณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บและค่าใช้จ่ายในการฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553

หมายเหตุ

 

14 เมษายน 2553

นปช. – นปช. ประกาศยุบเวทีสะพานผ่านฟ้าและการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน นปช. ที่ชุมนุมอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าย้ายไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์ทั้งหมด ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลมากขึ้น

นปช. นครพนม เดินทางไปขับไล่รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยที่เดินทางไปเป็นประธานพิธีรดน้ำดำในงานสงกรานต์ ที่วัดสร้างแก้ว หมู่ 5 ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม มีการชกณัฐมนตรี และเกิดการตะลุมบอนกัน

รัฐบาล – นายสุเทพ เทือกสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และรองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการคดีพิเศษ มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กห 0407.45/60 ถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ตามที่ได้มีกลุ่มบุคคลก่อความไม่สงบในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ใช้อาวุธสงครามร้ายแรงกระทำประทุษร้าย ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของบุคคลเพื่อล้มล้างอำนาจบริหาร ขู่เข็ญบังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ และสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดมานับตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 จนถึงวันที่ 13 เมษายน 53 ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย ทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนยึดอาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการไปไว้ในครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งขณะนั้นเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ประธานกรรมการคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำผิดที่เข้าข่ายเป็นความผิดที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ และระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ จำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนตาง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงให้กรมสอบสวนคดีพิเศษนำคดีความผิดทางอาญานี้เสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อพิจารณา (ดู “รายงานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 3/2553” วันที่ 16 เม.ย. 53 หน้า 3-7)

เวลา 10.30 น. ที่กองบัญชาการ ศอฉ. กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งสำรวจและตรวจสอบอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะของรัฐที่สูญหายหรือถูกทำลายในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ก่อนแจ้งความดำเนินคดีภายในวันนี้ สิ่งที่กังวลคืออาจมีผู้ไม่หวังดีนำอาวุธเหล่านี้ไปสร้างสถานการณ์แล้วโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนี้ พ.อ. สรรเสริญยังได้นำคลิปวิดีโอเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับ กลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายน จำนวน 5 คลิปมาเปิดให้สื่อมวลชนดู โดยในจำนวนนี้มีคลิปทหารยิงกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกนำมาเผยแพร่ลงหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ พ.อ. สรรเสริญกล่าวชี้แจงว่าการใช้อาวุธปืนของทหารจะมี 2 ลักษณะคือ ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญ และยิงเพื่อปกป้องชีวิตของตน ซึ่งกรณีนี้เป็นการยิงเพื่อคุ้มครองการถอนตัวหลังถูกตีแตก ไม่ใช่การสุ่มยิงเพื่อหมายเอาชีวิตฝ่ายตรงข้าม เพราะเป็นการยิงทีละนัด ไม่ใช่การกราดยิงเป็นชุด อีกทั้งเมื่อมีการยิงปืนแล้วทหารก็ได้ถอนออกมา ไม่ได้เดินหน้าต่อ

ส่วนคลิปชายเสื้อแดงซึ่งถือธงในมือถูกลอบยิงจนสมองกระจาย ซึ่งมีการกล่าวกันว่าเป็นฝีมือทหารนั้น พ.อ. สรรเสริญกล่าวชี้แจงว่า มือมืดได้ยิงปืนที่มีอานุภาพร้ายแรงมาจากฝั่งที่ผู้ชุมนุมยืนอยู่ จึงอยากเตือนประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมให้ระวัง เพราะอาจตกเป็นเหยื่อผู้ไม่หวังดีที่เอาชีวิตของประชาชนมาสร้างสถานการณ์

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มก่อการร้ายที่แฝงเข้ามามีจำนวนเท่าไร พ.อ. สรรเสริญกล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่มีข้อมูลด้านการข่าว และมีเบาะแสอยู่ว่าใครเป็นใคร โดย พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า เป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายคือ เพื่อยกระดับสถานการณ์ให้รุนแรงขึ้น และต้องการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร มีกลุ่มก่อการร้ายแฝงเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมจริง หลายภาพที่ปรากฏจะเห็นว่ามีชายสวมเสื้อแจ็คเก็ตสีดำ ซึ่งมีตราสัญลักษณ์ของ นปช. อยู่ด้านหน้า คอยยืนอยู่แถวหน้าผู้ชุมนุม แต่ไม่เคยได้ยินใครส่งเสียงไล่ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เกิดในสถานที่ชุมนุมทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมจะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น ชาติหน้าก็อย่าได้เกิดเป็นแกนนำอีกเลย (ดู “สรรเสริญชี้ทหารยิงเพื่อถอนกำลัง ระบุรู้ตัวกลุ่มผู้ก่อการร้ายแล้ว,” ประชาไท, 14 เม.ย. 53 ; ดูคลิป ศอฉ. 20100414_เหตุการณ์วันที่ 10 อธิบายคลิปภาพ_underdogThai_01 และ 20100414_เหตุการณ์วันที่ 10 อธิบายคลิปภาพ_underdogThai_02)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 15 เม.ย.53

 

15 เมษายน 2553

นปช. – นปช. เชียงใหม่ แห่ป้ายติดภาพถ่ายคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ แห่ขบวนไปยังจวนผู้ว่าฯ พร้อมกับนำรูปนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. มาวางบนพื้นให้ผู้ร่วมขบวนแห่เหยียบย่ำจน

นปช. น่าน ปิดทางเข้าออกวัดหัวเมือง บ้านหัวเมือง ต.แงง อ.ปัว จ.น่าน เพื่อขับไล่รัฐมนตรี ที่เดินทางมาเป็นประธานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

รัฐบาล – นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) ว่า ศอฉ.จะออกคำสั่งให้บุคคลเข้ารายงานตัวตามการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจะเริ่มเรียกตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน โดยนายสุเทพได้ลงนามในคำสั่งแล้ว

นายปณิธาน ยังให้รายละเอียดด้วยว่า เวลานี้มีผู้ถูกเรียกมารายงานตัวประมาณ 50 คน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยเหตุผลของการเรียกมารายงานตัวนั้น เพราะรัฐบาลต้องการจะดูว่าบุคคลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์อย่างไรหรือไม่ ทั้งนี้ไม่เกี่ยว ข้องกับการออกหมายจับบุคคลต่างๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งหากไม่มารายงานตัวจะมีความผิดตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ดู “ศอฉ. ขึ้นบัญชี เรียก 50 คนหนุนแดงรายงานตัว,” prachatai, 16 เม.ย.53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่ม “แนวร่วมคนรักชาติ” และกลุ่มเฟซบุ๊ก “มั่นใจคนไทยเกินล้านต่อต้านการยุบสภา” รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เชิญชวนกลุ่มพลังเงียบออกมาต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดง และสนับสนุนไม่ให้รัฐบาลยุบสภา

หมายเหตุ

 

16 เมษายน 2553

นปช. – นปช. ทำการปิดล้อมและปลดอาวุธเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยคอมมานโดที่เข้ามาปิดล้อมเพื่อทำการจับกุมแกนนำ 6 คนที่พักอยู่ในโรงแรมโรงแรมเอสซีปาร์ค ถ.เลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ เขตวังทองหลาง และสามารถช่วยเหลือแกนนำได้ทั้งหมด

นปช. ศรีสะเกษ ขับไล่iรัฐมนตรี ที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธียกช่อฟ้าอุโบสถวัดบ้านกระโพธิ์ช่างหม้อ ต.ดองกำเม็ด อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ

ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีที่ ศอฉ. ออกคำสั่งเรียกบุคคลที่เป็นนักการเมืองและนักธุรกิจจำนวนประมาณ 60 คน ให้ไปรายงานตัวต่อ ศอฉ. ว่า ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยได้ประชุมหารือกัน เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องทางการเมือง เป็นการใช้อำนาจโดยไม่สุจริตและบิดเบือน ผู้ที่ได้รับหนังสือของ ศอฉ. จึงต้องมาพิจารณาดูว่าสมควรหรือไม่ที่จะต้องไปยอมรับอำนาจดังกล่าว เพราะลักษณะการใช้อำนาจเหมือนกับประเทศอยู่ ในภาวะของการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอย่างอำเภอใจ ใช้อย่างไรกับใครก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม ในส่วนของสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ได้รับหนังสือ ก็จะให้ทนายความดำเนินการเพื่อทราบประเด็นว่า ศอฉ. ต้องการให้ชี้แจงเรื่องอะไร หลังจากนั้นก็จะส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือให้ทราบ โดยจะไม่ไปชี้แจงด้วยตนเอง เพราะเห็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงเกมการเมืองของรัฐบาล เพื่อต้องการสร้างข่าว และทำลายคู่แข่งทางการเมือง โดยหวังผลในการทำลายขวัญกำลังใจของผู้ชุมนุม

“พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และ กรรมการ ศอฉ.ทุกคน ยุติการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และควรยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้แล้ว เพื่อให้สังคมกลับคืนสู่ความสงบสุขต่อไป เพราะถึงประกาศใช้ก็ไม่สามารถบังคับได้ เนื่องจากการใช้กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับบางฝ่าย และนับวันจะเพิ่มความขัดแย้งรุนแรงบานปลายออกไป” นายพร้อมพงศ์กล่าว

(ดู “วินมอไซค์-วิทยุชุมชนทยอยรายงานตัว ศอฉ.แล้ว ยังไร้เงานักการเมือง-นักธุรกิจ เผยมีอดีตขรก.ติดโผด้วย,” มติชนออนไลน์, 16 เม.ย.53,  ; “เพื่อไทยบอกปัด ศอฉ.ไม่ส่งคนเข้าไปชี้แจง แต่ให้ทนายทำหนังสือแทน,” มติชนออนไลน์, 16 เม.ย.53)

รัฐบาล – มีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 3/2553 ณ ห้องประชุมกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน (แทนนายกฯ)

ที่ประชุมมีมติตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบมาตรา 10 (3) ของ พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้คดีความผิดทางอาญากรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไปในราชอาณาจักร รวมถึงความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน เป็นคดีพิเศษที่ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และให้มีพนักงานอัยการและ/หรืออัยการทหารมาสอบสวนร่วมกันตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ด้วย (ดู “รายงานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 3/2553,” วันที่ 16เม.ย. 53 หน้า 3-7)

ตำรวจคอมมานโดนับร้อยบุกจับแกนนำ นปช.ที่ โรงแรมเอสซีปาร์ค

ที่ ศอฉ. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. กล่าวถึงความคืบหน้าในการให้บุคคลเข้ารายการงานตัวกับ ศอฉ. ตามมาตรา 11(2) ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า มีบุคคลมารายงานตัวบ้างแล้ว ทั้งนี้ รายชื่อทั้งหมดที่เรียกมารายงานตัวมีประมาณ 54 คน ซึ่งประกอบด้วยนักการเมือง อดีตข้าราชการ หรือนักธุรกิจ แต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเลยเวลาการเข้ารายงายตัวแล้ว อาจเปิดเผยชื่อได้บางส่วน

พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ศอฉ. ไม่ได้กำหนดวันเส้นตายไว้อย่างชัดเจน แต่จะดูไปตามความเหมาะสม คาดว่าน่าจะประมาณ 2 – 3 วัน

มีรายงานข่าวว่า พบกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและเจ้าของวิทยุชุมชนจำนวน 21 คนเข้ามารายงานตัว โดยทั้งหมดเข้าให้การกับเจ้าหน้าที่ทหารของ ศอฉ. ก่อนให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดถูกปิดเป็นความลับ ส่วนบุคคลที่เหลืออีก 30 คนที่ยังไม่เข้ารายงานตัว รวมถึงนักการเมืองทั้ง 3 คน หากไม่เดินทางมาตามเวลากำหนด ศอฉ. จะดำเนินการออกหมายจับภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ดู “วินมอไซค์-วิทยุชุมชนทยอยรายงานตัว ศอฉ.แล้ว ยังไร้เงานักการเมือง-นักธุรกิจ เผยมีอดีตขรก.ติดโผด้วย,” มติชนออนไลน์, 16 เม.ย.53

ทางด้านพรรค ปชป. นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ศอฉ. ออกคำสั่งเรียกนักการเมืองและนักธุรกิจเข้ารายงานตัวว่า ถ้าคนกลุ่มนี้มีความบริสุทธิ์ใจควรให้ความร่วมมือ โดยรัฐบาลพร้อมเปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ สาเหตุที่ ศอฉ.ต้องเรียกคนกลุ่มนี้ประมาณ 60 คน มารายงานตัว เพื่อจะได้ทราบข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ดีกว่าปล่อยให้วิเคราะห์ ประเมิน และรับข้อมูลจากรายงานข่าวอย่างเดียว ทั้งนี้ ใครไม่ให้ความร่วมมือ จะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สำคัญสังคมอาจสงสัยว่าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มแดงก่อการร้ายจริง จึงไม่กล้ามาพบ ศอฉ. (ดู “ปชป.ชี้คนเบี้ยวรายงานตัวศอฉ.น่าสงสัย,” มติชนออนไลน์, 17 เม.ย.53)

เมื่อเวลา 21.16 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ย้ำว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายอย่างเด็ดขาด เพราะมันหมายถึงการรักษาความเป็นบ้านเมืองที่มีกฎหมาย ความมั่นคงของชาติ และการปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติ

 “การบังคับใช้กฎหมายนั้น เมื่อเช้านี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจครับ ได้ใช้ความพยายามในการเข้าจับกุมแกนนำบางส่วนซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม การดำเนินการนั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ สิ่งที่รัฐบาลและ ศอฉ. ดำเนินการขณะนี้ ก็คือการดำเนินการเพื่อที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายและการแก้ไขปัญหานั้น เป็นไปได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้นในอนาคต ประการแรกคือได้มีการขยายผลไปสู่กลุ่มคนในการสนับสนุนการชุมนุมก็ดี ซึ่งเชื่อมโยงการก่อการร้าย เพราะฉะนั้นในขณะนี้ได้มีการเรียกบรรดาบุคคลซึ่งอาจจะอยู่ในข่ายของการสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทางธุรกิจ การให้ที่พักพิง การอำนวยความสะดวก หรือการมีส่วนร่วมในการยุยงปลุกระดมให้เกิดปัญหาความปั่นป่วนในบ้านเมือง ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ครับ ก็จะสามารถนำไปสู่การดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างกว้างขว้างมากขึ้น”

“ได้มีการมอบหมายให้ทางคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้และวันนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการที่จะรับเรื่อง ก่อการร้ายทั้งหมดเข้าไปเป็นคดีพิเศษ ซึ่งเราก็คาดว่าจะทำให้การดำเนินการตามกฎหมายและการดำเนินคดีนั้นกระทำได้ รวดเร็วมากยิ่งขึ้น”

“สำหรับการดำเนินการในการบังคับใช้กฎหมาย และความไม่สำเร็จที่ผ่านมานั้น ก็ทำให้ในส่วนของผมนั้นได้มาทบทวนดูโครงสร้างต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาครับ และได้ตัดสินใจแล้วที่จะปรับโครงสร้างในส่วนของ ศอฉ. เพื่อให้มีการสามารถระดมกำลังในลักษณะที่มีความเป็นเอกภาพและบูรณาการได้มาก ยิ่งขึ้น เพื่อจะเข้ามาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการก่อการร้ายเป็นการ เฉพาะและก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ซึ่งจากเดิมนั้นท่านรองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณนั้น เป็นผู้บริหารในเรื่องของสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด ในขณะนี้ได้มีการตัดสินใจว่าจะทำให้กระบวนการของการบังคับบัญชาต่างๆ นั้น สามารถทำได้เข้มข้นและมีความกระชับมากยิ่งขึ้น สอดรับกับการปรับโครงสร้างภายใน ศอฉ.เอง”

“ดังนั้น ผมจึงได้มีคำสั่งที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าผู้รับผิดชอบเป็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเพิ่มอำนาจให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการรับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วไปแล้ว จะเข้ามาดูแลในเรื่องของปัญหาการก่อการร้ายโดยตรงรวมไปด้วย เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ใหม่ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนในคืนนี้ต่อไป”

(ดู “มาร์คหวังว่าชาวไทยจะได้ฉลองปีใหม่ตามสมควร พร้อมตั้งอนุพงษ์เป็น ผอ.ศอฉ.,” ประชาไท, 17 เม.ย.53 ; ดูคลิป 20100416_CRES_001)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เพื่อให้กำลังใจทหาร รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ไม่ให้ยุบสภา และเรียกร้องให้ช่วยกันคืนความสงบสุขแก่ประเทศไทย

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 17 เม.ย.53

 

17 เมษายน 2553

นปช.

รัฐบาล – เวลา 11.30 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงชี้แจงสื่อมวลชน ภายหลังการประชุม ศอฉ. ว่า ผู้ที่รับผิดชอบ ศอฉ.ในภาพรวมทั้งหมดยังคงเป็น ผอ.ศอฉ. คือรองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ เหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถัดจาก ผอ.ศอฉ. จะมีผู้กำกับการปฏิบัติ ซึ่งยังเป็น รองนายกรัฐมนตรีสุเทพเหมือนเดิม และในลำดับถัดไปคือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ มีการเปลี่ยนแปลงจาก รองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เป็นพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ทำหน้าที่แทน

โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ใน ศอฉ. มีทั้งฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมือง ผู้ที่เป็น ผอ.ศอฉ. จะเป็นผู้กำหนดแนวทางและนโยบายในภาพรวม ซึ่งจะต้องมีการประสานกับภาครัฐบาลเพื่อให้ทราบแนวทางและนโยบายของรัฐบาล แล้วมาแปลงรายละเอียดเป็นนโยบายที่จะสั่งการลงไปยัง ศอฉ. ให้ปฏิบัติในแนวทาง โดยรองนายกรัฐมนตรีสุเทพจะเป็นผู้กำกับรายละเอียดการปฏิบัติของหน่วยต่างๆ ภายใน ศอฉ. ซึ่งมีทั้งหน่วยกำลัง หน่วยส่งกำลัง หน่วยทีมกฎหมาย ที่ปรึกษา การรักษาพยาบาล และอีกหลายเรื่อง ฉะนั้นผู้กำกับการปฏิบัติจะกำกับในทุกๆ เรื่อง ส่วนลำดับสุดท้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงคือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ จะเป็นผู้ที่สั่งการในเรื่องการใช้กำลัง ที่เปลี่ยนจากรองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ เป็นผู้บัญชาการทหารบก เพื่อให้การควบคุมสั่งการ มีสายการบังคับบัญชาที่สั้นขึ้น ไม่ต้องขออนุมัติขึ้นไปถึงรองนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ โฆษก ศอฉ. ยังแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถูกคนเสื้อแดงยึดไปแต่ยังไม่ได้รับคืน ซึ่งได้มีการแจ้งความไปแล้ว โดยเกรงว่าจะมีผู้ไม่หวังดีนำอาวุธเหล่านั้นไปใช้เพื่อสร้างสถานการณ์แล้วโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่ง และโยนความผิดให้คนเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่ง

สำหรับความชุลมุนที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 10 เม.ย. นั้นต้องเข้าใจในภาพรวมว่าเจ้าหน้าที่พยายามบังคับใช้กฎหมาย โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของการใช้กำลัง ไม่ได้มีความมั่วเกิดขึ้นในฝ่ายของเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งที่เกิดคือกลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่กับผู้ชุมนุมนำอาวุธมาใช้ ยังความสูญเสียทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเอง จึงเกิดความชุลมุนวุ่นวายขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมเอง และเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติงานในครั้งต่อไป เจ้าหน้าที่จะต้องมีความระมัดระวังตัวมากกว่านี้ ต้องมีความชัดเจนในขั้นตอนการปฏิบัติที่สามารถจะปกป้องชีวิตเจ้าหน้าที่เอง ด้วย ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความปลอดภัยของกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยเช่นกัน

ส่วนการจัดการปัญหาผู้ก่อการร้ายนั้น โฆษกศอฉ.กล่าวว่าขณะนี้กำลังพยายามทำ โดยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้สังคมโดยรวม และพยายามสื่อความหมายนี้ลงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมอยู่ในพื้นที่ราชประสงค์ว่า อาจจะถูกหยิบเป็นเหยื่อของความรุนแรง ขอวิงวอนพี่น้องที่เป็นญาติ หรือคนรู้จักกับผู้ชุมนุมได้สื่อสารเรื่องนี้ให้ผู้ชุมนุมทราบ และออกจากพื้นที่ชุมนุม ถ้าผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ได้เร็วเท่าไร เราก็สามารถจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายได้เร็วเท่านั้น แต่ถ้าท่านยังอยู่ ก็เท่ากับท่านปกป้องกลุ่มก่อการร้าย และสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้เจ้าหน้าที่ สร้างความเดือดร้อน สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองและเศรษฐกิจอยู่ในปัจจุบัน ตัวแปรอยู่ที่ท่าน ผู้ชุมนุมผู้ไม่ได้รู้เรื่องกับการก่อการร้าย ถ้าท่านออกเร็ว บ้านเมืองจบเร็ว

สำหรับการขอคืนพื้นที่ราชประสงค์ ศอฉ.จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายในภาพรวม คนที่เคยทำผิดต้องได้รับผิด การขอคืนพื้นที่ การปฏิบัติในหลากหลายลักษณะ ได้รวมอยู่ในการบังคับใช้กฎหมาย ทุกอย่างต้องทำ เพียงแต่เมื่อไรเท่านั้นที่จะมีความพร้อม ขณะนี้เรากำลังเตรียมการในทุกๆ เรื่องให้พร้อม ทั้งการฟื้นฟูกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ให้มีความพร้อมควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจกับสังคมและกลุ่มผู้ชุมนุม

โฆษก ศอฉ. ยังชี้แจงกรณีที่พลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ได้ให้ความเห็นเมื่อตอนเช้าว่าการสลายการชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เมษายน เจ้าหน้าที่ได้ทำผิดหลักการตามหลักสากล เพราะการปฏิบัติการวันนั้นได้ทำในเวลา 18.00 น.ว่า ศอฉ. ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเวลากลางวันและโฆษกฯ ก็ได้เรียนให้ทราบแล้วว่าในยามค่ำนั้น เป็นอุปสรรคต่อทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและเป็นปัญหาต่อผู้ชุมนุมด้วย เพราะฉะนั้นเวลา 18.15 น. จึงไม่มีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เพราะมีการตั้งแนวขอบโดยรอบแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเวลา 18.15 น. นั้นเป็นการที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับเข้ามาผลักดันเจ้าหน้าที่ออกไป (ดู “สรรเสริญยัน ศอฉ.ไม่สลายชุมนุมกลางคืน แต่ผู้ชุมนุมเข้ามาดันเจ้าหน้าที่เอง,” ประชาไท, 18 เม.ย.53 ; “ศอฉ. ชี้แจงสื่อ รองนายกฯ สุเทพยังเป็นผอ.ศอฉ. แต่เปลี่ยนให้ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉิน,” ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 17 เม.ย.53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่มคนเสื้อหลากสี ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อต้านการยุบสภา

หมายเหตุ

 

18 เมษายน 2553
นปช. – แกนนำ นปช. มีมติระดมพลครั้งใหญ่ขับไล่รัฐบาลอีกครั้ง ภายใต้ยุทธศาสตร์ “รวมพลแดงทั่วไทย ไล่ทรราชมือเปื้อนเลือด” ในวันที่ 20 เมษายน ที่แยกราชประสงค์

รัฐบาล – เวลา 11.20 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงภายหลังการประชุม ศอฉ. ว่า จากกรณีการปฏิบัติภารกิจเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน รวมทั้งประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองต่างได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุของการปฏิบัติภารกิจที่มีลักษณะการเข้าปะทะกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกลอบทำร้ายโดยกลุ่มก่อการร้ายที่มีอาวุธสงครามหลายชนิด ทั้งวัตถุระเบิด กระสุนปืนจริง ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ในพื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย กลุ่มก่อการร้ายพร้อมที่จะใช้อาวุธทำร้ายทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมได้ในทุกโอกาส ดังนั้น เมื่อเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ศอฉ.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมาตรการจุดตรวจ ด่านตรวจ จุดสกัด มีการตั้งด่านที่มีความแข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ภูมิภาค ต่างๆ เดินทางเข้ามายังพื้นที่การชุมนุมที่ไม่ปลอดภัย โดยหากมีความพยายามที่จะฝ่าฝืนเข้ามา มาตรการในเบื้องต้นคือ เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งห้าม แต่หากยังมีความพยายามที่จะจับกลุ่มกันแล้วฝ่าฝืนเข้าไป เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันด้วยการใช้กำลังตามกฎของการใช้กำลังทั้ง 7 ประการ เริ่มจากมาตรการขั้นเบาไปขั้นหนัก แต่เราจะไม่ยอมให้กลุ่มผู้ที่จะพยายามเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมได้กระทำการในลักษณะที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ยึดยานพาหนะ อาวุธยุทโธปกรณ์ได้อีก หากมีความพยายามที่จะดำเนินการในลักษณะอย่างนั้น ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธ

“ถ้าเจ้าหน้าที่จะถูกทำร้าย เขามีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องชีวิตของเขา และมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไม่ให้ยานพาหนะและอาวุธยุทโธปกรณ์ถูกยึดไป เพราะที่ผ่านมาอาวุธและพาหนะถูกยึดไปส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะได้ยานพาหนะคืนมา แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ยังไม่ได้คืน ซึ่งจะเป็นภัยร้ายแรงในอนาคต หากมีผู้ไม่หวังดีหยิบฉวยอาวุธเหล่านี้ไปสร้างสถานการณ์”

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปควบคุมในลักษณะของการส่งชุดระวัง ป้องกัน เข้าไปควบคุมในพื้นที่สูง อาคารสูงโดยรอบ เพื่อระวังป้องกันไม่ให้มีผู้ไม่หวังดีไปใช้พื้นที่เหล่านั้นแล้วสร้างสถานการณ์ โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่จะไปปฏิบัติภารกิจเป็นชุดระวังป้องกัน เพื่อควบคุมพื้นที่สูงเหล่านั้นจะแต่งกายในชุดเครื่องแบบที่สามารถตรวจสอบ ได้อย่างชัดเจน เพื่อความสบายใจและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งโฆษก ศอฉ. อธิบายเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า การส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมพื้นที่สูงนั้นเป็นการทำให้พื้นที่ปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าในพื้นที่ที่มีการชุมนุมมีกลุ่มก่อการร้ายแฝงตัวอยู่ เราไม่สามารถที่จะใช้อาวุธตรงหน้าได้ เพราะพี่น้องประชาชนปะปนอยู่ เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะแยกกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งและบังคับไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายสามารถใช้อาวุธได้อย่างมีเสรีต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนก็ต้องใช้วิธีนี้

และ ศอฉ.ยังได้รับการแจ้งจากประชาชนส่วนหนึ่งที่หลงเชื่อคำยุยงแล้วเข้ามาร่วมการชุมนุม ซึ่งปรากฏว่ามีบรรดากลุ่มผู้ชักชวนหรือแนวร่วมที่ชักชวนเข้ามา ได้ไปยึดบัตรประจำตัวประชาชนของประชาชนเหล่านั้น ทำให้เขาไม่กล้าที่จะเดินทางกลับบ้าน จึงขอให้สื่อมวลชนช่วยกระจายข่าวว่า ประชาชนสามารถที่จะออกจากพื้นที่ได้ โดยไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ว่ามีความประสงค์จะเดินทางกลับบ้าน แม้ว่าจะไม่มีบัตรประจำตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับบ้านให้ แล้วจึงกลับไปแจ้งความว่าบัตรประจำตัวหรือเอกสารถูกยึด ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดที่เจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการกับการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ได้ให้เสร็จเรียบร้อยเพื่อนำความสงบกลับมา ก็อยู่ที่ตัวพี่น้องประชาชนโดยทั่วไปที่หลงเชื่อ และถูกยุยุงให้กลับมาร่วมชุมนุม ฉะนั้นถ้าหากประชาชนออกจากพื้นที่การชุมนุมได้เร็วเท่าไร เจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติงานได้ง่ายเท่านั้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าต้องมีผู้ชุมนุมเหลือจำนวนเท่าไร ศอฉ. ถึงจะตัดสินใจสลายการชุมนุมโฆษก ศอฉ. กล่าวว่าบอกไม่ได้บอกแล้วก็ทำงานไม่สำเร็จ พร้อมเมื่อไรทำทันที

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มวลชนจำนวนมากอย่างนั้นเจ้าหน้าที่จะสกัดอย่างไร โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า มีจำนวนมาก เราก็จะเอาไปมากเหมือนกัน และหากต้องเกิดการปะทะก็ต้องเกิด โดยเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและเด็ดขาด เพราะถ้าเราไม่มีความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายทุกอย่างจะไม่มีอะไรสำเร็จเลย แต่ถ้าคิดในมุมเดียวว่าไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย บ้านเมืองเราไปไม่รอด เพียงแต่ว่าความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นนั้น เจ้าหน้าที่ได้พยายามอย่างที่ถึงสุดแล้วที่จะไม่ให้เกิดด้วยมาตรการต่างๆ พยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะใช้วิธีการปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก เจ้าหน้าที่ก็เป็นคนมีเลือดเนื้อ ถ้าจะเข้ามาทำร้ายเขาถึงแก่ชีวิตจะมายึดอาวุธเขาเหมือนเดิมแบบไร้ศักดิ์ศรี แล้วนำอาวุธไปซึ่งไม่รู้จะนำไปสร้างสถานการณ์ที่ไหนหรือเปล่า จะมีคนที่สูญเสียจากการนำอาวุธไปใช้อีกหรือเปล่าเรายอมไม่ได้อีกแล้ว (ดู “โฆษก ศอฉ. ลั่นกำลังพร้อมเมื่อไหร่จะสลายทันที,” ประชาไท, 19 เม.ย.53 ; “ศอฉ. เพิ่มมาตรการคุมเข้มการชุมนุม ตั้งด่านตรวจสกัดไม่ให้ประชาชนเดินทางเข้าพื้นที่ชุมนุมที่ไม่ปลอดภัย,” ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 18 เม.ย. 53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – PAD จัดประชุมใหญ่เครือข่ายทั่วประเทศ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต จ.ปทุมธานี

กลุ่มคนเสื้อหลากสี ชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อต้านการยุบสภา

หมายเหตุ

 

19 เมษายน 2553

นปช. – ช่วงบ่ายที่พรรคเพื่อไทย พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แถลงขอเข้าเฝ้า ขอพึ่งพระบารมีในการพระราชทานแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง

ที่สำนักงานสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน นปช. ยื่นหนังสือถึงสหประชาชาติ ให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์การชุมนุม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อาวุธปราบปรามประชาชน

นปช.สมุทรปราการ แห่ศพสมาชิกที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 รอบเมืองปากน้ำ

รัฐบาล – กำลังทหาร-ตำรวจรพร้อมอาวุธครบมือเข้าตรึงพื้นที่ย่านถนนสีลม หลังจากมีข่าวว่าเสื้อแดงจะไปขยายพื้นที่การชุมนุมไปพื้นที่ดังกล่าว

เวลาประมาณ 21.00 น. สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) มีรายการสัมภาษณ์พิเศษนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมีนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายอภิสิทธิ์ได้ชี้แจง ถึงการปรับเปลี่ยนหน้าที่ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ใน ศอฉ.ว่าเป็นไปเพื่อความเหมาะสมที่จะให้สายการบังคับบัญชากระชับและเข้มข้นมากขึ้น โดยฝ่ายนโยบายก็ยังมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ กำกับอยู่ ส่วนเรื่องการเมืองตนก็ยังดูอยู่ แต่ไม่ว่าคำตอบทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การใช้กฎหมายก็ยังต้องดำรงอยู่ วันนี้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาก็ออกมา เพราะเขามองว่าถ้าปล่อยให้ใช้กำลังข่มขู่ให้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไม่สนใจกฎหมายก็จะไม่เป็นสังคมประชาธิปไตย เป็นปัญหาในระยะยาว สำหรับพื้นที่ราชประสงค์ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องคืนสิ่งนี้ให้เป็นปกติแต่เป็นไปด้วยความยากลำบากขณะนี้เหมือนคน 2 กลุ่มถูกจับเป็นตัวประกัน กลุ่มแรกคือคนกทม.และภาคธุรกิจ กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ไปชุมนุมเพราะมีความเดือดร้อนและกลายเป็นโล่กำบังให้กับแกนนำ เรากำลังจะมีมาตรการช่วยเหลือผลกระทบจากราชประสงค์ก่อน กลุ่มแรกคือ บรรดาลูกจ้างที่ขาดรายได้จากการปิดกิจการ แต่เรื่องที่ใหญ่กว่าคือเอาพื้นที่คืนต้องบังคับใช้กฎหมาย

เราทราบว่าคนส่วนใหญ่ อยากให้มันจบเร็ว ใครก็อยากให้จบเร็วที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริง ประสิทธิภาพ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากวิธีการ คงบอกตารางเวลาไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่คงดูวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและเสียหายน้อย แต่การขีดเส้นกันคงไม่เป็นผลดีและเป็นการกดดันเจ้าหน้าที่ ตอนนี้ฝ่ายความมั่นคงก็ชี้แจงเป็นลำดับว่าการเผชิญกับกองกำลังใช้อาวุธต้อง ใช้อะไรบ้าง สังคมต้องช่วยกันให้เขาทำงานได้ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อความสำเร็จของ งาน

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่าจะสื่อถึงญาติผู้เสียชีวิตอย่างไรเพราะหลายคนเข้าใจผิด นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้ความจริงได้รับการพิสูจน์ และยืนยันว่ากองทัพ เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องได้รับการยกย่องว่าทำแบบมืออาชีพ ตามกฎกติกาสากล ไม่เช่นนั้นคงไม่มีความสูญเสียของทหารมากเช่นนี้ ต้องเปิดใจให้เป็นธรรม ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องยุบสภา ตนก็ย้ำมาตั้งแต่ต้นว่าถ้ายุบแล้วบ้านเมืองแตกแยกมากขึ้นและไม่แน่ใจว่าจะได้สิ่งที่ฝ่ายต่างๆ ต้องการ ระบอบประชาธิปไตยจะมีปัญหา นี่ไม่ใช่เรื่องยื้อเวลา แต่กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าไม่ยุบสภาเขาคำนึงถึงบ้านเมืองในอนาคตไม่ใช่ เรื่องของรัฐบาล ส่วนข้อเรียกร้องที่มีต่อตนเองนั้นความจริงต้องพิสูจน์ออกมา

ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า อยากให้เชิญชวนผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังไม่รู้ว่าถูกชักจูงให้กระทำการที่อาจ ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนก็ไม่สบายใจที่มีเรื่องนี้คาบเกี่ยวกับการชุมนุมมาตลอด มีสื่อที่ก้าวล่วงสถาบันของชาติ แม้แต่ผู้นำทางการเมืองบางคนก็เริ่มพูดก้าวล่วงไปเรื่องอื่นแล้ว เราไม่ควรยอมรับสนับสุนนสิ่งเหล่านี้

ผู้ดำเนินรายการแสดงความเห็นว่าดูเหมือน พล.อ. อนุพงษ์ก็ล้วงลูกฝ่ายการเมืองอยู่บ้าง เช่นบอกให้แก้การเมืองด้วยการเมือง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ความจริงก็พูดตรงกัน ส่วนของการเมืองก็ต้องไปว่ากัน แต่เรื่องความมั่นคงท่านก็ต้องรับผิดชอบ (ดู “มาร์คแจงปรับหัวศอฉ.ให้เข้มขึ้น ย้ำเคลียร์เร็วสุดแต่ยังไม่ขีดเส้น เร่งเยียวยาลูกจ้างราชประสงค์,” prachatai, 19 เม.ย.53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลา 14.00 น. กลุ่มองค์กรภาคประชาชน 16 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล, สถาบันพระปกเกล้า, ศูนย์สันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง, เครือข่ายสันติวิธี, กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง, กลุ่มนักวิชาการประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง, เครือข่ายจิตอาสา, คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, เครือข่ายพุทธิกา, กลุ่มนักศึกษาใส่ใจไทย, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.), กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี, ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิชุมชนไท ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ และ ผอ.ศอฉ. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธีและการเจรจา ช่วยกันพาประเทศไทยออกจากวิกฤต จากนั้นตัวแทนกลุ่มองค์กรภาคประชาชน 16 องค์กร ได้เดินทางไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อยื่นหนังสือดังกล่าวให้แก่แกนนำ นปช.ด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มดังกล่าวมีข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่

  1. ขอให้การสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตในเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาเป็นบทเรียนแก่ทุกฝ่ายว่า ความรุนแรงไม่ใช่หนทางที่จะพาประเทศไทยออกจากวิกฤตได้ เพราะทำให้ความขัดแย้งแตกแยกยิ่งรุนแรง และทำให้ความสมานฉันท์ของคนในประเทศยิ่งเกิดได้ยากยิ่งขึ้น การใช้กำลังบังคับให้ยุติการชุมนุม หรือผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่นั้น ถ้ามีผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นหมื่นคนขึ้นไปแล้ว ประสบการณ์ของทุกประเทศทั่วโลกและของประเทศไทยคือ ถึงแม้จะพยายามลงมือโดยไม่ให้มีการสูญเสีย แต่ไม่เคยมีประเทศใดสามารถทำสำเร็จได้โดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อเลย แต่กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ลุกลามไปมากขึ้นทั้งสิ้น โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ที่มีกลุ่มบุคคลที่ไม่ทราบสังกัดที่แน่ชัด เข้ามาใช้ความรุนแรงด้วยจะยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียมากยิ่งขึ้น การชุมนุมของ นปช. ที่สี่แยกราชประสงค์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องหาทางคลี่คลายแก้ไข แต่ขอให้ไม่ใช้วิธีการรุนแรงและการสลายการชุมนุม เพราะจะเกิดความสูญเสียยิ่งไปกว่าที่ผ่านมา และจะยิ่งทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนถึงขนาดอาจจะเกิดสงครามกลางเมืองได้ และในด้านของผู้ชุมนุมก็ต้องไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ให้มีอาวุธในที่ชุมนุม

 

  1. ขอให้ทั้งสองฝ่ายถอยคนละก้าว เพื่อเปลี่ยนเส้นทางที่กำลังพาประเทศไทยมุ่งหน้าไปสู่การแตกหักและความพัง พินาศของทุกฝ่าย มาใช้ “สันติวิธี” ในการแก้ปัญหา โดยขอให้รัฐบาลถอยก้าวหนึ่งด้วยการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และ ขอให้คนเสื้อแดงถอยก้าวหนึ่งด้วยการเปลี่ยนที่ชุมนุมจากสี่แยกราชประสงค์ เป็นพื้นที่อื่น หรืออย่างน้อยต้องเปิดพื้นที่ให้ห้างร้านต่างๆ ในบริเวณนั้นสามารถทำการได้ตามปกติเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการค้า ซึ่งไม่ได้มีแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่มีผู้ประกอบการรายย่อยๆ พนักงาน และคนหาเช้ากินค่ำจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากในขณะนี้ และควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การปะทะหรือการสูญเสีย ทุกฝ่ายควรตระหนักว่า “การเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยคือ “การเอาชนะใจประชาชน” ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลัง หรือการบังคับให้คนอื่นต้องปฏิบัติตาม การถอยก้าวหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียเลือดเนื้อไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่จะชนะใจประชาชน และจะเป็นการรุกในทางการเมือง ฝ่ายใดยอมถอยก้าวหนึ่งก่อนจะได้ความชอบธรรมในทางการเมือง และทำให้อีกฝ่ายต้องถอยด้วย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสอีกครั้งในการหาทางออกโดยที่ไม่ต้องแลกด้วย เลือดเนื้อชีวิต
  2. ขอให้ทุกฝ่ายใช้วิธีการเจรจาและการประนีประนอมกันในการแก้ปัญหา ในการเจรจาที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งของคนในประเทศควรจบที่การเลือกตั้ง ครั้งหน้า สิ่งที่แตกต่างกันมีแต่เพียงว่าเราควรมีการเลือกตั้งเมื่อไร สภาผู้แทนราษฎรเหลือเวลาเพียง 1 ปี 8 เดือน ถ้าเราเลือกตั้งเร็วขึ้นและยุติปัญหาได้ ก็ควรจะเป็นหนทางที่ประเทศไทยควรเลือกมากกว่าวิถีทางที่มุ่งหน้าไปสู่การแตก หักและความสูญเสีย รัฐบาลยอมที่จะให้มีเลือกตั้งเร็วขึ้นแล้ว คนเสื้อแดงควรที่จะยอมประนีประนอมในเรื่องระยะเวลาด้วย เพราะมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา และยังมีความเห็นที่หลากหลายที่ทั้งสองฝ่ายควรต้องรับฟัง ดังนั้นทั้งสองฝ่ายควรผ่อนเงื่อนไขเข้าหากัน และหากรอบเวลาที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย เพราะประชาธิปไตยนั้นไม่มีใครได้ 100 เปอร์เซ็นต์ตามที่ต้องการ พรรคการเมืองต่างๆ ในสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลก็ควรใช้กลไกรัฐสภาและมีการ เจรจากันเพื่อช่วยหาทางออกให้กับประเทศด้วย
  3. ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการนำเสนอข้อมูลที่เป็นด้านเดียว เพราะในสถานการณ์ความขัดแย้งแบ่งข้างของคนในประเทศเช่นนี้ การที่แต่ละฝ่ายต่างให้ข้อมูลด้านเดียวในการสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายของ ตนเอง จะยิ่งนำไปสู่ความเกลียดชังและความแตกแยกของคนในประเทศยิ่งขึ้น
  4. ขอให้ทหารอย่าทำรัฐประหารอีก เพราะจะยิ่งทำให้ประเทศไทยยิ่งถลำลึกลงไปในวิกฤตการณ์ยิ่งขึ้น และจะทำให้ประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายช่วยกันประคับประคองและพาเดินหน้ามาจนถึง ขณะนี้จะถอยหลังไปหลายสิบปี กองทัพจากที่เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้กับรัฐบาลจะกลายเป็นคู่ขัด แย้งโดยตรง และจะถูกต่อต้านจนจะนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อชีวิต ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายจนแก้ไขไม่ได้ยิ่งขึ้น นับจากนี้ไปคนไทยต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาโดยใช้วิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น

น.ส.สาลี อ่องสมหวัง ประธานกลุ่มผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง หนึ่งใน 16 องค์กรภาคประชาชนที่เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐบาล ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางเข้ามาพบแกนนำ นปช. เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อว่า ตัวแทน 16 องค์กรภาคประชาชนจะเข้าพบผู้บริหารสถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง ในวันที่ 20 เมษายนนี้ เริ่มจาก 10.00 น. เข้าพบผู้บริหารช่อง 9 ต่อด้วยช่อง 5 เวลา 14.00 น. และช่อง 3 เวลา 16.30 น. เพื่อขอให้มีรายการที่จะเปิดโอกาสหาทางออกจากความรุนแรงในภาวะวิกฤต และช่วยป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง นอกจากนี้ กลุ่มจะมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น การสวดมนต์ภาวนาของทุกศาสนา และในวันที่ 20 เมษายน จะจัดเวทีเครือข่ายของภาคสังคม นักธุรกิจและนักวิชาการที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ (ดู ”16 องค์กรภาคประชาชนยื่นหนังสือรัฐบาลอย่าสลายรุนแรง-แนะสองฝ่ายถอยเจรจา,” ประชาไท, 20 เม.ย.53)

กลุ่มคนเสื้อหลากสีชุ,นุมที่สวนจตุจักร สนับสนุนนายกฯ และคัดค้านการยุบสภา

เครือข่ายประชาชนคนรักชาติฯ ภูเก็ต (multi ภูเก็ต)ชุมนุมศาลากลาง ให้กำลังใจรัฐบาล คัดค้านการยุบสภา ที่ศาลากลาง ภูเก็ต

หมายเหตุ

 

20 เมษายน 2553

นปช. – แกนนํา นปช. สั่งทําปลอกแขนใหม่ให้กับสื่อมวลชนทุกแขนงที่เข้ามาทําข่าวในพื้นที่การชุมนุม เพื่อป้องกันผู้ไม่ประสงค์ดีและฝ่ายรัฐบาลแฝงตัวปะปนเข้ามาเป็นผู้สื่อข่าว โดยปลอกแขนใหม่เป็นสีเขียวสกรีนคําว่า “ยุบ“ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน” นปช.จะมอบให้กับผู้สื่อข่าวที่ลงทะเบียนยืนยันตัวตนและต้นสังกัดชัดเจน หากผู้สื่อข่าวคนใดไม่มีปลอกแขนใหม่ จะไม่อนุญาตให้เข้ามาบริเวณด้านหลังเวทีที่มีแกนนำหลายคนประจำอยู่อย่างเด็ดขาด

เวลา 10.30 น. ที่หลังเวทีใหญ่ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร เข้าหารือกลุ่มแกนนำ อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นานประมาณ 30 นาที จากนั้นทั้งหมดร่วมกันแถลงข่าว โดยผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า มาเยี่ยมผู้ชุมนุมด้วยความห่วงใย หารือกันหลายเรื่องๆแรกเกี่ยวกับพื้นที่ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แกนนำนปช.ยืนยันไม่กลับไปอีก จะชุมนุมที่ราชประสงค์เป็นหลัก

หลังเที่ยง นายณัฐวุฒิพร้อมด้วยแกนนำขึ้นเวทีแถลงการเคลื่อนไหวยกระดับเพื่อเรียก ร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยุบสภาว่า ขณะนี้มีการจัดกำลังทหารเข้ามาถนนสีลม ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเตรียมสลายการชุมนุมในไม่ช้า เมื่อเป็นเช่นนี้ทางแกนนำขอให้พี่น้องเสื้อแดงมารวมพลังที่เวทีราชประสงค์ ทั้งนี้นายกฯอยู่ในค่ายทหาร ประชุมครม. ในค่ายทหาร ประกอบกับสั่งกำลังทหารเข้ามาซุ่มในจุดต่างๆ อย่างผิดสังเกต บางคนอยู่ในลักษณะพร้อมยิง ทั้งที่คนเสื้อแดงไม่ได้เข้าไปในพื้นที่สีลม ดังนั้นเราขอประกาศว่าจะไม่เข้าไปในพื้นที่สีลม

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า เมื่อรัฐบาลจะใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมอย่างสงบ เราจึงขอประกาศมติอย่างเป็นทางการของกลุ่มนปช. ว่าจะปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้เป็นลักษณะ สู้รบ ผู้ชุมนุมทุกคนจะแปรสภาพจากนักท่องเที่ยวเป็นนักรบ เราจะตั้งค่ายหอประตูศึกเพื่อเตรียมรับมือกำลังทหาร โดยตั้งด่านสำคัญทั้ง 6 จุด มีแม่ทัพประจำด่าน ดังนี้ ด่านที่ 1 บนถนนสีลม ตั้งประจันหน้ากับกลุ่มทหาร มีนายขวัญชัย ไพรพนา นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นายพายัพ ปั้นเกตุ และนายชินวัฒน์ หาบุญพาด ดูแลพื้นที่ด่านที่ 2 บริเวณแยกมาบุญครอง พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์ นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ดูแลด่านที่ 3 ถนนอังรีดูนังต์ นายสมชาย ไพบูลย์ และนายประแสง มงคลศิริ ดูแลด่านที่ 4 แยก ประตูน้ำ นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ และพ.ต.ต. เสงี่ยม สำราญรัตน์ ดูแลด่านที่ 5 ถนนเพลินจิต นายนิสิต สินธุไพร นายสำเริง ประจำเรือ นายวันชนะ เกิดดี ดูแล และด่านที่ 6 ถนนสารสิน หลังสวนลุมพินี นายเพชรวรรต วัฒนพงษ์ศิริกุล และนางกัลยาภัทร มณีจักร หรือ ดีเจอ้อม ซึ่งเป็นด่านของกลุ่มนัรบล้านนากลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ดูแล

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า ด่านทั้งหมดขอให้ผู้ชุมนุมให้ความร่วมมือตั้งด่านให้หนาแน่น ป้องกันไม่ให้ทหารเข้ามาสลาย และแบ่งหน้าที่จัดเวรยาม ป้องกัน จัดสิ่งกีดขวาง และช่วงเย็นจะให้แกนนำรักษาด่านทุกด่านมารายงานความคืบหน้าบนเวที ทั้งนี้มีข่าวว่าภายในไม่กี่วันนี้จะมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอย่าง แน่นอน จึงขอให้ป้องกันตัวเองให้ดี หลังจากค่ายหอประตูศึกพร้อมแล้ว เราจะออกไปลุยกับนายอภิสิทธิ์ทันที

นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีกลุ่มคนใช้วิชามารขึ้นป้ายบริเวณกทม. ระบุข้อความว่า “รัฐไทยใหม่ ชัยชนะแดงทั้งแผ่นดิน ทักษิณจงเจริญ” และลงชื่อว่ารปช.รวมทั้งมีข้อความระบุว่า ประธานาธิบดีทักษิณ ชินวัตร ประมุชแห่งรัฐไทยใหม่ ลงชื่อนปช.” ขอประกาศว่าการกระทำดังกล่าวไม่เกี่ยวกับนปช.และเป็นความพยายามใช้โมเดล 6 ตุลาฯ 19 ใส่ร้ายประชาชนเพื่อเข่นฆ่าทำร้ายประชาชน ดังนั้นหากใครเห็นการกระทำดังกล่าวขอให้แจ้งมายังแกนนำ เพื่อแจ้งตำรวจดำเนินคดี คนพวกนี้ต้องโดนจัดการอย่างเด็ดขาด

ในช่วงบ่าย บริเวณ แยกศาลาแดง ถนนราชดำริตัดถนนสีลม กลุ่มเสื้อแดงตั้งด่านป้องกันขนาดใหญ่ที่สุด โดยนำไม้ไผ่ปลายแหลมมาขัดกันทำเป็นบังเกอร์กั้นปิดทางเข้าออกถนนราชดำริ มีตาข่ายสีเขียวคลุมไว้

ต่อมาบนเวทีราชประสงค์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อแถลงว่า ฝากถึงนายอภิสิทธิ์ว่าถ้าไม่อยากเป็นผู้พ่ายแพ้ ขอให้ยุบสภาแสดงความรับผิดชอบการสลายการชุมนุม และนำการเมืองเข้าสู่การเลือกตั้ง ก่อนจะกลายเป็นทรราชตลอดกาล หากยุบสภาแล้วนปช.จะประชุมแกนนำเสื้อแดงทั่วประเทศ เพื่อลงสัตยาบันว่าจะเปิดให้หาเสียงโดยไม่สกัดขัดขวาง และอาสาเป็นหูเป็นตาดูแลไม่ให้เกิดเหตุ ระหว่างรอคำตอบวันที่ 21 เม.ย. จะเคลื่อนออกจากที่ตั้งเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์

แกนนำนปช.กล่าวอีกว่า กรณีชายชุดดำในคืนวันที่ 10 เม.ย. ตนไม่รู้จักกองกำลังนี้ ไม่สามารถติดต่อหรือสั่งการได้ ดังนั้นจะบอกให้เลิกปฏิบัติการไม่ได้ เท่าที่รู้คือเป็นทหารที่รับไม่ได้กับการฆ่าประชาชนของนายทหารยุคปัจจุบัน ส่วนจะเป็นผู้ก่อการร้ายหรือเป็นใคร ให้ถามนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ที่บอกให้ตนสั่งชายชุดดำหยุดยิงทหาร เพราะเขาระเบิดทหารของรัฐบาลตาย แต่ตนตอบว่าสั่งไม่ได้ นายกอร์ปศักดิ์จึงบอกว่าถ้าเช่นนั้นจะจัดการกับชายชุดดำ ตนก็บอกว่าจัดการได้เต็มที่เลย แต่พออีกวันรัฐบาลกลับบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย ตนไม่เชื่อว่าคนชุดดำ 2-3 คนจะทำให้คนตายและบาดเจ็บมากถึงเพียงนี้

“วันที่ 21 เม.ย.กลุ่มคนเสื้อแดงจะเคลื่อนขบวนคาราวานแจกซีดี “ความจริง10 เม.ย. ใครฆ่าประชาชน” ความยาว 30 นาที จำนวน 1 ล้านแผ่น ให้ประชาชนทั่วประเทศ ทั้งในกรุง เทพฯและต่างจังหวัด” แกนนำ นปช. กล่าว

 

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกแถลงการณ์ผ่านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษา ใจความสรุปว่า ตามที่มีบุคคลผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองขึ้นป้ายบริเวณถนนสีลม ทำนองว่าผมเป็นประมุขของรัฐไทยใหม่ เป็นประธานาธิบดีนั้น ผมขอประณามการกระทำนี้ ใช้ความเท็จจงใจใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุด เป็นการกระทำของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง สร้างความแตกแยกในแผ่นดินให้ขยายวงกว้างออกไปอีก บุคคลดังกล่าวกำลังเพลิดเพลินกับการทุจริตเงินภาษีของประชาชน ซ้ำร้ายยังตอกลิ่มสร้างความแตกแยกในชาติ

แถลงการณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ระบุอีกว่า ขอเรียกร้องให้บุคคลเหล่านี้ยุติการกระทำ เพราะกำลังทำบาปและสร้างความแตกแยกในชาติ คนไทยทุกคนรวมทั้งผมและครอบครัว เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไม่มีใครคิดดำเนินการตามที่ระบุในข้อความใส่ร้าย ขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาตัวกลุ่มบุคคลเบื้องหลังการกระทำดัง กล่าว นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเฉียบขาดต่อไป (ดู ”วิถีปืนจากฝั่งทหาร พฐ.ชี้แล้ว ยิงนักข่าวยุ่นตาย,” ข่าวสดออนไลน์, 21 เม.ย. 53)

รัฐบาล – ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการ ศอฉ. ให้แต่งตั้ง คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการ ศอฉ.และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน

ครม. ยังอนุมัติรับโอนนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม จากตำแหน่ง ผอ.สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัด ก.วิทยาศาสตร์ฯ ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี (ดู “ครม. ตั้งหมอพรทิพย์เป็นกรรมการ ศอฉ. ตั้งภรรยา พ.อ.ร่มเกล้า เป็นที่ปรึกษานายก,” ประชาไท, 20 เม.ย.53)

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่อง มติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ

ให้การกระทำความผิดทางอาญากรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไปในราชอาณาจักร รวมถึงความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน เป็นคดีพิเศษ (ดู ประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่อง มติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ วันที่ 20 เม.ย. 53)

09.00 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เป็นประธานประชุมศอฉ. จากนั้นเวลา 10.30 น. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ. แถลงว่า ที่ประชุมทบทวนการปฏิบัติงานหลังจากที่เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ได้มีการเรียกผู้บังคับหน่วยถึงระดับผู้บังคับกองพันมาชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติเมื่อถูกกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ากดดันกำลังเจ้าหน้าที่ วันนี้ศอฉ.ได้มีการทบทวนเรื่องเดิม และมีการรายงานข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม ทั้งในส่วนข่าวส่วนกลาง และหน่วยหทารที่ลงพื้นที่แล้ว ตรงกันว่า กลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ได้มีการเตรียมระเบิดขว้าง ระเบิดขวด ไม้เหลาแหลมทั้งที่ใช้ลักษณะของการถือแทง หรือยิงจากหน้าไม้ ไม้ที่ตอกตะปู น้ำกรด ฉะนั้นศอฉ. จึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงให้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจจำเป็นต้องปรับแนวทางการปฏิบัติ จากเดิมที่เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎการใช้กำลัง ตั้งแต่การใช้โล่ดันจนถึงขั้นสุดท้ายคือการใช้กระสุนยาง ไม่ใช้กระสุนจริงในการป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่ ซึ่งวันนี้จะต้องปรับใหม่โดยจำเป็นจะต้องรักษาระยะห่างระหว่างเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ผู้ปฏิบัติงาน กับกลุ่มผู้ชุมนุมให้ได้ระยะประมาณ 30 – 40 หลาเพื่อความปลอดภัย คงจะไม่สามารถใช้โล่ไปดันกันอยู่ได้ เนื่องจากผู้ชุมนุมมีระเบิดขว้าง น้ำกรด ไม้เหลาแหลม ซึ่งล้วนแต่ทำให้เสียชีวิตได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นขั้นตอนการปฏิบัติจะเป็นลักษณะของการรักษาระยะให้ห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมในระยะดังกล่าว ทั้งนี้ เริ่มต้นอาจจะต้องทำการยิงด้วยแก๊สน้ำตาจากเครื่องยิง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกผ่านแนวสกัดเข้ามา ถ้าเลยจากนั้นจะเป็นไปตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก คือการใช้น้ำ เครื่องขยายเสียงกำลังสูง แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และใช้กระสุนยางที่ยิงจากปืนลูกซอง แต่ถ้าไม่สามารถ สกัดกลุ่มผู้ชุมนุมได้ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติการในลักษณะความเฉียบขาดเพื่อปกป้อง ชีวิต เพราะถือว่าได้พยายามที่จะดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียอย่างที่สุดแล้ว ถ้าผู้ชุมนุมยังบุกเข้ามาอีก เจ้าหน้าที่ก็มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธ

“แต่อย่างที่เรียนให้ทราบเมื่อวานนี้ว่า การใช้อาวุธก็ต้องมองให้ได้ใน 3 ลักษณะ คือเราไม่ได้หมายที่จะเอาชีวิตท่าน เราทำเพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายของท่านให้ได้ แล้วก็สมเหตุสมผล ซึ่งจากภาพการปฏิบัติที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากมี เชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชน สื่อมวลชนจะเข้าใจ จากวิธีการในการปฏิบัติ อาวุธปืน กระสุนจริงก็คงจะยิงไปในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เป็นไปตามหลักการทั้ง 3 ข้อ นอกเสียจากว่าเราจะตรวจพบกลุ่มผู้ที่มีอาวุธสงครามอยู่ในมือ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของกลุ่มผู้ชุมนุม และพยายามที่จะยิงทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุม หรือยิงทำร้ายเจ้าหน้าที่ อย่างนี้ก็มีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ทหารที่มองเห็นเป้าหมายจะสามารถใช้ อาวุธของเขา ในการที่จะยับยั้งสิ่งนี้ได้” โฆษกศอฉ. กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม โฆษกศอฉ. กล่าวว่า หากวันข้างหน้ามีการขอพื้นที่การชุมนุมคืน เราก็ยังปฏิบัติตามกฎของการใช้กำลัง 7 ข้ออยู่เหมือนเดิม คือการใช้โล่ดัน การแสดงกำลัง การใช้กระบอง ฉะนั้นจึงต้องแยกแยะให้ถูกว่า การปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่เคลื่อนที่เข้าหากลุ่มผู้ชุมนุมนั้นก็เป็นไปตาม หลักสากลจากเบาไปหาหนัก แต่ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมพยายามที่จะเคลื่อนที่ไปในที่ต่างๆ ที่ไม่สามารถให้ไปได้ เนื่องจากจะทำความสูญเสียให้กับสังคมโดยรวม ก็จะดำเนินการในลักษณะของการรักษาระยะต่อห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมในระยะ 30 – 40 หลา

ที่ประชุมยังพูดถึงกลุ่มคนเสื้อแดงระบุมีคนนำเอาข้อมูลการประชุมระดับผู้บังคับกองพันไปแจ้งกับแกนนำ มีกระดาษเขียนชัดเจนว่าภายใน 7 วันจะดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ ยอมให้มีผู้สูญเสียได้จำนวนเท่านั้นเท่านี้ ผมยืนยันว่าเป็นข้อมูลเท็จ ในฐานะโฆษกศอฉ.รับผิดชอบเป็นเลขานุการการประชุม ไม่เคยทำเอกสารอย่างนั้น ขอให้รู้ด้วยว่าเป็นเท็จ ปกติการประชุมทุกครั้งประธานไม่ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรรณ รองนายกฯ หรือพล.อ.อนุพงษ์ จะย้ำเสมอว่าต้องปฏิบัติอย่างละเอียดรอบคอบ ให้นึกเสมอว่าคนที่เคลื่อนไหว หรือเราเคลื่อนไหวก็คือคนไทยด้วยกัน ส่วนการสลายการชุมนุมพร้อมเมื่อไหร่ทำทันที”โฆษกศอฉ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ขอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพึ่งพระบารมีแก้ไขปัญหาของประเทศ พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า มีคนพูดเยอะแล้ว และท่านโตกว่าตน ท่านน่าจะคิดได้ดีมากกว่าตน ให้สังคมเป็นผู้พิจารณา และเจ้าหน้าที่จะไม่ยอมให้ผู้ชุมนุมบุกไปที่ร.พ.ศิริราชเด็ดขาด เพราะเรื่องนี้สำคัญ และพระองค์ท่านอยู่เหนือความขัดแย้งด้านการเมือง

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศอฉ. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ถามถึงข่าวที่จะมีการขอคืนพื้นที่การชุมนุมภายใน 1-2 วันนี้ว่า รัฐบาลตั้งใจบังคับใช้กฎหมาย ส่วนจะเป็นวันไหน ตอบไม่ได้ แต่ศอฉ.ดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังให้มีความเสียหายน้อยที่สุด จึงขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ส่วนการให้เจ้าหน้าที่พกอาวุธจริงนั้น ไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน แต่เหตุการณ์เวันที่ 10 เม.ย. เราเห็นว่ามีคนตั้งใจทำร้ายเจ้าหน้าที่ ศอฉ.จึงมีมติชัดเจนว่าให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธจริงได้

ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรฯ ขีดเส้นรัฐบาลจัดการม็อบเสื้อแดงภายใน 7 วันนั้น นายสุเทพกล่าวว่า นายกฯ เรียนกับประชาชนผ่านทีวีไปแล้วเมื่อคืนวันที่ 19 เม.ย.ว่าไม่ควรมาบังคับขีดเส้นกัน การแก้ปัญหาต้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างอิสระ ดูความเหมาะสมของเหตุการณ์ การกดดันว่าต้องทำภายในกี่วัน จะทำให้เจ้าหน้าที่กดดันและทำงานยาก

นายสุเทพกล่าวอีกว่า รัฐบาลยอมไม่ได้หากกลุ่มเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวสร้างปัญหากับบ้านเมืองต่อไป รัฐบาลจะเดินหน้าจับกุมแกนนำ และผู้ก่อการร้ายที่รวมอยู่ในกระบวนการนี้ ส่วนที่แกนนำเสื้อแดงประกาศบนเวทีว่าศอฉ.สั่งการจับตายแกนนำนั้น ไม่เป็นความจริง เราตั้งใจดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย แต่ถ้าต่อสู้ ใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทางเจ้าหน้าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธจริงเพื่อปกป้องตัวเองได้

เวลา 13.50 น.ที่ศูนย์แถลงข่าวศอฉ. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ แถลงผลประชุมครม.ว่า ในที่ประชุมครม. นายสุเทพ ในฐานะผอ.ศอฉ.รายงานสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้ง แนวทางแก้ปัญหา และครม.เห็นชอบหลักการตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เสนอเรื่องชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551 และสงกรานต์ปี 2552

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการปูทางเพื่อดึงสถาบันลงมาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่สามารถตอบเช่นนั้นได้ แต่ยืนยันว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่เหตุบังเอิญ มีการเชื่อมโยงกับการกระทำหลายอย่างก่อนหน้านี้ เช่น การตัดต่อคลิปเสียง และมีความพยายามหลายอย่าง ซึ่งเป้าหมายความเคลื่อนไหวมีหลายสิ่งบ่งบอกว่าไปไกลกว่าเรื่องยุบสภาหรือ การเมืองเฉพาะหน้า หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนและรัฐบาล

นายกฯ กล่าวด้วยว่า แม้สถานการณ์จะมีข้อเรียกร้องเรื่องการเมืองและความเดือดร้อน แต่ยืนยันว่ามีขบวนการที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและมีเป้าหมายการ เปลี่ยนแปลงซึ่งไปไกลกว่านั้น จึงขอความร่วมมือประชาชน แก้ไข ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและดีที่สุด คือช่วยกันแยกกลุ่มคนที่ไม่เกี่ยวกับขบวนการก่อการร้ายออกมาให้ได้ ซึ่งรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะไม่ยอมให้มีภัยคุกคามเกิดขึ้น จากกระบวนการนี้ เราต้องจัดการ

ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุผลที่นายกฯไม่เลือกยุบสภาหรือลาออกคืออะไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า

“สรุปง่ายๆ ว่าในการตัดสินใจทำทั้งสองอย่างไม่ได้แก้ปัญหา ผมคิดว่าประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการจำนนต่อข้อเรียกร้อง เพราะจะทำให้สูญเสียความเป็นนิติรัฐ และมีผลกระทบรุนแรงต่อการใช้กฎหมายของบ้านเมืองในอนาคต ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขณะที่สถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ คงไม่ทำให้ปัญหาความแตกแยกหรือความรุนแรงหมดสิ้นไปได้ โดยเฉพาะถ้าเรามองเห็นถึงกระบวนการที่ไปไกลกว่าเรื่องที่จะพูดถึงผมหรือ รัฐบาล”

เมื่อถามว่าครม.พิจารณาทางออกอย่างไรบ้าง นายกฯกล่าวว่า นายสุเทพสรุปสถานการณ์และยืนยันถึงหลักที่พูดกันตลอดเวลาว่า ข้อเรียกร้องของประชาชนที่เป็นความเดือดร้อนและเป็นธรรม รัฐบาลพร้อมเดินหน้าแก้ไข ส่วนปัญหาการเมือง รัฐบาลไม่เคยปิดกั้น เริ่มตั้งแต่การเจรจา ฉะนั้นในฝ่ายการเมืองจะต้องพิจารณาร่วมกันต่อไป แต่การก่อการร้ายหรือวาระที่ไปไกลถึงขั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ส่วนนี้มีความจำเป็นต้องแก้ไขและดำเนินการโดยร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายความมั่นคง

จากนั้นนายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติครม.ที่เกี่ยวข้องกับ กรอบอัตรากำลังข้าราชการพลเรือนสามัญในภาพรวม เพื่อรับโอนนางณิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ผอ. สำนักบริหารกลางอำนวยการระดับสูง สำนัก งานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภรรยาพ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย. มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำด้านสังคม อำนวยการระดับสูง กลุ่มงานยุทธศาสตร์และการวางแผน สำนักเลขาธิการนายกฯ

จากนั้นนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า นายกฯ และรองนายกฯ รายงานครม.ทราบถึงการทำงานของศอฉ. และการเพิ่มเติมกรรมการศอฉ. โดยให้พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยา ศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการศอฉ. เพื่อให้การทำงานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีความละเอียดและรวดเร็ว ทั้งนี้ รองนายกฯ ลำดับเหตุการณ์และชี้แจงแนวทางดำเนินการของศอฉ. การปฏิบัติการวันที่ 10 เม.ย. อย่างละเอียด เน้นศอฉ.ปฏิบัติการกลางวัน ทหารเตรียมถอนกำลังออกแต่ผู้ที่มีพฤติกรรมก่อการร้าย ใช้อาวุธเข้าปะทะเจ้าหน้าที่จึงเกิดเหตุการณ์ขึ้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ถอนกำลังเพื่อฟื้นฟูและเพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติงาน รวมถึงปรับหัวหน้ารับผิดชอบเป็นพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.

นายปณิธาน กล่าวว่านายกฯ ชี้แจงต่อ ครม.ว่า งานของรัฐบาลแก้ปัญหาคู่กับศอฉ. คืองานด้านการเมืองกับงานด้านรักษาความสงบ ของศอฉ. โดยงานการเมืองมีความพยายามเจรจาอย่างต่อเนื่อง แต่เกิดเหตุวุ่นวาย กระทบต่อการเจรจาจึงเดินหน้าต่อไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเจรจาระหว่างกลุ่มเสื้อแดงและรัฐบาลดำเนินไปถึงจุดไหน นายปณิธานกล่าวว่า นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ ประสานงานอยู่ รัฐบาลยินดีเจรจาตั้งแต่แรก โดยช่วงเย็นวันนี้ หรือวันที่ 21 เม.ย. พรรคร่วมรัฐบาลจะประชุมกัน นายสุเทพคงเข้าประชุมด้วย เรื่องเจรจาน่าจะชัดเจนขึ้น

เมื่อถามว่าขณะนี้อำนาจสลายการชุมนุมอยู่ที่ใคร นายปณิธาน กล่าวว่า ชัดเจนว่าพล.อ.อนุพงษ์ได้รับหน้าที่ดูแลศอฉ. มีอำนาจเต็มที่ในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ เกิดการปะทะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมศอฉ. โดยนายกฯ และรองนายกฯ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องร่วมกันตัดสินใจ ส่วนตัวเลขของผู้ชุมนุมขณะนี้ ยอมรับว่าเพิ่มมากขึ้นจากช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ใช่จำนวนที่มากมาย กลางวันผู้ชุมนุมมีจำนวนลดลงและเพิ่มในช่วงค่ำ

เมื่อถามว่าทำไมรัฐบาลไม่สลายการชุมนุมในช่วงกลางวันที่มีผู้ชุมนุมน้อย นายปณิธาน กล่าวว่า การสลายหรือไม่สลาย ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขผู้ชุมนุม แต่รัฐบาลมีเป้าหมายว่าต้องแยกกลุ่มติดอาวุธที่แอบแฝงในกลุ่มผู้ชุมนุมออกมา อย่างไร รัฐบาลต้องจับแกนนำที่ถูกออกหมายจับ ให้ออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม รัฐบาลต้องป้องกันประชาชนให้ปลอดภัย และต้องรักษาพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ให้ปลอดภัย เนื่องจากมีศูนย์การค้าและห้างร้านที่มีความสำคัญ

วันเดียวกันเวลา 09.45 น. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เข้าพบ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. เพื่อ ประสานความร่วมมือกรณีอธิบดีดีเอสไอได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน คดีที่เกิดขึ้นในการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เม.ย. จากนั้นนายธาริต พล.ต.ท. สัณฐาน พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น. ฝ่ายสอบสวน พ.ต.อ.วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ รอง ผบก.น.1 พ.ต.อ.พัลลภ สุวรรณบัตร รองผบก. น.2 ร่วมหารือกันที่ห้องประชุมปารุสกวัน 1 ใช้เวลาประมาณ 1 ช.ม.

นายธาริตกล่าวว่า ผบช.น.และรองผบช.น. ได้ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของบช.น.ร่วมสอบสวนคดีพิเศษที่จะเสนอต่อรมว. ยุติธรรม และนายกฯ โดยพล.ต.ต.อำนวยเป็นที่ปรึกษาการดำเนินคดีในคดีพิเศษ และหน่วยอื่นๆ เข้ามาร่วมทำงานอีกประมาณ 10 หน่วย คดีจะทำอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ไม่โอนเอียง

เวลา 19.00 น.ที่ ร.11 รอ. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานประชุม ศอฉ. จากนั้นเวลา 20.30 น. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แถลงว่า ที่ประชุมมีการพูดถึงเรื่องความพยายามของกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนที่ พยายามจะสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม โดยมีการรื้อถอนอิฐบล็อกซีเมนต์ไว้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้เเจ้งความดำเนินคดีข้อหาทำลายทรัพย์สินของ กทม. และวันนี้ได้รับรายงานจากหน่วยรอบพื้นที่ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการจุดพลุตะไลขึ้นไปหวังสร้างอันตรายให้กับเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งการจุดบริเวณราชประสงค์หวังสร้างความลำบากให้กับเจ้าหน้าที่ที่ใช้อากาศยาน แต่เราไม่วิตกว่าอากาศยานจะถูกบั้งไฟ แต่กลัวว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า พื้นที่การชุมนุมไม่ปลอดภัยจริงๆ อยากวิงวอนให้ออกจากพื้นที่โดยเร็ว หากผู้ชุมนุมคนใดประสงค์จะเดินทางกลับบ้าน ขอให้แจ้งให้ทราบ แม้จะถูกยึดบัตรประจำตัว และใส่เสื้อแดงก็สามารถกลับบ้านได้ โดยออกมาพบตำรวจเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้อำนวยความสะดวก ซึ่งจะไม่มีตำรวจคนใดจับท่านขณะนี้

ศอฉ. ให้ความสำคัญกับกรณีที่เสื้อแดงจะเคลื่อนไปสีลม ซึ่งเรามีทหารที่มีการตั้งจุดตรวจสกัดอยู่ ผบ.หน่วยจะต้องมาดูแลเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธหลากหลายชนิด ซึ่งขอเน้นย้ำว่า วันนี้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติภารกิจที่บังคับใช้ตามกฎหมาย อยู่ที่สถานการณ์ความเหมาะสม

พ.อ.สรรเสริญกล่าวอีกว่า กรณีกลุ่มเสื้อแดงนำผลการประชุม ศอฉ. มาปล่อยว่าจะมีการปฏิบัติภารกิจให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน และมีคนสูญเสีย 500 คนก็ยอม ศอฉ. ยืนยันว่าไม่จริง ไม่เคยมีผลประชุมอย่างนี้ ที่ผ่านมาหลีกเลี่ยงความรุนแรงมาโดยตลอด (ดู “ศอฉ. ปรับแนวปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎการใช้กำลัง เข้มมาตรการจากเบาไปหาหนักตามหลักสากล,” ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 20 เม.ย.53  ; ดู “ศอฉ.พบกลุ่มเสื้อแดงรื้อถอนอิฐบล็อกซีเมนต์มาทำเป็นก้อนอิฐซึ่งอาจใช้ทำร้ายเจ้าหน้าที่,” ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 20 เม.ย.53  ; ดู “สรรเสริญชี้เสื้อแดงสร้างความวุ่นวายให้สังคม เพราะรื้ออิฐไว้ทำร้าย จนท.เตรียมบั้งไฟถล่ม ฮ.,” ประชาไท, 21 เม.ย.53 ; ดู “วิถีปืนจากฝั่งทหาร พฐ.ชี้แล้ว ยิงนักข่าวยุ่นตาย,”ข่าวสดออนไลน์, 21เม.ย.53

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลา 16.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กลุ่มประชาชนพิทักษ์ชาติ หรือกลุ่มเสื้อหลากสี และกลุ่มเฟซบุ๊กต้านการยุบสภา รวมตัวคัดค้านการยุบสภา โดยใช้รถติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวทีปราศรัย น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำนำร้องเพลงสดุดีมหาราชา ทำพิธีบวงสรวงและวางพวงมาลา โดยมีผู้ชุมนุมทยอยเข้าวางดอกกุหลาบสีชมพู เสร็จแล้วเชิญชวนทุกคนหันไปทางโรงพยาบาลศิริราช แล้วร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

นพ.ตุลย์ให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.ชวลิตและนายสมชายมีหนังสือผ่านราชเลขาธิการเพื่อขอเข้าเฝ้าฯ โดยมีเป้าหมายให้พระองค์ท่านลงมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการกระทำไม่บังควร ล่วงละเมิด ล่วงเกิน ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ขอให้หยุดการกระทำนี้ทันที ทั้งสองไม่ได้สำนึกตัวเองเลย ตอนนี้เหมือนเป็นขี้ข้าของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเสื้อแดงคนหนึ่ง บังอาจดึงพระองค์ท่านลงมา ต้องไม่ลืมว่าทั้งสองเคยสั่งตำรวจฆ่าประชาชนเมื่อ 7 ต.ค. 51 สมควรได้รับโทษประหารชีวิต

นพ.ตุลย์กล่าวอีกว่า ดีใจที่จำนวนผู้ออกมาแสดงพลังล้นหลาม จากแค่ 20 คนเมื่อเที่ยงวันที่ 13 เม.ย. หนึ่งสัปดาห์เพิ่มขึ้นหลายพันคน และยังมีคนเสื้อหลากสีกระจายไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ วันที่ 21 เม.ย. เวลา 16.00 น. จะไปแสดงพลังที่วงเวียนใหญ่ ทำพิธีสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ดู “วิถีปืนจากฝั่งทหาร พฐ.ชี้แล้ว ยิงนักข่าวยุ่นตาย,”ข่าวสดออนไลน์, 21 เม.ย.53

กลุ่มเสื้อหลากสีชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ที่เชียงใหม่ เกิดเหตุปาระเบิดเอ็ม 26 หน้าร้านยิ่งเจริญโมบาย ตรงข้าม ธนาคารกรุงเทพ สาขาสันกำแพง และปาระเบิดแสวงเครื่องใส่ข้างธนาคารกรุงเทพ สาขาจอมทอง

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 21 เม.ย.53

 

21 เมษายน 2553

นปช. – นปช. ขอนแก่น ขวางรถไฟพิเศษที่บรรทุกรถและสรรพาวุธของทหารที่สถานีรถไฟขอนแก่น

ส.ส.เพื่อไทยวอล์กเอาต์ออกจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังสภามีมติไม่รับญัตติให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553

รัฐบาล – พล.ต.ต.สุรพล พินิจชอบ ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาปฏิเสธข่าวกรณีมีการรายงานว่ากองพิสูจน์หลักฐานสรุปผลการตรวจสอบเหตุปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มคนเสื้อแดง วันที่ 10 เมษายน โดยระบุว่า ภาพเหตุการณ์กองกำลังไม่ทราบฝ่ายใช้อาวุธปืนซุ่มยิงทหารและประชาชน บนอาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น เป็นเพียงแค่กิ่งไม้ไหว และผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น สังกัดสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกยิงมาจากฝ่ายทหาร

พล.ต.ต.สุรพล ยืนยันว่า กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อกองพิสูจน์หลักฐานได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บพยานหลักฐานทั้งหมด จำนวน 3 ครั้ง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ให้รอบด้าน โดยยังไม่มีการสรุปผลแต่อย่างใด การวิเคราะห์หลักฐานจะต้องนำหลักฐานทุกอย่างมาประมวลสรุปอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อออกไป ไม่ใช่ข้อมูลของกองพิสูจน์หลักฐานแน่นอน แต่ยืนยันว่าจะเร่งตรวจสอบโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้

ทั้งนี้จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุบริเวณถนนดินสอและหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เป็นจุดปะทะใหญ่ พบหลุมระเบิด 2 จุด แสดงว่ามีการใช้ระเบิดจริง แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นระเบิดชนิดใด อาวุธที่ใช้ในวันดังกล่าว คาดว่าเบื้องต้น มี 2 ชนิด คือ M16 และอาก้า แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน เนื่องจากต้องมีการตรวจคราบเขม่าหรือวิเคราะห์สารเคมีอีกครั้ง (ดู “ผบก.กองพิสูจน์หลักฐานปัดข้อมูลวิถีกระสุน สังหารนักข่าวยุ่นไม่ใช่ของพฐ.ยันยังไม่ได้สรุปรอ2สัปดาห์,” มติชนออนไลน์, 21 เม.ย.53  ; ดู “ผบก.พฐ.ปัดข่าวได้ผลสรุปเหตุการณ์ 10 เม.ย.,” ผู้จัดการออนไลน์, 21 เม.ย.53

ทั้งนี้ก่อนหน้าได้มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยว่า กองพิสูจน์หลักฐานกลาง (พฐ.) ได้รายงานผลตรวจพื้นที่เกิดเหตุบริเวณแยกคอกวัว และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ต่อ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ที่ปรึกษา สบ.10 ว่า จากการตรวจสอบจุดอาคารสูง ริมถนนราชดำเนิน ซึ่งมีการระบุว่าเป็นจุดที่กองกำลังไม่ทราบฝ่ายใช้ปืนซุ่มยิงทหารและประชาชน นั้น ผลการตรวจสอบไม่พบร่องรอยเขม่าดินปืน หรือพบปลอกกระสุนตกในที่เกิดเหตุแต่อย่างใดทั้งสิ้น ส่วนที่มีคลิปพบความเคลื่อนไหวนั้นเป็นกิ่งไม้ไหวช่วงกลางคืน และควันที่พบในคลิปสันนิษฐานว่าเกิดจากกระสุนปืนที่ยิงมาโดนบริเวณตัวอาคาร แล้วลอยขึ้นไป จนทำให้เกิดภาพเหมือนมีคนซุ่มยิงและมีควันคล้ายการยิงปืน นอกจากนี้จากการตรวจสอบคลิปภาพถ่ายต่างๆ ที่รวบรวมได้กรณีนักข่าวชาวญี่ปุ่นสังกัดสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า ช่วงแรกนักข่าวญี่ปุ่นอยู่หลังแนวทหาร แต่เมื่อแนวทหารถอยร่นจากการตอบโต้ของคนเสื้อแดง ปรากฏว่า นักข่าวคนดังกล่าวได้มายืนอยู่ในจุดด้านหน้าของการปะทะระหว่างทหารกับกลุ่ม เสื้อแดง และแนววิถีกระสุนมาจากฝั่งทหาร นอกจากนั้นในส่วนของคลิปที่สำนักข่าวฝรั่งเศสระบุว่าทหารยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม แต่ทางศอฉ.ระบุว่าเป็นเพียงการยิงคุ้มกันช่วงถอนตัวนั้น จากการตรวจสอบคลิปอย่างต่อเนื่องของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง พบว่ามีการยิงกระสุนใส่ประชาชนจริง และบางช่วงยังมีเสียงทหารด้วยกันบอกให้หยุดยิง และบอกว่าพอแล้ว ซึ่งรายงานทั้งหมด คณะพนักงานสอบสวนเก็บรวบรวมหลักฐานไว้แล้ว (ดู “วิถีปืนจากฝั่งทหาร พฐ.ชี้แล้ว ยิงนักข่าวยุ่นตาย,” ข่าวสดออนไลน์, 21 เม.ย.53 ; ดู “กองพิสูจน์หลักฐานเผยคลิปซุ่มยิงที่แท้กิ่งไม้ไหว ส่วนทหารยิงปืนใส่ประชาชนจริง,” ประชาไท, 20 เม.ย.53

พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานสอบสวน ในฐานะที่ปรึกษาคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงถึงคดีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ว่ามีจำนวน 82 คดี เป็นคดีที่มีการชันสูตรผลิกศพ 20 คดี

ทางด้านดีเอสไอตั้งคณะทำงาน 7 ชุด สอบสวนคดีประกอบด้วย (1) เหตุระเบิด 44 แห่ง (2) เหตุบุกรุกคารรัฐสภา (3) เหตุบุกรุกสถานีไทยคม (4) เหตุปะทะหน้ากองทัพภาคที่ 1 (5) ยึดรถทหารและยุทธภัณฑ์บนสะพานปิ่นเกล้า และ (6) เหตุปะทะที่สี่แยกคอกวัว

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลา 2.30 น. คนร้ายยิงจรวดอาร์พีจีใส่ถังน้ำมันของคลังน้ำมันของบริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด บริเวณถนนลำลูกกา คลอง 16 ไฟลุกไหม้ด้านล่างของถังน้ำมันแต่เจ้าหน้าที่สกัดเพลิงไว้ได้ทัน

กลุ่มคนเสื้อหลากสี ชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

กลุ่มคนรักสีลมและเสื้อหลากสี ตั้งเวทีปราศรัยเผชิญหน้ากับ นปช. ที่แยกศาลาแดง ฝั่งสีลม

หมายเหตุ

 

22 เมษายน 2553

นปช. – ที่สำนักงานสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน นปช. ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้เข้ามาแทรกแซง โดยการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาป้องกันไม่ให้รัฐบาลใช้กำลังเข้าปรามปรามประชาชน

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้จำเลยทั้งสองสั่งการเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์

ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการตามหลักสากลและดูแลความสงบ ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก

รัฐบาล – เวลา 23.30 น. นายสุเทพแถลง กรณีที่มีข่าวว่าเสื้อแดงจะบุกเข้าไปพื้นที่สีลมนั้น ทางรัฐบาลได้พยายามวางมาตรการที่จะดูแลป้องกันให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพในสีลมโดยส่งทหารตำรวจเข้าไปในพื้นที่ 2 วันที่ผ่านมา เหตุการณ์เรียบร้อยดี จนกระทั่งเมื่อค่ำที่ผ่านมาได้เกิดเหตุคนร้ายยิงเอ็ม 79 ใส่พี่น้องประชาชนชาวสีลมทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิต รัฐบาลขอแสดงความเสียใจและสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ควบคุมโดยทันที ป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายสร้างสถานการณ์ซ้ำเติมอีก และรัฐบาลขอให้ประชาชนที่อยู่สีลมด้านหน้าให้ถอยร่นออกจากฝั่งผู้ชุมนุมให้พ้นจากระยะการยิงของ M79 ซึ่งจากการตรวจของเจ้าหน้าที่ชัดเจนแล้วว่า ทิศทางการยิง M79 มาจากทางด้านหลังพระบรมรูป ร.6 ซึ่งเสื้อแดงชุมนุมอยู่

ดู 20100422_CRES_001

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ขณะที่มีผู้ชุมนุมต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดงอยู่ที่บริเวณแยกศาลาแดง ถนนสีลม เกิดเหตุยิง เอ็ม79 ใส่ศาลาแดง-สีลม 5 ลูกซ้อน 3 ลูกแรกยิงใส่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดง อีก 2 ลูกยิงใส่บริเวณถนนสีลม มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บกว่า 70 คน

หมายเหตุ

 

23 เมษายน 2553

นปช. – แกนนำ นปช. ลดระดับข้อเรียกร้อง ยื่นเงื่อนไขให้นายกฯ ยุบสภาใน 30 วัน รวมกับเวลารักษาการของรัฐบาลเป็น 90 วัน แล้วจะยุติการชุมนุม

คณะฑูตจากหลายประเทศเข้าพบแกนนำคนเสื้อแดงที่เวทีราชประสงค์ เสนอให้ถอยคนละก้าว

แกนนำคนเสื้อแดงให้ผู้ชุมนุมเปลี่ยนสีเสื้อหลังจาก ศอฉ. ตั้งด่านสกัดผู้เข้าร่วมชุมนุม

รัฐบาล – นายกฯ อภิสิทธิ์ปฏิเสธข้อเรียกร้องของ นปช.

นายธาริตในฐานะเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษแถลงว่า คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติ ให้การกระทำความผิด 4 กรณีเป็นคดีพิเศษ ได้แก่ 1.การกระทำเกี่ยวกับการก่อการร้าย 2.การขู่บังคับรัฐบาล 3. การกระทำที่เป็นการประทุษร้ายต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 4. การกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ นายธาริตกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีการวางระเบิดตามที่ต่างๆ 45 ครั้ง เหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงการยิงระเบิดที่สีลมเมื่อคืนที่ผ่านมาเข้าลักษณะการกระทำความผิดที่เป็นการก่อการร้าย

นอกจากนี้ นายธาริตยังเรียนเพิ่มเติมเรื่องการจับกุม 1 ใน 24 คนที่ศาลได้ออกหมายจับไว้ คือ นายเมธี เมื่อวานนี้ ซึ่งมีความผิดหลายเรื่อง รวมถึงความผิดเกี่ยวกับการใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ นายเมธีได้ให้การเป็นสาระสำคัญหลายประการ ยอมรับว่าได้เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ปะทะเมื่อวันที่ 10 เม.ย. โดยกลุ่มของนายเมธีได้ยึดเอาอาวุธยุทธภัณฑ์ของเจ้าหน้าที่ไปจำนวนหนึ่งแล้วนำไปแจกจ่ายให้บุคคลอื่นหลายคน ซึ่งจากการตรวจค้นรถของนายเมธีก็ได้พบปืนกลมือด้วย

“เป็นส่วนสำคัญที่ได้ยอมรับว่าอาวุธร้ายแรงของทางราชการนั้นได้มีการยึดไปจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารแล้วก็นำไปไว้เพื่อใช้ต่อสู้ในโอกาสต่อไป อีกส่วนหนึ่ง [นายเมธี] ได้ยอมรับในข้อเท็จจริงว่าในการปะทะกันในที่เกิดเหตุนั้น ได้มีการใช้อาวุธร้ายแรงจากฝ่ายของนายเมธีในการยิงเข้าใส่กลุ่มทหารที่เข้าขอคืนพื้นที่อีกด้วย นอกจากนั้นก็ยังได้ยอมรับในข้อเท็จจริงว่าเมื่อย้ายการชุมนุมมาที่สี่แยกราชประสงค์แล้วก็มีการประชุมปรึกษาหารือเพื่อวางแนวทางกันทุกวัน ณ สถานที่ซึ่งยังไม่ขอเปิดเผย” นายธาริตกล่าวถึงการให้ปากคำของนายเมธี ซึ่งนายธาริตได้เข้าสอบปากคำเองด้วย

 

ดู 20100423_CRES_001

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ม็อบหลากสีชุมนุมใหญ่ จี้นายกฯ สลายการชุมนุม

ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เวลาประมาณ 10.00 น. น.ส.จีรนุช เปรมชัยพรผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com) ผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 1) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. (จำเลยที่ 2) ร.ต. ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 3) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 4) และกระทรวงการคลัง (จำเลยที่ 5) เรื่อง ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1455/2553 โดยเรียกร้องค่าเสียหาย 350,000 บาท กรณีมีคำสั่งปิดกั้น www.prachatai.com และขอให้ศาลเปิดการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราว ในการยกเลิกการปิดกั้น www.prachatai.com จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.30 น. ศาลได้นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษายกฟ้อง โดยไม่มีการไต่สวน ระบุจำเลยทั้งหมดมีอำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ดู “ศาลแพ่งยกฟ้อง กรณีประชาไทฟ้องถูกปิดกั้นเว็บไซต์ ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน,” ประชาไท, 24 เม.ย.53

เกิดเหตุระเบิดเอ็ม 67 ภายในสวนลุมไนท์บาซาร์

กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและถนนสีลม

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 24 เม.ย.53

 

24 เมษายน 2553

นปช. – นปช. ปรับยุทธวิธี สั่งมวลชนเลิกใส่เสื้อแดง

นปช. อุดรธานี ตั้งด่านที่หน้าที่ว่าการอำเภอโนนสะอาดไปถึงสถานีตำรวจภูธรอำเภอโนนสะอาด เพื่อสกัดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเดินทางไปกทม. และทำได้การยึดและอุปกรณ์ของตำรวจได้หลายรายการ

รัฐบาล – นายกฯ อภิสิทธิ์ประกาศไม่ยุบสภาภายใน 30 วัน อ้างว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ยุบสภา และสั่งให้นายกอร์ปศักดิ์หยุดเจรจากับแกนนำเสื้อแดง

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลุ่มเสื้อหลากสีชุมนุมที่สวนหลวง ร.9 ในตอนเข้า และชุมนุมที่สวนจตุจักร ในตอนเย็น

กลุ่มเสื้อหลากสี นครศรีธรรมราช รวมตัวกันที่ลานหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทำพิธีสาปแช่งแกนนำ นปช. และขอบารมีองค์พระธาตุเจดีย์ปกป้องคุ้มครองประเทศไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์

กลุ่มประชาชนเขต อ.เมือง อ.บ้านนา จ.นครนายก ชุมนุมกันในเขตเทศบาลเมือง อ.เมือง และเคลื่อนขบวนไปไปที่บริเวณสวน ร.9 เฉลิมพระเกียรติ ริมแม่น้ำนครนายก เพื่อคัดค้านการชุมนุมของ นปช.

กลุ่มคนเสื้อหลากสีอุดรธานี ชุมนุมที่สนามทุ่งศรีเมือง หน้าศาลากลางจังหวัด

กลุ่ม “เมืองคนงามพิทักษ์กษัตริย์” ซึ่งเป็นชาว อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี รวมตัวกันที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง เพื่อแสดงความจงรักภักดี รวมพลังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

หมายเหตุ

 

25 เมษายน 2553

นปช. – กลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างเสื้อแดง กทม. และ นปช. สมุทรปราการ เคลื่อนพลจากเวทีใหญ่แยกราชประสงค์ ไปบ้านนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุบสภา

นปช. ปทุมธานี ปิดถนนพหลโยธินทั้งคู่ขนานและทางด่วนขาเข้า กทม. บริเวณปากซอยคลองหลวง 26 หลักกิโลเมตรที่ 36 ม.3 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อเข้าไปสลายการชุมนุมคนของ นปช. โดยทำการยึดรถตู้ รถกระบะ และหกล้อลูกกรงเหล็กของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้จำนวนทั้งหมด 50 คัน

นปช. อ.ท่าแร่ จ. สกลนคร ปิดถนนบริเวณกลางสามแยกสามแยกตลาดสดบ้านท่าแร่ เพื่อสกัดกำลังทหารจากนครพนมที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับตัวแทนจากผู้นำ 3 ศาสนา และเครือข่าย และ กทม. จัดพิธีทำบุญประเทศไทยขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตปัญหาบ้านเมืองด้วยความสงบ สันติ ปราศจากความรุนแรง รวมทั้งนำพาความร่มเย็นกลับคืนมาสู่ประเทศไทย

กลุ่มเสื้อหลากสี และคณะสงฆ์จาก จ.ลำพูน แต่งชุดขาว ทำพิธีสวดมนต์ภาวนาขอให้ประเทศชาติสงบสุข ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

กลุ่มเสื้อหลากสี ปัตตานี ชุมนุมที่บริเวณลานพระรูป ร.5 ด้านหน้าศาลากลาง เรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลบริหารประเทศต่อ ไม่ยุบสภา

กลุ่มเสื้อหลากสี เชียงใหม่ ชุมนุมที่สวนสุขภาพ ข้างหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแสดงพลังและร้องเพลงชาติ

22.30 น. เกิดเหตุปาระเบิดเอ็ม 67 ใส่หน้าบ้านพักนายบรรหาร ศิลปะอาชา บริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด เป็นครั้งที่ 2 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 10 ราย

23.45 น. คนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่สำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 อ.เมือง จ.เชียงใหม่

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 26 เม.ย.53

 

26 เมษายน 2553

นปช. – ที่ถ.มิตรภาพ บริเวณสี่แยกทางเข้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น นปช. ขอนแก่น เดินขบวนไปที่ในอำเภอเมืองขอนแก่น และใช้รถบรรทุก 18 ล้อ มาปิดกั้น ถ.มิตรภาพ บริเวณสี่แยกทางเข้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เพื่อสกัดขัดขวางตำรวจทหารที่จะเข้ากรุงเทพฯ

นปช. ปทุมธานี ปิดถ.พหลโยธิน ก่อนถึงตลาดไท ทางเข้าวัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อสกัดเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพ

นปช. อยุธยา ใช้รถยนต์ปิด ถ.พหลโยธิน วงแหวนรอบนอก หลักกม.ที่ 56 ต.ลำไทร อ.วัง น้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจค้นรถโดยสาร รถบัส รถตู้ รถบรรทุก ซึ่งคาดว่าจะนำตำรวจหรือทหารเข้ากรุงเทพ

นปช. อยุธยา ตั้งด่านสกัดขบวนรถตู้ตำรวจของตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี ที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ริมถนนสาย 347 ปทุมธานี-บางปะหัน ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.อยุธยา

นปช. ฉะเชิงเทรา นำรถสองแถวปิดประตูทางเข้าออกกองกำกับการตำรวจภูธร จ.ฉะเชิงเทรา และตั้งเวทีปราศรัย เพื่อขัดขวางไม่ให้ส่งตำรวจเข้าร่วมปฏิบัติการในกรุงเทพฯ

นปช. แดงสระบุรี ตั้งด่านขวาง ถ.พหลโยธิน ก.ม.90-91 ต.ห้วยขมิ้น อ.หนองแค จ.สระบุรี เพื่อขัดขวางการเดินทางเข้ากรุงเทพของตำรวจ-ทหาร

นปช. สมุทรปราการ นำรถยนต์มาปิดถนนสุขุมวิทขาเข้า กทม. ปากซอยสันติคาม ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เพื่อสกัดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เดินทางเข้ากทม.

นปช. พิษณุโลก ปิดทางเข้าออกกองกำกับตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายเจ้าพระยาจักรี สกัดกั้นไม่ให้กองร้อยควบคุมฝูงชน เดินทางเข้ากรุงเทพ

ที่สี่แยกแม่ต๋ำ อ.เมือง จ.พะเยา นปช. พะเยาและเชียงราย ตั้งด้านเพื่อสกัดไม่ให้ตำรวจจาก จ.พะเยา เดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถสกัดได้

นปช. พะเยา ชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดพะเยา

นปช. เพชรบูรณ์ ปิดถนนบริเวณ หมู่ 4 บ้านราหุล สี่แยก อ.บึงสามพัน เพื่อสกัดตำรวจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

นปช. แม่ฮ่องสอน พยายามจะยึดด่านตรวจร่วมบ้านผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ของตำรวจสภ.น้ำเพียงดินและทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 เพื่อสกัดไม่ให้ส่งกำลังทหาร-ตำรวจเข้ากรุงเทพฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากถูกทหารเข้าขัดขวาง

นปช. อุดรธานี ปิดถนนหน้า สภอ.โนนสะอาด ถนนมิตรภาพ และแยกทางเข้า อ.หนองวัวซอ ถ.อุดรธานี-หนองบัวลำพู และปิดสถานีรถไฟอุดรธานี เพื่อขัดขวางทหารที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพ

นปช. ม็อบคนเสื้อแดงฮือล้อมกรอบรถลำเลียงทหารไม่ให้แล่นผ่านถนนวิภาวดีรังสิต ปากซอยวิภาวดี 16 (ซอยโชคชัยร่วมมิตร) กทม. เพราะกลัวจะเข้าไปช่วยสลายม็อบเสื้อแดงราชประสงค์

รัฐบาล – เวลา 18.30 น. ณ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิดกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษก ศอฉ. แถลงกรณีการปฏิบัติภารกิจในการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่สร้างความเดือดร้อนบริเวณอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรณีที่กลุ่มนปช. ยกระดับการชุมนุมไปสู่การก่อการร้ายแบบเต็มรูปแบบ มีการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงด้วยการพยายามโยงใยบุคคลที่ใกล้ชิด ทั้งนี้ ศอฉ.ได้แจกผังล้มเจ้าให้แก่สื่อมวลชนด้วย

โดย พ.อ. สรรเสริญได้แถลงว่า การปฏิบัติภารกิจในบริเวณพื้นที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันนี้มีสาเหตุเนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงไปปิดการจราจรบริเวณตลาดไท โดยมีการพยายามที่จะตรวจค้นรถโดยสารของประชาชนทั่วไป ทั้งรถส่วนบุคคลหรือรถโดยสาร เพื่อที่จะสร้างความวุ่นวายเดือดร้อนให้กับประชาชน และพยายามจะควานหาเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ โดยอ้างว่าป้องกันไม่ให้เดินทางเข้ามาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ ศอฉ. จึงได้จัดกำลัง ประกอบกำลังจากตำรวจภูธรภาค 1 ตำรวจภูธรภาค 7 และกองพลทหารม้าที่ 1 ไปสลายการชุมนุมในพื้นที่ ซึ่งเมื่อประมาณ 10 นาทีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เดินทางถึงในพื้นที่เกิดเหตุ ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงวิ่งหนีเข้าไปในบริเวณพื้นที่ตลาดไท ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจกำลังตามจับกุมตัวอยู่

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นความพยายามที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อส่งผลกดดันต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มแกนนำคนเสื้อแดงเองก็บอกว่าพยายามจะยกระดับการชุมนุม ซึ่งโดยปกติผิดกฎหมายอยู่แล้ว ไปสู่การก่อการร้าย อย่างที่เห็นเป็นการซ่องสุมอาวุธกันเป็นจำนวนมาก แล้วก็พยายามที่จะผูกโยงเรื่องราวต่างๆ โดยใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จมุ่งโจมตีสถาบันเบื้องสูง อันเป็นที่รักเคารพของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะมีการดำเนินการกันแบบเป็นระบบ ผ่านทางกลุ่มบุคคลทั้งที่เป็นแกนนำหลัก แกนนำรอง บางคนก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะมีคดีหรือไม่ ก็หนีไปก่อน เช่น ดา ตอร์ปิโด สุชาติ นาคบางไทร จักรภพ เพ็ญแข ชูพงษ์ ถี่ถ้วน ที่เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่ามีพฤติกรรมอย่างไร ไม่ว่าจะผ่านทางสื่ออินเตอร์เน็ต เว็บไซต์นปช.ยูเอสเอ องค์กรเสื้อแดงระหว่างประเทศ หรือ Red Shirt International Organization สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ความจริงวันนี้ Thai Red News , Voice of Thaksin รวมถึงวิทยุชุมชนต่างๆ คนรักแท็กซี่ของนายชินวัฒน์ หาบุญพาด เหล่านี้คือสื่อสีแดงที่ให้ข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่หมิ่นเหม่ และจาบจ้วงต่อสถาบันเบื้องสูงอันเป็นที่รักเคารพของคนไทยอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีโรงเรียน ผู้ปฏิบัติงานนปช.แดงทั้งแผ่นดิน ซึ่งแกนนำนปช. ล้วนเป็นบุคลากรหลักของโรงเรียนทั้งสิ้น ที่มีความพยายามที่จะสร้างวาทกรรม มีชุดความคิดอำมาตย์ ไพร่ เนื้อหาในเชิงของการบิดเบือน ปลุกปั่น กระทบต่อความมั่นคงของรัฐอยู่ตลอดเวลา

โฆษก ศอฉ. ล่าสุดกล่าวถึงข้อมูลอันเป็นเท็จคือเรื่องของท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีฆะระ รองราชเลขาธิการ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่าการใส่ร้ายโจมตีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จทั้งสิ้น และเป็นสิ่งที่ไม่บังควร ซึ่งทางแกนนำนปช. ก็พยายามที่จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาสร้างความสับสนให้กับสังคม บิดเบือนข้อเท็จจริง มุ่งที่จะโจมตีไปยังท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ หรือหลายคนอาจจะมีความคิดว่า มีวัตถุประสงค์อื่นใดที่สูงไปกว่านี้ สังคมก็จะต้องพิจารณากัน

ต่อมาเวลา 20.10 น. พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด ได้นำแผนผังเครือข่ายขบวนการล้มเจ้ามาแจกจ่ายสื่อมวลชนด้วย ทั้งนี้ พ.อ.สรรเสริญเปิดเผยว่า เอกสารที่แจกจ่ายให้สื่อมวลชน เป็นเอกสารบทวิเคราะห์ของ ศอฉ.เกี่ยวกับการจาบจ้วงสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของคนไทย หลายคนมีคดีความชัดเจนแล้ว บางส่วนเป็นผู้ต้องสงสัย ไม่ได้หมายความว่า ศอฉ.จะกล่าวให้ร้ายท่านหนึ่งท่านใด เป็นเพียงบทวิเคราะห์ได้พิจารณากัน

หลังจากนั้นเวลา 20.20 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เปิดเผยว่ามีโครงข่ายขบวนการล้มสถาบันว่า สิ่งที่จะต้องทำขณะนี้มีสองอย่างคือ การสร้างให้เกิดความเข้าใจในหมู่ประชาชนว่ากำลังมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น และการทำงานในการที่จะดำเนินการตามกฎหมายก็จะต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งเมื่อมีโครงข่ายเชื่อมโยงก็จะต้องสามารถหาให้ครบถ้วน

“ความจริงแล้วการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มีมาโดยตลอดตามสื่อต่างๆ แต่ความเชื่อมโยงต่างๆ ในขณะนี้ทาง ศอฉ.ได้เห็นภาพที่เป็นเครือข่ายชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็ต้องดำเนินการต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว

 

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ที่ตั้งด่านตามเส้นทางการจราจรตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสกัดการเดินทางของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ว่า ภาพรวมของสถานการณ์ทั้งหมดในหนึ่งถึงสองวันที่ผ่านมา ได้เห็นการเคลื่อนไหวของทางกลุ่มนปช.ในหลายพื้นที่ เป็นผลโดยตรงมาจากการที่แกนนำและเวทีเน้นย้ำว่า จะมีการสลายการชุมนุม ซึ่งตนคิดว่าตรงนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหว และเป็นสิ่งที่ตนและคณะทำงานในขณะนี้ได้ย้ำมาโดยตลอดว่า เราต้องสามารถที่จะรองรับการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ได้ (ดู “ศอฉ. สลายการชุมนุมกลุ่มนปช. ที่สร้างความเดือดร้อน ขัดขวางการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่,”ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 26 เม.ย.53 ; ดู “มาร์ครับเครือข่ายล้มสถาบันเคลื่อนไหวตลอด ช่วงนี้เห็นภาพมากขึ้น ศอฉ.แจกแผนผังขบวนการล้มเจ้า,” มติชนออนไลน์, 26 เม.ย.53 ; ดู “ศอฉ.ตีแผ่ขบวนการล้มเจ้า เผยบุคคลใกล้ชิด-บริวารแม้วคิดร้ายสถาบัน,” ผู้จัดการออนไลน์, 26 เม.ย.53 ; ดู “สรรเสริญอัดเสื้อแดงทำตามกันเป็นลัทธิ ยกระดับสู่การก่อการร้าย-มุ่งโจมตีสถาบัน,” ประชาไท, 27 เม.ย.53

ครม. เศรษฐกิจเห็นชอบแนวทางการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมที่พื้นที่ราช ประสงค์และสะพานผ่านฟ้า โดยเฉพาะ 1) การช่วยเหลือสภาพคล่อง 2) ช่วยเหลือพนักงานลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพราะการ ชุมนุม 3) ช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย

ตำรวจและทหารสลายการชุมนุมม็อบ นปช. ปทุมธานี และ ศอฉ. ประกาศสลายการชุมนุมทุกที่ที่ปิดถนน

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เกิดเหตุปาระเบิดชนิด เค 75 (แต่ไม่ได้ปลดเซฟ) ที่หน้าโชว์รูมรถเบนซ์คาร์แม๊ค ถนนพระราม 9 ซอย 22

กลุ่มเสื้อหลากสี ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เรียกร้องความสงบกลับคืนสู่สังคม และคัดค้านการยุบสภา

กลุ่มเสื้อหลากสี จ.ชลบุรี รวมตัวกันร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี และตั้งเวทีปราศรัยทางด้านซ้ายของประตูเมืองพัทยา

กลุ่มสภาประชาชน 4 ภาค ชุมนุมที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เรียกร้องให้จัดการกับเสื้อแดง และคัดค้านการยุบสภา

กลุ่มเสื้อหลากสีอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ร่วมรณรงค์เดินถือธงชาติไทย ร้องเพลงชาติไทย รอบตลาดเมืองอรัญประเทศ คัดค้านการยุบสภา

กลุ่มศิษย์เก่าและปัจจุบันของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช รวมตัวกันที่หน้าประตูโรงเรียน ขับไล่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ออกจากสายสัมพันธ์ เลือดขาว-แดง (ขาว-แดงเป็นสีของโรงเรียน)

เครือข่ายคนพังงาปกป้องชาติและราชบัลลังค์ เดินขบวนในเขตเทศบาล เพื่อแสดงพลังสนับสนุนรัฐบาล และต่อต้านคนเสื้อแดง

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 27 เม.ย.53

 

<<< Back                                                                                                                                                                                 Next>>>

 

บันทึกไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ(ยศเดิมพลทหาร)

นอกเหนือ

ไต่สวนชันสูตรพลิกศพร้อยตรีณรงค์ฤทธิ์ สาละ

คดีหมายเลขดำที่ : อช.4/2555 วันที่ฟ้อง : ไม่ทราบ

คดีหมายเลขแดงที่ : ไม่ทราบ วันที่ออกแดง : ไม่ทราบ

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 สำนักงานอัยการสูงสุด

ผู้เสียชีวิต : ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ

คดี : ชันสูตรพลิกศพ
 

นัดไต่สวนคำร้องวันที่ 19 มีนาคม 2555[2]

ศาลเลื่อนนัดโดยให้เหตุผลว่าการประกาศวันนัดพร้อมยังไม่ครบ 15 วันตามกฎหมายและยังขาดรายละเอียดพยานบุคคลจำนวน 55 ปากที่ผู้ร้องได้แจ้งไว้ และให้ผู้ร้องจัดทำบัญชีที่ระบุรายละเอียดของพยานบุคคลให้ศาลพิจารณาเพื่อจัดกลุ่มพยานที่มีจำนวนมากก่อนเข้าสู่กระบวนการไต่สวน และเลื่อนวันนัดพร้อมไปเป็นวันที่ 18 มิ.ย. 55

 

นัดพร้อมวันที่ 18 มิถุนายน 2555[3]

ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้นำพยานฝ่ายผู้ร้องเข้าเบิกความไต่สวนจำนวน 37 ปาก ใช้เวลา 10 นัด และให้ฝ่ายผู้เสียหายนำพยานเข้าเบิกความรวม 9 ปาก ใช้เวลา 5 นัดครั้งแรกในวันที่ 14 ก.พ.56

 

นัดสืบพยานวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556[4]

            พยาน

  1. นายธวัชชัย สาละ พ่อร.ต.ณรงค์ฤทธิ์
  2. นายชัยพร คำทองทิพย์ รับจ้าง
  3. นายไพโรจน์ ไชยพรม  ว่างงาน

ในวันนี้นายธวัชชัย สาละ ซึ่งเป็นพ่อของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ยื่นคำร้องขอถอนการแต่งตั้งทนายเจษฏา จันทร์ดีและนายพีระ ลิ้มเจริญ โดยเขาอ้างว่าไม่รู้จักทนายทั้งสองมาก่อน และเขาขอให้ศาลถอนตัวเขาเองออกจากการเป็นผู้ร้องร่วมโดยให้เหตุผลว่าเขาไม่ติดใจแล้วว่าใครเป็นผู้ทำให้ลูกชายเสียชีวิต ไม่คิดจะดำเนินคดีอาญาและแพ่งอีก เพราะตัวเขาเองพักอาศัยอยู่ไกลเดินทางเพื่อร่วมรับฟังการพิจารณาคดีลำบาก  แต่ทางฝ่ายทนายได้ให้ข่าวว่ามีการติดต่อทางโทรศัพท์กับนายธวัชชัยตลอดแต่เป็นการติดต่อผ่านผู้ช่วยทนาย

พยานปากแรกนายธวัชชัย สาละ เบิกความว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เป็นลูกชายคนโต วันที่ 3 พ.ย.52 ได้รับการคัดเลือกเข้ารับราชการทหารที่อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ แล้วถูกย้ายไปค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี  ก่อนหน้าวันเกิดเหตุมีการติดต่อกับลูกชายตลอด แต่ในวันเกิดเหตุเขาไม่ทราบลูกของตนถูกย้ายเข้าประจำการไปในกรุงเทพฯ

นายธวัชชัยเล่าถึงวันเกิดเหตุว่า ในวันที่ 28 เม.ย. 53 เวลาประมาณ 15.00-16.00 น. ขณะที่เขาอยู่ในบ้าน น้องสาวของภรรยาโทรศัพท์แจ้งว่าลูกชายของเขาถูกยิงเสียชีวิตที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ หลังจากนั้น 2 วันเขาจึงเดินทางไปที่วัดพระศรีมหาธาตุเพื่อร่วมงานฌาปนกิจ ต่อมาทหารได้นำศพของลูกชายกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดแถวบ้านของครอบครัวทางเครื่องบิน

ทางครอบครัวได้รับเงินเยียวยาจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. จำนวน 100,000 บาท ในงานศพ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 200,000 บาท กองพลทหารราบที่ 9 มอบเงินช่วยเหลือเป็นรยเดือนให้เขาและภรรยาคนละ 6,300 บาท ไปตลอดชีวิต และได้ให้ทุนการศึกษาเดือนละ 10,000 บาท แก่ลูกสาวซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และสัญญาว่าจะให้เข้ารับราชการในตำแหน่งร้อยตรีด้วย และเขากล่าวด้วยว่าเขาไม่ทราบว่าใครเป้นคนสังหารลูกชาย แต่เขาก็ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีใดๆ ต่อผู้กระทำ

พยานปากที่สองนายชัยพร คำทองทิพย์ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย.53 ทำงานเป็นช่างเชื่อมโลหะอยู่ในร้านจำหน่ายมุ้งลวดแห่งหนึ่งแถวถนนปรีดี พนมยงค์ โดยทำงานที่นี่ได้เพียง 7-8 วันเท่านั้น ช่วงเช้าพี่สาวของเขาโทรศัพท์สั่งให้ไปดูแม่ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุม เขาจึงซ้อนจักรยานยนต์ของเพื่อนซึ่งทำงานอยู่ในร้านข้างๆ ไปที่สี่แยกราชประสงค์ 8.00 น. เมื่อถึงแล้วจึงเดินตามหาแม่แต่ก็ไม่พบ พบเพียงเพื่อนบ้านของแม่จึงได้สอบถาม  แต่ก็ไม่มีคนเห็นแม่ของเขา จน นปช. เคลื่อนขบวนออกจากสี่แยกราชประสงค์ เขาจึงร่วมขบวนไปด้วยโดยอาศัยรถกระบะของผู้ชุมนุม

11.00 น. ขบวนผู้ชุมนุมเดินทางไปทางถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก  เมื่อนั่งรถกระบะมาถึงปั๊มก๊าซแห่งหนึ่งไม่สามารถเคลื่อนขบวนต่อไปได้เนื่องจากตำรวจและทหารตั้งบังเกอร์ แผงเหล็ก และรั้วลวดหนามขวางถนนเอาไว้ จึงลงจากรถดูเหตุการณ์อยู่บนฟุตปาธหน้าปั๊มก๊าซ ซึ่งตอนนั้นเจ้าหน้าที่ได้ใช้ บังเกอร์ แผงเหล็ก และรั้วลวดหนามขวางถนนเฉพาะฝั่งขาออกเท่านั้น ไม่มีการกั้นฝั่งขาเข้า และเขาสังเกตเห็นอีกว่าตำรวจยืนเรียงแถวอยู่ด้านหน้าของบังเกอร์  โดยมีเพียงโล่ กระบองเท่านั้นแต่ทหารยืนอยู่หลังบังเกอร์โดยมีอาวุธหลายชนิด เช่น ปืนลูกซองยาวและ M16  ต่อมามีการตะโกนด่าทอจากทั้ง 2 ฝ่าย ฝั่งผู้ชุมนุมมีการยิงหนังสติ๊ก ขว้างปาสิ่งของ และก้อนหินใส่ตำรวจ ทหาร ต่อมาเขาได้ยินเสียงปืนมาจากฝั่งตำรวจ ทหาร และเห็นทหารยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม  มีบางคนถูกยิงเข้าที่ไหล่และแขนจนเป็นรอยช้ำ  จึงคิดว่าถูกยิงด้วยกระสุนยาง  ต่อมาทหารกระจายกำลังโอบล้อมผู้ชุมนุม  ช่วงนั้นมีเสียงปืนดังอยู่ตลอดเวลา บางครั้งได้ยินเป็นชุด และเห็นทหารอยู่บนสะพานลอยและสะพานขึ้นทางยกระดับดอนเมือง บนสะพานมีแผ่นป้ายโฆษณาปิดอยู่บนรั้ว เห็นทหาร 2-3 นาย นอนราบกับพื้นและเล็งปืน M16 มาที่ผู้ชุมนุม

ช่วงบ่ายมีผู้หญิงถูกยิงที่ขาซ้ายจนเลือดไหล  เขาจึงวิ่งเข้าไปช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาล ต่อมามีผู้ชายถูกยิงที่แขนจนเลือดออกบนเกาะกลางถนนจึงวิ่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ชายคนนั้นอีกแต่เขาถูกยิงเข้าที่กรามด้านขวาเขารู้สึกชา  แต่ไม่มีเลือดไหล เห็นทหารสวมชุดพรางผ้าพันคอสีฟ้า และถือปืนลูกซอง  หลายคนยืนอยู่ฝั่งทหาร ตำรวจ ซึ่งห่างจากจุดที่เขาอยู่ประมาณ 20 เมตร  ในตอนนั้นเสียงดังมาจากทุกทิศทาง และเห็นผู้ชุมนุมซึ่งอยู่ด้านหลังขว้างปาสิ่งของ  จากนั้นแผลที่กรามของเขาเริ่มมีเลือดไหลออกมาจึงวิ่งไปที่รถมูลนิธิซึ่งจอดอยู่ในบริเวณนั้นเขาจึงได้ถูกนำส่งโรงพยาบาลภูมิพลเพื่อทำการรักษาเมื่อแพทย์ตรวจบาดแผลจึงบอกว่ากระดูกขากรรไกรหัก และไม่สามารถผ่าตัดเอากระสุนออกได้เนื่องจากกระสุนเหล่านี้อยู่ใกล้กับเส้นประสาทต้องพักรักษาที่โรงพยาบาล 6 วัน ก่อนถูกส่งตัวกลับไปรักษาตัวที่บ้านพักใน จ.ขอนแก่น ทุกวันนี้ยังมีกระสุนฝังอยู่ที่กราม 1 นัด และที่คออีก 1 นัด

เขาได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์เป็นจำนวน 60,000 บาท  สำนักพระราชวัง 5,000 บาท ส่วนการเสียชีวิตของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เขาไม่ทราบว่าใครยิงเพราะเวลานั้นเขาถูกนำส่งโรงพยาบาล

พยานปากที่สามนายไพโรจน์ ไชยพรมเบิกความว่าก่อนวันที่ 28 เม.ย.53 เขาทำงานเป้นลูกจ้างร้านข้าวแกงแถวถนนสีลมและเคยเข้าร่วมชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์และถนนสีลม ในวันที่ 28 เม.ย. เขาเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่เช้าโดยขึ้นรถกระบะของผู้ชุมนุมเดินทางไปถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ถูกตำรวจ ทหารสกัดอยู่เมื่อถึงที่เกิดเหตุเห็นทหารสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่าน และมีการปะทะกัน เขาจึงลงจากรถกระบะเพื่อดูเหตุการณ์ ทหารใส่ชุดลายพราง และมีผ้าพันคอแต่ไม่แน่ใจว่าสีอะไรและไม่แน่ใจว่ามีตำรวจอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยหรือไม่ เนื่องจากขณะนั้นเกิดความชุลมุนนอกจากนี้ยังเห็นผู้ชุมนุมขว้างปาก้อนหินใส่ทหารและเห็นทหารยิงปืนลูกซองใส่ผู้ชุมนุม  มีผู้ชุมนุมถูกยิงที่แขนบนเกาะกลางถนนจนเลือดไหล เขาจึงวิ่งเข้าไปช่วยแต่ก็ถูกยิงสกัดจากทหาร  ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนหลายนัดจึงวิ่งหลบเสาตอม่อทางยกระดับดอนเมืองไม่กี่นาทีต่อมาเขาถูกยิงเข้าที่ขาซ้ายจนล้มลงกับพื้น โดยยิงมาจากฝั่งทหาร แต่ไม่เห็นหน้าผู้ยิงระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมพยายามจะเข้ามาช่วย แต่ถูกยิงสกัดไว้จนไม่สามารถเข้ามาได้เขาจึงแข็งใจลุกขึ้นเองโดยหันหลังให้กับฝั่งทหารและพยายามวิ่งหลบออกมา  แต่เขาก็ถูกยิงซ้ำจากด้านหลังทะลุท้องจนล้มลงอีกครั้งระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมเข้ามาช่วยเหลืออุ้มเขาออกจากที่เกิดเหตุก่อนที่เขาจะหมดสติ

เมื่อฟื้นขึ้นมาเขาอยู่ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลภูมิพลไม่ทราบว่าสลบไปกี่วัน  แพทย์ได้ผ่าตัดเอากระสุนออกจากบาดแผลทำให้มีแผลเป็นปัจจุบันบางครั้งยังเจ็บที่แผลเป็น  แม้จะสามารถเดินได้แต่ไม่สามารถทำงานหนักได้  ต่อมาได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จำนวน 60,000 บาท อย่างไรก็ตามยังประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับคนยิง

 

นัดสืบพยานวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556[5]

            พยาน

  1. นายพร้อม ดาทอง
  2. นายวิชาญ วางตาล ขับรถแท็กซี่
  3. น.ส.ระจิตร จันทะมั่น คนงานโรงงานย่านอุดมสุข
  4. นายวสุรัตน์ ประมวล ลูกจ้างประจำ ผู้ช่วยช่าง สำนักงานระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

พยานปากแรกนายพร้อม ดาทองเบิกความสรุปว่า เวลา 11.00 น. ของวันที่ 28 เม.ย. 53 เขาเดินทางไปสนามกีฬาธูปะเตมีย์ เพื่อดูสนามสอบทหารชั้นสัญญาบัตรที่จะจัดสอบในวันรุ่งขึ้น เมื่อเสร็จแล้วได้ขับจักรยานยนต์กลับบ้านโดยใช้ถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก  เมื่อมาถึงอนุสรณ์สถานเห็นกลุ่มเสื้อแดชุมนุมอยู่จำนวนมากจึงจอดจักรยานยนต์ดูเหตุการณ์  สักพักคนเสื้อแดงทยอยถอยหลังและได้ยินเสียงปืน  และเห็นปลอกกระสุนลูกซองหล่นอยู่หน้าผู้ชุมนุมเสื้อแดง  มีหนึ่งในผู้ชุมนุมบอกว่าเป็นกระสุนยาง  ต่อมามีผู้ชุมนุมล้มลงและมีเลือดไหลออกบริเวณท้อง  จึงเข้าไปช่วยเหลือโดยลากหลบกระสุนไปที่บริเวณตอม่อ  ส่วนเขาถูกยิงข้อมือซ้ายทะลุ  ช่วงหลบกระสุนเห็นทหารถือปืนออกจากข้างทาง  แต่ไม่รู้ว่าใครยิง  หลังเกิดเหตุได้เงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประมาณ 700,000 บาท จึงไม่คิดดำเนินคดีอาญาและแพ่งกับผู้ก่อเหตุ

พยานปากที่สองนายวิชาญ วางตาลเบิกความว่า  วันที่ 28 เม.ย. 53 เวลา 14.00 น. เขาขับแท็กซี่จากบ้านที่ย่านคูคตไปที่อู่ย่านรัชดาฯ โดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดี  เลนคู่ขนานขาเข้า ผ่านอนุสรณ์สถานแห่งชาติเจอกลุ่มเสื้อแดงเต็มช่องทางขาเข้าและขาออก  จึงลงจากรถมาดูเหตุการณ์เห็นคนเสื้อแดงปาก้อนหิน หนังสติ๊ก ไม้ บางคนโยนผักผลไม้มาจากโทลล์เวย์ใส่ทหาร   จากนั้นทหารยิงปืนรัวเป็นชุด  ขณะนั้นท้องฟ้ามืดครึ้มและมีฝนตกหนักด้วย  เขาจึงวิ่งไปหลบหลังเสาโทลล์เวย์โดยที่เขาหันหน้าไปทางทหาร หน้าอกซ้ายแนบเสาอยู่ มีกระสุนยิงมาโดนที่หน้าอกขวาและไหล่ขวา  เข้าใจว่ากระสุนมาจากกลุ่มทหาร หลังถูกยิงล้มลงได้มีคนช่วยนำตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่ากระสุนทะลุปอด ส่วนกระสุนที่เข้าไหล่ขวาทำให้กระดูกแตกและฝังใกล้กับเส้นประสาทแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดเอาออกมาได้  หากผ่าตัดอาจทำให้แขนใช้การไม่ได้

เขาไม่เห็นเหตุการณ์ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง  คดีนี้หากหาคนที่ยิงเขาได้ก็ไม่คิดดำเนินคดีอาญาและแพ่งกับผู้ก่อเหตุเนื่องจากได้รับเงินเยียวยาทั้งจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และน.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมกันเกือบ 700,000 แสนบาทและคดีล่วงเลยมานานกว่า 2 ปีแล้ว

เขาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังเบิกความเสร็จแล้วว่าเขาไม่ได้ร่วมชุมนุมแต่กลับถูกยิงด้วย หลังจากถูกยิงไม่สามารถทำงานได้ถึง 3 เดือน  และปัจจุบันก็ยังทำงานไม่สะดวกเนื่องจากกระสุนที่ฝังอยู่ที่หัวไหล่ยังขัดอยู่

พยานปากที่สามน.ส.ระจิตร จันทะมั่น เบิกความว่าคนรักของเธอติดตามการชุมนุมของ นปช. และได้ชักชวนเธอไปดูการชุมนุมที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ 10 กว่าวันก่อนเกิดเหตุ  ในวันที่ 28 เม.ย.53 เธออยู่ที่ราชประสงค์ ราว 10 โมงเช้า มีการประกาศว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณตลาดไทถูกทหารทำร้าย จึงมี นปช.จากตลาดไทชวนไปเยี่ยมมีการจัดรถยนต์หลายคันไป  เธอจึงร่วมเดินทางไปด้วย

ที่เกิดเหตุคือถนนวภาวดีรังสิตฝั่งขาออกมุ่งหน้าไปตลาดไท  มีเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจผู้ชุมนุมอยู่  จากนั้นเธอได้รับแจ้งจากผู้ชุมนุมที่เดินทางมาถึงก่อนหน้าเธอว่าไม่สามารถไปต่อได้แล้วเนื่องจากมีทหารมาสกัด  เธอจึงลงจากรถที่บริเวณปั๊มแก๊สร้างและพักอยู่ในบริเวณนั้นโดยมีผู้ชุมนุมก็เข้ามาด้วย  เธอเห็นทหารนำลวดขวางไว้และมีทหารที่ถือโล่ด้วย  และถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้าก็มีทหารอยู่แต่ไม่ได้สังเกตว่าถืออาวุธปืนไว้หรือไม่  ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณปั๊มส่วนหนึ่งตัดสินใจไม่เคลื่อนต่อ แต่เธอและผู้ชุมนุมอีกส่วนพยายามไปข้างหน้าต่อโดยหมอบไปด้วย  เมื่อเดินไปสักพักมีทหารยิงสวนมาเป็นชุดตลอดเพื่อสกัดไม่ให้ไปต่อ  เธอยินยันว่าทหารยิงมาโดยเป็นลักษณะของการยิงสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนที่แต่ไม่ทราบว่าปืนที่ใช้นั้นเป็นชนิดใด  เธอยังคงพยายามเดินต่อไปข้างหน้าจนห่างจากปั๊มมาราว 100 เมตร เธอถูกยิงเข้าที่บริเวณหน้าแข้งขวา  ไม่ทราบว่าใครยิงแต่รู้ว่ามาจากทางฝั่งทหารเพราะขณะนั้นหันหน้าไปทางแนวทหาร และกระสุนมาตามแนวนั้น  เธอยังได้เห็นผู้ชายถูกยิงที่ท้องมีเลือดไหลและมีรอยไหม้ด้วยแต่ไม่ทะลุเข้าใจว่าเป็นกระสุนยาง

เธอเบิกความต่อว่าขณะที่เธอถูกยิงนั้นฝนกำลังตกหนัก  มีผู้ชุมนุมเห็นเหตุการณ์จึงได้เรียกผู้ที่ขับจักรยานยนต์ผ่านเข้ามารับตัวไปส่งโรงพยาบาล  แต่ไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้า  แต่ในที่สุดก็สามารถนำตัวเธอไปส่งรถพยาบาลของโรงพยาบาลภูมิพลได้ในเวลาเกือบ 1 ทุ่ม  เนื่องจากต้องใช้เวลาในการโทรศัพท์ติดต่อนานมาก  แพทย์ได้เอ็กซเรย์และได้ผ่าตัดเอากระสุนออก ลักษณะกระสุนเป็นตะกั่วกลมๆ น่าจะเป็นกระสุนลูกปราย  เธอพยายามขอกระสุนจากแพทย์เพื่อนำไปใช้แจ้งความแต่แพทย์ปฏิเสธโดยแจ้งว่าอยู่ในช่วงเหตุการณ์แบบนี้ให้ไม่ได้

น.ส.ระจิตรได้รับการช่วยเหลือจากบ้านราชวิถี สำนักพระราชวัง และองค์กรอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 70,000 บาท  เธอเคยให้การกับพนักงานสอบสวน สน.พญาไท และพนักงานสอบสวนของ DSI ด้วยในคดีนี้ แต่เธอไม่ได้เห็นเหตุการณ์

พยานปากที่สี่นายวสุรัตน์ ประมวล เบิกความว่าเขาถูกยิงเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 28 เม.ย.53  ก่อนที่เขาจะถูกยิงเขาตั้งใจจะไปซื้อที่อยู่อาศัยที่รังสิตจึงขับจักรยานยนต์มุ่งหน้าไปทางวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก  เมื่อถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  ในเวลาประมาณ 15.00 น. จึงพบว่ามีการเดินขบวนของ นปช. แต่ถนนยังใช้สัญจรได้อยู่   เมื่อเขาเห็นกลุ่มทหารตั้งแนวสกัดผู้ชุมนุมที่จะมุ่งหน้าไปทางรังสิตเขาจึงหยุดอยู่ที่ปั๊มแก๊ส  เขาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นโดยที่ไม่ทราบทิศทางของเสียงทำให้ขบวนรถของผู้ชุมนุมไม่สามารถไปต่อได้  เขาจึงลงไปหลบที่ปั๊มเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยและย้ายไปหลบที่ทางเข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืนเป็นระยะหลายนัดต่อเนื่องจากฝั่งทหาร  จากนั้นเขาเขารู้สึกว่าลำตัวเหมือนโดนของแข็งกระทบจนหงายหลังล้มลง เขาพยายามลุกยืนแต่ไม่สามารถลุกขึ้นได้ มีเลือดไหลออกที่บริเวณหัวเขาจึงดึงกางเกงดูและพบว่าถูกยิง  ขณะที่เขาถูกยิงนั้นกำลังเดินเรียบไปทางประตูเหล็ก  วิถีกระสุนน่าจะมาจากทางด้านหน้าที่มีทหารอยู่ห่างออกไปประมาณ 100-150 เมตร  โดยทหารถือปืนยาวที่มลักษณะแบนทุกคน  เวลาในตอนนั้นประมาณ 15.00 น. ขณะนั้นฝนยังไม่ตกแต่ลมกรรโชกแรง

นายวสุรัตน์เบิกความต่อว่า  เห็นทหารถือปืนอยู่ด้านหน้าแต่ไม่ได้เห็นตอนยิงรู้ตัวอีกทีก็ล้มแล้ว  แต่ที่เขารู้ว่ามาจากทางทหารเนื่องจากตัวเขากระเด็นไปด้านหลัง  หลังถูกยิงพยานไม่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ  แพทย์โรงพยาบาลภูมิพลได้ให้ความเห็นเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่ากระสุนที่ยิงเป็นกระสุนลูกปราย  เขาไม่เห็นร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ขณะที่ถูกยิงและไม่ทราบหรือรู้ว่าตาย  แต่เขาทราบจากข่าวในวันรุ่งขึ้น  ขได้รับเงินเยียวยาจาก สำนักพระราชวัง 6,000 บาท จากกระทรวงพัฒนาสังคม 60,000 บาท  และได้แจ้งความไว้กับ สน.ดอนเมืองแล้ว

น.ส.ระจิตร  และนายวสุรัตน์  เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ทั้งคู่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลนี้ ทั้งๆ ที่พยายามติดตามความคืบหน้าหลายครั้งแล้ว

 

นัดสืบพยานวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

            พยาน

  1. นายวิโรจน์ โกสถา  รับจ้าง
  2. นายคมกฤต นันทน์ธนโชติ  รับจ้าง

วันนี้พยานทั้งหมด 4 ปาก แต่อัยการแจ้งว่าพยานอีก 2 ปาก ไม่สามารถตามมาให้การได้เนื่องจากต้องเดินทางจากต่างจังหวัด  แต่ยังไม่ได้มีการตัดพยาน  แต่อาจจะให้มีการสืบพยานในศาลจังหวัดที่พยานอาศัยอยู่หลังมีการสืบพยานในกรุงเทพฯเสร็จแล้ว

พยานปากแรกนายวิโรจน์ โกสถา เบิกความว่าเขาเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม โดยวันเกิดเหตุ 28 เม.ย.53 เขาอยู่ที่ราชประสงค์จากนั้นแกนนำได้เรียกรวมเพื่อที่จะไปรับผู้ชุมนุมซึ่งถูกทหารสกัดอยู่ที่ตลาดไทมาที่ราชประสงค์ โดยออกจากราชประสงค์ 9.30 น. เขาขึ้นรถกระบะไปโดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดี ฝั่งขาออก เมื่อไปถึงมีทหารตั้งแถวหน้ากระดาน เมื่อถึงบริเวณปั๊มแก๊สใกล้กับอนุสรณ์สถานแห่งชาติเขาจอดรถเอาไว้ที่บริเวณทางขึ้นโทลล์เวย์

จากนั้นแกนนำเดินเข้าไปเจรจากับทหารขอทหารให้เปิดทางให้ผู้ชุมนุมเดินทางจากตลาดไทเข้ามาได้ซึ่งเขาได้ตามแกนนำไปด้วย  แต่แกนนำเจรจาไม่สำเร็จ จึงเดินกลับกันออกมา เดินออกมาได้ราว 3 นาทีก็มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดต่อเนื่องราว 3 นาที เขาหันกลับไปดูเห็นทหารกำลังประทับปืนเล็ง M16 เตรียมยิงมากกว่า 10 คน ตลอดแนวทหาร   โดยขณะนั้นเขาอยู่ห่างจากแนวทหารราว 200 เมตร  จากนั้นเขากับเพื่อนที่มาด้วยกันหลบเข้าที่กำบัง และเห็นทหารบนโทลล์เวย์ด้วยราว 5-6 คน  ประทับปืน M16 เล็งอยู่ ขณะนั้นฟ้าครึ้มแต่ฝนยังไม่ตกยังมองเห็นได้ และที่เขาทราบว่าทหารใช้ปืน M16 เนื่องจากเขาเคยเป็นนาวิกโยธินมาก่อน เขาเห็นแค่ M16 เพียงอย่างเดียว

เขาเห็นนายไพโรจน์(ไม่ทราบนามสกุล) ถูกยิงฝั่งถนนฝั่งขาเข้าเขาก็ล้มนั่งลงไป  และเพื่อนของเขาชื่อเจ(ไม่ทราบชื่อจริง) ถูกยิงเข้าที่ต้นคอบนฟุตปาธบนเกาะกลางระหว่างถนนฝั่งขาเข้ากับขาออก โดยเจอยู่ห่างจากเขาราว 5-10 เมตร  ส่วนไพโรจน์ห่างราว 20-30 เมตร เขาจึงเข้าไปช่วยนายเจแล้วพยายามลากออกมา ขณะที่ช่วยเขาก็ต้องหมอบหลบด้วย  จากนั้นได้มีเพื่อนเข้ามาเขาได้ส่งนายเจให้เพื่อนรับไป ซึ่งระหว่างนี้เขาก็ถูกยิงเข้าที่ต้นขาขวาด้านหลังทะลุต้นขาด้านหน้าซึ่งตอนที่เขาถูกยิงนั้นเขายังอยู่ถนนฝั่งวิภาวดีขาออกหันหน้าไปฝั่งขาเข้า แนวจะอยู่ทางด้านซ้ายของเขา เมื่อถูกยิงเขาพยายาจะหลบแต่ก้าวไปได้เพียง 2 ก้าวก็ล้มลงที่ตอม่อโทลล์เวย์จากนั้นมีผู้ชุมนุมเข้ามาช่วยไปส่งที่รถแต่เขาไม่ทราบว่าเป็นรถของหน่วยงานใด เขาถูกพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลภูมิพล

เขามั่นใจว่ากระสุนมาจากทางทหารเพราะเห็นทหารประทับปืนเล็งมาและปากกระบอกมีไฟแล่บออกมา แต่ไม่เห็นว่าเป้นทหารนายใดที่ยิงตนเอง และเขาคิดว่าเขาถูกยิงจากปืน M16 เพราะกระสุนทะลุต้นขาออกไป เพราะถ้าเป็นกระสุนปืนลูกซองจะไม่ทะลุ  เขารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 6 วัน เขาไม่ทราบเรื่องร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละถูกยิง จนกระทั่งทราบจากข่าวในภายหลัง ในวันนั้นทั้งเขาไม่มีอาวุธและไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ กลุ่มของเขาที่ไปด้วยกันไม่ได้มีการขว้างปาสิ่งของและไม่มีการทะเลาะกับทหาร เมื่อการเจรจาของแกนนำจบลงราว 3 นาที ทหารก็เริ่มยิง เมื่อมีการยิงก็ไม่ได้มีการตอบโต้หลบอย่างเดียว

เขาได้รับเงินเยียวยา จากกระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ 60,000 บาท และจากสำนักพระราชวัง 2,000 บาท และเขาแจ้งความที่สน.ดอนเมือง

พยานปากที่สองนายคมกฤต  นันทน์ธนโชติ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย.53 ตอนเช้าประมาณ 7 เกือบ 8 โมง เขาออกจากบ้านที่ตลาดไทกับภรรยาด้วยรถฟอร์ด เรนเจอร์ 4 ประตู ตั้งจะไปไหว้พระพรหมที่ราชประสงค์ โดยจะไปซื้อบายศรีที่ปากคลองตลาดก่อนโดยแวะปล่อยปลาที่คลองประปาก่อนโดยขับรถไปทางวิภาวดีขาเข้า แต่เมื่อปล่อยปลาก็ไม่ได้ไปต่อแล้วขับรถกลับมาทางวิภาวดีขาออก แต่เขาจะแวะซื้อน้ำมันที่ร้านประภาภรณ์  เมื่อไปเกือบจะถึงปั๊มแก๊สซึ่งอยู่ใกล้กับอนุสรณ์สถานแห่งชาติรถติดอยู่เลนกลางและเห็น่ว่าข้างหน้ามีผู้ชุมนุมอยู่กระจายกันทั้งบนถนนและบนรถตอนนั้นมีรถอยู่หนาแน่น  เขาจึงพยายามเบียงรถเข้าซ้ายเพื่อเข้าร้านประภาภรณ์แต่ว่ามีรถคอนเทนเนอร์จอดขวางหน้าร้านอยู่จึงเข้าไม่ได้ จึงตัดสินใจกลับบ้านโดยจะขึ้นทางด่วนกลับบ้าน

ก่อนขึ้นข้างหน้ารถเขามีรถกระบะจอดอยู๋เขาจึงต้องหักหลบออกทางขวาจึงเห็นทหารยู่ตลอดแนวอยู่ที่ประตูอนุสรณ์สถาน บนถนนฝั่งขาเข้า  เมื่อขึ้นไปบนทางขึ้นทางด่วนได้เล็กน้อยเขาก็ถูกยิงจากทางด้านขวากระสุนได้ถูกแขนขวาของเขา  เมื่อเขาถูกยิงเขาจึงหยุดรถและหันไปมองทางขวาลอดช่องใต้ทางด่วนเห็นทหารอยู่บนอนุสรณ์สถานเห็นทหาร 5 นาย มี 3 นาย ที่เล็งปืนมาทางเขา  มีกระสุนอีกนัดทะลุกระจกรถผ่านหน้าเขาไปและมีเศษกระสุนแตกมาโดนที่แก้มขวา ทะลุใบหูขวา และท้ายทอยด้านหลังหูขวามีเศษโลหะฝังอยู่ด้วย ส่วนกระสุนที่ยิงเข้ามาได้ไปฝังอยู่ที่ราวจับฝั่งที่นั่งข้างคนขับ  และเศษกระจกที่แตกกระเด็นใส่ตาของเขา หลังจากถูกยิงนัดที่สอง ทหารทั้ง 3 นายที่เล็งปืนมาได้ยิงต่อเนื่องมาโดนรถของเขาซึ่งภายหลังจึงทราบว่ามีกระสุนมาโดนทางด้านขวาของรถทั้งหมด 9 นัด ส่วนเศษโลหะที่ฝังอยู่ที่ท้ายทอยแพทย์ที่ทำการรักษาบอกไม่สามารถเอาออกมาได้อาจจะทำให้เกิดอันตราย  ภายหลังกระสุนที่ฝังอยู่ที่ราวจับเขาได้มอบให้แก่พนักงานสอบสวนแต่เขาไม่ทราบว่าเป็นกระสุนชนิดใดเนื่องจากกระสุนเสียรูปทรงจนแบน  ภรรยาที่นั่งมาด้วยกันไม่ได้บาดเจ็บแต่อย่างใด

เมื่อตั้งสติได้จึงขับรถต่อจนขึ้นไปบนโทลล์เวย์ได้แล้วแต่รถจอดติดอยู่จึงไม่สามารถไปต่อได้เขาจึงลงจากรถเพื่อขอความช่วยเหลือ ขณะที่กำลังเดินอยู่นั้นมีนักข่าวเดินเข้ามาหาเขาและถามถึงเหตุการณืที่เกิดขึ้นกับเขาและถ่ายรูปเขาเอาไว้ เขาเดินต่อไปเรื่อยๆ จนเจอสารวัตรทหาร  สารวัตรทหารได้บอกกับเขาว่าให้ข้ามไปโทลล์เวย์ฝั่งขาเข้า  เขาจึงเดินไปอีกฝั่งและได้เจอกับทหารแต่งกายคล้ายหน่วยคอมมานโดและได้ช่วยเขาข้ามไปอีกฝั่ง  มีรถตำรวจขับมาและรับตัวเขาไปโรงพยาบาลวิภาวดี  เขาไม่ทราบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ถูกยิงเมื่อไหร่และทราบจากข่าวในภายหลัง แต่เขาคิดว่าน่าจะถูกยิงหลังจากที่เขาถูกยิงและขึ้นทางด่วนไปแล้วเนื่องจากตอนที่เขายังไม่ได้ขับรถขึ้นทางด่วนยังฟ้ามืดครึ้มแต่ฝนยังไม่ตก จนเขาขึ้นไปได้แล้วฝนจึงเริ่มตกและตกหนักเมื่อเขาอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว ซึ่งร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงตอนที่ฝนตกไปแล้ว

เขารักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 2-3 วัน และขอออกจากโรงพยาบาลเองแม้ว่าแพทย์จะได้บอกให้เขาอยู่ต่อ  เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้เพราะมีค่ารักษาราว 100,000 บาท แต่ภายหลังพรรคเพื่อไทยออกค่ารักษาให้ เขาทราบเนื่องจากมีซองใส่เงินมาจากพรรคถึงเขาต่างหากด้วย  วันที่รุ่งขึ้นภรรยาไปแจ้งความด้วยตัวเองที่ สน.ดอนเมือง และหลังจากออกจากโรงพยาบาลเขาได้ไปแจ้งความอีกครั้ง  ในราวเดือน ต.ค.53 DSI ได้เรียกไปให้การถึงเหตุการณืที่เกิดขึ้นด้วย จากนั้นปี 54 ได้ให้ทนายทำเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายกับทางกระทรวงการคลังซึ่งจะทราบผล 12 มี.ค.56 นี้

เขาได้รับการเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ 60,000 บาท และเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาเขาได้รับเงินเยียวยา เป็นเงินจำนวน 615,000 บาท

 

นัดสืบพยานวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556[6]

             พยาน

  1. นายธีระ ปะติตัง ผู้รับเหมาก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรแกรนด์ ไอ ดีไซน์
  2. นายนิโคลัส นอสติทซ์(นิก) ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน
  3. นายประยูร อนุสิทธิ์ คนขับแท็กซี่

พยานปากแรกนายธีระ ปะติตัง เบิกความว่าเขาทำงานอยู่กับลูกน้องที่หมู่บ้านจัดสรรแกรนด์ ไอ ดีไซน์ ช่วงบ่ายเห็นผู้ชุมนุมกลุ่มนปช.เดินทางจากดอนเมืองไปทางปทุมธานีด้วยรถเครื่อง รถกระบะ และรถคันใหญ่อีก 1 คัน และมีที่เดินอยู่ด้วย แต่มีทหารและตำรวจคอยสกัดอยู่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติโดยทหารจะอยู่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก ตำรวจจะอยู่ฝั่งขาเข้า  ผู้ชุมนุมจึงถอยไปอยู่ที่ปั๊มแก๊ส ปตท. ซึ่งอยู่ฝั่งเดียวกันกับสำนักงานของเขาห่างออกไปราว 300-400 เมตร

เมื่อเกิดเหตุการณ์เขาได้สั่งให้ลูกน้องหยุดทำงาน  เขาและลูกน้องรวมถึงผู้สื่อข่าวและชาวบ้านมุงดูเหตุการณ์อยู่บริเวณสำนักงานบ้านจัดสรรอยู่ติดกับถนนวิภาวดี รังสิต ขาออก ในขณะนั้นฝนกำลังตกอยู่นานประมาณ 1 ชั่วโมง โดยระหว่างนี้มีทหารประมาณ 10 นาย เข้ามาพักหลบฝน ดื่มน้ำ และเข้าห้องน้ำในสำนักงาน  ทุกคนสวมชุดลายพราง มีผ้าพันคอจำสีไม่ได้แต่ต่างจากสีเครื่องแต่งกาย และมีปืนยาวเกือบทุกคน เมื่อฝนหยุดทหารออกไปตั้งแถวใหม่บนถนนวิภาวดีหน้าสำนักงาน แต่มีทหารบางส่วนที่ไม่ได้ไปตั้งแถวด้วย  ทหารอีก 2-3 คน  อยู่ที่ตอม่อโทลล์เวย์ช่วงด้านหน้าโครงการ ทหารทั้งหมดถืออาวุธปืนในท่าเตรียมพร้อม

จากนั้นเวลา 14.00-15.00 น. ฝนยังตกและหยุดสลับกัน ทหารยังตั้งแถวอยู่ มีการ์ดนปช.สวมชุดสีดำ มีผ้าพันคอ ขับรถจักรยานยนต์มุ่งหน้ามายังแนวทหารราว 2-3 คัน ทหารจึงใช้กระสุนยางยิงจนถอยร่นกลับไป เป็นอย่างนี้อยู่ 2-3 เที่ยว เหตุที่ทราบว่าเป็นกระสุนยาง เพราะลูกน้องเก็บได้และนำมาให้ดูซึ่งเก้บมาได้เป็นจำนวนมาก  หลังจากนั้น 30 นาที มีทหารขี่รถจักรยานยนต์ 3-4 คัน บางคันขับมาคนเดียวบางคันก็มีทหารอีกนายนั่งซ้อนมาด้วย  มุ่งหน้าจากฝั่ง นปช.ไปยังแนวทหาร และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด ก่อนเห็นจักรยานยนต์ที่ทหารขับมาล้มลง 1 คัน มีนักข่าวและทหารคนอื่นๆ เข้าไปช่วยนำตัวขึ้นรถกระบะ ทราบภายหลังว่าทหารที่ถูกยิงคือ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ขณะเกิดเหตุพยานไม่เห็นว่าใครเป็นคนยิง แต่เสียงปืนดังมาจากแนวทหาร อยู่ห่างจากสำนักงานประมาณ 10 เมตร ส่วนกลุ่ม นปช.อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุมากกว่า 100 เมตร นอกจากนี้กลุ่ม นปช.ที่เดินเท้าเข้าหาแนวทหารในช่วงแรก พยานเห็นว่ามีเพียงหนังสติ๊ก บั้งไฟและไม้ ไม่มีมีดหรืออาวุธปืน ในเหตุการณ์นี้ยังมีลูกน้องของเขาที่ทำงานด้วยกันเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชื่อนาย ไพบูลย์

เขาตอบการซักถามเพิ่มเติมของศาลด้วยว่า ไม่มีคนอื่นอยู่ในแนวทหาร จะมีแค่ที่สำนักงานของเขาและบนถนน ส่วนด้านหลังแนวทหารมีเพียงรถของผู้ชุมนุม ที่เอากลับไม่ได้จึงจอดทิ้งเอาไว้ แต่ไม่มีคนอยู่ในบริเวรนั้นแล้ว และแม้ว่าในช่วงเหตุการณ์จะมีฝนตกทั้งวันแต่ยังสามารถมองเห็นได้ชัด  และขณะที่ทหารถูกยิงก็มีฝนตกพรำๆ แต่ยังเห็นเหตุการณ์ได้ชัด  ส่วนคนที่เข้ามาหลบฝนที่สำนักงานมีทั้งทหาร และชาวบ้านทั่วไป ซึ่งบางส่วนลงจากรถประจำทางเข้ามาเนื่องจากรถผ่านไปไม่ได้ แต่ไม่มีผู้ชุมนุมเข้าไปเนื่องจากมีทหารอยู่

นายนิโคลัส นอสติทซ์เบิกความว่า วนที่ 28 เม.ย.53  เดินทางออกจากบ้าน 11 โมงด้วย จักรยานยนต์ส่วนตัวโดยไปที่ราชประสงค์ก่อนเพื่อดูเหตุการณ์ชุมนุม นปช. ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ไปประจำทุกวันเพื่อตามข่าวความเคลื่อนไหว โดยเมื่อถึงที่ชุมนุมผู้ชุมนุมได้ประกาศจะไปให้กำลังใจเสื้อแดงที่ปทุมธานีและแจกซีดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 หลังจากนั้นเขาโทรศัพท์หาแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐจึงทราบว่าจะมีเจ้าหน้าที่คอยสกัดกลุ่มนปช.ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ พยานจึงขับรถจักรยานยนต์ตามผู้ชุมนุมที่เคลื่อนขบวนด้วยรถจักรยานยนต์ รถยนต์และรถเครื่องเสียงไปทางถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก ต่อมาขับแซงไปอยู่ด้านหน้าผู้ชุมนุมเพื่อไปดักรอจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อจะทราบการปฏิบัติการ  เมื่อถึงหน้าสโมสรกองทัพบกเห็นบังเกอร์พร้อมทหาร 5-10 นาย จึงจอดดูและถ่ายภาพ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ต่อมาเวลา 13.00 น. เขาไปถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เห็นทหารและตำรวจยืนกันอยู่เป็นกลุ่ม  ทหารเกือบทุกคนตรงนั้นสวมชุดทหารลายพรางหลายคนมีการผูกผ้าพันคอสีฟ้า และมีนอกเครื่องแบบมาด้วย  แต่ยังเปิดถนนให้รถผ่านได้ เขาจึงขับรถไปจอดในซอย แล้วเดินออกมาอยู่บริเวณกลุ่มทหารเพื่อถ่ายภาพแต่มีทหารเข้ามาห้ามไม่ให้เข้าใกล้จนมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง จนมีตำรวจเข้ามาเจรจาและให้พยานเข้าไปยืนอยู่ในแนวทหาร  เห็นทั้งทหารและตำรวจมีปืนลูกซองยาว มีทั้งกระสุนยางปลอกสีแดง และกระสุนลูกปรายปลอกสีเทาขาวสะพายไหล่  ทหารหลายนายมีปืน M16 และปืน HK แต่ไม่ได้มีทุกนาย  เขาเก็บปลอกกระสุนจริงได้ในวันเกิดเหตุ และนำมาแสดงในขณะเบิกความด้วย

ต่อมาเวลา 13.30 น. ทหารปิดถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก ยืนขวางเป็นแนวหน้ากระดานและนำลวดหนามมากั้น ส่วนเลนถนนในจะเป็นทหารกับตำรวจผสมกัน ทำให้ถนนคู่ขนานขาออกรถติดมาก ส่วนฝั่งขาเข้านั้นยังไม่มีการปิดถนน ขณะนั้นพยานเดินไปมาได้ การปิดกั้นถนนได้ทำให้รถของผู้ชุมนุมผ่านไปไม่ได้ ผู้ชุมนุมจึงพยายามเดินเท้าและขับจักรยานยนตร์มาทางแนวทหาร และเกิดการปะทะกัน ผู้ชุมนุมยิงหนังสติ๊กใส่ ขณะที่ทหารก็ยิงปืนลูกซองใส่ เขาไม่ทราบว่าฝ่ายใดเริ่มก่อนเมื่อมีการปะทะ นปช. ได้วิ่งหนี ทำให้ทหารก็เดินหน้าเรื่อยๆ และก็ยิงใส่ด้วยลูกซองต่อเนื่อง จนทำให้รถบางคันที่ติดอยู่กระจกแตกเนื่องจากถูกกระสุน โดยในช่วงนั้นเห็นทหารใช้ปืน M16 และ HK ยิงขึ้นฟ้าด้วย  และจับตัวบางคนที่อยู่ใกล้แนวทหารไว้  นอกจากนั้นมี นปช. ขว้างสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่จากด้านบนโทลล์เวย์ด้วย ซึ่งที่เสาโทลล์เวย์มีทหารยิงปืนรัวใส่เสื้อแดงที่อยู่บนโทลล์เวย์ โดยพยานได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ดังกล่าวไว้  ขณะนั้นทหารที่ยิงอยู่ห่างจากเขาไปประมาณ 50 ม. ซึ่งทุกครั้งที่มีการยิง จะปรากฏฝุ่นที่เกิดจากกระสุนกระทบผนังปูนของโทลล์เวย์

นายนิโคลัสเบิกความอีกว่า เวลา 15.00 น. ฝนตกลงมาอย่างหนัก เขาจึงหลบฝนอยู่กับทหารใต้ทางด่วน เป็นช่วงที่พยานเก็บปลอกกระสุนที่นำมาอ้างต่อศาลได้ ขณะที่กลุ่มนปช.ถอยห่างจากแนวทหาร 300-500 ม. ช่วงนั้นก็ยังคงมีทหารเล็กปืนขึ้นไปข้างบนโทลเวย์ด้วย สักพักทหารที่มียศสูงกว่าเข้ามาพูดกับทหารกลุ่มดังกล่าวว่าบนโทลเวย์เคลียร์พื้นที่หมดแล้ว ทำให้ไม่มีการเล็งปืนขึ้นไปต่อ  เวลา 15.40 น. ฝนได้หยุดตกขณะที่พยานบริเวณทางคู่ขนาด สักพักได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ ตะโกนว่า “หยุดๆ” และตามด้วยมีการยิงปืนไป และเห็นจักรยานยนต์ล้มลง โดยพยานห่างจากทหารที่ยิงประมาณ 5-10 ม. ก่อนที่จะมีการตะโกนบอกว่า “หยุดๆ” นั้น ทหารยังยืนตั้งแนวกั้นถนนอยู่ โดยเสียงที่บอกว่า “หยุดๆ” นั้นมีหลายคนตะโกน ทั้ง ทหารและตำรวจที่ตั้งแนว จุดตรงนั้นใช้ปืนลูกซอง ยิงหลายนัด แต่ไม่รู้ว่าเป็นกระสุนยางหรือจริง โดยก่อนหน้านี้เขาได้ยินทหารคนหนึ่งถามเพื่อนว่า มีกระสุนยางเหลืออีกหรือไม่ และได้รับคำตอบจากเพื่อนว่า กระสุนยางหมดแล้วเหมือนกัน ใช้กระสุนจริงไปเลย ขณะเกิดเหตุ กลุ่ม นปช. อยู่ห่างออกไปประมาณ 300-500 ม.

หลังจากนั้นพยานได้กระโดดข้ามเกาะกลางขั้นระหว่างเลนถนนเพื่อเข้ามาจุดเกิดเหตุเพื่อถ่ายภาพ แต่ถูกทหารสั่งห้ามถ่าย ขณะที่พยานเข้าไปถ่ายภาพนั้นยังเห็นทหารที่ถูกยิงยังไม่เสียชีวิต โดยขณะนั้นมีอาการชักอยู่ ขณะนั้นมีทหารประมาณ 2-3 นาย อยู่กับผู้ตาย ซึ่งขณะนั้นหัวของทหารคนที่ถูกยิงหันไปทางถนนขาออก และมีรถจักรยานยนต์ล้มอยู่ หลังจากนั้นทหารใช้เปลมานำศพออกไป โดยพยานมีการนำภาพที่ถ่ายร่างผู้เสียชีวิตมอบให้ศาลพิจารณาด้วย

นายนิโคลัสเบิกความถึงการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในลักษณะเคลื่อนที่ด้วยจักรยานยนต์เหมือนที่ทหารที่เสียชีวิตปฏิบัติการก่อนเสียชีวิตว่า เคยทราบการปฏิบัติการในลักษณะนี้มาก่อนเกิดเหตุ 3 วัน โดยช่วงนั้นทหารจะขับจักรยานยนต์เพื่อตามจับคนเสื้อแดง ซึ่งพยานก็ติดตามความเคลื่อนไหวของทหารกลุ่มนี้ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันว่าเป็นกลุ่มเดียวกับทหารที่เสียชีวิตหรือไม่เขาเบิกความเพิ่มเติมถึงการปฏิบัติการของทหารในขณะเกิดเหตุด้วยว่า ก่อนหน้าที่นั้นทหารจะกระจายไปทั่วบริเวณนอกจากบนถนน ทางคู่ขนาดแล้ว ยังมีบริเวณสะพานลอย โดยช่วงเกิดเหตุไม่มีเสื้อแดงอยู่บริเวณใกล้เคียงและไม่มีการปะทะตั้งแต่ฝนตกแล้ว และหลังฝนตกทหารก็มีการกระจายกำลังไปทั่วบริเวณที่เกิดเหตุ โดยมีปืนลูกซองและปืนความเร็วสูง M16 และ HK

อัยการมอบภาพถ่ายของนายนิโคลัสให้แก่ศาล มีทั้งภาพการตั้งแถวของทหารและตำรวจ ภาพทหารใช้ปืนลูกซองยาวยิงใส่แนวผู้ชุมนุมและภาพร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ที่ถูกยิง นอกจากนี้อัยการได้นำภาพจากรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราพร้อมข้อความใต้ภาพ “ผู้ต้องสงสัยเป็นชายสวมโม่งเสื้อดำ ที่มาพร้อมกับเสื้อแดง 2 คน” ซึ่งเป็นหลักฐานที่พยานฝ่ายทหารนำมาจากอินเตอร์เน็ตและอ้างส่งต่อศาลให้เขาดู และสอบถามว่าเคยเห็นภาพนี้หรือไม่ เขาตอบว่าเคยเห็นและเป็นภาพของเพื่อนนักข่าวชื่อเวย์น์ เฮย์(Wayne Hay) สำนักข่าวอัลจาซีราห์ถ่ายไว้ได้ แต่ไม่ได้มีการพูดตามข้อความใต้ภาพที่ระบุนั้น แต่ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ถูกคนอื่นเขียนกำกับเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ตภายหลัง ส่วน เวย์น  เฮย์ เคยเล่ากับพยานว่าคนในภาพเป็นคนที่อยู่กับคนเสื้อแดงที่ถืออาวุธปืนพกสั้น ที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร และภาพดังกล่าวก็ถ่ายก่อนเกิดเหตุ นอกจากนี้ยังมีเพื่อนของพยานที่เป็นนักข่าวต่างประเทศอีกคนซึ่งทำข่าวอยู่ฝั่งผู้ชุมนุมได้เคยเล่าด้วยว่าผู้ชุมนุมขณะนั้นได้เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ทหารชุดผู้ตายในคดีนี้ได้ขี่จักรยานยนต์เคลื่อนผ่านมาได้ โดยมีเพียงเสียงโห่เท่านั้นส่วนตัวเขาเองไม่เคยเห็นชายชุดดำในวันดังกล่าว

พยานปากที่สาม นายประยูร อนุสิทธิ์ ในวันเกิดเหตุเขารับผู้โดยสารจากหลักสี่ไปส่งที่ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เมื่อขับมาตามถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก ถึงบริเวณโรงเรียนสังคีต ไปต่อไม่ได้ ระหว่างนั่งอยู่ในรถเห็นทหารเดินเรียงแถวสวนมา และยิงปืนลูกซองยาวขึ้นฟ้าในมุม 45 องศา ส่วนปืน M16 ที่ติดตัวมาด้วยไม่ได้ยิง ขณะเดียวกันก็เห็นผู้ชุมนุมยิงหนังสติ๊กใส่ทหาร และถอยร่นไปเรื่อยๆ ส่วนอาวุธอื่นนั้นพยานไม่เห็น  ต่อมาทหารบอกให้พยานทิ้งรถแล้วไปหลบในโรงเรียน ระหว่างหลบอยู่ พยานได้ยินเสียงปืนหลายนัด แต่ไม่ได้ออกมาดูเหตุการณ์

 

นัดสืบพยานวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

                พยาน

  1. นายจตุรงค์ สิรินภัทราวรรณ์        ช่างภาพสปริงนิวส์
  2. นางสาวณัฐชา ทองย้อย            ผู้สื่อข่าวสปริงนิวส์
  3. ว่าที่ ร.ต. จตุพร สุวรรณรัตน์        ผู้สื่อข่าวสปริงนิวส์
  4. ร.อ. กฤษฒิชัย กองกิจ              ทหารในสังกัดกองพันทหารม้าที่ 13 จ. เพชรบูรณ์
  5. ส.อ. กิตติกร กิ่งกลาง                 ทหารในสังกัดกองพันทหารม้าที่ 13 จ. เพชรบูรณ์

พยานปากแรก นายจตุรงค์ สิรินภัทราวรรณ์ เบิกความว่า เวลาประมาณ 15.00 น. ขณะปฏิบัติงานอยู่ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติบริเวณถนนวิภาวดี เขาได้รับแจ้งจากช่างภาพของสถานีที่ประจำอยู่บริเวณสะพานด้านหน้าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออกว่าแบตเตอร์รี่กล้องหมด เขาจึงซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่เจ้าหน้าที่ของสถานีขับเข้าไปเพื่อนำแบตเตอร์รี่ไปให้ช่างภาพที่กำลังบันทึกภาพเหตุการณ์อยู่บริเวณสะพายลอยดังกล่าว   ขณะที่ซ้อนรถจักรยานยนต์เข้าไป ขณะนั้นมีฝนตกค่อนข้างหนัก ได้ขับผ่านกลุ่มของ นปช. โดยมุ่งหน้าเข้าไปด้านทางแนวกั้นของทหารที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามบริเวณเลยจุดทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์ตรงอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีขาออกไปเล็กน้อย

แต่การสื่อสารระหว่างนายจตุรงค์กับช่างภาพที่อยู่บนสะพานลอยขาดหายไป ทำให้คนขับขับเลยเข้าไปบริเวณใกล้แนวกั้นของเจ้าหน้าที่คาดว่าห่างจากแนวกั้นเพียงประมาณ 10 ม. เจ้าหน้าที่ได้ตะโกนแจ้งเตือนให้นำรถถอยห่างออกจากแนวกั้น  แต่เขาไม่ทราบว่าเป็นตำรวจหรือทหารที่ประจำอยู่บริเวณตอม่อไม่ได้อยู่ในแนวกั้นของ เจ้าหน้าที่เป็นคนตะโกน    ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ถือปืนอยู่ในแนวได้หันปลายกระบอกปืนมาทางเขาแต่ไม่ได้ยิงเพราะเจ้าหน้าที่น่าจะเห็นปลอกแขนจึงทราบว่าเขาเป็นผู้สื่อข่าวไม่ใช่กลุ่ม นปช.  ขณะที่รถจักรยานยนต์เข้าไปใกล้แนวกั้นของเจ้าหน้าที่เขาเห็นเจ้าหน้าที่แต่งกายในชุดเตรียมพร้อม  โดยสวมเสื้อสีเข้มออกไปทางดำ สวมรองเท้าคอมแบท  สวมหมวกครึ่งใบ มีผ้าพันคอไม่ทราบสี ถืออาวุธประเภทปืนยาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่แน่ใจว่าถือทุกคนหรือไม่ ไม่สามารถแยกประเภทปืนได้ และไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นชุดทหารหรือชุดตำรวจเนื่องจากขณะนั้นมีฝนตกและท้องฟ้าสลัว และมีเจ้าหน้าที่กว่า 10 คนที่แต่งกายเหมือนกัน และถือปืนยาวทุกคน ประจำอยู่บริเวณตอหม้อด้านซ้ายและด้านขวาหน้าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ขณะที่รถจักรยานยนต์เข้าไปบริเวณแนวทหารเขาไม่พบว่ามีคนที่มีสัญลักษณ์คนเสื้อแดงอยู่ใกล้แนวกั้นของเจ้าหน้าที่ และไม่มีชาวบ้านอยู่ทั้งในแนวและหลังแนวของเจ้าหน้าที่

เมื่อได้ยินเสียงตะโกนเตือนจากเจ้าหน้าที่ รถของนายจตุรงค์จึงได้เลี้ยววนกลับมาด้านหลัง และเห็นช่างภาพของสถานีที่อยู่ตรงสะพานลอย จึงได้นำแบตเตอร์รี่ไปเปลี่ยนให้และอยู่ที่บนสะพานดังกล่าวซึ่งห่างจากแนวเจ้าหน้าที่ประมาณ 100 ม. และห่างจาก นปช. 300 ม. ซึ่งเขาคิดว่าแนวของเจ้าหน้าที่และนปช.น่าจะห่างกันประมาณ 400-500 ม.  บนสะพานลอยที่เขาอยู่มีช่างภาพและชาวบ้านทั่วไปไม่มีสัญลักษณ์ของเสื้อแดงอยู่ด้วยประมาณ 10 กว่าคน และถัดจากสะพานลอยที่เขาอยู่ไปทางดอนเมืองอยู่เรื่อยไปจนถึงแนวที่ผู้ชุมนุม อยู่มีชาวบ้านยืนอยู่กระจัดกระจาย

ขณะที่อยู่บนสะพานยังคงมีฝนตกปรอยๆ และก่อนเกิดเหตุการณ์ทหารถูกยิง  นายจตุรงค์เห็นว่ามีกลุ่มรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ประมาณ 5-6 คัน โดยรถ 1 คัน จะมี 2 คน คือคนขับและคนซ้อนพร้อมอาวุธปืนยาวขับลงมาจากทางด่วนโทลล์เวย์ตรงจุดที่ผู้ชุมนุมยืนอยู่  เขาเห็นเพราะจุดที่อยู่บริเวณสะพานสามารถมองเห็นชัดเจนว่ามีใครขึ้น-ลงมาจากโทลล์เวย์   จากนั้นทหารที่ขับผ่านผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนคู่ขนานแล้วขับตัดเข้ามายังเส้นทางหลักของถนนวิภาวดี  ขณะที่รถจักรยานยนต์ทหารอยู่บนถนนไม่มีรถคันอื่นรวมอยู่ด้วยเพราะขณะนั้นถนนวิภาวดีถูกปิดการจราจรไปแล้ว และเมื่อรถจักรยานยนต์ของทหารขับผ่านด้านล่างของสะพานลอยที่เขายืนอยู่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 ครั้ง น่าจะดังมาจากทางด้านซ้ายของเขา  คิดว่าเป็นบริเวณตอม่อทางขึ้นโทลล์เวย์ขาออกเพราะเห็นแสงไฟออกจากปลายกระบอกปืนแต่ไม่เห็นคนยิง โดยขณะที่เขาหันหน้าเข้าไปฝั่งแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ ทันใดนั้นเห็นรถของเจ้าหน้าที่ล้มลง 1 คัน และจากรถคันอื่นๆ ที่ขับมาในกลุ่มเดียวกันได้ล้มลง และคนที่อยู่บนสะพานลอยได้ร้องตะโกนว่ายิงกันเองแล้ว และเขาเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณแนวกั้นยิงทหารที่อยู่บนถนน

โดยจุดที่ทหารถูกยิงล้มลงอยู่ห่างจากสะพานลอยที่พยานอยู่ประมาณ 50-70 ม. และอยู่ห่างจากแนวทหาร 30-50 ม.หลังจากเหตุการณ์ยิงกันเกิดขึ้น พยานยังคงประจำอยู่บนสะพานลอยจนเหตุการณ์คลี่คลายถึงได้กลับสถานี

พยานที่ 1 แสดงภาพข่าว[7]ภาพข่าวปรากฏภาพรถจักรยานยนต์ของทหารขับมุ่งหน้าเข้าไปยังแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ในช่องทางเดินรถฝั่งขวาสุดอยู่ติดกับเกาะกลางของเส้นทางหลักของถนนวิภาวดีขาออก จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น และรถของทหารได้ล้มลง ส่วนทหารวิ่งเข้าไปยังเกาะกลางถนน[8]

พยานปากที่สองน.ส.ณัฐชา ทองย้อย   เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53 เธอขึ้นรถไปกับแกนนำ นปช. ที่เคลื่อนจากกรุงเทพฯ ไปตลาดไท เมื่อไปถึงเจอด่านเจ้าหน้าที่สวมชุดพรางที่มีอาวุธปืนยาวไม่ทราบประเภทสกัดกั้นอยู่ที่บริเวณปั๊ม ปตท.  ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก หลังจากผลักดันกันระยะหนึ่งปรากฏว่าทางผู้ชุมนุม นปช. ไม่สามารถผ่านแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ไปได้ แกนนำ นปช.จึงได้ประกาศยุติการชุมนุมและประกาศให้ นปช. เข้าไปอยู่ในปั๊มแก๊สและไม่ให้เข้าไปอยู่ในปั๊ม ปตท. ที่มีทหารประจำอยู่ พยานจึงลงจากรถของแกนนำและขึ้นไปอยู่บนสะพานลอยที่อยู่ตรงกลางระหว่างแนวกั้นของทหารและกลุ่ม นปช. ซึ่งบนสะพานลอยดังกล่าวมีคนทั่วไปและนักข่าวประมาณ 10-20 คน แต่ไม่มีผู้ชุมนุม นปช. และเจ้าหน้าที่รวมอยู่ด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ได้ไล่สื่อมวลชนและผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด  ขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ห่างจากสะพานลอยที่พยานอยู่ประมาณ 200-300 ม. และบริเวณตอม่อระหว่างสะพานลอยถึงจุดที่ทหารตั้งแนวอยู่มีทหารกระจายอยู่ตามตอม่อ

เวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีคนขับรถลงมาจากโทลล์เวย์ประมาณ 8-9 คัน โดยขับไปทางแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ จากนั้นรถคันแรกได้ล้มลง และเธอได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 ครั้ง มาจากแนวของทหารและพยานเห็นแสงจากปืนออกจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในแนว และคนที่อยู่บนสะพานก็บอกว่าทหารยิงกันเอง จากนั้นทหารได้เข้าไปหามทหารที่ถูกยิงออกไป

พยานปากที่สามว่าที่ร้อยตรี จตุพร สุวรรณรัตน์ เบิกความว่า เวลาประมาณ 12.00 น. ขณะที่พยานเดินทางมาถึงโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา บริเวณถนนวิภาวดีฝั่งขาออกพบว่ามีแนวทหารแต่งชุดลายพราง มีผ้าพันคอสีฟ้า และมีการยิงปืนกระสุนยาง มีปืนลูกซองยาว และมีรถฉีดน้ำ เพื่อสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนผ่านไปตลาดไทได้  พยานได้ตั้งกล้องถ่ายภาพอยู่บริเวณดังกล่าว  จากนั้นได้มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่  ซึ่งทางเจ้าหน้าได้ห้ามไม่ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพเหตุการณ์ พยานจึงย้ายเข้าไปอยู่ในโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา

เวลาประมาณ 13.00 น. ขณะที่นายจตุพรสังเกตการณ์อยู่ในโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา พบว่าผู้ชุมนุมได้เข้ามาในโรงเรียนเพื่อพยายามข้ามฝั่งไปยังตลาดไท แต่เจ้าหน้าที่ยิงสกัดด้วยกระสุนยาง และผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการยิงหนังสติ๊กและโยนก้อนอิฐที่เก็บได้จากข้างทาง ไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน ขณะที่เจ้าหน้าที่มีโล่ กระบอง และปืน ผู้ชุมนุมไม่สามารถฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ไปได้  และฝนได้ตกลงมา  ผู้ชุมนุมจึงถอยห่างออกไปจากบริเวณแนวของทหารประมาณ 300-400 ม. ในขณะที่ฝนตกนั้นไม่มีการปะทะแล้ว ส่วนเขาได้ขยับมาที่เกาะกลางถนนที่อยู่หลังแนวเจ้าหน้าที่ไปทางตลาดไทประมาณ 200 ม. เพื่อหลบฝน ซึ่งหลังแนวทหารบริเวณที่พยานยืนอยู่ไม่มีประชาชนทั่วไปอยู่  ขณะนั้นเจ้าหน้าที่บางคนหลบฝน บางส่วนยังอยู่ในแนว  แต่เขาไม่ได้สังเกตทหารที่หลบฝนอยู่ตรงตอม่อทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์  และพยานมองไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมอยู่ตรงไหน   ขณะนั้นถนนถูกปิดการจราจรทุกช่องทาง

เวลาประมาณ 15.00 น. ฝนเริ่มซาลง เจ้าหน้ายังคงตั้งแนวสกัดอยู่บริเวณปั๊ม ปตท. ส่วนนายจตุพรยังคงสังเกตการณ์อยู่หลังแนวทหารเหมือนเดิม จากนั้นเขาได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิด 1 ครั้ง เพราะใต้โทลล์เวย์เสียงจะดังก้องมาก  เขาได้รับรายงานว่ามีทหารถูกยิง และได้เห็นทหารที่ถูกยิงถูกหามใส่เปลผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ไปที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ  เขาจึงได้วิ่งเข้าถามทหารที่หามเปลออกมาว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งทหารตอบว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้น จากนั้นเขาได้ติดตามไปสอบถามทหารที่อยู่ในชุดที่ขับรถจักรยานยนต์มาพร้อมกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละว่าเหตุการณ์อะไรขึ้น ทหารตอบว่าเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด

พยานปากที่สี่ ร.อ. กฤษฒิชัย กองกิจ เบิกความว่า เดือนมีนาคม 2553 ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บังคับการกองร้อย กองพันทหารม้าที่ 26 ให้มาปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยที่กองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ โดยเขาเป็นหัวหน้ากองร้อยและนำกำลังพลทั้งหมด 120 นาย  เข้ามาประจำการตามคำสั่ง วันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาให้ไปสกัดกั้น นปช.ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก เขาจึงได้นำกำลังพลจำนวนหนึ่งกองร้อยไป

ขั้นตอนการสั่งการของทหารมีดังนี้ ผู้บังคับบัญชาจะสั่งการด้วยวาจาผ่านวิทยุสื่อสารเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการสั่งการ จากนั้นคนที่รับวิทยุสั่งการจะพิมพ์คำสั่งลงในกระดาษเขียนข่าวซึ่งเป็นเอกสารสั่งการ และนำกำลังพลหนึ่งกองร้อยที่ประกอบด้วยทหารทั้งหมด 120 นาย เคลื่อนตัวออกจากกองพันทหารราบที่ 11 ด้วยรถบัสของราชการไปถึงที่อนุสรณ์สถานฯ ในเวลาประมาณ 13.00 น. เมื่อไปถึงพบว่ามีกองพันทหารม้าที่ 12 และ 16 และตำรวจอยู่ในพื้นที่แล้ว

ทหารในชุดของร.อ.กฤษฒิชัยแต่งกายด้วยชุดลางพราง สวมหมวกเหล็ก มีริบบิ้นสีขาวติดที่หัวไหล่ด้านขวาเป็นสัญลักษณ์ ส่วนของกองพันทหารม้าที่ 12 และ 16 มีผ้าพันคอสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ จากนั้นได้ตั้งแนวสกัดโดยแถวที่ 1 – 3  มีอาวุธประจำกายเป็นโล่และกระบอง แถวที่ 4 มีอาวุธปืนลูกซองยาว และแถวที่ 5 อาวุธปืนเล็กยาวประเภท M16  HK33  และทาโวร์ แต่ปืนที่หน่วยของเขาใช้คือ HK33 มีลักษณะภายนอกคล้ายปืน M16  เขาอยู่ในแถวที่ 5 แต่ไม่มีอาวุธปืนประจำกายมีเพียงวิทยุสื่อสารเท่านั้น โดยทหารทั้งสามกองร้อยตั้งแนวอยู่บนถนนคู่ขนานขาออก ส่วนตำรวจอยู่บนเส้นทางหลัก และห่างไปด้านหลังแนวทหารประมาณ 200 ม. จะมีกองพันทหารม้าที่ 15 อีกหนึ่งกองร้อยตั้งแนวกั้นอยู่ด้านหลังเพื่อสกัด ผ็ชุมนุมที่อาจเคลื่อนพลมาจากฝั่งตลาดไท

เวลา 13.30 น. ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนมาถึงแนวสกัดของทหาร มีการต่อว่าทหารและรื้อทำลายลวดหนามที่เจ้าหน้าที่วางสกัดไว้ซึ่งห่างจากแนวทหารไปประมาณ 5 ม.  มีการใช้หินและอิฐขว้างเข้าใส่เจ้าหน้าที่มีบางคนขว้างลงมาจากบนทางด่วนโทลล์เวย์  พยานไม่เห็นผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน แต่หลังเหตุการณ์จบลงร.อ.กฤษฒิชัยได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธปืนพก

ผู้ชุมนุมยังไม่สามารถฝ่าแนวสกัดของทหารไปได้  มีทหารได้รับบาดเจ็บจากการปะทะเล็กน้อย โดยระหว่างนี้ทหารได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่มีทหารที่ออกไปอยู่นอกแนวที่ตั้งสกัดอยู่บนถนน และการปฏิบัติเป็นไปตามขั้นตอนควบคุมฝูงชนที่ได้ฝึกมา คือ

  1. ตั้งแนวแสดงกำลังพลเพื่อให้ นปช. เห็นว่าไม่สามารถผ่านไปได้
  2. ประกาศแจ้งเตือนให้ทราบว่าไม่อนุญาตให้ผ่านไปได้
  3. ใช้โล่ผลักดัน
  4. ใช้น้ำฉีด และใช้เครื่องเสียงรบกวนเพื่อให้มวลชนสลายตัว แต่ในขั้นตอนการฉีดน้ำได้ข้ามไปเพราะรถฉีดน้ำไม่พร้อม
  5. ใช้กระบองและแก๊สน้ำตา
  6. ใช้กระสุนยาง

ภายใต้ขั้นตอนควบคุมฝูงชนนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้กระสุนจริง ยกเว้นทหารจะถูกยิงด้วยกระสุนจริงก่อน ถึงจะสามารถใช้กระสุนจริงเพื่อป้องกันตัวเองได้ แต่ในวันดังกล่าวมีการใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าเพื่อให้เกิดเสียงดังให้ผู้ชุมนุม นปช. หวาดกลัว

เวลา 14.00 น. เหตุการณ์ปะทะรอบแรกได้จบลง และได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ช่วงที่ฝนตกทหารบางส่วนได้เข้าไปหลบฝนที่ใต้ทางด่วน พยานก็เข้าไปหลบฝนที่ใต้ทางด่วนเช่นกัน แต่ยังคงมีทหารบางส่วนที่ยังคงตั้งแนวอยู่

เวลา 15.30 หลังฝนหยุดตก ทหารและตำรวจได้กลับมาตั้งแนวสกัดตามเดิม โดยไม่มีทหารประจำอยู่บริเวณตอม่อแล้ว และระหว่างนั้นร.อ.กฤษฒิชัยได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารอีกหน่วยเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์เพื่อเข้ามาสมทบกับทหารที่ตั้งแนวสกัดอยู่ โดยทหารที่มาจะมีริบบิ้นสีขาวที่ไหล่ขวาเป็นสัญลักษณ์ และเขาได้แจ้งให้ผู้ใต้บังคับบังชาที่ปฏิบัติหน้าที่ทราบด้วย แต่หลังจากนั้นเขาได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด แต่ไม่ทราบทิศทางแต่ดังอยู่รอบๆ บริเวณนั้น เมื่อเสียงปืนสงบลงได้รับแจ้งว่ามีทหารถูกยิง เขาจึงได้จัดกำลังนำเปลเข้าไปช่วยทหารที่ถูกยิงส่งโรงพยาบาล  ส่วนทหารชุดที่มาสมทบคนอื่นๆ ได้เข้าไปในแนวสกัด และไม่มีเหตุการณ์ปะทะกันเกิดขึ้นอีก  ในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ เขาไม่เห็นว่ามีชายชุดดำปรากฏอยู่ในเหตุการณ์

ร.อ.กฤษฒิชัยได้อธิบายเกี่ยวกับการยิงวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ในลักษณะเดียวกันกับรถจักรยานยนต์ของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ หากเป็นการยิงในระยะไกลผู้ยิงต้องมีความเชี่ยวชาญ แต่ถ้าระยะ 5-10 ม. คนที่ใช้ปืนเป็นทั่วไปสามารถยิงได้

พยานปากที่ห้า ส.อ. กิตติกร กิ่งกลางเบิกความว่า ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่กองพันทหารราบที่ 11 ต่อมาในวันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่สกัดกั้น กลุ่มนปช.ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ  จึงได้เดินทางไปพร้อมกับกองร้อยซึ่งมี ร.อ.ปรีชาเป็นผู้บังคับบัญชา  ออกจากกองพันทหารราบที่ 11 ด้วยรถของราชการ เมื่อไปถึงพบว่าเจ้าหน้าที่ได้วางลวดหนามสกัดไว้อยู่แล้ว และเขาได้เข้าไปอยู่ในแนวสกัดบริเวณปั๊ม ปตท. โดยแนวสกัดที่มีตำนวจและทหารจะตั้งแนวในระนาบเดียวกัน และมีการตั้งแนวในลักษณะเดียวกัน คือแถวแรกถึงแถวที่สามเป็นโล่และกระบอง แถวที่สี่และห้าเป็นอาวุธปืนลูกซองยาวกระสุนยางและ M16 HK33 ทาโวร์ กระสุนจริง พยานอยู่แถวที่สามมีปืนลูกซองยาวกระสุนยาง แต่กระสุนจริงใช้ยิงขึ้นฟ้าเพื่อปรามผู้ชุมนุม  หน่วยของเขาได้รับคำสั่งให้ประจำที่แนวกั้นซึ่งอยู่บนถนน ไม่มีทหารที่อยู่นอกแนวกั้น และเขาไม่เห็นว่ามีทหารคนอื่นๆ อยู่นอกแนวกั้นและอยู่บริเวณตอม่อ

ขณะที่ทหารถูกยิงมีฝนตกลงมาแต่ไม่หนักมาก และระหว่างนั้นมีคนโยนระเบิดปิงปองลงมาจากโทลล์เวย์  ซึ่ง ส.อ.กิตติกรเห็นว่าบนโทลล์เวย์มีประชาชนแต่งกายหลากหลายและบางคนแต่งกายแบบ นปช. ประมาณ 50 คน ขณะระเบิดปิงปองถูกโยนลงมา มีเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง จากนั้นทหารที่อยู่ในแนวได้ออกไปนำร่างทหารที่ถูกยิงออกมา แต่เขาไม่ทราบว่าใครยิง เขาก็ได้รับบาดเจ็บจากระเปิดปิงปองและถูกนำส่งโรงพยาบาล

วันเกิดเหตุส.อ.กิตติกร แต่งชุดลายพรางมีผ้าพันคอสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ สวมหมวกเหล็ก ด้านผู้ชุมนุมส่วนมากสวมเสื้อแดงและมีสีอื่นๆ ปนอยู่ด้วย แต่ไม่พบว่ามีชายชุดดำอยู่ในกลุ่มนปช.

 

นัดสืบพยานวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

                พยาน

  1. ส.ต.ต. สุกิจ หวานไกล สภอ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
  2. ส.ต.อ. ณรงค์ วังทองพูล สภอ.บ้านราช จ.เพชรบุรี
  3. ส.ต.อ. วินัย กองแก้ว
  4. ด.ต. สนธยา ต่วนเครือ สภอ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

พยานปากที่หนึ่งส.ต.ต. สุกิจ หวานไกล เบิกความว่าต้นเดือนเมษายน 2553 ได้รับคำสั่งให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่กรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมด 150 นาย โดยต้นคำสั่งมาจากสำนักงานตำรวจนครบาลที่สั่งการมายังสำนักงานตำรวจนครบาลภาค 7 และสั่งการลงมายังสภอ.ท่ายางอีกต่อหนึ่ง  ภายหลังได้รับคำสั่งพยานเดินทางมาพักอยู่สำนักงานตำรวจนครบาลแห่งชาติ และวันที่ 28 เม.ย. 53 ช่วงเช้าได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่กองบัญชาการทหารราบที่ 11 หรือ ศอฉ.ในเวลานั้น จากนั้นกองร้อยของเขารวมทั้งหมด 150 นายได้รับคำสั่งให้ไปสกัดกั้นผู้ชุมนุมที่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก และเขาทราบว่ามีกองตำรวจจากราชบุรีและกาญจนบุรีร่วมปฏิบัติภารกิจด้วย

พยานเดินทางมาถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และ พ.ต.ท.โชคชัยผู้บังคับกองร้อยได้ชี้แจงให้ปิดถนนวิภาวดีฝั่งขาออกบริเวณช่องทางเดินรถด้านใน  กองร้อยของส.ต.ต.สุกิจ แต่งกายด้วยเครื่องแบบตำรวจพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน มีหมวกนิรภัย โล่ กระบอง มีตำรวจหลายคนมีอาวุธปืนพกสั้น บางคนมีอาวุธปืนเล็กยาวประเภท M16 และตั้งแนวกั้นโดยสองแถวแรกเป็นตำรวจที่มีโล่และกระบอง แถวที่สามเป็นปืนกระสุนยาง ส่วนเจ้าหน้าที่ที่มี M16 จะอยู่แถวท้ายสุด ส่วนแนวด้านข้างของเขาเป็นทหารที่แต่งกายด้วยชุดลายพรางยืนอยู่แนวระนาบเดียวกัน และที่ตอม่อที่กั้นระหว่างถนนมีทหารสวมชุดลายพราง สวมหมวกกันน็อก มีโล่และอาวุธปืนเล็กยาวหลายคน และบางคนเป็นปืน M16 มีแถบสีติดที่หมวกและมีผ้าพันคอสีฟ้าด้วย ส่วนด้านหน้าแนวของเจ้าหน้าที่จะมีลวดหนามถูกวางไว้อยู่

เวลา 13.00 น. หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตั้งแนวสกัดเสร็จแล้ว ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเข้ามาถึงบริเวณแนวกั้น และพยายามรื้อลวดหนามจนสำเร็จ ขณะนั้นส.ต.ต.สุกิจยืนถือโล่อยู่ด้านหน้าสุดของแนวกั้น  เห็นเจ้าหน้าที่ทหารพยายามเจรจากับผู้ชุมนุม แต่ไม่สำเร็จ และเจ้าหน้าที่ได้ใช้ปืนกระสุนยางยิงขู่ขึ้นฟ้า ส่วนผู้ชุมนุมได้ใช้หนังสติ๊กยิงลูกแก้วและลูกหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่ และบางคนใช้ก้อนหินและไม้ มีเจ้าหน้าที่บางคนได้รับบาดเจ็บแต่เจ้าหน้าที่ส่วนมากไม่เป็นอะไรเพราะมีโล่บังอยู่

แม้เจ้าหน้าที่จะยิงปืนขู่แต่ผู้ชุมนุมยังคงพยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่และสามารถรื้อลวดหนามออกได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถฝ่าแนวที่ทหารยืนกั้นอยู่ไปได้ ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นตำรวจในกองร้อยเดียวกับส.ต.ต.สุกิจไม่มีใครอยู่นอกแนวสกัด มีทหารที่อยู่นอกแนวแต่เขาไม่ได้สังเกตว่าอยู่จุดไหนบ้าง

เวลา 14.00 น. ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักและมีลมแรง เจ้าหน้าที่บางส่วนจึงหลบฝนใต้ทางด่วนแต่บางส่วนยังคงยืนอยู่ตรงแนวสกัด ผู้ชุมนุมก็หลบฝนอยู่ในปั๊มแก๊สเช่นกัน ฝนตกหนักอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมงจึงซาลง

เวลา 15.00 น. เมื่อฝาซาลงเจ้าหน้าที่หลบอยู่ได้ถูกเรียกให้กลับมาตั้งแนวสกัดตามเดิม แต่แนวสกัดได้ขยับเข้ามาใกล้ผู้ชุมนุมมากขึ้น โดยขยับมาตั้งอยู่บริเวณปั๊มปตท. ขณะนั้นฝนยังตกเบาๆ และสามารถมองเห็นชัดเจนได้ในระยะ 100 ม. และมีทหารประจำอยู่ตรงตอม่อโทลล์เวย์ด้านขวามือของส.ต.ต.สุกิจอีกประมาณ 3-4  คน และมีอาวุธปืนเล็กยาวแต่ไม่แน่ใจว่าเป็น M16 หรือเปล่า จากนั้นได้มีรถประจำทางเปิดไฟขับตรงเข้ามาที่แนวสกัดของทหาร และเขาเข้าใจว่าเป็นรถที่ผู้ชุมนุมขับเข้ามาเพื่อฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่จึงได้ระวังตัวมากขึ้น ระหว่างนั้นมีรถจักยานยนต์ประมาณ 5-6 คันเปิดไฟหน้ารถแต่เขามองไม่เห็นคนที่นั่งมากับรถเพราะไฟหน้ารถแยงตาพยาน รถประจำทางได้จอดเข้าข้างทางด้านซ้าย ส่วนรถจักรยานยนต์ได้ขับแซงขึ้นมาด้านขวา และเขาได้ยินเสียงของเจ้าหน้าที่ตะโกนให้รถจักรยานยนต์หยุด แต่รถยังวิ่งเข้ามาและพยานได้ยิงเสียงปืนดังขึ้นมาจากกลุ่มทหารที่อยู่นอกแนวด้านขวามือและมีเสียงปืนหลายนัดดังขึ้นมาจากจากแถวหลังของแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ทหารด้วย และเห็นตำรวจและทหารเล็งปืนไปทางด้านหน้าที่รถจักรยานยนต์กำลังขับมา จากนั้นรถได้ล้มไปทั้งหมด และเมื่อเสียงปืนสงบลงมีคนตะโกนว่าทหารถูกยิง โดยจุดที่ถูกยิงอยู่ห่างจากจุดที่พยานยืนอยู่ประมาณ 20-30 ม. และมีทหารนำเปลไปนำร่างทหารที่ถูกยิงออกไป

ภายหลังจากเหตุการณ์ยิงทหารเกิดขึ้นสถานการณ์ก็สงบลง การจราจรถูกเปิดใช้ตามปกติ และตำรวจได้ทำหน้าที่ตั้งด่านตรวจค้นรถที่ขับผ่านบริเวณดังกล่าวอยู่ประมาณ 1ชั่วโมง จากนั้นได้ถอนกำลังกลับไปที่ตั้งที่กองพันทหารราบที่ 11

พยานปากที่สอง ส.ต.อ.ณรงค์ วังทองพูล เบิกความว่า ได้รับคำสั่งเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกองร้อยประมาณ 150 นาย  ก่อนเกิดเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย. 53 เพียงสองวัน เมื่อมาถึงได้เข้าพักที่กองพันทหารราบที่ 11 ต่อมาในวันที่ 28 เม.ย.  เขาได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติภารกิจสกัดการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม นปช. ที่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก

เวลา 11.00 กองร้อยของส.ต.อ.ณรงค์ ที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบตำรวจ สวมผ้าพันคอสีชมพู บางคนมีโล่ มีกระบอง มีอาวุธปืน M16 และอาวุธปืนลูกซองได้เดินทางถึงถนนวิภาวดีขาออก ซึ่งพบว่ามีแนวทหารที่แต่งกายด้วยชุดลายพราง สวมผ้าพันคอสีฟ้า และทุกคนมีปืนเล็กยาวซึ่งเขาไม่แน่ใจว่าเป็น M16 HK33 หรือทาโวร์ ตั้งด่านสกัดอยู่ก่อนแล้ว

เมื่อผู้ชุมนุมมาถึงบริเวณดังกล่าวได้รื้อลวดหนามที่เจ้าหน้าที่วางไว้  ได้ใช้ก้อนหินและไม้ขว้างใส่เจ้าหน้าที่ และมีผู้ชุมนุม นปช.บางส่วนอยู่บนโทลล์เวย์ขว้างปาสิ่งของลงมาใส่เจ้าหน้าที่ และมีเจ้าหน้าที่ขับรถขึ้นไปผลักดันผู้ชุมนุม ที่อยู่บนโทลล์เวย์ลงมาด้านล่าง  จากนั้นทหารยังคงประจำอยู่ด้านบนของโทลล์เวย์ ส่วนบนถนนได้เกิดการผลักดันกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตั้งแนวอยู่  เจ้าหน้าที่ได้ยิงปืนกระสุนยางขู่ผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนวิภาวดีและบนโทลล์เวย์ การปะทะเกิดขึ้นนานประมาณ 30 นาที ก่อนจะจบลงด้วยการที่เจ้าหน้าที่สามารถผลักดัน นปช.ให้ถอยร่นออกไปได้  หลังจากนั้นได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก กลุ่ม นปช.จึงได้สลายตัว ส่วนเจ้าหน้าที่บางส่วนยังคงตั้งแนวสกัดอยู่ แต่มีบางส่วนที่ไปหลบฝนในปั๊ม ปตท. และตอม่อกลางถนนวิภาวดี

เวลา 15.00 น. เมื่อฝนซาลงแล้ว ส.ต.อ.ณรงค์ เห็นว่ามีทหารหลบฝนกระจายกันอยู่และทุกคนมีปืนยาวอยู่บริเวณตอม่อตรงทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์ประมาณ 6-7 คน และขณะนั้นเขาได้กลับมาตั้งแนวสกัดตามเดิมและเห็นว่ามีรถประจำทางเปิดไฟหน้ารถขับตรงเข้าที่แนวสกัดของเจ้าหน้าที่ แต่ต่อมารถประจำทางคันดังกล่าวได้จอดรถเข้าข้างทางห่างจากจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งแนวอยู่ไม่ไกลมากนัก จากนั้นมีรถจักรยานยนต์เปิดไฟหน้าขับตรงเข้ามายังแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ประมาณ 6-7 คัน แต่เขามองเห็นไม่ชัดว่ามีคนนั่งซ้อนท้ายรถมาด้วยหรือเปล่าเพราะขณะนั้นท้องฟ้ายังคงมืดอยู่และรถยังอยู่ระยะไกลเกินไป และเมื่อรถจักรยานยนต์ขับเข้ามาใกล้แนวสกัดของเจ้าหน้าที่มากขึ้น มีตำรวจและทหารตะโกนบอกให้รถหยุดแต่รถไม่หยุด จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดจากด้านข้างฝั่งขวามือของเขา และรถจักรยานยนต์ได้ล้มลง 1 คัน ส่วนรถที่ตามมาข้างหลังได้หยุดรถและล้มลงตาม ในตอนแรกเขาไม่ทราบว่ารถล้มลงเพราะเหตุใด จากนั้นได้มีทหารเข้าไปดูรถที่ล้มและตะโกนว่ามีทหารถูกยิง ทหารจึงนำเปลเอาร่างทหารที่ถูกยิงออกไปส่งโรงพยาบาล ส่วนพยานยังคงประจำการต่ออยู่บนถนนวิภาวดีต่ออีก 1 ชม. จึงถอนกำลังกลับกองพันทหารราบที่ 11

พยานปากที่สาม ส.ต.อ.วินัย กองแก้ว เบิกความว่า วันที่ 25 เมษายน 2553 ขณะที่ประจำการอยู่ สภอ. บางอ้อ จ.ราชบุรี ได้รับคำสั่งให้มาประจำการที่กองพันทหารราบที่ 11 ต่อมาวันที่ 28 เมษายน ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ. ให้มาปฏิบัติภารกิจควบคุมฝูงชนโดยมีจำนวนเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมดสามกองร้อย

เวลา 12.00 น. ได้เดินทางมาถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ส.ต.อ.วินัยแต่งกายด้วยชุดควบคุมฝูงชน สวมสนับแขนสนับเข่าอ่อน เสื้อเกราะอ่อนที่กันกระสุนไม่ได้ สวมหมวก บนโล่เขียนว่า police  กระบอง ตำรวจจากราชบุรีสวมผ้าพันคอสีเขียว และมีอาวุธปืนประจำกาย  แนวสกัดแถวแรกของแนวจะถือโล่ แถวที่สองถือกระบอง แถวที่สามมีปืนลูกซองกระสุนยาง เขาไม่เห็นมีตำรวจที่ใช้ M16 และ HK33  ทหารก็แต่งกายด้วยชุดควบคุมฝูงชนเช่นกันแต่โล่จะเขียนว่า ARMY บางนายมีปืนเล็กยาวแต่เขาไม่แน่ใจว่าเป็นปืน M16 หรือเปล่าประมาณ 20 กระบอกต่อหนึ่งกองร้อย

หลังจากตั้งแนวสกัดประมาณ 20 นาที กลุ่มนปช.เคลื่อนมาถึงและมีการขว้างปาสิ่งของและยิงหนังสติ๊กเข้าใส่แนวสกัดของเจ้าหน้าที่ ด้านบนโทลล์เวย์ก็มี นปช. ขว้างปาสิ่งของลงมาใส่เจ้าหน้าที่เช่นกัน ผู้ชุมนุมสามารถรื้อลวดหนามที่เจ้าหน้าที่ตั้งขวางไว้ได้บางส่วน และปะทะกับแนวสกัดของทหารที่ใช้โล่กระบองผลักดันและใช้กระสุนยาง แต่ส.ต.อ.วินัยไม่แน่ใจว่ามีการใช้กระสุนจริงด้วยหรือไม่ การผลักดันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นติดต่อกันประมาณ 1 ชม. แต่ผู้ชุมนุมไม่สามารถผ่านด่านสกัดของทหารไปได้จึงถอยร่นกลับไปทางดอนเมือง หลังจากนั้นได้มีฝนตกลงมาหลักบ้างเบาบ้านสลับกันไป ผู้บังคับกองร้อยจึงสั่งให้พักผ่อนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ และทหารก็พักผ่อนด้วยเช่นกัน

เวลา 15.00 น. พยานได้ยินเสียงนกหวีดเรียกรวมพล และขยับแถวเข้าใกล้ผู้ชุมนุมอีก โดยมาตั้งแนวอยู่ที่บริเวณหน้าปั๊ม ปตท.ขณะนั้นส.ต.อ.วินัยเห็นมีทหารวางกำลังอยู่ที่ตอม่อเป็นจุดๆ ก่อนถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ประมาณจุดละ 2 คน และมีอาวุธปืนยาวทุกคน ขณะตั้งแนวสกัดสังเกตเห็นมีแสงไฟจากรถจักรยานยนต์ประมาณ 3-4 คัน ขับเข้ามาเป็นกลุ่ม โดยลงมาจากโทลล์เวย์ตรงเข้ามายังแนวทหารที่ตั้งแนวสกัดอยู่ จากนั้นพยานได้ยินเสียงนกหวีดอีกและเสียงตะโกนบอกให้หยุดรถ  เขาเข้าใจว่าเป็นรถของผู้ชุมนุมเพราะไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะมีเจ้าหน้าที่เคลื่อนพลในลักษณะนี้ แต่รถไม่ยอมหยุดและขับตรงเข้าหาแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ จนเข้ามาในระยะ 20-30 ม. เขาได้ยินเสียงปืนดังมาจากด้านขวาของเขาหรือบริเวณตอม่อทางขึ้นโทลล์เวย์ประมาณ 3-4 นัดจากนั้นรถที่ขับเข้ามาได้ล้มลง และในเวลาใกล้เคียงกันที่ด้านหลังก็มีเสียงปืนดังด้วย แต่ขณะนั้นเขาตั้งโล่ป้องกันอยู่จึงไม่สามารถมองเห็นได้ จากนั้นทหารได้นำเปลไปรับคนเจ็บส่งโรงพยาบาล ส่วนเขาประจำการอยู่ต่ออีกประมาณหนึ่งชั่วโมงและได้ถอนกำลังกลับที่ตั้ง

ขณะเกิดเหตุเขาสังเกตไม่เห็นผู้ชุมนุมเข้ามาปะปนอยู่ใกล้บริเวณแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ และสังเกตไม่เห็นว่าผู้ชุมนุม มีอาวุธปืนหรือไม่

พยานปากที่สี่ ด.ต.สนธยา ต่วนเครือ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53  ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ. ให้ไปตั้งแนวสกัดที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เพื่อสกัดผู้ชุมนุม นปช. ที่จะเดินทางไปตลาดไท เขาเดินทางไปถึงบริเวณดังกล่าวในเวลาเที่ยงวัน และร่วมกันตั้งแนวสกัดเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางผ่านไปได้ เขาอยู่ด้านหน้าสุดของแนวสกัด

เมื่อผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงได้พยายามฝ่าด่านสกัดแต่ไม่สำเร็จจึงได้ล่าถอยไป ต่อมาฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก  เมื่อฝนซาแล้วได้มีรถประจำทางขับเข้ามาแล้วจอดเข้าข้างทาง  จากนั้นมีรถจักรยานยนต์ขับแซงขึ้นมาและตรงเข้าหาแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ เมื่อขับเข้ามาใกล้ด.ต.สนธยา เห็นคนที่นั่งบนรถแต่งกายด้วยชุดทหารลายพราง เขาได้สังเกตเห็นว่ามีสัญลักษณ์เป็นผ้าพันคอหรือเป็นริบบิ้นหรือไม่ จากนั้นได้มีเสียงปืนดังขึ้นมาจากด้านขวาของเขา  บริเวณหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. รถจักรยานยนต์คันแรกได้ล้มลงและรถคันอื่นๆ ได้ล้มลงห่างจากจุดที่เขาอยู่ประมาณ 30 ม. เขามองไม่เห็นคนยิงแต่เข้าใจว่าเสียงปืนดังมาจากฝั่งที่ทหารอยู่และบริเวณดังกล่าวไม่มีตำรวจและผู้ชุมนุมอยู่ จากนั้นทหารวิ่งกรูนำเปลเข้าไปช่วยทหารออกไปส่งโรงพยาบาล

สำหรับอาวุธประจำกายของตำรวจมีเพียงปืนลูกซองไม่ใช่ HK33และ M16 แต่ทหารมีปืนทั้งสองประเภท

 

นัดสืบพยานวันที่ 19 มีนาคม 2556

มีพยานรวมทั้งหมด 4 ปาก จากกองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์จ.กาญจนบุรี เป็นทหารที่ขับรถจักรยานยนต์อยู่กลุ่มเดียวกันกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ

  พยาน

  1. ร.อ. ธนรัตน์ มณีวงค์
  2. ส.อ. อนุภัทร์ ขอมปรางค์
  3. จ.ส.อ. โกศล นิลบุตร
  4. จ.ส.อ. นภดล ตนเตชะ  ปัจจุบันลาออกจากราชการและประกอบธุรกิจส่วนตัว

พยานปากที่หนึ่ง ร.อ.ธนรัตน์ มณีวงค์ เบิกความว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังพลหนึ่งกองร้อย หรือ 150 นาย  ให้มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่บ้านผู้บัญชาการทหารบก  ย่านปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ  ต่อมาได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

วันที่ 28 เม.ย. 53ได้รับคำสั่งให้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อเป็นหน่วยเสริมในการปฏิบัติงาน โดยชุดปฏิบัติการดังกล่าวแต่งกายด้วยชุดทหารลายพราง สวมเสื้อเกราะ หมวกเคฟล่าที่ทำจากใยสังเคราะห์มีคุณสมบัติกันกระสุนได้เหมือนหมวกเหล็ก มีสัญลักษณ์เป็นริบบิ้นสีขาวติดที่หัวไหล่ด้านขวาและสวมผ้าพันคอสีเขียว มีอาวุธปืนทาโวร์กระสุนจริงเป็นอาวุธประจำกาย โดยนายทหารชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนบางนายใช้ปืนลูกซองยาว และพลทหารถือปืนลูกซองยาวกระสุนยาง และการปฏิบัติการเจ้าหน้าทุกคนถูกสั่งเรื่องการใช้อาวุธว่าจะใช้กระสุนจริงได้ก็ต่อเมื่อต้องป้องกันชีวิตตัวเองโดยไม่ทำลายชีวิตของผู้อื่น

เวลา 15.00 น. ร.อ.ธนรัตน์ได้รับคำสั่งให้นำกำลังเคลื่อนที่ด้วยรถจักรยานยนต์ไปช่วยเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแนวอยู่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  บนถนนวิภาวดีฝั่งขาออกซึ่งถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมอยู่   โดยเขาซึ่งเป็นหัวหน้ากองร้อยได้ทราบว่าผู้บังคับบัญชาได้ประสานงานกับทหารหน่วยที่ตั้งแนวสกัไว้ก่อนแล้ว สำหรับขั้นตอนการสั่งการก่อนเคลื่อนกำลังพลดังกล่าวมีดังนี้

  1. รองนายยกรัฐมนตรีสั่งการด้วยเอกสารมายังผู้บังคับบัญชาโดยใช้กระดาษเขียนข่าว
  2. จากนั้นผู้บังคับบัญชาจะสั่งการพยานด้วยวาจา

ร.อ.ธนรัตน์นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ขับนำหน้าเป็นคันแรก โดยตั้งขบวนและเคลื่อนขบวนออกจากสี่แยกหลักสี่ไปตามช่องทางจราจรหลักของถนนวิภาวดีขาออก สภาพอากาศขณะที่ขับรถไปเริ่มครึ้มฟ้าครึ้มฝน สามารถมองเห็นได้ในระยะ 200-300 ม. และขณะรถเริ่มเคลื่อนตัวมาเรื่อยๆ ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก รถที่ขับมาทุกคนต้องเปิดไฟหน้ารถ หลังจากขับผ่านหน้าดอนเมือง สังเกตเห็นถนนคู่ขนานที่อยู่ซ้ายมือมีผู้ชุมนุม นปช. อยู่จำนวนหลายร้อยคน ส่วนมากสวมเสื้อแดงและบางคนถือธงแดงที่มีปลายแหลมคม แต่พยานไม่ได้สังเกตเห็นว่า ผู้ชุมนุมมีอาวุธปืนหรือไม่ และเมื่อทหารขับรถเข้ามาใกล้บริเวณที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่ได้ยินเสียงผู้ชุมนุมตะโกนว่ามีทหารมา  ผู้ชุมนุมบางส่วนได้พยายามกรูข้ามที่กั้นกลางระหว่างช่องทางหลักกับช่องทางคู่ขนานเข้าหาทหาร เขาจึงสั่งการให้รถจักรยานยนต์ทุกคันรีบขับออกจากบริเวณนั้นและพุ่งไปข้างหน้า รถกลุ่มแรกที่หลุดออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีประมาณ 6-7 คัน รถคนที่เขาซ้อนมาอยู่ด้านสุดเหมือนเดิมและเมื่อมาจนถึงจุดที่ห่างจากแนวสกัดของตำรวจประมาณ 50 ม. เขาไม่ได้สังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณตอม่อโทลล์เวย์หรือไม่ แต่บริเวณทางเท้าที่อยู่ฝั่งซ้ายมือของเขามีประชาชนยืนอยู่ประปราย และสังเกตเห็นแนวตำรวจอยู่ด้านหน้า และในบริเวณเดียวกันนั้นมีรถยนต์ประมาณ 2-3 คัน จอดอยู่ข้างทาง รถคันที่เขาซ้อนมาขับผ่านรถประจำทางจอดอยู่ห่างจากแนวสกัดประมาณ 100 ม. และเห็นมีรถหกล้อจอดอยู่ด้านข้าง เมื่อพยานขับเข้าใกล้แนวของตำรวจในระยะ 50 ม.ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด แต่ไม่แน่ใจทิศทางของเสียงเพราะอยู่ใต้โทลล์เวย์เสียงจึงดังก้อง แต่ไม่ได้ยินเสียงคนตะโกนห้ามให้หยุดรถ เมื่อได้ยินเสียงปืนทหารที่ขับมาทุกคันได้หักรถให้ล้มเพื่อหาที่กำบังตามยุทธวิธีทางการทหารที่ฝึกมา เมื่อเสียงปืนสงบลงได้ตรวจสอบและพบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงนอนนิ่งหันหัวไปทางคอนกรีตกั้นระหว่างช่องทางหลักกับช่องทางคู่ขนาน จึงเรียกทหารที่อยู่ในแนวสกัดให้เข้ามาช่วยนำตัวส่งโรงพยาบาล จากนั้นพยานเรียกรวมพลทั้งหมดเข้าไปร่วมตั้งแนวสกัดกับเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยอื่นๆ

อัยการได้แสดงรูปถ่ายว่ามีบุคคลที่สวมเสื้อแดงและเสื้อดำสวมหมวกไหมพรมมีอาวุธปืนพกจำนวน 2 คน แต่ระหว่างเกิดเหตุร.อ.ธนรัตน์ไม่พบบุคคลตามภาพ แต่เขานำภาพนี้มาแสดงเพราะต้องการชี้ให้เห็นว่ามีบุคคลอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่มีอาวุธปืนอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

พยานปากที่สองส.อ.อนุภัทร์ ขอมปรางค์ วันที่ 28 เม.ย. 53 เวลา 13.00 น. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ร.อ. ธนรัตน์ มณีวงค์(พยานปากที่ 1) ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ โดยเขาแต่งกายด้วยชุดทหารลายพรางและมีปืนทาโวร์กระสุนจริงพร้อมด้วยโล่เป็นอาวุธประจำกาย เคลื่อนพลด้วยรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 50 คัน คันละ 2 คน เขาเป็นผลขับโดยมีร.อ.ธนรัตน์ นั่งซ้อนท้าย  ไปตามถนนวิภาวดีฝั่งขาออก  การจราจรติดขัดเนื่องจากมีรถของประชาชนและรถของกลุ่ม นปช.จอดขวางอยู่บนถนน

ขณะที่กำลังเคลื่อนพลไปนั้นได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก สามารถมองเห็นได้ในระยะ 30 ม. รถทุกคันต้องเปิดไฟหน้ารถ รถสามารถเคลื่อนตัวไปได้ด้วยความเร็วเพียง 20 กม./ชม. ระหว่างทางเห็นผู้ชุมนุม นปช.อยู่บริเวณทางเท้าด้านซ้ายมือของพยาน ผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธเป็นโล่ หนังสติ๊ก ไม้ และสวมหมวกกันน็อก และได้กรูเข้ามาเพื่อทำร้ายทหาร แต่พยานไม่ได้ถูกทำร้ายเพราะสามารถขับรถหลุดออกมาได้เป็นคันแรก แต่จากการสอบถามทหารคนอื่นๆ ทราบว่ามีบางคนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และถูกกระชากทรัพย์ประเภทกระสุนปืน หมวก เสื้อเกราะไป  มีรถที่สามารถผ่านมาได้พร้อมส.อ.อนุภัทร์ประมาณ 7-8 คัน ขณะขับรถตรงมาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 4 นัด แต่ไม่ทราบว่ามาจากทิศทางใด เขาจึงล้มรถลงและเข้าที่กำบังข้างทาง พอเสียงปืนเงียบลงร.อ. ธนรัตน์ ได้สั่งให้เขาตรวจสอบกำลังพล และพบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละถูกยิงนอนหันศีรษะไปทางถนนคู่ขนาน จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่นำเปลมารับไปส่งโรงพยาบาล

ส.อ.อนุภัทร์ ไม่ทราบว่ามีการประสานกันหรือไม่อย่างไรแต่เขาทราบว่าพลทหารสื่อสารจะรับหน้าที่นี้ และเขาไม่ได้สังเกตว่ามีบุคคลอยู่บริเวณด้านข้างก่อนถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่หรือไม่

พยานปากที่สาม จ.ส.อ.โกศล นิลบุตร เบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนกำลังจากปิ่นเกล้าไปที่ ร.1 พัน.2 และจากนั้นได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบโดยเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วด้วยรถจักรยานยนต์เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จากนั้นได้รับคำสั่งให้ไปรวมพลที่แยกหลักสี่เพื่อเคลื่อนพลไปอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ขณะที่รวมพลอยู่ท้องฟ้ามืดครึ้ม  แต่หลังจากเคลื่อนพลออกมาได้ไม่นานฝนได้ตกลงมาอย่างหนักและการจราจรติดขัดรถจึงเคลื่อนตัวได้ช้า

หลังจากจากเคลื่อนพลผ่านดอนเมืองมาได้ประมาณ 500 ม.ได้พบกับกลุ่มนปช.ยืนอยู่ตรงทางเท้าฝั่งซ้ายมือของจ.ส.อ.โกศล และเขาได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายออกจากจุดดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพราะผู้ชุมนุม นปช.ได้กรูข้ามคอนกรีตที่กั้นอยู่เข้ามาพร้อมอาวุธประเภทไม้และหนังสติ๊ก

รถของจ.ส.อ.โกศล สามารถหลุดพ้นออกจากกลุ่มของนปช.ได้เป็นกลุ่มแรกพร้อมกับรถของทหารคนอื่นๆ อีก 8 คัน หลังจากหลุดออกจากแนวผู้ชุมนุมมาได้ พยานสังเกตเห็นแนวของตำรวจที่ตั้งสกัดอยู่ จึงคิดว่าน่าจะรอดแล้วเพราะสามารถเข้าไปหลบที่แนวของเจ้าหน้าที่ได้ แต่ปรากฏว่าได้มีเสียงปืนดังขึ้น 5-6 นัด ไม่ทราบทิศทาง เขาจึงล้มรถแล้วเข้าหาที่กำบังและพยายามเรียกกำลังพลที่กระจัดกระจายอยู่ให้เข้ามาที่เกาะกลางถนน จากนั้นพลทหารที่ขับรถมากับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ได้คลานเข้าไปช่วยร.ต.ณรงค์ฤทธิ์  เขาได้เรียกหมอมาช่วยเพราะคิดว่ายังไม่เสียชีวิต และเห็นถูกยิงบริเวณหูด้านซ้าย จากนั้นทหารที่อยู่ในแนวได้นำเปลมาหามออกไป

จ.ส.อ.โกศลคิดว่าทหารที่อยู่ในแนวน่าจะทราบรถที่ขับเข้ามาเป็นทหารเหมือนกัน เพราะหลังจากถูกยิงเขาได้พยายามเข้ามาช่วย และพยานไม่ได้สังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่นอกแนวสกัดบริเวณตอม่อโทลล์เวย์หรือไม่ และก่อนถึงแนวกั้นของเจ้าหน้าที่พยานเห็นมีประชาชนทั่วไปและ นปช. ยืนอยู่ที่ทางเท้าประปราย และหลังจากเหตุการณ์สงบเขาได้เข้าไปรวมที่แนวสกัดและกลับที่ตั้งในอีกสองชั่วโมงต่อมา        

พยานปากที่สี่ จ.ส.อ.นภดล ตนเตชะ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53 ปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่สื่อสาร ในเวลา 15.30 น. ได้รับคำสั่งจากร.อ. ธนรัตน์ มณีวงค์(พยานปากที่ 1) ให้เคลื่อนกำลังพลไปยังอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  ทหารเคลื่อนขบวนไปด้วยจักรยานยนต์ 50 คัน คันละ 2 คน ส่วนทหารที่เหลือนั่งรถกระบะไป  พยานไม่มีอาวุธประจำกาย แต่มีวิทยุสื่อสารของราชการทหาร โทรศัพท์เคลื่อนที่ วิทยุไอคอม GPRS โดยในปฏิบัติการนี้ เขามีหน้าเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างหน่วยเหนือกับผู้บังคับกองร้อยร.อ. ธนรัตน์ และทำหน้าที่สื่อสารระหว่างร.อ. ธนรัตน์ กับกำลังพลในกองร้อย ส่วนนายทหารคนอื่นๆ มีอาวุธประจำกายเป็นปืนทาโวร์ ปืนลูกซองกระสุนยาง

เมื่อรถเคลื่อนขบวนผ่านดอนเมืองไปได้ประมาณ 400-500 ม. ได้พบกับกลุ่มนปช. 700-800 คน  อยู่ที่ช่องทางริมสุดของถนนคู่ขนานขาออก ส่วนจ.ส.อ.นภดลและกำลังพลทั้งหมดได้เคลื่อนกำลังตามเส้นทางหลัก เมื่อผู้ชุมนุมเห็นเจ้าหน้าที่ก็ได้พยายามเข้ามาทำร้าย ร.อ. ธนรัตน์ จึงได้สั่งการให้กำลังพลเคลื่อนที่ไปข้างให้เร็วที่สุด มีรถหลุดออกไปได้ 5-6 คัน รวมทั้งรถของเขาหลุดออกมาเป็นคันที่สองด้วย

หลังจากหลุดออกไปได้เห็นว่ามีตำรวจที่สวมเครื่องแบบตั้งแนวสกัดอยู่ ร.อ.ธนรัตน์ จึงได้สั่งการให้รีบขับรถเข้าไปในแนวป้องกัน แต่ก่อนถึงแนวป้องกัน 40-50 ม. ได้ยิงเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 4-5 นัด แต่ไม่ทราบทิศทาง กำลังพลทั้งหมดหักรถล้มลงตามยุทวิทีทางการทหารที่ฝึกมา หลังจากเสียงปืนสงบลงร.อ.ธนรัตน์ ได้ถามว่ามีใครถูกยิงบ้างไหม พลทหารที่ขับรถมากับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละได้บอกว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง ร.อ.ธนรัตน์ จึงได้เรียกให้ทหารที่อยู่ในแนวนำเปลมารับไปส่งโรงพยาบาล

ขณะที่เคลื่อนพลเจ้าหน้าที่ทหารกับตำรวจไม่ได้มีการประสานงานกัน มีแต่การประสานงานกับทหารที่รับผิดชอบเป็นระยะ แต่การติดต่อสื่อสารขาดไปโดยการสื่อสารครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นตอนที่ผ่านด่านของกลุ่มนปช.ออกมาได้ก่อนที่มาถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ เพราะขณะนั้นคิดว่าพ้นอันตรายแล้ว

ศพของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์มีรอยยิงบริเวณคิ้วหมวกได้หลุดมาห้อยอยู่ด้านหลัง  ขณะที่เกิดเหตุจ.ส.อ.นภดลมองไม่เห็นทางด้านซ้ายมือของเขาว่ามีใครอยู่ไหม เพราะมีเสาและต้นไม้บังอยู่

 

นัดสืบพยานวันที่ 20 มีนาคม 2556

                พยาน

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารบก
  2. นายพีรบูรณ์ สวัสดินันทน์  ช่างภาพ ช่อง 9
  3. นายนิมิต สุขประเสริฐ ผู้สื่อข่าว ช่อง 9
  4. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ
  5. นายพงษ์ระวี ธนะชัย อาชีพทำไรอ้อย  ทหารปลดประจำการ เป็นผู้ขับรถคันที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์นั่งซ้อนท้าย [9]
  6. พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พยานปากที่หนึ่ง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เบิกความว่าเมื่อ วันที่ 7 เม.ย. 53 นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ 1/2553 เรื่องการจัดตั้งศูนย์อํานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. และแต่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้อำนวยการศูนย์อํานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน  โดยในวันเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการ ผู้รับผิดชอบ ผู้ปฏิบัติงาน และแต่งตั้งนายสุเทพเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการของ ศอฉ.  และ ศอฉ. ได้มีคำสั่งที่ 1/2553 ซึ่งนายสุเทพในฐานะ ผอ. ได้ลงนาม เพื่อสั่งการให้หน่วยงานทั้งหมดที่ ศอฉ.ดูแลให้ระวังและระงับเหตุร้ายที่เกิดจากการชุมนุม และภายใต้คำสั่งที่ 1/2553 ของ ศอฉ. มีข้อบัญญัติถึงการใช้กำลังที่รวมถึงอาวุธและกำลังพลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงและเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป ทั้งหมด 7  ข้อ ดังนี้

  1. ชี้แจงอธิบายความว่าผู้ชุมนุมกำลังทำผิดกฎหมายใด
  2. จัดแสดงอาวุธและกำลังพล เป็นปฏิบัติจิตวิทยาเพื่อป้องปราม
  3. ใช้โล่ผลักดันผู้ชุมนุม
  4. ใช้น้ำฉีดและใช้เครื่องเสียงความถี่สูง
  5. ใช้แก๊สน้ำตา
  6. ใช้กระบองกับกระสุนยาง

แต่การใช้กระสุนจริงไม่ได้อยู่ใน 7 ขั้นตอนดังที่กล่าวมานี้

ก่อนตั้ง ศอฉ. รัฐบาลได้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศอ.รส. เพื่อดูแลการชุมนุมที่เริ่มขึ้นในระยะแรก แต่เมื่อการชุมนุมดำเนินไปซักระยะได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรองและพวกบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา และแย่งเอาอาวุธปืนประจำกายของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและทหารที่รัฐสภาไป พร้อมด้วยแสดงท่าทีข่มขู่บุคลากรในรัฐสภาด้วย จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องปรับจาก ศอ.รส. ขึ้นมาเป็น ศอฉ. เพื่อปรับใช้กฎหมายให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป คือจากพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. 53 ศอฉ. ได้มีคำสั่ง “ขอคืนพื้นที่” บริเวณราชดำเนินเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ เพราะในขณะนั้น นปช.ได้เปิดเวทีเพิ่มที่แยกราชประสงค์แล้ว ในเวลาประมาณ 15.30 น. กลุ่ม นปช. ได้แย่งเอาอาวุธประจำกายของทหารที่รักษาความสงบอยู่ที่บริเวณสะพานปิ่นเกล้าไป

จากนั้นประมาณ 17.00 น. ศอฉ.มีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่แล้ว แต่ไม่สามารถถอนกำลังออกมาได้เพราะถูกผู้ชุมนุม ปิดล้อมอยู่ และพบว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในผู้ชุมนุมด้วย พร้อมทั้งได้ใช้อาวุธปืนและระเบิดยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่จนเป็นเหตุให้มีทหารเสียชีวิต  ซึ่งรวมถึงพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมด้วย นอกจากนั้นยังมีทหารอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศอฉ. จึงมีคำสั่งให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนามสามารถใช้อาวุธจริงได้ ภายใต้ข้อกำหนดดังต่อไปนี้

  1. ห้ามใช้อาวุธที่มีอานุภาพสูงกว่าอาวุธประจำกาย เช่น ปืนลูกซองยาว, M16, ทาโวร์และ HK33 นอกจากนี้เช่น เครื่องยิงลูกระเบิด และระเบิดขว้าง จะไม่สามารถใช้ได้
  2. อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงสามารถยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญได้
  3. สามารถใช้กระสุนจริงต่อเป้าหมายบุคคลได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นกำลังใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่และผู้บริสุทธิ์ให้ถึงแก่ชีวิต โดยที่เจ้าหน้าไม่สามารถเลือกใช้ปฏิบัติการอื่นเพื่อป้องกันได้แล้ว

ซึ่งการใช้อาวุธดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมเลขที่ 59/2550   ข้อ 5.8 และ 5.9 เรื่องกฏการใช้กำลังของกองทัพไทย

แต่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในตอนต้นจะเป็นการปฏิบัติตามกฎจากเบาไปหาหนัก 7 ข้อ โดยไม่มีการใช้กระสุนจริงแต่อย่างใด แต่ต่อมาปรากฏชัดว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธ และพ.อ.สรรเสริญได้รับรายงานว่าการยื้อแย่งอาวุธจากเจ้าหน้าที่ที่สะพานปิ่นเกล้า  ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความว่ามีทรัพย์สินของทางราชการสูญหายไปทั้งหมด 115 รายการ ทางด้านผู้ชุมนุมนำอาวุธที่ยึดมาไปแสดงบนเวทีและแจ้งว่ายึดได้จากทหารด้วย  และมีเจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายร่างกาย  ในช่วงเย็นมีการยิงระเบิด M79 และปืนเล็กยาวเข้าใส่ทหาร ส่งผลให้ในช่วงเย็นมาตรฐานการชุมนุมเปลี่ยนแปลงไป เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้กระสุนจริงได้โดยไม่เกินกว่าเหตุ  ก่อนที่เหตุการณ์จะสงบลงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้โทรศัพท์ไปเจรจากับนายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำนปช.มีใจความว่า เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการตั้งแต่ 17.00 น. แล้ว ให้แกนนำแจ้งแก่ผู้ชุมนุมให้หยุดใช้อาวุธต่อเจ้าหน้าที่ เพราะเกรงว่าเหตุการณ์จะรุนแรงไปกว่านี้ จากนั้นเหตุการณ์ก็สงบลง

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความว่าพบหลายกรณีที่กลุ่ม นปช. นำเอาอาวุธที่ยึดจากทหารมาใช้กับทหารที่ เช่น กรณีเหตุการณ์นายเมธี อมรวุฒิกุล และกรณีการใช้อาวุธ M16 ยิงใส่ทหารที่วัดปทุมวนาราม ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นวัดพบว่ามีอาวุธปืนซุกซ่อนไว้ที่ฐานพระ และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นอาวุธของทหารที่หายไป

จากการตรวจภาพถ่ายและวีดีโอเหตุการณ์ วันที่ 10 เม.ย. ปรากฏชัดเจนว่ามีกลุ่มชายชุดดำที่เคลื่อนกำลังด้วยรถตู้ เข้ามายิงอาวุธสงคราม M79 เข้าใส่ทหารที่สี่แยกคอกวัว และในเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ชุมุนม เสียชีวิตแต่ไม่ได้รับรายงานว่าเสียชีวิตจากการกระทำของใคร

พยานในฐานะโฆษก ศอฉ. ในขณะนั้น ได้รายงานให้สังคมได้รับทราบตามวิดีโอที่แสดงเห็นว่ามีผู้ชุมุนมคนหนึ่งที่ถือธงแดงโบกเป็นสัญลักษณ์ หรือ โบกด้วยความดีใจกับกลุ่ม นปช. จากนั้นได้ถูกยิงล้มลง ที่ต้องนำภาพนี้มาอธิบายเพราะเชื่อว่าทหารไม่น่าจะเป็นผู้ยิงเพราะกำลังถอนกำลังพลแล้วในขณะนั้น แต่น่าจะเป็นการกระทำของชายที่แต่งกายด้วยชุดสีดำมากกว่า

พยานได้นำภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวมาแสดงต่อศาล โดยมีรายละเอียดภาพดังนี้[10]

  1. ภาพความรุนแรงที่เป็นกระทำของฝ่าย นปช.
  2. ชายชุดดำพร้อมอาวุธสงคราม โล่ที่ยึดมาจากทหาร อยู่ร่วมกับในบริเวณเดียวกันกับนปช.
  3.  หนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมให้สัมภาษณ์ว่ามีคนแต่งกายคล้ายทหารอยู่ชั้นสองอาคารและยิงปืนเข้าใส่ทหาร

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความถึงเหตุการณ์ 28 เม.ย. 53 ว่าเขาได้รับรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิตใต้ทางด่วนโทลล์เวย์บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงทราบว่าบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านสกัดอยู่ และมีเจ้าหน้าที่ทหารขับรถจักรยานยนต์ 10 คัน ได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่และกำลังจะกลับเข้าแนวสกัด ซึ่งปรากฏว่ามีทหาร 1 นายที่นั่งซ้อนท้ายมาถูกยิงทะลุขมับซ้าย ไม่ทราบว่าถูกยิงมาจากทิศทางใด แต่ภาพที่บันทึกได้ปรากฏว่ารถล้มจากฝั่งซ้ายไปขวา แต่ตอม่อโทลล์เวย์ที่อยู่กลายถนนวิภาวดีมีรอยเศษปูนกระจายในลักษณะของการยิงมาจากด้านขวามือของทหารที่ขับรถมา และกระสุนปืนได้เฉียดตอม่อโทลล์เวย์ก่อนที่จะพุงมาถูกทหารเสียงชีวิต เป็นเหตุให้ทหารที่เสียชีวิตล้มลงด้านซ้ายตามวิถีและแรงปะทะของกระสุนปืน และภาพถ่ายของนักข่าวสำนักข่าวอัลจาซีร่าสามารถจับภาพคนเสื้อแดงพร้อมอาวุธปืนอยู่ที่ด้านขวามือบริเวณปั๊ม ปตท. และโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา และตามภาพข่าวจะปรากฏว่าคนเสื้อแดงมีอาวุธปืนพกสั้น ส่วนทหารถูกยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูง แต่ก็มีความเป็นได้ว่าคนเสื้อแดงอาจนำอาวุธปืนที่แย่งจากทหารได้เมื่อวันที่ 10 เม.ย.  มาก่อเหตุดังกล่าวก็เป็นได้

จากการรวบรวมหลักฐานพบว่ากระสุนพุ่งมาจากฝั่งขวาของทหารที่เคลื่อนพลมาด้วยรถจักรยานยนต์หรือฝั่งซ้ายของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแนวอยู่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ มีแต่คนเสื้อแดงที่ยืนอยู่ และหลังจากรถจักรยานยนต์ของ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ที่ถูกยิงล้มลง รถคันอื่นๆ ที่ขับตามได้ล้มลงและทหารพยานปีนข้ามเกาะกลางถนนวิภาวดีไปตามแนววิถีกระสุนที่ยิงมาจากฝั่งขวามือ ซึ่งพยานได้รับข้อมูลว่ามีแต่กลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ และในกลุ่มนั้นคนที่มีอาวุธปืนรวมอยู่ด้วย[11]

พ.อ.สรรเสริญเบิกความอีกว่าเขาทราบจากสื่อมวลชนว่าแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ได้ชี้แจงถึงผลการชันสูตรกระสุนมาจากทางด้านซ้ายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ แต่จากประสบการณ์ของพยานทำให้เชื่อได้ว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝั่งขวาเพราะ

1. หากการยิงมาจากด้านซ้ายรถของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์น่าจะล้มไปทางขวาหรือตามแนวกระสุน หรือตามแรงปะทะ

2. ปรากฏรอยฝุ่นจากกระสุนที่เฉียดเสาตอม่อที่ด้านขวาก่อนที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์จะล้มลงไปทางด้านซ้าย

3. อาวุธยิงร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เป็นกระสุนความเร็วสูงดังนั้นลักษณะการล้มลงจากรถของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ต้องล้มไปตามแนวแนววิถีกระสุน หรือล้มตรงข้ามจากฝั่งที่มีแรงปะทะเข้า

พ.อ.สรรเสริญได้อธิบายเพิ่มเติมถึงลักษณะการสั่งการของ ศอฉ.

  1. เป็นการสั่งด้วยวาจาซึ่งเป็นผลจากการประชุม
  2. เป็นหนังสือสั่งการที่เกิดจากการสั่งการผ่านวิทยุราชการทหาร ซึ่งถูกพิมพ์ออกมาบนเอกสารที่เขียนว่า “กระดาษเขียนข่าว” เหตุที่ต้องใช้เช่นนี้เพราะหากสั่งการด้วยหนังสือจะเป็นการสั่งการถึงบุคคลเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเป็นกระดาษเขียนข่าวเป็นการสั่งการที่หมายถึงทั้งหน่วยงาน และสามารถระบุถึงความเร่งด่วนของคำสั่งได้หลายระดับ เช่น ด่วนมาก ด่วนที่สุด และด่วนภายในเวลาที่กำหนดลงไปในเอกสารนั้น  พร้อมด้วยมีการกำหนดระดับความลับของคำสั่ง และมีเลขจดหมายกำกับทุกครั้ง

พยานปากที่สองนายพีรบูรณ์ สวัสดินันทน์[12] เบิกความว่าได้รับคำสั่งให้ตามทำข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่สี่แยกราชประสงค์ตั้งแต่เช้า และได้ติดตามการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม นปช. ไปตามถนนศรีอยุธยา ดินแดง และถนนวิภาวดีตั้งแต่ช่วงเที่ยง เมื่อถึงเวลาประมาณบ่ายโมงผู้ชุมนุมได้เคลื่อนมาถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  แต่ไม่สามารถไปต่อได้เพราะมีแนวเจ้าหน้าที่ตั้งแนวสกัดอยู่ พยานและทีมข่าวจึงได้หยุดรถและไปตั้งกล้องถ่ายภาพที่สะพานลอยตรงปั๊มแก๊ส

ต่อมาฝนได้ตกลงมาอย่างหนักนายพีรบูรณ์ ยังคงตั้งกล้องอยู่ที่เดิม เขาสังเกตเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ขยับแนวสกัดเข้ามาใกล้แนวของผู้ชุมนุมมากขึ้น และอยู่ห่างจากเขาไปเพียง 100 ม. เขาไม่ได้สังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่นอกแนวสกัดหรือไม่  บริเวณระหว่างสะพานลอยที่พยานอยู่ถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ มีประชาชนแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นนปช.หรือไม่เดินผ่านไปมาประปราย

ต่อมาเมื่อฝนหยุดตกนายพีรบูรณ์เห็นมีเจ้าหน้าที่แต่งกายด้วยชุดสีเขียวขับรถจักรยานยนต์มีคนนั่งซ้อนท้ายมาด้วย ลงมาจากโทลล์เวย์ประมาณ 10 คัน พร้อมอาวุธปืนลูกซองยาว เมื่อลงจากโทลล์เวย์ได้หักรถเข้าช่องทางหลัก และขับลอดใต้สะพานลอยที่เขาอยู่ตรงเข้าไปยังแนวของเจ้าหน้าที่เขาได้บันทึกภาพเอาไว้จนกระทั่งทหารเข้าไปใกล้แนวสกัด  ในขณะเกิดเหตุเขาไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทราบเหตุการณ์เมื่อกลับเข้าสถานีและเปิดดูภาพในกล้อง เพราะจุดที่พยานตั้งกล้องอยู่ห่างจากเหตุการณ์ 100 ม. และขณะเขากำลังบันทึกภาพเขาต้องมองภาพจากจอของกล้องที่มีขนาดเล็กจึงเห็นรายละเอียดไม่ชัดเจน และเขาไม่ได้ยินเสียงปืนเพราะที่แนวเจ้าหน้าที่มีเสียงจากลำโพงดังมาก ตอนแรกพเขาคิดว่ารถล้มเพราะถนนลื่น แต่หลังจากนั้นรถที่ตามมาก็ล้มลงทุกคัน เขาจึงเข้าใจว่าเป็นการเจตนาทำให้ล้มลงและทหารได้วิ่งเข้าไปที่เกาะกลางถนน ตอนที่ทหารอยู่บนถนนได้มีรถของประชาชนทั่วไปอยู่บนถนนด้วย

พยานปากที่สามนายนิมิต สุขประเสริฐ เบิกความว่าได้ติดตามการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม นปช.ที่นำโดยนายขวัญชัย ไพรพนาไปยังตลาดไทจนมาถึงที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติเวลาประมาณเที่ยง และไม่สามารถเคลื่อนไปต่อได้ ขณะนั้นการจราจรติดขัดมากเขาจึงลงจากรถแล้วเดินไปจนถึงแนวสกัดของทหารและตำรวจ ที่อยู่ใกล้กับปั๊ม ปตท. เห็นเหตุการณ์ปะทะระหว่าง ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ซึ่งมีโล่ กระบอง และอาวุธปืน เขาหลบอยู่กำแพงปั๊มน้ำมันห่างจากเหตุการณ์ประมาณ 5  ม. เห็นผู้ชุมนุมบางคนถูกยิงด้วยกระสุนยาง จากนั้นผู้ชุมนุมได้ล่าถอยออกจากแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ไปประมาณ 300-500 ม.

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ขยับขึ้นมาในลักษณะเป็นแถวหน้ากระดานผ่านปั๊ม ปตท. ขึ้นมาอีก ไปจนถึงหน้าโครงการหมู่บ้านไอดีไซด์ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ขณะที่ผู้ชุมนุมไปรวมกันที่ทางเท้าและขว้างปาสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าหน้าที่บางคนยิงปืนขึ้นฟ้า จากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นตำรวจหรือทหารขึ้นไปบนโทลล์เวย์เพื่อผลักดันผู้ชุมนุมลงมาจากโทลล์เวย์ และสังเกตว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวยังคงอยู่บนโทลล์เวย์หลังผลักดันผู้ชุมนุมลงมาแล้ว

จากนั้นพยานได้หลบเข้าปั๊มเพื่อส่งข่าวให้สถานี ในปั๊ม ปตท. มีนักข่าว ช่างภาพ และประชาชนทั่วไป ส่วนผู้ชุมนุมได้ถูกทหารไล่ออกไปจากบริเวณนั้นหมดแล้ว ขณะที่นายนิมิตอยู่ในปั๊มได้มีท้องฟ้ามืดครึ้ม และมีฝนตกลงมาเป็นระยะ  ระหว่างนั้นเขาได้ยินคนพูดว่ามีทหารถูกยิง จึงได้ออกมาดูเหตุการณ์บริเวณโครงการหมู่บ้านไอดีไซน์ โดยยืนด้านหลังแนวป้องกันของเจ้าหน้าที่ เขาเห็นทหารนำผู้บาดเจ็บออกมาในสภาพนอนนิ่งและมีเลือดออกบริเวณศีรษะ ขณะที่เขาไปดูเหตุการณ์บริเวณดังกล่าวพบว่ามีเพียงเจ้าหน้าที่ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ในบริเวณดังกล่าวแล้ว และไม่มีอยู่ในบริเวณถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้าด้วย ส่วนบริเวณปั๊มน้ำมันที่อยู่ด้านซ้ายมีแต่ประชาชนทั่วไปพยายามจะออกไปจากเหตุการณ์ โดยไม่มีผู้ชุมนุมอยู่เพราะถูกไล่ออกไปก่อนหน้านั้นแล้ว และก่อนเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปตรวจบัตรประจำตัวทุกคนที่อยู่ในปั๊ม เขาเองก็ถูกตรวจบัตรด้วย

พยานปากที่สี่ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เบิกความว่าสืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน 2552 ได้มีผู้ชุมนุมได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก วันที่ 12 มี.ค. 53 พรรคเพื่อไทยตั้งศูนย์ช่วยเหลือที่มีชื่อว่า ศชปป.ขึ้น โดยมีสำนักงานอยู่ที่พรรคเพื่อไทย มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ประมาณ 20 คน พร้อมด้วยอุปกรณ์สื่อสารเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ส่วนมากเดินทางมาจากต่างจังหวัด และมอบหมายให้พยานดำรงตำแหน่งเลขาศูนย์ฯ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และหากมีความก็จะให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นได้

เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ช่วงเช้ารัฐบาลได้ประกาศ “ขอคืนพื้นที่” บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ผู้ชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจึงได้เคลื่อนกำลังไปสนับสนุนผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ แต่ในช่วงบ่ายรัฐบาลกลับได้กำลังเข้าไปขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ โดยช่วงบ่ายมีการผลักดันที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ซึ่งโดยปกติเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามหลักการเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน แต่กลับพบว่ามีการใช้กระสุนจริงข้ามขั้นตอน และมีการใช้อาวุธสงครามประเภท M16 HK33 ทาโวร์ ปืนสั้น ยิงขึ้นฟ้า  การยิงขึ้นฟ้าเมื่อกระสุนตกกลับลงมาก็จะมีความเร็วไม่แตกต่างกับตอนยิงขึ้นไป ซึ่งผู้ปฏิบัติหน้าที่จะทราบเรื่องนี้ดี  และมีการโยนแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านล่าง และในช่วงค่ำมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นอีกรอบ และนำรถหุ้มเกราะที่ติดตั้งอาวุธปืนกลต่อสู้อากาศยานมาใช้ด้วย ซึ่งการปฏิบัติการในช่วงเย็นหรือหลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปแล้วตามหลักการสากลและตามกฎปฏิบัติของกระทรวงกลาโหมจะไม่ถือเป็นการควบคุมฝูงชนแต่จะถือเป็นการปฏิบัติการทางการทหารจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือนกว่า 20 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 800 คน

เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2553 ข้อมูลที่ ศชปป.ได้มาจากการสังเกตการณ์และรายงานข่าวของสื่อมวลชน ทำให้เชื่อได้ว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแนวสกัดอยู่ เพราะจากการติดตามพบว่าอาวุธที่ยิงร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เสียชีวิตเป็นชนิดเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ใช้

และจากประสบการณ์ปี 2552 และปี 2553 ปรากฏภาพผ่านสื่อว่ามีบุคคลที่แต่งกายด้วยชุดพลเรือนปะปนและร่วมปฏิบัติการกลุ่มทหารด้วย

พยานปากที่ห้านายพงษ์ระวี ชนะชัย  เบิกความว่าในวันที่ 28 เม.ย. 53 ขณะนั้นเขาเป็นทหารเกณฑ์  ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติโดยเคลื่อนที่ด้วยรถจักรยานยนต์ไปด้วยกัน 50 คัน คันละ2 คนสวมเครื่องแบบลายพรางและมีสัญลักษณ์เป็นริบบิ้นสีขาวที่หัวไหล่ด้านขวา เจ้าหน้าที่มีปืนเล็กยาวและปืนลูกซอง  เขาเป็นพลขับรถจักรยานยนต์คันที่มีร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละนั่งซ้อนท้ายไปด้วย โดยขับมาเป็นคันที่ 4-5 ของขบวน จักรยานยนต์ที่ใช้เป็น ฮอนด้า เวฟ 110  หลังจากเคลื่อนพลออกไปได้ซักพักก็ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก และได้พบกับกลุ่ม นปช.จำนวนมาก แต่พยานได้ไม่ถูกทำร้าย และไม่ได้สังเกตว่า ผู้ชุมนุมมีอาวุธหรือไม่

นายพงษ์ระวีเป็นรถคันกลุ่มแรกที่ขับผ่านผู้ชุมนุมมาได้ประมาณ 4-5 คันและได้พบกับแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ โดยเขาขับรถเข้ามาที่ช่องทางหลักของถนนวิภาวดี และได้ขับรถเข้าใกล้แนวกั้นของตำรวจด้วยความเร็วประมาณ 20-30 กม./ชม. โดยอยู่ห่างจากแนวตำรวจประมาณ 3 ม. ส่วนผู้ชุมนุมอยู่ห่างจากจุดนั้นไปประมาณ 500 ม.   แล้วได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด พยานจึงได้ตัดสินใจล้มรถจักรยานยนต์ลงซึ่งเป็นไปตามยุทธวิธีทางการทหาร เขาไม่ได้รู้สึกถึงแรงปะทะที่เกิดจากการยิง และไม่ทราบว่ากระสุนยิงมาจากทิศทางใด เพราะเสียงปืนดังก้องมาก ไม่ทราบชนิดปืน จากนั้นเขาได้หาที่กำบัง บริเวณที่กั้นระหว่างช่องทางหลักกับทางคู่ขนาน โดยยังไม่รู้ว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ที่นั่งซ้อนท้ายมาถูกยิงหรืออยู่จุดใด

นายพงษ์ระวี เบิกความว่าหลังจากนั้นมีนายทหารยศจ่าเขาจำชื่อไม่ได้ ตะโกนว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง พยานยังไม่ได้เข้าไปดูแต่จากจุดที่หลบอยู่สามารถมองเห็นว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์นอนหัวเฉียงไปทางด้านซ้าย รถที่พยานขับมาก็ล้มลงทางด้านซ้าย จากนั้นหัวหน้ากองร้อยร.อ.ธนรัตน์ มณีวงค์ ได้สั่งให้นำเปลมารับไปส่งโรงพยาบาล และพยานได้เข้าไปอยู่ในแนวสกัดของเจ้าหน้าที่

นายพงษ์ระวี เบิกความต่อว่าเขาไม่เห็นเหตุการณ์ที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง แต่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 2 ชุด ชุดแรกดังมาจากด้านหน้าตรงแนวตำรวจเป็นปืนลูกซอง 5 นัด ตอนที่ได้ยินเสียงปืนชุดแรกร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ยังคงซ้อนท้ายอยู่ จากนั้นประมาณ 1-2 นาทีได้ยินเสียงปืนชุดที่ดังขึ้น 5 นัด ซึ่งเสียงปืนดังกว่าชุดแรก จึงได้ตัดสินใจหักล้มรถลงด้านซ้าย แต่ไม่ได้สังเกตว่าปืนดังมาจากทิศทางไหน และไม่ทราบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์หัวหน้าไปทิศทางไหน  เพราะขณะนั้นพยานหันหน้าไปด้านหน้าอย่างเดียว

พยานปากที่หกพ.ต.อ. ปรีดา สถาวร เบิกความว่า วันที่ 9 มี.ค. 53  รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สำนังานตำรวจนครบาลได้รับคำสั่งวันที่ 10 มีนาคม ให้กำหนดแผนรักษาความสงบเรียบร้อย โดยจัดทำแผนจากข้อมูลด้านงานข่าวเพื่อจัดกำลังควบคุมการชุมนุมของ นปช. ซึ่งสาระคือการตั้งจุดตรวจสกัดกลุ่มนปช.ที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่กลุ่ม นปช. ประกาศว่าจะใช้ชุมนุม

ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. รัฐได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถาณการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ.ขึ้น และแต่งตั้งเจ้าหน้าปฏิบัติงานตามคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีลงนามเลขที่ 2/2553  ในเวลาต่อมา ศอฉ.ได้มีคำสั่งเลขที่ 1/2553 เพื่อมอบหมายภารกิจให้ทหาร ตำรวจ และพลเรือนปฏิบัติหน้าที่

สำหรับตำรวจซึ่งมีตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ให้มีการจัดกำลังพลควบคุมฝูงชนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่กทม.

และวันที่ 28 เม.ย.ได้รับรายงานว่าผู้ชุมนุม นปช. จะเคลื่อนกำลังจากราชประสงค์ไปตลาดไท ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วไปตรวจตราความสงบเรียบร้อย และให้จัดกองกำลังสามกองร้อยไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความเรียบร้อยที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดี และพยานปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์บัญชาการตำรวจนครบาล

 

นัดสืบพยานวันที่ 21 มีนาคม 2556

            พยาน

  1. พ.ต.ท.สุพจน์ เผ่าถนอม ปฏิบัติหน้าที่รองผกก.ฝ่ายสรรพาวุธ กองพลาธิการและสรรพาวุธ
  2. พ.อ.นพ.เสกสรรค์ ชายทวีป แพทย์นิติเวชประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
  3. พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
  4. พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ อาภรณ์รัตน์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

พยานปากที่หนึ่ง พ.ต.ท.สุพจน์ เผ่าถนอม เบิกความว่าเขาทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน  พบว่าอาวุธปืน HK33 M16 มีใช้ในราชการตำรวจและทหาร แต่ปืนทาโวร์มีใช้เฉพาะทหารเท่านั้น ส่วนอาก้ามีใช้หน่วยงานปกครองของกระทรวงมหาดไทย

M16 เป็นปืนเล็กยาวสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ A1 ซึ่งประสิทธิภาพการยิงสูงกว่า ส่วน A2 จะยิงได้ไกลกว่า ทั้งสองประเภทมีลักษณะภายนอกเหมือนกัน ถ้าคนที่ไม่มีความรู้ไม่สามารถแยกออกได้ HK33 ลักษณะภายนอกมีความแตกต่างจาก M16 แต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ส่วนปืนทาโวร์ ใช้กระสุนขนาดเดียวกับ HK33 และ M16 มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันคือยิงกระทบของแข็งจะทำให้แตก บุบ ผิดรูป

ส่วนกระสุนความเร็วสูงชนิด M199 และM855 เป็นกระสุนที่ใช้กับปืนทั้ง 3 ประเภท แต่ M855 ใช้กับ A2และทาโวร์สามารถยิงทะลุของแข็ง และเสื้อเกราะระดับ 3 ได้ ส่วนหมวกเคฟล่ายิงระยะหวังผลพยานคิดว่าทะลุได้ ระยะยิงหวังผลของ A1ยิงได้ไกล 460 ม., A2 ยิงได้ไกล 800 ม., ทาโวร์ยิงได้ไกล 500 ม.

ปืนชนิดเดียวกัน เช่น  M16  ประเภท A1 และ A2 สามารถสลับอุปกรณ์กันได้ทุกชิ้นส่วน และถ้าสลับอุปกรณ์กันแล้วผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานจะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าถูกยิงออกจากปืนกระบอกใด

พยานปากที่สอง พ.อ.นพ.เสกสรรค์ ชายทวีป เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53 เวลา 19.00 น. ศพร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกส่งมายังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเพื่อชันสูตรพลิกศพ โดยศพถูกส่งไปที่สถาบันพยาธิวิทยาเพื่อเก็บในห้องเย็นป้องกันการเสื่อมสลาย

ต่อมาในวันที่ 30 เมษายน เวลา 10.00 น. พ.อ.นพ.เสกสรรค์ และแพทย์อีก 2 คนได้ตรวจสภาพศพด้านนอก พบว่าเป็นเพศชาย วัยหนุ่ม รูปร่างสันสัด สูง 167 ผมดำตัดสั้น ผิวดำแดง สวมชุดทหารลายพราง มีหมวกลายพรางสวมมาด้วย ที่ศพมีบาดแผลฉีกขาด ปากแผลไม่เรียบ บาดแผลฉีกขาดอยู่บริเวณหางคิ้วซ้ายหรือขมับด้านซ้ายขนาด กว้าง 0.7 ซม. ยาว 1.5 ซม. และมีบาดแผลหัวตาขวาขนาดกว้าง 3 ซม. ยาว 6 ซม. คาดว่าเป็นทางทางออกของเศษกระสุน ศีรษะด้านขวาไม่มีบาดแผลและไม่มีรอยกระสุนออก ไม่มีบาดแผลที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกาย

จากนั้นได้มีการผ่าชันสูตรภายในศีรษะพบว่าใต้หนังศีรษะมีลักษณะฟกช้ำเป็นบริเวณกว้างและกะโหลกแตกด้านซ้าย เนื้อสมองด้านซ้ายถูกทำลายอย่างรุนแรง พบเศษโลหะฝังค้างอยู่ในศีรษะและเนื้อสมองประมาณ 6-7 ชิ้น ขนาด 0.2 X0.5 ซม. จึงได้ใช้เครื่องมือแพทย์คีบออกและนำส่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และฐานกะโหลกส่วนกลางแตกร้าว ส่วนอื่นๆ ภายในร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติ

จากการชันสูตรพบว่าเป็นกระสุนลูกโดดที่ยิงเข้าจากทิศทางด้านซ้ายไปขวา แต่หัวกระสุนไม่ค้างอยู่ในศีรษะคาดว่าแตกกระจาย   หมวกที่สวมพบว่ามีรอยพรุนด้านซ้าย ค่อนมาทางด้านหน้าตรงกับรอยบาดแผลที่ศีรษะ และก่อนการผ่าชันสูตรได้นำร่างของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไปเอ็กซเรย์ พบว่ามีเงาของเศษโลหะกระจายอยู่ในศีรษะหลายชิ้น โดยเศษโลหะค่อนมาทางด้านขวาของศีรษะ และตอนผ่าชันสูตรพบว่าวิถีกระสุนเป็นการยิงมาจากด้านซ้ายไปขวาและมีเศษโลหะกระจายอยู่ในเนื้อสมองด้านขวา

พยานปากที่สาม พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่าเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 53  ได้รับแจ้งจาก DSI ให้ตรวจพิสูจน์รถจักรยานยนต์ที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์นั่งซ้อนมาในวันเกิดเหตุที่จอดอยู่กองพันทหารราบที่ 11 พบว่าเป็นรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ฮอนด้า เวฟ พบรอยกระสุนบริเวณเบาะด้านซ้ายของคนขับทะลุด้านขวา แสดงให้เห็นว่ามีการยิงกระสุนมาไม่น้อยกว่า 2 นัด

วันที่ 2  พ.ค. ได้ไปสถานที่เกิดเหตุที่ถนนวิภาวดี โดยมี DSI และทหารร่วมตรวจด้วย ได้นำรถจักรยานยนต์พร้อมบุคคลที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไปจำลองเหตุการณ์ด้วย วิธีการตรวจพิสูจน์จะมีการใช้อุปกรณ์สอดเข้ายังรอยกระสุนที่ปรากฏในรถเพื่อหาวิถีกระสุน และวัดพิกัด ประกอบกับการตรวจสอบรอยกระสุนที่หมวกซึ่งอยู่ส่วนบน และบาดแผลของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ พบว่าวิถีกระสุนถูกยิงมาจากด้านซ้ายและทะลุไปทางด้านขวา เป็นกระสุนลูกโดด

จากการนำเศษกระสุนไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการพบว่าเป็นกระสุนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้กับปืน M16 และHK33  แต่ไม่สามารถระบุประเภทปืนและปืนกระบอกที่ใช้ยิงได้ นอกจากจะนำปืนมาประกอบการตรวจสอบ

แต่ก็ยังไม่สามารถบอกว่าชัดเจนว่าถูกยิงจากทิศทางใดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะหากจำลองเหตุการณ์ว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไม่ได้หันหน้าไปทางตรงอาจแสดงให้เห็นว่าวิถีกระสุนมาจากทิศทางอื่นๆได้ เช่น ถ้าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์หันหน้าไปทางด้านขวา 45 องศากระสุนอาจถูกยิงมาจากด้านหน้า หรือถ้าหันหน้ามาด้านขวา 90 องศากระสุนอาจถูกยิงมาจากด้านขวาก็ได้ แต่การยิงมาด้านซ้ายมีความเป็นได้สูงสุด และกระสุนน่าจะถูกยิงมาจากระดับที่สูงกว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์หรืออย่างน้อยผู้ยิงต้องยืนขณะยิง

พยานปากที่สี่ พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ อาภรณ์รัตน์ เบิกความว่า วันที่ 3 พ.ค. 53 ศูนย์บริหารวัตถุพยานได้ส่งปลอกกระสุนปืนขนาด .223 จำนวน 5 ชิ้น และเศษแกนกระสุนขนาด .223 จำนวน 2 ชิ้น มาตรวจว่าเศษปลอกและแกนกระสุนมาจากปืนชนิดใด ปรากฏว่าเป็นลูกกระสุนปืนขนาด .223  ซึ่งจะมีขนาดจริงเป็น .224 ที่สามารถบรรจุในอาวุธปืนได้หลายชนิด เช่น ปืนล่าสัตว์ที่สามารถออกใบอนุญาตให้ประชาชนได้ และปืน M16 HK 33 และทาโวร์ที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ประชาชนได้ และถูกยิงมาจากปืนที่มีเกรียวในลำกล้อง 6 เกรียววนขวา

 

นัดสืบพยานวันที่ 22 มีนาคม 2556

             พยาน

  1. พ.ต.ท. บุญโชติ เลี้ยงบำรุง สน.มักกะสัน
  2. นายแพทย์วิทวัส ศรีประยูร โรงพยาบาลพระราม 9
  3. นายแพทย์ยรรยง โทนหงษา โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
  4. พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ แรงกล้า สน.พญาไท

 

พยานปากที่หนึ่งพ.ต.ท.บุญโชติ เลี้ยงบำรุง ความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สน.ดอนเมือง วันที่ 29 เม.ย. 53 ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบคดีร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ และทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าเวลา 16.00 น. ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ได้ถูกยิงเสียชีวิตและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พยานจึงได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจวิถีกระสุน พบปลอกกระสุนปืน .223 ตกอยู่ที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. จำนวน 4 ปลอก ต่อมาได้รับแผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์จากปั๊ม ปตท.[13] แต่ปลอกกระสุนดังกล่าวเกิดจากการยิงปืนขึ้นฟ้าตามที่ปรากฏภาพในวีดีโอของปั๊ม  ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ และในที่เกิดเหตุมีรอยกระสุนที่โทลล์เวย์เป็นจำนวนมาก และในวันเดียวกันได้มีพนักงานสอบสวนเดินทางไปสอบปากคำนายทหารชุดที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ในวันเกิดเหตุ

จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุโดยลากเส้นจากตำแหน่งที่เกิดเหตุและรอยที่รถจักรยานยนต์ พบว่าวิถีกระสุนไม่สามารถยิงมาจากที่ต่ำได้ และมีกระสุนบางส่วนปรากฏที่เสาโทลล์เวย์ ดังนั้นวิถีกระสุนน่าจะมาจากด้านซ้ายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ซึ่งอาจมาจากแนวที่สูงกว่าแต่ไม่สูงมาก หรือสามารถยิงมาจากเกาะกลางก็ได้ หรืออาจยิงเฉียงมาจากชั้นสองของบ้านตัวอย่างของโครงการหมู่บ้านไอดีไซน์

จากการสอบสวนไม่ทราบตัวผู้ยิงพ.ต.ท.บุญโชติ ได้ร่วมสังเกตการณ์การชันสูตรพลิกศพ และเขาได้ขอเศษกระสุนปืนมาเก็บไว้เป็นหลักฐาน แต่ DSI ที่ทำงานใน ศอฉ. ไม่อนุญาตและเก็บไว้เองทั้งหมด ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 ได้ส่งสำนวนการสอบสวนทั้งหมดให้ DSI

พยานปากที่สอง นพ.วิทวัส ศรีประยูร เบิกความว่า วันที่ 30 เม.ย. 53 เวลา 01.00 น. นายวิชาญ วังตาลได้ย้ายจาก โรงพยาบาลราชวิถีมาที่โรงพยาบาลพระราม9 พบว่าคนไข้มีรอยกระสุน 2 แห่งที่หัวไหล่ด้านขวา และราวนมด้านขวา พยานจึงได้ผ่าตัดเอากระสุนที่ราวนมออกทางบริเวณสีข้าง ส่วนกระสุนที่ไหล่ขวาไม่ได้ผ่าออกเพราะมีความเสี่ยงสูง เศษกระสุนที่ผ่าออกเป็นโลหะสีเทา ตามแนวบาดแผลที่ผ่ากระสุนออก วิถีกระสุนน่าจะยิงจากบนลงล่าง 

พยานปากที่สาม นพ.ยรรยง โทนหงษา เบิกความว่า  วันที่ 28 เม.ย. 53 นายไพโรจน์ ไชยพรมได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้องและต้นขาซ้ายได้มารับการรักษา เขาได้เข้าไปช่วยอาจารย์หมอผ่าตัด พบว่าในช่องท้องมีบาดแผลด้านหน้าทะลุด้านหลัง และลำไส้เล็กมีรอบช้ำและฉีกขาด ส่วนขาซ้ายมีบาดแผล 2 แห่ง คือด้านหน้าและด้านหลัง โดยบาดเผลเกิดจากวัตถุที่มีความเร็วสูงประเภทอาวุธปืนและระเบิด  แต่เขาจำไม่ได้ว่าวิถีกระสุนปืนยิงเข้าจากด้านหน้าหรือด้านหลัง

พยานปากที่สี่ พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ แรงกล้า เบิกความว่าเนื่องจากร.ต.ณรงค์ฤทธิ์  สาละ ถูกนำมาชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลพระมุงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.พญาไท จึงต้องทำหน้าที่สอบสวนการตาย แต่หลังจากสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นในรอบแรก เขาได้ทำสรุปสำนวนว่าการตายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไม่ได้เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง และเนื่องจากการตายเป็นคดีอาญา จึงได้ส่งคดีเพื่อไปรวมกับคดีกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสน.ดอนเมืองได้ส่งให้กับ DSI ไปก่อนหน้านี้แล้ว  ภายหลังมา DSI ได้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมจึงมีความเห็นว่าการตายอาจเกิดจากกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติที่ตามคำสั่ง จึงได้ส่งสำนวนกลับมาที่สำนักงานตำรวจนครบาล

สำนักงานตำรวจนครบาลจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนโดยมี สน.พญาไทในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ และผลจากการรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม สน.พญาไทจึงได้ทำสรุปสำนวนกลับไปยัง DSI เป็นรอบที่สอง โดยยืนตามเดิมว่าไม่มีพยานหลักฐานที่ชี้ชัดได้การตายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง  ต่อมา DSI ได้พิจารณาอีกรอบและยืนยันกลับมาว่ามีพยานหลักฐานชัดเจนที่ทำให้เชื่อได้ว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์อาจเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง และส่งสำนวนดังกล่าวกลับที่สำนักงานตำรวจนครบาล

สำนักงานตำรวจนครบาลได้มีคำสั่งที่ 387/2554 ลงวันที่ 21 กันยายน 2554 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชันสูตรพลิกศพร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ต่อมาในวันที่ 27 กันยายน 2554 ได้มีคำสั่งเพิ่มเติมโดยแต่งตั้งพ.ต.ท.เทพพิทักษ์ให้เป็นคณะกรรมสืบสวนสอบสวนด้วย จากนั้นได้มีการเรียกพยานที่ DSI ได้เคยสอบสวนไว้แล้วมาสอบสวนเพิ่มเติมต่อหน้าพนักงานอัยการ ซึ่งพยานได้ให้การตามเดิมแบบที่เคยให้การกับ DSI ไว้

จากการสอบปากคำพยานทั้ง 54 ปาก  พยานจึงได้สรุปความเห็นโดยมีสาระสำคัญระบุว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ได้ถึงแก่ความตายจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการ ตามรายงานการสอบที่ส่งให้อัยการเพื่อยื่นต่อศาลให้ทำการไต่สวนการตาย

 

ศาลออกคำสั่งวันที่ 30 เมษายน 2556[14]

ในวันนี้ญาติผู้เสียชีวิตรวมถึงอัยการผู้ร้องไม่มาร่วมฟังคำสั่งศาลจึงไม่ได้อ่านรายละเอียดของคำสั่งเพียงแต่อ่านส่วนสรุปผลการไต่สวนโดยมีความว่า พลทหารณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงเสียชีวิตจากกระสุนปืนของทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ บริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต ฝั่งขาออก ในวันที่ 28 เม.ย.53 เวลาประมาณ 15.00 น.  แต่ทางข่าวสดได้นำลงรายละเอียดบางส่วนของคำสั่งศาลไว้ในส่วนของข่าวด่วนวันเดียวกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ศาลพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและผู้ตายเป็นอย่างไรและใครเป็นผู้กระทำร้ายผู้ตาย โดยผู้ร้องมีนายธวัชชัย สาละ บิดาผู้ตายเบิกความ สอดคล้องกับพยานปากอื่น คือ ร.อ.ธนรัชน์ มณีวงศ์, จ.ส.อ.นภดล ตนเตชะ, จ.ส.อ.โกศล นิลบุตร, ส.อ.อนุภัทร์ ขอมปรางค์ และนายพงษ์ระวี ชนะชัย (อดีตพลทหาร) ทำนองว่า ร.อ.ธนรัชต์ มณีวงศ์ หัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็ว ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังชุดเคลื่อนที่เร็วด้วยรถจักรยานยนต์  เดินทางไปที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เพื่อเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งมีพลทหารพงษ์ระวี ชนะชัย ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนผู้ตายนั่งซ้อนท้าย เมื่อมาถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต ขาออกในช่องทางหลักและแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นแนวเดียวกันทางช่องทางคู่ขนาน กลุ่มรถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มแรกที่มาถึงใกล้แนวสกัดของทหารและตำรวจ โดยขับขี่เรียงตามกันมา รถจักรยานยนต์ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายตามมาเป็นคันที่ 5 และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 5 นัด พยานทั้งหมดจึงล้มรถ จักรยานยนต์ลงและวิ่งเข้าหาที่กำบัง ส่วนผู้ตายถูกยิงที่ศีรษะตกลงจากรถและเสียชีวิตเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ส.ต.ท.สุกิจ หวานไกล ส.ต.อ.วินัย กองแก้ว และ ส.ต.อ.ณรงค์ วังทองพูล เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งแนวสกัดในขณะเกิดเหตุเบิกความสอดคล้องกันว่า ในวันเกิดเหตุได้ปฏิบัติหน้าที่และหันหน้าไปทางกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เมื่อเวลา 15.00 น. เห็นทหารวางกำลังบริเวณตอม่อทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์เป็นระยะทั้งฝั่งซ้ายและขวา แต่ละจุดมีทหารถืออาวุธปืนยาว 2 นาย ต่อมามีรถจักรยานยนต์ 5-6 คัน เปิดไฟหน้าขับขี่เข้ามาตามถนนวิภาวดีรังสิต เข้าใกล้แนวสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจห่างประมาณ 50 เมตร พยานกับพวกเข้าใจว่าเป็นรถจักรยานยนต์ของกลุ่มนปช. มีคนตะโกนให้หยุดและเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยิงปืนไปที่กลุ่มรถจักรยานยนต์หลายนัด จนรถล้มลงมีคนตะโกนว่ามีทหารถูกยิง

ขณะที่ พ.ท.นพ.เสกสรร ชายทวีป เบิกความว่า ได้ชันสูตรพลิกศพผู้ตาย พบว่าที่ศีรษะผู้ตายมีบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบระหว่างหน้าขมับหางคิ้วขวา ขนาดกว้าง 3 ซม. ยาว 6 ซม. บาดแผลบริเวณหัวตาซ้ายกว้าง 0.7 ซม. ยาว 1.5 ซม.จากการผ่าศีรษะผู้ตายปรากฏว่าใต้หนังศีรษะพบรอยกระสุนและรอยฟกช้ำเป็นบริเวณกว้าง กะโหลกศีรษะแตก บริเวณหางคิ้วซ้ายเนื้อสมองซีกซ้ายถูกทำลายอย่างรุนแรง และพบเศษโลหะ 6-7 ชิ้น ฝังอยู่ภายในกะโหลกศีรษะและเนื้อสมอง และพบว่าวิถีกระสุน เข้าจากทิศทางซ้ายไปขวา ระหว่างหน้าขมับซ้ายและหางคิ้วซ้าย และสาเหตุที่ตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจพิสูจน์รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กยษ กจ 683 ที่ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายขณะเกิดเหตุและตรวจพิสูจน์เศษกระสุนปืนที่ผ่าออกจากศีรษะผู้ตายรวมทั้งตรวจหมวกทหารที่ผู้ตายสวมขณะเกิดเหตุ ผลการตรวจรถจักรยานยนต์ดังกล่าว พบว่าบริเวณเบาะนั่งด้านซ้ายที่คนขับมีรอยกระสุนปืนทะลุไปทางด้านขวา และผลการตรวจพิสูจน์เศษกระสุนปืนที่ผ่าออกจากศีรษะผู้ตาย พบว่า เป็นกระสุนขนาด .223 นิ้ว หรือ 5.56 มม. ซึ่งเป็นกระสุนปืนความเร็วสูงที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวแบบ เอ็ม 16 หรือ เอชเค 33 เชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความจริง นอกจากนี้ยังมีเอกสารการตรวจวิถีกระสุนที่ยิงมาที่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายนั่งอยู่ พบว่ามาจากคนยืนยิง ไม่ใช่ยิงมาจากที่สูง

ดังนั้นพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมานั้น ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้คือ ผู้ตายถูกยิงเข้าที่ศีรษะ ด้วยกระสุนปืนขนาด.223 นิ้ว หรือ 5.56 มม. ซึ่งยิงจากจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ตายที่บริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต ฝั่งขาออก แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา เหตุและพฤติการณ์การตายคือ ถูกลูกกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ โดยลูกกระสุนถูกที่ศีรษะด้านซ้ายทางคิ้วผ่านทะลุกะโหลกศีรษะทำลายเนื้อสมองเป็นเหตุให้ตาย


[1] เดิมเป็นพลทหารหลังเสียชีวิตได้รับการประดับยศเป็นร้อยตรี

[3] “ยิงบนรางบีทีเอสกระสุนหัวเขียวตร.ให้การศาลคดี6ศพวัดปทุม,” ข่าวสด, 19 มิ.ย.55

[4]เซอร์ไพรส์! พ่อพลทหารเหยื่อกระสุน 28 เม.ย.53 ถอนทนาย-ถอนการเป็นผู้ร้องร่วม,” ประชาไท, 15 ก.พ.56,  ; ““เทือก”ชดเชย พ่อพลทหาร,” ข่าวสด, 15 ก.พ.56,

[6] “นิกขึ้นศาล-ชี้ปี53จนท.กระสุนจริง,” ข่าวสด, 23 ก.พ.56 ;  “นอสติทซ์ หอบภาพเบิกคดี ‘พลฯ ณรงค์ฤทธิ์’ พยานยันจุดเกิดเหตุมีแต่ จนท.,” ประชาไท, 27 ก.พ.56

[7] หมายเหตุ:  จากการเบิกความของสรรเสริญ แก้วกำเนิด และนักข่าวช่อง 9 ในวันต่อมา ปรากฏว่าภาพข่าวที่สปริงนิวส์นำมาใช้เบิกความในศาลเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับขณะที่พลทหารณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงแต่จุดที่อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุการณ์ออกมาเล็กน้อยซึ่งเป็นภาพของทหารกลุ่มที่สองที่ขับตามกลุ่มแรกที่มีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละอยู่ในทหารกลุ่มแรกซึ่งนักข่าวของสปริงนิวส์ไม่สามารถจับภาพได้

[8] วิดีโอข่าวของสปริงค์นิวส์ที่ได้มีการเปิดประกอบการเบิกความดูได้ที่  “ทหารยิงกันเอง” อัพโหลดโดย RedHeart2553

[9] เป็นพยานที่ถูกเพิ่มเข้ามาในวันดังกล่าว แต่เป็นพยานที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนแล้ว

[10] เป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ทั่วไป แต่ได้ถูกตัดต่อขึ้นใหม่ น่าจะตัดต่อโดยทีมงานของพยาน

[11] พยานแสดงภาพถ่ายของช่อง 9

[12] วิดีโอรายงานข่าวชิ้นที่นายพีรบูรณ์ เป็นภาพข่าวที่บันทึกเหตุการณ์ที่เห็นเหตุการณ์ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ตกลงจากจักรยานยนต์ที่นั่งซ้อนมา

[13] วีซีดีบันทึกเหตุการณ์ไม่สมบูรณ์ โดยภาพขณะที่เกิดเหตุการณ์ยิงพลทหารณรงค์ฤทธิ์ไม่มี มีแค่ถึงช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ

[14] “ศาลชี้ ‘พลทหารฯณรงค์ฤทธิ์’ ถูกยิงที่อนุสรณ์สถานฯ เม.ย.53 ตายจากกระสุนปืนจนท.ทหาร,” ข่าวสด, 30 เม.ย.56

10 เมษายน 2553 – ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต

รูป

ผู้ได้รับบาดเจ็บ

ผู้เสียชีวิต

แผนที่ผู้เสียชีวิต วันที่ 10 เมษายน 2553 (ปฎิบัติการ “ขอคืนพื้นที่”)

กดที่ร่างผู้เสียชีวิตเพื่ออ่านรายละเอียดรายบุคคล

ปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่”

แม้ว่าก่อนหน้าวันที่ 10 เมษายน นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะประกาศให้ นปช. ถอนการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ แล้วให้กลับไป “ใช้สิทธิตามรัฐะรรมนูญ” ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ จุดเดียว ซึ่งทำให้ ณ เวลานั้น คนเสื้อแดงได้เร่งระดมมวลชนส่วนใหญ่ไปตรึงพื้นที่ไว้ที่ราชประสงค์ เนื่องจากพวกเขาประเมินกันว่า ศอฉ. กำลังจะเข้าสลายการชุมนุมในบริเวณดังกล่าว แต่ปรากฏว่า ในวันที่ 10 เมษายน 2553 นายอภิสิทธิ์กลับสั่งการให้ ศอฉ. ปฏิบัติการสลายการชุมนุมที่บริเวณผ่านฟ้าแทนโดยไม่มีการแจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้า

จากสำเนาเอกสารคำสั่งปฏิบัติการ ศอฉ. ในวันที่ 10 เมษายน ที่ถูกนำมาเผยแพร่เมื่อกลางปี 2554 โดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มทหารตำรวจเพื่อประชาธิปไตย 2554” ทำให้ทราบว่า ในวันนั้น นายกฯ อภิสิทธิ์ ได้สั่งการ ศอฉ. “ทำการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และพื้นผิวการจราจรบริเวณสะพานผ่านฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่ 10 เม.ย. 53 เวลา 13.30 เป็นต้นไป” โดย ศอฉ. ได้จัดกำลังเพื่อปฏิบัติภารกิจจำนวนมากกว่า 70 กองร้อย

อ่านต่อใน รายงาน ศปช. บทที่ 2: ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง เมษา 53

ถนนดินสอ

ผู้เสียชีวิต

1. นายบุญจันทร์ ไหมประเสริฐ
2. นายยุทธนา ทองเจริญพูลพร
3. นายวสันต์ ภู่ทอง
4. นายสยาม วัฒนนุกุล
5. นายจรูญ ฉายแม้น
6. Hiroyuki Muramoto
7. นายทศชัย เมฆงามฟ้า
8. นายคนึง ฉัตรเท
9. พลทหาร ภูริวัฒน์ ประพันธ์
10. พลทหาร อนุพงษ์ เมืองรำพัน
11. พ.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม
12. พลทหาร สิงหา อ่อนทรง
13 พลทหาร อนุพงศ์ หอมมาลี